ประสบการณ์ครูวิถีพอเพียง

       ประกายความคิดในวันเริ่มต้น

       ได้รับแรงบันดาลใจในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาประยุกต์ใช้ในหน้าที่การงานและวิถีชีวิต จากคำกล่าวของภราดาประภาส ศรีเจริญ อธิการโรงเรียนลาซาลจันทบุรี (มารดาพิทักษ์) ในเรื่อง

"การทำดีเพื่อพ่อ" และจากการมีบุคคลต้นแบบให้ยึดเหนี่ยวและนำทางชีวิตอยู่แล้ว 3 ท่าน คือ 1 .ท่านนักบุญยอห์น แบพติสท์ เดอ ลาซาล องค์อุปถัมภ์ของคณะลาซาล 2.ในหลวง และ 3. ภราดาประภาส ศรีเจริญ อธิการโรงเรียน แรงศรัทธาในความดีของบุคคลดังกล่าวทำให้เกิดแรงหนุนให้ครูอันเร อุทิศตนเพื่อการทำงานและดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย โดยใช้คำว่า "ให้" เป็นวิถีนำทาง

       "ผมมีพ่ออยู่ 3 ท่าน คือ 1. นักบุญยอห์นผู้ก่อตั้งโรงเรียน 2. ในหลวง ผู้ซึ่งเราสามารถเห็นตัวตน เห็นวิถีชีวิต ภารกิจที่ทรงทำ คงไม่มีพระมหากษัตริย์องค์ไหนที่ปลูกข้าวในบ้านตัวเอง และ 3. คือท่านอธิการที่ปกครองเราด้วยความเมตตา พยายามสอนสั่ง เติมเต็มในสิ่งดีๆ ให้เรา ทั้งสามเป็นแบบอย่าง เป็นที่เคารพ กอปรกับตอนนั้นจำได้ว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำ คำว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเริ่มเข้ามา ทุกคนได้ยินกันบ่อย แต่เราก็ยังไม่ได้ทำความเข้าใจลึกซึ้ง"จนกระทั่งวันหนึ่งท่านอธิการถามครูทุกคนในที่ประชุมว่าเราจะทำดีเพื่อพ่อได้หรือไม่ เมื่อกลับมาคิดทบทวนก็พบว่าที่ท่านพูดมาก็ถูก ขณะที่เราเองก็อายุมากขึ้นๆ ก็น่าจะทำความดีสักอย่างทิ้งไว้บนแผ่นดิน ผมจึงเริ่มนำหลักปรัชญาฯ มาเป็นเป้าหมายของชีวิต จากนั้นก็ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม กระทั่งเริ่มเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นหลักคิด หลักปฏิบัติ จึงเริ่มนำมาประยุกต์ใช้กับตัวเอง

        "บางคนบอกว่าวิชาพลศึกษาบูรณาการกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยาก แต่จริงๆ ก็เป็นสิ่งที่เราได้ทำกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเมื่ออดีตเคยทำไปแบบสะเปะสะปะ มองอะไรไม่ชัด แต่เมื่อจับหลักคิดได้ แค่เดินตาม ปฏิบัติไปตามหลักคิดนั้น ก็จะสำเร็จและเขียนแผนการสอนได้อย่างไม่ยากเย็น"

       ครูอันเรเล่าว่า เริ่มแรกที่ตนเริ่มนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาประยุกต์ใช้กับวิชาพลศึกษานั้นยังกังวลอยู่บ้าง เพราะยังไม่รู้ทิศทาง ทำไปโดยไม่มีตัวอย่างให้ดู อาศัยเพียงแต่การศึกษาค้นคว้าความรู้ไปด้วยตนเอง อ่านหนังสือบ้าง เปิดเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องดูบ้าง และโทรศัพท์ปรึกษากับเพื่อนครู แต่ผลคือ แต่ละคนยังไม่ชัดเจนในการปฏิบัติ ดังนั้น ครูอันเรจึงเริ่มหัดเขียนแผนการเรียนการสอนด้วยตัวเอง เพราะคิดว่าหากไม่ลองลงมือทำ ก็คงยากที่จะทำได้ กระทั่งทำไปได้สองสามครั้ง จึงเริ่มเห็นทิศทางว่าการสอดแทรกหลักปรัชญาฯ ไม่ใช่เรื่องยาก อีกทั้งยังมีเงื่อนไขความรู้และคุณธรรมสอดคล้องกับเป้าหมายหลักของวิชาพลศึกษา ที่สอนให้ผู้เรียนรู้จักการเสียสละ รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ฉะนั้นการสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในวิชาพลศึกษาจึงเริ่มจากการหยิบยกเงื่อนไขความรู้และคุณธรรมขึ้นมาเป็นตัวตั้ง แล้วจึงตามมาด้วยหลักสามห่วงคือ ความมีเหตุผล ความพอประมาณ ความมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเป็นกระบวนการคิด

       แนวทางในการปฏิบัติ 3+1 สอนตามศักยภาพ สู่คุณธรรม "เพื่อนช่วยเพื่อน"

       ครูอันเร อธิบายวิธีการสอนว่า ขั้นแรกคือการสำรวจนักเรียนแต่ละชั้นก่อนว่ามีสภาพร่างกายพร้อมหรือไม่ ต้องมีความรู้ว่าแต่ละคนมีพื้นฐานด้านกีฬามากน้อยแค่ไหน จากนั้นครูจึงให้ความรู้เพื่อปูพื้นฐานนักเรียนก่อนว่าชั่วโมงนั้นๆ จะเรียนเรื่องใด เมื่อให้ความรู้เบื้องต้นแล้ว ครูอันเรจะประเมินศักยภาพของเด็ก โดยใช้ หลัก 3+1 กล่าวคือ 1.เด็กที่มีพื้นฐานดี เล่นกีฬาเก่งหรือเป็นนักกีฬาและมีทักษะการเล่นกีฬาพอสมควร 2.เด็กที่พอเล่นกีฬาได้ 3.เด็กที่ไม่มีทักษะทางการกีฬาเลย และ +1 คือเด็กพิเศษ หากมีนักเรียนที่ร่างกายไม่เอื้ออำนวย เช่น ร่างกายพิการ มีโรคประจำตัว

       ด้านเกณฑ์การให้คะแนนครูใช้หลัก 3+1 เช่นกัน โดยแบ่งเกณฑ์การให้คะแนนตามศักยภาพของเด็ก เพราะคิดว่าสมรรถภาพของร่างกายและทักษะของคนไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้น ผลที่เด็กทำได้ ย่อมมีมากน้อยต่างกันไป แต่ครูจะเน้นการประเมินด้านคุณธรรมเป็นหลัก เช่น มีทักษะการเล่นเป็นทีม มีน้ำใจนักกีฬา มีความพยายามอดทน แม้ว่านักเรียนคนใดไม่มีทักษะการเล่นกีฬา แต่ฝึกฝนมาก มีความเพียรพยายามมาสอบบ่อยครั้ง ตรงนี้ครูจะสังเกตเห็น และจะให้ผ่านเกณฑ์เช่นเดียวกัน

       "นักเรียนบางคนอดทนมาก ใช้ความพยายามสูง เช่น ตอนพักเที่ยง แทนที่จะไปวิ่งเล่นก็มาซ้อม เราเห็นพฤติกรรมตรงนี้ก็ให้เขาผ่านเกณฑ์ เพราะ

การประเมินของครูไม่ใช่บังคับให้ทุกคนเล่นเป็นทั้งหมด แต่อยู่ที่แต่ละคนมีความพยายาม อดทน มีน้ำใจนักกีฬาแค่ไหน เด็กที่สอบครั้งเดียวผ่าน เขาก็จะสงสัยว่า ทำไมคนที่ทำไม่ได้ครูยังให้ผ่าน เราก็ต้องใช้เหตุผลอธิบายให้ฟังว่า แม้เพื่อนจะไม่เก่ง แต่ครูให้คะแนนเขาที่ความพยายามมาก เราก็ได้สอดแทรกหลักคุณธรรมเข้าไปอีก ในเรื่องความมานะ อดทน การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เด็กฟังแล้วก็เข้าใจ ยอมรับ เต็มใจที่จะช่วยเพื่อนซ้อม หรือหากเมื่อมีการแข่งขันภายในกลุ่ม เราก็สามารถสอดแทรกเรื่องการรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ให้เล่นกันแบบมีมิตรภาพ เพื่อปลูกฝังให้เด็กสามารถนำไปใช้ในชีวิต ซึ่งเป็นรากฐานของความพอเพียงที่ยั่งยืน

        เมื่อนักเรียนได้เรียนรู้เรื่องคุณธรรมแล้ว ขั้นต่อมาครูจะเชื่อมโยงให้นักเรียนคิด วิเคราะห์ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขโดยครูจะพูดคุยซักถามนักเรียนตอนท้ายชั่วโมงว่าได้เรียนรู้เรื่องอะไร ขณะเดียวกันจะขมวดร่วมกันว่ามีจุดไหนที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น หากมีนักเรียนเกิดอาการบาดเจ็บจากการเล่น ก็จะเชื่อมโยงว่าทำไมต้องสร้างภูมิคุ้มกันก่อน ด้วยการอบอุ่นร่างกาย และต้องศึกษาวิธีการเล่นให้เข้าใจจริงๆ เสียก่อน และควรเล่นให้เหมาะสมกับกำลังตน ไม่ฝืนร่างกายตัวเองจนเกินไป การออกกำลังกายนั้นจึงจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

        ครูเปลี่ยน...เด็กเปลี่ยน

        จากการเรียนการสอนที่ใช้เงื่อนไขคุณธรรมและความรู้เป็นตัวนำ ผนวกกับหลัก 3+1 ทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาเปลี่ยนแปลงไป จากอดีตที่เด็กมักไม่ค่อยช่วยเหลือกัน ปัจจุบันเด็กมีการยอมรับซึ่งกันและกัน มีน้ำใจช่วยเหลือกัน ไม่มีการแก่งแย่งแข่งขัน เพราะแต่ละห้องจะได้คะแนนระดับเดียวกัน จากการใช้หลักเพื่อนช่วยเพื่อน และหลักคิดตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทำให้นักเรียนเข้าใจเรื่องต่างๆด้วยความมีเหตุผล สามารถวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น บรรยากาศการเรียนการสอนจึงสนุก และไม่เครียด ซึ่งนอกจากทำให้พฤติกรรมตลอดจนอุปนิสัยเด็กเปลี่ยนแปลงไปแล้ว พฤติกรรมของตัวครูก็เปลี่ยนแปลงไปโดยไม่รู้ตัว คือมีความอดทน ใส่ใจผู้เรียน ให้ความสำคัญกับผู้เรียนมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

       "อุปนิสัยต่างๆ ซึมซับเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัว ในขณะที่เราสอนเด็กก็คือการสอนตัวเอง เหมือนครูสอนไปทำไป ผลดีก็มาอยู่ที่ตัวครู คุณธรรมเกิดแน่นอน ทั้งใฝ่รู้ใฝ่เรียน เพียรพยายาม ตัวอย่างง่ายๆ วิชาพลศึกษาเรียนกันกลางแจ้ง แดดร้อน เมื่อร่างกายร้อน อารมณ์ก็จะร้อน ใครมีนิสัยอย่างไรก็ออกมาหมด หงุดหงิด ไม่สนใจเรียน ครูก็จะสอดแทรกเรื่องความอดทน ตัวเราเองก็ต้องใช้ความอดทนในการสอนเด็ก ในการหาวิธีการประยุกต์ใช้ การแก้ปัญหา อย่างเช่นเรื่องเด็กผู้หญิงมีประจำเดือน เขาไม่กล้าบอกครูว่าวันนี้เล่นไม่ได้ มีประจำเดือน บางคนไม่ได้เตรียมผ้าอนามัยมาขออนุญาตออกไปซื้อ หลังๆ มาเราเริ่มคิดวิธีการ คือซื้อเตรียมไว้ให้เขาเลย ตกลงกันว่าใครไม่มีก็ไปหยิบมาใช้ได้ แล้วค่อยนำมาคืน เพื่อวันหลังคนอื่นจะได้ใช้ต่อไป ซึ่งเมื่อก่อนเราไม่ได้คิดแบบนี้ เราไม่ได้ใส่ใจ เด็กก็ไปซื้อเอง ตรงนี้เราก็ถือว่าเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในการเรียนอย่างหนึ่ง"

        ย้อนอดีตกีฬาพื้นบ้าน ฟื้นการละเล่นสู่วิชาพลศึกษา

       นอกจากการสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการพูดคุยให้นักเรียนซึมซับไปในการสอนแต่ละครั้งแล้ว ครูอันเร ได้ยกตัวอย่าง แผนบูรณาการช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ สุขศึกษาและพลศึกษา เรื่องกีฬาพื้นบ้านลูกลัน (เปตองยักษ์) และบั๊นซ้อล (สะบ้าศอก)

       ในแผนบูรณาการดังกล่าว ครูผู้สอนในแต่ละวิชาทำหน้าที่ออกแบบการเรียนรู้ร่วมกันในการวางแผนการเรียนรู้ก่อนพานักเรียนลงพื้นที่จริง เพื่อสืบค้นความรู้จากชุมชน นอกเหนือจากวิชาสุขศึกษาพละศึกษาที่จะต้องไปสืบค้นเรื่องกีฬาพื้นบ้านแล้ว ยังมีวิชาสังคมศึกษา ซึ่งเป็นวิชาแกนกลางในแผนบูรณาการฯ นี้ ซึ่งโจทย์สำคัญอยู่ที่การให้นักเรียนสืบค้นประวัติศาสตร์ ความเป็นมา วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนริมน้ำ

       การประเมินตามผลในรายวิชาสังคมศึกษานี้ ครูสังคมศึกษาจะเป็นผู้ตรวจสอบเนื้อหาในภาพรวม ซึ่งจะปรากฏอยู่ในใบงานของสาระวิชาอื่นๆ ร่วมด้วย คือ วิชาคณิตศาสตร์ที่นักเรียนจะต้องศึกษาและคำนวณหาอัตราการเจริญเติบโต และเพิ่มขึ้นของประชากรในท้องถิ่น ซึ่งอยู่ในหน่วยการเรียนรู้เรื่องสถิติและข้อมูล ในสาระวิทยาศาสตร์ นักเรียนจะต้องเรียนรู้เรื่องการใช้และการอนุรักษ์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในชุมชน รวมถึงการสำรวจคุณค่าและสารอาหารที่มีอยู่ในอาหารพื้นบ้าน เช่น ข้าวเกรียบโบราณของดีเมืองจันทร์ โดยนักเรียนจะต้องไปเรียนรู้อย่างใกล้ชิดในกระบวนการทำข้าวเกรียบว่ามีส่วนประกอบใดบ้าง เพื่อเก็บข้อมูลนำมาวิเคราะห์หาสารอาหารในห้องเรียน ในสาระวิชาภาษาไทยนักเรียนจะได้รับการมอบหมายให้เขียนเพื่อสื่อความในรูปแบบของเรียงความเกี่ยวกับวิถีชีวิตคนริมน้ำ วิชาศิลปะนักเรียนจะได้รับการมอบหมายให้ถ่ายทอดภาพวิถีชีวิตของคนริมน้ำออกมาให้สวยงามผ่านงานศิลปะ วิชาการงานอาชีพฯ นักเรียนจะได้เรียนรู้เทคนิควิธีการทำข้าวเกรียบโบราณของดีเมืองจันทร์ แล้วกลับมาแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องประโยชน์และคุณค่าของอาหารพื้นบ้าน เมื่อกลับมาจากการลงพื้นที่เรียนรู้ชุมชน นักเรียนต้องสามารถนำคำศัพท์ใหม่ๆ มานำเสนอในชั้นเรียนวิชาภาษาต่างประเทศ

         ครูอันเรกล่าวถึงที่มาในการนำกีฬาพื้นบ้านสองชนิดนี้มาสอนนักเรียนว่า เกิดจากที่ครูไปพบลูกสะบ้าที่คุณแม่เก็บไว้โดยบังเอิญ ทำให้เกิดความคิดขึ้นมาว่า หากรื้อฟื้นกีฬาชนิดนี้ขึ้นมาสอนในวิชาเรียนน่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นกิจกรรมที่สามารถสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ ดังนั้น ครูจึงเริ่มไปสืบค้น สอบถาม บันทึก รวบรวมข้อมูล ประวัติ และวิธีการเล่นจากคนเฒ่าคนแก่ ญาติผู้ใหญ่ในชุมชน จนได้ความรู้ว่า

"เปตองยักษ์และสะบ้าศอก" เป็นกีฬาพื้นบ้านประเภทหนึ่งที่นิยมเล่นกันในสมัยก่อนของชุมชนตำบลจันทนิมิต ซึ่งเล่นกันมานานแล้ว ประมาณ 150 ปี แต่ปัจจุบันหาดูได้ยากจนเกือบจะสูญหายไปแล้ว กีฬาเปตองยักษ์ เป็นกีฬาที่เล่นในหมู่ผู้ชาย ส่วนสะบ้าศอกเป็นกีฬาสำหรับผู้หญิง ทั้งสองประเภทเป็นกีฬาที่เล่นสนุกสนาน ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่น

        "ครูได้ไปหาความรู้โดยการสืบค้นประวัติ ตามหาจากคนที่มีชีวิตอยู่ว่า กีฬาชนิดนี้มีที่มา กติกาอย่างไร มีสนามที่ไหนบ้าง สืบไปสืบมา พบว่าสนามก็อยู่ใกล้ๆ บ้านเรา จึงค่อยๆ ไล่หาจนครบ 12 สนาม ลานสุดท้ายอยู่ในพื้นที่โรงเรียนเราเอง จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เรานำมาสอนเด็ก เพราะสามารถสอดแทรกเรื่องคุณธรรมได้มาก ทั้งความมีระเบียบ ความพยายาม ความมีน้ำใจแบ่งปัน"

        วัฒนธรรมประเพณีการเล่นกีฬาสะบ้าศอก เป็นกีฬาที่ผู้หญิงเล่นแสดงถึงกิริยามารยาทเรียบร้อย ท่ายิงสะบ้าต้องนั่งพับเพียบ เป็นการละเล่นที่มีเอกลักษณ์ ไม่เหมือนที่อื่น ทั้งวิธีการ กติกา อุปกรณ์ คือ ลูกสะบ้ากลึง ทำด้วยไม้แก่น (ส่วนมากจะเป็นไม้ประดู่ ไม้เต็ง ไม้แดง ไม้สัก ไม้ตะเคียนหรือไม้เนื้อแข็งต่างๆ) นำมาแกะสลักด้วยมือ ด้านหน้ามีลวดลายต่างๆ สวยงามมาก ผู้ที่เป็นพ่อหรือแม่มักจะทำเอาไว้ให้ลูกสาวเอาไปเล่นกับเพื่อนๆ ด้านหลังมักขัดเรียบ การเรียกก็คล้ายกับสะบ้าล้อ นั่นคือ ด้านที่มีลวดลายสวยงามเรียกว่า

"ด้านกลึง" ส่วนด้านที่เรียบเรียกว่าด้านเกลียว ส่วนการเล่นเปตองยักษ์เป็นการละเล่นของชาวญวนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากที่ชุมชนแห่งนี้เป็นผู้นำเข้ามาเล่น โดยครั้งแรก ใช้ลูกปืนใหญ่ที่เสียแล้ว (ลูกปืนใหญ่นี้เป็นลูกเหล็กต้องไปนำมาจากค่ายเนินวง) นำมากลิ้งหรือล้อแข่งกันโดยมีหลุมเล็กๆ เป็นเป้าหมาย ใครสามารถกลิ้งหรือล้อไปใกล้หลุมมากที่สุดผู้นั้นจะได้คะแนนหรือเป็นผู้ชนะในการแข่งขันทันที กระทั่งมีการออกพระราชบัญญัติให้ลูกปืนเป็นของโบราณ ห้ามผู้ใดไปขนมาอีก ชาวบ้านจึงต้องใช้วิธีสกัดหินก้อนใหญ่ให้กลมเกลี้ยงแทน ต้องใช้ความพยายาม อดทนสูงกว่าจะสกัดได้สักลูก แต่ปัจจุบันสามารถสั่งร้านทำได้ เป็นลักษณะคล้ายลูกนิมิต ซึ่งกำหนดขนาด และน้ำหนักได้

       ครูอันเรบอกว่า สามารถนำการละเล่นนี้มาบูรณาการกับสาระวิชาพลศึกษามาตรฐานที่ 3 การรักการออกกำลังกาย การส่งเสริมภูมิปัญญา ทั้งนี้ ผลที่มุ่งหวังคือให้นักเรียนรู้วิธีการออกกำลังกาย รู้จักความพอประมาณที่ว่าการออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องมีสนามใหญ่ๆ ไม่ต้องไปไขว่คว้าอะไรมาก ผู้หญิงเล่นสะบ้าศอกได้ฝึกตัวเองเรื่องกิริยามารยาท ความอดทนในการนั่งพับเพียบ ได้ความรู้เรื่องประวัติชุมชน ประเพณีวัฒนธรรม กฎ กติกา

        "สิ่งที่ครูได้เรียนรู้ คือ การได้สืบเสาะหาความรู้ ข้อมูล ว่าการสอนเด็กแต่ละเรื่องก็ต้องหาความรู้ก่อน หรือหากสอนเด็กแล้วเด็กทำไม่ได้ เราก็ต้องหาวิธีที่จะทำให้เขาเรียนรู้ได้ หรือหากเด็กทำไม่ได้ ครูก็ต้องพิจารณาแล้วว่ากิจกรรมนี้ยากไปหรือไม่ เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงชั้นเพียงใด ต้องไปหาวิธีการต่างๆ อาจจะหาวิธีการของนักกีฬาดังๆ มาเป็นตัวอย่าง การเรียนการสอนลักษณะนี้คุณธรรมจะเกิดกับครูด้วย เช่น ความเพียร ความอดทน เราสอนพลศึกษา เด็กทำไม่ได้ก็หงุดหงิด จึงต้องมีความอดทน เพราะเด็กแต่ละคนไม่ใช่ว่าสอนแล้วจะทำได้เลย เด็กแต่ละกลุ่มต่างกัน ครูต้องใช้วิธีการต่างกันเพื่อให้บรรลุสิ่งที่ต้องการ จากที่เมื่อก่อนเดินตรงแบบทางเดียว แต่ตอนนี้เราสร้างทางเลือก โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครูสอนได้หลากหลาย มองเห็นวิธีการมากขึ้น"

        หลัง จากสืบค้นข้อมูลต่างๆ แล้ว ครูอันเรได้นำมาเรียบเรียงเป็นใบความรู้ และนำมาเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

- กิจกรรมที่ 1 ครูจะสอนประวัติความเป็นมาของชุมชนตำบลจันทนิมิต ริมฝั่งแม่น้ำจันท์และความเป็นมาของของกีฬาพื้นบ้าน (1 ชั่วโมง) จากนั้นนำเข้าสู่การเรียน ครูชี้แจงจุดประสงค์ที่ใช้ในการเรียน สนทนากับนักเรียนเกี่ยวกับกีฬาพื้นบ้านโดยทั่วไป แบ่งนักเรียนเป็น 4 กลุ่มๆ ละเท่าๆ กัน เลือกหัวหน้ากลุ่ม หลังจากนั้น ครูให้ศึกษาประวัติความเป็นมาของชุมชนและกำเนิดของกีฬาพื้นบ้าน

ขั้นต่อมาเป็นกิจกรรมที่บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มเล่าเรื่องความเป็นมาของชุมชน วิถีชีวิตที่อยู่อย่างเรียบง่าย การใช้ประโยชน์จากแม่น้ำ ความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชน แล้วสรุปร่วมกัน

- กิจกรรมที่ 2 การเล่นกีฬาพื้นบ้าน (3 ชั่วโมง) ขั้นนำเข้าสู่การเรียน ครูสาธิตการเล่นกีฬาพื้นบ้านทั้ง 2 ประเภท แล้วให้นักเรียนแบ่งกลุ่มเพื่อฝึกซ้อมการเล่น จัดแข่งขันเป็นกลุ่มภายในห้อง จากนั้นครูและนักเรียนช่วยกันสรุปบทเรียนร่วมกันในตอนท้าย

        "เมื่อรู้จักสืบค้นความรู้ เหตุผลก็จะตามมาว่า ทำไมคนสมัยก่อนเขาเล่นสะบ้าศอก เล่นลูกลัน และทำไมเล่นแบบนี้ ลูกเปตองมีหลายขนาด ตั้งแต่ 4 - 8 กิโลกรัม ต้องคิดแล้วว่าตัวเองควรเลือกลูกขนาดไหนให้พอประมาณกับกำลังตัวเอง หรือคนตัวใหญ่ มือใหญ่ใช้ลูกเล็กๆ ก็จับไม่ถนัด ทำให้เล่นได้ไม่ดี อันนี้คือความพอประมาณในการเลือก นักเรียนจะได้เรียนรู้ไปโดยปริยาย เพราะฉะนั้นเมื่อนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามามันเป็นหลักคิด โดยทำให้ผู้เรียนได้ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของบรรพบุรุษ ทำให้รู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักการให้อภัย เกิดความรัก ความสามัคคี ความอดทน การทำงานกลุ่ม รักและภาคภูมิใจในภูมิปัญญา"

       กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

       นอกจากนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในหน่วยการเรียนพลศึกษาแล้ว ครูอันเรยังนำมาสอดแทรกในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้วย โดยคิดในมุมกลับว่า เมื่อพูดถึงงานกิจกรรม โรงเรียนมักคัดเฉพาะเด็กเก่ง เด็กเรียนดีไปทำกิจกรรม โดยไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกกลุ่มได้ร่วมกิจกรรมของโรงเรียน แต่ถ้ามีกิจกรรมให้เด็กกลุ่มอื่นได้เรียนรู้ด้วย ก็อาจใช้กิจกรรมเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กเกิดความตระหนัก และกลับมาสนใจการเรียนได้อีกครั้งหนึ่ง

       "ให้โอกาส" จากคนไม่เอาถ่าน เปลี่ยนเป็นคนเอาถ่าน

        กิจกรรมการทำนาถือเป็นกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน เนื่องจากโรงเรียนเล็งเห็นว่าสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนเกิดความตระหนักในคุณค่าของสิ่งต่างๆ ผ่านการทำนาได้มาก และจากกิจกรรมนี้เอง ครูอันเรได้คิดต่อยอดสู่กิจกรรมเด็กเอาถ่าน โดยมีที่มาจากเมื่อครั้งไปทำกิจกรรมทำนา และได้พบกับวิทยากรที่สอนเรื่องการเผาถ่าน และการทำน้ำส้มควันไม้ การใช้ชีวิตอย่างพอเพียงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ศูนย์สังคมพัฒนา จ.สระแก้ว เมื่อได้เรียนรู้งานจากปราชญ์ในหมู่บ้านดังกล่าวมา ผนวกกับได้อ่านบทความพระธรรมเทศนาของพระพุทธิวงศ์มุนีเรื่องคนเอาถ่าน มีใจความว่า

"คนเอาถ่าน ก็คือคนไม่เกียจคร้าน ไม่หาข้ออ้างเพื่อไม่ทำการงาน บุคคลนี้ปกติรู้สึกนึกคิด และประพฤติมีจริยาวัตรของตนเป็นอย่างนี้ เป็นคนเอาถ่าน"

        เมื่อกลับมาถึงโรงเรียนครูจึงเกิดความคิดว่า การให้โอกาสเด็กที่มีปัญหา เด็กที่ไม่ค่อยสนใจเรียน เด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อพัฒนาเขาเหล่านั้น โดยนำกระบวนการเผาถ่านเข้ามาช่วยและตั้งชื่อกลุ่มเด็กเหล่านี้ว่า

"กลุ่มคนเอาถ่าน" น่าจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ให้ดีขึ้น ดังนั้นกระบวนการ "ชมรมคนเอาถ่าน" จึงเกิดขึ้น โดยครูได้วางจุดประสงค์ไว้ดังนี้คือ

1. เพื่อให้นักเรียนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้สอดคล้องกับชีวิต ประจำวัน การอนุรักษ์ธรรมชาติ และการใช้ไม้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด 2. เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงกระบวนการการเผาถ่านการเก็บน้ำส้มควันไม้และผลิตภัณฑ์จากผลไม้จากภูมิปัญญาของชาวบ้าน 3. เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตร่วมกัน รู้จักการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ไม่ไปมั่วสุมและสร้างความเดือดร้อน และสร้างความเดือดร้อน

4. เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องของคุณธรรมให้กับนักเรียน

        เมื่อมีเป้าหมายแล้วจึงได้เตรียมการต่อเนื่องคือ การเสนอความคิดกับกลุ่มครูผู้ทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะครูฝ่ายปกครองและครูประจำชั้น ซึ่งทุกฝ่ายเห็นดีด้วย จึงได้นำเสนอแนวคิดต่อคณะผู้บริหาร และได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี จากนั้นจึงรับสมัครนักเรียนที่จะเข้าร่วมกิจกรรม

"คนเอาถ่าน" รุ่นแรกมีนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายสมัครใจเข้าร่วมชมรมนี้ 22 คน

        "รุ่นแรกที่รับมามีเด็กดีอยู่ด้วย 2 คน เพื่อให้มีหัวกะทิ มีผู้นำที่ดีเป็นแบบอย่าง ส่วนคนอื่นๆ ไม่เอาการเรียนเลย มาเรียนบ้าง ไม่มาบ้าง อยู่ตามร้านเกม บางคนก็เป็นเด็กแว้น พอมารวมกลุ่มกัน แรกๆ ก็ปวดหัว ครูถึงขั้นคิดว่าไม่เอาแล้ว เพราะเด็กมาสนุกอย่างเดียว งานที่มอบหมายให้ก็ไม่ทำ เขาก็เกเรตามประสาเด็ก แต่ก็มาถึงจุดที่เราคิดว่าน่าจะมีอะไรที่ดีกว่า และมากกว่าตั้งกลุ่มให้เขาเผาถ่าน ก็เลยสร้างกระบวนการความสัมพันธ์ก่อน จึงได้ให้เวลาพวกเขา ได้พูดคุยกัน ทำให้พวกเขาเริ่มเปิดใจเล่าปัญหาให้เราฟัง เช่น เวลาที่ผมอยู่บ้านพ่อแม่ไม่เคยคุยกับผมเลย พ่อแม่ให้แต่เงินเพราะบ้านเขารวย บางครั้งที่ผมมีปัญหา ผมก็ไม่รู้จะคุยกับใคร ทำให้เรารับรู้ปัญหา รับรู้ความต้องการ จึงคิดกิจกรรมต่างๆ เข้ามาเสริมอีก"

        ครูอันเรเล่าว่านอกจากกิจกรรมเผาถ่านแล้ว ครูได้จัดให้มีการรวมกลุ่มกันในช่วงพักเที่ยงบ้าง ตอนเย็นหลังเลิกเรียนบ้าง มีการพูดคุยกันทั้งส่วนตัวและเป็นกลุ่ม บางวันก็ชักชวนกันเล่นกีฬา ปลูกสมุนไพรร่วมกันและหากิจกรรมมาร่วมกันทำเสมอ ทำให้ช่องว่างระหว่างครูและนักเรียนลดน้อยลง นักเรียนกล้าที่จะคุย กล้าที่จะปรึกษาปัญหาส่วนตัวกับครู เมื่อนักเรียนเกิดความไว้วางใจครูมากขึ้น จึงจัดค่ายเผาถ่านที่โรงเรียน 1 คืน (เฉพาะนักเรียนชาย) มีกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันมากมาย เช่น การทำอาหารร่วมกัน การเตรียมไม้ใส่เตา การจัดเรียงในเตา การปิด-เปิดหน้าเตา และการจุดไฟหน้าเตา

        นอกจากนี้ยังมีการอบรมทักษะชีวิต นั่งสมาธิ 1 ชั่วโมง แล้วเสริมด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จากนั้นมีกิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย เล่นกีต้าร์ ร้องเพลง เป็นต้น ในวันรุ่งขึ้นก่อนทานอาหารเช้า ครูอันเรจะพูดคุย สอบถามนักเรียนว่าได้อะไรจากกิจกรรมนี้บ้าง หรืออีกนัยหนึ่งคือ

"วงเปิดใจ" ว่าใครมีเรื่องอะไรที่จะเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง ใครได้รับอะไรบ้างให้แบ่งปันกัน เพื่อให้นักเรียนได้ทบทวนตนเอง ซึ่งนักเรียนต่างผลัดเปลี่ยนกันเล่าความรู้สึก ประสบการณ์ของตนเ

       "มีเด็กคนหนึ่งก็บอกว่า ครูครับ ถ้าผมบอกแล้วครูอย่าโกรธผมนะครับ และอย่าไล่ผมออกจากกลุ่มนะครับ ครูก็บอกว่า ไม่โกรธและไม่ไล่ออกจากกลุ่ม เด็กก็บอกว่า เมื่อคืนผมแอบสูบบุหรี่กับเพื่อนครับ เมื่อไม่ถูกว่า อีก 3 คนก็ยกมือ บอกว่าผมด้วยครับ เราเริ่มได้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กๆ กลุ่มนี้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็คิดว่าจะทำอย่างไรดี"

        เมื่อถึงกำหนดวันเผาถ่านครั้งที่ 2 ครูจัดให้มีกิจกรรมพิเศษ คือ

"เผาถ่าน เผาเหล้า เผาบุหรี่" เป็นกิจกรรมที่ต้องการให้เด็กเห็นโทษของยาเสพติด อบายมุข โดยเริ่มต้นด้วยการประชุมเด็กทั้งหมด ให้แต่ละคนเล่าประสบการณ์เรื่องของยาเสพติด โทษของยาเสพติดทั้งจากผู้เสพ คนขาย ชุมชน และสังคม จากนั้นนำภาพปัญหาความรุนแรงจากหน้าหนังสือพิมพ์มาให้เด็กช่วยกันคิด วิเคราะห์ถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขาในอนาคต จากการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติด มีการประชุมกลุ่มย่อยถึงโทษภัยของเสพติด และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล

       "บางกลุ่มบอกว่า สมมุติว่าเราสูบบุหรี่วันละ 2 มวนๆ ละ 2 บาท ถ้า 1 เดือน ก็ 60 บาท 1 ปี ก็ประมาณ 720 บาท ถ้า 10 ปี = 7,400 บาท ก็เริ่มดีใจว่าเด็กคิดได้"

       ในตอนท้ายครูอันเรจัดให้มีการสรุปร่วมกันว่าแต่ละกลุ่มจะลด ละ เลิก ยาเสพติดอย่างไร และจะช่วยเพื่อนในกลุ่มได้อย่างไร ครูจะโน้มน้าวให้เด็กเห็นข้อเสียและเป็นกำลังใจให้เด็กๆ สู้กับปัญหา จากนั้นครูพาเด็กๆ ไปที่เตาเผาถ่านซึ่งไฟกำลังลุกอยู่ หยิบบุหรี่พร้อมทั้งขวดเหล้า และบอกกับเด็กว่า "ลูกที่รัก ถ้าลูกยังคิดที่จะกลับใจ อยากเป็นคนดีของสังคมในอนาคต อยากเป็นนักเรียนที่ดีของครูบาอาจารย์ อยากเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ก็ให้พยายามเลิกสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้ โยนสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้เข้ากองไฟ เพื่อให้ความร้อนช่วยเผาผลาญความชั่วร้ายให้หมดไป และขอให้ทุกคนตั้งใจ พยามยามทำดีให้มากที่สุด พยายามอดทน อดกลั้นต่อสิ่งยั่วยุ หรือสิ่งที่จะทำให้เรากลับไปหาความไม่ดีอีก และให้ทุกคนอธิฐานถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพนับถือ และวอนขอนักบุญยอห์น บัพติส เดอ ลาซาล องค์อุปถัมถ์ของโรงเรียน ช่วยปกป้อง คุ้มครองพวกเราให้พ้นจากความชั่วร้ายด้วย" จากนั้นเด็กๆ ก็โยนบุหรี่ เทเหล้าเข้ากองไฟ อันเป็นเสร็จสิ้นคำสัญญาที่จะลด ละ เลิก จากอบายมุขต่างๆ

       ครูอันเรเล่าว่า หลังจากสิ้นปีการศึกษามีการประเมินภาพรวมของเด็กกลุ่มนี้ ทุกคนสามารถเรียนจบและเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา และมีผู้ปกครองหลายท่านเขียนจดหมายมาขอบคุณครูอันเร

       "ปกติแล้วเด็กกลุ่มนี้ มีแนวโน้มว่าจะเรียนไม่จบ แต่เมื่อเราดึงตัวเขามาร่วมกิจกรรม หลายอย่างมันสอนเขา จากที่เขาไม่ค่อยมาเรียนก็เริ่มมาเรียนมากขึ้น จากที่เรียนๆ หลับๆ เขาก็สนใจเรียนมากขึ้น เราได้จุดประกายให้เขาได้คิด ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาฯ ทั้งหมด เด็กได้เรียนรู้วิธีการเผาถ่าน เพราะต้องเผาทั้งคืน ต้องคำนวณเวลา ว่าเริ่มเผากี่โมง เอาไม้ออกกี่โมง ปิดเตากี่โมง และถ้าจะเอาประจุไฟฟ้าทำสบู่ถ่าน ก็ต้องคำนวณเวลาให้ดี เด็กจะรับผิดชอบทั้งหมด ต้องรู้จักแบ่งงานกันทำ มีการวางแผน จากกิจกรรมนี้ทำให้เด็กนำทักษะความรู้ที่ได้รับไปใช้กับเรื่องอื่นๆ ต่อไป เป็นการพัฒนาตนเอง ตัวครูเองก็มีความสุขกับงานที่ทำ แล้วเห็นเด็กๆ ที่กลับมาช่วยโรงเรียน กลับมาช่วยน้องๆ"