รุ่งวิกร บุญชนะวัฒนา : แกนนำเยาวชน Active Citizen ภาคตะวันตก

นายรุ่งวิกร บุญชนะวัฒนา แกนนำเยาวชน Active Citizen ภาคตะวันตก


นายรุ่งวิกร บุญชนะวัฒนา หรือที่คุ้นชื่อกันในโครงการ Active Citizen คือนายป่าหวาย จะบุ้ง อดีตแกนนำเยาวชนจากราชบุรี ป่าหวายเข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ตั้งแต่ปีแรกโดยทำเกี่ยวกับการศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาของน้ำตกบ่อหวี จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันป่าหวายอายุ 24 ปี เรียนจบจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะสื่อสารมวลชน สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

ปัจจุบันป่าหวาย ทำงานเป็นเชฟอาหารญี่ปุ่นอยู่ที่ตลาดจอร์จแฟร์ หลังห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพระรามเก้า ป่าหวายเล่าให้ฟังว่า “ผมตั้งใจจะไปเป็นเชฟร้านอาหารญี่ปุ่นที่เนเธอแลนด์เพื่อหาประสบการณ์และหาทุนเพื่อกลับมาทำตามฝันของตัวเอง ระหว่างนี้ทำงานที่ร้านเพื่อฝึกประสบการณ์ให้กับตัวเองไปก่อนครับ” ก่อนหน้าที่จะมาเป็นเชฟป่าหวายลองมาหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่ช่างตัดผม ไปจนถึงรับจ้างทำ Mockup งานเซ็ทภาพที่เกี่ยวกับสายที่ตัวเองจบมา เขามองว่าทุกอย่างคือความรู้ แม้จะเรียนจบสายนิเทศ แต่เขามองว่าไม่จำเป็นต้องทำเกี่ยวกับนิเทศเป็นอาชีพหลัก เขาจึงเสาะแสวงหาความรู้ และอาชีพไปเรื่อย ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเติมทักษะให้กับตัวเอง

“ผมอยากมีกลุ่มเล็ก ๆ ของผมไว้แบ่งปันความสุขโดยใช้ความสามารถของแต่ละคนแบ่งปันความสุข โดใช้ความรู้ ความสามารถของตัวเองแบ่งปันความสุขให้กับคนอื่น เป็นความฝันเล็ก ๆ ของผม ที่อยากสร้างกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่เขาสนใจเอาความรู้มาถ่ายทอดให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เขายังขาดทักษะ” ป่าหวายบอกเล่าถึงภาพฝันของตัวเองให้ฟัง เมื่อถามถึงอนาคตที่อยากเป็น

เมื่อถามย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ป่าหวายเข้าโครงการ เขาเล่าให้ฟังว่า “ตอนนั้นครูที่โรงเรียนชักชวนให้เข้าร่วมโครงการ เราเองเป็นเด็กกิจกรรมอยู่แล้วเลยตัดสินใจเข้าร่วม” เมื่อถามถึงความคาดหวัง ในตอนแรกเขายอมรับว่าไม่ได้คาดหวังอะไร รู้แค่ว่าอยากสนุก อยากทำกิจกรรมเลยตอบตกลง ป่าหวายบอกว่าตนมีนิสัยชอบกิจกรรม ช่างพูด ช่างคุย กล้าแสดงออกอยู่แล้วแต่ติดที่ยังเรียบเรียงคำพูดไม่ถูก ช่วงแรกที่เข้าโครงการป่าหวายยอมรับว่ากลายเป็นเด็กกลัวไมค์ กลัวกล้องถ่ายรูปไปเลยทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นเด็กกิจกรรม แต่พอได้เข้าร่วมเวทีบ่อย ๆ กระบวนการของโครงการที่ค่อย ๆ ขัดเกลาและทำให้ตนกล้าพูด กล้าแสดงออกมากขึ้น

ปัญหาระหว่างการทำโครงการเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเจอ ส่วนตัวของป่าหวายคือเรื่องของการลงพื้นที่เพราะตนไม่ใช่คนในพื้นที่ทำให้การเดินทางค่อนข้างเป็นอุปสรรคในการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลช่วงนั้นตนทำงานอยู่คนเดียว ตั้งแต่ลงพื้นที่ เก็บข้อมูล สำรวจข้อมูล เพราะสมาชิกในทีมส่วนใหญ่ต่างมีภาระที่ต้องทำในครอบครัว ทำให้ตนต้องรับหน้าที่นี้เป็นหลัก ซึ่งป่าหวายมองว่าตอนนั้นอาจจะมองว่าเป็นปัญหา แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือเรื่องของการเข้าชุมชน และความอดทนในการทำงานที่เขานำมาใช้จนถึงปัจจุบัน

ป่าหวายยกตัวอย่างสิ่งที่เขาได้จากการเข้าร่วมโครงการและนำไปใช้ได้จริง ๆ เป็นเรื่องของรายวิชาจริยธรรมสื่อที่ตนต้องลงพื้นที่เพื่อสอบถามข้อมูลจากคนในพื้นที่ทางรถไฟในกรุงเทพ ซึ่งป่าหวายบอกว่าเป็นวิชาที่เขานำเอาทักษะที่ได้จากการทำโครงการไปประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงเรื่องของความอดทนต่อความยากของงาน ต่อคำแนะนำของคณะอาจารย์ในรายวิชาซึ่งป่าหวายบอกว่า “ในเรื่องของการให้ข้อเสนอแนะตอนทำโครงการผมเจอความท้าทายมาเยอะกว่านี้มาก พอผมมาเจอในรายวิชานี้ทำให้ผมมีสติและอดทนกับงานมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากเพื่อนบางคน พอเขาเจอคำพูดอาจารย์ หรือโดนแก้งานหลายคนท้อ ร้องไห้ก็มี นี่แหละที่ผมว่าผมได้จากโครงการนี้ ที่ส่งผลให้ผมเดินนำหน้าเพื่อน ๆ ไปก้าวหนึ่ง” ป่าหวายกล่าว

มาถึงตอนนี้สิ่งที่ป่าหวายตั้งใจไว้คือการทำตามฝันของตัวเองอีกครั้ง คือการออกไปหาประสบการณ์ เพื่อเก็บเกี่ยวมาเป็นต้นทุนให้กับตัวเองทำตามฝันให้สำเร็จ ทั้งเรื่องของความรู้และทุนทรัพย์ที่เขาตั้งเป้าไว้ว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเขาจะกลับมารวมกลุ่มจิตอาสาเพื่อทำงานให้กับเยาวชน