วินัย โพธิสาร : สืบสานพิธีกรรมนางออ มนต์ขลังเสียงแคนที่เชื่อว่าช่วยขจัดปัดเป่าโรคได้

เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ The Potential

  • ที่บ้านโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ชาวบ้านชาติพันธุ์กวยใช้พิธีกรรม ‘นางออ’ ซึ่งเป็นการเชิญ ‘ผีปู่ย่าตายาย’ หรือ ‘ผีบรรพบุรุษ’ มาเข้าร่างทรงเพื่อดูแลรักษาอาการป่วยของลูกหลาน โดยเชื่อว่า หากได้ไปพบแพทย์แผนปัจจุบันแล้วรักษาเท่าไรก็ไม่หาย พิธีกรรมดั้งเดิมนี้จะช่วยบำบัดโรคภัยไข้เจ็บได้
  • แม้เป็นความเชื่อส่วนบุคคล เด็กๆ เข้าใจว่าการทำพิธีกรรมเป็นความเชื่อทางจิตใจ ทำให้สบายใจขึ้น มีกำลังใจขึ้นหลังจากรักษากับหมอแผนปัจจุบันมาแล้วไม่หาย แต่เยาวชนบ้านโพธิ์กระสังข์ก็ยังเห็นพิธีกรรมนี้ดำเนินอยู่ จึงสนใจศึกษาที่มาของพิธีกรรมนี้ ขั้นตอน และสิ่งที่ต้องใช้ในพิธีกรรม
  • ในฐานะลูกหลานชาวกวย เด็กๆ สนใจสืบทอดพิธีกรรมนางออ และส่งต่อทักษะการบรรเลงดนตรีในพิธี อันเป็นอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ ต่อไป

“แต่แล่นแตแล่นแต่ แล่นแตแล่นแต่ แล่นแตแล่นแต…”

เสียงแคนก้องดังกังวาล ท่วงทำนองจังหวะช้าเร็วเคล้าคลอไปกับการร่ายรำของผู้ที่มาร่วมงาน ส่วนใหญ่เป็นคนเฒ่าคนแก่ชายหญิงที่ล้อมวงกันตั้งแต่หัวค่ำยันรุ่งเช้าอีกวันหนึ่ง งานนี้ไม่ใช่งานรื่นเริงแต่เป็นเสียงบรรเลงดนตรีในงานพิธีกรรมที่ชาวกวยบ้านโพธิ์กระสังข์ จ.ศรีสะเกษ ยังเชื่อและศรัทธาว่า หากได้ไปพบแพทย์แผนปัจจุบันแล้วรักษาเท่าไรก็ไม่หาย พิธีกรรมดั้งเดิมนี้จะช่วยบำบัดโรคภัยไข้เจ็บได้

กรณีคนในครอบครัวป่วยแบบไม่รู้สาเหตุ เช่น ปวดแสบปวดร้อนตามร่างกาย ไปพบแพทย์แผนปัจจุบันแล้วไม่พบสาเหตุ หรือได้ยามาทานแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น คราที่แพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารถรักษาอาการป่วยให้ทุเลาเบาบางลงได้ การบนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และทำพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิมจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ชาวบ้านเชื่อกันว่าพิธีกรรม ‘นางออ’ เป็นการเชิญ ‘ผีปู่ย่าตายาย’ หรือ ‘ผีบรรพบุรุษ’ มาเข้าร่างทรงเพื่อดูแลรักษาอาการป่วยของลูกหลาน บ้านไหนมีงาน ชาวบ้านบ้านใกล้เรือนเคียงต่างพร้อมเพรียงกันมาช่วยตระเตรียมปะรำพิธีและข้าวปลาอาหาร

กลุ่มเยาวชนบ้านโพธิ์กระสังข์

ตามความเชื่อ ปะรำพิธีต้องมุงด้วยทางมะพร้าวให้ปลายชี้ไปทางทิศตะวันตกทุกก้าน เรียกว่า ‘โตบ’ ส่วน ‘ตูมซอม’ หรือข้าวต้มห่อเป็นสำรับสำคัญที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมและแจกจ่ายให้ผู้ที่มาร่วมพิธี นอกจากนี้ ยังมีของไหว้อีกหลายสำรับถูกจัดเตรียมไว้บูชาพระแม่ธรณี เจ้าที่เจ้าทาง อัญเชิญแม่ครู วางไว้เป็นเครื่องเซ่นไหว้พญาแถนกลางปะรำพิธี และสำหรับบูชาครูก่อนเริ่มบรรเลงดนตรีไปตลอดงาน รวมถึงนางรำ ที่จะรำอัญเชิญผีปู่ยาตายายจะมีขันประจำตัวและมีข้าวสารในขันในการประกอบพิธีกรรม

แตะมือส่งต่อถ้อยทำนองดนตรีจากรุ่นสู่รุ่น

โครงการกอนเจาเยาวชนสืบสานตำนานเสียงพิธีกรรมนางออชาติพันธุ์กวย ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นโครงการที่สามที่กลุ่มเด็กและเยาวชนบ้านโพธิ์กระสังข์ลงมือทำกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ‘กอนเจา’ เป็นภาษากวย แปลว่า ลูกหลาน ความหมายของโครงการจึงสื่อถึงการรวมตัวกันของกลุ่มเด็กเยาวชนที่เป็นลูกหลานชาติพันธุ์กวยในท้องถิ่นอีสานใต้ที่ลุกขึ้นมาสืบสานพิธีกรรมนางออซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน กลุ่มเยาวชนรุ่นแรกริเริ่ม ‘โครงการสืบสานสะเนง สะเองกวย’ ราวปี 2559 เชื่อมโยงมาสู่ ‘โครงการสะเองสืบสาน จัดกระบวนการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้สู่รุ่นน้องนอกห้องเรียน’ รุ่นที่สอง ในปี 2560

โครงการในสองรุ่นแรกเน้นไปที่การสืบสานพิธีกรรมสะเอง ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อเดียวกันกับพิธีกรรมนางออเรื่องการรักษาโรค สิ่งที่น่าสนใจสำหรับพวกเขา คือ การบรรเลงดนตรีพื้นบ้านในพิธีกรรมและขั้นตอนการจัดปะรำพิธี การมาเยือนชุมชนโพธิ์กระสังข์ในครั้งนี้ ฟลุ๊ค – วสิษฐ์พล โพธิ์กระสังข์ แกนนำเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่รุ่นแรก เจี๊ยบ – ศดานันท์ วันเพ็ญ, กุ๊งกิ๊ง – สุพัตรา ทองแสง และ คิม – ธนกฤต แก้วลอย กลุ่มแกนนำเยาวชนรุ่นสาม ได้มานั่งล้อมวงคุยกับ The Potential ถึงเรื่องราวดนตรี ความสนุกและความเชื่อของพวกเขา

“ต่อให้ในโรงเรียนไม่มีการสอนเรื่องราวประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชาติพันธุ์กวย ไม่มีบทเรียนเกี่ยวกับพิธีกรรมการละเล่นของเรา แต่อย่างน้อยถ้ารักษาพิธีกรรมไว้เราก็ยังมีสิ่งเหล่านี้อยู่ในหมู่บ้านให้ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง” ฟลุ๊ค กล่าว

แม้ความเชื่อความศรัทธาในพิธีกรรมยังคงอยู่ในชุมชน แต่ก็ถูกสั่นคลอนตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เห็นได้จากคนที่ยังคงมีความเชื่อและศรัทธาน้อยคนนักที่จะสนใจเข้ามาเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปของพิธีกรรม หรือบางคนมองว่าเป็นเรื่องงมงายจึงไม่ได้ให้ความสนใจ องค์ความรู้และภูมิปัญญาเหล่านี้จึงขาดคนรุ่นใหม่เข้ามาสืบทอด แต่ยังคงอยู่กับคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน แต่ความทรงจำก็กำลังค่อยๆ เลือนหายไป และสังขารที่ถดถอยไปตามกาลเวลา

ย้อนกลับไปราว 4 ปีก่อน แกนนำเยาวชนกลุ่มแรกรวมตัวกันขอเป็นศิษย์กับผู้เฒ่าผู้แก่เพื่อเรียนรู้การบรรเลงดนตรีในพิธีสะเอง ความเชี่ยวชาญจากการฝึกฝนส่งผลให้กลุ่มเยาวชนได้มีส่วนร่วมบรรเลงในงานพิธีกรรมจริง และเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน แถมยังได้ค่าตอบแทนจากการได้เป็นส่วนหนึ่งของวงดนตรีที่บรรเลงในงานพิธี กลายเป็นรายได้เสริมที่สร้างความภูมิใจให้กับพวกเขา แกนนำเยาวชนรุ่นแรกทั้งหมด 7 คน จึงนำทักษะความรู้ที่ตนได้ฝึกฝนไปถ่ายทอดแบบตัวต่อตัว ให้เยาวชนรุ่นน้องในโรงเรียนผ่านชมรมดนตรี และขยายเวลาฝึกซ้อมเชื่อมโยงกับชั่วโมงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ผลลัพธ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ ยิ่งรุ่นน้องเล่นดนตรีได้เก่งขึ้นเท่าไร ความชำนาญในการเล่นดนตรีของรุ่นพี่ก็มีมากขึ้นเท่านั้น

“เมื่อก่อนผมเห็นในหมู่บ้านมีการจัดงานพิธี ก็ไปดูไปร่วมเฉยๆ จนครูแอ๊ดมาชวนว่าอยากฝึกด้วยกันมั้ยตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มทำโครงการครั้งนี้ ผมเห็นน่าสนใจเลยเข้ามาฝึกเล่นดู ก่อนทำโครงการผมได้เล่นไปสองงานแล้ว ครูแอ๊ดเห็นว่าเล่นดนตรีเป็นแล้วเลยชวนเข้ามาร่วมโครงการ” เจี๊ยบ กล่าว

ครูแอ๊ด – สิบเอกวินัย โพธิสาร ที่เจี๊ยบเอ่ยถึง เป็นพี่เลี้ยงชุมชนของโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษและเป็นครูโรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์ เล่าถึงที่มาแห่งความลี้ลับของพิธีกรรมดั้งเดิมว่าเป็นเรื่องของ ‘การแก้บน’ ผู้ป่วยหรือครอบครัวมักเดินเข้าหา ‘หมอธรรม’ ‘แม่ครู’ หรือ ‘ร่างทรง’ ผู้ทำหน้าที่เป็นตัวแทน (ล่าม) สื่อสารกับผีบรรพบุรุษ เพื่อขอคำปรึกษา เสี่ยงทาย หรือบนบานสานกล่าวต่อบรรพบุรุษและเทวดาประจำตัว (พะยาแถน) ให้ปกปักรักษาและปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บของลูกหลาน หากอาการเจ็บป่วยมลายหายไปแล้ว เมื่อนั้นจะแก้บนให้ด้วยการจัดพิธีกรรมนางออหรือสะเอง

สืบสายบรรพบุรุษ

หากมองตามสภาพความเป็นไปทางสังคม ผู้คนมักยึดเหนี่ยวกับความเชื่อ แม้เวลาผ่านไปความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมนางออและสะเองน่าจะยังคงอยู่ แต่การสืบทอดเรื่องการจัดพิธีกรรมและการบรรเลงดนตรีของชุมชนโพธิ์กระสังข์คงหายไปหากเด็กเยาวชนรุ่นหลังไม่สนใจเรียนรู้ ครูแอ๊ด บอกว่า ถ้าคนในชุมชนบรรเลงดนตรีเองไม่ได้ จัดประรำพิธีไม่เป็น หากต้องมีพิธีกรรมชุมชนก็คงต้องจ้างวงดนตรีและแม่ครูจากนอกชุมชนมาช่วยจัดพิธีแทน เป้าหมายของโครงการกอนเจาเยาวชนสืบสานตำนานเสียงพิธีกรรมนางออชาติพันธุ์กวย จึงขยายผลจากการสืบสานพิธีกรรมสะเองในรุ่นก่อนๆ มาสู่การสืบสานพิธีกรรมนางออ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้ดนตรีพื้นบ้านผ่านพิธีกรรมทั้งสองอย่างควบคู่กันไป ให้พวกเขาก้าวขึ้นมาเป็นทัพหน้าในการสืบทอดและส่งต่อทักษะการบรรเลงดนตรี รวมทั้งองค์ความรู้ด้านการจัดพิธีกรรมนางออของชาติพันธุ์กวย

พิธีกรรมนางออและสะเองแตกต่างกันอย่างไร?

เป็นคำถามที่ถูกถามขึ้นมาบ่อยครั้งทั้งจากบุคคลภายนอกหรือแม้แต่จากคนในชุมชนเอง เจี๊ยบ เล่าว่า พิธีกรรมนางออและสะเองสืบทอดผ่านเชื้อสายบรรพบุรุษ หากบรรพบุรุษสืบเชื้อสายนางออก็ต้องแก้บนด้วยการจัดพิธีกรรมนางออ แต่หากบรรบุรุษสืบเชื้อสายสะเองก็ต้องแก้บนด้วยการจัดพิธีกรรมสะเอง แต่เพราะพิธีกรรมดั้งเดิมเหล่านี้ไม่ได้รับความสนใจ บางครอบครัวไม่เคยเอ่ยถึง ความรู้ความเข้าใจจึงไม่ได้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น กลายเป็นการยากต่อการเสาะหาที่มาที่ไปการสืบสายบรรพบุรุษ

“เราเติบโตมาก็เห็นพิธีกรรมมาตลอด บ้านนี้ไม่สบายก็จัดพิธีกรรม บ้านโน้นไม่สบายก็จัดพิธีกรรม แต่คนรุ่นปัจจุบันไม่ได้สนใจทำความเข้าใจที่มาที่ไป บางบ้านอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบรรบุรุษของตัวเองสืบเชื้อสายสะเองหรือนางออ แต่ถ้าไม่รู้จริงๆ พอเจ็บไข้มารักษาไม่หาย ก็สามารถให้แม่หมอเสี่ยงทายดูให้ได้ คนที่สามารถเป็นแม่หมอหรือแม่ครูก็ต้องเป็นคนที่สืบเชื้อสายนางออหรือสะเองมา” เจี๊ยบ กล่าว

กลุ่มแกนนำเยาวชน อธิบายถึงการบรรเลงดนตรีพื้นบ้านประกอบพิธีกรรมว่า การเล่นสะเองใช้เครื่องดนตรีประเภทตีและเป่า ได้แก่ ปี่แม่มด ฆ้อง และโทน ส่วนพิธีกรรมนางออใช้เครื่องดนตรีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น ได้แก่ แคน ทำนองเพลงที่บรรเลงแต่ละท้องถิ่นมีเอกลักษณ์เฉพาะไม่ซ้ำกัน ท่วงทำนองของบทเพลงที่เล่นกันในบ้านโพธิ์กระสังข์จึงแตกต่างจากชาติพันธุ์กวยชุมชนอื่น พวกเขาใช้วิธีบันทึกภาพวิดีโอขณะที่ตาพรมมาเป่าแคนและถ่ายทอดวิชาความรู้ ไว้นำกลับไปฝึกซ้อมภายหลัง ส่วนใหญ่รวมตัวกันฝึกซ้อมตอนแดดร่มลมตกที่บ้านครูแอ๊ด

“แคนสอนและเรียนยากมากเพราะไม่มีโน้ตให้อ่าน ต้องฝึกฝน ใช้วิชาครูพักลักจำเอาเอง” เจี๊ยบ กล่าว

“เด็กๆ ในกลุ่มเล่นเครื่องดนตรีสะเองกันได้หมดแล้ว ตอนนี้เลยหันมาเรียนเป่าแคนเพิ่มเพื่อให้มีความเชี่ยวชาญพอส่งต่อความรู้แก่เด็กรุ่นต่อไปได้ เยาวชนบางคนในกลุ่มมีพรสวรรค์ ยกตัวอย่าง แม็ค (จักรกฤษ จิตรโสม) ฝึกฝนไม่นานก็เป่าแคนได้คล่อง เชื่อว่าเป็นเพราะตัวเขาเองสืบเชื้อสายครูนางออมา รุ่นพี่จะค่อยๆ สอนน้องเป่าปี่ในพิธีกรรมสะเองก่อน แล้วค่อยสอนเป่าแคน ถ้าเป่าปี่ได้แคนก็จะตามมาได้ไม่ยาก ส่วนผู้หญิงจะเข้ามาฝึกฝนการกำกับจังหวะและการจัดเครื่องไหว้ครู” ครูแอ๊ด ขยายความ

นอกจากการบรรเลงดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ‘ผ้าซิ่น’ เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในงานพิธีที่สะท้อนอัตลักษณ์ชาติพันธุ์กวย ผ้าซิ่นที่จะนำมาใช้ในงานพิธีกรรมเพื่อให้ร่างทรงสวมใส่นั้นควรเป็นผ้าซิ่นต่อครบองค์ประกอบ 4 ชิ้น ได้แก่ หนึ่ง ตัวซิ่น เป็นผ้าไหมโซดละเว – ผ้าไหมทอลายหางกระรอก หรือ ผ้าโฮล – ผ้าไหมมัดหมี่ลายโบราณ สอง ตีนซิ่นมัดหมี่ การต่อเชิงซิ่นด้านล่างหรือ เรียกว่า บูลล์บูลล์ สาม แถบยกมุก เรียกว่า เสลิก และ สี่ หัวซิ่นยกขิดลายดอกหมาก เรียดว่า ปลอฉิจ์

กลุ่มแกนนำเยาวชน เล่าว่า หากผ้าซิ่นที่ตระเตรียมไว้ไม่ประณีตดีพอ มีความเป็นไปได้ที่ร่างทรงจะไม่รับผ้าซิ่นไปนุ่งขณะทำพิธี ผ้าซิ่นจึงคล้ายเป็นเครื่องบรรณาการ และเป็นสื่อที่เป็นตัวแทนถึงการแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษ

ตัวตนและคุณค่าที่ค้นพบในตัวเอง

เมื่อถึงวันงานชาวบ้านจัดเตรียมพิธีกรรม คุณตาพรมมา โพธิ์กระสังข์ (ขณะนี้เสียชีวิตแล้ว) จะโทรนัดแนะให้เด็กๆ มาช่วยยกเครื่องเสียงจากบ้านไปติดตั้งที่บ้านเจ้าภาพ ถึงช่วงเย็นสมาชิกทุกคนมาพร้อมหน้าพร้อมตากัน เด็กและเยาวชนแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เข้าไปสังเกตการณ์ จดบันทึก ถ่ายภาพ และบันทึกวิดีโอ กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ได้รับเชิญให้เป็นส่วนหนึ่งของวงดนตรีที่บรรเลงในวันงาน เจี๊ยบ อธิบายว่า ในส่วนของการจัดเตรียมปะรำพิธี เจ้าภาพหรือเจ้าบ้านที่เป็นผู้บนบานไว้จะเป็นแม่งานหลักในการตระเตรียมข้าวของ การแก้บนสามารถระบุได้ว่าถ้าอาการหายดีแล้วจะแก้บนทันที หรือจะแก้บนในเดือนไหน ส่วนใหญ่คนในชุมชนมักนิยมแก้บนเดือนสาม (ตามปฏิทินจันทรคติไทย ราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนมีนาคม) เพราะมีความเชื่อว่าเป็นเดือนที่ดี ดังนั้นจำนวนครั้งหรือโอกาสที่กลุ่มเยาวชนจะได้เรียนรู้จากพิธีกรรมจริง ขึ้นอยู่กับว่าเดือนนั้นมีคนป่วยในชุมชนที่ต้องจัดพิธีกรรมแก้บนมากน้อยแค่ไหน บางเดือนมีมากกว่า 10 ครั้ง บางเดือนก็แทบไม่มีเลย

“เรื่องของความเชื่อเป็นเรื่องแล้วแต่บุคคล ผมเชื่อเพราะเห็นคนที่มีอาการป่วยรักษาอาการให้หายไปได้แล้วมาทำพิธีกรรมหลายคน ผมว่ามันเป็นความเชื่อทางจิตใจ ทำให้สบายใจขึ้น มีกำลังใจขึ้นหลังจากรักษากับหมอแผนปัจจุบันมาแล้วไม่หาย” เจี๊ยบ เล่า

เจี๊ยบเล่าย้อนความทรงจำ ครั้งที่ได้ออกงานบรรเลงดนตรีครั้งแรก หลังจากฝึกฝนฝีมือมาได้เพียง 1 เดือนว่าตื่นเต้นมาก “จะทำได้ไหม ทำผิดแล้วจะโดนว่าหรือเปล่า” เป็นความคิดที่วนเวียนอยู่ในหัวของเจี๊ยบ แต่ตอนนี้เขามีความมั่นใจมากขึ้น และกำลังพยายามฝึกเล่นเครื่องดนตรีให้ได้ทุกชิ้น โดยเฉพาะแคนที่เป็นเครื่องดนตรีฉายเดี่ยวในพิธีกรรมนางออ

เจี๊ยบ บอกว่า การฝึกฝนเล่นเครื่องดนตรีไม่มีการจำกัดว่าต้องเล่นเฉพาะเครื่องดนตรีชิ้นใดชิ้นหนึ่ง หากใครใคร่ฝึกฝนก็ขึ้นอยู่กับความสนใจและความพยายามของแต่ละคน เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นมีความยากง่ายแตกต่างกันไป แค่เครื่องตีอย่างโทนที่ดูแล้วไม่น่ามีความซับซ้อน ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องเรียนรู้ไม่ใช่แค่จังหวะ แต่มีทั้งตำแหน่งการวางมือบนหน้าโทน ส่วนของมือที่ใช้สัมผัส และความแรงที่ใช้ในการตี

“ปี่เป็นตัวนำวงในการเล่นสะเนงสะเอง ถ้าคนเป่าปี่ในวงหายไป แล้วไม่มีคนเล่นแทนได้ วงก็ล่มทั้งหมด ตอนนี้ผมฝึกเป่าปี่อยู่ด้วยยังเล่นไม่ได้เลย เล่นได้คล่องแค่ฆ้องกับโทน อย่างโทนต้องรู้น้ำหนักที่ใช้ตี การทำมือให้โทนเปลี่ยนเสียง การตีตรงกลาง ด้านข้าง ตีแรง ตีเบา ให้ออกมาเป็นเสียงทุ้ม เสียงแหลม”

แม้คนในชุมชนหันไปพึ่งพาแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยทางกายมากขึ้น เจี๊ยบก็ยังอยากให้อนุรักษ์สืบต่อพิธีกรรมความเชื่อทั้งนางออและสะเองไว้เป็นคุณค่าทางใจ ไม่จำเป็นต้องตัดอย่างใดอย่างหนึ่งทิ้งไปแต่เชื่อมโยงทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน

“คิมเล่นเป็นก่อนผมนะครับ ผมเห็นคิมฝึกตีถังสีอยู่ในโรงเรียน ผมก็สงสัย สนใจว่าเขาทำได้ยังไง เพื่อนอีกคนนึงก็ตีเป็น อีกคนก็ตีเป็น ตอนนั้นผมยังรู้สึกน้อยใจว่าเพื่อนเล่นได้ ทำไมผมเล่นไม่ได้ ผมลองฝึกตีเองก็เล่นไม่ได้ ก็เลยตัดสินใจมาฝึกเพราะอยากรู้ว่าตียังไง เล่นยังไง

เวลาผมชวนคนอื่น ผมก็บอกตรงไปตรงมาเลยว่า มาเล่นสะเอง นางออกันไหม สนุกนะ เล่นถึงค่ำได้พ่อแม่ไม่ว่า โม้ให้เขาฟังเยอะๆ เลยว่าเราทำแล้วได้เงินด้วยนะ ไม่ได้อยู่เฉยๆ ขอเงินพ่อแม่ไปวันๆ หรือเราจับกลุ่มคนที่เล่นเป็น ไปตีให้เขาเห็น เขาก็จะสนใจเข้ามาถามเองว่า ตียังไงสอนหน่อย อยากเข้ามาร่วมด้วย เพราะไม่อยากน้อยหน้าคนอื่นๆ อีกทางหนึ่งเราก็ชักนำผู้ใหญ่ในหมู่บ้านให้เข้ามาเล่นด้วย ดึงคนเฒ่าคนแก่ให้มาเล่นกับเด็ก ถ้าเจ็บป่วยไข้ไม่สบายก็ให้ลองมารักษาดูได้ ดึงปัจจุบันกับอดีตให้มาอยู่ด้วยกัน” เจี๊ยบ เล่า

“ตัวเราเองได้เข้ามาเรียนรู้ว่าชาติพันธุ์ของเรามีพิธีกรรมแบบนี้อยู่ จากที่เคยเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่รู้ไม่เข้าใจที่มาที่ไป พอรู้แล้วก็อยากชักชวนเพื่อนคนอื่นๆ มาเรียนรู้ด้วย” กุ๊งกิ๊ง กล่าวเสริม

สิ่งที่แกนนำเด็กและเยาวชนบ้านโพธิ์กระสังข์พากเพียรทำต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น วันนี้เห็นผลลัพธ์ชัดเจนขึ้นเมื่อมีเด็กเยาวชนสนใจเข้ามาร่วมฝึกฝนการบรรเลงดนตรีอย่างต่อเนื่อง กระบวนการเรียนรู้เปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้รวมตัวกันทำกิจกรรมที่เสริมสร้างการเรียนรู้ ทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน รวมถึงการเห็นคุณค่าและศักยภาพของตัวเอง กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดเป็นข้อห้ามหรือข้อบังคับให้พวกเขาต้องหยุดเล่นเกมหรือหยุดทำสิ่งอื่นที่พวกเขาอยากทำ แต่ให้หันมาใช้เวลาว่างทำอย่างอื่นบ้าง แทนการใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมือถือจนห่างเหินจากความสัมพันธ์ทางสังคม

“ตั้งแต่เข้ามาเล่นดนตรีแล้วมาทำโครงการ ตัวผมเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก จากที่เก็บตัว ชอบอยู่คนเดียว อยู่แต่ในบ้านไม่เล่นกับเพื่อน พอได้ออกมาเล่นดนตรีรู้สึกไม่ติดบ้าน เมื่อก่อนอยู่บ้านก็ไม่มีใครสนใจ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ตอนนี้เห็นคุณค่าในตัวเอง เราสำคัญกับคนอื่น ได้บรรเลงดนตรีให้คนอื่นฟัง ผมว่าผมเปลี่ยนจากอีกคนเป็นอีกคนนึงเลย

ผมรู้สึกภูมิใจ เพราะความรู้ความสามารถที่มี ผมได้นำไปถ่ายทอดให้เพื่อนๆ ในโรงเรียน มีทั้งคนที่สนใจและไม่สนใจ แต่ผมก็ได้ฝึก ได้ทำ ได้จับ เครื่องดนตรีที่เราเล่นกัน บางอย่างไม่มีพูดถึงในบทเรียน แต่เป็นเครื่องดนตรีของเราเอง ชาติพันธุ์ของเราเอง” เจี๊ยบ กล่าว

อ่านบทความต้นฉบับที่นี่