เหตุผลหนึ่งที่เป็นปัจจัยต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมนั่นคือ “พลังจากเยาวชน” ดังนั้นรากฐานสำคัญในการสร้างความตระหนักด้านสำนึกพลเมืองแก่เยาวชน จึงถือเป็นเรื่องท้าทายของผู้ใหญ่ที่จะขับเคลื่อนและปลูกฝังแนวคิดให้แก่เยาวชน โดยการเปิดเวทีให้เยาวชนได้แสดงออกถึงพลังที่ผ่านกระบวนการที่คิดเอง ทำเองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนอันจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านเพื่อยกระดับสังคมและชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น ดังนั้นในปี 2559 นี้สงขลาฟอรั่มจึงเปิดพื้นที่การเรียนรู้เพื่อปลุกความคิดของเยาวชนรุ่นใหม่ในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ตรัง นครศรีธรรมราช ให้ลุกขึ้น "กล้า...เป็นพลเมือง" โดยใช้ภูมิปัญญาในการคิด และลงมือทำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองท่ามกลางบนโลกยุคใหม่
นางพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม กล่าวว่า “…ที่ผ่านมาเยาวชนไทยได้แสดงความกล้ามาแล้วหลายเรื่อง เช่น จะกล้าที่แต่งตัว กล้าที่จะโพสท่าบางอย่างที่ไม่เหมาะสมบนสื่อออนไลน์ กล้าที่จะทำตัวเลียนแบบวัฒนธรรมต่างชาติ บ้างก็เหมือนเด็กฝรั่ง เกาหลี ญี่ปุ่น หรือกล้าที่จะทำอะไรหลายอย่างซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ไม่ได้สร้างคุณลักษณะที่แสดงให้เป็นพลังของแผ่นดิน ดั้งนั้นเยาวชนยุคใหม่ควรต้องลุกขึ้นมาแสดงความ “กล้าที่จะเป็นพลเมือง” ด้วยความมั่นใจ อยากจะทำอะไรเพื่อส่วนรวมด้วยความคิดของตัวเองโดยไม่ต้องมีใครมาบอก หรือกล้าที่จะก้มลงเก็บขยะโดยที่ไม่ต้องเขินอาย อีกเหตุผลประการหนึ่งคือสังคมไทยยังมีทัศนคติหรือค่านิยมมองว่าเยาวชนเหล่านี้ยังไม่มีศักยภาพมากพอที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมได้ ดังนั้น คำว่า “กล้าที่จะเป็นพลเมือง” มันจะช่วยสลายความคิดนี้ได้ และจะถูกเชื่อมโยงไปได้หลายๆเรื่องหากเราช่วยกันสร้างให้เป็นค่านิยมให้เกิดขึ้นในครอบครัว โรงเรียน และในตัวเด็ก เพราะฉะนั้นคนที่ทำงานกับเด็กต้องมีความมั่นใจในเรื่องนี้ด้วยแล้วประเทศไทยจะเกิดปรากฎการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมาก ดังนั้นเราในฐานะผู้ใหญ่ก็ต้องกล้าที่จะเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เข้ามาทำสิ่งที่ดีให้บ้านเมืองด้วยเช่นกัน…”
โดยปีนี้เป็นปีที่ 4 ของโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นของการทำงานกับเยาวชนที่มุ่งมั่นผ่านกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในโครงการต่างๆ ภายใต้การวางเป้าหมายอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น
"สิ่งที่น่าภูมิใจจาก 3 ปีที่ผ่านมา คือ กลุ่มเยาวชนของเราได้รับรางวัลที่น่าชื่นชมจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในเรื่องความโดดเด่นของสิทธิชุมชนที่เราปลูกฝังให้กับเด็ก และเรื่องของสิทธิมนุษยชน จากการทำงานร่วมกันระหว่างสงขลาฟอรั่มกับเยาวชนต่างๆ 72 กลุ่มในพื้นที่จังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราช…แต่รางวัลที่ได้นั้นไม่สำคัญกว่าสิ่งที่เยาวชนทั้ง 72 กลุ่มทำ เด็กยุคใหม่ต้องสร้างความเป็นพลเมืองจากฐานงานที่ตัวเองคิด เพราะโครงการนี้เชื่อมั่นว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และคำว่าสำนึกพลเมืองไม่ได้เป็นเรื่องยาก แต่เป็นสิ่งที่เติบโตจากภายใน ซึ่งสามารถสัมผัสได้ด้วยหัวใจและการกระทำที่มุ่งมั่นและจริงจัง" นางพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม กล่าว
ก้าวแรก...ของความกล้า
การเริ่มต้นกลุ่มใหม่ในปีนี้ มีความหลากหลาย บางกลุ่มมาจากปีแรก บางกลุ่มก็เข้ามาใหม่ในปีที่สอง ซึ่งความเข้มข้นดีกรีจะไม่เท่ากัน ยังไงก็ตามจุดเริ่มต้นของการทำโครงการนั้นต้องเริ่มจากที่น้องๆอยากทำเพื่อชุมชนของเขาก่อน เพราะแท้ที่จริงแล้วสำนึกพลเมืองมันต้องเริ่มต้นจากการสำนึกมาตุภูมิ สำนึกรักบ้านเกิดตัวเองก่อน มองเห็นรากที่ตัวเองเกิดหรือทำอะไรเพื่อถิ่นที่อยู่อาศัย เพราะฉะนั้นกลุ่มที่มาในปีนี้เราจึงคิดว่ากระบวนการที่เราปลูกฝังหรือเสริมเขาต้องเน้นให้เขามองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ให้ชัดเจน
สำหรับ โครงการเยาวชนพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ในปีนี้มีทั้งหมด 25 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการสืบสานการเล่นกลองยาว 2.โครงการเยาวชนมะนังรู้หลักรู้หลีกภัยยาเสพติด 3.โครงการศาสนานำพาชีวิต 4.โครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน 5.โครงการเย็บใยร้อยใจด้วยรัก 6.โครงการงานหนัง สานฝันเพื่อเยาวชน 7.โครงการเปลี่ยนขยะเป็นบุญ 8.โครงการสื่อเล็กๆของเด็กสงขลา 9.โครงการผลิตน้ำบูดู 10.โครงการเปลี่ยนชานอ้อยให้เป็นกระดาษ 11.โครงการไรน้ำนางฟ้า 12.โครงการดำรงชีวิตได้ผลผลิตจากโซลาร์เซลล์ 13.โครงการผักกับเด็กและเยาวชน 14.โครงการปลูกเองกินเองไร้สารตกค้าง 15. โครงการเกลือหวานตานี 16.โครงการย้อนรอยยามู 17.โครงการศึกษาระบบนิเวศป่าสนเมืองสงขลา 18.โครงการ Low Long Beach ศึกษากฎหมายเพื่อคุ้มครองหาดทรายอย่างยั่งยืนปีที่ 2 19. ครู Delivery 20. โครงการพี่สอนน้องให้อ่านเขียน 21.โครงการครูเพื่อศิษย์ 22.โครงการ เรียนรู้ร่วมกัน สร้างพื้นที่สร้างสรรค์ชุมชนกะลูแป 23.โครงการ ป้องกันอัคคีภัยและภัยทางน้ำ 24.โครงการ รวมพลฅนรักษ์โขนและ 25.โครงการ อาสากุนุงจนอง ใส่ใจธรรมชาติ
การสอนให้เยาวชนเรียนรู้ถึงรากเหง้าของชุมชน ถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่จะนำไปสู่การวางแผนการทำงานจากโจทย์ชุมชน ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ในแต่ละมิติถ่ายทอดภูมิปัญญาจากผู้ใหญ่สู่เยาวชน ซึ่งทุกโครงการของเยาวชนทั้ง 25 โครงการมีความเชื่อมโยงกันในแต่ละด้านที่จะนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง ทั้งในด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์บ้านเมืองของสงขลา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดของความเป็นพลเมืองไม่ใช่แค่ให้เยาวชนมีพื้นที่แสดงออก หรือเป็นแค่การเปิดโอกาสให้ทำกิจกรรมเท่านั้น แต่หัวใจของความเป็นพลเมืองที่สำคัญที่สุด นั่นคือการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงภายใต้การหนุนเสริมทักษะชีวิตอย่างสอดคล้องกับบทบาทและหน้าที่ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกพลเมืองให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่