"กบ พายัพ" ใช้ศิลปะเปลี่ยนแปลงภายในเยาวชน

­

“ค่ายพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์ชุมชนท้องถิ่น 21 วัน ครั้งที่ 1" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-21 ตุลาคม 2562 ณ หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้าห้วยสามสบ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการดำเนินโครงการวิจัย 5 อปท และร่วมมือกับสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ คณะกรรมการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ 25 อปท.จังหวัดสุรินทร์ นายอำเภอจอมพระและนายอำเภอสนม เป็นอีกหนึ่ง “เครื่องมือ”เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนทั้งในและนอกระบบ “กบ - พายัพ แก้วเกร็ด”กระบวนกรอิสระและทำงานศิลปะ หนึ่งในกระบวนกรด้านศิลปะที่มาสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เยาวชน ได้มาร่วมสะท้อนกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ผ่านศิลปะ มีเป้าหมายเพื่อให้เยาวชนในค่ายได้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองจากภายใน

“ที่ได้มาค่ายนี้ก็เพราะว่าพี่อ้อย วราภรณ์ ชักชวนมาให้มาช่วยทำกิจกรรมกระบวนการเรียนรู้ โดยผ่านงานศิลปะ เป้าหมายของกิจกรรม พี่อ้อยบอกว่าส่วนนี้ต้องการให้เด็กได้เข้ามาให้เห็นความงามที่มีความเรียบง่าย จริง ๆ ก็คือคอนเซ็ปต์ที่ผมทำงานอยู่แล้ว ซึ่งตรงกัน และใช้ศิลปะเพื่อเชื่อมโยงให้เข้ากับชีวิต ให้เขาเอากลับไปใช้ในชีวิตจริงของเขาได้ และตัวงานศิลปะที่ผมทำเอง ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องพวกนี้ครับ ทำงานทั้งด้านในของเราเองด้วย เมื่อเราทำงานด้านในแข็งแรงมากพอแล้ว เชื่อว่าจะไปช่วยทำให้ อาจจะไม่ได้ช่วยแก้ไขอะไรในสังคมได้เลยทีเดียว แต่แน่นอนว่ามันเริ่มเปลี่ยนตัวเองได้ภายใน ผมเชื่อว่าถ้าเราเปลี่ยนตัวเองได้ก่อนในระดับหนึ่ง มีความเข้าใจในตัวเอง มีความมั่งคงในตัวเอง เชื่อว่าอันนี้ก็จะเป็นพลังที่เราจะไปขับเคลื่อนหรือไปสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในสังคมได้ผมก็เอากระบวนการนี้มา จริงๆ แล้วก็ทำงานกับตัวเองอย่างนี้โดยใช้งานศิลปะหลากหลายแขนง แล้วผมก็ออกแบบการเรียนรู้มาเพื่อที่จะให้เด็ก ๆ ในเวลาที่สั้น ซึ่งอาจจะไม่ได้เห็นว่าเด็กเขาเปลี่ยนแปลงเลยทันที แต่ผมเชื่อว่าเป็นจุดหนึ่งที่เป็นจุดที่ไปสะกิดหรือไปกระตุ้น ต่อมบางอย่าง หรือความรู้สึกบางอย่าง หรือภายในของเขา เพื่อให้เขากลับไป เขาไปทำงานสิ่งเหล่านี้ต่อ เด็กก็จะได้เห็นความงามในตัวเอง ได้เห็นคุณค่าในตัวเอง ได้กลับมาดูตัวเอง กลับมาทบทวนตัวเองว่าจริง ๆ แล้วตัวเขาเองมีคุณค่าขนาดไหนในการที่จะดำรงอยู่บนโลกใบนี้ และเมื่อคุณแข็งแรงมากพอ คุณก็สามารถที่จะส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้กับคนอื่นได้ ให้กับสังคมได้ ให้กับโลกได้

จริงๆ แล้วทุกคนมีศิลปะอยู่ในตัว คำทั่วไปที่เขาใช้ก็คือศิลปิน ทุกคนเป็นศิลปินครับ ทุกคนมีศิลปะอยู่ในตัวแล้ว ทุกคนมีความงามอยู่ในตัว ก็มีคำที่เขาพูดกัน หลายๆ คน คือความจริง ความดี ความงาม เหล่านี้มันคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แต่ทีนี้เราจะมาถอดความจริง ความดี ความงาม ซึ่งแต่ละคน ความจริงก็มีความจริงหลากหลายรูปแบบอีก ความงามก็มีความงามหลากหลายรูปแบบ ความดีก็ไม่สามารถตอบได้ว่าอะไรดีที่สุด แต่สิ่งเหล่านี้ ผมเชื่อว่ามาช่วยขัดเกลานะ กล่อมเกลาจิตใจคนให้มองเห็นความงามที่เรียบง่าย เห็นความเรียบง่าย เห็นธรรมชาติที่เรียบง่าย เห็นความงาม และความงามนั้นไปทำงานกับภายในของเราเอง เมื่อคนเบิกบาน ผมรู้สึกว่าเมื่อเขาเบิกบานแล้วก็สามารถที่จะสร้างความสวยงามให้กับคนอื่นต่อไปได้

ซึ่งที่บอกว่าเป็นความจริง เพราะนี่คือความจริงอยู่แล้วว่าทุกคนมีสิ่งเหล่านี้อยู่ตั้งแต่แรก เพียงแต่ว่า ในทุกวันนี้เชื่อว่าหลายคน ก็รู้สึกว่าโลกเร็วมากเลยความเจริญเติบโตของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของโลกที่มันเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว บางทีคนเราหลงลืมความเรียบง่ายแบบนี้ การกลับเข้ามาสู่ธรรมชาติ ธรรมชาติที่เป็นธรรมชาติจริง ๆ ที่เราเห็นรอบตัว สิ่งเหล่านี้ ผมว่าเป็นความงามในโลก ซึ่งเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่เราเองบางทีหลงลืมมันไป แล้วหลงลืมศิลปะหรือหลงลืมความงามที่อยู่ในตัวเราเอง อันนี้ผมเชื่อว่าศิลปะจะช่วยค่อย ๆ พาเด็ก ๆ กลับเข้ามาทบทวน กลับมามองสิ่งเหล่านี้ และเห็นคุณค่า และค่อย ๆ พัฒนาสิ่งเหล่านี้ไป ผมอาจจะใช้คำว่าศิลปะจะช่วยยกระดับจิตใจของคนเรา ในตัวเราเอง ผมทำงานศิลปะมา ผมก็ยังเป็นเด็กในเรื่องนี้นะครับ แต่ยังพยายามทำงานต่อ เพื่อที่จะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ พัฒนาจิตใจของเรา ยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ และผมเชื่อว่าศิลปะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้สิ่งนี้ ช่วยให้คนเราค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้นทางด้านใน ภายใน ค่อย ๆ ยกระดับไปเรื่อย ๆ พอตัวเราเองสัมผัสมาแล้ว รู้สึกว่าช่วยเราจริง ๆ นะ เราคิดว่าพอเราทำงานศิลปะ เบื้องต้นที่ได้เลยคือคุณมีสติ มีสมาธิ คุณได้ความสุข คุณได้ความสนุก คุณสดชื่น คุณทำงานศิลปะแล้วความรู้สึกแรกเลยคืออย่างนั้น

ทีนี้ตัวกระบวนการทำงานผมค่อย ๆ พาเขาเดินทางไปทีละนิด ๆ สำคัญคือเราไม่ได้มองว่าผลงานจะออกมาสวยงามเลิศเลอเพอร์เฟ็คเทคนิคหรูอลังการ แต่อยู่ที่กระบวนการเรียนรู้ของเขาที่ระหว่างเขาเริ่มทำงาน จากภายนอกที่มากระทบเขา เขารู้สึกอะไร เขาสามารถถ่ายทอดความรู้สึกของเขาได้จริง ๆ แล้วเมื่อรับสัมผัสจากภายนอก สิ่งที่เข้ามากระทบ แล้วพอเขารู้สึกแล้ว เขารู้สึกแล้วเขามาคิดทบทวนสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบเรา มามีสติ ใช้ปัญญา ทำให้เกิดสติ มีปัญญากับงานแล้วสร้างงานศิลปะออกมา เมื่องานศิลปะออกมาแล้ว ตัวงานก็จะไปสื่อสารกับคนอื่นต่อ ผมว่าเป็นกระบวนการทำงานที่อาจจะใช้เวลานะ แต่เราก็ยังมีความเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยได้ ช่วยให้เด็ก ๆ ก้าวข้ามอุปสรรค ก้าวข้ามบางอย่างได้ และช่วยเขากลับมาเห็นคุณค่าในตัวเขาเอง อย่างนี้นะครับ

สำหรับกระบวนการ จริง ๆ เราเริ่มจากให้เขาใช้สิ่งที่เขามีอยู่ในตัวเอง เริ่มจากตัวเขาเองก่อน แล้วผมก็ค่อย ๆ พาเขาไปจากตัวเอง เริ่มแบ่งปันกับเพื่อนแล้ว แลกเปลี่ยนกัน แลกเปลี่ยนซึ่งอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น การเรียนรู้ที่เราได้เรียน แลกเปลี่ยนกัน และวิธีการที่ผมทำคือผมเริ่มค่อย ๆ ทำให้เขามีสติ สร้างสติกับเขา ให้เขามีสติกลับมารู้สึกตัวนะครับ กลับมาอยู่กับปัจจุบัน มาทำงานกับตัวเอง อยู่กับปัจจุบันให้เห็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และลองรับรู้สิ่งที่มันอยู่รอบตัวเราว่าเป็นอย่างไร ผมเอาเรื่องผัสสะ การสัมผัสต่าง ๆ ที่เข้ามา อายตนะทั้งหมดที่อยู่ในตัวเรา มนุษย์เรามีอยู่แล้ว และบางทีทุกวันนี้เราหลงลืมไป ก็พาเขากลับมา ลองใช้สิ่งนี้ มีสติกับสิ่งนี้ดูซิ ผมก็ลองทำดูให้เขารู้สึกอย่างนี้นะครับ ส่วนหนึ่งของการทำงานศิลปะจะใช้เรื่องพวกนี้เยอะ เรื่องผัสสะที่เข้ามาหาตัวเรา ประสาทสัมผัสต่าง ๆ การรับรู้ ก็ให้เขาได้รับตรงนี้ก่อน จากประสบการณ์ตรงนี้ เป็นประสบการณ์ ณ เวลานั้น เพราะบางทีเมื่อก่อนเขาอาจไม่ค่อยได้นึกถึง หรือหลงลืมไป ขาดสติ เราก็พาเขามีสติกลับมารับรู้ รู้สึกตัวเอง

แล้วหลังจากนั้นตัวกิจกรรมต่าง ๆ มีทั้งที่ผมใช้ฐาน เป็นฐานกายที่เขาได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนกายโดยการเคลื่อนไหวเพื่อให้เขารู้สึกตัว น่าจะช่วยให้เขากลับมาอยู่กับตัวเองได้เร็วขึ้น ได้ง่ายขึ้น ตรงนี้เราพาเขาไปจนเขามีสติพร้อม ได้รับรู้สิ่งต่าง ๆ แล้ว และลองให้เขาลองถ่ายทอด ถ่ายทอดสิ่งนั้น ถ่ายทอดความรู้สึก ถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ แล้วลองแลกเปลี่ยนกับเพื่อน บอกความรู้สึกของตัวเองได้ รับความรู้สึกของเพื่อนได้ ทั้งรับและส่ง แต่เราจะไม่ตัดสินว่าความรู้สึกใครผิดหรือถูก ไม่มีการตัดสินเป็นอิสระ เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นตรงนั้น เมื่อเขารับรู้ตรงนี้ได้แล้ว

ตัวกิจกรรม ผมก็จะก้าวต่อไปแล้ว ทีนี้เริ่มให้ลงมือทำ ผมจะพาเขาทำกิจกรรมที่ให้เขาได้เริ่มมีความสร้างสรรค์ ส่วนหนึ่งสำคัญที่การเรียนรู้คือการสร้างสรรค์ ให้เขาลองทำพู่กันใช้เอง ผมลองพาเขาทำพู่กันใช้เอง ซึ่งกระบวนการทำพู่กันใช้เอง ก็จะเริ่มต้นตั้งแต่เขาเข้าใจหรือเห็นวัสดุที่จะเอามาทำได้ หยิบจับอะไรมาทำก็ได้ เห็นความง่าย ความเรียบง่าย และลองให้เขามีความคิดสร้างสรรค์ ลองออกแบบดูซิว่าพู่กันของตัวเองเป็นอย่างไร อันนี้เอามาทำเป็นพู่กันได้ไหม ลองไปดูซิว่าวัสดุนี้โอเคไหม ตรงนี้เขาเริ่มคิดแล้ว และมีความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นในตัวเขาแล้ว จากที่มีสติรับรู้สิ่งต่าง ๆ แล้วค่อยพาเขามา แล้วก็ลองหาเครื่องมือในการที่จะทำงาน เมื่อเขาทำพู่กันเอง ตัวเขาทำพู่กันเอง ถ้าเห็นนะครับ สังเกตว่าผมจะไม่ได้ให้โจทย์หรือให้อะไรเขาทั้งหมด ให้เขาหาวิธีของเขาเอง อย่างคุณจะทำปลายพู่กันให้แหลมได้อย่างไร บางคนใช้มีดเหลา บางคนใช้ฝน คุณจะทำพู่กันให้เป็นขน เป็นขุย เป็นอะไรต่างๆ ได้อย่างไร จะทุบ จะบีบ จะตัดอย่างไร หรือให้คุณลองหาดูซิว่าวัสดุธรรมชาติที่มันมีอยู่ อะไรมันเอามาทำเป็นพู่กันได้บ้าง อันนี้มันเกิดความคิดสร้างสรรค์แล้ว และเขาก็ลองทำ ระหว่างนั้นก็มีสติ มีสมาธิ อยู่กับสิ่งที่ทำด้วย เพราะเขาได้จับ ได้เลือก ได้เฟ้น ได้วิเคราะห์ ได้ดูว่าใช้ได้ไหม จริงไหม พันพู่กัน เอากระดาษกาว เอาเชือกผูก เรียงขน เรียงก้านกิ่งไม้ให้กลายเป็นปลายพู่กัน อันนี้ก็คืออันหนึ่งที่พาเขากลับมาอยู่กับตัวเอง มีสติทำงาน จนกระทั่งได้ผลงานออกมา ได้เป็นพู่กันผมก็จะเริ่มพาเขาทำงานแล้ว ทีนี้เราก็จะกลับมา แต่ในกระบวนการทั้งหมด ผมจะค่อย ๆ พาเขากลับมาอยู่กับตัวเอง กลับมาอยู่กับสติ ทบทวน อยู่ ณ เวลานั้น อยู่กับปัจจุบันเสมอ ๆ แล้วค่อย ๆ เริ่มทำงาน

อันหนึ่งที่ผมใช้ถ้าสังเกตเห็นจะมีเรื่องดนตรีเข้ามา อันนี้ก็เป็นอันหนึ่งที่มันเป็นสื่อหนึ่ง ที่สร้างสุนทรียะได้ เข้ามาช่วยในการที่จะพาเขาไปสู่ความมีสติ มีสมาธิ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งผลงานเราก็บอกแล้วว่าเราไม่ได้เอาความสวยงาม แต่เราเน้นกระบวนการหลังจากนั้นผมก็ลองให้เขาทำงาน ลองทำงานแค่ชิ้นเดียวจากพู่กันที่เขาทำ โดยเราให้เขาเขียนรูป เป็นรูปที่เราไม่ได้ตั้งโจทย์อะไรเลย ให้เขาลองคิดดูว่านั่งอยู่กับตัวเองมีความรู้สึกอย่างนี้ เวลาเรามีสติ มีสมาธิ แล้วสุดท้ายแล้ว เราเขียนรูปออกมา เรียกว่าหนึ่งลมหายใจ จุ่มสีแล้วเขียนเลย ไม่ต้องคิดอะไรทั้งนั้น ถูกผิดไม่มีอยู่ในหัว แต่ใช้ความรู้สึก แล้วก็จุ่มแล้วเขียน มันเกิดอะไรขึ้นกับเขา หลังจากนั้นทั้งหมดในกระบวนการที่เราทำงาน เราจะมีการมานั่งพูดคุยกัน แลกเปลี่ยน แล้วมาถอดกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเราเห็นอะไรกันบ้าง เรารู้สึกอย่างไรบ้าง อันนี้ครับ แล้วสิ่งเหล่านี้มันจะสะท้อนให้เราเห็นว่าจริง ๆ แล้วตัวงานพาเขาไปถึงไหน พาเขาก้าวข้ามหรือเดินขึ้นบันไดไปอีกขั้นไหม ซึ่งตัวเราเองที่เป็นกระบวนกร ระหว่างทำงาน เราก็จะใช้ตรงนี้สังเกตเขาด้วย ดูเขาด้วยว่าเขาก้าวขึ้นมาหรือยัง หรือไปถึงไหนแล้ว แต่จริง ๆ พอดูงานออกมาก็จะเห็นว่าสิ่งที่เขาทำมันได้ผลมากน้อยแค่ไหน ผมว่าสุดท้ายตัวเขาเองเป็นคนรับรู้ว่าตัวเขาเองได้ยกระดับของตัวเองขึ้นมามากน้อยขนาดไหนนะครับ

มาถึงกิจกรรมดูหนังเป็นเรื่องของประสบการณ์ ผมเลือกเอาหนังที่เป็นชีวิตจริงของศิลปินที่เขาทำงาน พอดีเราทำงานศิลปะ พูดเรื่องงานศิลปะ ผมก็เอาหนังที่เขาพูดถึงเรื่องของศิลปินคนหนึ่งที่มีชีวิตในการเลือกทางเดินของชีวิตที่จะมาเป็นคนทำงานศิลปะ หรือเป็นศิลปิน เขามีฝีมือ หยิ่งทะนงในศักดิ์ศรีของตัวเอง เชื่อมั่นในเส้นทางของตัวเองว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เขาเลือกที่เขาเดิน แต่ในหนังบอกก็คือว่าศิลปินคนนี้ มั่นคงในบางเรื่องแต่ขาดความรับผิดชอบในบางเรื่องคือเรื่องการใช้ชีวิตของเขา ในหนังมีเรื่องของการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้ยาเสพติด อะไรต่าง ๆ นานา แล้วใช้ชีวิตที่ไม่มีระเบียบแบบแผน ตรงนี้สำคัญสำหรับเด็ก ๆ นะ ถ้าเขาได้เห็นต้นแบบบางเรื่องหรือได้เห็นชีวิตของคนบางชีวิตที่เป็นบทเรียนให้เขาได้ว่าคุณไม่ต้องไปทำแบบนี้หรอก คุณเห็นแล้ว คุณจะไปทำแบบนี้อีกหรือ ซึ่งอันนี้หนังเราก็พาเขาให้เห็นเรื่องราวเหล่านี้ว่าถ้าตัวหนังเองได้บอกแล้วว่าคุณมีฝีมือก็จริงนะ คุณเก่งก็จริงนะ แต่คุณไม่จัดการชีวิตคุณเลย คุณไม่จัดการระเบียบในชีวิตคุณ คุณไม่มีสติ คุณไม่มีปัญญา คุณไม่มีความรู้มากพอในการที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ในสิ่งที่คุณเลือก อันนี้ผมว่าถ้าเขาดูจริง ๆ นะครับ เขาก็จะเห็นตรงนี้ เราก็อยากให้เขาเห็นชีวิต วิถีชีวิตจริง ๆ ที่คนที่เขาดำเนินวิถีชีวิตตรงนี้ ซึ่งก็เปรียบเทียบในชีวิตของเขาเอง ชีวิตจริงของเขา แล้วเราก็จะมาถอด มาคุยกัน มาถอดบทเรียนนะ ถอดการเรียนรู้ที่เกิดจากหนัง ว่าเขาได้อะไรตรงนั้นบ้าง มุมที่เขาเห็น มุมที่เขารู้สึก แล้วมันเชื่อมโยงกับชีวิตเขาอย่างไร เชื่อว่าอันนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถจะเอาไปตระหนักรู้ได้ว่าชีวิตคนเรามันก็ไม่ได้ง่ายนะในการที่เราจะดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างมีความสุข ประสบความสำเร็จควรจะมีอะไรบ้าง ตัวหนังเขาก็จะบอกเรื่องราวเหล่านี้ให้เขาเห็นภาพชีวิตของคน ๆ หนึ่งที่เลือกเดินแบบนี้แล้วมันเป็นอย่างไร เปรียบเทียบกับตัวเขาเอง ในวัยนี้ ถ้าเขาอีก 10 20 หรือ 30 ปีข้างหน้า จนเขาแก่ ชีวิตเขาจะเป็นอย่างไร เขามองเส้นทางชีวิตของเขา เห็นไหม

วันที่ 2 เราก็จะใช้สื่ออีกแขนงหนึ่ง เราก็จะพาเขาทำงานต่อจากวันแรก จะเชื่อมโยงกันมาถึงวันนี้ กระบวนการมันต่อเนื่องมา ให้เขาทำงานต่อ แล้วเราก็จะให้เขาสร้างงานชิ้นหนึ่งชิ้นใหญ่ งานของตัวเอง 1 ชิ้น เราก็จะดูว่าอันหนึ่งคือเทคนิคและทักษะที่เขามี ทีนี้เขาก็จะลองใช้สิ่งเหล่านี้ดู ซึ่งกระบวนการนี้ ถ้าถอดออกมาจริง ๆ จะเห็นโครงสร้างง่าย ๆ เลย โครงสร้างก้อนแรก ตัวเขาเองสัมผัสและรับรู้อะไร เมื่อสัมผัสและรับรู้อะไรแล้ว รู้สึกอย่างไร มาสู่ก้อนที่ 2 ก้อนนี้ก็จะเป็นเรื่องของการหาคอนเซ็ปต์ หาแนวคิด หารูปแบบว่าเราจะนำเสนออย่างไร ก้อนที่ 3 ก็จะเป็นการนำเสนอ คือสร้างผลงานออกมา จนกลายเป็นผลงานนะครับ เขาก็ได้เริ่มลองทำเรื่อย ๆ มาจนมาถึงวันนี้ภาคเช้าในช่วงต้น เราก็ให้เขาทำงานโดยใช้กระบวนการเหล่านี้เหมือนเดิม กลับมาทำงานอีกครั้งหนึ่ง เขาก็จะสร้างงานขึ้นมา 1 ชิ้น พอสร้างงานขึ้นมาแล้วถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองคิด ตัวเองรู้สึกออกมา นำเสนอผลงาน แล้วก็รับฟังผลงานของเพื่อนด้วย เปิดใจรับฟังผลงานของเพื่อน ชื่นชมคนอื่น ชื่นชมตัวเองได้ ก้อนต่อไปในช่วงภาคบ่าย อันนี้ผมจะชวนเขาทำงาน เป็นงานศิลปะจัดวาง บวกไปด้วยศิลปะแสดงสด แล้วก็ใช้สื่อต่าง ๆ เป็นศิลปะสื่อผสม เอามารวมกันให้หมดเลย โดยใช้ร่างกายของตัวเองด้วย ให้ลองหาวัสดุอุปกรณ์อะไรต่าง ๆ นานาที่อยู่ในบริเวณนี้ที่เขามองเห็น ที่เขาอยากใช้สิ่งนี้สื่อสารแทนความรู้สึกต่าง ๆ แทนประเด็นต่าง ๆ แทนเนื้อหาต่าง ๆ แล้วเราก็จะสร้างงานขึ้นมาเป็นงานศิลปะจัดวาง 1 ชิ้น เราก็จะแบ่งเด็ก ๆ ออกเป็นกลุ่ม ๆ แล้วเราจะชวนเขาหาประเด็นพูดคุยว่าเราอยากจะสื่อสารเรื่องอะไร อยากจะพูดเรื่องไหน เพื่อที่จะนำเสนอ เป็นงานศิลปะจัดวางแบบสื่อผสม แล้วเราก็มาถอดการเรียนรู้กัน

สำหรับผมคิดว่าสำหรับเด็ก ๆ กลุ่มนี้ ตอนแรก เราก็ทำงานโดยการพูดคุยมาก่อนว่าผู้เข้าร่วมเป็นอย่างไร เด็ก ๆ กลุ่มนี้เป็นอย่างไร สอบถามจากพี่เลี้ยงบ้าง สอบถามจากวิทยากรคนก่อน ๆ บ้าง จากพี่จากน้อง เขาก็บอกว่า ผมใช้คำว่าเด็ก ๆ ยังไม่นิ่ง ยังมีความเป็นตัวของตัวเองที่มีผลกับคนอื่น มีผลกับกลุ่ม มันทำให้เกิดภาวะบางอย่างในการทำกิจกรรมในค่าย ทำให้ไปขัดกระบวนการเรียนรู้บ้าง อะไรต่าง ๆ นานา ทำให้เราก็เห็น แต่ทราบข้อมูลมาบ้างว่าโดยพื้นฐานเบื้องหลังของเด็ก ๆ เป็นอย่างไร เราก็เลยจัดกระบวนการมาเพื่อช่วยเขาตรงนี้ และหลังจากที่ทำมาแล้ว ผ่านมา เรากลับรู้สึกว่าเราก็เห็นนะว่าเด็กพยายามนะ บางกลุ่มพยายาม บางกลุ่มก็ไม่พยายาม และไม่สนใจเลย แต่เราก็จะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด โดยเราก็ใช้กระบวนการหรือสิ่งที่เราเอามาค่อย ๆ พาเขาไป สิ่งที่เราเห็นคือเขาก็พยายาม เรากลับรู้สึกว่าสิ่งที่เราเห็นวันแรกที่เราไม่ได้เข้ากระบวนการ มาเป็นผู้สังเกตการณ์ เราก็เห็นว่าก็ช่วยได้นะ ช่วยให้เขานิ่งขึ้น มีสติอยู่กับตรงนี้มากขึ้น แล้วทำงานออกมาได้ ถ้าวัดกันที่ผลงาน ทุกคนก็ทำงานออกมาได้ แต่ในตัวกระบวนการเราบอกว่าเราเน้นที่กระบวนการเรียนรู้ อาจจะต้องใช้เวลา แต่งานออกมาเป็นผลที่เราเห็นแล้วว่าเขานิ่งขึ้น เขามีสติมากขึ้น เขาสามารถที่จะสร้างงานออกมาจนจบได้เขาได้เห็นกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นจนทำงานจนจบ ผมเชื่อว่าอันนี้ก็เป็นพลังอันหนึ่งให้เขา ผมเชื่อว่าเขาก็ภูมิใจในตัวเขาเองนะ แต่เขาไม่พูด เราดูจากแววตา สีหน้า เราก็เห็นว่าเขามีความสุขมากขึ้นนะ ในมุมของเรานะ เราก็รู้สึกว่ากิจกรรมนี้ช่วยได้นะ ช่วยได้ในระดับหนึ่งที่เขาจะก้าวข้ามบางจุดไป แล้วเอาตรงนี้กลับไปใช้ได้นะครับที่ผมเห็นครับ #

“ความงามนั้นไปทำงานกับภายในของเราเอง เมื่อคนเบิกบาน 

ผมรู้สึกว่าเมื่อเขาเบิกบานแล้วก็สามารถที่จะสร้างความสวยงาม

ให้กับคนอื่นต่อไปได้”