“สายสุนีย์” กับการทำหน้าที่ "พี่เลี้ยงที่ดี" “เอื้ออาทร ใจเย็น สร้างสรรค์ รับฟัง ใจกว้าง”

­

สายสุนีย์ แก้วสอน (ปุ้ย) ผู้ช่วยนักวิชาการสาธารณสุข เทศบาลตำบลกันตวจระมวล จังหวัดสุรินทร์ และเคยเข้าอบรม “นักถักทอชุมชน” ทต.กันตรจระมวล เป็นหนึ่ง 11 อปท. ที่เข้าร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล “ปุ้ย”เป็นพี่เลี้ยงที่ทำงานใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่มาก เมื่อมีการอบรมเยาวชนในค่ายๆ ต่าง “ปุ้ย” ก็จะมาเข้าร่วมเรียนรู้ไปกับเด็กๆ ด้วย ล่าสุดได้เข้าร่วมเรียนรู้ในค่ายพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนสู่การเป็นพลเมืองรุ่นใหม่ที่สามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมารับใช้ชุมชนสังคมอย่างสร้างสรรค์ ร่วมสะท้อนความคิดเห็นประโยชน์ของการพาเด็กเยาวชนเข้าค่ายครั้งนี้ และการเปลี่ยนแปลงของตนเองที่ชัดเจนจากขี้โมโหกลายเป็นคนใจเย็นกว่าเดิม และแนวคิดการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่เปิดพื้นที่ให้เด็กได้มีกิจกรรมฝึกฝนทักษะด้านต่างๆ เชิญชวนอ่านเรื่องราวที่น่าสนใจกัน

­

­

เป้าหมายในการพาเด็กมาเข้าค่ายครั้งนี้คืออะไร

อยากให้เด็กมีทักษะในการเป็นผู้นำ และรู้จักการดูแลตัวเอง รู้จักการอยู่กับผู้อื่น รวมถึงมีภาวะผู้นำและสามารถนำกระบวนการนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ นอกจากนั้นอยากพัฒนาชุมชนของตัวเอง ซึ่งเด็กยังไม่มีทักษะและความรู้ โดยมารับความรู้และทักษะจากตรงนี้ เพื่อนำกลับไปทำโครงงานเพื่อชุมชน


ความรู้อะไรจากค่ายนี้ที่คิดว่าเด็กได้รับประโยชน์เต็มที่

ความรู้ที่เด็กจะได้เต็มที่ คือในเรื่องารวิเคราะห์สภาพปัญหาชุมชน โดยเด็กแต่ละพื้นที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าตำบลของตัวเองมีปัญหาอะไร หรือรู้แต่ไม่ได้ใส่ใจกับปัญหาตรงนั้น แต่พอมาเข้าค่ายครั้งนี้ได้วิเคราะห์สภาพปัญหาชุมชนของตัวเองจะได้รู้ว่าชุมชนของตัวเองมีปัญหาอะไร และเขาอยากจะแก้ปัญหาในเรื่องอะไร เด็กที่พามาทั้งหมดมี 7 คน รวมเจ้าหน้าที่อีก 2 คน รวมเป็น 9 คน และคิดว่าถ้าเด็กมาอบรมในค่ายครั้งนี้ แล้วกลับไปอยากให้เด็กสร้างแกนนำใหม่เพิ่มขึ้นมา และสร้างเครือข่ายเพื่อทำงานให้กับชุมชนของเฃา โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่ผู้ใหญ่ไม่เคยมองเห็น หรือมองเห็นแต่ไม่ให้ความสำคัญ แล้วเด็กกลุ่มนี้จะเข้ามาจัดการและทำให้ชุมชนของเขาน่าอยู่ยิ่งขึ้น

เยาวชนเลือกทำโครงการเกี่ยวกับเรื่องอะไรและเทศบาลจะสนับสนุนอย่างไร

มี 2 โครงการ 1.โครงการสืบสานประเพณี และ 2.โครงการเกี่ยวกับเรื่องปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้ในชุมชนทางเทศบาลเองมีโครงการที่พัฒนาเด็กอยู่แล้ว โดยมีงบประมาณสนับสนุนที่ตั้งไว้ทุกปี ปีละ 50,000 บาท แต่เราไม่มีแกนนำเด็กและเยาวชนมาใช้เงินตรงนี้ และการแก้ปัญหาส่วนใหญ่เป็นความต้องการของผู้นำเอง แต่ไม่ได้เป็นความต้องการของเด็กโดยตรง แต่การเข้าค่ายครั้งนี้ทำให้เด็กได้คิดเองทำเองและต่อไปเขาสามารถใช้งบประมาณของเทศบาลในการทำงานได้ด้วยส่วนหนึ่ง


คาดหวังกับเด็กกลุ่มนี้อย่างไรบ้างความคาดหวังกับเด็กกลุ่มนี้

คือให้เขาสามารถกลับไปอยู่ในชุมชนของเขาแล้วรวมกลุ่มกันได้อย่างมีพลังหรือสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์เล็กๆน้อยๆ ไม่ต้องใหญ่โต แต่สามารถรวมกลุ่มกันได้ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข

การที่มาเข้าค่ายในครั้งนี้สำหรับตนเองได้รับประโยชน์เรื่องใดบ้าง

สิ่งที่ได้ก็คือได้ทบทวนความรู้จากเดิมที่เคยเข้าค่ายที่ขอนแก่นมาแล้ว และในครั้งนี้ทำให้หลายอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น เรื่องของอารมณ์และความรู้สึกที่เรารู้ทันอารมณ์ของตัวเอง รู้ความต้องการของตัวเอง รู้ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นและได้จัดการมัน ไม่ได้ปล่อยให้ผ่านไป ทำให้เราได้ทบทวนตัวเองว่าเป็นคนแบบไหน รู้สึกอย่างไร และทำให้คุยกับคนอื่นหรือปรับตัวเข้ากับคนอื่น รวมถึงทำงานเข้ากับคนอื่นง่ายขึ้น จากแต่ก่อนเป็นคนขี้หงุดหงิด โมโหง่าย อารมณ์ร้อน เวลาไม่พอใจก็จะเหวี่ยงทันที แต่ตอนนี้ได้ทบทวนตัวเองมากขึ้น ทำให้เข้าใจอารมณ์ตัวเองและรู้สึกว่าควบคุมตัวเองได้มากยิ่งขึ้น


นอกจากนั้นยังมีทักษะหรือความรู้อะไรบ้างที่เราได้

ได้ทักษะเรื่องการทำงานเป็นทีมซึ่งแต่ก่อนเป็นคนสั่งการ คือคิดและมอบหมายหน้าที่โดยเราไม่ได้ฟังความคิดเห็นของคนอื่น ทั้งที่คนอื่นมีความคิดเห็นที่ดี แต่ตอนนี้เราเรียนรู้ที่จะทำงานเป็นทีมมากยิ่งขึ้น เรารอได้ เพราะงานบางงานไม่ต้องรีบเร่ง สามารถฟังความคิดเห็นของคนอื่นแล้วค่อยมอบหมายหน้าที่ให้ตามความถนัดของคนอื่นได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ อีกเรื่องหนึ่งคือภาวะการเป็นผู้นำเพราะบางอย่างถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาจัดการ งานก็ไม่เดิน ทำให้เรากล้าและมีความมั่นใจในตัวเองมากยิ่งขึ้นเพราะถ้าไม่มีใคร แล้วเราลุกขึ้นมานำก็จะทำให้งานเดินไป

­

ในส่วนของเรื่องความรู้ที่จะนำไปใช้ได้จริงมีเรื่องอะไรบ้าง

ความรู้ที่นำไปใช้ได้จริงมีเรื่องของการทำงานเป็นทีม และเรื่องการจัดการอารมณ์และความรู้สึกของ ตัวเอง รวมถึงเรื่องของการนั่งสมาธิภาวนาที่ทำให้มีสติมากยิ่งขึ้นซึ่งสามารถนำไปใช้ได้เลย


อะไรที่คิดว่าจะนำไปใช้ต่อเนื่องและรู้สึกชอบมาก

สิ่งที่ชอบมากเป็นเรื่องการจัดการอารมณ์ เพราะถ้าจัดการอารมณ์ไม่ได้ก็จะเกิดผลกระทบกับผู้อื่น กับงานที่ทำอยู่ กับชีวิตครอบครัว และเรื่องการนั่งสมาธิก็สำคัญ เพราะเมื่อเราเจอปัญหาต่างๆแต่เราไม่มีสมาธิไม่มีสติก็แย่เหมือนกัน

เทศบาลให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาเด็กอย่างไรบ้าง

ท่านนายกฯ (นายสุข แนมดี) มีนโยบายที่จะพัฒนาเด็กอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การให้โอกาสเด็กเข้ามาทำงาน และในการเข้ามาบริหารงบประมาณหรือใช้เงินของเทศบาล โดยเปิดโอกาสให้เด็กที่มีความรู้ความสามารถใช้เทศบาลเป็นพื้นที่ในการแสดงออก เช่น ในงานวันเด็ก งานผู้สูงอายุ หรือกิจกรรมต่างๆของเทศบาล โดยท่านจะดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมตลอด แต่เรายังไม่มีกำลังหลักที่สามารถทำงานได้ทุกงาน จะเข้ามาเฉพาะงานเท่านั้น เช่น งานวันเด็กจะมีเด็กเข้ามาทำงานอย่างเต็มที่ แต่จะเข้ามาไม่เยอะ ซึ่งถ้าได้พัฒนาแกนนำ ได้นำเด็กมาอบรมเรื่อยๆ จากรุ่นต่อรุ่นก็จะสามารถทำงานได้เต็มที่มากขึ้น

การให้โอกาสเด็กได้เข้ามาทำงานร่วมกับเทศบาลมีเป้าหมายอื่นๆอะไรอีกบ้าง

เป็นการพัฒนาตัวเด็กเองและปูพื้นฐานให้กับเด็กในการทำงานในอนาคตเพราะบางอย่างไม่สามารถเรียนรู้ได้ในห้องเรียน แต่เรียนรู้ได้จากประสบการณ์จริง เช่น เรื่องการทำงานเป็นทีม เรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ เรื่องการ ติดต่อประสานงานระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ 

มีอุปสรรคอะไรที่เราไม่สามารถสร้างแกนนำเด็กได้

ไม่สามารถส่งต่อรุ่นต่อรุ่นได้ คือเราต้องหาแกนนำใหม่เรื่อยๆ เพราะเด็กไม่มีภาวะการเป็นผู้นำ พอรุ่นพี่จบไป เด็กก็ไม่กล้าขึ้นมานำแล้วเกิดการรอ และเมื่อไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าไปเด็กก็จะหาย ทำให้ไม่เกิดการนำที่ส่งต่อรุ่นต่อรุ่นได้

­

จากจุดนี้อยากแก้ไขและจะทำอย่างไร

ต้องปูพื้นฐานตั้งแต่ประถมขึ้นมาอย่างที่กำลังทำอยู่ เพราะถ้าใช้เด็กประถมมาเป็นแกนนำ ทำให้เราสามารถร่วมงานกันได้หลายปี แต่ถ้าเป็นเด็กมัธยมต้นหรือชั้นมัธยมปลาย เมื่อเขาจบการศึกษาแล้วไปเรียนต่อที่อื่น จะทำให้ขาดคนทำงาน ดังนั้นเรื่องงานเด็กและเยาวชนจึงคิดว่าต้องใช้เด็กประถม โดยวางแผนให้เขาเรียนรู้ ซึ่งมองว่าการที่เรานำมาฝึกตั้งแต่เด็ก เพราะอย่างน้อยเขาเป็นคนในพื้นที่และมีเวลาทำงานเด็กและเยาวชนในพื้นที่หลายปี

­

ขณะที่เรามีบทบาทเป็นพี่เลี้ยง คิดว่าพี่เลี้ยงต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง

ในฐานะพี่เลี้ยง อันดับแรกต้องดูแลทั้งเรื่องกายและใจ ดูแลความปลอดภัยให้กับเขา รวมถึงเป็นกำลังใจและคอยกระตุ้นเพื่อส่งเสริมให้เขาแสดงออก คอยผลักดันให้เขาแสดงออกได้อย่างเต็มที่นอกจากนั้นต้องคอยอำนวยความสะดวก เพราะบางปัญหาที่เด็กยังไม่กล้าตัดสินใจหรือทำไม่ได้ จะมีตัวเราเองเป็นคนประสานงานและคอยไปคุยคอยกำกับให้เขาได้ทำงานสะดวกยิ่งขึ้นทักษะสำคัญของการเป็นพี่เลี้ยง คือ มีความเอื้ออาทร ใจเย็น มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น เปิดใจ และต้องใจกว้าง


อยากฝากอะไรถึงผู้ใหญ่ในพื้นที่บ้าง

อยากฝากผู้ใหญ่ในพื้นที่ว่าต้องให้โอกาสเขา อย่าตัดสินเขาเพียงเพราะเขาเป็นเด็ก ให้เปิดใจยอมรับในความสามารถของเขา และอย่ากดดัน แต่ต้องคอยช่วยเหลือสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่ให้เขาได้แสดงออกในสิ่งที่เขามีอยู่ เพราะไม่มีใครทำดีได้ตั้งแต่ครั้งแรก ฉะนั้นไม่ใช่ให้เขาทำงานเพียงครั้งเดียวแล้วหยุด ให้เขาเลิกทำ แต่ต้องฝึกให้เขาทำไปเรื่อยๆ.


ถอดบทเรียน จากค่ายพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนสู่การเป็นพลเมืองรุ่นใหม่ที่สามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมารับใช้ชุมชนสังคมอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 3 การขับเคลื่อนกลไกพัฒนาเยาวชนด้วยการจัดการความรู้และกระบวนวิจัยเพื่อท้องถิ่น ครั้งที่ 2 วันที่ 30 เมษายน-11 พฤษภาคม 2561ณ ศูนย์ปราชญ์พ่อคำเดื่อง ภาษี บ้านโนนเขา หมู่ 8 ตำบลหัวฝาย อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ สนับสนุนโดย มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สถาบันยุวโพธิชน มูลนิธิสัมมาชีพ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) มูลนิธิสยามกัมมาจล