เสาวลักษณ์ คีรีเพ็ชร : โครงการศึกษาสถานการณ์ขยะและแนวทางลดปริมาณขยะในโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา

พี่เลี้ยงเด่น นางเสาวลักษณ์ คีรีเพ็ชร (ครูจอย) อายุ 47 ปี

สอนวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 4

โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา ตำแหน่ง: พี่เลี้ยงเยาวชน

โครงการศึกษาสถานการณ์ขยะและแนวทางลดปริมาณขยะในโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา

­

­

ถาม ขอให้แนะนำตัว

ตอบ นางเสาวลักษณ์ คีรีเพ็ชร ชื่อเล่นครูจอย อายุ 47 ปี สอนวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ระดับชั้น ม.3 และ ม.4 โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา อยู่กลุ่มงานกิจการนักเรียน เป็นหัวหน้างานส่งเสริมประชาธิปไตยและคณะกรรมการนักเรียน มีนักเรียนเป็นแกนนำในโครงการศึกษาสถานการณ์ขยะและแนวทางลดปริมาณขยะในโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา จำนวน 5 คน นักเรียนกลุ่มนี้ตอนที่เขาเรียนอยู่ระดับชั้น ม.5 เป็นกรรมการนักเรียน ที่ผ่านมางานกิจกรรมของโรงเรียนคณะกรรมการนักเรียนและครูได้ช่วยกันทำ เช่น จัดงานปีใหม่ งานลอยกระทง งานแห่เทียนพรรษา เด็กกลุ่มนี้พี่เป็นผู้ดูแลตอนที่เขาเป็นกรรมการนักเรียนประมาณ 1 ปี

เมื่อครูเอ็กซ์เข้ามาบรรจุที่โรงเรียน ได้ให้ครูเอ็กซ์เข้ามาช่วยงานกิจการนักเรียนด้วยกัน ประมาณ 1 ปี จากนั้นหัวหน้างานระดับ ม.ปลายย้าย หัวหน้างานกิจการนักเรียนจึงให้ครูไปเป็นหัวหน้าระดับ ม.ปลาย และให้ครูเอ็กซ์รับผิดชอบหัวหน้างานส่งเสริมประชาธิปไตยและคณะกรรมการนักเรียน

พอนักเรียนแกนนำเรียนอยู่ระดับ ม. 6 ครูเอ็กซ์ชวนทำโครงการร่วมกับสงขลาฟอรั่ม ซึ่งก่อนหน้านี้มีครูที่โรงเรียนคนหนึ่งทำโครงการกระดาษชานอ้อยกับทางสงขลาฟอรั่ม ภายหลังครูคนนั้นย้ายและไม่ได้ทำโครงการต่อ ครูกับครูเอ๊กซ์จึงเข้ามาทำงานโครงการกับสงขลาฟอรั่ม

ถาม ตั้งแต่ทำโครงการนี้ ครูมีความประทับใจ ค้นพบบทเรียนรู้อะไรบ้าง

ตอบ ประทับใจที่เด็กได้ค้นพบศักยภาพในตัวเอง เด็กที่เราเลือกมาเป็นแกนนำ ส่วนใหญ่มีความเสียสละและความรับผิดชอบอยู่แล้ว พอมาทำงานกับทีมสงขลาฟอรั่ม เขามีวิทยากรที่ช่วยดึงศักยภาพของเด็กออกมาได้เยอะ และเด็กนำกลับมาใช้ที่โรงเรียน ในขณะที่ครูไม่สามารถทำได้มากขนาดนั้น เวลาที่อยู่ในคาบสอน 50 นาที ครูไม่มีเวลาที่จะใจเย็นกับเด็กขณะนั้น เพราะต้องสอนตามที่กระทรวงกำหนด มีตัวชี้วัดการเรียนการสอน พอเด็กได้ไปทำกิจกรรมกับองค์กรภายนอก จะดึงศักยภาพของเด็กได้มากกว่าการเรียนวิชาการกับเรา ศักยภาพในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเขาฉลาดหรือได้เกรดที่ดี เป็นศักยภาพในการแก้ปัญหา เขาคิดเป็นกระบวนการมากขึ้นกว่าเดิม และสามารถแก้ปัญหาได้

ขณะที่ครูสอนแล้วถามเด็ก เด็กเขาตอบช้าหรือคิดนานกว่าจะตอบ ครูจะตอบแทนเด็กด้วยเวลาที่บีบเราด้วย จึงไม่ใจเย็นพอที่จะรอคอยคำตอบ จึงชอบสิ่งที่คุณน้ำนิ่งทำกับเด็ก เขารอคำตอบจากเด็กได้ และเวลาที่พาเด็กไปอบรมกับทีมสงขลาฟอรั่ม เขาใจเย็นคอยให้เด็กตอบออกมา อย่างที่เคยบอกกับเด็กว่า การเรียนในระดับปริญญาตรีเด็กจะได้ใช้ทักษะตรงนี้ในการทำวิจัย เขาทำได้เพราะเคยทำโครงการวิจัยมาแล้ว

ถาม ครูได้นำกระบวนการของสงขลาฟอรั่มมาปรับใช้อย่างไรในการทำงานกับน้อง ๆ

ตอบ นำมาใช้ทั้งในโครงการและใช้สอนในวิชาเรียน

การสอนในวิชาเรียน ตอนเปิดเทอมเราจะต้องแจ้งเด็กว่าวิชานี้เราจะเรียนเรื่องอะไร กระทรวงบอกมาว่าเด็กจะต้องเรียนรู้เรื่องนี้ เด็กอาจจะไม่ได้อยากรู้ก็ได้ ในตอนนั้นเด็ก ม.3 เขาต้องเรียนเรื่องกฏหมาย พี่ลองเอาวิธีการตั้งคำถามมาปรับใช้ วันที่เปิดเทอมวันแรกพี่ถามเด็กว่า “เด็กอยากรู้กฏหมายอะไรบ้างที่จะได้ใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเอง” บางอย่างที่เด็กอยากรู้ไม่มีในหนังสือของกระทรวงครูต้องไปหาความรู้มาบอกเด็กเอง เราจะให้เด็กเป็นคนกำหนดว่าเขาอยากรู้เรื่องอะไร ปกติที่เราเคยสอนเด็กเราไม่เคยถามเด็กว่าเขาอยากรู้เรื่องอะไร เราสอนตามหลักสูตรบอกมา

ก่อนจัดกิจกรรมเราจะเรียกเด็กเข้ามารวมกัน เราจะถามเขาว่าอยากจะทำอะไรบ้าง เขาจะบอกว่าเขาอยากทำอะไร ไม่ใช่แค่คณะกรรมการนักเรียนเท่านั้น ครูให้เขาถามความต้องการอยากทำกิจกรรมกับตัวแทนแต่ละห้อง เรามีการประชุม 3-4 ครั้ง ก่อนที่ทำแต่ละกิจกรรม พอทำเสร็จจะมาคุยกันว่าในแต่ละกิจกรรมมีปัญหาอะไรบ้าง ในครั้งต่อไปเราจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร

บทบาทของครูคือตัวเชื่อมระหว่างเด็กกับผู้บริหารว่าจะจัดกิจกรรมไปในรูปแบบใด เช่น กิจกรรมลอยกระทงเด็กอยากแต่งชุดไทย อยากประกวดนางนพมาศ อยากประกวดทำกระทง แต่ในวันจริงเด็กไม่ได้ทำ เพราะว่าพอเด็กเสนอแล้ว ครูต้องเอาเรื่องที่เด็กเสนอไปเสนอกับหัวหน้างานซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการ หลังจากที่ไปเสนอหัวหน้าเขาไม่ชอบการประกวดเพราะว่ามันสิ้นเปลือง พอประกวดกระทงหัวหน้ารู้สึกว่าเด็กไม่ได้ทำกันทุกคน อยากให้มีกิจกรรมที่เด็กได้ทำทุกคน เราต้องนำเรื่องที่หัวหน้าพูดกลับมาคุยกับคณะกรรมการนักเรียนอีกครั้ง ผู้ใหญ่ต้องการแบบนี้ เราจะทำอย่างไร จะขัดเขาก็ไม่ได้ ในขณะที่เด็กก็อยากทำ ในบางครั้งครูจะพาเด็กไปพบผู้บริหารให้เขาได้พูดกันเอง บางครั้งก็ได้ผลได้งบประมาณกลับมา

ถาม บทบาทการเป็นพี่เลี้ยงของครูที่สนับสนุนเด็ก ๆ ในโครงการนี้เป็นอย่างไร

ตอบ งานในโครงการลดขยะถือว่าไม่ใช่งานในหน้าที่ งานของเราคืองานรับผิดชอบการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในโรงเรียน ไม่เกี่ยวข้องกับการลดปริมาณขยะในโรงเรียน พอเรามาทำเรื่องการลดปริมาณขยะ งานของโรงเรียน เช่น งานลอยกระทง ไหว้ครูมีการประกวดพานไหว้ครู เมื่อก่อนเราให้รางวัลเป็นขนมปังปี๊บ หรือ เงิน ช่วงหลังเราเปลี่ยนแปลงหันมาใส่ใจเรื่องการลดขยะ ของขวัญที่ให้เด็กจึงเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยลดปริมาณขยะแทน เช่น ถุงผ้า กล่องอาหาร กระบอกน้ำ ขวดน้ำ เราคุยกับนักเรียนหัวหน้าชั้น การทำพานไหว้ครูหรือทำกระทงไม่ให้ใช้วัสดุที่ย่อยสลายไม่ได้เช่น โฟม เพื่อลดขยะที่จะเกิดขึ้นในโรงเรียน ให้เลือกใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้แทน เราเอาแนวทางของการลดปริมาณขยะไปอยู่ในทุกกิจกรรมของโรงเรียน มีครูในโรงเรียนที่ทำโครงการอื่น จัดประกวดโครงงานคุณธรรมของห้องเรียน พอเขาเห็นเราทำโครงการเมื่อเทอมที่แล้ว จากเดิมเขาให้รางวัลเป็นขนมปัง ก็เปลี่ยนของรางวัลเป็นขวดน้ำแทน เป็นการเปลี่ยนนโยบายเล็ก ๆ ในโรงเรียนที่ชัดเจน เพราะคุณครูเป็นผู้ดูแลในงานส่วนนี้อยู่

ถาม หัวใจสำคัญในการทำงานกับเยาวชนแกนนำคืออะไรบ้าง

ตอบ เด็กแกนนำเป็นคณะกรรมการนักเรียนอยู่แล้ว หัวใจสำคัญ คือ ความจริงใจ ตอนทำงานกิจการนักเรียนเด็กจะไม่ค่อยตรงต่อเวลา ต้องฝึกให้เด็กตรงต่อเวลา บอกกับเด็กว่าครูให้ความสำคัญกับการตรงต่อเวลาและระเบียบวินัย เวลาทำงานเสร็จต้องมีรางวัลปลอบใจ หรือทำอาหารกินร่วมกัน เสริมแรงให้กับเขาด้วย ขณะเดียวกันเวลาทำงาน ถ้ามีปัญหากันเราจะคุยกัน ก่อนการทำกิจกรรมเรามีการประชุม ให้เด็กนำเสนอว่าจะทำอะไร เมื่อทำเสร็จจะคุยถึงปัญหาระหว่างที่ทำว่ามีอะไรบ้าง ส่วนใหญ่จะพูดคุยกัน ถ้าใครมาทำงานสายจะต้องดุบ้าง

ถาม ครูใช้เทคนิค เครื่องมืออะไรที่ชวนเด็ก ๆ เรียนรู้

ตอบ ส่วนใหญ่ครูจะเน้นเรื่องการพูดคุยกัน ปรึกษาหารือกัน ส่วนเครื่องมือที่เข้าไปเก็บข้อมูลพวกเขาจะเป็นคนคิดกันเองและเขาจะนำมาปรึกษาเราว่าจะปรับแก้ตรงไหน มีคุณน้ำนิ่งช่วยดูด้วย

ถาม วิธีการโคชเยาวชนของโหนดจากการสังเกตของครูมีอะไรบ้าง

ตอบ เขามีวิธีการพูดคุยโน้มน้าวและสร้างแรงบันดาลใจ ทักษะการคิดเป็นกระบวนการเป็นขั้นตอน ตอนแรกเด็กจะทำโครงการรีไซเคิลขยะ พอมาเข้ากระบวนการกับน้ำนิ่งและป้าหนู เขาเสนอว่าการรีไซเคิลขยะเป็นการสร้างขยะ ให้เราเปลี่ยนมาทำโครงการลดขยะดีกว่า ทีมสงขลาฟอรั่มช่วยให้เราคิดทำสิ่งใหม่ เรื่องรีไซเคิลเป็นเรื่องเก่าที่ทำกันมานานแล้ว ส่วนการลดขยะเป็นสิ่งใหม่ในโรงเรียน ยังไม่มีใครทำ

ถามฟังจากการสัมภาษณ์โครงการครูบอกว่าทางกระทรวงศึกษาธิการอยากให้โรงเรียนทำธนาคารขยะ แต่ทางคุณครูและโครงการมีจุดยืนชัดเจนว่าเราไม่ทำรีไซเคิลขยะ

ตอบตอนนั้นมีนโยบายธนาคารขยะ ถ้าโครงการธนาคารขยะเข้ามาในโรงเรียนเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายสิ่งแวดล้อม จากการดูงานธนาคารขยะที่โรงเรียนอื่นมาแล้ว เราคุยกันว่าไม่อยากทำเรื่องธนาคารขยะ จึงปรึกษาป้าหนูว่าทางกระทรวงอยากให้ทำธนาคารขยะและเป็นนโยบายด้วยจะทำอย่างไร ป้าหนูแนะนำให้ยืนยันว่าเราทำเรื่องการลดขยะ สิ่งที่เราทำคือการลดขยะไม่เพิ่มขยะในโรงเรียน คนละแนวทางกับการทำธนาคารขยะที่ให้เด็กนำขยะจากบ้านมาแลกไข่

ถาม เด็ก ๆ ในทีมปรึกษาคุณครูเรื่องอะไรบ้าง

ตอบ เขาปรึกษาว่าเขาจะจัดกิจกรรมกับกลุ่มแกนนำว่าจะจัดวันไหน นำแบบฟอร์มที่เขาออกแบบมาให้ดูว่าเป็นแบบไหนใช้ได้ไหมต้องแก้ไขตรงไหนบ้าง

ถามสองบทบาทหลัก โดยบทบาทของคุณครูกุมนโยบายเล็ก ๆ ในการจัดงาน คุณครูนำนโยบายลดขยะไปใช้ได้เลย สองเป็นที่ปรึกษาวิชาการให้กับเด็ก ๆ ด้านจิตใจสร้างกำลังใจเป็นอย่างไรบ้าง

ตอบทำโครงการนี้มีแกนนำนักเรียนจำนวน 10 คน ช่วงเก็บข้อมูลต้องเช็คว่านักเรียนแต่ละคนทำให้เกิดขยะจำนวนเท่าไรในแต่ละวัน เขากังวลเพราะน้องในโครงการไม่นำข้อมูลมาส่ง ครูบอกเขาว่า “ไม่เป็นไร ถ้าน้องไม่เอามาส่งเรา ไม่ต้องบังคับเขาเอาเฉพาะคนที่ทำก็ได้” การที่เราทำงานกับคนหมู่มาก ทำเรื่องแบบนี้มีความจุกจิก เพราะเขาต้องเช็คต้องจดลงไปว่าในแต่วันใช้อะไรไปเท่าไร ถุงพลาสติกกี่ถุง ขวดน้ำกี่ขวด ให้เขาเลือกแกนนำที่สมัครใจ ไม่เกณฑ์มา

ถามคุณครูมีการติดตามงานอย่างไรระหว่างทางการทำโครงการ

ตอบการติดตามงานแต่ละครั้ง คุยกับเขา ครูจะเจอเด็กกลุ่มนี้ทุกเช้า ครูดูแลความเรียบร้อยของนักเรียนชั้น ม.ปลาย จะเจอเขาในแถว หลังเลิกแถวจะคุยกับเขาถามว่ามีคาบว่างช่วงไหนบ้างในวันนี้ ให้พวกเขาหาช่วงเวลามาเจอกัน ถ้าไม่มีเวลาจะใช้เวลาช่วงเที่ยง 10 -20 นาที หรือใช้ตอนเย็นหลังเลิกเรียน ในช่วงที่ทำรายงานจะทำกันจนค่ำมืด โนราห์กับมุกและน้องใหม่อีกคนเรียนสายวิทย์ ซึ่งเรียนเต็มทั้ง 5 วัน ไม่มีคาบว่าง โนราห์กับมุดจึงใช้เวลาช่วงเย็นในการทำงาน เพราะบ้านของโนราห์อยู่ใกล้โรงเรียน ส่วนมุกใช้มอร์เตอร์ไซด์เดินทางมาโรงเรียน

ครูใช้วิธีการพูดคุยและถามไถ่ เราสร้างกลุ่มใน Messenger ส่งข้อความถามไถ่กัน เวลาเจอตัวก็ถามว่าตอนนี้ทำงานไปถึงไหนแล้ว มีปัญหาอะไรบ้าง เสียดายกิจกรรมช่วงปิดเทอมซึ่งเราทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลประกาศให้ปิดโรงเรียนป้องกันการติดโรคระบาดโควิด-19

บทบาทของครูส่วนใหญ่ก็คือ ครูจะมีหน้าที่คุมนโยบายเล็กในการจัดงานโรงเรียน ครูจึงนำเรื่องการลดปริมาณขยะเข้ามาใช้ในการจัดกิจกรรม ครูเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการและคอยให้กำลังใจให้กับเด็ก ๆ

ถาม ทำงานโครงการลดขยะต้องทำงานกับแม่ค้า ครูมีใช้กลยุทธ์อะไรทำงานกับแม่ค้าในโรงเรียน

ตอบ วิธีการทำงานกับแม่ค้าในโรงเรียนจะต้องผ่านหัวหน้าเขาก่อน เพราะว่าที่โรงเรียนจะมีครูโภชนาการที่จะดูแลแม่ค้าของโรงเรียน ถ้าเราเข้าไปคุยกับแม่ค้าเองเราจะไม่มีศักยภาพพอ เราต้องเข้าไปคุยกับครูที่เป็นหัวหน้างาน ตอนที่เราไปติดต่อพี่เขาก็บอกว่าค่อนข้างยาก เพราะถ้าเขาไปคุยให้แม่ค้าไม่น่าจะยอมและอาจจะต่อว่ากลับมาได้ เพราะแม่ค้าเป็นคนเก่าแก่ของโรงเรียนญาติของแม่ค้าเคยมีบุญคุณกับโรงเรียน ครูเอาเรื่องนี้มาปรึกษาแกนนำว่าจะทำอย่างไรดี เราเลือกใช้วิธีปฏิเสธด้วยตัวของเราเอง เช่น เวลาที่ซื้อลูกชิ้น กล้วยทอด แม่ค้าเขาจะใส่ถุงพลาสติกมาให้เราเปลี่ยนเป็นเอากล่องไปใส่แทนไม่รับถุงจากแม่ค้า ซื้อน้ำเราไม่รับแก้วของเขานำแก้วของเราไปใส่ เราไม่สื่อสารกับแม่ค้าแต่เราเปลี่ยนพฤติกรรมของเรากับเด็ก

ถาม ปัญหาอุปสรรคในการทำงานมีเรื่องอะไรบ้าง

ตอบ เรื่องเวลาเพราะเด็กที่มาทำงานกับเราส่วนใหญ่เป็นเด็กสายวิทย์และไม่มีคาบว่าง ส่วนเด็ก ม.5 ที่ชวนมาทำเขาเป็นเด็กสายศิลป์-ภาษา ก็เป็นเด็กที่ไม่มีคาบว่าง เราจัดการปัญหาโดยการหาช่วงเวลาว่าง ช่วงพักเที่ยง เด็ก ๆ เขาพักเที่ยงตอน 11:50-12:30 น. เราขอเวลาเขา 10- 20 นาที หรือไม่ก็ตอนหลังเลิกเรียน ในวันอังคารมีชั่วโมงพบครูที่ปรึกษาเราก็ขอเวลาเด็กช่วงนั้นให้เขามาคุยกัน เด็กกลุ่มนี้เขาค่อนข้างรับผิดชอบต่อการเรียนของตัวเองอยู่แล้วและเรียนหนังสือเก่ง ความประพฤติไม่มีปัญหาจึงไม่จำเป็นต้องไปพบหัวหน้าระดับ

ถาม ความโดดเด่นในการเป็นพี่เลี้ยงของคุณครูคืออะไร

ตอบ ตัวครูเองเป็นคนชอบที่เรียนรู้สิ่งใหม่ การที่ได้ทำงานกับสงขลาฟอรั่ม เราได้เรียนรู้ทักษะใหม่เพื่อเอามาพัฒนาวิชาชีพของตัวเอง เรื่องการพูดคุยกับเด็กส่วนใหญ่ให้ครูเอ็กซ์ซึ่งเป็นนักสันทนาการทำ ส่วนครูทำเรื่องจดบันทึก ช่วยจัดเก็บเอกสาร ช่วยดูแลความเรียบร้อยเรื่องเอกสารของนักเรียน พี่เป็นแม่บ้านให้กับเด็ก ๆ และทีม คอยเก็บรายละเอียด บางทีเด็กทำกิจกรรมเขาเอาเอกสารไปใช้และไม่ได้เก็บ เราก็ต้องไปตามเก็บให้เขา เราไปอบรมกับสงขลาฟอรั่ม อาจจะมองว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องสอน ในความคิดของครูเขาสอนทักษะกระบวนการให้เราหลายอย่าง เขาจะอบรมเฉพาะครู 2 ครั้ง เราสามารถเอาวิธีการมาในวิชาชีพของเรา เอามาสอนเด็กได้

ถาม สิ่งที่ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นของตัวเองจากกระบวนการอบรมของสงขลาฟอรั่มมีอะไรบ้าง

ตอบ ทักษะในการคิด สังเคราะห์ วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ตอนนี้เราทำงานเข้าใจในตัวเด็กมากขึ้น รู้สึกว่าตัวเองเย็นคอยฟังคำตอบจากเด็กมากขึ้น เมื่อก่อนถามเด็กถ้าเด็กไม่ตอบเราตอบเอง เราใจร้อน เราไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กได้พูด เมื่อเราได้ฝึกตรงนี้ เรารู้สึกว่าเราคอยรอฟังคำตอบจากเด็ก ตอนนี้ในความคิดของพี่เราต้องฟังเด็ก ฟังเด็กนักเรียนให้มากกว่าที่เราจะพูดให้เขาฟัง พอเราฟังมากขึ้นเราจะรู้ว่าเด็กเขามีความคิดที่เราคาดไม่ถึง เด็กบางคนที่ไม่เรียนขาดเรียนบ่อย สมัยก่อนเด็กกลุ่มนี้เราถามเขาว่า “ทำไมถึงไม่มาเรียน” เราพูดต่อไปคนเดียว พูดเสร็จแล้วเราก็บอกให้เขากลับไปนั่งที่ โดยที่เราไม่ฟังเปิดโอกาสให้เขาพูดกับเราเลยว่าสาเหตุที่เขา ไม่มาโรงเรียนเขาไปไหน เขาเป็นเพราะอะไร พอเราฟังเด็กมากขึ้น ทำให้เรารู้ว่าแต่ละคนมีเหตุผลที่จำเป็นของเขา ที่เขาไม่สามารถทำให้ครูได้ ทำงานทำการบ้านไม่เสร็จเขามีสาเหตุของเขา เพราะเมื่อก่อนเราคิดว่าเด็กที่ไม่ทำการบ้านคือเด็กขี้เกียจ แต่มีอะไรมากกว่านั้นสำหรับเด็กบางคน

โดยปกติเวลาที่เราอยู่ในโรงเรียน เราไม่ได้เป็นหัวหน้าหมวดหรือหัวหน้างานที่มีความโดดเด่น การอบรมเพิ่มทักษะเราจะไม่มีโอกาสไป พอเรามาทำงานกับสงขลาฟอรั่ม เรามีโอกาสที่ออกไปหาความรู้นอกโรงเรียน ได้เปิดโลกทัศน์ของเรา การเข้าอบรมทำให้เราได้รู้จักคนอื่นมากขึ้นมากกว่าครูในโรงเรียน เราได้พบอาจารย์มหาวิทยาลัยทักษิณ อาจารย์ มอ. อาจารย์ราชภัฏ เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคม คุณครูโรงเรียนเทศบาลปริก ทำให้รู้สึกว่าเรามีเพื่อนเพิ่มมากขึ้น เราได้ฟังความคิดของคนอื่น เห็นศักยภาพของคนอื่นและตัวเอง

ตอนที่เราอยู่โรงเรียนเราเป็นเหมือนครูธรรมดาคนหนึ่งที่อยู่กับนักเรียน ไม่ได้มีบทบาทอะไรในโรงเรียน แต่พอมาที่นี่ เราได้แสดงความคิดเห็นของเราที่ไม่เคยกล้าแสดงในโรงเรียน เพราะความคิดบางอย่างเราไม่สามารถพูดในโรงเรียนได้ ตอนที่เข้าร่วมอบรมเราสามารถพูดถึงอุปสรรคที่ปิดกั้นการการเรียนรู้ของเด็ก ครูมีอิสระในการแสดงออกทางความคิดเห็น จากเมื่อก่อนที่รู้สึกว่าเรามีอะไรในหัวตลอดเวลา พอเราได้แสดงออกรู้สึกโล่ง ในโรงเรียนบางเรื่องเราพูดไม่ได้ จะมีผลกับเราหลายอย่าง ในวงสงขลาฟอรั่มไม่มีผลกับเรา กลับมาที่โรงเรียนก็นำเทคนิควิธีการมาใช้กับนักเรียนทั้งในโครงการและวิชาเรียน

ถาม อยากพัฒนาตัวเองในเรื่องอะไร

ตอบ พัฒนาเรื่องทักษะการคิด เพราะพี่คิดว่าความคิดของพี่ยังไม่ค่อยดีพอควรมีการพัฒนามากกว่านี้ พวกทักษะเรื่องเทคโนโลยีเราสามารถเปิดใน YouTube ดูเรียนรู้ได้ แต่ทักษะการคิดที่เป็นกระบวนการเป็นขั้นตอน เราต้องอาศัยการฝึกฝน

อยากฝึกเรื่องทักษะการเขียนเพิ่มเติม เราอยู่โรงเรียน เราต้องทำรายงานทักษะการเขียนเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องทำให้ผู้บริหารเห็นว่างานที่เราทำไปถึงขั้นตอนไหน ถ้าไม่มีการรายงานเป็นรายลักษณ์อักษร ทำให้ผู้ใหญ่คิดว่าไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ความจริงคือทำ

ทักษะการพูดก็สำคัญพูดอย่างไรให้เข้าใจ พูดอย่างไรไม่ให้เขาโกรธ พูดอย่างไรให้เขาสนับสนุนงบประมาณ

ถาม ข้อพึงปฏิบัติที่สำคัญสำหรับการเป็นพี่เลี้ยงโครงการนักเรียนมีอะไรบ้าง

ตอบ อันดับแรกต้องมีความอยากที่จะทำ ก่อนมาเป็นครูพี่เป็นนักวิชาการการศึกษามาก่อน เคยทำงานกับชาวบ้านในท้องถิ่นและพี่มีความรู้สึกว่าสนุกมากกว่าการทำงานในสำนักงาน มีความเสียสละตอนที่เราทำงานกับสงขลาฟอรั่มต้องเข้าร่วมอบรมในวันเสาร์และวันอาทิตย์ สัปดาห์นั้นพี่ไม่กลับบ้านที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะพี่อยากได้องค์ความรู้ใหม่ ๆ คนเราต้องอย่าหยุดที่จะเรียนรู้ ต้องพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ เรื่องอะไรที่พี่อยากรู้พี่ต้องรู้ให้ได้ พี่จะไปหาความรู้ใน Google หรือถามผู้รู้ การเป็นครูสมัยไม่เหมือนครูที่สอนเราเมื่อก่อน ต้องใช้ทักษะหลายอย่างมากในการสอนเด็ก เด็กสมัยนี้ไม่เหมือนเด็กสมัยก่อนต้องใช้ทักษะบางตัว ที่เราต้องเข้ารับการฝึกอบรมแบบนี้ด้วย