“เครื่องจดจำ” ถูก ประหยัด ราคา คนไทยสัมผัสได้

แต่เดิมผู้พิการทางสายตา จดบันทึกเรื่องราวผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า Slate Stylus โดยวางกระดาษแล้วใช้เข็มเจาะรูที่ละตัวจากด้านขวาไปทางซ้ายแบบกลับด้านตัวอักษร และเวลาอ่านก็ต้องต้องพลิกอ่านจากด้านหลัง ซึ่งข้อเสียของวิธีนี้คือ ช้า เมื่อยมือ ไม่สามารถสำเนาเอกสารได้ อีกทั้งยังส่งให้ผู้ที่สายตาปกติอ่านไม่ได้ และการใช้นิ้วสัมผัสบ่อยครั้งจุดตัวหนังสือก็สึกลงทำให้อายุการใช้งานได้เพียงระยะสั้นๆ


หรือถ้าใช้เครื่อง Braille Note Taker ที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดก็มีราคาค่อนข้างสูง คือราคาตั้งแต่ 6 หมื่น – 2 แสนบาท

จากข้อจำกัดด้งกล่าว ทำให้ “อาร์ม” หรือ ภัทรวิทย์ กิจเจตนี นักศึกษาปริญญาโทชั้นปีที่1 คณะวิศวกรรมศาสตร ์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาเครื่อง จดบันทึกแบบพกพาสำหรับผู้พิการทางสายตา หรือ “เครื่องจดจำ” Jodjum (Braille Note Taker and Keyboard) โดยมี ดร. เซง เลิศมโนรัตน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

“เพราะผมรู้สึกว่าคนตาบอดใช้ชีวิตประจำวันลำบากมาก....เลยคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะช่วยพัฒนาเครื่องบันทึกจากความรู้ความสามารถที่เรามี....จึงหารือกับอาจารย์ และเอาไอเดียนี้ไปคุยกับผู้พิการทางสายตา ที่ “วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล” และ “สมาคมคนตาบอด” จากนั้นก็นำไปทดลองใช้เพื่อหาจุดบกพร่องและแก้ไขรายละเอียดตามความต้องการของผู้พิการ ผลงานที่ออกมาจึงตอบสนองความต้องการเกือบทั้งหมดที่ผู้ทดลองใช้ต้องการ ทั้งเรื่องของฟังชั่น ขนาด วัสดุที่ใช้” --- “อาร์ม” เจ้าของเครื่องจดจำอธิบายถึงแรงบันดาลใจและกระบวนการทำงาน

อาร์มเล่าว่า “เครื่องจดจำ” ที่เป็นผลงานการพัฒนาของเขามีปุ่มสำหรับการทำงานทั้งหมด 10 ปุ่ม เป็นปุ่มอักษรเบรลล์ 6 ปุ่ม ตรงกลางเป็นเคอร์เซอร์ 1 ปุ่ม และปุ่มควบคุม,Shift ,Enter ,Space Bar ด้านหน้า 3 ปุ่ม ซึ่งผู้ใช้สามารถกดปุ่มพร้อม ๆ กัน เพื่อรวมเป็นตัวอักษรได้เลยภายในครั้งเดียว และยังสามารถต่อข้อมูลเข้ากับคอมพิวเตอร์ (Computer) และ สมาร์ทโฟน (Smart Phone) ใช้ควบคุมการใช้หน้าจอได้พร้อม ๆ กับฟังเสียงกำกับ และยังสามารถใช้ “เครื่องจดจำ” พิมพ์ข้อความให้ออกมาเป็นประโยค หรือฟังเสียงก็ได้

“สิ่งที่ได้อาจไม่ใช่นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ใหม่ แต่ถ้าเทียบกับราคาและประสิทธิภาพซึ่งคล้าย ๆ กัน แต่ของเรามีราคาถูกกว่ามาก โดยต่อเครื่องราคาไม่เกิน 3,000 บาท ซึ่งจากการตอบรับของผู้ที่เป็นกลุ่มทดลองใช้เป็นที่น่าพอใจของผู้พิการทางสายตา ทั้งในเรื่องของราคาที่สามารถซื้อได้อีกทั้งประโยชน์ของตัว “เครื่องจดจำ” เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับผู้พิการทางสายตา”

โดยผลงาน “เครื่องจดจำ” ของอาร์ม ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดหลายเวทีคือ “True Innovation Award 2012 ประเภท IDEA SEED” เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 และ จากเวที “การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 15 (NSC 2013) สาขา โปรแกรมเพื่อช่วยคนพิการและผู้สูงอายุ” จัดโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และ รางวัลชนะเลิศประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา “รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” ครั้งที่ 8 ผลงาน “เครื่องจดบันทึกแบบพกพาสำหรับผู้พิการทางสายตา” โดยนายภัทรวิทย์ กิจเจตนี จาก มหาวิทยาลัยมหิดล


เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องและเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้มีประสบการณ์ในเวทีประกวดผลงานระดับนานาชาติ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จึงสนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่ง ให้อาร์มได้นำ “เครื่องจดจำ” ไปแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีระหว่างประเทศที่ประเทศเกาหลี และ “เครื่องจดจำ” ของเขาก็คว้า รางวัลชมเชยประเภทดีไซน์ I-CREATe Mevit Award ผลงานด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ปีที่ 7 โครงงานทั้งหมดที่ส่งเข้าประกวด 50 โครงงาน จาก 7 ประเทศ ในงานประกวดโครงงานสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุในงานประชุมวิชาการนานาชาติ I-CREATe 2013 ณ จังหวัด Gyeonggi – do สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของเยาวชนไทยที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย