“2 ต้นกล้า” สานฝันเป็นจริง “SE” สร้างความ “สมดุล” ให้ชีวิต “ธัญญเจริญผล” ส่งเสริมอาชีพชาวนา


อนุกูล ศรีโกตะเพชร, วีระ นากระโทก

“2 ต้นกล้า” สานฝันเป็นจริง “SE” สร้างความ “สมดุล” ให้ชีวิต
“ธัญญเจริญผล” ส่งเสริมอาชีพชาวนา


“เรามีความเชื่อว่าการโตไปด้วยกันระหว่างชาวนากับเรา จะทำให้เกิดความยั่งยืน และ ธุรกิจเพื่อสังคม คือ โมเดลแบบสมดุลตอบโจทย์สังคมและตัวเองได้อย่างลงตัว”

2 หนุ่มจากที่ราบสูง “ โอห์ม - วีระ นากระโทก” วัย 25 ปี และ “แอ็คชั่น-อนุกูล ศรีโกตะเพชร” นักศึกษาจากรั้ว ม.ธรรมศาสตร์ สร้างฝันเป็นจริงบนเส้นทางชีวิตที่จับต้องได้ “จิตอาสา” กับ “การหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง” ไปด้วยกันอย่างลงตัวกับการทำธุรกิจใหม่ Social Enterprise(SE) หรือ “กิจการเพื่อสังคม” ในนามของบริษัท ธัญญเจริญผล จำกัด มีเป้าหมายเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของ “ชาวนา”


“โอห์ม” และ “แอ็คชั่น” รู้จักกันเพราะเป็นรูมเมท ต่างสนใจทำงานจิตอาสา ตั้งแต่เริ่มเข้าปี 1 เพื่อค้นหา “ความรู้นอกตำรา” จนมารู้จัก โครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” จัดโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และส่งโครงการเข้าประกวด เมื่อปี 2549 ในโครงการทำเตาเผาขยะให้กับชุมชนในจังหวัดลำปาง เพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะ การมีโอกาสทำงานกับชนบทเป็นครั้งแรก ถือว่าเป็น “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญในชีวิตของทั้งคู่ ทำให้ได้ “เครื่องมือ” ในการพัฒนาชุมชนมาชุดหนึ่งเป็นการเติมเต็มวิชาที่เรียน

“เราไม่เคยทำงานชุมชน ก็เลยชวนกันมาทำโครงการฯ นี้ พวกเราไม่มีความเชี่ยวชาญมาก่อน แต่มีอาจารย์ที่ปรึกษาในวิชามนุษยกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ได้เครื่องมือทำงานกับชุมชนจากอาจารย์ที่สอนและลงไปทำงานจริง รู้สึกประทับใจในการทำงานกับชุมชน ได้เห็นความเป็นจริง มันตอบโจทย์ การเรียนรู้ของเราเติมเต็ม ก็เลยมาต่อเรื่อยๆ ถึงโครงการอาสาสมัคร มธ. ทำให้รู้ว่าการขอทุนไม่ใช่หนทางที่จะทำให้การทำงานเพื่อสังคมไปได้ไกล พอดีมาเจอเพื่อนที่เรียนอยู่ ม.รังสิต เขามาเล่าถึงวิชาใหม่ล่าสุด“Social Enterprise(SE)” ตอนปี 3 ทำให้เกิดความคิดว่า “SE น่าจะเป็นคำตอบให้ตัวเอง” คุณทำงานเพื่อสังคม และยังสร้างรายได้ให้ตัวเองอยู่ได้ด้วย เมื่อได้รู้จัก SE ก็หาข้อมูล เข้าไปอบรม และไปฝึกงานเกี่ยวกับ SE โดยตรง ส่วน แอคชั่นไปฝึกงานเกี่ยวกับ CSR ซึ่งไม่ตรงกับสาขาที่เรียน แต่การไปฝึกงานทำให้ได้ ทั้งการเรียนรู้กระบวนการทำงาน ตัวชี้วัดผู้ประกอบการสังคม ทำให้เข้าใจคำว่า SE และ CSR ในเชิงลึกมากขึ้น”


“การบ่มเพาะ” ทางด้าน “จิตอาสา” และ “SE” ฝั่งรากลึกที่ทำให้คนทั้งคู่มุ่งตรงที่จะทำงานเพื่อสังคม จึงรวบรวมเพื่อนกลุ่มหนึ่ง ก่อตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวข้องกับเกษตร” ในระหว่างยังเรียนอยู่ เป็นการให้ความรู้โดยนำ “เครื่องมือ” ที่ได้ทั้งหมด ทั้งการทำโครงการกล้าใหม่ฯ และอาสาสมัคร มธ.มาใช้ แต่ไปไม่รอดเพราะยังขาดประสบการณ์และที่สำคัญไม่มีทุน จบการศึกษาทุกคนแยกย้ายกันไปทำงานเกือบสองปี แต่ยังคงทำงานสาย “จิตอาสา” “โอห์ม”ไปทำที่มูลนิธิบูรณะชนชทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ “แอคชั่น” ไปทำที่เครือข่ายจิตอาสา ถือเป็นการหนีไปตั้งหลักแต่ยังคงคิดเรื่องตั้งบริษัท “SE” อยู่

จุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ “มูลนิธิบูรณะชนบท” ได้ทำงานใกล้ชิดกับชาวนา ทำให้”โอห์ม” มีความคิดที่อยากจะเป็น “ชาวนา” โดยมีทุนเดิมเป็นที่ดินของครอบครัว จึงได้มาขอความรู้กับ “แจ็ค นาวี นาควัชระ” เจ้าของบริษัท นวัตกรรมชาวบ้าน จำกัด บริษัท SE ลำดับต้นๆ ของเมืองไทยและถูกชักชวนให้มาทำงานที่เกี่ยวข้องกับชาวนาโดยตรง หลังจากได้ HOW TO ในการทำงาน “โอห์ม”จึงได้ “แนวคิดใหม่” ในการทำธุรกิจ “SE” อีกครั้ง โดยการชักชวนเพื่อนเก่า “แอ็คชั่น” , รุ่นพี่ “เพชร” และ “บริษัท นวัติกรรมชาวบ้าน จำกัด” ก่อตั้ง“บริษัท ธัญญเจริญผล จำกัด” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา ดำเนินธุรกิจประกอบกิจกรรมรับซื้อ – ขาย ข้าวเปลือกอินทรีย์ ข้าวสารอินทรีย์ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวอินทรีย์ทุกชนิด ภายใต้โลโก้รวงทิพย์ ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ตั้งเป้าเติบโตสูงสุด 200 ล้านบาท

“ชวนเพื่อนอยากให้กลับมาบ้าน เราเป็นคนอีสาน ไม่ใช่แค่เรื่องทำธุรกิจข้าว แต่อยากให้กลับมาบ้าน แอคชั่นเป็นคนสุรินทร์ ผมเป็นคนโคราช คอนเซ็ปต์ของบริษัท ชาวนาเป็นสุข ผู้บริโภคปลอดภัย”


“โอห์ม” เล่าถึงธุรกิจของตนเองว่า เราสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิต วิธีการทำธุรกิจ แบ่งเป็น 3 ภาค ส่งเสริม โปรดักชั่น ตลาด สำหรับเรื่องการส่งเสริม วิธีการเอาลงไปประชาคม เรื่องเกษตรอินทรีย์ให้ชาวบ้านมาสมัครเข้าโครงการฯ และมีเจ้าหน้าที่นักส่งเสริมและนักตรวจสอบมาตรฐานลงไปช่วยให้คำแนะนำและดูแลแปลงนา ตอนนี้เรามีเครือข่ายชาวนาที่ผลิตข้าวอินทรีย์อยู่ 9 กลุ่มเป็นภาคอีสาน ที่บุรีรัมย์,สุรินทร์,ร้อยเอ็ด,โคราช,พิจิตร ภาคกลาง ส่วนภาคกลางเพิ่งเริ่มทำกับมูลนิธิขวัญข้าว ส่วนจุดแข็งเรามีเรื่องการตลาดและเรื่องงานส่งเสริม คือการทำงานร่วมในระดับเชิงลึกกับเกษตรกร สำหรับเป้าหมายสูงสุดของบริษัท คือการทำแปรรูปข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์


คิดว่าธุรกิจ SE ในอนาคต ช่วยแก้ปัญหาสังคมไทยได้ดี ถ้าผู้ประกอบการโต ถ้าหน่วยงานรัฐลงมาซัพพอร์ตให้เข้มแข็งมันเป็นFacter (แฟคเตอร์) ที่จะแก้ปัญหาสังคมได้มีพลัง เพราะคนที่มาทำตรงนี้คือคนที่จะแก้ปัญหาสังคมอยู่แล้ว ถ้า Facter (แฟคเตอร์) ใหญ่(ภาครัฐ- เอกชน) ล่ม ตรงนี้ก็ยังอยู่ได้เพราะเราไม่ได้อิงกับตลาดใหญ่ “เรามีความเชื่อว่าการโตไปด้วยกันระหว่างชาวนากับเรา จะทำให้เกิดความยั่งยืน และ ธุรกิจ SE คือ โมเดลแบบบาลานซ์ตอบโจทย์สังคมและตัวเองได้อย่างลงตัว”