กสิณทิพย์ หมัดโส๊ะ : โครงการเกษตรปลอดสารพิษ

พี่เลี้ยงเด่น นางสาวกสิณทิพย์ หมัดโส๊ะ (ครูเหรียม) อายุ 46 ปี

สอนวิชาสังคมศึกษา ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 – 6 และ มัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3

โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก พี่เลี้ยงโครงการ

โครงการเกษตรปลอดสารพิษเทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

­

­

ถามขอให้ครูแนะนำตัว

ตอบชื่อนางสาวกสิณทิพย์ หมัดโส๊ะ สอนอยู่ที่โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก สอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 รับผิดชอบโครงการเกษตรปลอดสารพิษโครงการของโรงเรียนเทศบาลปริก สอนวิชาสังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง แนะแนว และสอนระดับประถมศึกษา อยู่ในกลุ่มสาระสังคมศึกษา เป็นคนพื้นถิ่นตำบลปริก เรียนจบที่มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา กลับมาทำงานอยู่ในตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ตั้งแต่จบการศึกษา เห็นความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่มาโดยตลอด

ถาม การเริ่มต้นเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลนักเรียนในโครงการนี้เกิดขึ้นอย่างไร

ตอบตั้งแต่เริ่มโครงการ มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมภายใต้โครงการโรงเรียนพลเมืองเยาวชนต้นปริก ที่ศูนย์การเรียนรู้สาธิตเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดสตูล ในครั้งนั้นมีหลายหน่วยงานเข้าร่วม เจ้าหน้าที่ของเทศบาลปริกและโรงเรียนเทศบาลปริก สงขลาฟอรั่มและสยามกัมมาจล แกนนำเยาวชนทั้งนักเรียน สภาเด็กและเยาวชนของโรงเรียนเทศบาลตำบลปริก กิจกรรมเปิดโอกาสให้เด็กแลกเปลี่ยนความคิด มีกระบวนการให้เด็กคิดสิ่งที่อยากทำให้โรงเรียนและชุมชนของเขา จัดเด็กเป็นกลุ่มตามความสนใจ เด็กได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการนำเสนอ

การเข้าร่วมอบรมในครั้งนั้นสังเกตเห็นความตั้งใจของเขา เด็กแม้จะเล่นบ้างแต่พอเขาทำงานกลับทำให้เราทึ่ง เขาทำงานถึงเที่ยงคืน บางกลุ่มทำเสร็จช่วงตีหนึ่งตีสอง และเช้าอีกวันมานำเสนองาน เขาได้หลับเพียง 3 – 4 ชั่วโมง ได้เห็นความตั้งใจของเขาที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นของเขาด้วยโครงการที่เขาคิดขึ้นมา จากจุดเริ่มต้นในครั้งนั้นเรามาต่อยอดที่โรงเรียน เปิดโอกาสให้ทุกสัปดาห์มีชั่วโมงสงขลาฟอรั่มเพื่อให้นักเรียนทำกิจกรรมโครงการตามที่คิดไว้

ถามครูเห็นความตั้งใจของนักเรียนและเปิดโอกาสให้ทำต่อที่โรงเรียน ครูช่วยสนับสนุนนักเรียนอย่างไรบ้าง

ตอบพวกเขาทำโครงการเกษตรปลอดสารพิษเพื่อแก้ปัญหารายจ่ายโรงเรียนในโครงการอาหารกลางวัน เราสนับสนุนหลายอย่างเพื่อทำให้โครงการสำเร็จ ใช้ต้นทุนทางโรงเรียนและเทศบาลร่วมกัน ครูใช้การกระตุ้นเวลาที่ทำกิจกรรมแต่ละครั้ง ใช้คำถามเพื่อกระตุ้นให้เขาเกิดทักษะทางความคิด เวลาทำกิจกรรมเปิดโอกาสให้เขาคิดอย่างเต็มที่ เปิดโอกาสให้เขาทำงาน ให้ทุกคนมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มคิด วางแผน ลงมือปฏิบัติกิจกรรม

ในช่วงแรกมีการประชุมร่วมกัน ประชุมวางแผน ทำ BAR และ AAR มีการทบทวนเรื่องที่เขาจะทำ เขาลงไปทำกิจกรรมจนกลับมานั่งประชุมเพื่อสรุปว่าการลงไปทำงานแต่ละครั้งเก็บอะไรมาบ้าง คุณครูอยู่ด้วยทุกกิจกรรมแต่จะดูอยู่ห่าง ๆ เพื่อดูพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของเขา

การสำรวจพื้นที่ช่วงแรกพบปัญหาดินแข็ง สภาพพื้นดินจืดไม่ได้คุณภาพ มีวัชพืชที่ต้องกำจัด เพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกผักให้กับโรงเรียน การเกษตรเมื่อลงมือทำจะมีความเหนื่อยและท้อ เมื่อพบปัญหาคุณภาพดิน ครูก็ต้องให้กำลังใจเขา เวลาที่เขาไปพบเจอปัญหาเหล่านี้ พอเขาท้อครูให้แรงบันดาลใจและกำลังใจอยู่ตลอด เมื่อพบปัญหาเขาก็ช่วยกันแก้ไข นั่งคุยกันหาวิธีการว่าทำอย่างไร ช่วงแรกที่เจอปัญหาเขาค้นหาข้อมูล (Search) แก้ปัญหาเรื่องดินได้ เมื่อลงมือปรับพื้นที่ทุกอย่างได้ดีแล้ว มีปัญหาต่อมาคือเมล็ดพันธุ์พืชที่ปลูกแล้วไม่ขึ้น เด็ก ๆ จึงลงพื้นที่เพื่อไปหาความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้เรื่องเกษตรในตำบลปริก และค้นคว้าข้อมูลจาก ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงของเทศบาลตำบลปริก ซึ่งเป็นแหล่งความรู้ เด็กได้นำความรู้จากศูนย์นำไปปรับใช้แก้ไขปัญหาที่เขาพบด้วยตัวเองจากการทำโครงการ

ทุกปัญหาที่เขาไปพบเจอมา ครูก็ต้องแนะนำเขาให้กำลังใจ พูดในลักษณะที่ไม่ทำให้เขาท้อ เมื่อเขามีกำลังใจ เขาจะพยายามแก้ปัญหาเหล่านั้นไปให้ได้

ถามคุณครูให้กำลังใจตอนที่นักเรียนท้ออย่างไร

ตอบคุยและยกตัวอย่าง ตอนที่นักเรียนไปเจอดินแข็งเราจะไม่บอกวิธีแก้ก่อน ปล่อยให้เขาพูดและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เพราะเราต้องการฝึกเขาให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้ ถ้าเขาได้ลงมือปฏิบัติจริงเขาต้องเกิดการเรียนรู้ ให้เขาเสนอวิธีการมาก่อน กระตุ้นให้เขาแสดงความคิดออกมา ขณะที่เขากลับมานั่งประชุม เขาจะถามครูว่าวิธีการแบบนี้ทำได้ไหม ครูใช้วิธีการพูดคุยเยอะมาก พยายามพูดคุยกับเขาเหมือนเราเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นแม่ ของเขา ไม่ใช่ในฐานะการเป็นคุณครู เขาจะกล้าพูดมากขึ้น เมื่อเขากล้าพูดหลายขึ้นครั้ง เขาจะคิดวิธีการแก้ปัญหาออกมาได้

ถามคุณครูมีแนวคิดหลักคิดเรื่องการเรียนรู้ในโครงการนี้อย่างไร

ตอบการเป็นพี่เลี้ยงเยาวชนในโครงการที่รับผิดชอบ ตัวเราต้องมีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ หาประสบการณ์ คิดละเอียดรอบคอบ ช่วงวัยระหว่างเรากับเด็กต่างกันฉะนั้นตัวเราต้องรู้จักการรอคอย แต่ละครั้งที่ยิงคำถามไปให้เขา คำตอบที่ได้กลับมาบางทีไม่ได้ดั่งที่เราคิด พอไม่ได้ตามที่เราคิด เราต้องเปิดโอกาสทางความคิดให้เขา การควบคุมอารมณ์ของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ การทำกิจกรรมบางครั้งเด็กจะออกนอกลู่นอกทางบ้าง ฉะนั้นเราต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ดี

เราต้องมีวิธีการพูดให้เขารู้สึกว่าต้องมีความอดทนในการทำงาน การโยนคำถามเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องคิดล่วงหน้า ถามเพื่อทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไว้วางใจ เห็นว่าเราเป็นพี่เป็นเพื่อนของเขาได้ แล้วเขาจะพูดด้วยความจริงใจออกมา

การเรียนรู้นอกห้องเรียนไม่เหมือนการเรียนรู้ในห้องเรียน นอกห้องเรียนทุกอย่างต้องเป็นเรื่องจริงทั้งหมด การลงมือปฏิบัติจริงเมื่อพบปัญหาต้องหาวิธีแก้ไข การประชุมเป็นสิ่งสำคัญของการทำกิจกรรมแต่ละครั้ง การบันทึกเมื่อลงพื้นที่แต่ละครั้งเราจะต้องสังเกตเด็กเพื่อทำความเข้าใจและติดตามความเปลี่ยนแปลงของเด็กเป็นรายบุคคล เพื่อนำไปพัฒนาต่อ

ครูได้วิธีการจากโครงการนี้เยอะมาก เมื่อก่อนเคยสอนระดับประถม พอมาอยู่มัธยมช่วงชั้นเด็กต่างกัน วัยต่างกัน ความคิดต่างกัน ในการลงพื้นที่หลายครั้งครูเก็บประสบการณ์นำทักษะกระบวนการมาปรับใช้กับนักเรียน กระบวนการนี้นอกจากจะสอนตัวพี่เลี้ยงให้รับรู้แล้ว พี่เลี้ยงยังสามารถถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ให้เด็กเรียนรู้ ผ่านการเล่า พูดคุยกัน ดีกว่าการสอนเด็กให้นั่งทำงานอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม

ประสบการณ์จริงเป็นสิ่งสำคัญเพราะได้ประสบปัญหาเหล่านั้นมาด้วยตัวเอง การลงมือปฏิบัติไปด้วยกัน ปรึกษาหารือกัน ประชุมร่วมกัน พอเราไปพบเจออะไรมาก็กลับมาวางแผนร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง เป็นการทบทวนว่า ครั้งหน้าถ้าเกิดปัญหาแบบนี้เราจะวางแผนอย่างไรต่อไป เป็นวิธีการทำงานอย่างเป็นขั้นตอนเป็นระบบมากขึ้น

ถามวิธีการที่คุณครูใช้สนับสนุนเด็ก ๆ เป็นสิ่งที่คุณครูใช้มาก่อนอยู่แล้วหรือว่าเริ่มทำในโครงการนี้

ตอบวิธีการเหล่านี้มีมาแต่เดิมบ้างแต่เริ่มชัดเจนจากการทำโครงการนี้กับเด็ก กระบวนการของสงขลาฟอรั่ม และโครงการพลเมืองทำให้เราชัดเจนมากขึ้น ทั้งครูและเด็กมีโอกาสเข้าร่วมการอบรมของสงขลาฟอรั่มและสยามกัมมาจลหลายครั้ง เมื่อจับประเด็นได้ก็ทำมาเรื่อย ๆ พอเราทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก ได้วิธีการถอดบทเรียนที่ทำให้เด็กและครูพี่เลี้ยงเรียนรู้ไปพร้อมกัน กระบวนการฝึกให้เราได้ถอดบทเรียนรู้ หลังจากถอดบทเรียนเราต้องจับประเด็น นำมาวิเคราะห์จัดเรียงให้เป็นระบบลงในกระดาษปรู๊พ และถ่ายทอดด้วยการนำเสนอให้ผู้ใหญ่คนอื่นได้เรียนรู้

ถามแสดงว่ากระบวนการแบบนี้ทำให้ครูใช้วิธีการถอดบทเรียนที่ดีขึ้นเมื่อนำมาใช้จริง

ตอบใช่ค่ะดีขึ้น ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น

ถามทีมสงขลาฟอรั่มให้คำปรึกษาและช่วยคุณครูอย่างไรบ้าง

ตอบในเวทีประชุมแต่ละครั้ง เขาเชิญคุณครูที่เป็นโคชไปอบรม บางครั้งให้ครูหรือโคชร่วมกิจกรรมกับเด็กใน โครงการที่รับผิดชอบ เพื่อฝึกความเป็นโคชความเป็นพี่เลี้ยงของเรา ฝึกวิธีการโคชเวลาที่เด็กทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เราจะแนะนำเขาอย่างไร ไม่ใช่ว่าให้เราบอกเขา แต่เราจะเปิดโอกาสทางความคิดกับเด็ก เช่น “ถ้าเกิดเป็นแบบนี้หนูคิดว่าหนูจะทำอย่างไร” “ถ้าเกิดลูกทำแบบนี้แล้วต่อไปจากนี้ ลูกจะทำอย่างไร” เขาก็จะพูดออกมาเอง เขาสอนแบบให้เราทดลองทำ

ถามคุณครูเคยทำกิจกรรมโครงการพัฒนานักเรียนลักษณะแบบนี้มาก่อนหรือไม่ เป็นอย่างไร

ตอบมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันกับเด็กโครงการเลือกตั้งสภานักเรียนของเด็ก ๆ ในโรงเรียน สภานักเรียนเชื่อมโยงกับเรื่องประชาธิปไตย เปิดโอกาสทางความคิดให้เด็กมีส่วนร่วม เริ่มตั้งแต่ รวมตัวตั้งกลุ่ม คิดนโยบาย ลงสมัคร แถลงนโยบายการทำงานหน้าเสาธง ถึงวิธีการที่จะทำให้น้องเลือกเขามาเป็นพี่สภานักเรียน

ถามกิจกรรมนี้ทำให้คุณครูเห็นความสำคัญวิธีคิด ความคิดของเด็ก ๆ

ตอบใช่ค่ะ เราต้องให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสทางความคิดกับเด็กให้มาก เพราะช่วงวัยของเราแตกต่างกัน เราเป็นผู้ใหญ่ บางทีความคิดของผู้ใหญ่คล้าย ๆ กัน พอได้ฟังความคิดของเด็กซึ่งนอกกรอบ บางทีเราคิดไปไม่ถึงสิ่งที่เด็กคิด พอจับประเด็นได้ เห็นด้วยกับสิ่งที่เด็กคิด แม้จะต่างจากสิ่งที่เราคิด คือการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างวัย

ถามมีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างและแก้ไขอย่างไร

ตอบครูจะแก้ปัญหาโดยการพูดคุย ร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ไขปัญหา และร่วมกันลงมือปฏิบัติจริง

ช่วงแรกบางครั้งเขาท้อไม่อยากทำ เขาบอกว่า “ทำไมเหนื่อยจัง แค่เรามาปลูกผักให้น้องกิน ทำไมต้องเหนื่อยแบบนี้” ครูใช้การเสริมกำลังใจให้เขา บอกกับเขาว่า “ถ้าเหนื่อยเราก็พัก ถ้าเรามีกำลังตอนไหนก็ต้องสู้ต่อ พอเราสู้ต่อได้ สิ่งที่ลูกคิดไว้ ว่าลูกจะทำโครงการให้กับน้อง ๆ เพื่อจะลดรายจ่ายโครงการอาหารกลางวัน เราคิดไว้แล้ว พยายามทำไปเรื่อย ๆ ก็ได้ลูก เดี๋ยวข้างหน้าความสำเร็จก็จะมาถึง” จะสร้างกำลังใจให้เขาด้วยการพูดคุยกับเขาบ่อย ๆ ลงพื้นที่เหนื่อยก็จะบอกเขาว่า “ถ้าอย่างนั้นให้ลูกพักก่อน ถ้าลูกเหนื่อยก็พัก พอตัวเองใจเย็นขึ้นหายเหนื่อย ก็มาคิดต่อว่าทำอย่างไร”

บางทีมีปัญหาในกลุ่มนักเรียนด้วยกัน ความคิดสวนทางกันบ้าง ครูจะพูดว่า “ไหนลองมาคิดด้วยกันก่อน ที่เพื่อนเสนอมาแต่ละคนคิดอย่างไร” ให้เขาช่วยกันเสนอและให้เขาสรุปว่าจะเอาความคิดของใคร “นักเรียนคิดว่าความคิดของใครน่าจะดีที่สุด”

การสังเกตพฤติกรรมเด็กสำคัญมาก เพราะเราสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงของเขาที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เริ่มต้น บางครั้งเด็กคิดแล้วก็ตั้งไว้ คิดเสร็จแต่ไม่ได้ลงมือทำ ครูต้องกระตุ้นอยู่ตลอดเวลาว่าคิดแล้วต้องทำ ให้เขาทำต่อ สร้างกำลังใจ ท้อคือพักหายแล้วก็ทำต่อ

ปัญหาเรื่องการเกษตรมีแมลงมากัดกินผักที่ปลูก ก็ถามเขาไปว่าจะทำอย่างไรต่อไป เขาก็หาวิธีการ เราโชคดีมีฐานการเรียนรู้หลายฐานในเทศบาลตำบลปริก หนึ่งในนั้นมีฐานเรื่องน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งน้ำหมักชีวภาพสามารถแก้ไขปัญหาดิน ปัญหาแมลง แต่ไม่เรายังไม่รู้สัดส่วนการผสมในการฉีดพ่นผักไล่แมลง เด็กต้องไปหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อมาผสมน้ำและน้ำหมักชีวิภาพในปริมาณที่พอเหมาะ นำมาฉีดพ่นผัก ก็แก้ไขปัญหาแมลงไปได้

ถามทำเรื่องผักปลอดสารพิษคุณครูเห็นว่ามีปัญหาอยู่เป็นระยะ และใช้ปัญหามาสร้างการเรียนรู้กับเด็กโดยเอาความรู้จากฐานการเรียนรู้และผู้รู้ในตำบลปริก

ตอบค่ะ เป็นการเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นและเรียนรู้ไปพร้อมกัน ถ้าเราไม่ลงพื้นที่ไม่เคยปลูกผักจะไม่รู้ปัญหา การไปเรียนรู้พร้อมกับเขาเราจะเห็นปัญหาพร้อมเขา แล้วนำปัญหานั้นมาแก้ไข ถ้าเราจะฝึกเด็กเราต้องไม่บอกเด็กว่าทำอย่างไร แต่ให้เขาเรียนรู้หาวิธีการแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน ถ้าเขาแก้ปัญหาไม่ได้ ตรงนั้นล่ะเราเริ่มแนะนำเขาได้โดยชี้แนะวิธีการให้เขาทดลองทำ

ถามบทเรียนรู้ของคุณครูในการเป็นพี่เลี้ยงโครงการนี้มีอะไรบ้าง

ตอบปีนี้เข้าสู่ปีที่สองของการทำโครงการเกษตรปลอดสารพิษ คิดว่าได้ความรู้หลายเรื่อง ความรู้เรื่องการถอดบทเรียนที่เมื่อก่อนไม่รู้ พอร่วมโครงการได้เรียนรู้ การถอดบทเรียน การทำ AAR BAR ครูนำมาปรับใช้กับตัวเราและการสอนเด็กในโรงเรียน

การทำโครงการกับเด็ก ได้แลกเปลี่ยนความคิด มุมมองต่างๆ กับเด็กแต่ละช่วงวัย ตัวเราเปลี่ยนแปลงความคิด มีอุปนิสัยในการอุปโภคบริโภคเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม พอเราอยู่ในโครงการเกษตรปลอดสารพิษ ทำให้เราเองไม่ค่อยซื้อผักจากตลาด หันมาบริโภคผักที่ปลูกเอง ตอนนี้ครูใช้พื้นที่หลังบ้านปลูกผักกินเอง ช่วงนี้เกิดสถานการณ์โควิด เด็กเล่าให้ฟังว่าตั้งแต่ปิดเทอมก็ปลูกผักกินเอง นำความรู้ที่ได้มาต่อยอดที่บ้าน

โครงการนี้ทำให้เราได้ทักษะเรื่องเกษตรปลอดสารพิษ และเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่แท้ เน้นการลงมือปฏิบัติจริงกับตัวเอง เรียนรู้ทักษะชีวิต การพูดคุย การเปิดใจ ด้วยเหตุด้วยผล และการแบ่งปัน ตัวเองได้รับสิ่งเหล่านี้จากการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำกับเด็ก เราสามารถถ่ายทอดให้กับคุณครูรุ่นน้องที่ยังไม่ได้มาร่วมกิจกรรม เพื่อให้เกิดการสร้างการเรียนรู้แบบนี้กับเด็กให้มากยิ่งขึ้น

ถามคุณครูมีมุมมองต่อเด็กของคุณครู เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ตอบมีมุมมองเชิงบวกกับนักเรียนเพิ่มมากขึ้น เราได้เรียนรู้เรื่องความมีน้ำใจ ความเสียสละ ร่วมสร้างพลังบวก การร่วมมือ ร่วมทำ ร่วมสร้าง ร่วมคิดพัฒนาชุมชนและโรงเรียนของเรา ตัวเองมีทักษะทางความคิด การนำหลักประชาธิปไตยมาปรับใช้กับตัวเอง สร้างความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ เวลาที่ชุมชนมีอะไรเราสามารถแบ่งปันช่วยเหลือด้านกระบวนการทำงานได้

ถามคุณครูมีข้อสังเกตต่อชีวิตของเด็ก ๆ อย่างไรบ้าง

ตอบเด็กบางคนมาจากพื้นฐานครอบครัวที่เขาลำบาก บางครอบครัวมีฐานะยากจน พอไปเห็นสภาพตรงนี้เรามีความคิดว่า เราจะช่วยเหลืออย่างไร เรานำความคิดจากที่ได้เรียนรู้ไปคุยกับผู้ปกครอง เรื่องการสร้างอาชีพ แนวทางพัฒนาตัวเด็กและครอบครัว ในการพูดคุยแนะนำเราจะนำประสบการณ์ตรงนี้ไปแบ่งปันในโครงการเยี่ยมบ้านเด็ก เวลาลงเยี่ยมจะเล่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กให้ผู้ปกครองฟัง บางครอบครัวไม่มีเวลามาส่งลูก ต้องหารายได้สำหรับค่าใช้จ่ายในบ้าน ส่งผลให้เกิดอีกหลายปัญหาตามมา

เราพยายามแนะนำพูดคุยกับเด็กทุกคน ไม่เฉพาะเด็กในโครงการที่เรารับผิดชอบเท่านั้น ครอบครัวสำคัญต่อการเรียนรู้และการพัฒนาตัวเด็ก มีเชื่อมโยงกันหมดทั้งตัวเด็กและครอบครัว พื้นฐานอันดับแรกที่สำคัญที่สุดคือ สถาบันครอบครัว ถ้าครอบครัวอบอุ่นเติมเต็มในสิ่งเหล่านี้ จะส่งผลต่อมาที่ตัวเด็ก เด็กบางคนมีปัญหามาจากบ้าน ในฐานะครูและพี่เลี้ยงเราต้องรับฟัง ความคิดเห็นต่าง ๆ ของเด็ก รับรู้ปัญหาเหล่านั้น และเป็นคนให้คำปรึกษากับเด็ก

ถามการเป็นครูพี่เลี้ยงในโครงการแบบนี้ คุณครูอยากพัฒนาเรื่องอะไรบ้าง

ตอบอยากเติมเต็มเรื่องกระบวนการทักษะความคิดให้ตัวเอง เพื่อนำไปสร้างประโยชน์ให้เด็กมากขึ้น เรื่องกระบวนการทางความคิดของเราอาจมีเท่านี้ ถ้าได้ต่อยอดร่วมกับบุคคลหลายกลุ่ม หลากอาชีพ ก็จะดีขึ้น เป็นประโยชน์มากขึ้น

กระบวนการคิดเป็นเรื่องมุมมองแนวคิดการทำงาน อยากเติมเต็มเพื่อปรับตัวเราเอง และต่อยอดให้กับลูกศิษย์ เรื่องการทำงานเป็นทีมซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการทำงานเป็นทีม ความคิดจะเข้ามาหลากหลาย การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นทีม มีความคิดหลากหลาย เมื่อเราฟังความคิดของคนอื่นสามารถนำความคิดเชิงบวกมาปรับใช้กับตัวเรา เด็ก และชุมชนโดยรอบได้ ยินดีเข้าร่วมถ้ามีการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีการจัดอบรมเพิ่มเติมในสิ่งเหล่านี้

ถามคุณครูพาเด็กทำโครงการผลิตผักป้อนให้กับโรงอาหารของโรงเรียน ครูใช้วิธีการกลยุทธ์อะไรที่ทำให้คุณครูในโรงเรียนทั้งหมดหรือว่าผู้บริหารเข้าใจในสิ่งที่เด็กทำและสนับสนุนเด็ก

ตอบยกระดับจากสิ่งที่เด็กคิดให้เป็นประเด็นร่วมในโรงเรียน ช่วงที่ลงมือปฏิบัติจริง มีปัญหาในเรื่องกำลังพลมีน้อย เด็กแกนนำมีจำนวนน้อย นักเรียนช่วยกันคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร มีการเสนอให้รับสมัคร นักเรียนในโรงเรียนของเรามาช่วยเป็นกำลังเสริมในการปลูกผักให้ได้ปริมาณมากขึ้น ตามความต้องการของโรงครัว ในครั้งนั้นเด็กสำรวจปริมาณผัก ชนิดของผักโดยการสัมภาษณ์จากแม่ครัว จากการรับเปิดสมัครทำให้เรามีสมาชิกเพิ่มเติมอีก 50 คน มาช่วยเป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อนโครงการ เรามีการนำเสนอโครงการนี้ให้กับน้อง ๆ พี่ ๆ ในโรงเรียน รวมถึงเชิญผู้อำนวยการและคณะผู้บริหาร คณะกรรมการที่มีในชุมชน ให้มาเข้าร่วมรับฟังการนำเสนองานในโครงการของเด็ก ๆ การนำเสนอได้ผลดีมาก ผู้อำนวยการคณะผู้บริหารยอมรับสิ่งที่เด็กคิดและทำ ถือว่าเป็นพลังพลเมืองเล็ก ๆ ที่มาจากความตั้งใจของคนเด็กกลุ่มหนึ่งไม่กี่คน