“ฮง” จากเด็กเล่นเกมสู่นักทำเกมคุณภาพ

ปัญหาเด็กติดเกม หนีเรียน การใช้ความรุนแรงในสังคม อาจทำให้เด็กเล่นเกมกลายเป็นจำเลยของสังคม แต่สำหรับ “ฮง” พีรพัทธ์ นันนารารัตน์ เจ้าของรางวัลการทำเกมคุณภาพหลายรางวัล อาจให้คำตอบของการเล่นเกมได้ดีที่สุด

­

­

ฮงเล่าว่า เขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่เริ่มต้นทำเกม จากการเป็นคนเล่นเกมมาก่อน ทำให้สนใจอยากมีเกมเป็นของตัวเอง จึงรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ เพื่อเรียนรู้และทำเกมในรูปแบบต่างๆ เช่น เกมแอคชั่นชื่อ Confuse way เกมสะท้อนแนวคิดการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนที่ ผูกเรื่องให้เกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ “อยากให้เกมมีทั้งประโยชน์และไม่น่าเบื่อสามารถเล่นได้ทุกวัย ประเด็นหลักในการคิดเกมอาจไม่ต้องคำนึงถึงโปรแกรมมากนัก แต่ให้ความสำคัญกับแนวความคิดที่จะนำเสนอ”

­

­

จากจุดเริ่มต้นของเด็กเล่นเกมที่มีฝันอยากมีเกมเป็นของตัวเอง ทำให้ฮงไม่หยุดคิดสร้างสรรค์เกมขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเกมต่อมาที่เขาทำคือ เกมเกี่ยวกับการขับแท็กซี่ท่องไปตามสถานที่สำคัญต่างๆ รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ชื่อ เกม BKK TaXo MeTroN ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ

­

­

“เกมนี้ได้แนวคิดมาจากนครวาติกันและอีกหลายๆ มหานครของโลก ทำให้กลับมาคิดว่าสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทยติดอันดับโลกมากมาย และเกมในลักษณะนี้เราน่าจะทำออกมาได้ เพราะมีประวัติศาสตร์อันยาวนานและน่าสนใจไม่แพ้กัน”

­

­

ฮงมีโอกาสทำงานด้านเกมอย่างต่อเนื่องและได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า โดย นาวาตรี ดร. วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งเปิดโอกาสให้ฮงได้ทำโครงการเมฆา (Mekha) เพื่อรวบรวมเกมที่มีประโยชน์ อาทิ เกมเพื่อการเรียนการสอนที่เปิดให้ใช้งานได้ฟรี เป็นโอเพนซอร์ส ทุกคนสามารถดัดแปลงและแก้ไขเกมเหล่านี้ได้ โดยจัดทำเป็นคู่มือภาษาไทย และมีการปรับลดความรุนแรงในเกมลง เพื่อทำให้คนทุกเพศทุกวัยสามารถเล่มเกมนี้ได้

­

­

นอกจากนี้ฮงยังได้ร่วมเป็นวิทยากรในการทำเกมตามสถานที่ต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยบูรพา ศูนย์ฝึกอบรมของ SIPA โดยเนื้อหาที่สอนจะเริ่มตั้งแต่การออกแบบเกม การออกแบบตัวละคร และการพัฒนาจนได้เกมขึ้นมา และในระหว่างการสอนเขายังสอดแทรกประสบการณ์ อุปสรรคปัญหา ข้อผิดพลาดในการทำงาน และแนวทางแก้ปัญหาในการทำเกม เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีทักษะและความรู้เพิ่มขึ้น

­

­

จากการที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับผู้ใหญ่นี้เอง ทำให้ฮงเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์มากขึ้น และพัฒนาผลงานขึ้นตามลำดับ จนสามารถสร้างสรรค์เกมออกมาต่อเนื่อง ล่าสุดคือ X-Step เกมผจญภัยที่ผู้เล่นต้องใช้สมาธิมาก ทั้งยังแฝงแนวคิดเรื่องการใช้เวลาให้คุ้มค่าไว้อีกด้วย

­

“แรงบันดาลใจในการคิดเกมนี้คือ หลายคนมักมองว่า การเล่นเกมทำให้สมาธิสั้น แต่จริงๆ แล้วการเล่นเกมต้องอาศัยสมาธิมาก ต้องจดจ่อและเข้าใจ ที่สำคัญต้องสนุกและมีสาระในการใช้ความคิดเพื่อหาเส้นทางที่จะไปถึงจุดหมาย”

­

X-Step ยังเป็นเกมที่มีเนื้อหาต่อเนื่องหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามความสำคัญของแต่ละเดือน เช่น X-Step Episode 2 จะมีเนื้อหาสอดรับกับวันวาเลนไทน์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เกม X- Step Episode 3 มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติการทำงาน ผลงานของเซอร์ไอแซก นิวตัน นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลกผู้เกิดในวันที่ 31 มีนาคม ที่เขาได้หยิบยกเกร็ดความรู้และความสนใจเหล่านี้มาสอดแทรกไว้ในเกมด้วย โดยเปิดให้ผู้สนใจดาวน์โหลดได้ฟรีที่ www.thaiopengames.org เพื่อให้สังคมรับรู้ว่ายังเกมดีๆมีคุณภาพ ฝีมือคนไทยให้จับจอง

­

­

จากการแบ่งปันความรู้ด้านเกมที่ตนเองมีโดยเป็นทั้งวิทยากร ผู้สอนทำเกม แก่รุ่นน้องและคนทั่วไปที่สนใจทำให้ขณะนี้เขามีลูกศิษย์ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาไปจนถึงวัย 60 ปีเลยทีเดียว

­

หากถามถึงความเปลี่ยนแปลงจากเด็กเล่นเกมไปสู่คนทำเกมแล้ว ฮงบอกว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย การทำเกมสอนให้เขารู้จักจัดระบบความคิด มีการเติบโตทางความคิดมากขึ้นเรื่อยๆ รู้จักหาจุดบกพร่องและค่อยๆ ลดจุดบกพร่องของตนเองลงได้

­

พัฐปารย์ นันนารารัตน์ คุณแม่ของฮง กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของฮงด้วยว่า เมื่อก่อนรู้สึกเป็นห่วงมากเวลาเห็นลูกเล่นเกม แต่ก็จะเข้าไปถามลูก คอยดูแลใกล้ชิด บางครั้งก็เล่นเกมไปกับเขาด้วย หรือช่วยวิจารณ์เกมที่เขาเล่น หรือเกมที่เขาทำขึ้น เพื่อให้ลูกรู้สึกเหมือนมีเราเป็นเพื่อน นอกจากนี้ยังมีการตกลงกันว่าถ้าจะเล่นเกมต้องอ่านหนังสือหรือทำการบ้านให้เสร็จก่อน ฝึกเขาแบบนี้ตั้งแต่เด็ก เขาจึงรู้จักแบ่งเวลาเรียน–เล่น และมีความเป็นผู้ใหญ่ เขาทำงานเหมือนผู้ใหญ่ทำงาน เช่น หากถึงกำหนดส่งงานก็ไม่เคยพลาดนัด แม่ก็สบายใจที่เขามีความรับผิดชอบกับงานที่ได้รับมอบหมาย

­

ด้านสุรวดี รักดี หรือพี่อี๋ นักวิจัยโครงการเด็กหัวใสฉลาดใช้ไอซีที มหาวิทยาลัยมหิดล “พี่เลี้ยง” ที่เห็นแววของฮงมาตั้งแต่แรกบอกว่า สำหรับฮงแล้วถือว่าเป็นเด็กที่มีความพยายามมาก จากเด็กที่ไม่มีความรู้เรื่องเกมมาก่อน แถมยังได้รับการดูถูกจนคนรอบข้าง แต่ด้วยความใฝ่รู้ เขาพยายามอ่านหนังสือเกี่ยวกับการทำเกมหลายร้อยหน้า บวกกับความพยายามตั้งใจอยากทำเกมอย่างจริงจัง ทำให้เด็กเล่นเกมธรรมดาๆ คนหนึ่งผันตัวเองมาเป็นคนทำเกมคุณภาพได้

­

“เขาเห็นตัวเองชัดว่ารักและชอบทำอะไร แม้ระหว่างการทำงานจะมีอุปสรรคแต่ก็สู้ ทำให้เขาสามารถทำงานต่อไปได้ แต่ที่สำคัญคือเขา “เปิดโอกาส” ให้ตัวเองในการทำงาน ด้วยการเข้าร่วมเวทีที่มีความรู้ด้านเกมแทบทุกเวที หรือเข้าร่วมการประกวดต่างๆ เพื่อหาประสบการณ์มาใช้พัฒนาตัวเอง ทำให้ผู้ใหญ่เกิดความไว้วางใจมอบหมายให้ทำงาน กอปรกับเขามีความรับผิดชอบสูงมากและทำเกมออกมาสม่ำเสมอ ทำให้งานของเขาประสบความสำเร็จ”

­

ทุกวันนี้ฮงยังคงทำงานด้านนี้ต่อเนื่อง โดยล่าสุดกำลังผลิตผลงานสื่อสามมิติเพื่อใช้เป็นแผนที่เข้าชมงานพลังมหกรรมเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 2 ” แบ่งปัน เพื่อเปลี่ยนแปลง” ที่จัดขึ้นที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ และร่วมเป็นวิทยากรด้านการผลิตเกมในงานดังกล่าวอีกด้วย

­

ด้วยความรับผิดชอบทั้งการทำงานและการเรียนไปพร้อมๆกัน ทำให้ฮงสอบเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต การออกแบบสื่อปฏิสัมพันธ์และมัลติมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อศึกษางานด้านนี้อย่างต่อเนื่องจริงจัง

­

สำหรับข้อมูลข้างต้นสามารถอ่านได้ในหนังสือ มหกรรมพลังเยาวชน สังคม ครั้งที่ 2 : พลังเยาวชนคน ICT

­

ข้อมูลเพิ่มเติม ปัจจุบัน “ฮง” เรียนอยู่ปี 4 และ กำลังทำซีเนียร์โปรเจค ซอร์ฟแวร์จำลอง (Simulation) ของทหารและฝึกงานอยู่ที่กองทัพบกด้วย นอกจากนี้ยังเปิดสตูดิโอรวมกับเพื่อนๆ ชื่อ CG BANGKOK (ติดตามข้อมูลได้ที่ : CG BANGKOK)

­


โครงการจัดการองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน (ICT YOUTH CONNECT PROJECT) นายพีรพัทธ์ นันนารารัตน์ E-mail: phierapath@gmail.com

­