ดวงพร ยังรักษ์ : เทคนิคการโคชเยาวชนทำโครงการเพื่อชุมชน PBL

เทคนิคเด่นที่มักใช้ในการโคชพลเมืองเยาวชนเช่นคำถามที่มักใช้วิธีการทำงานกับเยาวชนที่ได้ผล :

     การชวนคิดชวนคุยโดยจะตั้งคำถามเชื่อมโยงให้เยาวชนได้เห็นสถานการณ์ปัญหาในชุมชนของตนเองก่อนโดยการวิเคราะห์ชุมชนของตนเอง จากนั้นก็สะท้อนความรู้สึกของเยาวชนกับปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น 1. ถ้าเกิดปัญหาในชุมชน ที่เราเห็นว่ามันคือปัญหาที่เร่งด่วนที่จะต้องรีบแก้ไขปัญหาให้หมดไป เราเอง ในฐานะเยาวชนในชุมชน จะทำอย่างไรที่จะแก้ไขปัญหานี้ แล้วใครจะเข้ามาช่วยเราแก้ไขปัญหา เป็นคำถามที่ย้อนกลับไปคิดทบทวนเป้าหมายอีกครั้ง และรวมไปถึงการเข้าไปเสริมพลังและกำลังใจให้เยาวชน เป็นผู้รับฟังปัญหาและตั้งคำถามชวนคิดให้เยาวชนมีแรงฮึดสู้ทำโครงการต่อ ด้วยคำถามสร้างพลัง เช่น น้องพัฒนาโครงการมาแทบตาย จะถอยง่ายๆกับเรื่องเล็กๆแบบนี้เลยหรอ? น้องจะปล่อยให้เขาดูถูกแบบนี้หรอ ? คิดดูดีๆนะถ้าถอยตอนนี้ตัวน้องเองจะอายคนอื่นไหม...ที่เขามองว่าน้องทำโครงการไม่สำเร็จ? ฯลฯ ซึ่งคำถามเหล่านี้ เป็นคำถามที่เชิงท้าทายตัวตนเยาวชน เนื่องจากวัยรุ่นในปัจจุบันไม่ชอบการโดนดูถูก จึงทำให้เกิดแรงผลักดันที่จะต้องพิสูจน์ตนเอง และก็ได้ผลทุกครั้งที่ใช้คำถามเหล่านี้ต่อเมื่อเยาวชนมีปัญหาติดขัดและไม่อยากทำโครงการต่อ


ข้อค้นพบในการออกแบบนวัตกรรมการเรียนรู้หรือวิธีการใหม่ๆในการสร้างสำนึกพลเมืองของเยาวชนในจังหวัด :

     จากการทำงานเยาวชนมาทั้ง 2 ปี สิ่งที่คิดว่าเป็นการเรียนรู้ใหม่ๆที่จะสามารถพัฒนาเยาวชนให้ลุกขึ้นมากล้าแสดงออกมากขึ้น คือ การเข้าใจในตัวตนของเยาวชนทุกคน เข้าใจถึงชาติพันธุ์ เข้าใจในบุคลิก/นิสัยส่วนตัว รวมไปถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน ตนเอง/ครอบครัว/ชุมชน ที่มีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงถึงกันเนื่องจากช่วงวัยนี้เป็นวัยแห่งการอยากรู้อยากลอง สภาพแวดล้อมรอบๆตัวที่ดีจะหล่อหลอมเยาวชนให้กล้าคิด กล้าทำ ส่วนเยาวชนในบางสภาพแวดล้อมที่ยังน่าเป็นห่วงนั้น ก็ต้องการที่ปรึกษาที่สามารถแนะนำได้ทุกเรื่อง เข้าใจ และเติมเต็มสิ่งดีๆทำให้เกิดการพัฒนาสู่ทางที่ดีได้ ในฐานะโคช เราต้องเปลี่ยนตัวเองในหลายๆด้าน เป็นได้ทั้งเพื่อน พี่ พ่อแม่ เพื่อให้สามารถเข้าถึงตัวเยาวชนได้ ทำให้เยาวชนยอมรับในตัวโคช จึงจะทำให้เยาวชนนั้นเปิดใจยอมรับการพัฒนาใหม่ๆสู่ตนเอง

     อีกข้อค้นพบ คือ การสื่อสารด้วยภาพในการเล่าเรื่องราวต่างๆที่เยาวชนอยากจะสื่อสารออกมา โดยเยาวชนสามารถพูดนำเสนอได้โดยไม่ต้องอ่านตัวหนังสือ แต่อาศัยการเล่าเรื่องจากภาพที่ตนเองวาดอย่างมีพลัง