บทสัมภาษณ์ Best Practice กลไกชุมชนตำบลปริก : อุษณีย์ เหล็มหมัน

ถาม  ขอให้ท่านผู้อำนวยการแนะตัวชื่อ ตำแหน่ง โครงการที่ดูแล

ตอบ  ชื่อนางสาวอุษณีย์ เหล็มหมัน อายุ 51 ปี ตำแหน่งผู้อำนวยการ โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก สังกัดเทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา โครงการที่ทำกับสงขลาฟอรั่ม เรามีประมาณ 8-9 โครงการ มีโครงการที่ได้ทุนของสยามกัมมาจล 4 โครงการ คือ ไก่ไข่อารมณ์ดี ผักปลอดสารพิษ ผ้ามัดย้อม และอาหารพื้นเมือง

­

ถาม  ให้ท่าน ผอ.เล่าที่มาที่ไป มีสถานการณ์อะไรที่ทำให้คุณครูและนักเรียนได้ทำโครงการ

ตอบ  เริ่มจากที่เราได้ทำงานกับทางสงขลาฟอรั่ม โรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนขยายโอกาส โดยลักษณะ ความพร้อมของพื้นที่ เน้นเรื่องวิชาการมากก็ไม่ได้ โดยความพร้อมของครอบครัว โดยบริบทของพื้นที่โรงเรียนเราตั้งอยู่ นักเรียนที่เข้ามาส่วนมาก ที่เข้ามาเรียนระดับมัธยมของเรา ส่วนมากเป็นนักเรียนที่จบ ป.6 จากเรา ถ้าคนไหนที่ผู้ปกครองมีความพร้อมสักหน่อย มีฐานะดีเขาก็จะให้ลูกไปเรียนโรงเรียนเอกชน ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ซึ่งเขาอยากจะให้ได้ทางศาสนาเยอะ ๆ นักเรียนที่อยู่กับเราส่วนมากเป็นนักเรียนที่ฐานะค่อนข้างปานกลางถึงยากจน บางคนก็มีปัญหาทางครอบครัว

เราคิดว่าจะมีวิธีการอะไร เพราะถือว่าเด็กว่าเขาเรียนไม่เก่ง เราจะทำอย่างไรที่จะช่วยเด็กกลุ่มที่เขาไม่ได้เก่งมาก เราสังเกตว่าเขามีความสามารถเรื่องอื่น เขาเก่งในทักษะการทำงานต่าง ๆ จึงไปร่วมกับสงขลาฟอรั่ม ซึ่งเขามีโครงการสร้างพลังพลเมือง และเป็นลักษณะพลเมืองที่โรงเรียนและเทศบาลต้องการ ว่าจะสร้างคนแบบไหน ผ่านกระบวนการอะไร เป็นลักษณะให้ทำโครงการให้ทำงานแล้วดู เราไม่ได้ดูที่ผลผลิตของโครงการ แต่ดูพัฒนาการหรือว่ากระบวนการทำงานของเขา อันนี้เป็นเรื่องแรก ๆ ที่เราได้ร่วมงานกับสงขลาฟอรั่ม

­

ถาม  เข้าใจได้เลยว่าทำไมถึงออกมาเป็นโคงการเลี้ยงไก่ไข่ ปลูกผักปลอดสารพิษ และป้อนโรงอาหาร เพราะมีเรื่องสถานการณ์ความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ในชุมชนตรงนั้น พอได้ทำโครงการเหล่านี้ไปแล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้างกับโรงเรียนและตัวชุมชน

ตอบ  ในส่วนของโรงเรียนพอเราเริ่มมาทำโครงการกับสงขลาฟอรั่ม ปีแรกที่เราทำโครงการเดียว พอปีที่ 2 เราเริ่มใช้สำหรับใช้กับเด็ก ม.1 - ม.3 ใช้อีกเรื่องนึง พอปีล่าสุดปีนี้ เราใช้โครงการใช้กระบวนการของสงขลาฟอรั่มทุกครั้งทั้ง ม.1, 2 และ 3 แบ่งเป็น 10 โครงการ โครงการที่ได้ได้รับงบประมาณจากสยามกัมมาจลมี 4 โครงการ อีก 6 โครงการที่โรงเรียนทำอยู่กลุ่มเด็กก็ใช้กระบวนการเดียวกัน เพียงแต่ว่างบประมาณสนับสนุนมาจากคนละที่

การเปลี่ยนแปลงตัวเด็กที่เห็นได้ชัด คือ เรื่องของพฤติกรรม เด็กมัธยม ใคร ๆ ก็บอกว่าพอให้ขึ้นมาประจำชั้นมัธยม ครูแต่ละคนบอกว่าขอประถมได้ไหม ไม่อยากขึ้นมามัธยม โดยเฉพาะตอนเขาอยู่ ม.2 ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เด็กบ่นว่าพลังเขาเยอะ เขาจะไปปล่อยตรงไหน

พฤติกรรมของเขาที่เห็นได้ชัด คือ เรื่องของความรับผิดชอบ เด็กหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มไก่ไข่ เขารู้หน้าที่ เขามีความรับผิดชอบว่าเขาก็ต้องไปให้อาหารไก่เวลาไหน กลุ่มปลูกผัก เขามีอะไรที่ต้องรับผิดชอบ โรงเรียนมีช่องทาง มีพื้นที่ให้เขา มีความรับผิดชอบมากขึ้น มีกระบวนการในการทำงานที่ดีขึ้น เขาพูดนำเสนอดีขึ้น เด็กหลายกลุ่มเขาเกเรจริง และอายถ้าให้พูดเรื่องวิชาการ ถ้าพูดเรื่องที่ไม่อยากให้พูดเขาจะกล้า ครูสังเกตเวลาที่มีคณะกรรมการมาประเมินโรงเรียน เรื่องสถานศึกษาพอเพียง กลุ่มไข่ไก่เป็นเป็นกลุ่มเด็กที่ค่อนข้างมีปัญหาเกเร แต่เขาสามารถสื่อสารได้ เมื่อกรรมการสอบถาม เขาเล่า เขาบอกด้วยความภาคภูมิใจว่า งานที่เขาทำคืออะไร เขาได้เรื่องการแสดงออก การพูด กระบวนการทำงานมีลำดับขั้นตอนดีขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงอีกเรื่อง คือ การทำงานของครู เห็นได้ชัดว่าคุณครูชุดคุณครูพลเมือง เขามีกระบวนการทำงานเมื่อเทียบกับคุณครูประถมที่ยังไม่เข้ากระบวนการนี้ เขาทำงานกิจกรรมโดยที่ ผอ. ไม่ต้องสั่งให้ทำ ช่วงเย็นเราจะเห็นเขาตั้งกลุ่มกันคุยกันปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไร มีแนวทางอะไรเห็นการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น เป็นการทำงานที่ช่วยกันแสดงความคิด ถ้ามีปัญหาหรือว่าติดขัดอะไร เขาจะมาปรึกษา ผอ.

ชุมชนให้ความร่วมมือ เด็กได้ลงไปสู่ชุมชน เข้าไปหาชุมชน เพราะว่าความรู้ต่าง ๆ อย่างที่บอกเราไม่มีครูเกษตรที่มีความรู้เรื่องเลี้ยงไก่ การปลูกผัก ก็ต้องไปหาความรู้ ชุมชนให้ความร่วมมือในการถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็ก

­

ถาม  ผู้ปกครองว่าอย่างไรบ้าง

ตอบ  ผู้ปกครองชอบ ผู้ปกครองบอกว่าลูกของเขามีความรับผิดชอบมากขึ้น เขาไว้ใจมากขึ้น พอบอกว่ามาโรงเรียนวันเสาร์วันอาทิตย์ มาทำกิจกรรมกับคุณครู เขาก็ดีใจ ที่มีโครงการแบบนี้แทนที่เด็กจะไปใช้เวลากับการเล่นเกม การขับรถซิ่ง อาจเสี่ยงกับการไปรวมกลุ่มมั่วสุม

­

ถาม  ผู้ปกครองมีความไว้วางใจมากขึ้น ที่เด็ก ๆ มาทำกิจกรรม ในการทำงานร่วมกัน ผอ.ทำอย่างไรให้คุณครูสนใจนอกจากมอบหมายโดยตำแหน่ง โดยหน้าที่ มีกระบวนการอย่างไรที่ทำให้ครูกลุ่มหนึ่งรับงานมาแล้ว ก็มาดำเนินการต่ออย่างเป็นระบบในโครงการนี้

ตอบ  เรามีลักษณะแบบนี้ คือ ให้อิสระให้โอกาสเขาในการทำงาน โรงเรียนไม่ได้มีทฤษฎีอะไรมาก เพียงแต่ใช้วิธีการแบ่งเป็นระดับช่วงชั้น ในระดับชั้นมัธยมเราให้เขามีหัวหน้าช่วงชั้น 1 คน และมีหัวหน้าที่ทำโครงการนี้ แล้วก็ให้อิสระกับเขา เราให้อิสระในการคิดของเขา เพียงแต่บอกว่าเราอยากได้อะไร อยากให้แก้ปัญหาให้เด็กที่เราพบว่าเด็กมีปัญหาอยู่ เราคิดว่าการทำโครงการแบบนี้เราเห็นผลมาก่อนหน้า เราจึงคุยกันว่าโครงการนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยแก้ แล้วให้อิสระครูในการคิด เขาก็มีความรับผิดชอบ พอเขาทำอะไร เขาก็รับรู้ว่าเราสังเกตอยู่ และครูกลุ่มนี้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เราเห็นเขาทำงานด้วยความสุขสนุกสนาน บางครั้งช่วงเย็น ผอ. ยังไม่กลับบ้าน ก็เห็นว่าห้องเรียนยังไม่ปิด ก็พบว่าพวกเขาก็ยังนั่งคุยกัน

­

ถาม  เพราะเคยมีตัวอย่างของความสำเร็จมาก่อนหน้านี้แล้ว จึงหยิบกระบวนการทำงานมาเป็นเครื่องมือ และให้อิสระครูรับผิดชอบงาน จากนั้นเขาก็ทำกันเป็นวิถี ใช้เวลาคุยกันอย่างเป็นธรรมชาติ พอเห็นภาพนี้แล้ว ผอ.รู้สึกอย่างไร

ตอบ  ดีใจ ภาคภูมิใจ คุยกับคุณครูให้เอากระบวนการนี้ไปใช้ต่อ ปีนี้เราจะมีครูเข้ามาเพิ่ม เราปรับจำนวนห้องและจำนวนเด็กในระดับมัธยม จึงมีครูที่ยังไม่ผ่านกระบวนการของสงขลาฟอรั่ม กระบวนการของคุณครูพลเมือง เราจะให้ใช้กระบวนการนี้ในการพัฒนาเพื่อนครูและให้เขาช่วยกัน ที่เห็นและภูมิใจเพราะ เขาไม่ได้ใช้กระบวนการนี้เฉพาะในโครงการที่เขาทำ โครงการไก่ไข่หรือโครงการผักเท่านั้น เราเห็นเขาเอากระบวนการที่เขาได้ไปใช้กับวิชาอื่น ๆ และ กิจกรรมอื่น ๆ ด้วย เช่น เขาฝึกกระบวนการ AAR มา มีกลุ่มของเขาเสนอโครงการให้ทุกกิจกรรมที่โรงเรียนทำ ต้องมีการทำ AAR จนภาคเรียนล่าสุด ทุกกิจกรรมโครงการที่โรงเรียนทำ คุณครูท่านอื่นก็ต้องทำ AAR ด้วย เพื่อให้รู้ว่าการทำงานแต่ละครั้ง มีอะไรต้องแก้ไขปรับปรุง กระบวนการที่เราได้มาจากครูพลเมืองนั้นได้เอามาขยายผลกับคุณครูท่านอื่นด้วย

­

ถาม  คุณครูพลเมืองที่มีจำนวนกี่คนคะ

ตอบ  ตอนนี้คุณครูมี 9 คน

­

ถาม  แล้วครูทั้งโรงเรียนมีกี่คนนะคะ ผอ.

ตอบ  32 คน ค่ะ

­

ถาม  แล้ว 9 คน นี้มีหัวหน้าหนึ่งคนใช่ไหมคะ ที่คอยดูแล แล้วหัวหน้าทำงานใกล้ชิดกับ ผอ.

ตอบ  ค่ะ

­

ถาม  หัวหน้าครูพลเมืองกับ ผอ. มีลักษณะการทำงานร่วมกันยังไงคะ

ตอบ  เราทำงานไม่ใช่เป็นผู้บังคับบัญชากัน ใช้ความเป็นพี่เป็นน้องกันในชุดที่เป็นหัวหน้ากับลูกน้อง เราเป็นคนในพื้นที่เดียวกันมีความสนิทกัน เราต่างก็เห็นกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร รู้จักกันมาก่อน การเป็นคนในพื้นที่เดียวกันก็คุยกันง่าย

­

ถาม  มีฐานความสัมพันธ์เดิมที่คุยกันได้อยู่แล้ว

ตอบ  ใช่ค่ะ

­

ถาม  เรื่องความสัมพันธ์ไม่มีปัญหา คุยกันได้แน่นอน แล้วแบ่งหน้าที่บทบาทกันอย่างไร

ตอบ  ช่วยกันทำ ผอ. นี่ก็จะช่วยเรื่องการประสานงาน หัวหน้างานช่วงชั้นระดับมัธยม ม.1 - ม.3 เป็นคนที่คอยดูแลนัดประชุม ในส่วนของสงขลาฟอรั่ม มีครูเหรียม (ครูกสิณทิพย์) โครงการผักปลอดสารพิษเป็นคนที่ประสานกับป้าหนู เรื่องการทำกิจกรรมต่าง ๆ คนอื่น ๆ เป็นคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับแต่ละโครงการ แบ่งหน้าที่กันแบบนี้

­

ถาม  ทั้งคณะทำงานติดตามผลการดำเนินงานอย่างไร จากจุดเริ่มต้น ระหว่างดำเนินงานไปจนเสร็จสิ้นโครงการ การติดตามประเมิน ดูความสำเร็จ ดูปัญหา ปรึกษาหารือ เป็นอย่างไร

ตอบ  เราไม่ได้กำหนดวันเวลาตายตัว จะมีในการประชุมประจำเดือน ครูเขาจะรายงานในแต่ละครั้งว่าโครงการนี้ไปถึงไหนแล้ว มีให้รายงานภาคเรียนละครั้งทั้ง 4 โครงการ กิจกรรมภาคเรียนที่ 2 เป็นการสรุปกิจกรรม ในส่วนของตัวครูที่เขาทำกิจกรรมกับเด็ก จะสรุปกันทุกสัปดาห์ เรามีจัดชั่วโมงให้เขาในการทำกิจกรรม มีทั้งชั่วโมงที่เราจัดให้ในตาราง กับชั่วโมงที่เขาต้องทำนอกเวลา เป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์

­

ถาม  เด็ก ๆ เขาก็มีสรุปงานประจำสัปดาห์อยู่แล้ว คุณครูรายงานผลอัพเดทต่าง ๆ ในประชุมประจำเดือน แต่ละภาคเรียนมาสรุปกันอีกครั้งหนึ่งว่าก้าวหน้าไปอย่างไร ก็คือใส่เข้าไปในกำหนดการประจำของโรงเรียนนั่นเอง เอาเรื่องนี้เข้าไปพูดคุย รับรู้กันทั้งโรงเรียน พอคุณครูที่ไม่ได้เป็นคุณครูพลเมือง ก็มองเห็นภาพการทำงาน เขาก็มองอย่างไร เขามีเสียงสะท้อนกลับอย่างไรบ้าง

ตอบ  ส่วนของคนที่ไม่ได้ทำมีเป็นช่วงชั้นที่ 1 และ 2 คือระดับปฐมวัย ระดับอนุบาล มีกระบวนการหนึ่งที่เป็นเครื่องมือ ในระดับประถมเขาเห็นว่าการทำงานลักษณะที่ให้เด็กทำงานผ่านโครงการ เราเห็นผลที่เกิดกับเด็ก คุณครูท่านอื่นเราก็มีการคุยกันในหัวหน้างานวิชาการว่า เราจะทำให้มีวิชาเพิ่มเติมโดยปรับเพิ่มเติมตามบริบทที่นอกเหนือจากกลุ่ม 8 สาระ ที่นี่เรามี 4 สาระเพิ่มเติม วิชาสิ่งแวดล้อม วิชาวิถีชุมชน วิชาเศรษฐกิจพอเพียง วิชาพลังงาน เราคุยกันว่าใน 4 วิชานี้ จะนำกระบวนการมาใช้ เพราะคุณครูเขาเห็นกระบวนการการพัฒนาเด็ก โดยให้เด็กทำโครงการ หมายถึงว่า ในวิชาสิ่งแวดล้อม สมมติว่าวิชาสิ่งแวดล้อม ระดับ ป.4 มีกระบวนการเรียนการสอนอยู่แล้ว จะปรับให้เด็กมีชิ้นงาน 1 ชิ้นงาน หรือว่ามีโครงการ 1 โครงการ เป็นโครงการที่ทำให้เห็นว่าได้มาจากเรื่องของพลเมือง ให้นักเรียนเขียนโครงการจากปัญหาในโรงเรียน เริ่มเทอมหน้า เช่น เขาเห็นที่โรงเรียนมีขยะใบไม้มาก หล่นเป็นปุ๋ยหรือทิ้งไป ในกระบวนการสอนวิชาสิ่งแวดล้อม หรือวิชาเศรษฐกิจพอเพียงพอ เขาเห็นแล้วก็อาจมีความคิดว่าใบไม้แทนที่จะทิ้งไว้ ก็มาตั้งกลุ่มทำปุ๋ยหมัก ลักษณะการจัดการเรียนรู้แบบนี้เราคุยกันเพิ่มเติม เราไม่เน้นเนื้อหาแต่เน้นกระบวนการทำงานของเด็ก

­

ถาม  เป็นระดับการจุดประกายความคิดด้วยวิธีการใหม่ ๆ

ตอบ  เวลาเราคิดเราอยากที่จะได้เลย สิ่งหนึ่งในความเป็นครู เรามักอยากเห็นผลเลย แต่ว่าไม่ใช่ เด็กจะได้หรือไม่ได้อยู่ระหว่างเดินทางมากกว่า ครูเองก็ปรับเปลี่ยนความคิดความเชื่อ ตอนทำโครงการเคยมีหลายครั้งที่ครูจะทำเองเพราะไม่ได้ดั่งใจ

­

ถาม  ขอให้ท่านวิเคราะห์โดยมองภาพกลับไปโครงการนี้ที่ทำกับคุณครูพลเมือง 9 ท่านนี้ ได้ใช้ทุนภายในโรงเรียนอะไรอย่างไรบ้าง ทั้งในเชิงพื้นที่ ทั้งในเรื่องของคนภายในและภาคีภายนอกที่ไปเกี่ยวโยงเชื่อมร้อยกันมาหนุนให้เกิดโครงการที่ตอบโจทย์โรงเรียน

ตอบ  ทุนในโรงเรียน เรามีพื้นที่ว่าง ทำให้เด็กเขาสามารถคิดโครงการ มีทุนของตัวครู ตามความคิดของ ผอ. ครูที่นี่เป็นคนที่พร้อมพัฒนา แต่เราก็ต้องมีไกด์ไลน์ (แนวทาง) ให้เขา พวกเขาไม่ใช่คนที่อยู่ไปวัน ๆ สอนไปวัน ๆ เขาพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ถ้ามีอะไรมาเป็นกำลังเสริมหรือคอยชี้แนะบอกกล่าว พวกเขาเป็นคนหนุ่มคนสาวอายุเฉลี่ยก็ประมาณ 30 - 35 ปี คนที่แก่ที่สุดในโรงเรียนคือ ผอ. การทำงานที่นี่ไม่มีลักษณะแบ่งแยกเป็นกลุ่ม เราทำงานเป็นทีม จึงเป็นเรื่องง่ายในการบริหาร

ในส่วนของภายใน เรามีงบประมาณที่เราได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมฯ ภายนอก เราสังกัดเทศบาลตำบลปริก เทศบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก ให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณ และเจ้าหน้าที่พนักงานเทศบาล ช่วยเสริมให้เรา เช่น เรื่องเกษตรปลอดสารพิษเราไม่มีความรู้ เราสามารถไปที่แหล่งเรียนรู้ของเทศบาล เขามีเจ้าหน้าที่ให้ความรู้ในเรื่องของการทำปุ๋ย เรื่องของการปลูกผัก เรามีผู้บริหารเทศบาลที่เน้นความสำคัญของการพัฒนาคนมาก เทศบาลที่นี่ให้ความสำคัญการพัฒนาคนมากกว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

­

ถาม  การเข้ามาของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสยามกัมมาจลหรือว่าข้างนอกก็ตาม มาสนับสนุนการทำบทบาทของคุณครูในทีมอย่างไรบ้าง

ตอบ  ที่ปริกเราเน้นเรื่องการพัฒนา เราเรียกว่าพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของเด็ก การเรียนของเด็กไม่ใช่การมาโรงเรียน ท่องจำความรู้ เราอยากเปลี่ยนเป็น Active Learning ตอนนั้นเราอยากปรับเปลี่ยนวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนอยู่แล้ว ในระดับอนุบาลเราได้การสนับสนุนจาก มอ. (มหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์) เราจะสร้างเด็กปฐมวัยให้เป็นเด็กที่จะเป็นเด็กที่รู้จักคิด ให้เป็นเด็กที่มีการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ที่ไม่ใช่มาเขียนหนังสือมาอ่านหนังสือให้ออก แต่ว่ากระบวนการอะไรที่จะเอามาพัฒนาเขา เราก็ได้ร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ มอ. เอาเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ ผ่านบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบใช้หลักการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์กับทุกกิจกรรม ปฐมวัยมีเครื่องมือในการพัฒนาเด็กอยู่แล้ว จะต่อยอดอย่างไรในระดับประถม 1 2 3 ก็มีของ มอ. เหมือนกันที่มาช่วยอยู่ในส่วนของประถม

ในส่วนของมัธยมตอนนั้นเราค้นหาว่าจะมีเครื่องมืออะไรมาช่วย เราลองหลายอย่าง มีอาจารย์จาก มหาวิทยาลัยทักษิณมาช่วยได้ห้องเดียว ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของเราพอได้ไปสงขลาฟอรั่ม ได้ทุนของสยามกัมมาจลมาพัฒนาครูพลเมือง เห็นชัดว่าได้กระบวนการในการพัฒนาเด็ก เป็นเครื่องมือที่เราค้นหาอยู่ การพาเด็กเรียนรู้นอกห้องเรียน

­

ถาม  มีการพัฒนาเสริมศักยภาพคุณครูพลเมือง 9 ท่านอย่างไร

ตอบ  ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการของสงขลาฟอรั่มและเทศบาลตำบลปริก มีการประชุมพบปะพูดคุยกันระหว่างผู้บริหารเทศบาล คุณครู ผอ. กองการศึกษา เพื่อสะท้อนว่าสิ่งที่เราทำมีปัญหาอะไร ต้องการอะไรเพิ่มเติม กำลังไปในทิศทางไหน ทางคณะผู้บริหารรับฟังแล้วช่วยส่งเสริมสนับสนุนตามที่เราต้องการ

­

ถาม  เป็นเวทีที่ทำให้คุณครูได้พัฒนาศักยภาพ

ตอบ  ครูมีความมั่นใจขึ้นว่าโครงการที่ทำ ไม่ใช่ทำแล้วจะทิ้งไป ผู้บริหารมีข้อเสนอแนะ พร้อมให้การสนับสนุน

­

ถาม  ในระหว่างที่ทำโครงการมามีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง

ตอบ  ปัญหาอุปสรรคอาจเป็นเรื่องของเวลา เรื่องของการบริหารจัดการเวลาไม่ราบรื่น โดยภาระหน้าที่ของครู บางทีเรามีงานแทรกตรงกับงานที่นัดกับเด็กไว้ว่าจะทำในช่วงนี้ ทำให้ไม่ได้งานตามเวลาที่เรากำหนด เพราะว่าครูพลเมืองชุดนี้ทั้งดูแลโครงการเด็ก สอน ทำงานที่เป็นงานธุรการชั้นเรียน งานกิจกรรมโครงการอื่นของโรงเรียน

­

ถาม  มีข้อจำกัดอื่นที่รู้สึกว่ายังต้องพัฒนาต่อสำหรับคนทำงาน หรือสิ่งที่มีเพิ่มเติมจากนี้แล้วจะทำให้โครงการครอบคลุม ตอบโจทย์โรงเรียนได้มากขึ้นอีกบ้าง

ตอบ  เรื่องความถนัดในโครงการที่เขาให้เด็กทำ ครูรับผิดชอบที่ผ่านมาเลือกตามความชอบไม่ได้ถนัด เขาก็เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ประเด็นนี้เราเคยคุยกับผู้รู้ด้านอาชีวะ เขาแนะนำว่าถ้าโรงเรียนทำแล้วให้ครูเกษตรหรือใครก็ตามมาทำมักไม่ได้ผล เขาแนะนำให้มอบหมายโครงการให้ครูที่เขามีความชอบ เมื่อเขาชอบที่จะทำ เขาก็จะทำได้

ทางเราปรึกษากับเกษตรอำเภอ เขายินดีให้ความรู้กับครูและเด็ก ก่อนปิดเทอมเรามีโครงการได้วางแผนกับเกษตรประจำตำบลนี้ให้เข้ามาช่วย

ทักษะของคุณครูในการตั้งคำถามกับเด็ก การพูดคุยกับเด็ก ทักษะการใช้คำถาม การพูดกับเด็กพูด กระตุ้นเด็ก เรายังไม่สามารถดึงศักยภาพของเด็กออกมาได้ ครูน่าจะมีวิธีการที่ช่วยให้เด็กพัฒนาขึ้นยิ่งกว่านี้

เรื่องแผนการดำเนินงาน เรามีงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุน เรียกว่าค่าจัดการเรียนการสอน เรายังบริหารจัดการได้ไม่ดี ยังใช้เงินไม่มีประสิทธิภาพ ต้องมีการปรับแผนพัฒนาของเรา โครงการสร้างพลังพลเมืองยังไม่ได้บรรจุเป็นแผนของโรงเรียน ยังเป็นแผนของเทศบาล เราน่าจะปรับเป็นแผนของโรงเรียน โครงการที่เด็กทำเราก็สามารถตั้งงบประมาณ เพื่อสนับสนุนเขา แทนที่จะรอเฉพาะงบประมาณจากเทศบาลหรือว่าบางโครงการที่เราได้รับจากสยามกัมมาจล ถ้าโรงเรียนเราบริหารจัดการก็ทำได้โดยงบประมาณที่มีอยู่ ทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ โดยใส่เข้าไปในแผนพัฒนาโรงเรียน

ด้านวิชาการ มีแบบประเมินผู้เรียน เช่น หัวข้อการคิดวิเคราะห์ การสร้างนวัตกรรม มาตรฐานด้านผู้เรียน เราก็กำลังคิดว่าจะเอาอะไรมาวัด เรื่องของการสร้างนวัตกรรมของเด็ก เช่น กระบวนการทำงาน การสร้างนวัตกรรม การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา ยกตัวอย่าง โครงการของเด็กมัธยม เด็กกลุ่มไก่ไข่ เขาเลี้ยงไก่การเลี้ยงไก่แต่ละวันเป็นกระบวนการอยู่แล้ว แทนที่เราจะสร้างแบบประเมิน ทำงานหลายรอบแล้วประเมินเด็กไม่ได้จริง ผอ.เสนอคณะครูว่าแบบประเมินที่กำลังคิด เรื่องการประเมินภายใน ให้นำแบบประเมินนั้นมาประเมินเด็กชุดนี้ที่ทำโครงการและครูที่ดูแลเด็ก เพราะเขามีกระบวนการทำงาน เรื่องการสร้างนวัตกรรม ไม่ใช่จะต้องสร้างเป็นชิ้นงานเท่านั้น สามารถดูจากกระบวนการคิดสร้างสรรค์ เช่น กลุ่มไก่ไข่ เขาคิดสูตรอาหาร นี่ก็คือนวัตกรรมที่กลุ่มเขาสร้างขึ้น ตอนนี้เหมือนเราทำแยกส่วน มี 4 - 5 แบบประเมินที่เราต้องทำ ถ้าโครงการประเมินแบบที่ว่า เด็กเราจะได้เห็นการประเมินที่เรียกว่าการประเมินแบบองค์รวม เราสามารถดูเด็กคนหนึ่งได้จากหลายอย่าง และดูได้จากเรื่องที่เขากำลังทำอยู่

­

ถาม  แนวทางสร้างความยั่งยืนต่อไปของกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) สร้างครูพลเมือง สร้างนักเรียนให้มีสำนึกพลเมือง

ตอบ  โครงการเหล่านี้เราจะบรรจุทั้งแผนในระดับมัธยม ม. 1 - 3 เป็นลักษณะการเรียนรู้ที่ให้เขาคิดโครงการ จากปัญหาหรือสิ่งที่มีอยู่ในโรงเรียน เราอยากให้เขาเข้าไปดูที่ชุมชน จะไปเชื่อมโยงกับวิชาวิถีชุมชน วิชาพลังงาน วิชาสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจพอเพียง

กระบวนการเหล่านี้จากการจัดการเรียนการสอนที่ผ่านมา ก็มีโครงการและสอนอยู่ในห้องเรียน เป็นกิจกรรมเล็ก ๆ ตอนนี้ที่โรงเรียนคุยกันคือจะต้องนำกระบวนการนี้ไปให้เด็กคิดโครงการที่เกี่ยวกับในเนื้อหาสาระ โครงการของเด็กโตจะเป็นโครงการที่ต้องออกโรงเรียน ไม่ใช่โครงการที่อยู่ในโรงเรียน ปัญหาอะไรที่พบอยู่ในชุมชน เช่น เรื่องของสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะ จะมีโครงการที่เขาจะคิดเพื่อชุมชนบ้าง โดยใช้กระบวนการแบบที่เขาทำกับสงขลาฟอรั่ม หรือโครงการนี้ ลักษณะพี่พร้อมช่วยน้อง เขาก็มีการจับกลุ่มแนะนำกัน


ถาม ตลอดที่ฟัง เหมือนภาพฝันที่อยากให้ชุมชนหรือคนเป็นพี่เลี้ยงได้ฟังให้เข้าใจเรื่องแบบนี้ แฟงรู้สึกว่าเห็นเป็นรูปธรรมขึ้น ส่วนตัวเองได้เข้าใจว่าโครงสร้างบริบทโรงเรียนแบบไหนที่จะทำให้เกิดงานแบบนี้ คนทำงานก็ได้ต่อยอดไปเรื่อย ๆ เหมือนกับงานก็ได้ คนทำงานก็มีความสุขด้วย เท่าที่ฟังจากคุณครูและ ผอ. เหมือนต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น คนทำงาน Happy กับกระบวนการทำงาน และผลลัพธ์ที่เห็น ยิ่งตอนนี้มีกระแสหลักสูตรสมรรถนะไม่แน่ใจเรื่องที่ ผอ. พูดเรื่อง นวัตกรรม เรื่องนี้หรือเปล่า ขึ้นมาด้วย เรามีทุนมีฐานพอจะรับเข้ามานี่ ก็คือไม่ได้เพิ่มงานของเราเยอะ ทำงานกับที่โรงเรียนอื่นหนักเหมือนกันที่จะทำให้เข้าใจประเด็นนี้ ที่นี่จะได้เอาไปเป็นกรณีศึกษา เป็นตัวอย่างที่ช่วยให้พวกหนูทำงาน

ตอบ  แต่ก็ยังไม่ได้ผลอะไร คือเราก็อยากให้ได้มากกว่านี้

­

ถาม  หนูสงสัยเรื่องหนึ่ง ปีนี้จริงจังที่เราทำ Project Base แบบ Active Learning กับช่วงชั้น ม.ต้น มีความยากไหมคะ ที่จะต้องบังเบียดกับกลุ่มสาระ 8 วิชา ต้องปรับตัวเยอะไหม ถ้าเทียบกับปีแรก ๆ ที่ทำ 2-3 โครงการในการเรียนรู้

ตอบ  อันนี้ไม่ เพราะว่าจริง ๆ หลักสูตรเขาก็กำหนดมา วิชาพื้นฐาน 8 วิชา ส่วนวิชาเพิ่มเติม หรือกิจกรรมที่เอามาเพิ่มเติม อันนี้สามารถยืดหยุ่นได้ตามบริบทพื้นที่ โรงเรียนสามารถยืดหยุ่นได้ตามความต้องการเลยในการบริหารจัดการเวลา เท่าที่เราทำก็ไม่มีปัญหา อาจจัดชั่วโมงเพิ่มขึ้น เป็นชั่วโมงวิชาที่ไม่ซีเรียสเหมือนกับเรียนคณิตศาสตร์ แต่สามารถได้คณิตศาสตร์ไปในตัวเหมือนกลุ่มไข่ไก่ เพราะเขาต้องชั่งไข่ไก่ เคยสอบถามครูคณิตศาสตร์ เวลาสอนทฤษฎีการชั่งการตวง เด็กรู้สึกยาก แต่พอได้ทำเอง หั่นหยวกชั่งเป็นกิโลกรัม เขาก็ทำไปเลย เป็นการเรียนรู้จริงๆ ซึ่งการเรียนรู้ก็ควรเป็นแบบนั้น ไม่ใช่ เรียนอยู่ในห้องเรียน เด็กก็ได้โดยไม่รู้ตัว การเรียนรู้ต้องเป็นแบบนี้ การเรียนรู้ควรจะเปลี่ยนควรเป็นลักษณะนี้


ถาม  แสดงว่าปีที่ผ่านมาสงขลาฟอรั่มทำงานหนักมากที่จะช่วย โคช ครูอีกทีหนึ่งใช่ไหมคะ

ตอบ  จะมีกลุ่มที่เข้าใหม่ยังไม่ค่อยเข้มแข็ง 3 คน โครงการของเขายังไม่โอเค ที่เราเห็นก็ต้องพัฒนากันไป

­