สร้างคน...เพื่อสร้างชาติ

“การสร้างคน สำคัญกว่าการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพราะถ้าคนดี โครงสร้างพื้นฐานก็จะดีตามไปด้วย แต่ถ้าเราไปให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานก่อน คนก็จะลำบาก เพราะความต้องการของคนไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งคนคิดไม่เป็น ไม่มีเหตุผล ไม่มีจริยธรรม มีแต่จะทำให้เกิดโทษ จึงทำให้บ้านเมืองวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ การคิดเป็น การมีความรู้ มีคุณธรรม จึงต้องมาก่อน”

นี่คือที่มาของ “แนวคิด” นโยบายการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนที่เน้นความรู้คู่คุณธรรมของ ประทิว รัศมี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวัดดาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ที่วางรากฐานการพัฒนาชุมชนแห่งนี้มานานกว่า 12 ปี

ประทิว รัศมี

สร้างคน...สร้างชุมชน

12 ปีของการพัฒนาชุมชนวัดดาว นายกประทิวให้ความสำคัญกับการ “สร้างคน” มาโดยตลอด แม้กระทั่งในงานบุญประเพณี หรืองานต่างๆ ที่ อบต.เข้าไปมีส่วนร่วม โดยไม่ใช้ “เงิน” เป็นตัวตั้ง แต่จะพยายาม “ดึงการมีส่วนร่วม” ของคนในชุมชนออกมาให้มากที่สุด นายก อบต.จะเก่งหรือไม่เก่งไม่สำคัญ ที่สำคัญคือ “ชุมชน” ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง

“การสร้างคนไม่ใช่แค่ไปบอกแล้วเขาคิดเองได้ ต้องมีกระบวนการให้เขาลุกขึ้นมาคิด ลุกขึ้นมาทำด้วยตัวเอง ต้องกระจายความเก่งลงไปให้รากหญ้า ต้องพัฒนาให้ชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน”

และแนวทางการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งยั่งยืนที่นายกประทิวใช้อยู่เป็นประจำคือ การให้คนในชุมชนบริหารจัดการงานต่างๆ ด้วยตนเอง โดย อบต.จะจัดสรรงบประมาณให้ส่วนหนึ่งเท่านั้น เช่น งานวัดเด็กที่ผ่านมา อบต.มีงบให้ 20,000 บาท ให้ชาวบ้านไปบริหารจัดการเอง ซึ่งเขาก็ไปประชาสัมพันธ์ให้คนในหมู่บ้านมาช่วยกันระดมทุนจนได้งบประมาณร่วมแสนบาทมาจัดงาน และเมื่อคิดจะทำงานให้ดีความรู้สึกของการเป็นเจ้าของก็เกิดขึ้น และการ “ร่วมคิด ร่วมทำ” ก็ตามมาในที่สุด

“ผมพยายามจะทำให้เกิดงานขึ้นทุกหมู่บ้าน เพื่อกระจายความเข้มแข็งสู่รากหญ้า ต้องหัดให้เขาเป็นเจ้าภาพ หัดให้เขารู้สึกถึงการเป็นเจ้าของ”

พัฒนาเด็ก...เพื่อพัฒนาชาติ

เมื่อกระจายความเข้มแข็งลงสู่ชุมชนได้แล้ว ความหวังต่อไปของนายกประทิวคือ การพัฒนาเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ

นายกประทิวบอกว่า ประเทศไทยขณะนี้ถูกมอมเมาด้านความคิดจนคนรุ่นนี้อาจไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ทันแต่...เราจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อหรือ คำตอบคือ “ไม่” ดังนั้นวิธีแก้คือ ต้องมองไปถึงอนาคตของประเทศซึ่งก็คือเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นในอนาคตนั่นเอง

“การพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ผมคิดไว้จะสำเร็จหรือไม่ ผมไม่รู้ แต่คนเราต้องมีความหวัง เราต้องทำให้เต็มที่ เพราะถ้าไม่มีความหวัง...ก็คงไม่เหลืออะไร”

นายกประทิวเล่าว่า ช่วงปีแรกๆ ที่เข้ามาทำงานนี้ อบต.ตั้งงบประมาณสำหรับการพัฒนาเด็กและเยาวชนไว้ค่อนข้างมาก ปีละ 2 – 3 แสนบาท ตอนนั้นมีแต่เงิน ไม่มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาเด็กและเยาวชน เราก็ทำไปเรื่อยๆ ถูกบ้างผิดบ้าง ภาคีหลักที่หามาได้ก็เป็นหน่วยงานราชการ โครงการที่ทำก็ทำแบบผิวเผิน ทำแล้วจบเป็นโครงการไป ไม่มีความต่อเนื่อง

เมื่อรู้ว่ามี “หลักสูตรนักถักทอชุมชน” จึงไม่รีรอที่จะส่งบุคลากรเข้ารับการอบรม เพราะคิดว่า ต้องพยายามสร้างเครือข่ายและคนที่มีความสามารถในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มากที่สุด

“จริง ๆ ผมหาหลักสูตรแบบนี้มานานแล้ว ยิ่งผมเคยทำงานร่วมกับ อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวย
การสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มาก่อน เมื่อ สรส.มาชวนให้เข้าร่วมโครงการ จึงตัดสินใจส่งบุคลากรใน อบต.เข้าร่วมทันที เพราะคิดว่าหลักสูตรนักถักทอชุมชนจะมีประโยชน์มากต่อการแปลงนโยบายไปสู่ความเป็นจริง โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ที่ต้องมีคนที่เป็นไม้ เป็นมือ มาช่วยปฏิบัติงาน”

เลือกคนในพื้นที่...

เมื่อตัดสินใจว่าจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ารับการอบรม...

คำถามต่อมาคือ...แล้วคนๆ นั้นคือใคร...

นายกประทิวเล่าว่า สิ่งที่แรกที่คิดคือเราต้องมองคนในพื้นที่ก่อน เพราะหากเลือกคนนอกพื้นที่ โอกาสที่เขาจะโยกย้ายก็มีสูง แต่ถ้าเป็นคนในพื้นที่ ชุมชนแห่งนี้ถือว่าเป็นบ้านเกิดของเขา พ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูงเขาอยู่ตรงนี้ เราต้องปลุกระดมให้เขามีหัวใจรักบ้านเกิด มีสำนึกในการทำเพื่อชุมชน เพราะสุดท้ายสิ่งที่เขาทำก็เพื่อตัวเขาและครอบครัวทั้งสิ้น การคัดเลือกเจ้าหน้าที่เข้ารับการอบรม เราเลยไม่ดูตำแหน่ง แม้บางคนจะเป็นลูกจ้างชั่วคราวก็ตาม ขอให้เป็นคนในพื้นที่เท่านั้นเป็นพอ

แต่ก็มีคำถามตามมาว่า แล้วไม่กลัวลูกจ้างชั่วคราวลาออกหรือย้ายไปที่อื่นหรือ นายกประทิวบอกว่า ไม่กลัว งานเดี๋ยวนี้หายาก และเรามักบอกลูกน้องเสมอๆ ว่า “คุณต้องทำตัวให้องค์กรเสพติดคุณ” ถ้าองค์กรขาดคุณไปจะต้องลงแดง หากทำได้คุณก็มีโอกาสทำงานไปเรื่อยๆ มันอยู่ที่ตัวคุณเอง เมื่อทุกคนเห็นความสามารถ ใครๆ ก็อยากจะรับคุณในตำแหน่งที่ดีกว่า เงินเดือนที่ดีกว่า แต่คุณต้องฝึกฝนตัวเองด้วย เพราะเราให้โอกาสแล้ว เราไม่ได้ให้คุณทำงานหนักหรือเหนื่อยขึ้น แต่มันคือ “โอกาส” ที่ใครหลายๆ คนไม่ได้ ต้องมองโลกในแง่บวก อย่ามองโลกในแง่ลบ

และนี่คือที่มาที่ไปของทีมนักถักทอชุมชน อบต.วัดดาวที่ประกอบด้วย วาสิฎา จานสิบสี ผู้ช่วยนักวิชาการศึกษา นภสร โลกวิจิตร เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน และนราภรณ์ ศรีดี ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ธุรการ

ตามงานติด...ตามติดงาน

ในฐานะผู้บริหาร เมื่อส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมกลับมาก็ให้ทำงานทันที โดยใช้หลักการจัดการความรู้ หรือ KM ที่ อบต.วัดดาวมี “ทุนเดิม” อยู่แล้วจากการทำร่วมกับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้ (สคส.) และ สรส. ด้วยการจัดวงประชุมหลังการทำงานหรือที่เรียกว่า AAR (After Action Review) มีนายกประทิวเป็นผู้ช่วยคอยชี้ให้นักถักทอชุมชนเห็นว่า ทำไมต้องทำแบบนี้ ทำแล้วได้อะไร พยายามให้ความรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์ให้เต็มที่

แม้จะติดตามงานอย่างใกล้ชิด แต่บางครั้งงานที่ออกมาก็ยังไม่บรรลุผลตามที่ตั้งไว้

“บางทีเขาก็ยังไม่ได้ดั่งใจผมนะ บางเรื่องเรามองว่ามันง่าย แต่ทำไมเขาทำกันไม่ได้สักที อาจเป็นเพราะว่าเราประสบการณ์มากกว่า รู้ว่างานเป็นอย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง ต้องติดต่อใคร ทรัพยากรเป็นยังไง แต่เราอยากให้เขาเก่ง บางครั้งเลยใจร้อนไปหน่อย ไม่อยากให้เราเหมือนหัวจักรรถไฟ ที่ขบวนตามไม่ทัน”

ทั้งนี้นายกประทิวเอง ยังบอกด้วยว่า อยากจะปั้นทีมนักถักทอให้เป็นตัวอย่าง “คนทำงาน” โดยเฉพาะด้านเด็กและเยาวชนที่มีแนวโน้มจะเป็นปัญหามากขึ้นทุกขณะ

“อยากให้คนทำงานรู้จักก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม รู้จักหาแนวคิด วิธีการทำงานใหม่ๆ ที่สำคัญคือต้องทำหน้าที่สร้างความตระหนักให้คนทั่วไปได้รับรู้และเข้ามาทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง จึงจะทำให้เกิดประโยชน์กับสังคม ไม่อยากให้คนทำงานคิดว่างานหนักเป็นภาระ แต่อยากให้มองว่าเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและคนอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่ทำงานแค่ให้ผ่านๆ ไป แบบนั้นมันก็ดูไร้ประโยชน์”

นอกจากจะถ่ายทอดประสบการณ์ที่มีอยู่ให้กับนักถักทอชุมชนแล้ว บทบาทหนึ่งที่สำคัญของนายกประทิวคือการพานักถักทอชุมชนเข้าไปแนะนำทำความรู้จักกับภาคีต่างๆ เพื่อทำให้การขับเคลื่อนงานของเจ้าหน้าที่กับการสนับสนุนงานไปในทิศทางเดียวกัน จนทำให้เกิดการพัฒนาที่แท้จริง

ทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนต้องมี “ใจรัก”

ด้วยการติดตามงานอย่างใกล้ชิด ทำให้นายกประทิวเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของนักถักทอชุมชนว่า ทั้ง 3 คนเกิดความตระหนักว่าต้องทำเพื่อชุมชน มีความคิด ความกล้าแสดงออกมากขึ้น เช่น การคิดกิจกรรม การนำสันทนาการ การลงพื้นที่ชุมชน ตามโรงเรียน หรือโรงพยาบาลชุมชน หรือการเข้าไปเชื่อมร้อยทุนชุมชน ประสานงานกับครู ทำให้เกิดโครงการเตรียมความพร้อมให้เด็กสอบ O-Net และ A-Net โดยการสนับสนุนของ อบต.กับโรงเรียน จากเดิมที่ อบต.ยังทำงานไม่เชื่อมร้อยกับชุมชน มีแต่จะดึงเด็กในโรงเรียนมาทำกิจกรรมเท่านั้น

แต่ด้วยระยะเวลาการอบรมหลักสูตรนักถักทอชุมชนในเวลาสั้นๆ ทำให้นายกประทิวมองว่าคนที่ผ่านหลักสูตรมาแล้วจะเก่งยาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเก่งไม่ได้ และเสียดายถ้าโครงการนี้จะไม่มีอีก เพราะจะทำให้อีกหลายคนเสียโอกาส

“การทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชน คนทำงานต้องไขว่คว้าหาความรู้ เพราะเขาไม่ได้จบมาด้านนี้โดยตรง ต้องพยายามฝึกฝน ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมี “ใจ” รักในการทำงาน ซึ่งผมจะบอกกับทีมงานเสมอว่า อยากให้ทำงานแล้วมีความสุข เพราะชีวิตส่วนใหญ่จนถึงอายุ 60 ปี จะอยู่กับการทำงาน ถ้าคุณทำงานแล้วทะเลาะกันทุกวัน เครียดกันทุกวัน ถือว่าชีวิตล้มเหลว สมมติว่าถ้าคุณได้เงินเดือนเยอะมาก แต่ไม่มีความสุขกับการทำงานเลยก็ไม่ดี เพราะบางครั้งความสุขก็ไม่ได้อยู่ที่เงินอย่างเดียว”

นอกจากความเปลี่ยนแปลงของนักถักทอชุมชนที่เข้ามาเป็นมือ เป็นไม้ของนายกประทิว และ อบต.วัดดาวจะมีแนวโน้มไปในทางที่ดีมากแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดถึงความเปลี่ยนแปลงคือ “ชุมชน” เพราะจากการลงพื้นที่ชุมชนของนักถักทอชุมชนที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งวิธีการเข้าไปเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาจัดทำเป็นแผนงานประจำปี ทำให้ชาวบ้านหลายๆ คน ได้เข้ามามีส่วนร่วมรับรู้เรื่องนโยบายและมีส่วนร่วมกับการจัดกิจกรรมของชุมชนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เห็นว่า ระยะเวลาทำงานที่ต่อเนื่องสามารถเปลี่ยนนโยบายที่เป็นเพียง “นามธรรม” ให้กลายเป็น “รูปธรรม” ที่ชาวบ้านมองเห็นและมีส่วนร่วมได้

สร้างสังคม “คิดเป็น มีจิตสาธารณะ”

เมื่อ “สร้างคน” ในองค์กรให้มี “ใจรัก” ในการทำงาน และ “สร้างชุมชน” ให้เข้ามาร่วมคิด ร่วมทำงานเพื่อชุมชนได้แล้ว การสร้าง “ศูนย์เรียนรู้” ให้ชาวนารู้จักลดต้นทุนการผลิต และมีอาชีพเสริม ด้วยการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ และนี่คือเป้าหมายต่อไปที่นายกประทิวต้องการสร้างให้เกิดขึ้นในชุมชนวัดดาว

นายกประทิวบอกว่า ทุกวันนี้เราฟุ้งเฟ้อ ใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายกันมาก ประเทศไทยอาจจะแก้เรื่องนี้ไปอีกชั่วอายุคน เราจึงต้องสร้างเด็กตั้งแต่วันนี้ ไม่อย่างนั้นเราจะเป็นเมืองขึ้นทางปัญญา เพราะทุกวันนี้เราก็เหมือนส่งส่วยให้ต่างประเทศ หาเงินได้เท่าไรก็เหมือนส่งออกนอกหมด ถ้าเราไม่มีปัญญา เราก็จะทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ประเทศไทยคงต้องแหว่งเพราะถูกต่างชาติซื้อที่ดินไปเรื่อยๆ คนไทยคงต้องไปเป็นกรรมกร เป็นแรงงานให้กับนายทุนต่างชาติที่เข้ามาเอาผลประโยชน์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกวัน

“ผมอยากเห็นประเทศไทยเป็นมหาอำนาจ เพราะเรามีพร้อมทุกอย่าง ทั้งอาหาร ผลไม้ กินกันจนเหลือทิ้ง ภัยธรรมชาติก็น้อยมาก แต่มันยังเป็นไม่ได้ในตอนนี้ เราจึงต้องช่วยกันสร้าง ช่วยกันทำให้เด็กและเยาวชนคิดเป็น มีจิตสาธารณะ อย่าเห็นแก่ตัว เพราะคนที่จะเข้ามารับผิดชอบชาติบ้านเมืองในอนาคตต้องเป็นคนแบบนี้ เราจะขึ้นสวรรค์หรือตกนรกก็อยู่ที่ว่าเราจะร่วมกันสร้าง ร่วมกันสอนเยาวชนตั้งแต่ตอนนี้หรือเปล่า ถ้าเราสอนเขาตั้งแต่ตอนนี้ พอเราปลดระวางเป็นคนแก่ เราก็อยู่ในสังคมที่มีความสุข แต่ถ้าเราปล่อยปละละเลยเขา เราก็เหมือนตกนรก”

และนี่คือความฝันของนายกประทิว รัศมี ที่มีต่อแผ่นดินเกิด!!!