"อั๊ท" ชี้ "ธาโร่ต์พุทธวิธี" เครื่องมือช่วยเยาวชนกลับมา "เข้าใจตัวเอง"

­

­

“ค่ายพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์ชุมชนท้องถิ่น 21 วัน ครั้งที่ 1" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-21 ตุลาคม 2562 ณ หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้าห้วยสามสบ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการดำเนินโครงการวิจัย 5 อปท และร่วมมือกับสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ คณะกรรมการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ 25 อปท.จังหวัดสุรินทร์ นายอำเภอจอมพระและนายอำเภอสนม

หนึ่งในหัวข้อที่นำมาให้เยาวชนได้เรียนรู้ในค่ายครั้งนี้คือ การกลับมาเข้าใจตนเอง ผ่านกระบวนการที่ใช้ชื่อว่า ธาโร่ต์พุทธวิธีอุปกรณ์คือไพ่ทาโร่ต์กระบวนกรโดยอั๊ท - ณอัญญา สาวิกาชยะกูร” ซึ่งเป็นครูสอนการใช้ไพ่เพื่อการกลับมาเข้าใจตัวเอง และเป็นเจ้าของเพจวารีแห่งใจ มาทำความรู้จักกระบวนการนี้กันว่าจะทำให้ผู้เรียนกลับมาเข้าใจตนเองได้อย่างไร

“จริงๆ แล้ว ตัวไพ่เอามาจากไพ่ทาโร่ต์ ที่เราเห็นกันทั่วไป ที่นักพยากรณ์เขาใช้สำหรับการทำนาย แต่ของเราจะพิเศษตรงที่ตัวไพ่จะมีเรื่องราว มีเนื้อหาจะไม่ใช่ไพ่ที่มีแค่สัญลักษณ์ เพราะว่าเวลาเราใช้ธาโร่ต์พุทธวิธีเราจะไม่ได้จำสัญลักษณ์มาคุยกัน แต่เราจะดูที่ภาพ เนื้อหาเป็นอย่างไร และเราจะใช้ความรู้สึกในการที่จะดึงเรื่องราวในภาพขึ้นมาตอบคำถาม ตัวคำถามเราจะเป็นคำถามที่เป็นปลายเปิด ทำงานกับภาพกับความรู้สึกกับความว่าง ความนิ่งสงบภายในใจ เพื่อที่จะหาคำตอบให้กับตัวเอง ของเราจะเน้นการที่ให้คนได้กลับมาเชื่อมโยงกับภายในหัวใจตัวเอง เพื่อให้ได้ยินสิ่งที่จริงแท้ที่อยู่ข้างใน เพื่อที่จะได้ก้าวข้างหน้าต่อไปได้ด้วยตัวเอง”

“การนำมาใช้กับเยาวชน สำหรับน้องๆ เยาวชนกลุ่มที่มาค่ายครั้งนี้ เนื่องจากมีความพิเศษอยู่แล้ว เราก็เลยจะต้องเลือกตัวกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับเขาและไม่ได้ซับซ้อนมาก อย่างเช่น ออกแบบกระบวนการโดยให้เขาหาคุณค่าในตัวเองคือเราโยกมาจากกิจกรรมใหญ่ที่เราทำเป็นหลัก ที่ชื่อว่า Magic Gift ก็คือการค้นหาของขวัญ ซึ่งคือคุณค่าดี ๆ ในตัวเอง เอาออกมาให้เขาเห็นว่าเขามีคุณค่า มีศักยภาพอย่างไร โดยที่ในรูปภาพ เนื้อหา เรื่องราวในนั้น จะมีคำบางคำที่หลุดออกมาเป็น Key Word สำคัญของเขา อย่างเช่น ความพยายาม ความตั้งใจ ความรัก ความเมตตา จากตัวภาพ ซึ่งสามารถดึงสิ่งเหล่านั้นมาเพื่อที่จะสะท้อนให้พวกเขาเห็นว่าเขามีเรื่องราวดี ๆ มีคุณค่าดี ๆ ที่อยู่ในตัวเขา อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นการที่ให้เขาได้เห็นว่าตัวเขาเองในอดีตที่ผ่านมา เรื่องราวในชีวิตเขาเป็นอย่างไร เส้นทางที่เขาจะเดินไปต่อในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ก็คือจะชวนเขาดูว่าภาพอนาคต ให้เขาตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่าเขามีคำถามอะไร”

ไพ่ใบแรก จะเป็นเหมือนกับเชื่อมโยงกับตัวเขาก่อนภาพที่เขาเห็นอะไรที่ตรงกับความเป็นเขา ในภาพตรงนี้มีอะไรที่เป็นตัวเขา หรือเขาทำอยู่ หรือเกิดอะไรขึ้นกับเขา ให้เขาได้เห็นจากเนื้อหาของภาพ แล้วก็พอเป็นใบที่ 2 เราจะชวนให้เขาตั้งคำถามขึ้นมากับตัวเองว่าเขาอยากรู้เรื่องอะไร หรือเขาอยากค้นหาอะไรที่เขารู้สึกว่าสำคัญกับชีวิตเขา แล้วพอเขาได้ใบที่ 2 มาปุ๊บ เขาก็อาจจะมีการขยายเพิ่มแล้วว่า ถ้าสมมติถามว่าเขาจะเรียนจบไหม เขาจะได้คำตอบจากใบที่ 2 แล้วว่าโอกาสที่เขาจะจบมีนะ แต่มีวิธีการไหนที่จะทำให้เขาเรียนจบ หรือว่าถ้าเกิดเขาอยากจะทำงานที่มีเงินเดือนที่ดี ไพ่ใบที่ 2 จะบอกเราว่าเขามีหนทางไปต่อด้วยวิธีการใดและจะใช้ไพ่ใบที่ 3 – 5 ก็ได้ในการอธิบายเพิ่มเติมว่าเขาควรจะไปทำงานในอาชีพแบบไหน หรือว่าถ้าเป็นเรื่องของความรัก เขาก็จะเห็นแล้วว่าที่ผ่านมา เขามีปัญหาเรื่องความรักแบบนี้ สาเหตุเกิดจากอะไร ตัวใบที่ 2 จะบอกสถานการณ์ที่เป็นอยู่ก่อน แล้วพอมาใบที่ 3 - 5 ที่เขาหยิบเพิ่มจะเป็นตัวที่ทำให้เขาทำความเข้าใจเพิ่มแล้วว่า อ๋อ บกพร่องตรงนี้นะ ขาดตรงนี้ ควรเสริมแบบนี้ เพื่อที่จะทำให้เขาไปต่อได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้นค่ะ”

“ตัวไพ่จะเป็นรูปภาพอยู่แล้ว จริงๆ ไม่ต้องใช้ไพ่ก็ได้ ใช้เป็นรูปภาพจากโปสการ์ดหรือจากอะไรก็ได้ เพียงแต่ว่าให้เห็นเด็ก ๆ เขาเห็นแล้วก็เชื่อมโยงความรู้สึกว่า เขาเห็นภาพใบนี้แล้วตัวเขาเอง ได้เรื่องราวอะไรที่สะท้อนออกมา จะไม่มีการตัดสินจากตัวเราที่เป็นคนนำกระบวนการ แต่จะเป็นเขาได้ฝึกอ่านแล้วก็ดึงเรื่องราวนั้นเขาออกมา เรามีหน้าที่อาจจะช่วยชี้ให้เขาเห็นว่าแล้วไปอย่างไรต่อได้อีก นอกจากหนูเห็นเขากำลังคุยกันแล้ว สีหน้าท่าทางหรือว่ารายละเอียดในรูปภาพ ชวนให้หนูนึกถึงอะไร แล้วหนูคิดว่าตัวไพ่กำลังอยากจะบอกอะไรตัวหนู ซึ่งจริง ๆ คำว่าไพ่อยากจะบอก จริง ๆ คือออกมาจากตัวเขาเองนี่ล่ะค่ะ สิ่งที่อยู่ในใจเขาเองนี่ล่ะค่ะ ที่เขาอยากจะบอกตัวเอง เพียงแต่ว่าเด็ก ๆ เขาอาจจะยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดเรื่องราวของชีวิตเขา แต่ตัวไพ่จะช่วยทำให้เขาดึงสิ่งที่อยู่ในใจเขาออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทำให้เขาเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น”

“จริง ๆ การที่ชี้ชวน ชักชวนให้เขา ได้บอกกล่าวกับเพื่อนในวง และประกาศออกมา เหมือนกับสมมติ ถ้าเราบอกว่าคุณมีวิธีการที่จะไปต่อนะ แต่ถ้าเราไม่บอกว่าขั้นแรกของเขาคืออะไร ก็จะจบอยู่ที่ว่า อ๋อ ไปได้ แล้วอย่างไรต่อล่ะ จะหยุดชะงักอยู่แค่นั้นค่ะ แต่ถ้าเราบอกว่ามีวิธีการที่ไปต่อ แต่หนูจะต้องทำอย่างไร แล้วหนูควรลงรายละเอียดแบบไหน แล้วเขาได้พูดออกมาจากปากของเขาเอง เหมือนกับการยืนยันเพื่อให้เขามั่นใจและจะมีเพื่อนๆ มีประจักษ์พยานทำให้เขาเห็นว่าสิ่งนี้มีคนรับรู้นะเขาได้ประกาศสิ่งนี้ออกมาแล้วมีคนรับรู้และเห็น เห็นว่าเขาทำได้และเขาควรที่จะทำอย่างไร จึงใช้วิธีการนี้เพื่อให้เขายืนยันกับตัวเองและยืนยันกับคนรอบข้างเพราะว่าเด็กกลุ่มนี้จริง ๆ ส่วนหนึ่งก็คือเขาก็อาจจะต้องการการยอมรับ แล้วถ้ามีคนได้เห็นในสิ่งที่เขาฝัน ในสิ่งที่เขาคิด ในสิ่งที่เขาอยากจะทำ แล้วมีการยอมรับเกิดขึ้นเขาจะมีพลังใจที่จะไปต่อได้”

“หลังเรียนรู้เสร็จเรียบร้อยแล้ว เรามองเห็นการที่เด็กเข้ามาคุยกับเรามากขึ้นแล้วหลาย ๆ คนเล่าเรื่องราวของเขา ภูมิหลังที่ผ่านมา หรือว่ากิจกรรมนี้เชื่อมโยงไปต่อกับกิจกรรมอื่น ๆ ได้อีกเช่นกิจกรรมข้ามเส้น หรือกิจกรรมที่ต้องออกไปเล่าเรื่องของตัวเอง เขาจะเริ่มเปิดเผยสิ่งที่อยู่ข้างใน อาจจะเป็นอดีตที่เขาเคยพลาดมาแล้วหรือสิ่งที่เขาทำได้ดี เขาจะกล้าที่จะเอาออกมาแล้ว เพราะว่าเหมือนตัวไพ่ปูทางมาแล้วว่า ให้เขาสามารถพูดอะไรก็ตามที่เป็นเขา ตัวตนของเขาจริง ๆ ที่ไม่ได้ถูกพี่ ๆ หรือคุณครูตัดสิน เขาเป็นตัวเขาเองได้ในทุกๆ แบบ เราก็เห็นตรงนี้ แล้วตอนที่ถอดบทเรียน เด็ก ๆ ก็บอกว่าเขาเห็นกำลังใจที่เขาจะไปต่อ แล้วเขาก็รู้ว่าเส้นทางนี้ ชีวิตเขาที่อาจมีคนตัดสินมาก่อนว่าไม่โอเค แต่เขารู้สึกว่าเขายังมีเพื่อนที่เข้าใจเขา และร่วมทางเดินไปกับเขา หรือแม้แต่พี่เลี้ยงเองหรือคนอื่นที่ฟังเรื่องของเขาแล้ว เขารู้สึกว่าเขาไปต่อได้ เราก็เห็นตัวนี้ แล้วหลาย ๆ คนก็บอกว่าเขาประหลาดใจ ที่บอกว่าทำไมตัวภาพสะท้อนเรื่องราวของเขาได้ตรงมาก ๆ เลย พอตรงปุ๊บเขาก็บอกว่าถ้าเขาจะทำให้ดีขึ้น เขาก็จะรู้สึกว่ามีกำลังใจที่จะไปต่อแล้วค่ะ”

“ถ้าพี่เลี้ยงอยากเอากระบวนการนี้ไปใช้ จริง ๆ แล้ว ช่วงเวลาที่สามารถนำไปทำได้ น่าจะเป็นช่วงที่มีความสนิทคุ้นเคยกันในระดับหนึ่งก่อนนะ เพราะว่าถ้าทำเลย เด็กจะไม่เปิดใจพูดสักเท่าไหร่นะ เหมือนเรายังแปลกหน้าต่อกันอยู่ เขาก็จะรู้สึกว่าฉันไม่กล้าที่จะเล่าอะไรออกมา แต่ถ้ามีความสนิทสนมกันในระดับหนึ่ง สามารถที่จะพูดคุยซักถามได้แล้ว อาจจะเป็นวันที่ 2 วันที่ 3 ก็ได้ ที่เขาก็ได้ทำงานร่วมกับกลุ่มของเขาแล้ว สนิทกับเพื่อนกันเองด้วยแล้ว เพราะว่าในการทำกระบวนการมันก็จะมี ถ้าสมมติเขาอ่านเองไม่ได้ เราจะมีการให้เพื่อน ๆ ช่วยเขา ช่วยอ่าน ตรงช่วงนั้นล่ะ ที่เราจะเปิดโอกาสว่าซื้อไหมคะ ๆ ซื้อคำตอบของเพื่อนคนไหนไหม ชอบคำตอบของเพื่อนคนไหนไหม หรือคำตอบของเพื่อนคนไหน ที่หนูรู้สึกว่าหนูโอเค หนูรู้สึกว่าหนูเอาไปใช้ต่อได้ ตรงนี้จะเป็นตัวที่ทำให้เขารู้สึกว่าเพื่อนๆ ปรารถนาดีกับเขานะที่จะพูดเรื่องตรงนี้ออกมา ก็ต้องให้มีความคุ้นเคยกันสักนิดหนึ่งก่อนนะ”

“สำหรับข้อควรระวังในการนำไปทำกับเด็กนอกระบบ สำหรับตัวเอง จริงๆ สำหรับตัวเอง ไม่ได้คิดว่ามีความแตกต่างระหว่างเด็กในระบบกับเด็กนอกระบบนะ เพียงแต่ว่าบางคำถามถ้าเรารู้สึกหรือบางข้อมูลของเด็กที่เรารู้สึกว่าเปราะบางจริง ๆ หรือตอนที่ทำกระบวนการอยู่ด้วยกัน บางเรื่องสั่นสะเทือนความรู้สึกของเขา สิ่งที่จะทำอยู่เสมอก็คือจะต้องมีเพื่อนที่คอยซัพพอร์ต คือมีเพื่อนที่สามารถดึงเขาไปโค้ชส่วนตัวได้ เพราะบางครั้งไพ่สะกิดลงไปที่บาดแผลลึกๆ ของเขา ต้องมีคนที่คอยดูแลตรงนี้ให้เขา เหมือนเปิดแผลแล้วไม่ได้ถูกปิดแผล ดังนั้นต้องมีคนที่มีความสามารถตรงนี้อยู่ด้วยเหมือนกันนะ จะช่วยเขาได้มากกว่าเพราะว่าก็มีบางคนที่สะกิดโดยแล้วมันค้างอยู่อย่างนั้น ไม่ได้ถูกคลี่คลาย การตั้งคำถามที่พาเขาไปคลี่คลายตัวเองก็สำคัญด้วยค่ะ และข้อควรระวังอีกอย่างหนึ่งคือคนอ่านที่เป็นพี่เลี้ยง อย่าพยายามรีบอ่านให้เขา หรือตัดสินเขาลงไปเลย เราอยากจะชวนให้เขาได้ทบทวนกลับมาที่ตัวเองก่อน ชี้จุด เราจะมีหน้าที่แค่แนะนำหรือชี้จุดให้เขาสังเกตเท่านั้น แล้วก็พยายามให้เขาดึงสิ่งที่เขาเห็น สิ่งที่เขารู้สึกออกมาด้วยตัวเองจะดีกว่าค่ะ. #

ตัวไพ่จะช่วยทำให้เขา 

ดึงสิ่งที่อยู่ในใจเขาออกมา เป็นรูปธรรมมากขึ้น 

ทำให้เขาเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น