ประกายความคิดในวันเริ่มต้น

"ข้าพเจ้าเริ่มต้นจากการที่ได้มีโ อกาสเข้าร่วมจัดทำหน่วยการเรียนรู้บูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงที่วิทยาลัยมหาดไทย จังหวัดชลบุรี เพราะนั่นทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น จากแต่เดิมที่ได้ยินหลายคนพูดถึง แต่ยังขาดความเข้าใจที่ชัดเจน ประกอบกับการเห็นในหลวงของเรา ท่านทำงานเพื่อประชาชนโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ข้าพเจ้าในฐานะประชาชนคนหนึ่งจะทำอะไรเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินบ้าง หลังจากการอบรม ข้าพเจ้าได้แนวคิดและนำกลับไปพัฒนาการเรียนการสอน โดยสอดแทรกทั้งในเนื้อหาวิชาและกิจกรรมการสอน และข้าพเจ้าก็ทำตัวเป็นแบบอย่างให้นักเรียนเห็นว่าสิ่งที่ครูสอน ครูก็สามารถทำได้เช่นกัน”

"รู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น สู่วิธีความพอเพียง"

โดย นางสาวฮุสนา เงินเจริญ

ข้าพเจ้าเป็นครูคนหนึ่งของโรงเรียนชำฆ้อพิทยาคมที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยีของทุกระดับชั้น รวมทั้งกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เริ่มต้นจากการให้นักเรียนวิเคราะห์ตนเองและวิเคราะห์เพื่อนในห้องเรียน เพื่อให้เห็นความแตกต่างของบุคคลและรู้จักปรับตัวเองให้เข้ากับผู้อื่น และมีจิตอาสาช่วยเหลือผู้อื่นจากใจจริง

นอกจากกิจกรรมการเรียนการสอนในชั่วโมงแล้ว ข้าพเจ้ายังเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดกิจกรรม “ค่ายคุณธรรมน้อมนำสู่วิถีพอเพียง” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา ณ โรงเรียนชำฆ้อพิทยาคม โดยมีคณะครูและนักเรียนของโรงเรียนเข้าร่วมจำนวน 330 คน วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การดำเนินชีวิต ข้าพเจ้ามีแนวคิดในการนำความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อครูและนักเรียนตามบริบทที่เราอยู่มาจัดกิจกรรมฐานการเรียนรู้จำนวน 8 ฐาน ซึ่งได้รับความร่วมมือด้านคณะวิทยากรจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง จังหวัดระยอง แต่ละฐานประกอบด้วย

ฐานที่ 1 แฝกนั้นสำคัญไฉนและได้อะไรจากหมูหลุม เป็นการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติเกี่ยวกับประโยชน์และวิธีการปลูกหญ้าแฝก เพื่อช่วยในการพัฒนาดินให้สามารถปลูกพืชผักให้เจริญงอกงาม และการเลี้ยงหมูหลุมเพื่อเอาปุ๋ยไปใส่ในแปลงเกษตรที่เราพัฒนาดินในโรงเรียน

ฐานที่ 2 ชุมนุม ป.ปลา เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติกเนื่องจากพื้นที่ในชุมชนเป็นดินลูกรัง ดินไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ และใช้พื้นที่ในการดำเนินการน้อย สามารถทำเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ในครอบครัว

ฐานที่ 3 มหัศจรรย์แห่งถ่าน เป็นการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติเกี่ยวกับการเผาถ่านโดยใช้ถังน้ำมัน 200 ลิตร เนื่องจากพื้นที่ในโรงเรียนและชุมชนมีไม้ไผ่และเศษไม้เป็นจำนวนมาก ประกอบกับชาวบ้านยังใช้ถ่านในการหุงต้มอาหารในชีวิตประจำวันจึงเป็นการเรียนรู้เพื่อทำใช้เองในครัวเรือน

ฐานที่ 4 ปุ๋ยน้ำชีวภาพ เป็นการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติเกี่ยวกับการทำปุ๋ยน้ำชีวภาพไว้รดพืชผักในสวนผลไม้ ในแปลงผัก และในไร่ รวมทั้งทำสมุนไพรไล่แมลงเอาไว้ฉีดพ่นไล่แมลงในสวนในไร่ เนื่องจากในชุมชนรอบบริเวณโรงเรียนผู้ปกครองส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ทำสวน ทำไร่ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

ฐานที่ 5 โลชั่นน้ำมันมะพร้าว เป็นการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติเกี่ยวกับการทำโลชั่นทาผิวจากมะพร้าว ที่เรามีอยู่ตามบ้านเรือนและหาง่ายในชุมชน เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนตัวและทำให้ผิวพรรณดี

ฐานที่ 6 ถั่วงอกมหัศจรรย์ เป็นการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติเกี่ยวกับการเพาะถั่วงอกอย่างง่ายไว้รับประทานในครัวเรือน และสามารถทำจำหน่ายได้

ฐานที่ 7 แชมพูมะกรูด เป็นการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติเกี่ยวกับการทำแชมพูสระผมจากผลมะกรูดที่มีตามบ้านเรือนเพื่อช่วยดูแลเส้นผมให้มีสุขภาพผมที่ดีและเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนตัว

และฐานที่ 8 สบู่ถ่าน เป็นการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติเกี่ยวกับการทำสบู่ก้อนจากถ่านไม้ไผ่ที่เผาด้วยอุณหภูมิสูงที่เราเผาอยู่แล้วนำมาบดให้ละเอียด นำมาเป็นส่วนผสมในการทำสบู่ก้อน เพื่อช่วยดูดซับสิ่งสกปรกและสารพิษที่ผิวหนังและตามร่างกายและยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนตัวอีกด้วย

หลังจากการจัดกิจกรรมดังกล่าว ทำให้คณะครู และนักเรียนของโรงเรียนชำฆ้อพิทยาคมส่วนหนึ่งมีการปรับเปลี่ยนแนวความคิด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตทันที และบางส่วนก็เริ่มปรับเปลี่ยนตามมาภายหลัง เริ่มจากการรู้จักคิดวางแผนอย่างรอบคอบและระมัดระวังก่อนลงมือทำงาน รู้จักพอประมาณกับตนเองและภูมิสังคมรอบตัวโดยอยู่บนพื้นฐานของความมีเหตุและผลของการกระทำและมีภูมิคุ้มกันในการทำสิ่งนั้น ไม่กระทำโดยประมาท รู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัดมากขึ้น ทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัวและในครอบครัว รวมทั้งการทำแชมพู โลชั่นน้ำมันมะพร้าว สบู่ก้อน ไว้ใช้เองและรู้จักการแบ่งปันให้ผู้อื่น ตลอดจนช่วยผู้ปกครองหารายได้เสริมจากการปลูกผัก การเลี้ยงปลาดุก การเผาถ่านขาย

อีกทั้งยังเกิดความตระหนักในการช่วยดูแลรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและชุมชน โดยการลดการใช้สารเคมีในสวนผลไม้และในการทำการเกษตรต่างๆ โดยการทำปุ๋ยชีวภาพไว้ใช้เอง สิ่งที่เกิดขึ้นกับคณะครูและนักเรียนนี้แม้จะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงเบื้องต้น แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในการปลูกฝังคุณธรรมและน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การดำเนินชีวิตของพวกเขา ซึ่งทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมากที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาสู่โรงเรียนและชุมชน ทำให้พวกเขารู้จักใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง

จากการจัดกิจกรรมการสอนที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการสอนให้นักเรียนรู้จักตนเองและเข้าใจผู้อื่น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีจิตอาสา ทำงานเพื่อส่วนรวมมากกว่าตัวเองเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน

แต่ก่อนในการทำงานทุกอย่าง ข้าพเจ้าจะมีการวางแผนงาน เตรียมการล่วงหน้าก่อนเสมอ แต่ถึงกระนั้นข้าพเจ้าก็ยังขาดความรอบคอบ ระมัดระวัง และการมีภูมิคุ้มกันทำให้การทำงานมีปัญหาตามมาภายหลัง

หลังจากที่ข้าพเจ้านำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยมองบริบทของโรงเรียนว่าเป็นอย่างไร และจะสอนนักเรียนอย่างไรให้อยู่อย่างพอเพียง ด้วยนำสิ่งแวดล้อมรอบตัวมาใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอน ดังที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น ประกอบกับข้าพเจ้าเองเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานของนักเรียน ความสำเร็จก็เริ่มปรากฏขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อเกิดเหตุการณ์การแบ่งกลุ่มกันทำงานที่นักเรียนที่เรียนเก่งจะรวมกลุ่มกันแล้วทิ้งนักเรียนที่เรียนอ่อนหรือนักเรียนที่ขาดความรับผิดชอบไว้ด้วยกัน ทำให้เพื่อนไม่สามารถส่งงานได้ครบ หรือส่งงานได้แต่ผลงานไม่ดีเท่าที่ควร ข้าพเจ้าได้ให้แง่คิดแก่นักเรียนในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการทำงานกลุ่มว่า

“ให้รู้จักตนเองก่อนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้ ความสามารถ ฐานะเศรษฐกิจ อุปนิสัย พื้นฐานครอบครัวและรากเหง้าของตนเอง และรู้จักเข้าใจผู้อื่น เข้าใจความแตกต่างของเพื่อนในทุกด้านเช่นเดียวกัน รู้จักพอประมาณในความสามารถของแต่ละบุคคล การแบ่งหน้าที่กันทำงานให้เหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์ การใช้วัสดุ อุปกรณ์ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด ให้นักเรียนคิดอย่างมีเหตุผลในการทำงานและคิดถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเพื่อสร้างหลักการมีภูมิคุ้มกัน ภายใต้เงื่อนไขความรู้ กับเงื่อนไขคุณธรรม” เมื่อนักเรียนเกิดความเข้าใจเขาก็จะช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้นตามไปด้วย โดยในระยะแรกครูต้องช่วยเน้นย้ำความคิดเขาบ่อยๆ

ในการสอนนักเรียนชั้น ม.3 เรื่องการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ ข้าพเจ้าออกแบบการจัดการเรียนรู้ โดยให้นักเรียนได้เรียนรู้การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก เนื่องจากพื้นที่ที่เราอยู่เป็นดินลูกรังบนเนินเขา จึงไม่สามารถเลี้ยงปลาในบ่อดินธรรมดาได้ และใช้พื้นที่ในการเลี้ยงไม่มากนัก งบประมาณไม่มาก ใช้ไม้ไผ่ที่มีในชุมชนไม่ต้องซื้อ ซึ่งนักเรียนสามารถนำกลับไปทำที่บ้านได้ นอกจากจะได้เรียนรู้การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติกแล้ว ข้าพเจ้าได้ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกันกลุ่มละ 4-5 คนตามความสมัครใจ เพื่อไปศึกษาการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจอื่นๆ จากสถานที่จริงที่เป็นแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นนอกเวลาเรียน ซึ่งเป็นการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ในการเรียนการสอน ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้จากของจริงมีประสบการณ์โดยตรง รู้และเข้าใจปัญหาอย่างชัดเจน และถ้าแหล่งเรียนรู้ใด ข้อมูลยังไม่เพียงพอก็ให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสือ หรืออินเตอร์เน็ตและจัดทำเป็นรูปเล่มรายงานเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ ทำให้พวกเขามีความรู้ เข้าใจในเนื้อหามากขึ้น รู้จักการสร้างมนุษยสัมพันธ์กับชุมชน และใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้ที่มีในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

สำหรับการสอนเรื่องการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในชั้น ม.4 ข้าพเจ้าออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยเชิญวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาสอนการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร หลังจากนั้น ข้าพเจ้าก็ได้ลงมือสอนนักเรียนด้วยตนเอง นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังสอนนักเรียนทำน้ำยาล้างจานสับปะรด ทำแชมพูมะกรูด ทำครีมนวดดอกอัญชัน ทำสบู่เหลวและสบู่ก้อนก้อนขมิ้นไว้ใช้ในครอบครัวเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นการพึ่งพาตนเองด้วยการชักชวนสมาชิกในครอบครัวให้มาช่วยกันทำ และเมื่อทำเสร็จแล้วก็แบ่งปันให้แก่ผู้อื่นได้

การปลูกผักในแปลงสาธิตและการปลูกผักในกระถางก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้สอนให้นักเรียนได้เรียนรู้การพัฒนาดินของโรงเรียนและดินในพื้นที่บ้านของนักเรียนเอง เนื่องจากว่าพื้นดินในโรงเรียนและชุมชนเป็นดินลูกรัง ถ้าไม่มีการปรับปรุงและพัฒนาดิน จะทำให้ไม่สามารถปลูกพืชผักและผลไม้ได้ จึงมีการสอนเรื่องการปรับปรุงดิน การใส่ปุ๋ยชีวภาพก่อนการลงมือปลูก การปลูกหญ้าแฝกช่วยในการซับน้ำ ทำให้ดินร่วนซุยและการทำปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง เมื่อนักเรียนมีความรู้ในการปรับปรุงดินแล้วเขาก็สามารถนำกลับไปใช้ที่บ้านของตน ถ้าบ้านใครที่มีพื้นที่ก็ปลูกผักลงดินเลย หากบ้านใครที่ไม่มีพื้นที่ก็ให้ปลูกผักในกระถางได้ ซึ่งสอดคล้องกับโครงการของโรงเรียนคือ “ผักสวนครัวรั้วกินได้ ลูกปลูกให้แม่ เหลือเผื่อแผ่ชุมชน” ซึ่งเป็นนโยบายของผู้อำนวยการในการให้นักเรียนทุกคนได้ปลูกผักไว้รับประทานที่บ้านไม่ว่าจะปลูกมากหรือปลูกน้อยตามแต่บริบทที่บ้านของนักเรียนเองเพื่อเป็นการประหยัด สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ช่วยกันปลูก ช่วยกันดูแลรักษา และสามารถแบ่งปันให้ผู้อื่น ก่อให้เกิดมิติทางด้านสังคมเพิ่มขึ้นด้วย