วินัย โพธิสาร : บทสัมภาษณ์พี่เลี้ยงเยาวชนเด่น โครงการกอนเจาเยาวชนสืบสานตำนานเสียงพิธีกรรมนางออชาติพันธุ์กวย

สิบเอกวินัย โพธิสาร (ครูแอ๊ด) อายุ 30 ปี

ครูสอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์

โครงการกอนเจาเยาวชนสืบสานตำนานเสียงพิธีกรรมนางออชาติพันธุ์กวย ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

­

ถาม แนะนำตัวชื่อจริง นามสกุลและชื่อเล่นงาน อาชีพ?

ตอบ ครูแอ๊ดสิบเอกวินัยโพธิสาร ปัจจุบันเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์ชั้นป.2 รายวิชาภาษาอังกฤษ

­

ถาม เคยทำโครงการอะไรมาบ้าง?

ตอบ ผมเคยเป็นแกนนำเยาวชนใน Active citizen ปีแรก เมื่อปี 2558 และมาเป็นพี่เลี้ยงเยาวชน 4 โครงการตั้งแต่ปี 59 ทำโครงการเกี่ยวกับผ้าไหม 2 ปี จากนั้นทำโครงการเรื่องดนตรีในพิธีกรรมสะเอง และปีนี้ทำโครงการกอนเจาเยาวชนสืบสานตำนานเสียงพิธีกรรมนางออชาติพันธุ์กวย รวมทำบทบาทพี่เลี้ยง 4โครงการ แต่ทำมาแล้ว 5 โครงการ

­

ถาม โครงการทำมาแล้วปีที่ 4ใครเป็นคนคิดหัวข้อ คิดประเด็นร่วมกันกับเด็กหรือเป็นการต่อยอดโครงการฯ?

ตอบ โครงการนี้ เป็นการต่อยอดจากโครงการเดิมเรื่องดนตรีในพิธีกรรมของชุมชนชาวกวย ตำบลโพธิ์กระสังข์ ในปีที่ 2 และ 3 เด็กๆ ทำในเรื่องดนตรีเหมือนกันแต่เป็นของสะเอง ดนตรีในพิธีกรรมสะเอง ได้ร่วมกันคิดกันเด็กเยาวชนว่า ในชุมชนของเรายังมีพิธีกรรมหนึ่งที่ยังไม่มีคนสืบทอดในเรื่องดนตรี จึงรวมตัวกันคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะสามารถปั้นเด็กรุ่นใหม่หรือเยาวชนรุ่นใหม่ เข้ามาเรียนรู้เรื่องดนตรีในพิธีกรรมนางออได้บ้าง ซึ่งในพิธีกรรมนี้ใช้เพียงแค่แคนในการบรรเลงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในพิธีกรรมสะเองเด็กสามารถทำเป็นเองได้หมดแล้ว เด็กสามารถจัดกระบวนการทุกอย่าง ได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งกับพิธีกรรมสะเอง แต่พิธีกรรมของนางออยังไม่รู้ จึงนำเอาดนตรีในพิธีกรรมนางออเป็นการเดินเป็นหัวข้อ เพื่อจะสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ในชุมชนของเรา และพยายามดึงเด็กต่างชุมชนเข้ามาเรียนรู้ด้วยกัน เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายด้วย ไม่ใช่เฉพาะเด็กในบ้านโพธิ์กระสังข์เท่านั้นจะมีเด็กจากต่างหมู่บ้านต่างตำบล บ้านกันทรอม บ้านหนองประดิษฐ์ บ้านพอกบ้านต่างๆ เพื่อที่จะให้เกิดการเรียนรู้หลายหมู่บ้านเป็นการสร้างเครือข่ายไปในตัว

ถาม ชุมชนตอบรับอย่างไร?

ตอบสำหรับในชุมชนของเรา พวกเขาดีใจที่มีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้โดยเฉพาะคุณตาพรหมมา ซึ่งเป็นปราชญ์ผู้รู้คนสุดท้ายดีใจมากที่มีเด็กและเยาวชน รุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้ดนตรีกับท่านเพื่อที่จะ ไม่ให้ดนตรีนั้นหายไปจากชุมชน เพราะในชุมชนของเรามีคุณตาคนเดียวที่บรรเลงดนตรีได้ คุณตาพรหมมาโพธิ์ กระสังข์อายุ 87 ปี เป่าแคนได้เพียงท่านเดียวเป็นคนสุดท้ายของชุมชน เป็นผู้รู้ท่านเดียวที่สามารถเล่นดนตรีไม่ว่าจะเป็นดนตรีในพิธีกรรมสะเองหรือดนตรีในพิธีกรรมนางออได้

­

ถามเมื่อคุณตาได้ทราบว่าจะมีโครงการฯ นี้ คุณตารู้สึกอย่างไร?

ตอบ คุณตารู้สึกว่าปลื้มใจที่มีทายาทสืบทอดต่อ เพื่อสืบสานพิธีกรรม ไม่ให้สิ่งที่ดีงามหายไปจากชุมชน ถ้าวันใดที่ดนตรีหายไปจากพิธีกรรม ก็จะมีการดึงเครื่องดนตรีอื่นนอกพื้นที่เข้ามาประสาน ไม่ได้เล่นแบบดั้งเดิม เหมือนกับว่าถูกกลืนกินวัฒนธรรมไปในตัว ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์กวยหรือชาติพันธุ์ลาวชาติพันธุ์ที่อยู่ใกล้เคียงกัน วัฒนธรรมจะกลืนกินกัน พิธีกรรมของเราจะหายไป จะไม่หยั่งรากลึกถึงพิธีกรรมดั้งเดิมด้วย รายละเอียดจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

­

ถามเป้าหมายของโครงการคืออะไร?

ตอบสำหรับเป้าหมายในโครงการของปีที่ 4 เรื่องดนตรีในพิธีกรรมนางออ เรามองร่วมกันกับเด็กว่า ทำอย่างไรที่เด็กๆ จะสามารถเรียนรู้ และสืบทอดดนตรีและพิธีกรรมนางออได้ ในพิธีกรรมนางออใช้แคน การเรียนแคนค่อนข้างยาก เพราะว่าเรียนจากการจำ ไม่มีโน้ตในการสอนให้จำให้จำเสียงเองเท่านั้น มันจึงมีความยุ่งยาก ว่าทำอย่างไรที่เราจะมีครูหรือผู้รู้จริงๆ ที่มาถอดโน้ตให้เราได้ ทำเพลงแคน สอนให้กับเด็กรุ่นใหม่หรือเยาวชนที่อยู่ในโครงการได้ เพื่อให้เขาจะเข้าใจง่ายขึ้น หรือ มีทฤษฎีภาคปฏิบัติพร้อมกัน

­

ถาม มีคนมาแกะโน้ตหรือยัง?

ตอบยังครับ กำลังพยายามหากลุ่มเด็ก ที่มีความสามารถในการเป่าแคนมาช่วยแกะโน้ตกัน

­

ถาม มีวิธีการอย่างไรให้เด็กเข้าใจเป้าหมายของโครงการและอยากทำโครงการ?

ตอบ เราให้เด็กลงพื้นที่จริง ได้ลงพื้นที่ได้คลุกคลีกับพิธีกรรมจริง ตั้งคำถามว่าทำไมเขาต้องจัดพิธีกรรมนี้ขึ้นมา ทำไมต้องมีดนตรีเพลงแคนขึ้นมา แต่ละช่วงของเพลงแคนไม่เหมือนกัน แต่ละช่วง จะมีช่วงเริ่มงาน ช่วงพิธีกรรมต่างๆ เก็บดอกไม้มีหลายเพลง หยั่งรากลึกถึงวิถีชีวิตหรืออะไรสักอย่างที่ผูกพันกับเราและคนในชุมชน เด็กเขาได้เรียนรู้จริง พวกเขาได้สัมผัส เขาได้เห็นอะไรหลายอย่างในพิธีกรรมนั้น แล้วเขารู้สึกว่าเกิดจิตใต้สำนึกความรักบ้านเกิดของเขา ทำให้พวกเขาอยากทำขึ้นมา

ถามครูแอ๊ดสังเกตว่าเด็กๆ รักชุมชน รักบ้านเกิด เกิดจิตสำนึกร่วมตอนไหน?

ตอบเห็นในช่วงที่เขาลงพื้นที่จริงและได้คลุกคลีกับปราชญ์ผู้รู้ ไม่ว่าจะเป็นแม่ครูก็ได้คุยกันว่าทำอะไรอย่างไร มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมต้องทำที่นี่ ทำไมต้องทำพิธีกรรมนี้ขึ้นมา ทำให้พวกเขาฉุกคิดขึ้นมา ว่าเราต้องทำนะ เมื่อได้ฟังเรื่องราว เห็นว่ามีคุณค่ามีอะไรอยู่ในตัว มีการสอนหลายอย่างอยู่ในพิธีกรรมนี้ คือความเป็นเครือญาติของเขา ทำไมเครือญาติพี่น้องตระกูลเดียวกันต้องมาร่วมพิธีกรรมนี้ ทุกอย่างเราสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เขาเห็นได้พบจริงๆ

­

ถามขอให้ครูแอ๊ดช่วยยกตัวอย่างพิธีกรรมหนึ่ง ที่พูดถึงที่มาเครือญาติที่ต้องมาเกี่ยวเนื่องกันในพิธีกรรมนี้?

ตอบพิธีกรรมนางออเป็นการสืบทอดเครือญาติผ่าน ลูกหลานไปเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น โดยที่จะไม่หายไปเลย เมื่อวันใดที่มีอาการเจ็บป่วยหรือญาติพี่น้องทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่สามัคคีกัน มีแถนหรือเทวดาประจำตัวของใครคนหนึ่งทำให้เจ็บป่วยโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ ไปหาหมอก็ไม่หาย เมื่อไปหาหมอดูหรือแม่ครูที่ดูเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ เขาก็จะรู้ว่าแถนประจำตัวมาทำให้ไม่สบาย จากนั้นก็จะทำการบนโดยเอาฝ้ายมาผูกคอขวดอะไรก็ได้ มีกรวยใส่บนขวดแล้วก็ผูกเป็นการบน ถ้าผูกแล้วภายใน 3 วัน อาการหายเป็นปลิดทิ้ง เขาจะจัดพิธีกรรมนี้ขึ้นมา เชิญเครือญาติมาสมมาลาไหว้ บอกกล่าวว่าทำผิดสิ่งนี้ไป ให้อภัยให้กันและกัน เด็กเมื่อเข้าใจในจุดนี้ เขาเห็นพิธีกรรมที่ทำให้คนเข้าใจกันและหายเจ็บป่วย พวกเขาตั้งคำถามว่าแล้วชุมชนเราจะอยู่อย่างไร ถ้าพิธีกรรมหายไป อนาคตจะเป็นเช่นไร

­

ถามเด็กๆ อยากรักษาพิธีกรรมดั้งเดิมไว้?

ตอบที่อยากให้อยู่เพราะเขาเห็นว่าปัจจุบันมีสื่อหลายอย่าง เช่นคลิปเสียงดนตรี เป็นการกลืนกินวัฒนธรรมเขาจะใช้ดนตรีที่อื่นมาเล่นในพิธีกรรมของเรา เช่นเอาดนตรีของเขมรมาเล่นกับพิธีกรรมของเรา ซึ่งไม่ใช่ของแท้ดั้งเดิมไม่ใช่ตัวตนวัฒนธรรมของเรา เขาจึงอยากรักษาสืบสาน

­

ถาม เจี๊ยบเล่าให้ฟังว่า ช่วงที่ไปเล่นใหม่ๆ มีผู้ใหญ่บางคนตั้งคำถาม เดี๋ยวผิดครู เหตุการณ์เป็นอย่างไร?

ตอบเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงเพราะว่าลงพื้นที่จริงปฏิบัติจริง เขาไม่แน่ใจว่าเด็กจะทำได้ เขาไม่รู้ว่าเด็กๆ เราไปเรียนกับคุณตามาแล้ว คุณตาเป็นคนถ่ายทอดให้ อยากให้เด็กๆ เล่นเป็น คุณตาพรหมมาก็จะพาเด็กไป เมื่อมีงานจะนำเด็กกลุ่มนี้ไปช่วยงานด้วย ไปช่วยเล่นดนตรีทุกอย่างผลัดกันไปมา ไม่ว่าจะตีฆ้อง ตีโทน เป่าปี่ คุณตาพาเด็กไป แม่ครูหรือนางรำที่มีเชื้อสายสะเองหรือนางออ เด็กก็สงสัยตั้งคำถามขึ้นมา เมื่อแม่ครูรู้เจตนาของเด็กๆ ที่อยากสืบสาน แม่ครูก็ชื่นชมดีใจ ที่มีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้และสืบทอด แถมยังพร้อมที่จะเรียนรู้ไปกับแม่ครูในเรื่องของพิธีกรรม ยิ่งทำให้เด็กๆ รู้ลึกหลายอย่างมองเห็นคุณค่าในพิธีกรรม

ถามนอกจากแม่ครูแล้ว ชาวบ้านคนอื่นเขาเห็นแล้วพูดอย่างไรบ้าง?

ตอบชาวบ้านและเจ้าภาพที่จัดงานขึ้นมาเขาดีใจมาก ที่มีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาสืบทอดให้ซึ่งเด็กเป็นกำลังสำคัญในการต่อลมหายใจดนตรีและพิธีกรรมไม่ให้ขาดหายไปชาวบ้านตอนแรกก็มีคำถาม ตอนหลังพอได้อธิบาย เขาก็เข้าใจและเปิดโอกาสให้เด็ก พวกเขาร่วมสร้างพื้นที่ให้เด็กปลอดภัย ให้เด็กภูมิใจที่ได้ทำอะไรมาจากตัวตนที่แท้จริงของเขาเอง ชาวบ้านรู้สึกยินดีมาก

­

ถามชุมชนสนับสนุนแล้ว โครงการดำเนินไปตามแผนที่วางไว้ไหม?

ตอบ ชุมชนของเราให้ความร่วมมือให้ความสนใจกับเด็กมากขึ้น เพื่อให้เขามีพื้นที่ดี ในการทำกิจกรรม เพื่อชุมชนเป็นสังคมที่น่าอยู่และช่วยกันสืบสานสิ่งที่ดี

­

ถามชาวบ้านช่วยสนับสนุนอย่างไรบ้าง?

ตอบ ในพิธีกรรมสนับสนุนค่าตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เด็กมีกำลังใจในการทำงาน ชาวบ้านเปิดใจมากขึ้นยอมรับเด็กมากขึ้น

­

ถาม ปัจจัยอะไร ที่ทำให้โครงการมีผลกระทบกับชุมชนได้ขนาดนี้ เป็นเพราะอะไร?

ตอบ เด็กมีใจ ชุมชนให้โอกาสให้ความร่วมมือ ถ้าครูแอ๊ดไปทำกิจกรรมด้วย ทางชุมชนก็จะให้ความไว้ใจ ที่เราพาเด็กไปทำกิจกรรมต่างๆ ชุมชนเชื่อว่าพาเด็กไปทำดี เขาเป็นผู้สนับสนุน เขาก็จะให้เด็กไปทำ

­

ถาม มองเด็กๆ ของเราจากวันแรกที่เริ่มต้น เห็นการเปลี่ยนแปลงหรือการเรียนรู้ของเด็กเราเป็นอย่างไรบ้าง อาจจะยกตัวอย่างเยาวชน 2-3 คนที่เปลี่ยนแปลง?

ตอบ ขอยกของเจี๊ยบก่อน เจี๊ยบเติบโตจากครอบครัวที่ไม่อบอุ่น พ่อไปทางแม่ไปทาง อยู่กับยาย ตอนนี้อยู่บ้านคนเดียว ดำเนินชีวิตด้วยตัวเองคนเดียว พอได้เข้าร่วมโครงการฯ ก็เติบโตขึ้น เพื่อนในกลุ่มช่วยกันดึง มีอะไรก็ปรึกษาหารือ มาคุยกัน เราก็ช่วยสนับสนุนในเรื่องต่างๆ ที่เด็กไม่พร้อม ช่วยคุยให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำว่าต้องทำอย่างไร ตอนนี้เขาก็เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากเป็นผู้ใหญ่ขึ้นกล้าที่จะแสดงออก กล้าที่จะพูดคุย เข้ากับผู้ใหญ่ได้ดี แต่ก่อนไม่ค่อยกล้า เก็บตัวพอได้เข้าโครงการก็มีความกล้าหลายอย่าง ทั้งการแสดงออก กล้าพูดกับผู้ใหญ่ กล้าอยู่กับเพื่อนในวง มีความสุขมากขึ้น

ฟลุ๊คเก่งแต่ยังไม่เก่งที่จะใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร ถ้าเป็นภาษาพื้นบ้านคุยได้หมดรู้พิธีกรรมทุกอย่างรู้ลึกทุกอย่าง จากที่เมื่อก่อนแทบไม่รู้อะไรเลย สามารถเตรียมพิธีกรรมได้สามารถทำหลายอย่างได้ เป็นพี่ที่ดึงเด็กชวนเด็กเข้ามาเรียนรู้ด้วยกันได้ เป็นคนจัดอุปกรณ์ แม้เพิ่งเข้ามาเป็นปีที่ 2 สามารถถ่ายทอดให้รุ่นต่อไปได้ ผมเชื่อว่าที่เด็กเป็นแบบนี้เพราะเขาเอาใจใส่ในสิ่งที่เขาทำอยู่ เขามีความมุ่งมั่นและเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำนี้เป็นสิ่งที่ดี พวกเขาเป็นครูที่จะสามารถถ่ายทอดให้กับเด็กรุ่นต่อไปและสืบทอดงานจากเขาได้

­

ถาม วางเป้าหมายในอนาคตเมื่อสิ้นสุดโครงการจะทำอะไรในชุมชนต่อไป?

ตอบ ที่วางเป้าหมายไว้ในโครงการของเรา กิจกรรมต้องไม่หายไป ดำเนินการต่อเนื่องต่อไป เมื่อไรที่ชุมชนมีงานสามารถเรียกใช้ได้ เพิ่มเครือข่ายของเยาวชนให้หลายหมู่บ้านให้ได้เข้ามาเรียนรู้และสืบทอดสิ่งที่ดีงาม ทั้งเรื่องดนตรีในพิธีกรรม เรื่องพิธีกรรม แม้ไม่มีทุนก็จะทำต่อกิจกรรมต่อเนื่องต่อไป เราทำหน้าที่ในการสืบทอดภูมิปัญญาของกวย ให้สืบสานจากรุ่นสู่รุ่น

­

ถามครูมองเห็นว่ากระบวนการดนตรีในพิธีกรรมเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ในการสร้างเด็กๆ ด้วยไหม?

ตอบใช่ เพราะว่าพิธีกรรมเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมาก การทำงานร่วมกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่จะทำสิ่งที่ดี

­

ถามขั้นตอนการเก็บโน้ตต่อไปคืออะไร?

ตอบวิธีการเก็บข้อมูลก็คือ พยายามถอดโน้ตก่อน เราอัดทั้งวีดีโอในการเป่าแคนมีตัวโน้ต 2 ข้าง ต้องอัด 2 ข้าง เก็บตัวโน้ตทีละตัว มาไล่ทีละตัวว่าโน้ตเพลงแคนมีอะไรบ้าง เพื่อที่จะเทียบกับโน้ตสากลทำให้เกิดการเรียนรู้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

­

ถามตอนนี้ยังมีเด็กในชุมชนที่ยังไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมบ้างไหม?

ตอบเด็กในชุมชนเราพยายามดึงเข้ามาตามความสมัครใจของเด็ก เริ่มแรกมาเวที ก็ดึงเด็กที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ ด้วยถ้าเขาอยากมา หนึ่งให้มีใจก่อน ใครก็ได้จากหมู่บ้านไหนก็ได้ เอาที่เป็นเพื่อนกัน พวกเขาจะชวนกันมา พูดปากต่อปากไปว่าได้ทำกิจกรรม และอธิบายให้ผู้ปกครองเขาฟังว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร

­

ถามคุณครูเห็นพัฒนาการของเด็กส่งผลต่อการเรียนอย่างไร?

ตอบทำให้เขามีความตั้งใจในการเรียนมากขึ้น ใส่ใจในการเรียนมากขึ้น ทำให้ผลการเรียนของเขาดีขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น การเล่นเพลงหนึ่งได้ต้องใช้ความอดทนจดจ่อกับสิ่งนั้น ทำอยู่ตรงนั้นไม่สามารถที่จะไปไหน ผมทำเรื่องทอผ้ามาก่อน คิดว่าการที่จดจ่ออยู่กับงานที่เราทำมันทำให้งานของเราออกมาดีมาก เราใส่ใจเข้าไป เราใส่จิตวิญญาณเข้าไปในงานของเราด้วยจิตวิญญาณคือดึงศักยภาพสักอย่างของเราออกมา ดึงพลังของเราออกมาที่จะให้การทำงานของเราก้าวต่อไปเรื่อย ๆ มีพลังไปเรื่อยๆ

­

ถาม บทบาทของเยาวชนในโครงการทำอะไรบ้าง?

ตอบบทบาทหน้าที่หลักของแกนนำหลักคือ สามารถขับเคลื่อนการทำงาน การเชื่อมประสานงานในชุมชน เป็นผู้นำผู้ตามที่ดี เข้าใจกันฟังพี่ฟังน้องไม่เอาใครเป็นใหญ่ มีปัญหาทำความเข้าใจคุยร่วมกัน เคารพซึ่งกันและกัน

ถามบทบาทพี่เลี้ยงของครูแอ๊ดทำอะไรบ้าง มีใครหนุนเสริม ร่วมขบวนการบ้าง?

ตอบนอกจากผมก็จะมีผู้นำชุมชนที่ช่วยกันเปิดพื้นที่ให้เด็ก พวกเขามองเด็กว่าไม่ใช่ปัญหาของสังคม เด็กสามารถทำสิ่งดีๆ ให้กับสังคม และยังมีผู้ปกครองที่ยังสนใจและยังให้ความร่วมมือกับเราด้วย ผมจะให้คำปรึกษา ใครมองว่าเด็กมีปัญหา แต่สำหรับผมเด็กไม่ใช่ปัญหากรณีของเจี๊ยบคุณยายของน้องเจี๊ยบไปอยู่กับญาติต่างจังหวัด น้องอยู่บ้านคนเดียว แม่ส่งเงินมาให้ เราก็ให้คำปรึกษาคุยตลอดเจอหน้าคือคุยมีเรื่องอะไรปรึกษาครูตลอด เราไม่ทิ้งน้องเขาไป บ้านเขาอยู่ใกล้โรงเรียนด้วย ผมจะสอนเขาเรื่อทักษะการใช้ชีวิตว่าทำอย่างไรบ้าง เราเอามาเปรียบกับเราว่าแต่ก่อนเราก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ใครก็มีปัญหาในชีวิต แต่เราก็ดิ้นรนผ่านมาให้ได้ ผมกับเยาวชนผูกพันและเข้าใจกันมากขึ้น ให้คำปรึกษาเรื่องครอบครัวเรื่องชีวิตส่วนตัว ให้ข้อคิด คติดีๆ ไปด้วย ผมสอนพวกเขามาตั้งแต่เด็ก มาตั้งแต่ป.1 รุ่นแรกโตประมาณ ม. 3 แล้ว