วิมลสิริ ขุลิลัง : บทสัมภาษณ์เยาวชนเด่น โครงการเรียนรู้วิถีชุมชนผ่านเส้นสายลายผ้าทอบ้านทุ่งสุน

เยาวชนเด่น 

ชื่อ นางสาววิมลสิริ ขุลิลัง (โรส) อายุ 17 ปี

เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนปัว จังหวัดน่าน

โครงการเรียนรู้วิถีชุมชนผ่านเส้นสายลายผ้าทอบ้านทุ่งสุน

­­

ถาม ขอให้แนะนำตัว

ตอบ ชื่อนางสาววิมลศิริ ขุลลัง ชื่อเล่นโรส เรียนอยู่ชั้น ม.5 จะขึ้น ม.6 อายุ 17 ปี อยู่โรงเรียนปัว ชื่อโครงการเรียนรู้วิถีชุมชนผ่านเส้นสายลายผ้าทอบ้านทุ่งสุน ทำเกี่ยวกับการศึกษาลายผ้าของผ้าทอของบ้านทุ่งสุน หมู่บ้านทุ่งสุนเป็นหมู่บ้านของหนูซึ่งมีผ้าทอที่มีหลากหลายลาย แต่ละลายมีความแตกต่างกันไป มีที่มาที่ไปต่างกัน บ่งบอกวิถีชีวิตของชุมชนของเรา ที่ทำเพราะอยากศึกษาเรื่องราวลายผ้าทอ


ถาม ศึกษาไปเพื่ออะไร

ตอบ เรียนรู้เห็นความสำคัญว่าลายผ้าแต่ละลาย มีรายละเอียดมีที่มาในการคิดค้น ผ้าทอเป็นของดีของบ้านเราด้วย เขาทอกันมานานแล้ว ปัจจุบันก็เหลือน้อยลง ผ้าทอมีหลายลายคนในชุมชนไม่ค่อยรู้จัก ลืมลายผ้านั้น จึงอยากศึกษาเก็บข้อมูลแล้วก็ไปเผยแพร่ให้กับชุมชนต่อไป


ถาม ชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ไทลื้อใช่ไหมคะ

ตอบ ใช่ค่ะ ชาติพันธุ์ไทลื้อ คนทั้งตำบลเป็นไทลื้อ หนูก็เป็นคนไทลื้อ


ถาม เรื่องลายผ้าคนไม่รู้จักหรือรู้จักน้อยหรือว่าอย่างไร

ตอบ คนไม่ค่อยได้เข้าไปสัมผัส คนทำผ้าทอน้อยลง จากที่คนทำในชุมชนทำกันมาก ตอนนี้น้อยลงแล้ว กลับไปให้เขาดูลายผ้า เพื่อเล่าเรื่องราวให้ฟัง เขาจำไม่ได้เขาลืม เขาไม่รู้จัก น่าเกี่ยวกับคนที่คิดค้นลายผ้าที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มทอผ้า คิดค้นลายออกมาตามจินตนาการของเขา ผู้ดูแลกลุ่มทอผ้าจะเป็นคนสั่งว่าทำลายไหน มีการคิดค้นลายขึ้นและตั้งชื่อขึ้นเอง


ถาม คนที่ให้ความรู้นี่คือเป็นผู้เฒ่าผู้แก่เหรอคะ

ตอบ เขาเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่เคยทอผ้า


ถาม ตอนนี้เสื้อผ้าไทลื้อยังใส่กันอยู่ไหมหรือว่าไม่ใส่แล้ว

ตอบ ใส่ช่วงเทศกาลงานประจำปี จะใส่กันทุกปีทุกคน


ถาม ชีวิตประจำวันไม่ใส่แล้วเหรอคะ

ตอบ ไม่ใส่แล้วเพราะว่ามีความหนาเป็นผ้าฝ้ายทอมือ คนทันสมัยขึ้น โลกก็เปลี่ยนไป


ถาม คนก็ใส่ชุดแฟชั่นเป็นปกติไป

ตอบ ใส่ที่มันสบายกว่า ชุดไทลื้อใส่ช่วงงานประจำปีมากกว่าไม่ค่อยเห็นใส่กันทั่วไป


ถาม เอกลักษณ์ของผ้าไทลื้อคืออะไร

ตอบ เสื้อไทลื้อเป็นสีดำขาวผู้หญิงจะเป็นเอวลอย เขาเรียกว่าเสื้อปั๊ดเอวลอย จะมีลายผ้าที่หลากหลาย ได้รับอิทธิพลมาจากทางประเทศลาวมาด้วย ลายในนั้นมีรายละเอียด มีซิ่นที่ไม่ใช่ซิ่นที่ตัดเย็บสำเร็จแต่เป็นผ้าซิ่นทอมือ


ถาม มีลวดลายตรงตีนซิ่นเหรอ

ตอบ ลวดลายของไทลื้อจะมีทั้งผืนผ้าซิ่น


ถาม ทำไมถึงสนใจเลือกทำเรื่องผ้า

ตอบรู้สึกว่าสนใจเพราะใกล้ตัวเรา ในอดีตในชุมชนเราทอผ้ากันเป็นส่วนใหญ่ พอหนูโตขึ้นมันไม่ค่อยมี ก็เลยอยากเรียนรู้ศึกษาส่วนนี้


ถาม ในตอนที่ศึกษาเรื่องผ้าไปเจอเรื่องอื่นอีกไหม เช่นเรื่องวิถีชีวิตในลายผ้า ช่วยเล่าตรงนี้ให้ฟังหน่อย

ตอบ ลายที่คนคิดจะเป็นลายที่สอดคล้องกับบ้านเราที่สุด ก็จะเป็นลายน้ำสุนเพราะว่าบ้านเราชื่อว่าบ้านทุ่งสุน เป็นลายที่คนทั่วไปเขาจะรู้จักในนาม ลายน้ำไหลไม่ใช่ลายน้ำสุน ถ้าบอกว่าเป็นลายน้ำสุนจะไม่มีคนรู้จัก คนที่รู้จักก็คือคนคิดค้น ลายน้ำสุนจากที่หนูไปศึกษา คนที่คิดค้นขึ้นมา เขาตั้งชื่อนี้เพราะว่าอยากสร้างเอกลักษณ์ให้กับหมู่บ้านของตัวเอง ชื่อบ้านทุ่งสุน ก็อยากทำเป็นลายน้ำสุน เพราะว่าลำน้ำสุนเป็นลำน้ำสายเดียวของหมู่บ้าน คนในชุมชนนี้ใช้น้ำจากลำน้ำสายนี้ อุปโภคและบริโภคตั้งแต่อดีต ตอนนี้น้ำลดน้อยลง หนูชอบเพราะลายใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนตั้งแต่อดีต ยกตัวอย่าง ลายตะวันฉายแสง ลายดาวล้อมเดือน ลายตะวันฉายแสงเป็นลายที่เล่าเวลาที่คนเราตื่นนอน จะเห็นตะวันฉายออกมา จะเห็นแสงสว่างสวย คนที่เขาคิดค้นลายผ้าทอ เขาก็คิดออกมาว่าสวยดีก็เลยเอามาทอเป็นผ้า แล้วก็ตั้งชื่อลายนี้ขึ้นมา ทำให้เห็นภาพว่าตอนที่เราตื่นมาตะวันฉายแสงเรียบร้อย เราก็จะเตรียมตัว ไปไร่ไปนาไปทำงานการเกษตร


ถาม แสดงว่ามีเรื่องราวผ่านลายผ้าใช่ไหม เราเห็นผ้าแล้วไปสืบค้นเรื่องราวความหมายที่ซ่อนอยู่ในลายผ้า

ตอบ ใช่ค่ะมีที่มาของแต่ละลาย


ถาม ปกติก่อนหน้านี้เคยทำงานอะไรที่เกี่ยวข้องกับชุมชน หรือทำงานจิตอาสาหรือทำงานอะไรที่เป็นโครงการแบบนี้ไหมคะ

ตอบ หนูเคยทำโครงการปีที่แล้ว ซึ่งเป็นโครงการปีที่ 3 ปีนี้เป็นปีที่ 4 โครงการเกี่ยวกับการจัดการน้ำในชุมชน


ถาม ตอนนั้นทำตำแหน่งอะไร

ตอบ ตอนนั้นหนูเป็นประธาน มีบทบาทเป็นประธาน แต่ว่าจริงๆ พี่ปุ๊กกี้เขาอยากดันหนูขึ้นมา เพราะว่าพี่ปุ๊กเคยทำปีก่อนอยากจะฝึกหนู เข้ามาอยู่ตำแหน่งนี้เพื่อจะได้กระตือรือร้นขึ้น ส่วนมากพี่ปุ๊กกี้ก็จะช่วยหนุนเพราะว่าเคยทำมาก่อน ช่วยแนะนำช่วยหนุนทำงานเป็นหลักมากกว่า


ถาม ทำงานกับชุมชนมาแล้วกี่ปีแล้วคะ

ตอบ เริ่มทำเมื่อ ม.3 ตอนนี้จะขึ้น ม.6 ประมาณ 2-3 ปีค่ะ


ถาม ก่อนหน้านี้เป็นคนอย่างไร อุปนิสัยเป็นอย่างไร มีการทำงานแบบไหน นิสัยของตัวเองเป็นอย่างไร

ตอบ ตอนแรกที่เข้ามาทำหนูรู้สึกว่าวางแผนงานไม่เป็นระบบ การพูดคุยอะไรสื่อสารได้ไม่ดีเท่าไร หนูเคยทำเกี่ยวกับจิตอาสาอยู่บ้างกับแม่ พี่ปุ๊กกี้ก็ดึงเข้ามา ตอนนั้นไม่ได้สนใจอะไร ไม่ต้องทำก็ได้จะทำหรือไม่ทำก็ได้ไม่ได้อยู่ในหัว เพราะว่าเราไม่รู้จะทำอย่างไร รู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่โตมาก ๆ


ถาม เราเป็นเด็กแบบไหน

ตอบ หนูเล่นเกินไปตอนทำงาน อาจจะเล่นเกินไปจนไม่รู้เลยว่าเขาทำถึงไหน มัวแต่เล่นไม่ได้สนใจ คือไม่รู้โครงการเขาไปถึงไหน


ถาม โครงการสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรกับตัวเราบ้าง

ตอบ หนูรู้สึกว่าหนูกล้าพูดกล้ากับคนอื่น พูดกับเพื่อน พูดกับพี่ พูดกับคนในชุมชน กล้าแสดงความคิดเห็นกับคนในชุมชน กล้าเข้าหามากขึ้น ในมุมกว้างชอบแสดงความคิดที่เป็นจุดยืนของหนูไป ในเวทีกลางที่เขาให้แสดงความคิดเห็น หนูก็อยากจะตอบสิ่งที่หนูคิดได้


ถาม มันเกิดขึ้นตอนไหน

ตอบ เรียนรู้มาเรื่อย ๆ ใช้เวลาเราค่อย ๆ เรียนรู้เก็บรายละเอียด เราก็เริ่มมั่นใจในสิ่งที่เรารู้ เราก็อยากบอกคนอื่นอยากแสดงความคิดเห็นบ้าง ยกตัวอย่างเวทีกลางพอมีถอดบทเรียน รู้สึกอย่างไร เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราก็ตอบตลอด


ถาม หนูจำวันแรกเหตุการณ์แรกสถานการณ์แรก วันที่เราคว้าไมค์แล้วพูดอย่างมั่นใจ กล้าเป็นตัวเอง
มีทักษะอะไรเพิ่มขึ้นอีกไหม ที่บอกมามีทักษะการพูดแสดงความคิดเห็น มีเรื่องเข้าหาคนชุมชน เป็นอย่างไร

ตอบ หนูรู้สึกว่าการคุยกับผู้ใหญ่ อายุต่างระดับเกินไป ปีที่ 3 เรื่องเกี่ยวกับจัดการน้ำ เขามองเราเป็นเด็กหรือเปล่าเราจะทำได้ไหม ไม่ค่อยมั่นใจเลย ไม่เข้าหาเข้าไปคุย เขาจะฟังไหมกังวลไปหมด


ถาม พอมาปีนี้เห็นพัฒนาการของตัวเองเข้าหาคนเป็นอย่างไร

ตอบ พอปีนี้หนูต้องเป็นเสาหลักของทีม เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องลุยเอง เริ่มคุ้นเคยจากของปีที่แล้ว หนูกล้าที่จะพูดกับคนในชุมชน กล้าไปพูดกับผู้นำชุมชน ไปขอความช่วยเหลือขอคำปรึกษา


ถาม ไปคุยอะไรบ้างยกตัวอย่างให้ฟังหน่อย

ตอบ การทำโครงการตอนแรก เราต้องปรึกษากับผู้นำชุมชนก่อน ว่าเราจะทำโครงการนี้ขึ้นมา จะไปในรูปแบบไหน ขอให้เขาสนับสนุนเรา ช่วยหนุนเสริมเรา ไปพูดคุยกับคนในชุมชนในวันประชุมให้เขารับรู้สิ่งที่เราทำ ที่จะมีกิจกรรมสำรวจข้อมูล ศึกษาข้อมูล เมื่อเราไปสำรวจลงพื้นที่กับคนในชุมชน จะไปขอความช่วยเหลือคนในชุมชน ไปบอกกล่าวไว้ว่าเราจะทำโครงการนี้ ขอให้ช่วย


ถาม น่ากลัวเหมือนเดิมอยู่ไหมคะจากเดิมที่เรากลัวว่าคนละระดับกัน พอเราได้ทำแล้วมันเป็นยังไงบ้างคะ

ตอบ ของจริงก็ยังกลัว เพราะว่าปีที่ 3 ปี ที่มีปุ๊กกี้พี่เขาก็ช่วยตลอดอยู่ หนูทำตาม ปี 4 หนูต้องวางแผนเอง ดำเนินการเองเป็นส่วนใหญ่ มันทำให้กดดันแต่ก็โอเคขึ้น ทำให้เรากล้าที่จะพูดมากขึ้น เราต้องพูดสิ่งแวดล้อมที่บังคับเราเอง ทำมาเรื่อย ๆ ผู้ใหญ่ก็เข้าใจเรามากขึ้น ผู้ปกครองเข้าใจว่าเราจะทำโครงการในส่วนนี้นะ


ถาม การสื่อสารที่ดีกับผู้ใหญ่ต้องทำอย่างไรคะ

ตอบ ต้องรู้กาละเทศะ คุยสุภาพที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไปลามาไหว้ พูดคุยสนุกสนานถามสารทุกข์สุขดิบบ้าง ก่อนเข้าประเด็นคำถามที่เตรียมไป


ถาม นิสัยส่วนตัวมีอะไรที่เปลี่ยนไปไหม

ตอบ หนูรู้สึกว่าเรื่องตรงต่อเวลาดีขึ้น เมื่อก่อนเป็นคนตาม วันนี้เป็นพี่นำทีม ห่างกับน้องสองสามปี หนูก็ต้องเป็นคนนัดน้อง นัดคุยกับน้อง เรื่องเวลาหนูรู้สึกว่ามันได้มันต้องตรงเวลา ต้องไม่เสียเวลา ถ้าจะช้าก็ต้องบอกบอกกล่าวกันไว้ หนูรู้สึกว่าซีเรียสกับเรื่องนี้มากกว่าคนอื่น


ถาม จากเดิมที่ไม่คิดอะไรมาก การตรงต่อเวลามันสำคัญกับตัวหนูอย่างไรตอนนี้ในความคิดหนูมันช่วยหนูอย่างไร

ตอบ เป็นอะไรที่ควรทำ แสดงถึงว่าเราเป็นคนที่มีความรับผิดชอบในเรื่องของเวลา สำคัญตรงที่ทำตามนัดทำตามกฎกติกา ตรงเวลาก็คือตรงเวลา จะทำให้งานของเราไม่เสียเวลา เราก็จะคุยงานกันได้เร็วขึ้นดีขึ้นไม่เสียเวลากับเรื่องแค่มาไม่ตรงเวลา แต่ถ้าน้องมีติดธุระบอกกล่าวกันได้เป็นกรณีไป


ถาม ได้เห็นวิถีชีวิตเห็นคุณค่าหรือความหมายที่ซ่อนอยู่ในลายผ้า รู้สึกอย่างไรกับความเป็นไทลื้อในตัวเราหรือชุมชนของเรา เรื่องมุมมองต่อชาติพันธุ์ของเราและชุมชน

ตอบ เรารู้สึกว่าอยู่ข้างใน คือเกิดความรู้สึก รักบ้านเกิดของเรามากขึ้น บ้านของเรายังมีเอกลักษณ์ มีอยู่ในอำเภอปัว จังหวัดน่านที่อื่นไม่มีแล้ว มีภาษาใช้คำ สำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์ หนูว่าเก๋ดี


ถาม มีเหตุการณ์หรือเรื่องเล่าเรื่องราวอะไรบ้าง

ตอบ หนูชอบลายน้ำสุนที่สุด เป็นชื่อของหมู่บ้านด้วย เมื่อก่อนตอนเด็กหนูชอบไปเล่นที่แม่น้ำสุน บรรยากาศคึกคักมากมีเพื่อน ตามแม่ไปซักผ้าได้เล่นน้ำสนุก มีน้ำใช้ตลอด แต่ตอนนี้แห้งไปแล้วที่ตรงนั้น จะมีอยู่ก็ตรงช่วงต้นน้ำ ไม่ค่อยมีไม่มีน้ำ น้ำแห้งหลายปีแล้ว


ถาม แสดงว่าลายผ้าทำให้เรามีความทรงจำที่ดีในวัยเด็ก

ตอบ ดีที่เขาคิดค้นลายนี้ขึ้นมา หนูก็สนุกตามไปเลยตอนที่ศึกษา


ถาม การเปลี่ยนแปลงที่สุดในตัวเราคืออะไร

ตอบ หนูคิดว่าเป็นเรื่องความคิด รู้สึกรักบ้านเรามากยิ่งขึ้น จากที่อยู่เฉย ๆ ไม่ทำก็ได้ เราอยากลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชน เรียนรู้ชุมชนของเรา ชุมชนของเรามีเอกลักษณ์ ความคิดโตขึ้นว่าเราสามารถทำอะไรได้ เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน


ถาม อะไรที่ทำให้ความคิดเราเปลี่ยน อะไรที่ทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า ช่วยเล่าเหตุการณ์ที่ทำให้เราเปลี่ยนมุมมองความคิดที่ทำให้เราอยากจะทำอะไรเพื่อชุมชน

ตอบ หนูได้ฟังเรื่องราวผ้าทอของหมู่บ้านจากคุณยายศรีสวลัยซึ่งเป็นปราชญ์ชุมชน ท่านอายุมากแล้วรุ่นราวคราวเดียวกับยายของหนู ท่านก่อตั้งกลุ่มทอผ้าบ้านทุ่งสุนผ่านยุคทองของผ้าทอ ในยุคนั้นผู้หญิงเกือบทั้งหมู่บ้านทอผ้า มีคนจากต่างถิ่นต่างอำเภอมาเรียนรู้การทอผ้าในหมู่บ้านของเรา คุณยายอยากให้พวกเราสืบสานงานผ้าทอ บอกให้เราศึกษาเรียนรู้ คุณยายอยากให้เด็กเยาวชนเข้ามาศึกษา เพราะตอนนี้ไม่มีการทอผ้าแล้ว


ถาม ยายเขาบอกเล่าเรื่องราวในอดีตฝากไว้ที่เราด้วย เรากับเพื่อน ๆ ช่วยสานต่อไม่อยากให้หายไป หนูรับปากเป็นตัวแทนรับต่อไป

ตอบ ประมาณนี้รู้สึกอินไปด้วย


ถาม มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างตอนที่ปุ๊กกี้ไม่อยู่แล้วเราจะต้องมารับตำแหน่งปุ๊กเหตุการณ์เป็นอย่างไรเรารู้สึกอะไร

ตอบ ไม่คิดว่าพี่เขาไปทำอีกโครงการหนึ่ง แต่ไปทำงานเครือข่าย พี่เขาขยับไปเป็นพี่เลี้ยง (Staff) ดูแลเราอีกที ให้เราเป็น (Head) หัวหน้าหลักของทีม เรารู้เป็นอีกโครงการที่พี่เขาต้องทำ เราต้องเป็นเสาหลักจริง ๆ แล้ว หนูไม่รู้เลยว่าหนูจะเริ่มอย่างไร หนูต้องถามพี่เขาตลอด พี่เขาไม่ได้อยู่ในโครงการเดียวกันกับหนู เริ่มแรกหนูไปไม่เป็น


ถาม ตอนนั้นที่ต้องขึ้นมาเป็นผู้นำ รู้สึกอย่างไร

ตอบ อึดอัดมากกังวลไปหมด ว่าเราจะเดินต่ออย่างไร ต้องทำอย่างไร จัดลำดับขั้นตอนไม่ได้เลย ก็รอเขาบอกเองเดียว


ถาม วิธีแก้ปัญหาของสถานการณ์นี้ทำอย่างไร

ตอบ ปรึกษาพี่เขา ทำใจ ทำความเข้าใจมากขึ้น พยายามเรียนรู้ สังเกตจากโครงการรอบก่อน ลองเอามาปรับดู ย้อนภาพไปดูว่าตอนนั้นมันเป็นอย่างไร เราเป็นพี่ใหญ่เราต้องมีคุณสมบัติอย่างไรที่จะดูแลคนอื่น มีความกังวลในส่วนข้อมูลด้วย ความกังวลในทีม รู้สึกว่าตัวเองดุขึ้นมา ต้องคุมเด็ก ๆ ให้อยู่แนวราบไปกับเรา


ถาม ความหมายแนวราบของเราคืออะไร

ตอบ นึงว่าให้เด็กสามารถมาเดินกับเราได้ไปในทางเดียวกัน


ถาม ใช้วิธีการดุเหรอ

ตอบ มีบ้างค่ะ


ถาม วิธีการทำงานกับน้อง ม.ต้น วัยรุ่นทำอย่างไร

ตอบ หนูต้องพยายามเข้าใจน้องมาก ๆ น้องเป็นวัยที่กำลังเล่น เหมือนที่หนูเคยผ่านมา พยายามเข้าใจว่าเป็นเรื่องวิชาการ ที่ใหญ่พอสมควร น้องอาจจะไม่ได้สนใจเท่าไรหรือไม่อยากรู้ลึกขนาดนั้น บางทีเหมือนใส่ใจอยู่คนเดียว


ถาม แก้ปัญหาอย่างไร น้องไม่สนใจ

ตอบ พยายามคุย วิธีการสร้างความเข้าใจกันในทีมต้องมีกฎกติการ่วมกัน มีหลายอย่างที่เราสร้างกฎร่วมกัน การสร้างกฎร่วมกัน ตั้งกฎตั้งแต่เรื่องเล็กน้อย ตรงต่อเวลา เรื่องการใช้โทรศัพท์ การแสดงความคิดเห็น ถ้าไม่ช่วยแสดงความคิดเห็น จะไม่ได้รับความคิดจากคนอื่น จะไปต่อไม่ได้


ถาม มีกฎกติการ่วมกันแล้วเหตุการณ์ดีขึ้นหรือเป็นอย่างไร

ตอบ เริ่มที่จะดีขึ้น ทุกคนรู้เพราะว่าเป็นกฎที่ช่วยกันตั้งขึ้น คนรู้และไม่ทำ ถ้าทำก็มีบทลงโทษตลก ๆ ให้ไปเก็บขยะ ใครไม่ทำตามกฎนี้ต้องไปเก็บใบไม้สิบชิ้น ทำให้ทีมกระตือรือร้นมากขึ้น ต้องรู้ตัวเองและไม่ทำ


ถาม มีน้องทะเลาะกันไหม

ตอบเป็นความไม่เข้าใจกันมากกว่า ไม่ได้ทะเลาะกันขนาดนั้น เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ เพราะต่างวัย บางทีทำบ่อยน้องเขาก็รู้สึกว่าบ่อยเกินไป การนัดก็มาไม่ตรงเวลาบางทีก็ไม่มาเลย หนูกลับมาคิดว่า หนูทำอะไรลงไป ทำผิดหรือเปล่า


ถาม หนูแก้ปัญหาอย่างไร

ตอบ หนูพยายามเข้าใจลองปรับคำพูด เข้าหาน้องให้ได้มากที่สุด บางทีใช้คำเป็นทางการเกินไปจนทำให้น้องคิด ว่าเป็นเรื่องใหญ่ น้องคงคิดว่าไม่รู้จะทำอย่างไร จึงไม่มาไม่ช่วยเลยเพราะความไม่รู้ ไม่รู้ก็ไม่ผิด


ถาม พอหนูปรับคำพูด ใจเย็นพยายามเข้าใจน้อง ๆ สถานการณ์เป็นอย่างไร

ตอบ วันนัดน้องก็มา บรรยากาศดีขึ้นเล่นกัน ไม่ซีเรียสทั้งงาน จะมีผ่อนคลายพูดคุยกันบ้าง ถ้าคุยกันในกลุ่มโครงการในแชท (Chat) จะมีหนูพิมพ์ไปพิมพ์ไปยาว ๆ ไม่รู้ว่าน้องอ่านไหม ไม่ตอบเงียบมากต้องแก้ปัญหาด้วยการไปบอกน้องรองประธานที่เรียนอยู่ชั้น ม.3 ไปคุยกับเพื่อนอีกที คือเรามอบให้อีกคนช่วยดูแล หนูรู้สึกว่าเขาจะฟังเพื่อนคนนี้มากกว่า น้องเขาจะอยู่ด้วยกันกับเพื่อนตลอด ไปไหนไปไหนมาไหนด้วยกัน คุยกันตลอดเขาจะฟังกันมากกว่า ฟังมากกว่าหนู


ถาม เราให้คนอื่นช่วยจัดการแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

ตอบ เขาช่วยเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียง ถ้าคนนี้มาคนนี้ก็จะมาด้วย


ถาม หนูคิดว่าอะไรที่มันยากที่สุดเลยสำหรับเราในการทำโครงการนี้

ตอบยากที่สุด คือพยายามให้ทีมลงตัวกันและมีแต่ละฝ่ายสนับสนุนการทำงานกันตลอด


ถาม ที่ผ่านมาทีมมีปัญหากันอย่างไร

ตอบ ถึงจุดนั้นจริง ๆ หนูพูดอะไรไปเด็กก็ไม่ช่วย ทำคนเดียว รู้สึกว่ามันทำคนเดียวไม่ได้ เวลาไปลงพื้นที่ไปสอบถามกับปราชญ์ชาวบ้านโดยที่เราไปเอง โดยที่ไม่มีคนในทีมเรา มันจะเรียกว่าทีมเหรอ เขาจะรู้เหรอ เขาจะช่วยหรืออินไปด้วยไหมว่ากำลังทำอะไรอยู่ มันไม่ได้เขาต้องเรียนรู้ร่วมไปกับเรา


ถาม พอถึงจุดที่เราพูดอธิบายเรากับน้อง ๆ ไม่มีใครเอาด้วยเลย จนเราต้องทำคนเดียวหนูรู้สึกอย่างไร

ตอบ หนูเครียด อึดอัดว้าเหว่


ถาม หนูทำอย่างไร

ตอบ เป็นอะไรที่จัดการยากมาก พักจากเรื่องนี้แล้วหาอย่างอื่นทำ ฟังเพลง ดูหนัง เปลี่ยนประเด็นไปก่อน


ถาม อารมณ์ดีขึ้นไหม

ตอบ ดีขึ้นมาก


ถาม จัดการให้เขากลับมาช่วยเห็นความสำคัญของโครงการอย่างไร

ตอบ หนูคุยกับเขาด้วยความเข้าใจ ถามเหตุผลบางทีน้องกลัวว่าจะทำไม่ได้ ลองถามเหตุผลปรับความเข้าใจ หนูพยายามลดความเครียดของตัวเอง ไม่ไปอัดกับน้อง


ถาม เราเปิดใจถามเหตุผลของเขาด้วย คำตอบที่ได้จากน้องคืออะไร

ตอบ น้องบอกว่าไม่รู้จะทำอย่างไร มอบงานให้แต่ไปต่อไม่เป็น


ถามหนูทำอย่างไรให้น้องมั่นใจ

ตอบ หนูสร้างกำลังใจด้วย บอกทำความเข้าใจว่างานจะออกมาประมาณไหน ให้กำลังใจตัวเราเองและให้กำลังใจทีมด้วย “มั่นใจนะที่ให้ทำงานชุดนี้ฝ่ายนี้ เพราะมั่นใจว่าคนนี้สามารถทำได้แน่ ๆ”


ถาม ให้ความไว้วางใจในตัวเขาถ้าเขาได้รับมอบหมายงานจากเรา เชื่อมั่นว่าเขาทำได้เราให้กำลังใจเขาด้วยเราเล่าภาพรวมรวมโครงการและปลายทางที่น้องจะต้องไปพบเจอ ให้เขาได้เห็นภาพ แบบนี้ใช่ไหม

ตอบ ค่ะ หนูเล่าที่มาว่าทำไมถึงให้ทำ แล้วจะทำอย่างไรต่อไป เท่าที่เราสามารถคิดได้


ถาม หนูใช้อะไรที่ทำให้ผ่านมาได้ทั้งความว้าเหว่ ความโดดเดี่ยว พูดกับใครก็ไม่มีใครไม่มีใครฟัง ถึงขั้นต้องทำงานคนเดียว เวลาที่เครียดหนูใช้อะไรในตัวเองที่ทำให้เราผ่านมาได้

ตอบ พยายามมองในแง่บวก เปิดใจให้กว้างคิดว่าเราก็เคยผ่านจุดนี้มาก่อน ฉันก็เคยเป็นเด็กแบบนี้มาก่อนตอนนั้นหนูก็ยังไม่ค่อยรู้อะไร ก็ค่อย ๆ ลองคุยกับน้องปรับความเข้าใจกัน คุยกันดี ๆ มันก็ดีขึ้น


ถาม สถานการณ์นี้ที่หนูบอกต้องแก้ปัญหา หนูเข้าใจเขาเป็นเพราะเราก็เคยผ่านการเป็นเด็กนักเรียน ม.ต้นผ่านการเป็นวัยรุ่นตอนต้นมาก่อน เปิดใจใช้พลังบวกมาก ๆ ในตัวเอง อดทนใช่ไหมคะ

ตอบ ใช่ค่ะ


ถาม มีคุณสมบัติอะไรที่เราค้นพบจากสถานการณ์นี้ทำให้เปลี่ยนมุมมองเป็นคนใหม่ ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้อีกครั้งหน้า ฉันจะไม่เป็นแบบเดิมแล้วเพราะว่าฉันได้สะสมคุณสมบัติข้อนี้ไว้ หนูคิดเจอคุณสมบัติพิเศษอะไรจากสถานการณ์นี้

ตอบ ใจเขาใจเรามองว่าทำไมถึงเกิดแบบนี้ ถ้าเป็นเราจะเป็นอย่างไร เราเคยเป็นแบบไหน ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ลองเข้าใจคน เอาใจเขามาใส่ใจเราจริง ๆ


ถาม หนูเรียนรู้เรื่องอะไรบ้างที่สำคัญสำหรับการทำโครงการนี้

ตอบ การทำงานเป็นทีม การทำงานกับคนในชุมชน การทำงานกับผู้ใหญ่ การทำงานให้เป็นระบบมากขึ้น การสื่อสาร


ถาม อนาคตอยากทำอะไรคะ

ตอบ หนูยังไม่มั่นใจ อยากทำอาชีพที่ช่วยเหลือคนอื่น อยากเป็นหมอฟัน หรือทำงานสายสุขภาพ รู้สึกอิน อยากช่วยคนอื่น ช่วยคนในครอบครัว ช่วยคนอื่นที่เราสามารถช่วยได้


ถาม คิดว่าประสบการณ์ทำงานในชุมชนที่ผ่านมาจะช่วยส่งเสริมอนาคตของตัวเราเองอย่างไร

ตอบ ช่วยได้เยอะ ตั้งแต่ตอนนี้ ทักษะการพูดใช้ตอนเรียน การเข้าหาสังคมต้องมี ทำให้เรากล้าเดินตามทางของเรามากยิ่งขึ้น เพราะได้เรียนรู้มาแล้ว ไม่ต้องกังวล


ถาม กลัวการเป็นผู้นำอยู่ไหมถ้าเขาให้ไปเป็นหัวหน้าโครงการหรือหัวหน้าทำอะไรสักอย่าง

ตอบ ถ้าเป็นสถานการณ์ที่ยิ่งใหญ่ยังกลัวอยู่ บางกรณีอาจจะมาในรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน ยังกลัวอยู่ค่ะ


ถาม ถ้ามีเหตุการณ์คล้าย ๆ กันอย่างนี้ มีน้องที่อายุห่างกันร่วมทีม เราน่าจะเอาอยู่ทำสำเร็จไหม

ตอบ ถ้าเป็นเรื่องที่เราเคยผ่าน เราเคยเจอมาก่อน น่าจะจัดการได้ดียิ่งขึ้น


ถาม อะไรทำให้มั่นใจ

ตอบ เพราะว่าเราเคยเป็นมาก่อน เก็บสะสมมาเราต้องเรียนรู้วิธีแก้มากขึ้น มันต้องไม่เป็นแบบเดิม


ถาม หนูเป็นประธานเยาวชนในชุมชนต้องทำอะไรบ้าง

ตอบ ประธานเยาวชนชุมชนทำเกี่ยวกับการจัดการเรื่องของเยาวชน ที่ต้องคุยรวมตัวกันประชุมกัน เราก็จะเป็นคนวางแผนดูแลจัดการให้ ดูแลรอฟังคำสั่งจากผู้นำชุมชน ประสานมาให้เราไปร่วมกิจกรรม ให้เราได้เข้าไปมีบทบาทมากขึ้น จากที่เคยเป็นเป็นเยาวชนทั่วไป ตำแหน่งค้ำไว้ว่าเราอยู่จุดนี้


ถาม เราอยากทำอะไรเพื่อชุมชนเราบ้าง

ตอบ หนูอยากมีส่วนร่วมกับชุมชนได้มากที่สุด อนุรักษ์ในสิ่งที่มีก่อนหน้านี้ให้คงอยู่ ไม่อยากให้สูญหาย เหมือนลายผ้าทอ


ถาม ความเป็นคนไทลื้อที่มีรากเหง้า ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตของตัวเองสำคัญอย่างไรกับตัวเราและคนรุ่นลูกรุ่นหลาน

ตอบ เป็นสิ่งที่อยู่ในคนชุมชนที่นี่มาตลอด เป็นความพิเศษที่ชุมชนเมืองไม่มีแบบเรา ชาติพันธุ์ไทลื้อนับตั้งแต่บรรพบุรุษ มีเอกลักษณ์แตกต่างจากคนอื่น เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อนของหนูเขาเป็นคนในชุมชนเมือง จะรู้สึกตื่นเต้นกับสำเนียงภาษาไทลื้อ เขาอยากพูดได้ ขณะที่หนูสามารถพูดภาษาคำเมือง (ภาษาเหนือ)กับเขาได้ หนูไม่รู้สึกอาย หนูอยู่โรงเรียนคนส่วนมากก็พูดคำเมือง มีบางคนเป็นไทลื้อเหมือนกัน หนูก็พูดลื้อกับเขา สนุกดีที่คนอื่นเขาก็อยากฝึกพูดภาษาไทลื้อของเรา


ถามฟังทั้งหมดมีประโยคที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงสำนึกพลเมืองชัดเจน น้องโรสบอกว่า “ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน” การได้เห็นผ้าทอ ลายน้ำสุน ทำให้พี่เข้าใจว่าลายผ้า เรื่องราวเกี่ยวข้องอย่างไรกับความเป็นพลเมือง ได้เห็นเรื่องราวตัวเองรู้สึกผูกพัน แล้วก็รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ จึงทำให้โรส อยากอนุรักษ์ลายผ้าทอไว้