​นางณฐา ชัยเพชร : โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมผักพื้นบ้านชุมชนคลองยอ

นางณฐา ชัยเพชร (จ๋า) อายุ 50 ปี

ตำแหน่ง: ตัวแทนเกษตรกรรุ่นใหม่ เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคใต้จังหวัดสงขลา

ตำแหน่ง: พี่เลี้ยงเยาวชน

โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมผักพื้นบ้านชุมชนคลองยอ ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา


­

­

ถาม ขอให้ช่วยแนะนำตัว

ตอบ ชื่อพี่จ๋า ณฐา ชัยเพชร อายุ 50 ปี เป็นตัวแทนเกษตรกรรุ่นใหม่ภาคใต้ที่อยู่ในเครือข่ายเกษตรยั่งยืนแห่งประเทศไทย ทำเรื่องอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้าน พันธุ์ข้าว อนุรักษ์พันธุกรรมพื้นถิ่น ทำร่วมกันกับเรื่อง “ป่าร่วมยาง” เป็นการฟื้นฟูผักพื้นบ้านจากแปลงปลูกยางพารา เมื่อเรามาทำตรงนี้พันธุ์ผักพื้นบ้านที่หายไปก็กลับมา พี่เชื่อว่าถ้าเราไม่ถ่ายทอดเรื่องราวตรงนี้ให้กับเด็กเยาวชน เขาจะไม่รู้คุณค่าว่าผักเหล่านี้เป็นอาหารได้ จึงเป็นที่มาการรวมกลุ่มเด็กให้เข้ามาขับเคลื่อนในชุมชน ร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนกัน จนได้มาทำร่วมกับสงขลาฟอรั่มช่วงแรกทำกลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน จนขยับเป็นกลุ่มผักเหนาะ ทางกลุ่มผักเหนาะทำงานร่วมกับผู้ใหญ่อนุรักษ์พันธุ์ผักมาแล้ว 147 ชนิด มีความรู้ชุดนี้ และมองว่าต้องส่งต่อ ไปให้กับเด็ก ๆ ในชุมชน

ถาม ที่มาการรวมกลุ่มของเด็ก ๆ ในโครงการเป็นอย่างไร

ตอบ เด็กที่เข้ามาทำช่วงแรกเป็นลูกหลาน เราจะพาลูกหลานทำพาลูกหลานเล่น เด็ก ๆ เป็นคนไปบอกต่อชวนเพื่อน ๆ มาทำร่วมกัน อีกส่วนหนึ่งพี่อยากให้เด็กได้ทำงานร่วมกับชุมชน เพราะปัจจุบัน (1) เด็กส่วนใหญ่เรียนไม่จบการศึกษาภาคบังคับ (2) มีเรื่องปัญหายาเสพติด (3) ปัญหาในครอบครัว เราดึงลูกหลานมาทำงานตรงนี้เพื่อลดปัญหา ลดช่องว่างไม่ให้เขาไปสู่ปัญหาทั้ง 3 ข้อที่เป็นเราเป็นห่วง

เรามีแกนนำอยู่ภายใต้สภาองค์กรชุมชน ทุกเดือนเราชวนแกนนำแต่ละศูนย์เรียนรู้ในตำบลวังใหญ่ประมาณ 10 กว่าศูนย์ ประชุมสรุปปัญหาของชุมชนในเครือข่ายและร่วมกันออกแบบวางแผน งานและแก้ปัญหาที่มีอยู่

ด้านการมีส่วนร่วมของท้องที่และท้องถิ่น ในระดับหมู่บ้านเมื่อเราชวนเขาเข้ามาร่วม แต่ระดับท้องถิ่นเราชวนเขามาร่วมแต่เขามองว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ เป็นเรื่องของคนกลุ่มน้อยที่อยากจะทำเอง ไม่เกี่ยวข้องกับเขา ท้องถิ่นจึงยังไม่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ หลังจากที่คุยแล้วไม่สำเร็จเราจึงไม่คุยต่อ

ถาม บริบทของชุมชนที่นี่เป็นอย่างไร

ตอบ กลุ่มผักเหนาะตั้งอยู่ในหมู่บ้านคลองยอ มีจำนวนทั้งหมด 130 กว่าครัวเรือน เป็น 1 ใน 8 หมู่บ้านในตำบลวังใหญ่ พื้นที่ทั้งตำบลส่วนใหญ่เป็นควนเขาและมีพื้นที่ราบเล็กน้อย แต่เดิมเป็นสวนยางและมีพื้นที่นา ตอนหลังพื้นที่นาหายไปเพราะเกษตรเชิงเดี่ยวที่รัฐส่งเสริม ทำให้ความมั่นคงทางด้านอาหารที่ชุมชนเคยมีหายไป ทั้งข้าวไร่ ข้าวนา พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน เมื่อก่อนจะเรียกว่า “สวนป่ายาง” ในสวนยางมีไม้ผล ผักยืนต้น ผักเลื้อย พื้ชล้มลุก พอเกษตรเชิงเดี่ยวเข้ามาเหลือแค่ยางพาราอย่างเดียว โชคดีที่พี่ได้เข้ามาอยู่ในกลุ่มเกษตรทางเลือกปลาย พ.ศ. 2547 ในปี พ.ศ.2549 เรามีโอกาสเข้าไปเรียนรู้เรื่องเกษตรทางเลือกภายใต้มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย เราเห็นความสำคัญของหน้าที่เกษตรกร เกษตรกรจะพึ่งพาตัวเองได้ต้องมีความมั่นคงทางด้านอาหาร มีอาหารที่เพียงพอต่อคนในครอบครัวและคนในชุมชน จึงมาทำเรื่องการอนุรักษ์ป่าร่วมยางเป็นหลัก ตอนนี้ในสวนยางพื้นที่ 12 ไร่ มีผักที่เราเสริมเข้าไปพร้อมกับไม้เศรษฐกิจทั้งหมด 300 กว่าชนิด

จากนั้นเราสร้างเครือข่ายในแต่ละหมู่บ้าน ชวนคนที่มีหัวใจเดียวกัน คนที่คิดเหมือนกันมาทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ความมั่นคงทางด้านอาหาร การเก็บเมล็ดพันธุ์ ในชุมชนมีหลายศูนย์ ศูนย์สมุนไพร ศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ เราทำธนาคารเมล็ดพันธุ์ กลุ่มผักเหนาะไปเรียนรู้กับชุมชนต่าง ๆ

ถาม สถานการณ์ของเด็กวัยรุ่นในชุมชนเป็นอย่างไร

ตอบ สภาพปัญหาคือตอนนี้เด็กเรียนไม่จบการศึกษาภาคบังคับจำนวนมาก และเข้าเรียน กศน. ซึ่งเป็นภาพรวมเกือบทั้งอำเภอเทพา หลังจบ ป.6 เด็กในชุมชนเริ่มไม่ให้ความสนใจกับการศึกษา เมื่อถามเขาเขาบอกว่าเรียนไม่รู้เรื่อง เรียนอะไรไม่รู้ ครูสอนไม่เข้าใจ ฯลฯ ทำให้เขาไม่อยากเรียนหนังสือ ในบรรดาลูกหลานของพี่เองเกือบ 10 คน เรียนไม่จบ เป็น 1 ใน 3 ข้อ ของปัญหาที่พูดไปก่อนหน้าคือมีปัญหาครอบครัวพ่อแม่เลิกกัน เด็กที่เข้ามาอยู่ในกลุ่มผักเหนาะจะเอาตัวรอดไปได้ แต่มีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่เราดึงเขามาไม่ได้ยังมีปัญหาอยู่

ถาม บทบาทการทำงานกับเยาวชนในชุมชนที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

ตอบ เราเห็นว่าเด็กเลิกเรียนกลับมาไม่รู้จะไปไหนเขาก็เล่นอยู่กับบ้าน วันเสาร์วันอาทิตย์ไม่ได้ช่วยพ่อแม่ทำอะไร ถ้าปล่อยไปอาจจะเกิดปัญหาได้ จึงชวนเด็กมาทำกิจกรรม เริ่มแรกชวนมากินขนมมาเล่น เช่น ถ้าเขาอยากกินขนมบัวลอย เราจะถามว่าชอบบัวลอยสีอะไร พอเขามาเราก็ชวนเขาถามและฝึกเขาให้ได้ลองทำ พอได้ทำแล้วสนุก เขาอยากมาเข้าร่วมกับเราอีก ช่วงไหนที่เราว่างมีเงินเราชวนเขามาทำ ช่วงไหนเราไม่มีก็หยุด จนเราได้พบป้าหนู เขียนงบขอโครงการของสงขลาฟอรั่ม ทำให้เกิดการจัดกระบวนการกับเด็กเป็นรูปแบบมากขึ้น จากเดิมที่จัดเองไม่มีระบบ ทำให้เด็กชัดเจนมากขึ้น รู้ว่าชอบทำอะไร จากเดิมที่ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น พอเขาได้ไปอบรม ออกไปเรียนรู้ข้างนอกได้ไปเจอคน ทำให้เขามีความกล้าวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถาม ในการลงชุมชนเขามีความกล้าแสดงออกและมีความรับผิดชอบ จากแต่ก่อนที่ไม่เคยรับผิดชอบอะไร ตอนนี้กลายเป็นคนที่รับผิดชอบ หลังจากที่พวกเขาเข้าเข้าร่วมโครงการ เขามีหน้าที่เพิ่มช่วยเหลือพ่อแม่จากเดิมที่ไม่เคยทำ ตอนนี้วันเสาร์วันอาทิตย์หรือช่วงปิดเทอมเขาช่วยพ่อแม่ทำงาน

ก่อนทำโครงการนี้ถ้ามีกิจกรรม ถอนกล้า ดำนา เกี่ยวข้าว จะพาเด็กกลุ่มนี้ไปทำในช่วงที่เขาว่างตรงกัน พี่ทำงานมา 10 กว่าปี ใช้เวลานาน เพื่อผู้ใหญ่มองเห็นว่าเกษตรกรรมยั่งยืน สามารถพึ่งตัวเองช่วยเหลือคนอื่นได้ พี่จึงมีความเชื่อว่า หลังจากนี้จะทำอะไรต้องเน้นไปที่เด็กมากกว่า พี่ทำงานกับเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 5 ขวบมาก่อนเข้าร่วมกับสงขลาฟอรั่ม สุดท้ายสิ่งที่ตอบโจทย์คือเด็กสอนได้ แต่ผู้ใหญ่สอนยากมาก ใช้เวลานานและเสียเวลา จึงหันมาทำงานกับเด็ก เด็กพึ่งตัวเองได้จริง จากสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ไป แม้วันนี้เขายังไม่ได้ทำ วันหนึ่งเขาจะได้ทำ เหมือนเราในวันนี้ พี่ฟื้นวิถีชีวิตแบบนี้ขึ้นมาทำกับเด็กเพราะว่าสมองเรายังจำความตอนเด็ก ว่าสิ่งที่รับรู้มาทำให้เราพึ่งพาตัวเองได้ เมื่อก่อนไปนามี กุ้ง หอย ปู ปลา ขอบนามีผักพื้นบ้าน บัวบก ผักบอนหรั่ง เป็นวิถีที่เราถูกฝึกมาจากตรงนั้น จึงมาเจาะทำงานกับเด็ก แต่สิ่งที่เราเรียนมาตั้งแต่ ป.1-ป.6 ความรู้ตรงนั้นแทบจะไม่ได้ใช้

ถาม คนในชุมชนมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง

ตอบ มีเจ้าอาวาสวัดคลองยอ ท่านเห็นพี่ทำงานกับเด็ก ๆ แต่ก่อนเราต้องพาเด็กไปเรียนรู้ที่ชุมชนอื่น เช่น ไปที่อำเภอสะบ้าย้อย ไปทำนาที่ดินของคนอื่น เวลาเขามีกิจกรรมห้องเรียนท้องนาเราก็พาลูกหลานไปเรียนรู้ที่นั่นกับเครือข่าย ตอนหลังท่านเจ้าอาวาสมอบที่ดินที่เป็นมรดกของท่านให้กับเรา ท่านตั้งใจให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงคนในชุมชนที่สนใจอยากจะฟื้นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน

ถาม มีแนวคิดเรื่องการเรียนรู้อย่างไร

ตอบ เมื่อก่อนพี่เคยเสียใจมากที่เราไม่ได้เรียนหนังสือในระบบแบบคนอื่น เดิมพี่จบแค่ ป.6 พอมาถึงช่วงวัยที่เรามีครอบครัว เราได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง ความคิดที่อยากเรียนความเสียใจนั้นหายไป พอเราเข้าไปอยู่ในชุมชน คนในชุมชนมองว่าคนที่ไม่ได้จบปริญญาตรี ไม่น่าเชื่อถือ สุดท้ายจึงตั้งใจว่าถ้าจะทำอะไรเพื่อชุมชน เราต้องจบปริญญาตรี พอมีโอกาสได้เรียนจบปริญญาตรี กลับพบว่าไม่ใช่คำตอบ ใบปริญญาเป็นแค่ตัวประกอบหนึ่ง แต่ไม่ช่วยเพิ่มศักยภาพในตัวพี่ จึงกลับมาคิดทำสิ่งที่เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ เจาะทำงานกับเด็ก

ความคิดเปลี่ยนจากความเสียใจเป็นความดีใจที่ไม่ได้เรียนในวันนั้น ทำให้เราได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน บรรพบุรุษ ปู่ย่าตายาย เพราะคนอื่นไปเรียน เราได้ไปนาไปไร่ ขึ้นเขาลงห้วยไปหาหวาย เราซึมซับการเรียนรู้จากตรงนั้น เปลี่ยนมุมมองนำความรู้ที่มีอยู่ในอดีตมาใช้ให้เราพึ่งพาตัวเองได้ เด็กพึ่งพาตัวเองได้

ถาม มีวิธีการชวนเด็กเรียนรู้อย่างไร

ตอบ พาเขาลงไปสำรวจพื้นที่ป่า เดินป่า เรียนรู้เรื่องพืชพันธุ์พื้นบ้าน สำรวจในหมู่บ้าน สำรวจบ้านแต่ละหลัง ว่ามีพันธุ์ผักอะไรบ้าง ทั้ง 130 ครัวเรือน พี่พาเขาไปสำรวจชุมชน ไปลงพื้นที่ไปในป่า ให้เขาได้รู้จักพืชพันธุ์พื้นบ้าน ให้เขาสำรวจในแต่ละหมู่บ้านจนรู้ว่าแต่ละที่มีพันธุ์ผักอะไรบ้าง เด็กจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน เช่น บ้านนี้ไม่มีสิ่งนี้เขาก็จะเอาของอีกบ้านหนึ่งนี้ไปให้ หรือบ้านไหนไม่มีอะไรเขาบอกได้หมด เพราะว่าพวกเขาลงพื้นที่ทุกหลังคาเรือน

ถาม ความโดดเด่นในการพี่เลี้ยงของพี่จ๋าคือเรื่องอะไร

ตอบ พี่มีจุดด้อยมากกว่าจุดเด่น เพราะว่าเราไม่ได้ทำกับเด็กอย่างเดียว เราเป็นแกนนำในชุมชนและต้องทำงานหลายเรื่องทั้งทำงานกับเด็ก ผู้ใหญ่ เครือข่าย ช่วยงานส่วนกลาง ทำให้พี่อยู่กับเด็กไม่เต็ม 100% ยังไม่ปลื้มในงานที่ทำกับเด็ก

สิ่งที่พี่ทำคือพาเขาลงมือทำ ฝึกเก็บเมล็ดพันธุ์ การเพาะเมล็ด การดูแล ทำไปถึงจุดหนึ่ง กลุ่มเด็กมีเวลาไม่ตรงกับเรา งานกำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี วันเสาร์วันอาทิตย์เด็กต้องเรียนพิเศษ ก่อนหน้าเด็กมีเวลาว่างมาก แต่หลังจากเราฝึกเด็กในโครงการให้กล้าแสดงออก ครูในโรงเรียนอยากให้พวกเขาทำงานที่โรงเรียน เขาถูกคัดเลือกให้เป็นตัวแทนโรงเรียน

เริ่มแรกฝึกเด็ก เราพาเขาไปในสวนยางพารา ถามเขาว่ามีพืชต้นไหนที่รู้จักบ้าง ให้เขาจดบันทึก แบ่งกลุ่มให้เขาไปจดบันทึกพืชแล้วพาเราไปดูพืชผักนั้นใช่ตามที่เขาจดบันทึกมาหรือไม่ ต้นไหนที่เขาไม่รู้จักเขาจะถ่ายรูปกลับมาถาม

เด็กไม่ชอบกินผัก เราคิดวิธีการทำให้เขาชอบกินผักมากขึ้น โดยทำกิจกรรมกลุ่ม แบ่งเด็กเป็น 5 กลุ่ม เตรียมผักทั้งหมด 30 ชนิด ให้ทุกกลุ่มแข่งขันทำแกงเลียง ให้พวกเขาสนุกจากการเลือกผักได้เต็มที่ เขาทำด้วยความตั้งใจและภาคภูมิใจกับรสชาติอาหารที่เขาทำ จากเด็กที่ไม่กินผักเปลี่ยนเป็นกินผักได้ เด็กกินผักบางชนิดเป็น เดิมเด็กรู้จักแค่ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว แตงกวา มะเขือ ผักกาด กะหล่ำปลี พอมาเข้าร่วมโครงการกับกลุ่มผักเหนาะ เขาเริ่มรู้จักยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดจิกนา ยอดมันปู ยอดผักเหมียง ยอดหมากหมก ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านยืนต้นอายุยืน ที่ปลูกครั้งเดียวแล้วสามารถเก็บกินได้ตลอดชีวิต

เด็กบางคนที่ร่วมกิจกรรม พอเขากลับบ้านไป เขาเอาเทคนิคที่ได้จากการทำกิจกรรมไปทำกับให้น้องที่บ้านทาน เขากลับมาเล่าว่าน้องเขาไม่ชอบกินมะเขือเทศ เขาเห็นการตีไข่เจียวกับยอดผักเหมียงแล้วนำไปผัด จากที่เขากินเป็นจากที่กินไม่เป็น เขาชอบกินมะเขือเทศแต่น้องไม่ชอบ เขาจึงใช้วิธีหั่นมะเขือเทศตีใส่ไปในไข่เจียว ปรากฏว่าน้องกินมะเขือเทศได้ เราฟังแล้วก็รู้สึกดีใจ

พี่ชวนเด็กประยุกต์วิธีการทำอาหาร โดยเราเอาผักเหมียงที่เป็นใบแก่มาแปรรูป แต่เดิมเด็กอาจจะรู้จักว่าผักเหมียงต้องนำมาผัดไข่ ทำแกงเลียง นำมาต้มกะทิ ส่วนใบที่แก่จะทิ้งไป เราฝึกเด็กให้นำใบแก่ของผักเหมียงมาแปรรูปเป็นข้าวเกรียบเหมียง เด็กทุกคนชอบและสามารถกินผักได้ มีเด็กหนึ่งคนในกลุ่มที่เขาไม่ชอบกินผัก จัดกลุ่มนี้ทุกครั้งเขาจะหนี แต่พอเรามาแปรรูปเป็นข้าวเกรียบเขาก็ชอบกิน นอกจากผักเหมียง มีผักไชยา และใบมะละกอกินใจ

เด็กทุกคนจะรู้ขั้นตอนการทำข้าวเกรียบตั้งแต่นำใบผักเหมียงมาล้าง นำมาปั่น นำไปต้ม จากนั้นนำมานวดกับแป้ง ห่อแล้วนำไปนึ่ง หลังจากนั้นนำไปตากแดด นำมาหั่นและนำมาทอด เด็กอยู่ในทุกขั้นตอนการทำ เด็ก ๆ เขาจะชอบทำ ตอนแรกวางโครงการว่าจะทำข้าวเกรียบให้เป็นรายได้เสริมช่วงวันเสาร์วันอาทิตย์ โดยเราใช้แป้งจากพันธุ์ข้าวพื้นบ้านรสชาติดี

ช่วงที่เด็กเรียนชั้น ม.1 ชวนทำกิจกรรมจะมา พอเด็กเข้า ม.3 เขาเริ่มหายไป เนื่องจากเขาไม่มีเวลาว่างพอ เราจึงยังไม่ได้มีผลผลิตมาออกจำหน่าย เวลาที่เราออกงานเราจะพาเด็กไปร่วมกิจกรรมเราทำเรื่องพันธุกรรมท้องถิ่น เรื่องผัก กลุ่มผักเหนาะมีหน้าที่นำเสนอผักที่เขาสำรวจและสาธิตการทำข้าวเกรียบผั

ถาม เป้าหมายในการพาเด็กไปร่วมกิจกรรมนอกพื้นที่คืออะไร

ตอบ อยากให้เขาออกไปข้างนอกหาประสบการณ์ พอเขาได้ออกไปข้างนอก เขาได้รู้ว่ายังมีคนอื่นที่ทำเหมือนเรา มีบางคนทำมากกว่าเรา สร้างให้เขาภูมิใจในตัวเอง เห็นสิ่งใหม่ ๆ จากคนอื่น เพื่อได้มาปรับใช้กับตัวเอง ตัวพี่เองถ้าไม่มีคนเปิดโอกาสให้ไปเรียนรู้ข้างนอก พี่คงยังมีความคิดเดิม ๆ พอเราได้ออกไปเจอคนอื่น โลกภายนอก สิ่งใหม่ เราสามารถประยุกต์กับความคิดเดิมที่เรามีพัฒนาต่อยอดได้

เวลาที่เขากลับมา เขาเล่าให้ผู้ปกครองและน้อง ๆ คนที่ไม่ได้ไปฟัง ผู้ปกครองของเด็กจะมาเล่าให้เราฟังว่าเด็ก ๆ สนุก ได้เห็นคนอื่นว่าเขาทำอะไรกัน และสิ่งที่เขาจะกลับมาทำบ้าง

ถาม การเปลี่ยนแปลงของเด็ก ๆ ตอนที่กลับมาจากการทำกิจกรรมนอกพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง

ตอบ ช่วงแรกเวลาที่เขาได้ออกไปข้างนอก เขาจะไม่กล้าคุยกับใครเลย ไม่กล้าแสดงออกเลย การที่เขาได้ไปเจอคนเยอะบ่อย ๆ เขาตื่นเต้นน้อยลง มีความกล้ามากขึ้น เวลาที่จัดกิจกรรมในชุมชน เขาสามารถพูดให้ผู้ใหญ่ฟังได้ เขามั่นใจเล่าในสิ่งที่เขาทำ

ถาม เมื่อเด็กมีคำถามพี่จ๋าช่วยเหลือเด็ก ๆ อย่างไร

ตอบ เราช่วยแนะนำ อย่างผักบางชนิดเราไม่รู้สรรพคุณ เมื่อก่อนตอนเราทำเรื่องอนุรักษ์ ผักบางชนิดเราก็กินเลยโดยที่เราไม่รู้สรรพคุณอะไร พอมาทำโครงการนี้เราต้องศึกษาสรรพคุณของผัก ประโยชน์ในการป้องกันโรค ส่วนเรื่องที่เราไม่รู้ พี่จะแนะนำให้เขาไปค้นข้อมูลเพิ่มด้วยตัวเอง เวลาที่เขาถามเราแล้วเราตอบไม่ได้ เขามักจะค้นหาข้อมูลด้วยตัวเองใน Google บางครั้งเด็ก ๆ เป็นคนช่วยเราหาคำตอบด้วย ได้แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างคนต่างวัย เด็กคล่องเรื่องเทคโนโลยีมากกว่าเรา

ถาม เทคนิค เครื่องมือที่ใช้แล้วได้ผลมีอะไรไรบ้าง ใช้อย่างไร

ตอบ การตั้งคำถาม การเปิดโอกาสตั้งคำถามให้เขาได้ทำเรื่องที่สนใจ

ทำงานกับเด็กก่อนหน้านี้เราชอบอะไร จะให้เขาทำตามที่เราชอบ ในยุคนี้เราต้องให้เขาเลือกทำตามในสิ่งที่เขาชอบ ตั้งคำถามก่อนว่าเขาอยากทำอะไร เขาอยากทำไหม การทำโครงการนี้ก็ถามความสนใจจากเขา เขาอยากทำแต่กลัวว่าทำไม่ได้เราจะคอยบอกเขาว่า “ลองไหม” สนับสนุนให้เขาได้ลองทำ พอลองแล้วเขาทำได้ถือว่าประสบผลสำเร็จ

ช่วงที่เขาไม่มั่นใจ ยังไม่กล้า เราถามกลับไปเหมือนเดิมว่า “ลูกลองหรือยัง” การให้เขาลองทำให้เขามีความกล้า เด็กกลัวทำผิด ทำไม่ได้ กลัวทำแล้วไม่ถูกใจผู้ใหญ่ กลัวทำผิดพลาด ยกตัวอย่างเวทีสรุปโครงการ เด็กในกลุ่มมี 5 คน มีเด็กโต 3 คน และเด็กเล็ก 2 คน ทุกครั้งที่ไปเด็กเล็กโยนให้เด็กโตทำหมดเพราะถือว่าเป็นรุ่นพี่ พอช่วงปิดโครงการเด็กโต 3 คนไม่ได้ไปเหลือแค่เขา 2 คน ซึ่งเขาไม่กล้าไม่มีความมั่นใจ ในที่สุดเด็ก 2 คนนั้นกล้าพูดในวงใหญ่จากที่ไม่กล้าเลยเขาสามารถทำได้ ถ้ามีคนในวัยเดียวกันหรือรุ่นพี่ของเขาให้กำลังใจกัน จะทำให้เขาเกิดความมั่นใจ

ถาม วิธีการเปิดพื้นที่ให้เด็ก ๆ พี่จ๋าทำอย่างไร

ตอบ ให้เขาได้ลองทำให้ เกิดความกล้าและความมั่นใจในตัวเอง พี่ไปทันช่วงท้ายที่เขานำเสนอ แอบฟังแล้วรู้สึกปลื้มใจ ถ้าพี่อยู่เขาจะไม่มั่นใจ หลังจากนั้นพี่ชื่นชมเขาว่า “ลูกทำได้” เขาตอบกลับมาว่า “ป้าหนูช่วยเขาเต็มที่” เขารู้ว่าเขาผิดพลาดแต่มีผู้ใหญ่ช่วยให้ผ่านไปได้ เขาภูมิใจและรู้ว่าใครช่วยเขา ทุกคนให้โอกาสและกำลังใจ ทำให้วันนั้นผ่านไปได้ด้วยดี

ถาม มีเทคนิควิธีการอะไรเพิ่มเติมอีกไหม

ตอบ หลังจากการอบรม พี่ถามพวกเขาว่าอยากไปไหน เราพาเขาเที่ยวเพื่อเป็นกำลังใจให้กับเขา เราเห็นพวกเขามีความสุข พี่คิดว่าการที่พาเขาไปเที่ยวบ้าง เช่น ทะเล พาไปเที่ยวถนนคนเดิน ช่วยสร้างความสัมพันธ์กันในทีม สร้างความอบอุ่น ทำให้เขาไว้ใจเรามากขึ้น ไม่ใช่การใช้เด็กเป็นเครื่องมือทำงานให้เสร็จโครงการเท่านั้น ถึงโครงการจะจบลงแต่ความสัมพันธ์ของเราอย่างแนบแน่น มีเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่จบโครงการแล้วจบ

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเราต้องเชื่อใจว่าเขาทำได้ เชื่อมั่น เชื่อใจ ไว้ใจ ให้อภัยเขา จะทำให้งานเราผ่านไปได้ บางครั้งมีช่วงที่พี่ไม่ได้อยู่ด้วยกับเขา เราไปส่งแล้วเรากลับ ปล่อยให้เด็กอยู่กันเอง เด็กเล็กยังกลัวไม่กล้านอนคนเดียวในห้อง สุดท้ายเขามานอนรวมกัน เราไว้ใจเขา คอยบอกเขาว่าเขาอยู่ได้และให้รุ่นพี่คอยดูแลรุ่นน้อง มีคนหนึ่งประจำเดือนมาปวดท้องมาก เราไม่อยู่เขาโทรหาพี่เลี้ยงในโครงการ เด็กรู้สึกไม่ดีกับพี่เลี้ยง เด็กจึงไม่อยากเจอพี่เลี้ยง พอเราอธิบาย วิเคราะห์ให้ฟัง ถึงเหตุผลเรื่องคำพูดและจังหวะเวลาที่สื่อสารกัน เขาก็ยอมรับพี่คนเดิมได้ เราจะไม่ปล่อยผ่านเพราะจะทำให้อีกฝ่ายเป็นทุกข์ ถ้าเราทำให้เขาเข้าใจกันได้ทุกอย่างก็โล่งไม่มีปัญหา

ถาม เรียนรู้เรื่องอะไรจากการเป็นพี่เลี้ยง

ตอบ ทำงานกับเด็กทำให้เรียนรู้ คือ เรื่องนิสัยของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีปัญหากระทบกระทั่งกันบ้าง เด็กบางคนพูดมาก บางคนพูดน้อย บางคนเก็บอารมณ์ได้ บางคนเก็บไม่ได้ พี่เลี้ยงมีหน้าที่รับอารมณ์ทั้งหมดของเด็ก ทำให้ตัวเราต้องฝึกเรื่องอารมณ์ตัวเอง ถ้าเด็กร้อนมาแสดงว่าเราต้องเย็น ถ้าเด็กเย็นเกินไปเราต้องกระตุ้นเด็ก ให้เขาคิดให้เขาทำ บอกข้อเปรียบเทียบระหว่างคนที่ทำเลย กับคนที่ทำช้าใครจะได้กินก่อน ยกตัวอย่าง อายุของผักบุ้ง 20 วัน กว่าจะได้กิน ถ้าน้องบอกว่าอีก 10 วันค่อยปลูกถามเขาว่าใครจะได้กินก่อน คนที่ปลุกวันนี้ได้กินก่อน คนที่ปลูกช้าไป 10 วัน เสียเวลาไป 30 วันถึงจะได้กิน เปรียบเทียบให้เขาได้เห็นภาพ

พี่ได้เรียนรู้เวลาที่ไปเข้าร่วมอบรบ เช่น เรื่องพัฒนาการสมองของเด็ก อบรมวิธีการเป็นพี่เลี้ยงโครงการ แต่ก่อนเราถนัดลงมือทำเราไม่รู้หลักวิชาการ ชวนเด็กลงมือทำ แต่ให้พี่มาเขียนรายงานพี่ทำไม่เป็น เป็นจุดด้อยตรงนี้

ถาม เรานำสิ่งที่เรียนรู้ว่าปรับใช้อย่างไร

ตอบ ช่วยให้มีสติมากขึ้น ทำอะไรจะต้องคิด จากเมื่อก่อนทำอะไรทำขาดการวางแผน พอตอนนี้ถ้าจะทำงานกับเด็กต้องมีการวางแผนล่วงหน้าว่าทำอะไรก่อนหลัง จากเมื่อก่อนที่ไม่คุยนัดกันไปทำเลย เดี๋ยวนี้จะทำต้องคุยวางแผนก่อน นัดรถตอนกี่โมง ต้องทำอะไรบ้าง คุยให้เด็กฟังก่อน

แบบเดิมง่ายแต่ไม่มีหลักฐานว่าทำอะไร ไม่มีการจดบันทึก รวบรวมข้อมูล บบใหม่มีหลักฐานว่าเราทำ ได้วางแผนแล้ว ทำให้มีแบบแผนมากขึ้น หลักฐานช่วยยืนยันว่าเราทำอะไรบ้างในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูล เวลาที่เราต้องการใช้งาน เราสามารถมาค้นหาข้อมูลย้อนหลังได้ ตัวอย่าง ผัก 147 ชนิดที่สำรวจ ถ้าเป็นเมื่อก่อนเรารู้ว่ามี 200-300 ชนิด แต่เราไม่มีการบันทึกไว้ ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ต้นอะไร อยู่ที่ไหน ของใคร ตอนนี้เรามีข้อมูลบันทึกไว้ บ้านคนนั้นมี 30 ชนิดบ้านคนนี้มี 40 ชนิด บ้านคนโน้นมี 45 ชนิด ที่ไม่เหมือนกัน รวมแล้วได้ 147 ชนิด ซึ่งเป็นข้อดีมาก

การทำโครงการกับเด็กเราต้องมีเวลาให้เด็ก เด็กเองก็ต้องมีเวลา งานถึงจะออกมาดีกว่าตอนนี้พี่พอใจการทำงานโครงการนี้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงเป้าที่คิดไว้ เพราะเวลาที่ไม่ตรงกัน พี่ยังยืนยันเหมือนเดิมว่า การทำงานกับเด็กเล็กเท่านั้นที่เขามีเวลามากพอ เพราะพ่อแม่ไม่ต้องการ พอเด็ก 2 ขวบพ่อแม่ส่งเด็กไปโรงเรียนหมด ให้เด็กอยู่กับคุณครู พ่อแม่ต้องไปทำงานไม่มีเวลาสอน เด็กพวกนี้กลายเป็นเด็กที่ว้าเหว่ พอเราพาเด็กพวกนี้ไปเล่นอะไร เด็กเขาตั้งใจเพราะเขาอยากเล่นอยากสนุก อยากลอง อยากทราบ หลังจากนั้นความจำของเขาจะจำได้ พี่เคยไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์ เริ่มจากเด็กห้องมอนเตสซอรี่ (Montessori) เด็ก ป.1 ถึง ป.6 อยู่ด้วยกันในห้องเดียว ปรากฏว่ากิจกรรมที่เราทำกับเด็กอนุบาล 1 พอเขาขึ้นอนุบาล 2 เขาจำได้ว่าเขาเคยเจอเรา เราเคยพาเขาลงนา ในขณะที่บางคนอยู่ ป.6 จำไม่ได้ว่าเคยทำอะไรบ้าง พี่เชื่อว่าเด็กเล็กจะสามารถนำสิ่งที่เราสร้างการเรียนรู้ไปใช้ได้ดี เขาจดจำได้นานกว่า

การทำงานกับเด็กก่อนชวนมาทำโครงการ ต้องทำความเข้าใจกับเด็กและผู้ปกครอง คุยกันว่าการทำงานจะเป็นอย่างไร จะได้ไม่เจอปัญหาใหญ่ในภายหลัง ผู้ปกครองในชุมชนยินดีให้เด็กมาร่วมโครงการกับพี่ เขาเชื่อมั่น และไว้ใจ เราต้องเป็นฝ่ายไปบอกไปขออนุญาตเขา เวลาทำกิจกรรมให้ผู้ปกครองมาส่งลูกเอง ให้มาเห็นกระบวนการว่าลูกมาทำอะไร ถ้าเขาไม่มาดูแลหากเกิดปัญหาขึ้น คนที่ต้องรับปัญหาคือเรา จึงตั้งเงื่อนไขว่า ถ้าเพื่อนของเด็กคนไหนต้องการร่วมเรียนรู้ ต้องให้พ่อแม่มาส่งเพื่อที่เราจะได้รู้จักและอธิบายให้พ่อแม่ฟัง ว่าสิ่งที่เราทำมีขั้นตอนอะไรบ้าง เด็กที่มาทำกับเราถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจ ถ้าเกิดอะไรขึ้นจะกลายเป็นปัญหาใหญ่

ถาม ปัญหาอุปสรรคจากการทำโครงการคือเรื่องอะไร

ตอบ เรื่องเวลาที่ไม่ตรงกันตามที่เคยเล่าไป พี่แก้ปัญหาคือยอมรอให้เด็กมีเวลาก่อน ครั้งล่าสุดครูที่โรงเรียนไม่ยอมให้เวลามา เด็กกลัวขาดเรียนเพราะมีผลต่อคะแนนของเขา เรายอมเพราะนั่นคืออนาคตของเขา แต่โครงการเราคือส่วนหนึ่งในชีวิตเขาที่เขาแบ่งเวลามาทำ

ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง คือ เกิดจากตัวพี่เองเรื่องการทำเอกสาร พี่ไม่สามารถทำได้ พี่ไม่เคยทำคิดว่ายาก ปกติเวลาทำโครงการพี่เป็นฝ่ายปฏิบัติการ ถ้าในอนาคตไม่มีคนช่วยเขียนโครงการหรือช่วยเขียนรายงาน พี่ก็คงยกเลิกโครงการทั้งหมด พี่ต้องหาผู้ช่วยเพื่อมาช่วยเขียนรายงานแทนพี่ และพี่เลี้ยงเรื่องเอกสารและทำรายงาน งานปฏิบัติการงานหนักไม่เป็นปัญหาสำหรับพี่ แต่ถ้าเป็นงานเล็กๆ เช่นเอกสารเป็นปัญหามาก

ถาม อยากพัฒนาตัวเองในเรื่องอะไร

ตอบ อยากพัฒนาเรื่องสติ พี่อยากอยู่แบบสงบ ตอนนี้เรางานเยอะมาก พอเราไม่มีสติงานแต่ละอันจะออกมาได้ไม่ดี อยากมีเวลาให้กับตัวเองจะได้พัฒนาตัวเราเองในเรื่องของสมาธิ สติสำคัญมากต่อการเป็นพี่เลี้ยง ถ้าเราระงับหรือควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ สิ่งที่คิดว่าจะทำได้ก็คงทำไม่สำเร็จ ก่อนหน้านี้พี่คิดว่าพี่ควบคุมตัวอารมณ์ตัวเองได้ดีอยู่ พอเราต้องมาทำหลายงาน มันมีผลกระทบทางสมองและทางจิตใจของเรา จนกลายเป็นว่าไม่มีเวลาดูแลตัวเอง อยากฝึกจิตให้สงบเพื่อที่จะได้พัฒนาตัวเองได้ต่อ ๆ ไป

ถาม แผนการทำงานต่อไปในอนาคตเป็นอย่างไร

ตอบ ตอนนี้เราได้เปิดพื้นที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ ถ้ามีกลุ่มไหนสนใจที่จะเรียนรู้เรื่องผักเราสามารถให้ข้อมูลได้ เราสามารถบอกได้ว่า ผักพันธุ์ชนิดไหนต้องไปแปลงผักของใคร เด็ก ๆ เองสามารถแนะนำได้ว่าแต่ละบ้านมีผักอะไรบ้าง ถ้าในส่วนแปลงผักของเด็ก ๆ อยู่ที่ศูนย์เรียนรู้ เพราะที่นั่นจะเป็นแปลงเพาะชำของเด็ก ปีนี้แปลงผักขาดแคลนเรื่องน้ำ ยังไม่ค่อยสมบูรณ์มากนัก เด็ก ๆ ผลัดกันไปช่วยดูแลแปลงผักและเพาะชำต้นไม้ ไม้ยืนต้นส่วนหนึ่งถูกส่งไปให้โครงการของผู้ใหญ่ที่ทำเรื่องป่าร่วมยาง โครงการสวนป่ายางยั่งยืน โครงการข้าวไร่และผัก ผู้ใหญ่ในชุมชนจะทำงานร่วมกันกับเด็ก ๆ

เกษตรกรรมยั่งยืนถ้าเราไม่ส่งต่อให้ลูกหลานความยั่งยืนจะไม่เกิดขึ้น พี่พยายามฟื้นฟูเรื่องข้าวไร่และสวนป่าขึ้นมา เพื่อดึงลูกหลานเข้ามามีส่วนร่วม ปีนี้มีโควิด-19 และมีโอกาส เราเริ่มเห็นบางครอบครัวสอนลูกปลูกผักกินเองแทนที่จะไปซื้อจากตลาด ปีนี้เป็นปีมีคนมาหาเมล็ดพันธุ์ที่เราเยอะมาก ตอนนี้พี่ต้องการคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงเด็ก คนที่เขาคิดว่าอยากกลับมาอยู่บ้าน มีใจที่อยากเป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็ก ๆ

ถาม การเปลี่ยนแปลงของเด็กหลังเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างไร (ทักษะ พฤติกรรม สำนึกพลเมือง)

ตอบ ในวงพูดคุยเรื่องผักเขาสามารถพูดได้ว่า การกินผักพื้นบ้านมันปลอดภัยไม่มีสารเคมี ผักพวกนี้ขึ้นเองตามธรรมชาติ เขากล้าพูดแบบนี้ได้ถือว่าเขามีสำนึกพลเมืองแล้ว เขาสามารถพูดได้ว่า ผักที่พ่อแม่เขากินไม่ควรซื้อจากตลาดเพราะว่ามีการใช้สารเคมี ผักที่ขึ้นเองหาตามสวนยางตามธรรมชาติถือว่าเป็นผักที่ปลอดภัย เขาสามารถแนะนำคนในครอบครัวเขาได้ เขาพูดได้เต็มปากเต็มคำมากขึ้น จากแต่ก่อนที่ไม่พูดเรื่องนี้เลย ตั้งแต่ทำโครงการนี้มา ตอนนี้ในชุมชน 100% หันมาปลูกผักกินเอง โครงการนี้เราทำเชื่อมไปกับโครงการของผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มผักเหนาะแลกเปลี่ยนความคิดกันในเวทีชุมชน คนในชุมชน 130 ครัวเรือนที่ปลูกผักกินเอง มีบางครอบครัวเท่านั้นที่ไม่ได้ปลูกเขาไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง

ถาม เด็ก ๆ ในโครงการรู้สึกอย่างไรบ้างกับสิ่งที่พวกเขาทำ

ตอบ เขารู้สึกดีใจที่ทำให้ผักพวกนี้ยังคงอยู่ เขาวางแผนส่งต่อความรู้ที่เขามีให้กับรุ่นน้อง แม้ไม่มีโครงการไหนมาสนับสนุน ในชุมชนเรายังคงรักษาวิถีชีวิตแบบนี้ไว้อยู่ ความรู้ถูกส่งจากรุ่นสู่รุ่น น้องแกนนำทั้ง 5 คน ปีนี้จะออกไปเรียนข้างนอกทั้งหมด คนที่อยู่ต่อคือรุ่นน้องได้รับการส่งต่อมาจากรุ่นพี่ เพราะว่าเขาเรียนรู้ด้วยกันมาแล้ว 2 – 3 ปี เพียงแต่อายุของเขายังไม่ถึงเกณฑ์เข้าร่วมโครงการ