บทสัมภาษณ์ Best Practice กลไกชุมชนตำบลปริก : สุริยา ยีขุน

ถาม  ขอให้ท่านนายกแนะนำตัว ชื่อ-นามสกุล และบทบาทหน้าที่ หน่วยงานที่สังกัด

ตอบ  สวัสดีครับ กระผมนายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก ได้ทำหน้าที่ในฐานะนายกเทศมนตรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่งรวม ๆ แล้วประมาณ 21 ปีครับ เทศบาลตำบลปริกของเรานั้น เป็นท้องถิ่นหนึ่งในจำนวน 12 องค์กรปกครองท้องถิ่นที่มีอยู่ในอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ครับ

­

ถาม  ในมุมมองของท่านนายก ท่านมีแนวนโยบาย มีแนวคิดของในการที่พัฒนาคนเป็นอย่างไร

ตอบ  ขอให้ดูจากวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย และยุทธศาสตร์การพัฒนาของเทศบาลก็แล้วกันนะครับซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าแนวทางในการทำงานของเทศบาลตำบลปริก เริ่มตั้งแต่การกำหนดโจทย์ใหญ่ในการพัฒนาพื้นที่ เราเชื่อมั่นว่า การพัฒนาใด ๆ ก็ตาม จะไม่สามารถที่จะส่งผลต่อความจีรังยั่งยืนได้เลย ถ้าหากคนยังไม่ได้รับการพัฒนา ดังนั้นเทศบาลตำบลปริกจึงให้ความสำคัญกับการที่จะให้”คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” เราจึงได้กำหนดโจทย์ใหญ่ของเราเอาไว้ในวิสัยทัศน์ของเทศบาลว่า “ เศรษฐกิจพอเพียง ร้อยเรียงวิถีชุมชน คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ประชาสังคมสันติสุข.” นั่นหมายถึงว่าคนบ้านเราจะอยู่กันแบบเรียบง่าย สบาย ๆ ด้วยความพอเพียง โดยให้มีการร้อยเรียงวิถีชุมชนของสังคมพหุวัฒนธรรม ที่มีทั้ง พุทธ มุสลิม และไทยเชื้อสายจีนแต่ก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข และการพัฒนาต่าง ๆ ของเราก็จะมุ่งเน้นไปที่การให้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ทั้งนี้เพื่อต้องการเห็นความเป็นประชาสังคมสันติสุข จาก 4 ประโยคตรงนี้ ก็ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เราจะต้องให้ความสำคัญในลำดับต้น ๆ ก็คือ การพัฒนากระบวนการการเรียนรู้และการศึกษาตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนของเรา รวมทั้งคนในส่วนที่เป็นพนักงานในองค์กรของเทศบาล และพนักงานครูโรงเรียนเทศบาลตำบลปริกด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงทำให้เกิดแนวคิดที่ต่อยอดเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของการกำหนดนโยบายในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของเทศบาล ที่เราแบ่งออกได้เป็น 8 ด้านด้วยกัน ส่วนใหญ่ก็จะเน้นในเรื่องการสร้างกระบวนการในการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ภาคีภาคส่วนภายนอก และที่สำคัญก็คือ กลไกภายในที่เป็นพนักงานเทศบาล และพนักงานครู จะต้องได้รับการพัฒนาให้มีส่วนในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ ฝึกให้คนขององค์กร เป็นวิศกรสังคม หรือ สถาปนิกสังคม หรือเป็นนวัตกร เป็นต้น

จากจุดนี้เองที่ทำให้เทศบาลของเรามีกิจกรรม แผนงาน และโครงการที่ว่าด้วยเรื่องของการสร้างคนสอดแทรกอยู่ในหลาย ๆ มิติของในแต่ละนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายทางด้านการเรียนรู้และการศึกษา นั้น เราพยายามที่จะให้สังคมได้เห็นว่ากระบวนการเรียนรู้และการจัดการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ นั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งต่อมนุษย์ และเป็นหัวใจของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเลยทีเดียว เราจึงต้องมาเริ่มต้นกันที่การสร้างคน ให้เป็นคนที่มีคุณภาพ และก็ต้องสร้างคนให้เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ให้ได้ สร้างคนให้มีความรับผิดชอบต่อชุมชนสังคมของตัวเอง และก็มีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติได้ด้วย การทำงานของเราในแต่ละมิติจะเน้นไปที่การสร้างกระบวนการเรียนรู้แทบจะทุกด้าน จะเห็นว่ามีเราการประชุมร่วมกับชุมชนบ่อยมาก มีการลงไปทำโฟกัสกรุ๊ปตามมุมต่าง ๆ ของชุมชน ในช่วงแรก ๆ นั้น พี่น้องในชุมชนอาจจะรู้สึกอึดอัดกันบ้าง เพราะว่าเขาไม่คุ้นชินกับการที่ไปนั่งล้อมวงคุยกัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในอดีตที่ผ่านมา พี่น้องประชาชนในพื้นที่อาจจะยังยึดติดอยู่กับการรอคำสั่งจากข้างบน เราเห็นว่าถ้าไม่ทำความเข้าใจในเบื้องต้นกันให้ดีคงจะเดินต่อไปสู่ความยั่งยืนไม่ได้แน่ ๆ เทศบาลตำบลปริกเราจึงต้องมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน

พอเราเหลียวกลับมามองดูเรื่องของการจัดการศึกษาที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้น เราเห็นเลยครับว่าหากเราต้องการพัฒนาคนของท้องถิ่นนั้น เราจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรต่าง ๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษานี้มากมายทีเดียว ทั้งวิธีการ กระบวนการ และรูปแบบตลอดจนเทคนิคในการบริหารจัดการในเรื่องการศึกษาที่จะต้องให้มีความสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และยุคสมัยที่กำลังจะเปลี่ยนไปด้วย เป็นต้น แว๊ปหนึ่งของความคิดที่แล่นเข้ามาในสมองของเราตอนนั้น ก็คือ ทำอย่างไรที่ตัวของเทศบาลเองนี่แหละที่จะต้องคิดและหาหนทางในการสร้างโรงเรียนขึ้นมาให้ได้ แต่พอเราเริ่มลงมือทำและขออนุญาตเพื่อที่จะสร้างโรงเรียนเทศบาลตำบลปริก ขึ้นมา มันกลับกลายเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ไม่สะดวกไปเสียหมด เราต้องประสบกับปัญหาอุปสรรค ต่าง ๆ นานา มากมายจากผู้มีอำนาจในการเห็นชอบและอนุมัติในการจัดตั้งโรงเรียน ก็คือ สำนักงานเขตการศึกษา รู้สึกว่ามันยากแสนยาก เพราะทางสำนักงานเขตการศึกษาทั้งปฏิเสธ ทั้งบ่ายเบี่ยงและเลี่ยงบาลี เยอะแยะมากมาย เอาข้อกฎหมายต่าง ๆ มาอ้างกัน จนทำให้เราต้องเดินทางไป ๆ มา ๆ เพื่อประสานงานและค้นหาตัวบทกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเพื่อยืนยันกับสำนักงานเขตการศึกษา ไม่ต่ำกว่า 4 – 5 ครั้งจนกว่าจะได้รับการเห็นชอบให้เราได้เปิดโรงเรียนต่อจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ โดยเริ่มจากชั้นอนุบาล 1 และชั้นประถมศึกษาปีที่1 เมื่อประมาณ 14 ปีที่ผ่านมา และในปัจจุบันเราก็ขยายโอกาสต่อยอดจากประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นต้นมาจนกระทั่งถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เราจึงมีโอกาสได้ใช้กลไก ของโรงเรียนเทศบาล เพื่อพัฒนาครู สร้างกระบวนการการเรียนรู้ของครู ให้ครูทั้งหลายได้มี Mindset ใหม่ที่เป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอนมากกว่าการที่จะให้ครูเป็นศูนย์กลางเหมือนอดีต จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ได้เปลี่ยนครูมาเป็น Facilitator ให้เห็นครูได้เป็นผู้ที่จุดประกาย หรือคนที่จะต้องอำนวยความสะดวกในการสร้างกระบวนการการเรียนรู้และพัฒนาแก่นักเรียน

เทศบาลตำบลปริกจึงต้องทำหน้าที่เป็นนักประสานสิบทิศ เพื่อประสานงานกับกลไก ภาคีภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิดการประสานงานไปยังสงขลาฟอรั่ม ซึ่งเป็นกลไกภาคประชาสังคม หรือ NGO ในจังหวัดสงขลา เพื่อที่จะเป็นการต่อยอดการพัฒนาของเทศบาลที่เราเน้นเรื่องของการสร้างคน ผ่านช่องทางระบบการศึกษา ทำให้เป็นโรงเรียนพลเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมคนกลุ่มแรกเพื่อที่จะขับเคลื่อนงานนี้ก็คือ”ครูพลเมือง” ดังนั้น ครูในสังกัดโรงเรียนเทศบาลตำบลปริก และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกองสวัสดิการสังคม ของเทศบาลตำบลปริก ก็ได้มีโอกาสร่วมเรียนรู้และพัฒนาทักษะจากป้าหนูและทีมงานสงขลาฟอรั่มในมิติการสร้างพลังของเป็นครูพลเมือง แล้วมาเคลื่อนต่อในเด็ก ครูพลเมืองทั้งหลายก็ได้สร้างเด็กให้เป็นพลเมืองเด็กและเยาวชนต้นปริกผู้ตื่นรู้ และเด็กเองก็ ทำหน้าที่ในการที่จะเรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อน แทนที่จะเป็นการเรียนรู้เพื่อเอาตัวรอดคนเดียว ให้เก่งคนเดียว แต่กระบวนการที่ได้รับจากสงขลาฟอรั่มนั้น สอนให้เด็กได้รู้รับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม ได้ เราจึงใช้กระบวนการจัดการศึกษาและการเรียนรู้เป็นตัวขับเคลื่อนในการสร้างพลังพลเมืองผู้ตื่นรู้ หรือ Active Citizen

­

ถาม  น่าสนใจมากค่ะ แนวคิดของท่านนี้มีความชัดเจนมาก ท่านทำอย่างไรคะ ที่ทำให้ครูและผู้อำนวยการโรงเรียนเอาด้วยกับวิธีคิดนี้ในทางปฏิบัติ

ตอบ  นับว่าเป็นความโชคดีของเทศบาลตำบลปริกที่เรามีพนักงานทั้งที่เป็นพนักงานในสังกัดกองต่าง ๆ และทางโรงเรียนที่เรามีคุณครูอยู่ด้วย เราจะมีการประชุมหารือกันบ่อยมาก เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนภารกิจการบริการสาธารณะของเทศบาล ซึ่งกว่าที่ครูจะเข้าร่วมเรียนรู้จากสงขลาฟอรั่ม นั้นเราก็ต้องมานั่งคุยถึงแนวทาง วิถีการทำงานตลอดจนการเชื่อมโยงกับภาคีภาคส่วนต่าง ๆ ทำให้เห็นถึงการสร้างคนที่ทะลุมิติจากภายในไปสู่ภายนอกได้ว่ามิใช่เพียงแค่เราโดยลำพังกลุ่มเดียวเท่านั้นที่จะทำอะไรให้สำเร็จลงได้ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาคน นั้น เราจะต้องอาศัยองค์ความรู้ เครื่องมือ กลไก และภาคีทั้งจากภายในและภายนอกเป็นพลังหนุนเสริมและเป็นคานงัด ดังนั้นเราจึงเปิดทางเลือกให้ครูและพนักงานของเทศบาลตำบลปริกได้รู้จักกับสงขลาฟอรั่มโดยเฉพาะป้าหนูและทีมงานของหนู เพื่อพัฒนาตัวของครูและพนักงานเทศบาลในเรื่องของความคิดความอ่าน ในแง่ของเทคนิควิธีการ ตลอดจนการเปลี่ยน Mindset ของทุกคน ให้เห็นเรื่องการสร้างกระบวนการการเรียนรู้ที่แท้ และพัฒนากลไกที่เอาเด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้แทน ซึ่งต่างก็ได้ทำกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านเวทีของสงขลาฟอรั่มหลาย ๆ เวที ทำให้ครูได้ปรับเปลี่ยนวิธีการในการจัดการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี และคุณครูทุกคนก็มีพัฒนาการที่ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกันแนวคิดในการพัฒนาเด็กและเยาวชนนี้ไม่ได้อยู่เฉพาะในการจัดการศึกษาในระบบหรือในโรงเรียนเท่านั้น เรายังมีกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อาจจะได้เรียนอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง หรือบางคนอาจจะไม่ได้เรียนหนังสือ ก็ได้เข้ามาร่วมกิจกรรม ภายใต้โครงการของเด็กและเยาวชนต้นปริกที่เป็นพลเมืองเด็กและเยาวชนต้นปริก ซึ่งตรงนี้ทางกองสวัสดิการสังคมที่สังกัดเทศบาลเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ก็ทำหน้าที่ในการเชื่อมร้อยเด็กที่อยู่ในชุมชน และที่ออกนอกระบบไปบ้างเข้ามา เพื่อที่ทำหน้าที่ในการสร้างกระบวนการการเรียนรู้ เพื่อสร้างเขาไว้เป็นพลเมืองเยาวชนของต้นปริกนี้ด้วย คู่ขนานไปกับการจัดการศึกษาในระบบที่ทางโรงเรียนเทศบาลตำบลปริกดำเนินการอยู่ ซึ่งประเด็นนี้ถือว่าเป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลงเลยครับ

ปัจจุบันเวลาโรงเรียนจะขับเคลื่อนอะไรก็พยายามสร้างภาวะความเป็นพลเมืองให้กับนักเรียนทุกระดับ รวมทั้งระดับปฐมวัยด้วย ซึ่งเมื่อก่อนปฐมวัยเรายังไม่เอาเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เท่าไหร่นัก ตอนที่ได้ประสานงานและทำงานร่วมกับสงขลาฟอรั่มใหม่ ๆ ทางคุณครูเขาจัดให้เฉพาะเด็กมัธยม แต่ตอนหลังนี่เราเห็นว่าถ้าเราต้องการที่จะสร้างคน เราก็ต้องมาสร้างกันตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ ไปจนถึงเด็กโต หรือเยาวชน จึงได้มีการเชื่อมโยงประเด็นนี้เข้ากับการจัดการศึกษาปฐมวัย หรือ เด็ก ๆ ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และเด็กนักเรียนอนุบาล ด้วยเช่นกัน ซึ่งมันก็จะครอบคลุมเด็กในช่วงชั้นต่าง ๆ ตามที่เรามีอยู่ในความดูแล คือ ตั้งแต่ เด็กเล็ก อนุบาล ป.1 ไปจนถึง ม.3 และนอกจากนั้นเมื่อเรามีกิจกรรมการพัฒนาหรือการฝึกอบรมสำหรับเยาวชนทั่วไปที่นอกเหนือจากนักเรียนของเรา นั้น เราก็ใส่เรื่องการสร้างพลเมือง พัฒนากระบวนการคิดเชิงระบบให้แก่เขาด้วยเช่นกัน

เทศบาลเองก็พยายามจัดกระบวนการพัฒนาศักยภาพกับครูและพนักงานของเทศบาลที่เกี่ยวข้องให้ทุกคนสามารถซึมซับแนวคิดเรื่องกระบวนการสร้างคน การสร้างโรงเรียนพลเมือง ตลอดจนการสร้างพลเมืองเด็กและเยาวชน ถ้าหากเราพูดลอย ๆ แบบเหมือนเมื่อก่อน ให้ต่างคนต่างไปทำคงจะยาก เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดการซึมซับในแนวคิดมากนัก หลังจากที่เราให้เขาได้สัมผัสกับกลุ่มเครือข่ายภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสงขลาฟอรั่ม มหาลัยสงขลานครินทร์ ราชภัฏสงขลา หรือ NGO กลุ่มต่าง ๆ ตลอดจนทีมงานของ สสส. แล้วนั้น ทำให้เขาเริ่มเห็นถึงเรื่องความสำคัญของ การพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อยกระดับความคิดของเขา ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณภาคี ทุกภาคส่วน มา ณ ที่นี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ป้าหนูและทีมงานของสงขลาฟอรั่ม พี่ด้วงและทีมงานสสส.สำนัก 3 ตลอดจนพี่ปูและทีมงานจากจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้เป็นผู้ที่จุดประกายความคิด และเป็นผู้ก่อ เป็นผู้สร้างให้กับน้อง ๆ ทีมงานของเทศบาลตำบลปริกทุกคน ทั้งที่เป็นครู และพนักงานทั่วไปของเทศบาล

­

ถาม  ที่ตำบลของท่านเป็นตำบลสุขภาวะของ สสส. ด้วยไหมคะ

ตอบ  ใช่ครับ มีครับ

­

ถาม  เพราะวิธีการและกระบวนการคิดมีความเป็นองค์รวม และมองเรื่องของการพัฒนาคนเป็นหลัก

ตอบ  Holistic

­

ถาม  Holistic เลยทีเดียว ให้ท่านนายกช่วยบอกถึงต้นทุน มองย้อนกลับไปที่ตำบลของท่าน ต้นทุนที่มีอยู่ทั้งคนหรือว่าสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ ฐานทุนของท่านมีอะไรบ้างเป็นอย่างไร

ตอบ  ถ้าดูจากต้นทุนบอกได้อย่างไม่อายเลยครับว่าทุนทางเศรษฐกิจของเรามีน้อยจริง ๆ พื้นที่ของปริกเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และพี่น้องในชุมชนมีอาชีพทำสวนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการรับราชการนั้นมีอยู่ประมาณ 5 % เท่านั้นเอง และอาชีพที่เกี่ยวกับงานบริการ งานรับจ้างทั่วไป ก็มีบ้าง นิด ๆ หน่อย ๆ ทุนสำคัญของปริกคือทุนทางสังคม ที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องในชุมชน จากเดิมที่เป็นสังคมแบบตั้งรับมากกว่า แต่หลังจากที่ยกระดับเป็นเทศบาลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา เทศบาลก็ได้พยายามเปลี่ยนกระบวนการในการพัฒนา ให้คนที่เคยตั้งรับทั้งหลายกลายมาเป็นคนทำงานแบบเชิงรุกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสมาชิกสภาเทศบาล กรรมการชุมชน กลุ่มกิจกรรมในชุมชน พนักงานเทศบาล คุณครู โรงเรียนเทศบาลปริก คนเหล่านี้คือทุนคนหรือทุนทางสังคมที่เรามี บ้างก็ได้เป็นครูให้กับเด็กนักเรียนที่เป็นนักเรียนพลเมืองของเรา ณ ปัจจุบัน ด้วยเหมือนกัน

จากการยกระดับหรือสร้างพลังที่เป็นทุนทางสังคมที่เราพอมีอยู่ให้เห็นว่า กรรมการชุมชน คนในชุมชน กลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน ผู้นำทางศาสนา และผู้รู้ต่าง ๆ ก็คือผู้ที่จะรับผิดชอบสังคมปริกร่วมกันกับเรา เขาเองก็ได้ทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นพลเมืองปริกด้วยคนหนึ่ง ที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบร่วมต่อกลุ่มและครอบครัวของเขา ยังไม่พอเขายังต้องรับผิดชอบต่อสังคม จากจุดเล็ก ๆ ตรงนี้ทำให้เห็นว่าพลังของทุนทางสังคมที่เรามีอยู่ทั้ง 7 ชุมชน ก็เป็นพลังส่วนหนึ่งที่มาช่วยกันขับเคลื่อนเทศบาลให้สามารถที่จะเดินหน้าไปด้วยกันในหลาย ๆ เรื่องภายใต้การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งของเรา ครับ

นอกจากนั้นเรายังมีทุนที่สำคัญ คือ ทุนทางปัญญา การจัดการความรู้ นับเป็นเรื่องของการสร้างองค์ความรู้ในตัวตนของคนเทศบาล ที่เราเรียกกันติดปากว่าเราใช้ศาสตร์พระราชา ว่าด้วยระเบิดจากข้างใน เราสร้างคนของเทศบาล ให้คนของเทศบาลไม่ว่าจะอยู่สังกัดกองหรือฝ่ายงานใดก็ตาม จะต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ชุมชน ซึ่งจะต่างจากการบริหารงานขององค์กรท้องถิ่นโดยทั่วไป ที่งานพัฒนาชุมชนจะอยู่ที่กองสวัสดิการเพียงกองเดียวเท่านั้น แต่ของเทศบาลปริกเรานั้นเจ้าหน้าที่ของเทศบาลทุกคน ไม่ว่าจะอยู่กองใดก็ตาม จะต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ชุมชนทุกคนรวมทั้งคุณครูด้วย เพื่อที่จะให้เขาเห็นว่าการบริการสาธารณะที่เราทำอยู่นั้น อย่างไรเสียก็ต้องลงไปสัมผัสกับชุมชน กับผู้นำในชุมขน ถ้าหากพนักงานเทศบาลเขาจะใช้ชีวิตอยู่ ณ ที่ตั้งโดยไม่เชื่อมสัมพันธ์กับชุมชนเลยนั้นแน่นอนที่สุด การพัฒนาพื้นที่ของพวกเราก็คงจะไปได้ไม่ไกลและไปได้ด้วยอาการที่ไม่ยั่งยืน เราก็เลยมาสร้างกระบวนการพัฒนาโดยการสร้างคนภายในให้เป็นทีมงาน 3 ก.ที่มีทั้งความแกร่ง ความกล้า และความเก่ง ซึ่งทุกคนจะต้องทำงานร่วมกัน โดยใช้คำว่า 3 พลัง หรือ ไตรพลัง ได้แก่ 1.Coach คือพี่เลี้ยง 2.Tandem คือเพื่อนที่คอยหนุน พี่ที่คอยนำ และ 3.ภูมิบุตรา หรือ ลูกที่ คือพนักงานจ้างที่เป็นคนในพื้นที่ คนทั้ง 3 กลุ่มนี้จะต้องทำงานที่เชื่อมโยงกัน Coach ก็คือผู้อำนวยการกอง เรามีอยู่ 7 - 8 กองในเทศบาลต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับน้อง ๆ และกลุ่มที่ 2 ได้แก่หัวหน้างาน หรือเจ้าหน้าที่ระดับรองลงมาที่เป็น Senior Staff เราถือว่าคนนี้เป็นเพื่อนหนุนก็ได้ เป็นพี่คอยนำก็ได้ เราเรียกกลุ่มนี้ ว่า Tandem ที่คอยเชื่อมโยงระหว่างเชิงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เชื่อมโยงระหว่างผู้อำนวยการกองกับเจ้าหน้าที่ในกองในสังกัด ส่วนกลุ่มที่ 3 ที่เราเรียกว่าภูมิบุตรหรือลูกที่ ก็คือพนักงานจ้างพนักงานจ้างโดยทั่วไปก็เป็นคนในปริก เพราะฉะนั้น คนในปริกที่มาเป็นพนักงานจ้างของเทศบาล จะอยู่ชุมชนไหนก็ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ประจำชุมชนนั้น จะต้องไปเรียนรู้ชุมชนของตัวเอง และต้องส่งผ่านข้อมูลจากชุมชนตัวเองมายังเทศบาล และก็ต้องทำงานแบบย้อนไปย้อนมา คือทำงานให้เห็นว่าชุมชนเข้ากับเทศบาลได้เทศบาลก็ต้องเข้ากับชุมชนได้ โดยอาศัยกลไกของภูมิบุตราที่ว่านี้

คุณครูโรงเรียนเทศบาลปริกของเราส่วนหนึ่งก็จะถูกจัดให้เป็นกำลังหนุนเสริมกันแบบนี้ กำลังที่เราเรียกว่า 3 พลัง นี่แหละครับ จากจุดนี้ได้ทำให้เห็นว่าการพัฒนาของปริกที่เริ่มจากการที่เราไม่ได้มีอะไรเลย สามารถขยับมาเป็นการสร้างทุนทางสังคมให้เกิดขึ้นทั้งในชุมชนและในองค์กรของเทศบาล ก็จะสามารถที่จะทำให้การทำงานของพวกเราเคลื่อนงานกันไปอย่างเป็นระบบได้ และเราก็สร้างความเป็นพลเมืองได้ทั้ง 2 ระดับ คือ พลเมืองในระดับชุมชนกับพลเมืองระดับองค์กร ที่ทำให้เขาเหล่านั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อชุมชนของตนเอง รับผิดชอบต่อองค์กร ตลอดจนการรับผิดชอบต่อสังคม เหล่านี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นทุนทางสังคมและทุนทางปัญญา ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันการทำงานของเทศบาลในแต่ละมิติ ให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีผลงานเชิงประจักษ์ในหลาย ๆ ด้าน ครับ

ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ในทางกายภาพตำบลปริกเป็นลักษณะกึ่งเมืองกึ่งชนบท ไม่ได้เป็นชนบททีเดียว และไม่ได้เป็นเมืองที่เดียว ลักษณะทางกายภาพตรงนี้ทำให้เห็นถึงความความเป็นวิถีแบบบ้าน ที่สอดรับกับวิถีชุมชนที่เขาอยู่แบบพออยู่พอกินได้ ดังนั้นก็ตรงกับโจทย์ที่เรากำหนดไว้ว่า เราจะอยู่กันแบบพอเพียง ตัวของทุนทางกายภาพทุนทางสิ่งแวดล้อม ก็จะเป็นตัวช่วยในการที่ทำให้เห็นว่าเราอยู่แบบบ้านนอกแบบเราแบบนี้ล่ะ แต่ขอให้มีความมั่นคงในเรื่องของอาหาร ขอให้มีความมั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัย ขอให้มีความมั่นคงสุขภาพอนามัย ขอให้มีความมั่นคงที่สำคัญคือ ความมั่นคงทางการศึกษาและการเรียนรู้ ซึ่งเราก็ยังจะต้องพัฒนาอีกเยอะเหมือนกัน ฉะนั้นทุนที่เป็นทุนทางกายภาพ ที่เราเห็นอยู่ตรงจุดนี้ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ การเป็นอยู่ของพี่น้องในชุมชนบนวิถีเกษตร บนวิถีของอาชีพกรีดยาง อาชีพทำสวนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราสามารถขับเคลื่อนร่วมกันในหลาย ๆ กิจกรรมที่ส่งผลต่อเรื่องของการสร้างพลเมืองได้ ครับ

แต่ถึงแม้ว่าทุนทางเศรษฐกิจของเรามีน้อยก็ตาม เพราะว่าส่วนใหญ่จะเป็นเศรษฐกิจระดับครัวเรือน นั้น เราก็พยายามฟื้นฟูเอาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับชุมชน และเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนให้เห็นถึงความพร้อมจะอยู่ในสังคมของเราตามวิถีความพอเพียง พร้อมที่จะกินในสิ่งที่เราปลูก และสิ่งที่เรามีอยู่ สร้างพฤติกรรมการลดรายจ่ายในครัวเรือน แล้วก็ทำมาหากินโดยอาชีพที่สุจริต มีความเอื้ออาทรต่อกัน เท่านี้เราก็คิดว่าเราสามารถสร้างความมั่นคงให้กับสังคมได้ จะเห็นว่าเรามีการส่งเสริมเรื่องของวิถีเศรษฐกิจพอเพียงระดับชุมชน ให้ชาวบ้านได้ทำกิจกรรมที่เป็นการปลูกพืชเพื่อกิน – ขาย แจก เป็นต้น นอกจากนั้นเรายังมีโครงการเรื่องการสร้างสังคมเป็นสุขให้กับผู้สูงวัย วัยเด็ก หรือผู้พิการ หรือผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้เห็นว่าสังคมที่เราเป็นอยู่นี้ จะต้องพยุงเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวิถีชุมชน ให้ไปด้วยกันอย่างลงตัวให้ได้ เป็นสังคมที่เอื้ออาทร สังคมที่พึ่งพากันในหลาย ๆ เรื่อง เพื่อที่จะช่วยกันพยุงสังคมให้อยู่รอดได้ ซึ่งทุนเหล่านี้ที่เด่นชัดที่สุด ก็คือทุนทางสังคมนี่แหละครับ

­

ถาม  ให้ท่านนายกช่วยมองโครงการที่เกิดขึ้นในโรงเรียน คือเครื่องมือหนึ่งที่จะสร้างพลเมืองเด็ก สร้างสำนึกพลเมืองในตัวนักเรียนในตัวคุณครู ท่านนายกมองว่าตัวโครงการนี้ไปทำให้เกิดผลอะไรขึ้น อย่างไร มองจากมุมผู้บริหาร

ตอบ  โครงการพลเมืองเด็กและเยาวชน และโรงเรียนพลเมืองของเทศบาลปริกเราที่ได้ขับเคลื่อนร่วมกับสงขลาฟอรั่มมาเป็นระยะเวลานาน และตอนนี้เราก็ยังทำร่วมกันอยู่ นั้น เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเลยครับว่า อาทิ เช่น เราเห็นเด็กที่เคยขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ชอบการทำงานเป็นกลุ่ม และ มีความเป็นปัจเจก และเห็นแก่ตัว แต่พอได้ผ่านกระบวนการจัดการศึกษาที่ทางครูพลเมืองของโรงเรียนเทศบาลปริก แล้วนั้น เรากลับเห็นเด็กเหล่านั้น กลายเป็นคนที่มีพฤติกรรมตรงกันข้ามกับตอนแรก ๆ ไปเลยครับ เขากลายเป็นคนที่มีเหตุผล มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม มีความกล้าที่จะแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี มีการแบ่งปัน และเอื้ออาทรกัน เป็นต้น

ทั้งนี้ หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการของพลเมืองเด็กกับสงขลาฟอรั่มแล้ว เห็นได้ชัดว่าทั้งครูทั้งเด็กมีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ เรื่อง ประการแรกเรื่องความรับผิดชอบต่อตัวเองและความรับผิดชอบต่อสังคมเห็นชัดเลยว่าเด็กมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากขึ้น ประการที่สองกิจกรรมที่เขาทำถึงแม้ว่าจะเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ เช่น การเลี้ยงไก่ไข่ การปลูกผัก การนำวัสดุเหลือใช้มาทำเฟอร์นิเจอร์ และการย้อมผ้า อย่างน้อยที่สุดได้กระบวนการหนึ่ง ก็คือกระบวนการกลุ่มของเด็ก จากเด็กทำงานเป็นกลุ่มไม่ค่อยเป็น ชอบทำงานเดี่ยว หรือบางทีคนที่ไม่โดดเด่นจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่พอแบบนี้การทำงานเป็นกลุ่มเกิดขึ้นมีการรวมกัน ที่เรียกว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังก็เกิดขึ้น เด็กทุก ๆ คน ได้รับกระบวนการการเรียนรู้การถ่ายทอด และการปฏิบัติเหมือนกัน เด็กมีความรู้สึกร่วม ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนในโรงเรียนอย่างมีความสุขได้ ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากความเป็นปัจเจกไปสู่ความเป็นสาธารณะมากขึ้น เปลี่ยนจากความไม่รับผิดชอบต่อสังคมไปสู่ความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม ซึ่งตรงตามเจตนารมณ์ของเทศบาลที่เราต้องการเห็นการพัฒนาของเทศบาลในทุกมิติ จะต้องสร้างคนให้มีสำนึกต่อความเป็นพลเมือง และให้มีความสำนึกต่อส่วนรวม ที่เราเรียกว่า “พลเมืองตื่นรู้”

­

ถาม  ชอบคำนี้ “พลเมืองตื่นรู้”

ตอบ  Active Citizen

­

ถาม  มีอีก 2 ประเด็นค่ะ ประเด็นแรกขอให้ท่านช่วยวิเคราะห์ว่าตัวของเทศบาลทำบทบาทอะไรบ้างที่สนับสนุนให้เกิดแบบนี้ขึ้น ในโรงเรียนให้เกิด Active citizen ขึ้น ประเด็นที่ 2 ความยั่งยืน

ตอบ  ถ้าดูจากบทบาทของเทศบาลในฐานะผู้กำหนดนโยบายนั้น ตัวของเทศบาลก็จะต้องมีความชัดเจน ทั้งในเรื่องการกำหนดนโยบายแต่ละด้าน และการส่งผ่าน (Channel)นโยบายไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งจะต้องสร้างข้อต่อในแต่ละช่วง ตั้งแต่ผู้บริหารลงไปสู่ผู้ปฏิบัติให้มีความชัดเจนด้วยเช่นกัน นั่นหมายถึงว่าในการทำหน้าที่ของเทศบาล ในการกำหนดนโยบายและนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ต้องพัฒนาตัวกลไกที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการกองลงไปเจ้าหน้าที่ ผู้อำนวยการโรงเรียนหรือคณะครูตลอดจนเด็กให้ไปในทิศทางเดียวกันให้ได้ นั่นหมายถึงว่า นโยบายว่าด้วยเรื่องของการจัดการศึกษาและเรียนรู้ที่มุ่งสู่การสร้างพลเมือง

การส่งผ่านจากแนวคิดไปสู่การปฏิบัติก็ต้องหาตัวเชื่อม เช่น ภาคีจากภายนอกที่จะต้องเข้ามา ในแง่ของการยกระดับทางปัญญาเรามี สงขลาฟอรั่ม เรามีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรามีภาคีภาคประชาสังคมที่เข้ามาช่วย คอยเป็นกลไกในการสร้างความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้อย่างไม่ขาดสาย

เทศบาลเองก็มีอีกวิธีหนึ่งที่เราเรียกว่า เวทีการจัดการความรู้ ในทุกสัปดาห์ เรามีการประชุมกันทุกวันอังคาร ที่เป็นการประชุมหัวหน้ากองและผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ นั้นหมายถึงว่าสัปดาห์ที่แล้วเราทำอะไรไป เขาก็ต้องมาเล่าสู่กันฟัง และสัปดาห์นี้เราจะทำอะไรต่อไปเราก็ต้องมาออกแบบให้เห็น แล้วประมวลเอาสิ่งที่เราวางแผนไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อันไหนที่เราทำได้ อันไหนที่เราทำไม่ได้ อันไหนที่เจอปัญหาอุปสรรค มาแลกเปลี่ยนกันแล้วก็หาทางแก้ไขกัน เริ่มต้นสัปดาห์นี้จะต้องทำอะไรกันใหม่ ทำอะไรที่ต่อจากของเก่าหรือทำอะไรที่คิดขึ้นมาใหม่ในสัปดาห์นี้ จากตรงนี้ก็ทำให้เห็นว่าเมื่อเราสร้างแนวคิดเรื่องการสร้างพลเมืองแล้ว ก็ต้องมาคุยกันว่าเรื่องการที่จะไปพัฒนาครูพัฒนาเด็กพัฒนาอย่างไร จะต่อยอดตรงไหน เพื่อที่จะเห็นการเชื่อมโยงระหว่างแนวคิดกับแนวปฏิบัติ ก็ต้องไปด้วยกัน และมากไปกว่านั้นเรามีเวทีจัดการความรู้ของแต่ละกองแต่ละคนที่ได้ไปเรียนรู้เรื่องอะไรมา ก็ต้องมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อที่จะให้ทุกคนได้เข้าใจได้เรียนรู้ตาม ตั้งข้อสังเกตหรือหาทางออกในการที่พัฒนางานแต่ละงานของตัวเองที่รับผิดชอบอยู่ ใน 2 เวที ถือว่าเป็นเวทีที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการนำความคิดไปสู่การปฏิบัติได้เยอะอยู่พอสมควร

บทบาทสำคัญของเทศบาลที่จะมีผลต่อการสร้างโรงเรียนพลเมือง ประการที่หนึ่งก็ต้องบอกว่า บทบาทในการกำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์การทำงาน รวมทั้งการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ประการที่ 2 ยังต้องมีในเรื่องของการสนับสนุนงบประมาณและการเชื่อมประสานกลไกภายนอก การสนับสนุนงบประมาณของเทศบาลเอง เราก็สามารถที่จะจัดสรรปันส่วนเรื่องของบประมาณในการพัฒนา งบประมาณพัฒนาของแต่ละกอง กองสาธารณสุขเท่าไร ของการศึกษาเท่าไร กองสวัสดิการสังคมเท่าไร เราเกลี่ยดูว่าส่วนของการพัฒนาพลเมืองมีช่องไหนที่เราพอจะสามารถสนับสนุนกันได้ ผมพยายามจัดตั้งงบประมาณ แผนงาน และเทศบัญญัติ ว่าด้วยงบประมาณในแต่ละปี ที่มุ่งไปสู่การสร้างพลเมือง 3 ระดับ พลเมืองเด็ก พลเมืองเยาวชน และพลเมืองผู้ใหญ่ของเทศบาลตำบลปริก ในภาพรวม มีนโยบายมีงบประมาณแล้ว ตัวของกิจกรรมที่จะทำ พยายามออกแบบกิจกรรมที่ตอบโจทย์ การพัฒนาภาวะความเป็นพลเมือง ทั้ง 3 ส่วนนี้ คือบทบาทของเทศบาลต้องสนับสนุน

อีกอันคือการเชื่อมโยง ประสานกับหน่วยงาน ภาคีต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของเทศบาลที่จะต้องสร้างสะพานเชื่อมระหว่างตัวของคนในกับสังคมภายนอกด้วย

­

ถาม  ในประเด็นความยั่งยืน มองความยั่งยืนต่อไปอย่างไรบ้าง

ตอบ  ถ้าดูในเรื่องของความยั่งยืนเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องที่เราเองให้ความสำคัญ จนกระทั่งปัจจุบันเรียกตัวของเทศบาลเอง จากการทำงานกับ สสส. ก็ยกระดับไปสู่ความเป็นมหาวิชชาลัย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่แล้วด้วยส่วนหนึ่ง ดังนั้นเรื่องความยั่งยืนในการสร้างภาวะพลเมือง ถึงแม้ว่าจะเป็นโจทย์ใหญ่และหนัก แต่เราก็พยายามที่จะให้แต่ละกอง รวมทั้งโรงเรียนด้วยจะต้องสร้างมาตรการในการเชื่อมโยง หลังจากที่เราพัฒนาคนไปแล้ว ต่อจากนั้นล่ะเขาจะทำอะไร เขาอยู่ที่ไหน การติดตามการสร้างเรียกว่าการเชื่อมโยงหลังจากที่เขาหลุดไปจากระบบเราแล้ว ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เราพยายามคิดอยู่ว่า เราจะหาวิธีการในการที่จะสร้างพลเมืองที่หลุดออกไปจากวงจรเราอย่างไร ที่ให้มันเกิดความยั่งยืนได้อย่างไร นั้นเป็นโจทย์ใหญ่ที่เรายังยังคิดว่าเราทำได้น้อย แต่ก็จะพยายามที่จะให้เห็นว่าตัวของการติดตามหลังจากนี้ที่จะต้องให้เห็นความเป็นพลเมืองที่ต่อเนื่อง ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ

การที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้แน่นอนที่สุด เช่น Succession ภายในองค์กร นั่นหมายถึงว่าไม่จำเป็นต้องมีผมอยู่ก็ได้ มีเจ้าหน้าที่ มีปลัด มีรองนายก มีเลขานายก มีลูกน้องที่เป็นผู้อำนวยการกอง คนเหล่านี้ก็ได้ซึมซับเรื่องกระบวนการคิด และวิธีการจัดการ ตลอดจนการบริหารและการปฏิบัติในเรื่องของการสร้างพลเมืองอย่างลึกซึ้ง ซึ่งตรงนี้เราก็อาศัยกลไกเวทีการจัดการความรู้ อาศัยการประชุมในแต่ละครั้ง อาศัยการโคชกัน ให้เห็นว่าการที่จะพัฒนาภาวะความเป็นพลเมืองของคนและขององค์กร แน่นอนที่สุดทุกคนจะต้องยกระดับทางความคิดได้ ดังนั้นในส่วนนี้ก็เลยเป็นการฝากไว้กับน้อง ๆ เจ้าหน้าที่ พนักงาน ตลอดจนครู ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีนายกอยู่ ครูก็สามารถทำได้ น้อง ๆ พนักงานก็สามารถทำได้ ซึ่งเราก็ได้ผ่องถ่ายงาน หรือการสร้าง Succession ตรงนี้ไว้พอสมควร และก็หลายครั้งที่ทดลองดูว่า ถ้านายกไม่อยู่แล้วเขาทำได้ไหม เขาก็ทำได้กันอย่างดี เพราะฉะนั้นถ้าองค์กรคนในองค์กรสามารถที่จะรับไม้และก็ส่งไม้ต่อได้ ตรงนี้คือความยั่งยืนในระดับองค์กร

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็อดไม่ได้ว่า แล้วในระดับชุมชน ในระดับสังคมล่ะ ในชุมชนสังคม เราก็มีกลไกที่เราเรียกว่า กรรมการชุมชน และปราชญ์ชาวบ้าน คนที่เข้ามาคลุกคลีกับกิจกรรมการสร้างโรงเรียนพลเมืองคนเหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะมีอยู่ไม่เยอะ แต่ก็สามารถที่จะเป็นเหมือนกับกลไกประสานในระดับชุมชนได้ การสร้าง Succession ไว้ทั้ง 3 ระดับ ในโรงเรียน ในองค์กร และในชุมชน ตัวนี้จะนำไปสู่ความยั่งยืนได้

อีกอันหนึ่งซึ่งบางทีอาจจะเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะเรื่องของสถานะทางการเงิน การคลัง การสนับสนุนด้านงบประมาณของเทศบาล ก็จะต้องมั่นคงด้วยว่าเรื่องการสร้างภาวะพลเมือง เราจะต้องมีกิจกรรม เราจะต้องมีแผนงาน เราจะต้องมีงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่องด้วย

­

ถาม อยากให้ท่านเล่าบทบาทสภาเด็กของที่นี่หน่อยค่ะว่าเชื่อมโยงการทำงานกับของผู้ใหญ่อย่างไร เข้าใจว่าน้อง ๆ ในสภาเด็กก็อยู่ในกระบวนการเรียนรู้ของสงขลาฟอรั่มด้วย ที่ทำเรื่องการจัดการขยะเปียกในชุมชน

ตอบ  สภาเด็กเรามีโครงการร่วมกัน เป็นโครงการสภาเด็กและเยาวชนเป็นโครงการที่สภาเด็กและเยาวชนคิดร่วมกัน เทศบาลตั้งงบประมาณกองสวัสดิการ กองการศึกษา โรงเรียนที่ทำงานในเชิงบูรณาการ เราให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ทำหน้าที่บริหารจัดการเอง มีการประชุมกันเอง มีการออกแบบงานกันเอง ทำกิจกรรมกันเอง แต่มีทางเจ้าหน้าที่ คุณครูในโรงเรียน เป็นพี่เลี้ยง เราเปิดให้เด็กคิด แสดงออกโดยเสรี เพียงมีพี่เลี้ยงคอยประคองให้สามารถที่จะทำกิจกรรมได้อย่างเป็นระบบ อย่างน้อยกิจกรรมที่เขาทำ ไม่ว่าการจัดการขยะ เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมอื่น หรือ เรื่องการพัฒนาศักยภาพต้องมาดูว่า ตรงกับโครงการที่เรามีอยู่ที่สามารถสนับสนุนงบประมาณได้ไหม ถ้าสามารถสนับสนุนได้ก็จัดให้เต็มที่ ซึ่งโครงการพัฒนาสภาเด็กและเยาวชน หรือโรงเรียนพลเมือง เด็กและเยาวชน 3-4 โครงการ ดูแล้วเชื่อมโยงกันหมด ที่ทางเทศบาลเองเป็น Facilitator ส่วนตัวที่เป็น Key payer จริง ๆ ตัวละครจริง นั้นก็คือเด็กและเยาวชน เรามีสงขลาฟอรั่ม โรงเรียน เครือข่าย ที่จะช่วยกันยกระดับกิจกรรมของเด็กให้ดีขึ้น จากที่ผ่านมาได้เห็นจากเดิมที่เขาไม่ค่อยถนัดกิจกรรมเท่าไร เรื่องการนำเสนอ เห็นพัฒนาการดีขึ้น

­

ถาม  กว่าที่จะ Set กลไกภายในองค์กร อย่างนี้ ท่านใช้เวลานานไหมคะ กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างขนาดนี้

ตอบ  นานเหมือนกันถ้าดูจากช่วงเวลา ตอนแรกที่เราจะเคลื่อนเรื่องเด็ก เรามีข้อจำกัด เจ้าหน้าที่มีไม่พอ คนที่รับผิดชอบยังไม่มี ต้องอาศัยกิจกรรมกองสวัสดิการ ส่วนโรงเรียน คุณครูทั้งหลายจะไม่ค่อยมีเวลาพอในการช่วยในงานลักษณะนี้ได้ เราใช้เวลาอยู่ 6 - 7 ปี กว่าจะได้ กว่าจะได้ทีมครู ทีมของกองสวัสดิการ ทีมสำนักปลัดที่มาช่วยกัน สาธารณสุข เชื่อมโยงเรื่องกิจกรรม ทำให้อย่างน้อยความร่วมมือภายในและภายนอก

­

ถาม กว่าจะมาถึงวันนี้ก็ลองผิดลองถูกปรับโครงสร้างกัน มาพอสมควร มีความยากอย่างไรกว่าจะมาถึงตรงนี้ ถ้าพื้นที่อื่นอยากทำเป็นตัวอย่าง มีอะไรที่เป็นเงื่อนไข ที่ต้องคำนึงถึง

ตอบ  ตามที่เราทราบกันดีนะครับว่า การพัฒนาคนนั้นจะเป็นเรื่องยากกว่าเรื่องอื่น ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน เรื่องการพัฒนาคน ระยะเวลาเป็นเรื่องสำคัญเราจะรีบจบไม่ได้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป และต้องดูการจังหวะในการจะเข้าชาร์ตด้วย เพราะบางทีเราทำงานกับเด็ก เราทำงานกับผู้ใหญ่ มานานบางทีก็ไม่ได้จังหวะ ทำไม่ได้ ในช่วงที่เราสามารถทำให้เห็นความง่ายขึ้นมาก็คือ สร้างภาคี เราทำคนเดียวไม่ได้เลย เราทำองค์กรเราองค์กรเดียวที่จะพัฒนากลุ่มเด็ก ไม่ได้ เพราะบางที เรื่องความใกล้ชิด ก็ได้ ที่ทำให้เห็นว่าอย่างไรก็ได้ แต่พอเรามีภาคีภายนอก กลไกตรงนี้ทำให้เห็นว่าความรู้ไม่ย่ำอยู่กับที่ ทำให้เกิดภาวะที่เห็นว่าแปลก ทำให้เกิดการยอมรับ คนภายในและคนภายนอก ก็สามารถที่จะเดินออกมา ดังนั้น ความยากง่าย ในการทำงานเด็กและเยาวชน มีอยู่ด้วยกัน สามส่วน คือ (1) เวลา (2) ทีม หรือ การสร้างขวัญกำลังใจ (3) เนื้อหาหรือความรู้ที่จะนำมาใส่ให้กับเด็ก ถ้าทั้งสามส่วนนี้สามารถไปด้วยกัน แน่นอนที่สุดงบประมาณเราขอจากตรงนั้นตรงนี้มาได้ แต่กลไกการสร้างความเข้มแข็งให้กับเด็กและเยาวชน เราบอกว่าจะพัฒนาเขา เราจะทำอย่างไรให้เขาเข้มแข็ง ตรงนี้การสร้างความเข้มแข็ง เราต้องคิดพอสมควรกว่าจะเข้าไปชาร์ต จนเคลื่อนได้ ที่ทำอยู่ประมาณนี้

­

ถาม  ได้เห็นต้นทุนของพื้นที่และเห็นแนวคิดที่ชัดเจนมากๆ เป็นองค์รวมในการพัฒนาคนของท่าน และเห็นการเชื่อมร้อยภาคีกว่าจะมาเป็นวันนี้ เป็นเส้นทางที่ยืนหยัดมายาวนาน ถ้าการขยับขยายต่อไปที่อื่นที่จะเรียนรู้ พื้นที่ปริกเป็นพื้นที่ต้นแบบที่จะเป็นโรงเรียนทางความคิดแบบนี้ได้เลย

ตอบ  ขอบคุณครับ