นายอมร หมัดเลียด : โครงการไก่ไข่อารมณ์ดี กลุ่มไก่ไข่อารมณ์ดี

นายอมร หมัดเลียด (ครูมร) อายุ 34 ปี

ผู้ช่วยครูพละ สอนวิชาพลศึกษา-สุขศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก

พี่เลี้ยงเยาวชน

โครงการไก่ไข่อารมณ์ดี กลุ่มไก่ไข่อารมณ์ดี

­

­

ถาม ขอให้แนะนำตัวเอง

ตอบ ผมชื่อ นายอมร หมัดเลียด ชื่อเล่น ครูมร อายุ 34 ปี สอนวิชาพลศึกษา-สุขศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1 - ม.3 โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก

ถาม ช่วยเล่าถึงการทำงานกับเยาวชนหรือชุมชนก่อนหน้านี้

ตอบ ไม่เคยทำมาก่อนครับ ตอนเข้ามาทำงานที่โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก ครูอิมรอนแนะนำชวนให้ผมเข้ากระบวนการสงขลาฟอรั่ม ผมเห็นการทำงานของครูอิมรอน ครูผึ้ง เขาทำงานกับสงขลาฟอรั่ม ทำโครงการไก่ไข่อารมณ์ดีและโครงการดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ หลังจากนั้นครูอิมรอนชวนผมเข้ามาทำโครงการตอนนั้นผมตอบว่า “ให้ผมไปได้ แต่ผมไม่รู้เรื่องเลย ทำอะไรไม่ถูก เขียนโครงการไม่เป็น” ครูอิมรอนย้ำว่าเขามีพี่เลี้ยงช่วยแนะนำ โครงการนี้เป็นโครงการแรกที่ผมเป็นพี่เลี้ยง

พื้นเพเดิมผมเป็นคนตำบลปริก ตอนอายุ 16 ปี เข้าเรียนที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา จากนั้นผมเป็นนักฟุตบอลอาชีพตั้งแต่อายุ 17 - 32 ปี ก่อนนั้นผมอยู่ที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดยะลา ผมย้ายกลับมาอยู่ที่ตำบลปริกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และยังเล่นฟุตบอลอาชีพ ตอนอายุ 32 ปี ผมคิดว่าการเป็นนักฟุตบอลอาชีพไปไม่รอด เพราะอายุเริ่มมากขึ้น จึงมาสมัครเข้าทำงานที่เทศบาลตำบลปริก ผมได้เข้ามาทำเรื่องกีฬาของโรงเรียน หลังจากเสร็จเรื่องกีฬา ท่านผู้อำนวยการกองการศึกษาไดถามผมว่า อยากอยู่ที่กองการศึกษาหรือโรงเรียน ผมมีวุฒิครูพละ จึงตัดสินใจเข้าทำงานที่โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก

ถาม ทำไมถึงสนใจทำโครงการนี้

ตอบ สมัยก่อนผมก็ไม่ชอบเรียนหนังสือ ไม่ชอบงานวิชาการ ผมชอบเล่นกีฬา ชอบปฏิบัติมากกว่า สิ่งที่น่าสนใจคือผมเห็นเวลาที่เด็กเลี้ยงไก่ ได้เก็บไข่ไก่ มีความสนุก ผมอยากลองเลี้ยงไก่ไข่ดูบ้าง ความน่าสนใจของโครงการไก่ไข่ คือได้เห็นผลผลิตจากการเลี้ยงของเรา ในตอนแรกผมสนใจการทำเฟอร์นิเจอร์ แต่เห็นว่าครูอิมรอนถนัดมากกว่า

ถาม บทบาทของพี่เลี้ยงโครงการในการพาเด็กเรียนรู้ทำอย่างไร

ตอบ ในช่วงแรกผมเข้ามาแบบไม่รู้อะไรเลย ผมเรียนรู้การทำโครงการจาก พี่ใหม่ น้องน้ำนิ่ง พี่นิ พี่จากสงขลาฟอรั่ม ผมเรียนรู้หลักการและวัตถุประสงค์ในการทำโครงการเป็นอย่างไร ผมชวนเด็กหลังห้องมาทำโครงการ โดยผมถ่ายทอดสิ่งที่ผมเรียนรู้ให้พวกเขาได้ฟัง ผมชวนพวกเขาว่าถ้าเราทำโครงการไก่ไข่นี้ เราจะได้ผลิตอาหารให้กับโรงเรียนด้วย และเด็ก ๆ ก็เริ่มสนใจทำ เด็กกลุ่มนี้ผมอยู่กับพวกเขามาตั้งแต่เขาอยู่ ม.1 นักเรียนกลุ่มนี้คือนักกีฬาของโรงเรียน ผมรู้ว่าเรื่องวิชาการเขาไม่ถนัด พวกเขาชอบปฏิบัติมากกว่า

พอผมได้เด็กในโครงการมาแล้ว ผมได้เรียกพวกเขามาพูดคุยถึงวัตถุประสงค์ และพวกเราตั้งใจผลิตไข่ไก่เพื่อเป็นอาหารกลางวันให้กับโรงเรียน ให้เด็กในโรงเรียนได้กินไข่ไก่ปลอดสารพิษ ซึ่งพวกเขาสนใจ พวกเขาได้เริ่มทำโครงการนี้ โดยให้พวกเขาไปหาพื้นที่หลังโรงเรียนสร้างโรงเลี้ยงไก่ โดยที่ผมให้โจทย์พวกเขาไปหาพื้นที่ พวกเขาได้ร่วมกันเดินสำรวจ สังเกต เลือกพื้นที่ด้วยตัวเอง หลังจากนั้นพวกเขาได้มาบอกผมไปตรวจพื้นที่ดูอีกครั้งว่าใช้ได้ไหม เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน ในวิชาการงานที่ผมสอน พอถึงชั่วโมงสอนนักเรียนห้อง ม.2/2 ผมจะพาลงมาที่โรงไก่ไข่ นักเรียนหญิงให้ไปรดน้ำผัก ส่วนกลุ่มนักเรียนชาย 8 คน มาทำโรงเลี้ยงไก่

ก่อนทำโรงเลี้ยงไก่ผมชวนให้เขานั่งเป็นกลุ่มทำ BAR (Before Action Review) โรงเลี้ยงไก่ไข่ที่จะสร้างเป็นแบบไหน หันหน้าไปทิศใด ความสูงเท่าไร ใช้วัสดุอะไรโดยที่เราไม่ซื้อไม้ เราหาไม้จากที่ไหนได้บ้าง นักเรียนเสนอมาว่าใช้ไม้ไผ่ไทย โดยที่ไปหาหรือไปขอได้จากชุมชน

ระหว่างที่ลงมือสร้างผมให้นักเรียนวัดขนาดโรงเลี้ยงไก่ ความสูง ขนาดหลังคา ผมให้พวกเขาช่วยกันคิดและผมมีตลับเมตรให้เขาหนึ่งอัน เขาช่วยกันวัดขนาดเอง ถ้าผิดพลาดตรงไหนผมแค่แนะนำเขา เช่น เขาจะถามผมว่า “ขนาด 6 เมตรได้ไหมครับ” ผมถามกลับว่า “ความจุจำนวนไก่มีกี่ตัวล่ะ” เขาจะช่วยกันคำนวณเขียนใส่กระดาษ พอโครงสร้างโรงไก่เสร็จ ต่อมาเป็นงานก่ออิฐ เราต้องซื้ออิฐและปูน

พอสร้างโรงเลี้ยงเสร็จผมชวนพวกเขาทำ AAR (After Action Review) เพื่อสรุป เปิดให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเองก่อน และผมจะแนะนำว่าจุดไหนที่ต้องปรับแก้บ้าง

ถาม ทำไมถึงใช้วิธีการให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองก่อน

ตอบ ผมมองว่าเด็กทำได้ บางทีเด็กเก่งกว่าผมอีก บางอย่างผมทำผิดเด็กจะบอกว่า “ครูไม่ใช่แบบนี้นะ” ผมมองเห็นว่าเด็กกลุ่มนี้ทำได้ อยากให้เขาได้ลองผิดลองถูกก่อน ให้เขาลองทำเอาความคิดของเขาออกมาก่อน เช่น ทำโรงไก่ ให้เขาคิดแบบออกมาก่อน เอาความสนใจของเขาออกมาก่อน เราจะได้รู้ว่าเขาสนใจมากน้อยแค่ไหน แต่ละคนลองคิดแบบมา หลังจากนั้นผมช่วยแนะนำ อาจจะปรับเปลี่ยนนิดหน่อยจากแบบที่เขาคิดมา เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน ตัวเราได้รู้ด้วยว่าความสนใจของเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร

ถาม จุดเด่นในการเป็นพี่เลี้ยงของครูคืออะไร

ตอบ จุดเด่นของผมคือผมเอาใจแลกใจกับเด็ก เราให้ความจริงใจและเต็มที่กับเด็ก ทั้ง 8 คน ซึ่งพวกเขาเป็นนักกีฬาทั้งหมด เวลาไปแข่งกีฬาผมต้องดูแลเขาทุกอย่าง รับผิดชอบ เวลาที่เด็กมีปัญหาเรื่องครอบครัวเรื่องแฟน หรือไม่มีเงินกินข้าว เขามาเล่าให้ผมฟังและผมเป็นปรึกษารับฟังปัญหาของพวกเขา เวลาซ้อมกีฬาพวกเขาเหนื่อย เขาอยากดื่มน้ำหวาน ผมให้เงินไปซื้อน้ำหวานให้พวกเขา ผมเป็นทั้งพ่อเป็นเพื่อนของพวกเขา บางครั้งผมเล่นสนุกด้วยกันกับพวกเขา ผมรู้นิสัยเด็กชุดนี้ทั้งหมดเพราะผมดูแลพวกเขาตั้งแต่ ม.1

เป็นการดีที่เราได้ใช้เวลาอยู่กับเด็ก ๆ เราได้คุยได้เล่นกัน เด็กบางคนมาโรงเรียนยังนึกไม่ออกว่าตัวเองมาทำอะไร คำพูดของเด็กที่ว่า “มาโรงเรียนมาทำไม” ยังติดอยู่ในความคิดของผม ผมย้อนถามเด็กว่า “ถ้าเธอไม่มาโรงเรียน เธออยู่บ้าน เธอทำอะไรบ้าง” เด็กตอบว่า “ได้นอนครู นอนหลับสบาย” นั่นคือความคิดของเด็ก ผมบอกเขาว่า “การที่มาโรงเรียน (1) เพื่อมาเอาความรู้ (2) มาฝึกระเบียบวินัย (3) ให้เธอได้นำความรู้แล้วกลับไปใช้” ผมยกตัวอย่างให้เขาฟัง เช่น “วิชาพละ เธอได้เล่น เธอได้สนุก เธอได้ปลดปล่อย แต่ถ้าอยู่บ้านเธอได้อะไร เธออาจไปอยู่กลุ่มเสี่ยง” เราพยายามพูดให้เด็กคิด อยู่บ้านเป็นอย่างไร อยู่โรงเรียนเป็นอย่างไร

ถาม เทคนิคหรือเครื่องมือที่ครูใช้เป็นประจำและได้ผลคืออะไรบ้าง ใช้อย่างไร

ตอบ ผมใช้เทคนิคชวนพวกเขาคิดและสังเกต ก่อนทำอาหารปลอดสารพิษให้ไก่ ผมฝึกเด็กเช็คสภาพไก่ไข่ก่อนว่าไก่อยู่กันแบบไหน ให้เด็กเข้าไปในเล้าไก่ไข่และสังเกตสีหน้าของไก่ไข่ อาการของไก่ไข่ ถ้าไก่ไข่วิ่งเข้าหาหรือเดินตาม ผมชวนเด็กตั้งคำถามว่า “ทำไมไก่ไข่ถึงวิ่งเข้าหาเรา” การวิ่งเข้าหาคือการแสดงอาการหิวของไก่ สาเหตุที่ไก่วิ่งเข้าหาเพราะไก่หิว ถ้าเรายืนไก่มาจิกแสดงว่าไก่หิวมาก แต่ถ้าเราเข้าไปที่โรงไก่ไข่ ไก่ไข่ไม่ตาม อยู่สบายๆ แสดงว่าไก่ไม่หิว สมมุติว่าเมื่อวานเราทำอาหาร 5 กิโลกรัม ไก่ไข่กินอาหารหมด ตอนเช้าก่อนเข้าแถวหน้าเสาธงให้เด็กทั้งหมดเข้าไปดูไก่ไข่ในเล้า 1 คน และให้พวกเขาสังเกตไก่ไข่ ถ้าไก่ไข่เข้ามาหาเยอะแสดงว่าไก่หิว หลังจากนั้นชวนเด็กนั่งเป็นกลุ่มทำ AAR ว่าเช้าวันนี้ไก่ไข่วิ่งเข้าเราแบบหิว ฉะนั้นในวันนี้เราต้องทำอาหารกี่กิโลกรัมถึงจะเพียงพอ เราทำ AAR ทุกครั้งก่อนทำอาหารไก่ในแต่ละวัน

ถาม จากเทคนิคที่ครูใช้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร (การสังเกต , BAR และ AAR)

ตอบ การสังเกตของเด็กมีผลต่อการผลิตไข่ของไก่ไข่ การสังเกตช่วยให้เด็กสนใจในรายละเอียดมากขึ้น รับรู้ว่าไก่เป็นอย่างไร ไก่หิวมากน้อยแค่ไหน ความหิวของไก่มีผลต่อการไข่ของไก่ไข่ด้วย การเลี้ยงไก่ไข่ต้องให้อาหารตลอดเวลา เราทำอาหารไก่ตามสูตรที่ได้มา 2 ช่วง คือ เช้า 5 กิโลกรัม เย็น 5 กิโลกรัม ถ้าตอนเช้าเด็กเข้าไปในเล้าแล้วไก่เข้าหาเดินตาม เราจะเพิ่มอาหารของเช้านี้เป็น 10 กิโลกรัม ตอนเย็นก่อนทำอาหารให้เด็กเข้าไปสังเกตในเล้าไก่ไข่ว่ามีอาหารเหลืออีกหรือไม่ ถ้าเหลือหรือไก่ไข่ไม่เข้ามาหา เราก็ลดปริมาณอาหารลง เป็น 3 หรือ 5 กิโลกรัม

BAR และ AAR เป็นเครื่องมือที่ดี ทำให้เด็กคิดแล้วพูดในสิ่งที่เด็กคิดและทำออกมาได้ทั้งหมด เมื่อใช้เครื่องมือ BAR เราเห็นว่าเด็กคิดเรื่องการวางแผนออกมาทั้งหมด เมื่อลงมือทำเด็กเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดแล้วกลับมาทำ AAR เขาจะคิดได้ แต่ถ้าเราเห็นเหตุการณ์แล้วพรุ่งนี้ค่อยทำ AAR เด็กจะลืมและคิดไม่ออก

แนวคิดของผมคือให้เด็กตอบตรงโจทย์ได้คิดและวิเคราะห์กับสิ่งที่เกิดขึ้น การตั้งคำถามของผมเริ่มจากง่าย ๆ ใช้ภาษาง่าย ๆ ถามต่อจากสิ่งที่เด็กตอบไปเรื่อย ๆ ถ้าเราถามเจาะลงไปถ้าเราถามกว้างไปเด็กจะคิดไม่ออก เช่น “วันนี้ไก่เป็นอย่างไร” ไก่วิ่งเข้ามาหา “ทำไมวันนี้ไก่วิ่งมาหาเรา” เด็กตอบว่าไก่หิวมาก ผมถามต่อไปว่า “ทำไมไก่ถึงหิวมาก” ถ้าเขาตอบมาว่า “อาหารน้อยเกินไป” ผมจะถามต่อไป “เพราะว่าอะไรที่อาหารน้อยเกินไป”

ผมทำตัวเป็นทั้ง เพื่อน พี่และพ่อให้กับพวกเขา สนิทกันจนรู้นิสัยใจคอ เวลาที่เด็กมีปัญหาทำผิด เช่น หนีเรียน หนีละหมาด ผมจะเรียกเด็กคุยกัน เด็กกลุ่มนี้ต้องคุยนิ่ม ๆ ไม่ใช้คำพูดที่รุนแรง ผมถามเขาว่าทำไมวันนี้หนีเรียน เขาจะพูดออกมาหมดว่าเรียนไม่ไหว เทคนิคของผมคือเราต้องเข้าหาเด็กก่อน ไม่รอให้เขาเข้าหาเรา บางวันเราเห็นเขาตาแดงไม่สบาย เราจะเข้าไปถามว่าเป็นอะไร เราต้องสังเกตเด็กบางครั้งเขาไม่กล้าเข้าหาเรา เด็กบางคนมีเรื่องหนักแต่ไม่กล้าบอก ครูต้องสังเกต เข้าไปถามว่าวันนี้หน้าตาไม่สดชื่นเป็นอะไร ต้องสังเกตอยู่ตลอด ครูทุกคนที่นี่จะสังเกตเด็กเหมือนกันหมด เด็กที่นี่ บางคนพ่อแม่แยกทางกัน บางคนพ่อแม่เสียชีวิตต้องอยู่กับตายาย โรงเรียนเทศบาลปริกเป็นโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้เด็กยากจน เป็นโรงเรียนที่สร้างคนให้เป็นพลเมือง

ถาม การเรียนรู้จากการพี่เลี้ยงโครงการของครูมีอะไรบ้าง

ตอบ เรียนรู้วิธีการขั้นตอนการทำโครงการ วัตถุประสงค์คืออะไร จะทำอะไร เพื่ออะไร รู้วิธีการBAR และ AAR ผมว่ามีความสำคัญมาก งานทุกงานถ้าไม่ได้ทำ BAR และ AAR เราจะทำงานนั้นไม่ถูก ไม่รู้จะไปต่ออย่างไร ก่อนหน้านี้ผมไม่รู้จักเครื่องมือนี้มาก่อน ผมรู้จักจากสงขลาฟอรั่มเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อการทำงาน ช่วยให้ทำงานได้สะดวกและเร็วขึ้น ช่วยให้เราได้คิดวิเคราะห์ ไตร่ตรอง ผมเอามาใช้ในวิชาที่สอน เช่น วันนี้เราสอนพละ เราต้องรู้ว่าเราจะสอนอะไร เด็กจะได้อะไร ทำ BAR ก่อนสอน สอนอะไรบ้าง เข้าสอนเสร็จ ผมนั่งทำ AAR เด็กได้อะไรบ้าง สังเกตเห็นทั้งหมด ถ้าทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เราได้คิดวิเคราะห์ทุกอย่าง

ก่อนหน้านี้วิธีการสอนของผม คือ มาถึงคาบเรียนผมสอนไปเลย บางทีเนื้อหาไม่ครบ เราแค่อ่านและจำมาสอน พอกลับมาดูเนื้อหาอีกครั้งเห็นว่าเราสอนผิด ตอนนั้นเด็กรับรู้ข้อมูลที่ผิดไปแล้ว พอเราได้เครื่องมือนี้มา AAR ได้เอามาไตร่ตรองกับแผนการสอนของเรา เราก็สอนในแบบที่ถูก เด็กได้สิ่งที่ถูก เทียบกับเมื่อก่อนเราอ่านขั้นตอนมาให้เด็กทำ ไม่ตระหนักถึงร่างกายของเด็ก เราไม่ได้สังเกตเด็ก ว่าร่างกายของเด็กรับได้ระดับไหน อบอุ่นร่างกาย 1 รอบ เล่นแล้วบาดเจ็บ แต่ถ้าเรา BAR ก่อน ให้เด็กอบอุ่นร่างกายก่อน 20 นาที เด็กจะไม่เกิดอาการบาดเจ็บขึ้นมา

ถาม วิธีปรับการเรียนการสอนของครูมีผลอย่างไรกับเด็กในห้องเรียน

ตอบ ตอนนี้ที่โรงเรียนครูใช้เครื่องมือ BAR และ AAR กับทุกโครงการ เด็กได้คิดวิเคราะห์และหาเหตุผลในเนื้อหาแต่ละวิชา เด็กจะตั้งคำถามเป็น บรรยากาศในห้องเรียนก็สนุก เวลาที่ทำ AAR เด็กมีความกระตือรือร้นในการช่วยกันทำให้เสร็จ เด็กมีความเป็นพลเมืองคือเขาช่วยกันทำ ด้วยความสนุกและความคุ้นเคยกัน เมื่อก่อนตอนที่เรียนเสร็จต่างคนต่างกลับ แต่ตอนนี้พอเรียนเสร็จทุกคนช่วยกันทำ

ถาม มีการเรียนรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติมอีกไหม

ตอบ ความรู้เรื่องการทำงานของสมอง ผมชอบที่นำแนวคิดเรื่องสมองไปสอนเด็กได้ การคิดยับยั้ง คิดไตร่ตรอง เราสามารถเอาเรื่องนี้มาใช้กับเด็กได้ มีเด็กเล่นกันแล้วโกรธ ผมชวนเขาคิดไตร่ตรองก่อนลงมือทำ ให้คิดถึงผลดีผลเสีย ชวนเด็กคิดว่า ถ้าเราไปทำเขาจะเกิดอะไรขึ้น ชวนเขาคิดยับยั้งชั่งใจ เด็กบางคนครูคนอื่นห้ามไม่อยู่แล้ว นำวิธีการแบบนี้เข้าไปใช้ได้ ผมคุยกับเขาว่า “ครูรู้ว่าเธอโกรธนะ แต่เธอลองคิดก่อนว่า เธอโกรธแล้วได้อะไร เธอโกรธแล้วไปทำเขา จะเกิดอะไรขึ้นกับเธอ สิ่งที่ตามมาจะเป็นผลเสียหรือผลดี” เด็กบางคนอารมณ์นิ่ง เริ่มกลับมาควบคุมตัวเองได้ มีเคสหนึ่งที่เล่นแล้วชกต่อยกัน ผมคุยกับเขา ใช้เสียงที่อ่อนโยน ไม่ใช้เสียงแข็ง เขาจะค่อย ๆ เย็นลง ให้เขาไตร่ตรองเหตุผล จนเห็นสาเหตุว่าทั้งคู่ที่ทำส่งผลให้เพื่อนเจ็บ ให้เขายอมรับในสิ่งที่ทำ เมื่อผิด ทั้งคู่ถูกหักคะแนนเหมือนกัน คนที่ผิดมากกว่าถูกหักมากกว่าคนที่ผิดน้อยกว่า วิธีการนี้ดีต่อครูและนักเรียน เราเอาเรื่องการคิดยับยั้ง คิดไตร่ตรองมาสอนเขา สถานการณ์นั้นก็ดีขึ้น

เวลาที่เด็กทำไม่ได้ ผมชวนเขาคิดไตร่ตรองว่าเพราะอะไรถึงทำไม่ได้ ให้เขาลองคิด วิเคราะห์ และสังเกตจากเพื่อนที่ทำได้ เมื่อทำได้เราทำไม่ได้ มีจุดไหนที่ตัวเองผิดพลาดหรือทำไม่ได้

ถาม ปัญหาอุปสรรคในการเป็นพี่เลี้ยงโครงการมีอะไรบ้าง

ตอบ ปัญหาคือ เวลาที่น้อยเกินไป ผมมีเวลาแค่ 2 คาบ ผมคิดว่าควรเป็น 3 คาบ บางครั้งครูคาบก่อนหน้านี้ปล่อยช้าบ้าง คาบเรียนในการทำโครงการคือวันศุกร์ เด็กส่วนใหญ่ติดละหมาด เวลาน้อยมีผลต่อการทำงานของเด็ก ผมแก้ปัญหาโดยการเลือกทำสิ่งที่สำคัญก่อน เช่น วันนี้เราต้องทำอาหารไก่ สิ่งที่ต้องทำคือการสังเกตไก่ ไปทำอาหารให้ไก่ และ AAR ตอนท้าย

ถาม ความยากที่สุดในการเป็นพี่เลี้ยงโครงการคือเรื่องอะไร

ตอบ เรื่องการเรียนรู้กว่าที่ผมจะเข้าใจระบบการทำโครงการของสงขลาฟอรั่ม เพราะผมไม่เคยทำมาก่อน ครูคนอื่นที่เคยทำมาแล้วหนึ่งปี เขาเข้าใจและไปได้เร็วกว่า ผมเพิ่งเข้ามาทำ ปีนี้เข้าปีที่สองเริ่มดีขึ้น พอไปได้จากคนที่ไม่รู้อะไร ผมสามารถนำ เรื่องการคิด วิเคราะห์ ไตร่ตรองนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้ ผมจะทำโครงการอะไรสักอย่างถ้าไม่ทำ BAR และ AAR เราจะได้โครงการที่ไม่สมบูรณ์ ปัญหาของโครงการนี้เกิดจากอะไร เราต้อง BAR มาก่อนว่าเกิดจากอะไร เราจะแก้ได้ ถ้าในชีวิตประวัน เช่น ผมจะกลับจังหวัดยะลา ผมทำ BAR ว่าเราจะใช้เวลากี่ชั่วโมง ต้องทำอะไรบ้าง ช่วงเช้าเรามีภารกิจอะไรบ้าง ถ้ามีต้องเอาเวลามาเฉลี่ยว่าใช้กี่ชั่วโมง เพื่อให้ได้เดินทางถึงจังหวัดยะลาเวลา 14:00 น. ทำให้เราคิด วิเคราะห์มากขึ้น

ถาม อยากพัฒนาตัวเองในเรื่องอะไรบ้าง

ตอบ เรื่องการเรียนรู้ อยากเรียนรู้ การคิด วิเคราะห์ ไตร่ตรอง เช่น เครื่องมือ BAR และ AAR ให้มากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้เราใช้ในชีวิตประจำวัน และสอนเด็กได้ บางสิ่งบางอย่างเรายังคิดไม่ถึงวิเคราะห์ไม่ถึง พอมีเครื่องมือมาช่วยทำให้เราคิดได้ ได้ไตร่ตรองกับสิ่งที่เราจะพูดกับเด็ก ควรพูดอย่างไรควรทำอย่างไร

เมื่อก่อนผมเป็นคนดุ ไม่ฟังเหตุผลของอีกฝั่ง ตอนที่เข้ามาทำงานใหม่ ๆ มีเด็กคนหนึ่งเขาสมาธิสั้น พอถึงเวลาเรียน เขาเล่นแหย่เพื่อนในห้องเรียน ทำให้ผมอารมณ์เสีย นักเรียนมาบอกผม ผมดุต่อว่าเขา โดยที่เราไม่สังเกตว่าเขาเป็นเด็กสมาธิสั้น จากที่เราดุแล้วเด็กหลายคนกลัว พอผมมาเด็กวิ่งหนีกันหมด เราทำสัญญากันว่าถ้าใครโดดเรียนแล้วครูรู้จะลงโทษโดยที่ผมไม่ตี พอเราได้เรียนรู้เรื่องการคิดไตร่ตรอง อารมณ์ของเราไม่พุ่งพ่าน ไตร่ตรอง ค้นหาสาเหตุ วิเคราะห์ สังเกต หาเหตุผลเลือกว่าเราควรใช้วิธีการแบบไหนกับเด็ก ถ้าเด็กอารมณ์ร้อน ทำอย่างไรให้เด็กอารมณ์เย็นลง พูดอย่างไรไม่ให้เขาโกรธ