"อ้อย" ชี้กระบวนการค่าย 21 วัน "ฝึกฝน" เยาวชนเปลี่ยนแปลงนิสัยตนเอง

­

“ค่ายพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์ชุมชนท้องถิ่น 21 วัน ครั้งที่ 1" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-21 ตุลาคม 2562 ณ หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้าห้วยสามสบ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการดำเนินโครงการวิจัย 5 อปท และร่วมมือกับสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ คณะกรรมการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ 25 อปท.จังหวัดสุรินทร์ นายอำเภอจอมพระและนายอำเภอสนม เป็นอีกหนึ่ง “เครื่องมือ”เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนทั้งในและนอกระบบ โดยมีหัวเรือคือ “อ้อย - วราภรณ์ หลวงมณี” ผู้อำนวยการสถาบันยุวโพธิชนมูลนิธิสัมมาชีพ เป็นผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ค่าย 21 วัน วันนี้ได้มาพูดคุยถึงที่ไปที่มาและแนวคิดการออกแบบค่ายกับนักออกแบบกระบวนการเรียนรู้มืออาชีพกัน

“อ้อย” ได้เริ่มเล่าถึงที่มาของค่าย 21 วัน ให้ฟังว่า “โครงการพัฒนาศักยภาพและเครือข่ายเยาวชนท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์ ค่าย 21 วัน เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ คณะกรรมการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ 25 อปท.จังหวัดสุรินทร์ และเครือข่ายนักถักทอชุมชน ซึ่งจากการทำงานมานับสิบปีกับพื้นที่จังหวัดสุรินทร์

เรามีประสบการณ์กันพอสมควรกับการทำงานทั้งกับเด็กและเยาวชนโดยตรง กับผู้ปกครอง กับชุมชน และกับองค์กรส่วนท้องถิ่นที่จะช่วยกันดูแลเด็กและเยาวชน แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำมาแล้วเราเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำต่อ และต้องทำให้ต่อเนื่องด้วย ก็คืองานพัฒนาเด็กและเยาวชนนอกระบบ ซึ่งเป็นงานที่ไม่ง่ายแต่เรามีประสบการณ์การทำกับเด็กและเยาวชนนอกระบบมาบ้างแล้ว เราเห็นว่าถ้าเราเข้าถึงศักยภาพที่แท้จริงของพวกเขา พวกเขาเป็นพลังสำคัญของการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นถ้าชุมชนท้องถิ่นจะอยู่รอดได้ คิดว่าสิ่งสำคัญก็คือว่าเด็กเยาวชนที่หลุดออกมาจากระบบพวกนี้เป็นกำลังสำคัญแต่พวกเขาจะลุกขึ้นมาทำได้โดยลำพังเป็นเรื่องที่ยากมาก และจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครอบครัว หรือชุมชนเพียงลำพัง ก็ไม่ง่ายเหมือนกัน เพราะว่าสถานการณ์ครอบครัว ณ ปัจจุบัน ก็ไม่ได้เอื้อที่จะโอบอุ้มดูแลเยาวชนเหล่านี้ ให้พวกเขาลุกขึ้นมามีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนแปลงสังคมได้ เพราะฉะนั้นการที่องค์กรส่วนท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นทั้งในระดับ อบจ. หรือระดับ อบต.เองที่เห็นความสำคัญ และองค์กรที่เป็นเครือข่ายสนับสนุนที่มีงบประมาณ มีทุน มีองค์ความรู้ อย่างเช่น มูลนิธิสยามกัมมาจล หรือ กศส.เอง เข้ามาจับมือกับชุมชนท้องถิ่นแบบนี้จึงเป็นโอกาสที่ดี ที่สำคัญ ที่จะทำให้งานเด็ก งานพัฒนาเด็กและเยาวชนนอกระบบเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยค่าย 21 วันในครั้งนี้ ซึ่งจากประสบการณ์ที่เราเคยทำมากับค่าย 21 วัน กับเด็กเยาวชนนอกระบบ ทำให้เราเห็นว่าพวกเขา ถ้าได้รับกระบวนการเรียนรู้ที่ดีและเหมาะสมกับพวกเขาเอง พวกเขาก็สามารถที่จะเกิดการมีแรงบันดาลใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการกลับเข้ามาค้นหาคุณค่า ความดีงามในตนเอง และค้นหาอาชีพที่มันเหมาะสม ที่จะทำให้เขาเลี้ยงดูครอบครัวได้ และอยู่รอดในชุมชนสังคมได้ เราก็ใช้ประสบการณ์ชุดนี้ในการที่มาออกแบบกับค่าย 21 วันในครั้งนี้

สำหรับเยาวชนนอกระบบในความหมายที่ตนเองได้สนใจ และให้ค่าก็คือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกมาจากระบบการศึกษาตามปกติ เพื่อที่จะมาแสวงหาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเขาเอง ซึ่งบางทีเขาก็ยังไม่รู้หรอก ว่าการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวของเขาคืออะไรเพียงแต่ว่าเขาพบว่าการอยู่ในระบบมันอาจจะไม่ใช่คำตอบของเขา เขาก็เลือกที่จะออกมา ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ ขององค์กรที่เกี่ยวข้อง ที่จะช่วยให้เขาค้นพบการเรียนรู้ที่เหมาะสมที่ถูกต้องสำหรับพวกเขาเอง แต่ปัจจุบัน สถานการณ์ก็คือว่าพอเด็กหลุดออกมาจากในระบบปุ๊บ เด็กกลุ่มนี้ถูกละเลย ไม่มีองค์กรที่เข้ามารับผิดชอบโดยตรง พ่อแม่เองก็ให้ค่ากับการศึกษาในระบบเพียงอย่างเดียว พอเด็กหลุดออกมานอกระบบ เด็กก็ถูกทอดทิ้งจากครอบครัวเช่นเดียวกัน ก็เลยทำให้เด็กกลุ่มนี้เคว้งคว้าง แทนที่เขาจะได้มีโอกาสค้นหาสิ่งที่เขารักเขาชอบ โอกาสนั้นกลับหลุดไป ก็เลยเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น ซึ่งจริง ๆ เขาไม่ได้ละทิ้งโอกาส เพียงแต่ว่าเขาพยายามที่จะแสวงหาโอกาสอย่างอื่น แต่ว่าด้วยระบบการศึกษาของเราเอง ระบบโครงสร้างของสังคมเองไม่ได้เตรียมรองรับกับกลุ่มเด็กที่ไม่สามารถเรียนในระบบได้อย่างจริงจัง ยกเว้นว่าพ่อแม่ครอบครัวหรือชุมชนไหนที่มีความพร้อมก็จะโอบอุ้มเด็กกลุ่มนี้ได้ แต่มีน้อยมาก เพราะฉะนั้นเด็กเหล่านี้ก็เลยกลายออกมาเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนสังคมค่ะ”

ในฐานะที่ทำงานใกล้ชิดกับเด็กนอกระบบ “อ้อย” ได้วิเคราะห์สถานการณ์เด็กนอกระบบให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า “สำหรับเด็กที่เรียนในระบบแล้วหลุดออกมาจากในระบบ เท่าที่เห็นนะคะ กลุ่มหนึ่งคือเขาไม่ชอบบรรยากาศของการเรียนรู้ในห้องเรียนที่มีการแข่งขัน มีการชิงดีชิงเด่นกัน ให้ความสนใจกับเด็กที่เรียนหน้าห้อง เด็กที่เรียนเก่ง ตอบเก่ง ส่วนเด็กที่อาจจะไม่ได้สนใจการเรียนแบบนี้ วิชานี้ก็จะหลุดออกไปอยู่หลังห้อง เขาก็จะรู้สึกว่าเขาไม่มีคุณค่า เด็กกลุ่มนี้ก็จะเป็นเด็กกลุ่มหนึ่งที่พบ เด็กอีกกลุ่มหนึ่งคือมีความขัดแย้งกับครู กับเพื่อนในโรงเรียน ก็อยู่ในระบบไม่ได้ก็หลุดออกมาเช่นเดียวกัน และคิดว่าตรงนี้อาจจะเป็นปลายทางที่เกิดขึ้น ต้นทางก็คือเด็กอาจจะยังค้นไม่พบเป้าหมาย ของการเรียนรู้ของตนเองในห้องเรียนว่า สิ่งที่เรียนไปมีคุณค่า มีความหมายอะไรกับชีวิตของตนเอง ซึ่งเราไม่ได้ปฏิเสธวิชาเรียนทั้งหมดนะ ยังคิดว่าวิชาเรียนเป็นตัวหนึ่งที่สำคัญ เพียงแต่ว่าวิธีการที่จะทำให้เด็กค้นพบว่าสิ่งที่เรียนมีคุณค่าความหมายอะไรกับชีวิตของเขา ทั้งปัจจุบันและอนาคตบ้าง ก็จะทำให้เขาจดจ่อกับการเรียน

และเรื่องของความสัมพันธ์ในห้องเรียน หรือความสัมพันธ์กับครูเอง ซึ่งถ้าเป็นความสัมพันธ์แบบแนวดิ่งที่เป็นเชิงอำนาจ เด็กบางกลุ่มก็จะรับความสัมพันธ์แบบนี้ไม่ได้ ก็จะเกิดการต่อต้าน และจะมีปัญหากับครูบ้าง กับเพื่อนบ้าง กลุ่มนี้ก็จะหลุดออกไป หรือแม้ยังไม่หลุดออกไป แต่เขาก็จะหาคุณค่าอย่างอื่นทดแทน อย่างเช่น เมื่ออยู่ในห้องเรียน ไม่มีคุณค่า เขาก็อาจจะเลือกยาเสพติด อาจจะเลือกบุหรี่ อาจจะเลือกคบเพื่อนที่ทำให้เขาเห็นว่าตัวของเขาเองมีคุณค่า อันนี้คือเด็กที่ถ้าพูดถึงในห้องเรียนนะ

แต่ก็มีปัญหาจากครอบครัว ที่ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้เรียนในระบบไม่ได้เช่นเดียวกัน เช่นครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกันโดยที่เด็กถูกละเลย ไม่ได้รับการดูแลอย่างจริงจัง พ่อแม่แยกทางกัน แต่ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่ากับทั้งพ่อและแม่ ก็นำมาสู่การที่เขาไม่อยากที่จะค้นหาอะไรที่มันลึกซึ้งกับตัวเองต่อ ก็ทำให้ไม่อยากเข้าไปสู่ระบบโรงเรียนด้วยเช่นเดียวกัน แล้วที่พบอีกส่วนหนึ่งที่หลุดออกมาจากระบบก็คือเด็กถูกทำร้ายจากครอบครัวเอง ซึ่งถ้านึกถึงตัวเราเอง การที่จะมีแรงผลักดันตัวเองให้นึกถึงอนาคตเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะว่าปัจจุบันเขาต้องเผชิญอะไรที่ยากอยู่แล้ว ก็เลยทำให้เขาหลุดออกมาจากระบบได้ด้วยเช่นเดียวกัน

และในอดีต ชุมชนเองก็ช่วยกันดูแลใช่ไหมว่า เอ๊ะ เด็กคนนี้ไม่ไปโรงเรียน ก็ช่วยกันดูแลที่จะส่งเสริมผลักดันให้เด็กเข้าสู่ระบบได้ แต่ปัจจุบันชุมชนเองก็ละเลยเรื่องนี้ไปเช่นเดียวกัน เห็นว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ก็เลยเป็นปัญหาสะสมทำให้เด็กไม่เข้าสู่ระบบการศึกษาของโรงเรียน ซึ่งถึงอย่างไรก็ยังเห็นว่าเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษา ถึงแม้ว่าจะอย่างไรก็ตาม เด็กก็ยังมีโอกาสที่จะเติบโต อยู่รอด หลังจากช่วงที่เขาพ้นวัยเสี่ยงของเขาได้ แต่ว่าด้วยระบบไม่เอื้อ ก็ทำให้เขาหลุดออกมา ซึ่งคิดว่า ก็ไม่ได้อยากโทษระบบการศึกษาเพียงอย่างเดียวนะ แต่ถ้าพูดถึงในส่วนของห้องเรียน ก็มีส่วนสำคัญมาก ก็อาจจะด้วยระบบของสื่อในปัจจุบันด้วยที่ดึงเด็กให้ออกมาเพราะว่ามันมีความสุข ใช้ความสุข อยู่ในห้องเรียนไม่มีความสุข ก็ไม่อดทนที่จะอยู่

แต่เราในสมัยก่อน ไม่มีทางเลือก ก็อดทนที่จะอยู่จนเกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงกับตัวเองได้ในบางเรื่อง แต่เด็กในยุคสมัยนี้มีทั้งเรื่องอื่นที่เขาออกมาแสวงหาได้อีกเยอะ อย่างเช่น การที่มีสื่อโซเชี่ยลหรือการเล่นเกม แสวงหาความสุขในแง่มุมต่าง ๆ ได้เยอะกว่าสมัยก่อน ก็เลยเป็นตัวดึงดูดให้เขาออกมาข้างนอก ซึ่งว่าถ้ามีระบบรองรับเขาจริง ๆ ถ้าเขาหลุดออกมาแล้วเรามีการจัดกระบวนการศึกษาให้เขาได้เรียนรู้จริงๆ คิดว่าก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่เขาจะหลุดออกมา”

สำหรับกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะกับเด็กนอกระบบ “อ้อย” ก็คิดว่าน่าจะทำให้เด็กได้เห็นคุณค่าตนเอง “กระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ คิดว่าอันหนึ่งก็คือ ถ้าเขาได้ตระหนักถึงคุณค่าของตนเองว่าตัวเองมีศักยภาพในการลุกขึ้นมาเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ และสามารถที่จะมีคุณค่ากับครอบครัว กับชุมชนของตัวเองได้ คิดว่าอันนี้เป็นเบื้องต้นที่จะทำให้เขาลุกขึ้นมานึกถึงการเรียนรู้ต่อไป เมื่อเด็กกลุ่มนี้เขากลับไปอยู่ในชีวิตปกติของพวกเขา คิดว่าการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับพวกเขาก็คือว่าการที่มีองค์กรที่ทำหน้าที่ ในการจัดการเรียนรู้โดยเฉพาะให้กับพวกเขาอย่างเช่น ถ้านึกถึง กศน. กศน.ก็ต้องนึกถึงการเรียนรู้ของรายบุคคล กศน.ไม่ควรจะเป็นการเรียนรู้แบบเหมาเข่ง แบบการเรียนรู้ในระบบ ควรจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเฉพาะบุคคล เฉพาะอาชีพ เฉพาะความต้องการของเขา

อีกด้านหนึ่งก็คือการทำให้เกิดชุมชนของการเรียนรู้เด็กกลุ่มนี้ต้องการเพื่อนที่จะช่วยกันดึงกันไปในแนวทางที่ดีที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้เกิดชุมชนของการเรียนรู้ร่วมกันตรงนี้ได้ เขารู้ว่าเขากลับมาแล้วเขาจะเจอกันและเขาสามารถที่จะพูดถึงและทำกิจกรรมร่วมกันได้อย่างเปิดเผยจริงจัง คิดว่าถ้า กศน.หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องอย่าง ถ้าเป็นอบต.ก็มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่มีความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นการศึกษาแบบผู้ใหญ่ ที่ทำให้เขาสามารถที่จะมีเครื่องมือในการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ คนๆ นี้ทำหน้าที่เหมือนเป็นพี่เลี้ยงที่คอยติดตาม เสริมให้กำลังใจ

ถึงแม้เด็กพวกนี้จะผ่านค่าย 21 วัน แต่ว่าการที่จะหลุดออกไป ก็มีโอกาสอยู่เยอะมากถ้าไม่มีกระบวนการติดตามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคนภายนอกทำได้ยาก แต่ถ้ามีบุคคลข้างใน อบต.เอง ใน กศน.เองที่รับผิดชอบกลุ่มนี้เป็นรายบุคคลเลย ดูแลกันเหมือนเป็นลูกหลาน ต่อเนื่อง นับสิบปี คิดว่าต้องประคองกันถึงขั้นนั้น แล้วคอยให้กำลังใจ และคอยจัดการศึกษาที่จำเป็นสำหรับเขา ซึ่งเด็กใน วัยนี้เขาก็ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ อายุ 14 15 16 การที่จะเปลี่ยนแปลงความชอบ เปลี่ยนแปลงความถนัดของตัวเอง ก็ยังมีโอกาสอยู่เยอะมาก เพราะว่าการที่จะค้นพบทางของตนเองที่แท้จริง ไม่ง่าย แต่ทำอย่างไรเขาจะได้ทดลองทำอย่างจริงจัง และเรียนรู้ และสะสมไปเรื่อย ๆ อย่างนี้จนกว่าเขาจะพบเส้นทางที่แท้จริงของเขา ก็ไม่ง่ายเลยแม้แต่เราเองก็อายุมากพอสมควร กว่าที่เราจะค้นเจอแต่เด็กกลุ่มนี้ต้องการการประคองเป็นพิเศษในแง่ที่ว่าความสามารถในการฝืนตัวเองของเขามีน้อยกว่าเด็กในระบบ เพราะฉะนั้นการที่มีคนช่วยประคองจึงสำคัญมาก ที่จะทำให้เขามีแรงบันดาลใจที่จะฝืนตัวเองได้เพราะฉะนั้นคน ๆ นี้กับเด็กคนนี้ กับเด็กกลุ่มนี้ จะต้องมีความสัมพันธ์ที่เป็นแนวราบ แล้วก็ไว้วางใจกันได้ ถึงจะเกิดการไปด้วยกันได้จริง ๆ”

สำหรับความความคาดหวังที่อยากให้เกิดขึ้นใน 21 วัน “อ้อย” เผยว่า “เด็กทั้ง 12 พื้นที่ที่มาร่วมกันในครั้งนี้ สิ่งที่เราคาดหวังก็คือว่า 1.เขามีแรงบันดาลใจที่จะกลับไปทำอะไรเพื่อตนเอง เพื่อครอบครัว และเพื่อชุมชนของเขาเองซึ่งการที่เขาจะมีแรงบันดาลใจนั้นได้ คิดว่าสิ่งสำคัญก็คือว่าเขาค้นพบตัวเองเหมือนว่ามีศักยภาพในการที่จะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตนเองได้ เห็นว่าตัวเองทำอะไรได้ดี ตัวเองถนัดอะไร ตัวเองชอบอะไร ถึงแม้บางคนอาจจะไม่ได้ถึงจุดคลิกที่เห็นว่านี่ใช่ แต่ว่าก็เห็นร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง และเห็นว่าเพื่อนสามารถช่วยสนับสนุนการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงของเขาได้ ก็จะทำให้เขากลับมาเปลี่ยนร่อง เปลี่ยนเส้นทางการเดินของตัวเองได้

เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่เราคาดหวังในค่าย 21 วันนี้ก็คือว่า 1.เขาเห็นคุณค่าของตนเอง และมีแรงบันดาลใจที่จะกลับไปพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง 2.เขามีกัลยาณมิตร หรือว่ามีชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกันที่เกิดขึ้นจากพื้นที่ตรงนี้ ซึ่งทำให้เขาเห็นว่าเขาไว้ใจคนอื่นได้ เขารักคนอื่นเป็น เขาให้อภัยคนอื่นเป็น และคนอื่นมีส่วนสำคัญในการที่จะดูแลเขาด้วย ถ้าเขาตระหนักเห็นความสัมพันธ์ตรงนี้ได้ คิดว่าเขาจะกลับไปสู่พื้นที่ของการสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับคนในครอบครัว หรือคนในชุมชนของเขา ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เขาลุกขึ้นมาทำอะไรต่อได้ค่ะ”

สำหรับกระบวนการค่ายตลอด 21 วัน ได้ออกแบบไว้สองแบบคือแบบที่มีกิจกรรมหลากหลายและลักษณะกิจกรรมที่ทำซ้ำ ๆ ตลอด 21 วัน “มีหลายเรื่องที่เราทำเป็นประจำ เพื่อฝึกฝนให้ติดเป็นเนื้อเป็นตัวของเด็กเยาวชนกลุ่มนี้มากขึ้น โดยเฉพาะหลายอย่างที่มันต้องฝึกฝืนตัวเอง เมื่อเขาฝึกฝืนตัวเองอย่างต่อเนื่องเพียงพอ มันก็จะเป็นเนื้อเป็นตัวของเขามากขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่า 21 วัน ส่วนหนึ่งเขาจะติดนิสัยตรงนี้ไปได้บ้างนะคะ ส่วนที่ทำอย่างต่อเนื่องตลอด 21 วันก็คือการเข้านอนตรงเวลาตามที่ตกลงกันไว้ เพราะว่าเราเชื่อว่าการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอมันช่วยให้เกิดการเติบโตทั้งร่างกายและอารมณ์ของเขาด้วย ส่วนที่ 2 ก็คือว่าการตื่นนอนที่เหมาะสม อย่างเช่น อย่างที่นี่เด็กต้องตื่นอย่างช้าก็ 6 โมงเช้า เพื่อที่จะมาทำวัตรสวดมนต์ ฝึกสมาธิภาวนาด้วยกันในช่วง 7 โมงเช้า อันนี้ถ้าเด็กคนไหนทำเป็นประจำ เขาก็จะรู้ตัว ตื่นโดยอัตโนมัติและฝืนตัวเองได้ง่ายมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราก็เห็นชัดเจนว่าเด็กที่ทำได้เขาก็มีความต่อเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้เป็นอย่างดี แล้วการทำสมาธิภาวนาในช่วงเช้าที่ต่อเนื่องและทำเป็นระยะตลอดทั้งวัน เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กว่าเด็กสามารถกลับมารู้ตัวได้ง่ายขึ้น ได้เร็วขึ้น บางทีเขาอาจจะเผลอไปตามประสาเด็กวัยรุ่น แต่เมื่อมีการเตือน ทำให้เขารู้ตัว การกลับมาสงบได้เร็ว พี่รู้สึกพอใจมากกับค่ายนี้ พี่รู้สึกว่าเขาทำได้ดีกว่าเด็กในระบบด้วยซ้ำไป กับการกลับมารู้เนื้อรู้ตัวและสงบกับกายใจของตัวเอง รู้สึกว่าสิ่งนี้พวกเขาเรียนรู้มันได้ดี นอกเหนือจากการกลับมารู้ตัว ฝึกฝืนตัวเองในแง่นี้แล้ว อีกเรื่องหนึ่งคือการรับผิดชอบ การอยู่ร่วมกันของพวกเขาเอง การรับผิดชอบพื้นที่สาธารณะ การรับผิดชอบข้าวของเครื่องใช้ที่ต้องใช้ร่วมกัน โดยการมีงานของกลุ่มฐานที่ต้องทำเป็นประจำทุกเช้า อย่างเช่น การดูแลห้องประชุม การดูแลพื้นที่รับประทานอาหาร การดูแลห้องน้ำ การดูแลที่อยู่อาศัยร่วมกัน รวมถึงเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม เราให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะ เพื่อให้เด็กได้นิสัยตรงนี้ไป เราพยายามที่จะหาสื่อที่จะมากระตุกกระตุ้นให้เด็กเกิดจิตสำนึกกับการที่จะลุกขึ้นมาดูแลโลกใบนี้ด้วยกัน เพราะว่าโดยระบบที่ผ่านมา มนุษย์ถูกปลูกฝังให้เห็นตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ทำให้มนุษย์เลือกที่จะทำอะไรก็ได้ โดยเฉพาะกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แต่ว่าความเชื่อของกระบวนการเรียนรู้แบบเรา ก็คือเราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมเราไม่ได้มีอะไรที่มากกว่าสิ่งอื่น เพราะฉะนั้นเราจะต้องร่วมรับผิดชอบสิ่งแวดล้อมด้วย เราก็ให้ค่าตรงนี้ ก็พยายามที่จะปลูกฝังและฝึกฝืนเด็กเรื่องนี้ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องยากพอสมควรกับการที่จะทำให้ติดเป็นนิสัย แต่อย่างน้อยเราพยายามที่จะทำให้เขาเห็นว่ามันเป็นเรื่องสำคัญกับชีวิตของเขา”

“การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ตลอดค่าย 21 วันก็จะเริ่มจากเรื่องของฐานของการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งตรงนี้เราใช้เวลาเป็นสัปดาห์เลยกับการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งตรงนี้ให้ค่ากับเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ ความรัก ความสัมพันธ์ก็จะเป็นเรื่องของกิจกรรมท้าทายกลุ่มพอสมควรเพื่อให้เด็กได้ลงไม้ลงมือทำอะไรด้วยกัน เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน เรียนรู้ที่จะทำงานด้วยกัน ที่จะรับฟังกัน พูดคุยกัน และหาวิธี เครื่องมือในการที่จะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข หรือตรงนี้บางทีเราก็เรียกว่าเป็นกระบวนการทำงานเป็นทีมแต่จริงๆ หัวใจหลักของก็คือการทำให้ผู้เรียนเกิดความรักความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รวมถึงการเกิดความรักความสัมพันธ์ที่ดีกับทีมกระบวนกร ทีมพี่เลี้ยงด้วย ตรงนี้เป็นการสร้างฐานของการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพราะถ้าเขาไม่เกิดความไว้วางใจต่อกัน ไม่เกิดความไว้วางใจต่อผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ การที่จะทำให้เขาเปิดเผยเรื่องราวลึก ๆ ข้างในเพื่อที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเองจะทำได้ยาก เราก็เลยเลือกที่จะปูฐานของการเรียนรู้ด้วยการสร้างความรัก ความสัมพันธ์นะคะ

แล้วก็สิ่งที่ควบคู่กันมาด้วยก็คือเรื่องของการรู้จักตนเอง การรู้จักตนเองอย่างลึกซึ้งจะช่วยให้เขาเห็นจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง แล้วก็รวมถึงการยอมรับตนเองได้ ซึ่งเมื่อเขายอมรับตัวเองได้ จะช่วยให้เขารู้ว่าเขาจะต้องพัฒนาอะไร เปลี่ยนแปลงอะไร แก้ไขอะไร หรือสิ่งที่มีดีอยู่แล้ว เขาจะทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นได้อย่างไร การรู้จักตนเองในแง่ของกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจึงสำคัญ เราก็จะให้เวลากับเรื่องนี้พอสมควร ซึ่งกระบวนการที่ทำให้รู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง อย่างเช่นกิจกรรมผู้นำสี่ทิศหรือการแบ่งออกเป็นธาตุสี่ก็จะทำให้เด็กเห็นจุดแข็ง จุดอ่อนของตนเอง และทำให้เห็นว่าตนเองต้องปรับเรื่องอะไร และมีวิธีการที่จะปรับตนเองด้วย นอกจากปรับตัวเอง เห็นตัวเองแล้ว การได้เข้าไปรู้จักและเห็นคนอื่น เข้าใจ”

ซึ่ง “อ้อย” ได้สะท้อนว่าในฐานะผู้ทำหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้ การรู้จักเด็กในค่ายน้อยทำให้การสร้างกระบวนการเรียนรู้ก็ไปได้ช้าด้วย “ในฐานะที่จัดกระบวนการเรียนรู้ อย่างครั้งนี้ เรารู้จักเด็กเยาวชนที่มาน้อยมากนะ เรารู้จักพื้นฐานครอบครัว รู้จักบุคลิกนิสัย หรือว่าพฤติกรรมของเด็กน้อยมาก เรามารู้จักกันในค่ายนี้ ซึ่งการออกแบบกระบวนการของเราก็ต้องปรับให้เหมาะสมภายในค่ายนี้ ซึ่งเราคิดว่าถ้าหากเรารู้หรือว่าได้เตรียมเด็กก่อนหน้านี้แล้ว การที่เด็กมาแล้วได้อะไรที่ตรงกับความต้องการของตัวเองยิ่งขึ้น คิดว่าน่าจะเป็นอะไรที่ไปได้เร็วมากขึ้น

กับกระบวนการคัดเลือกเด็กที่มาค่าย ทั้งตัวเด็กเองก็ได้รู้ว่ามาแล้วเขาจะได้เผชิญอะไรจริง ๆ ด้วย ก่อนการตัดสินใจของเขา อันนี้อันหนึ่ง กับทางทีมกระบวนกรเองก็รู้ความต้องการของเด็กว่าเด็กมา เด็กคาดหวังอะไร เด็กต้องการอะไรล่วงหน้า การออกแบบกิจกรรมก็จะทำได้ดียิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามโดยกระบวนการการเรียนรู้ของเรา เราก็เอาผู้เรียนเป็นตัวตั้งอยู่แล้ว เราก็พยายามที่จะปรับให้สอดคล้องเหมาะสมกับเด็กตามสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งในกระบวนการ สำหรับเด็กเยาวชนนอกระบบต้องดูวันต่อวันไปอยู่เหมือนกัน เพราะบางทีการเปลี่ยนแปลงของภาวะอารมณ์หรือในหมู่เพื่อน ในกลุ่มเพื่อน เป็นตัวแปรที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้นการอ่านเด็กในรายวัน การสังเกตวันต่อวันก็เป็นปัจจัยสำคัญของการจัดกระบวนการเรียนรู้มากพอสมควร”

นอกจากนี้ยังมีกระบวนการให้รู้จักตนเองเพิ่มเติมอีก “นอกจากการใช้ผู้นำสี่ทิศแล้ว เรายังใช้กระบวนการไพ่ทาโร่พุทธวิธีซึ่งเราไม่ได้ใช้เอามาเพื่อทำนายว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่ แต่เราเอามาเพื่อให้เด็กได้กลับเข้ามาใคร่ครวญกับตัวเอง ทำให้เขาเห็นตัวเองในแง่มุมที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ไพ่ตัวนี้ โดยกระบวนการก็จะทำให้เขาได้เห็นคุณค่าของตัวเขาเองด้วยว่า แม้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างนี้ แต่เขาสามารถสืบค้นได้ว่ามีความดีงามอะไรอยู่ในชีวิต ที่อาจจะไม่ได้น่าอภิรมย์ของเขานัก นอกจากนี้กระบวนการที่ทำให้เขารู้จักตนเองมันก็จะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างกิจกรรม ไม่ว่าเราจะทำกิจกรรมท้าทายกลุ่ม กิจกรรมอะไรก็ตาม เราก็จะชวนเด็ก ๆ ให้กลับเข้ามาดูตัวเองว่าเขาเห็นตัวเองกับเรื่องราวเหล่านั้นอย่างไรบ้าง ก็เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง ไม่ได้ทำจบเพียงครั้งเดียวนะคะ"

“หลังจากที่เราปูฐานเรื่องนี้ที่ชัดเจน อีกอันหนึ่งที่เกี่ยวข้องและเรานำเข้ามาเพื่อให้เขาได้เติบโต ได้ก้าวขึ้นมาหลังจากเห็นตัวเองแล้วก็คือเรื่องของการเผชิญความกลัว การก้าวข้ามความกลัว เพราะฉะนั้นก็จะมีกิจกรรมท้าทายให้เขาได้เห็นความกลัวของตัวเอง ซึ่งการที่จะให้เขาพูดถึงความกลัวของตัวเองโดยไม่มีกิจกรรม ให้เขาได้เผชิญ ก็พูดถึงได้ยาก บางคนก็ค้นไม่เจอ ไม่รู้ด้วยว่าจริง ๆ แล้วตัวเองกลัวอะไร แต่โดยกระบวนการแล้วเราก็จะใช้กิจกรรมเพื่อให้เขาเข้าไปเผชิญและใคร่ครวญกับสิ่งที่เขากลัว และทำให้เขาได้เห็นว่าเขาก็สามารถที่จะเผชิญได้และก้าวข้ามได้ ไม่มากก็น้อย อย่างเช่น กิจกรรมการขึ้นพูดในที่สาธารณะ เราไม่ได้คาดหวังว่าเด็กจะเป็นนักพูดที่ดี เพียงแต่ว่าในการฝึกของเรา ในครั้งนี้ ในรอบนี้ เราพยายามให้เด็กได้กลับเข้ามาเห็นความกลัวและเห็นว่าจริง ๆ เขาก็เผชิญได้นะ ให้เขาเห็นว่าจริง ๆ ความกลัวที่เกิดขึ้นจริงกับสิ่งที่เขาคิดอยู่ในหัวไม่ได้เป็นอันเดียวกัน แตกต่างกัน เราก็พยายามที่จะจัดกิจกรรมให้เขาได้เผชิญหรือแม้แต่กิจกรรมนิเวศภาวนาการได้เข้าไปอยู่ในป่าเขาเพื่อค้นพบตนเอง ซึ่งเด็กหลายคนแม้เขาจะดูภายนอกแข็งแกร่ง ดูแข็งกร้าว ดูกล้าเผชิญกับโลก กล้าเผชิญกับการชกต่อย การทะเลาะวิวาท แต่เมื่อต้องอยู่กับตนเอง เมื่อต้องอยู่กับความเงียบ เมื่อต้องอยู่กับความมืด เขากลับได้รู้ได้เห็นว่าจริง ๆ แล้วเขากลัวสิ่งเหล่านี้อยู่ และเมื่อเขาเห็นและเขายอมรับ การเผชิญกับสิ่งที่เขากลัวก็มีความง่ายยิ่งขึ้น และเมื่อเขาทำได้ก้าวเล็ก ๆ เชื่อว่าจะเกิดความมั่นใจทีละเล็กละน้อย และเขาจะทำได้มากยิ่งขึ้น”

นอกจากให้รู้จักตนเองแล้ว ยังกระตุ้นให้แสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง “อีกวิชาที่เราให้ความสำคัญก็คือ เรื่องของการที่เขาสามารถที่จะแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองได้ ซึ่งการแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองได้ เครื่องมือที่สำคัญคือเรื่องของการคิดวิเคราะห์ เขาสามารถคิดวิเคราะห์และแยกแยะสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเองบ้าง ด้วยการคิดด้วยกันกับเพื่อนบ้าง ซึ่งกระบวนการนี้เราใช้ตลอดตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสุดท้ายเด็กจะได้คิดใคร่ครวญ หรือเราใช้ว่าโยนิโสมนสิการ การได้กลับเข้ามาคิดร่วมกันและการคิดภายในด้วยตนเองด้วย ส่วนเครื่องมือที่จะทำให้เขาได้คิดวิเคราะห์กลับมา ส่วนใหญ่เราก็จะใช้กระบวนการผ่านประสบการณ์ ผ่านกิจกรรม และกลับเข้ามาตั้งคำถามกับเขา อย่างเช่น เขาเห็นจุดแข็งอะไร เขาเห็นจุดอ่อนอะไร สำเร็จได้เพราะอะไร ไม่สำเร็จได้เพราะอะไร คำถามเหล่านี้ เป็นคำถามที่สำคัญที่ทำให้เขาได้ใคร่ครวญกับสิ่งที่ได้ลงมือทำมากขึ้น”

“อีกส่วนหนึ่งก็คือเรื่องของการจับประเด็นสำคัญซึ่งถ้าหากมนุษย์เราจับประเด็นผิด โอกาสของการเดินก้าวพลาดเยอะมาก เพราะฉะนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับการที่ให้เขาได้ฝึกฟังอย่างลึกซึ้ง และจับประเด็นทั้งประเด็นเนื้อหา และประเด็นที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกทั้งของตนเองและของผู้อื่นกิจกรรมพวกนี้ถูกออกแบบให้เขาได้เผชิญได้ทำ ได้พูด ทั้งพูดในกลุ่มย่อย ทั้งพูดในกลุ่มใหญ่ ทั้งการเขียน การวาดภาพ ซึ่งถือว่ากระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ฝึกให้เขาได้จับประเด็นชีวิตตัวเองไปพร้อม ๆ กันด้วย กิจกรรมที่ช่วยให้เขาได้จับประเด็นได้มากขึ้นคือเรื่องของการทบทวนชีวิตของตนเอง การฟังชีวิตของเพื่อน ผ่านกิจกรรมสายธารชีวิต ผ่านกิจกรรมบอกเล่าเรื่องราวชีวิตผ่านใบไม้ การใคร่ครวญชีวิตตนเองผ่านใบไม้ พวกนี้จะทำให้เขาได้ฝึกจับประเด็นได้มากขึ้น รวมถึงการฝึกพูด ครั้งนี้เราให้เด็กได้ฝึกพูด 1 นาที 2 นาที 3 นาที 5 นาที 7 นาที อันนี้เด็กได้ฝึกพูดเยอะมาก อันนี้เป็นการฝึกที่จะเล่าเรื่องราวของตนเอง ซึ่งมันก็ทั้งเป็นการทบทวน เป็นทั้งการสร้างความไว้วางใจ และเป็นการฝึกจับประเด็นชีวิตของตนเองไปพร้อมกันด้วย”

“วิชาอีกชุดวิชาหนึ่งที่เราให้ความสำคัญกับเด็กยุคสมัยนี้คือเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อ การรู้เท่าทันสื่อเราให้ความสำคัญทั้งในแง่ที่เขาสามารถวิเคราะห์สื่อได้ เขาคัดเลือกสื่อ เสพสื่อเป็น ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งคือเขาสามารถสร้างสรรค์สื่อขึ้นมาเองได้ด้วย ซึ่งการสร้างสรรค์สื่อ ทางทีมวิทยากรพยายามให้เด็กได้รู้จักการนำเสนอสื่อในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นละคร ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาพนิ่ง การใช้คลิปวิดีโอ พวกนี้ ในการที่จะนำเสนอเรื่องราวของตนเองบ้าง เรื่องราวปัญหาประเด็นทางสังคมบ้าง”

“อีกอันหนึ่งที่ให้ความสำคัญก็คือความสามารถในการที่จะใช้สื่อเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วย ซึ่งถ้าเด็กกลุ่มนี้เขามีกำลังมากพอ ซึ่งในค่ายนี้อาจจะยังไม่ได้เกิดขึ้นชัดเจนมากด้วยเวลาที่มีไม่มากพอ แต่คิดว่าเขาได้แรงบันดาลใจจากการได้เห็นตัวอย่างสื่อที่ทางทีมวิทยากรได้นำมานำเสนอให้เขา ทำให้เขาเห็นว่าประเด็นอะไรของสังคมที่สำคัญ อย่างเช่น ประเด็นของการทะเลาะวิวาท ประเด็นของการดื่มแล้วขับ ประเด็นของการสูบบุหรี่ การท้องในวัยที่ยังไม่เหมาะสม อะไรพวกนี้ ประเด็นปัญหาทางสังคม พวกนี้ ถ้าเขาตระหนัก เขาสามารถที่จะกลับไปสร้างสื่อ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับกลุ่มพวกเขาเอง รวมถึงคนในชุมชนสังคมได้ด้วยนะ เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันสื่อจึงเป็นอีกชุดวิชาหนึ่งที่เราให้ความสำคัญ และวิทยากรก็พยายามที่จะทำให้เด็กได้มีองค์ความรู้กับการที่จะวิเคราะห์เลือกสื่อและสร้างสรรค์สื่อ รวมถึงการนำสื่อไปสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับตนเองและผู้อื่นได้ด้วยค่ะ”

“อีกชุดวิชาหนึ่งคือเรื่องของการรู้จักความงามในทางศิลปะซึ่งเราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีเรื่องศิลปะหรือเรื่องความงาม เราให้ค่างานศิลปะคือความดี ความงาม และความจริง งานศิลปะสามารถสร้างทั้ง 3 สิ่งนี้ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ได้เชิญวิทยากรมาเพื่อที่จะทำให้เด็กได้ตระหนักเห็น 3 คุณค่านี้ ทั้งความงาม ความดี ความจริง ผ่านงานศิลปะ ดึงออกมาจากตัวของเขาเองซึ่งโดยกระบวนการจะช่วยให้เขามีความมั่นอกมั่นใจกับตัวเองได้มากขึ้น เห็นคุณค่าของตัวเองด้วย และรู้ว่าตัวเองจะสร้างความสุข ผ่านความงามทางศิลปะนี้ได้อย่างไรด้วย เพราะฉะนั้นในฐานะที่เขาสามารถสร้างสรรค์มันได้เอง เขาก็จะเป็นผู้สร้างด้วย ไม่ใช่เป็นคนเสพเพียงอย่างเดียวค่ะ”

“อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือว่า การที่ทำให้เด็กได้เห็นคุณค่าของตนเอง ตระหนักว่าตนเองสามารถทำดีอะไร มีดีอะไร และสามารถทำอะไรได้บ้าง การที่จะทำให้เด็กเห็นคุณค่าของตัวเองตรงนี้ได้จะต้องทำให้เขาเห็นโครงสร้างใหญ่ของสังคมด้วย นอกจากการที่เขาเห็นว่าความผิดพลาดของชีวิตเกิดจากการที่เขาก้าวผิดพลาด ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากตัวเขาเอง แต่อีกส่วนหนึ่งมันเกิดจากระบบโครงสร้างของสังคมที่ทำให้เขาก้าวผิดพลาดได้ด้วย ซึ่งตรงนี้ถ้าเขาเห็นจะทำให้เขาไม่ตีโพยตีพายกับตัวเองมากจนเกินไป ลงโทษตัวเอง ไม่ให้อภัยตัวเองแล้วก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่ถ้าเขาเห็นระบบโครงสร้างที่กระทำกับเขาได้ด้วย ก็จะทำให้เขารู้ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากโครงสร้าง และเมื่อเขามีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ เขาจะต้องนึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่โครงสร้างด้วย ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างในระดับชุมชนของเขาเอง หรือโครงสร้างในระดับประเทศหรือระดับโลกที่กดทับเขาอยู่ เพราะฉะนั้นในกระบวนการของการรู้จักโครงสร้างสังคม จึงเป็นอีกหนึ่งเนื้อหาที่สำคัญที่เราดึงเข้ามาเพื่อทำให้เด็กเยาวชนของเรารู้เท่าทันตนเองและรู้เท่าทันสังคมด้วย”

“อีกส่วนหนึ่งของวิชาการรู้จักสังคม นอกจากการเห็น การรู้จักโครงสร้างสังคม ยังมีกระบวนการที่ทำให้เขาเห็นว่าจริง ๆ แล้วเขาเป็นส่วนสำคัญที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงชุมชนสังคมของเขาเองด้วยนะ ถ้าเขาฝันถึงสังคมที่ดีงาม เขาจะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบ้าง อย่างเช่น กระบวนกรได้นำพวกเขาดูว่าเขามีคุณค่าอะไร เขามีดีอะไร มีอะไรที่เขาต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะทำให้เขาสามารถสร้างเส้นทางชีวิตที่ดีสำหรับตัวเอง และสร้างสังคมที่ดีงามได้ด้วย สิ่งที่เขาต้องเปลี่ยนแปลงมีอะไร และเขาจะต้องทำอะไรเพื่อที่จะไปสู่ตรงจุดนั้นได้ อันนี้คือ กระบวนการที่ทำให้เขาเห็นว่าเขามีส่วนสำคัญกับการที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เป็นผู้รอรับให้คนอื่นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเขา

หลังจากจบการเรียนรู้ในค่าย “อ้อย” ได้ประเมินการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ให้ฟังว่า“การเปลี่ยนแปลงที่เด็ก ๆ สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนแล้ว พวกเราเห็นตรงกันในกลุ่มทีมกระบวนกรที่ร่วมกันประเมินนะคะ เราเห็นได้ชัดเจนว่าทีมเด็กและเยาวชนชุดนี้ มีความมั่นใจกับการเรียนรู้ของตัวเองมากขึ้นพวกเขาเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของตนเอง โดยเฉพาะเรื่องของการกล้าที่จะพูดในที่ชุมชน กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเอง ต่อหน้าผู้อื่นได้มากยิ่งขึ้น พูดได้ยาวขึ้น พูดได้มีหลักการ มีเหตุมีผลมากขึ้น รวมถึงการที่แสดงความคิดเห็นในกลุ่มย่อยก็มีพัฒนาการที่ดี ในระยะแรก ๆ กลุ่มทีมพี่เลี้ยง ทีมกระบวนกรต้องเข้าไปช่วยกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยอย่างยิ่ง แต่ว่าในระยะหลังพวกเขาสามารถที่จะคิดกันเองได้ และแลกเปลี่ยนรับฟังกันภายในกลุ่มได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้นอันนี้คือการเปลี่ยนแปลงขั้นต้นที่เราเห็น การเปลี่ยนแปลงอีกชุดหนึ่งที่เราเห็นก็คือว่าเด็ก 80 - 90 เปอร์เซ็นต์ที่มีความตั้งใจดีงามที่จะกลับไปเปลี่ยนแปลงตนเอง ทั้งที่มา มีหลายคนที่ยังอยู่ในภาวะของการเสพสารเสพติด บางคนก็ยังอยู่ในวงจรของการค้าขายสิ่งเสพติดพวกนี้ หลายคนมีความตั้งใจอย่างยิ่ง และวางเป้าหมายของตัวเองที่ชัดเจนที่จะเลิกซึ่งหลายคนก็พิสูจน์กับการอยู่ในค่ายครั้งนี้ที่เขาไม่สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ได้ และฝืนตัวเองมาเข้าเรียนได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งก็เห็นความตั้งใจว่าสิ่งเหล่านี้มันน่าจะมีกำลังมากเพียงพอ ที่จะทำให้เขากลับไปเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ยาวขึ้น กับอีกเรื่องหนึ่งที่เห็นคือ หลายคนเลยที่ตั้งใจว่าตัวเองจะกลับไปเปลี่ยนแปลงชุมชนของตัวเองอย่างไรบ้าง จะกลับเข้าไปมีส่วนในการพัฒนาชุมชนสังคมของตนเองได้อย่างไรบ้าง”

“อีกส่วนหนึ่งที่เราเห็นและคิดว่าน่าจะเป็นส่วนสำคัญก็คือทั้ง 40 กว่าคนเขาเห็น เกิดความรัก ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ความปรารถนาที่ดีต่อกัน คิดว่าพลังของความรัก ของเครือข่ายตรงนี้ จะช่วยยึดโยงพวกเขาให้อยากสร้างอะไรดี ๆ ด้วยกันต่อในชุมชนสังคมของเขา แม้ว่าเขาจะอยู่ต่างพื้นที่ แต่ว่าการได้เห็นเพื่อนตั้งใจที่จะกลับไปทำอะไรดี ๆ พลังของเครือข่ายตรงนี้จะช่วยผลักดันเขาให้กลับไปทำสิ่งที่ดีของตัวเองได้ด้วย

“และอีกจำนวนไม่น้อยที่หลังจากที่เราให้เขาเขียนแผนชีวิตตัวเอง 10 ปีข้างหน้าเห็นตัวเองอย่างไร เราเห็นส่วนใหญ่เลยวางขั้นตอนชีวิตของตัวเองได้ดี ได้ชัดเจน และในขั้นตอนชีวิตของเขา หลายคนมากอยากกลับไปเรียนต่อหรือว่าบางคนที่กำลังเรียน กศน.อยู่ก็มีความมุ่งมั่นมากที่จะเรียนให้จบแล้วไปต่อการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น บางคนอยากเป็นครู บางคนอยากเป็นพยาบาล บางคนอยากไปประกอบอาชีพส่วนตัวของตัวเองที่มีความก้าวหน้า แต่เขาก็นึกถึงการศึกษาว่าเขาต้องกลับไปศึกษาต่อให้จบ คิดว่าขั้นตอนที่ทุกคนเขียนมาจะเห็นตรงนี้อยู่ รวมถึงเขาเห็นความสำคัญด้วยว่าจะต้องฝึกฝนตัวเองอย่างไรกับการที่จะไปอยู่ตรงจุดๆ นั้น ไม่ใช่แค่ฝึกฝนทักษะอาชีพ เขาพูดถึงการฝึกฝนนิสัยของตัวเองด้วยอย่างเช่นจะต้องฝึกความอดทน จะต้องฝึกการรับฟัง จะต้องฝึกการเข้าหาผู้อื่น ความสัมพันธ์กับผู้อื่น ฝึกการให้อภัยตนเอง อะไรแบบนี้ รู้สึกว่านี่คือส่วนสำคัญที่เกิดจากการกระบวนการค่าย ที่ทำให้เขาเห็นว่า การฝึกฝนตนเองจะต้องกลับมาที่การฝึกเปลี่ยนแปลงนิสัยบางอย่างของตนเองด้วย

สิ่งที่ “อ้อย” อยากฝากเพิ่มเติมให้แก่คนที่เกี่ยวข้อง “ที่สำคัญที่คิดว่ากลับไปนี้ เด็กจะต้องได้รับการโอบอุ้มดูแลต่ออย่างยิ่งนะคะ เพราะว่า 21 วันทำได้เพียงการปูพื้นฐาน แต่กระบวนการที่ดูแลในพื้นที่จริงสำคัญอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นกลไกที่สำคัญที่เรามีอยู่แล้วคือกลไกของนักถักทอชุมชน คิดว่านักถักทอชุมชนต้องเข้ามารับไม้ต่อแล้วก็ทำอย่างต่อเนื่อง และควรจะเป็นนักถักทอที่สนใจกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ ตัวนักถักทอฯเองจะต้องมีความใส่ใจเป็นพิเศษ รับฟังพวกเขาเป็นพิเศษ และติดตามเป็นพิเศษอย่างยิ่งด้วยนะคะ รวมถึงการทำให้เขาเกิดอาชีพ”

“คิดว่าจะต้องมีกระบวนการที่ต่อเนื่องพอสมควร ที่จะทำให้เขาค้นพบอาชีพที่แท้จริงของเขา ซึ่งตอนนี้คิดว่ายังเป็นความอยากอยู่พอสมควร ก็มีจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่มีอาชีพของตัวเองอยู่แล้ว แต่ก็อาจจะยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ ทำอย่างไร ให้สิ่งที่เขาทำอยู่แล้วมีความจริงจัง และอยู่รอดได้ ซึ่งเด็กส่วนหนึ่ง ส่วนใหญ่ด้วย อาจจะยังค้นไม่พบด้วยว่าตัวเองจะทำอะไร เพราะฉะนั้นกระบวนการที่ทำให้เขาได้ลงมือทำ เมื่อเขาได้คิดและลงมือทำและรู้ว่าใช่หรือไม่ใช่ คิดว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญ ที่ทำให้เขาได้ฝึกฝนอาชีพของเขาต่อสำหรับเด็กและเยาวชน”

“ด้านหนึ่งผู้ใหญ่ต้องเตรียมใจว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าเขาจะตั้งใจว่าเขาอยากจะเป็นอะไรในตอนนี้ แต่ว่าด้วยวัยขนาดนี้คิดว่าการที่เขาได้ใคร่ครวญกับตัวเอง การได้เผชิญโลก การได้เห็นอะไรที่กว้างขึ้นยังมีน้อย เพราะฉะนั้นโอกาสที่เขาได้เห็น ได้รู้ ได้ลองทำ เป็นโอกาสสำคัญที่ทางพื้นที่ควรจัดให้เขาได้สัมผัส เพื่อให้เขาได้เห็นว่าจริงๆ แล้ว ความถนัด ความชอบของเขา คืออะไรกันแน่ ซึ่งตอนนี้เครื่องมือที่เขามีอยู่แล้วจากค่ายนี้คือเรื่องของการที่เขาอยากจะเรียนรู้ เขามีเครื่องมือของการใคร่ครวญของการกลับเข้ามาคิดวิเคราะห์ เครื่องมือตัวนี้ถ้าเขามีโอกาสได้ไปลงมือจริง เขาก็จะใช้เครื่องมือนี้เป็นตัวกลั่นกรองว่าอะไรที่เหมาะกับเขา” อ้อยสรุปทิ้งท้ายไว้ #

“นี่คือส่วนสำคัญที่เกิดจากการกระบวนการค่าย ที่ทำให้เขาเห็นว่า 

การฝึกฝนตนเองจะต้องกลับมาที่การฝึกเปลี่ยนแปลงนิสัยบางอย่างของตนเองด้วย”