อำนวย ชูหนู - ​จับมือท้องถิ่น จับฐานการพัฒนาจากด้านบน-ล่างไปพร้อมกัน (โครงการนักถักทอฯ)

จับมือท้องถิ่น จับฐานการพัฒนาจากด้านบน-ล่างไปพร้อมกัน (โครงการนักถักทอฯ)

นายอำนวย ชูหนู

ผู้จัดการโครงการเชฟรอนพลังใจ พลังคน เพื่อชุมชนเข้มแข็ง สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (พีดีเอ)

­     คุณอำนวยเคยร่วมงานกับมูลนิธิสยามกัมมาจลมาแล้วก่อนหน้านี้ในโครงการสึนามิ จึงได้รับการทาบทามจากมูลนิธิสยามกัมมาจลและ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้เข้าร่วม หลักสูตรนักถักทอชุมชนเพื่อพัฒนาเยาวชนและครอบครัว

­

      ก่อนตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ คุณอำนวยเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับโครงการนักถักทอชุมชน  ทั้งหมด ๒ ครั้ง ครั้งแรกคือครั้งสรุปงานและครั้งที่ ๒ ครั้งนำเสนอปิดโครงการ

       “เราเห็นว่าโจทย์ของโครงการนักถักทอสอดรับกับการทำงานที่เราทำอยู่ จึงคิดว่าจะลองคุยกับ อบต. ในพื้นที่ดำเนินงานของตัวเอง  ซึ่งตอนนั้นมีอย่างน้อย ๔ ตำบล ใน จ.นครศรีธรรมราช ได้แก่ ตำบลปากพูน ตำบลกลาย  ตำบลสระแก้ว และตำบลอินคีรี และอีก ๒ ตำบล ใน จ.กระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานของสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนอยู่แล้ว ตอนนั้นมีเวลาเตรียมงานอยู่ประมาณ  ๑ อาทิตย์”


หลักการเลือกพื้นที่

      คุณอำนวย เลือกพื้นที่ อบต.  ที่เคยเข้าไปทำงานคลุกคลีอยู่เดิมในโครงการเชฟรอน เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับ อบต.ต่างๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงสะดวกในแง่ของการติดต่อประสานงานเพื่อขอความร่วมมือจากผู้นำชุมชนจุดมุ่งหมายของโครงการนักถักทอ  มุ่งพัฒนาผู้บริหารท้องถิ่นด้วยการให้ความรู้ผ่านหลักสูตรนักถักทอเพื่อช่วยหนุนให้ผู้บริหารและทีมงานมีศักยภาพและมีความพร้อมในการพัฒนาท้องที่

อย่างไรก็ตาม บทบาทการทำงานของ พีดีเอ เท่าที่ผ่านมาไม่ได้เข้าไปดำเนินงานร่วมกับกลุ่มองค์กรของ อบต. โดยตรง ทำแค่เพียงแจ้งให้ อบต. แต่ละพื้นที่ทราบในเบื้องต้นว่า พีดีเอจะเข้าไปทำกิจกรรมอะไร อย่างไร กับคนกลุ่มไหนในชุมชนบ้าง กล่าวอีกแง่หนึ่ง คือ แต่ละพื้นที่ที่ พีดีเอ เข้าไปดำเนินงาน อบต. ไม่ได้เข้าร่วมในกระบวนการทำงานด้วย ดังนั้น การเข้าไปเชิญชวนผู้บริหารของแต่ละท้องที่เข้ามาร่วมโครงการนักถักทอก็ถือเป็นงานใหม่สำหรับพีดีเอ

“ที่ผ่านมาแค่เข้าไปแจ้งให้ อบต. ทราบว่าโครงการของเราเข้าไปทำอะไรในชุมชนบ้าง แจ้งผู้บริหาร แต่ละพื้นที่ว่าถ้าอยากให้เข้าไปรายงานผลการดำเนินงานก็ยินดีเข้าไปชี้แจงให้ แต่จะไม่เข้าไปรบกวนการทำงานขององค์กรท้องถิ่น”

กรอบงานของ พีดีเอ แบ่งเป็น ๕ หมวด เช่น งานพัฒนาคุณภาพชีวิต งานชุมชนเข้มแข็งเพื่อการช่วยเหลือตนเองและกิจกรรมเยาวชน เป็นต้น \ลักษณะการทำงาน พีดีเอ จะเข้าไปสนับสนุนอาชีพให้คนในชุมชนก่อน โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับผู้บริหารท้องที่ เรียกว่า “เขย่าจากฐานล่างขึ้นไปด้านบน” เมื่อการดำเนินงานของกลุ่มชาวบ้านเข้าที่เข้าทางและเป็นรูปเป็นร่าง พีดีเอถึงจะนำเสนอโครงการต่อไปให้ อบต. หรือเทศบาลท้องถิ่น เพื่อเป็นโมเดลตัวอย่างให้นำไปสานงานต่อในระยะยาว

­

ความสำเร็จที่ผ่านมา

คุณคุณอำนวย กล่าวว่า การทำงานในพื้นที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสามารถดึงนักพัฒนาชุมชนหรือข้าราชการประจำในบางชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมทำงานกับพีดีเอได้ หลายพื้นที่เห็นภาพที่กลุ่มชาวบ้านกับ อบต. มานั่งทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีการดึงนักเรียนในชุมชนเข้ามาร่วมกิจกรรมกับ อบต. ด้วย เช่น การจัดค่าย ซึ่ง อบต.ท้องถิ่น เป็นแกนนำในการจัดค่าย

­

เขย่าจากด้านบนไปพร้อมกับข้างล่าง (โครงการนักถักทอ)

คุณคุณอำนวย กล่าวว่า เมื่อนำไอเดียเกี่ยวกับหลักสูตรนักถักทอมานำเสนอ อบต.ท้องถิ่นต่างๆ ส่วนใหญ่ อบต. ให้ความสนใจและยินดีให้ความร่วมมือ เนื่องจากแต่ละท้องที่ทำงานร่วมกับพีดีเอมาร่วม ๓ ปี จึงให้ความไว้ใจ และเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ รวมทั้งเป้าหมายการทำงานของกลุ่มพีดีเอ คุณคุณอำนวย เปรียบเทียบว่า โครงการนักถักทอ เป็นการเขย่าจากด้านบนไปพร้อมๆ กับด้านล่าง กล่าวคือ ทำงานร่วมกับผู้บริหารชุมชนและชาวบ้านไปในเวลาเดียวกัน

“ภาพที่มองเห็นกันโดยทั่วไป เอ็นจีโอกับภาครัฐมักมีช่องว่างการทำงานระหว่างกัน สำหรับภาครัฐ ภาพของเอ็นจีโอจะเป็นสีเทา เป็นตัวป่วน เราจึงต้องใช้เวลาทำภาพที่เบลอนี้ให้ชัดขึ้น พอภาครัฐเข้าใจการทำงานของเราอย่างถูกต้องชัดเจน เราก็ได้รับความไว้วางใจ เพราะโครงการของเรามีประโยชน์ต่อทุกฝ่าย”

คุณอำนวย กล่าวถึง บทบาทหน้าที่ของ พีดีเอ ต่อโครงการนักถักทอว่า ในฐานะเจ้าของพื้นที่ พีดีเอจะเป็นคนดูแล ติดต่อประสานงาน และช่วยหาครูภูมิปัญญาเพื่อเข้ามาเป็นวิทยากรในชุมชนได้

“ฐานพัฒนาจริงๆ คงไม่พ้น อบต. ที่สามารถเข้ามาช่วยพัฒนาชุมชนในทุกรูปแบบ เพราะฝ่ายการทำงานของ อบต. มีครบทุกด้าน เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราคือดึงภาครัฐให้เข้ามาทำงานเป็นทีมร่วมกันให้ได้ โดยให้เงื่อนไขว่าหาก อบต. ใดเข้าร่วมโครงการนักถักทอ ทางพีดีเอจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ส่วนหนึ่ง”

คุณอำนวย ให้เหตุผลต่อการช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ อบต. ทั้งที่ อบต. มีความสามารถในการรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายส่วนนั้นได้เองว่า “ที่ผ่านมาเราใช้เวลา ๓-๕ ปี กว่า อบต. จะเปิดใจมาคุยกับเรา ถึงตรงนี้แล้วยอมลงทุนให้เขาอีกหน่อย เพื่อดึงแนวร่วมให้ทุกฝ่ายทั้งผู้บริหารและชาวบ้าน รวมทั้งองค์กรของเราได้มาทำงานร่วมกัน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลและพึ่งพาอาศัยกัน อยากพิสูจน์ว่าถ้าฝ่ายการเมืองกับฝ่ายราชการทำงานร่วมกันได้ ความลื่นไหลของงานเพื่อชุมชนจะเป็นไปในทิศทางที่ดีได้”

­

ทฤษฎีกาว

ความคาดหวังของ คุณอำนวย ต่อการเข้ามาช่วยประสานงานโครงการนักถักทอ คือ ต้องการสร้างความเป็นทีมที่เป็นกลุ่มเป็นก้อนชัดเจนทุกฝ่าย เพื่อให้ผลประโยชน์ตกกับชุมชน รวมทั้งต้องการพิสูจน์ว่าการเมืองแก้ด้วยการเมืองไม่ได้ การเมืองสามารถแก้ไขด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม เพราะกระบวนการมีส่วนร่วมสามารถเข้าไปพัฒนากระบวนการทางการเมือง

“การทำงานเป็นทีม ผลประโยชน์จะตกถึงชาวบ้านอย่างชัดเจน โครงการต่างๆ ที่เราทำไว้ จะมีประโยชน์มากยิ่งขึ้น เมื่อได้รับการสานต่อจาก อบต. ของแต่ละท้องที่ เพราะอบต. สามารถเอามาเป็นผลงานของ อบต. และขับเคลื่อนผลงานต่อไปได้”

อย่างไรก็ตาม คุณอำนวย บอกว่า ตัวเขาเองเพียงแต่เข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้จุดประกาย ไปนำเสนอไอเดียโครงการนักถักทอให้ผู้บริหารในแต่ละท้องถิ่น แต่ท้ายที่สุดก็ต้องอาศัยอาจารย์ทรงพล เจ้าของหลักสูตรเข้าไปปิดการขาย “ปัญหาที่มักถูกเอ่ยถึงเป็นเรื่องของระยะเวลา ๑ ปีในการทำโครงการ ซึ่งหลายคนรู้สึกว่านานเกินไป เขาไม่รู้ว่าเขาอยากได้อะไร อาจารย์จะสอนอะไร แล้วเขาจะได้อะไร จึงไม่อยากเสียงบประมาณส่งคนเข้ามาร่วมหลักสูตร อาจารย์ทรงพลเลยต้องเข้าไปเป็นผู้อธิบายด้วยตัวเอง ผมไปเสนอขาย อาจารย์ทรงพล เจตนาวนิชย์ เข้าไปปิดการขาย เพื่อที่ผู้บริหารจะได้เข้าใจหลักสูตรไปในทิศทางที่ถูกต้อง”

“เมื่อทำแล้วต้องติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันการทำงานของเรามีศูนย์กลางที่ทุกคนจะกลับมาเล่าประสบการณ์ของตัวเองทุกสิ้นเดือนว่าอะไรดี อะไรไม่ได้ ส่วนที่ไม่ดีจะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการทำงานเป็นทีม ช่วยกันแก้ปัญหาและทำงานไปด้วยกันในแนวทางเดียวกัน”

­

จุดเด่นคร่าวๆ ของแต่ละพื้นที่

•เทศบาลเมืองปากพูน

เดิมเป็นตำบลตอนนี้ปรับเป็นเทศบาล เป็นชุมชนกึ่งเมือง คนมีการศึกษาดี เด่นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ เพราะเคยทำโครงการร่วมกับ สสส. เทศบาลนี้เป็นเทศบาลที่มีศักยภาพในการพัฒนาท้องที่ด้วยตัวเองอยู่แล้ว มีชื่อเสียงระดับประเทศ หลายๆ ท้องที่เข้ามาศึกษาดูงาน ด้วยเหตุนี้การเข้าไปพูดคุยในช่วงแรกค่อนข้างลำบาก แต่เมื่อผู้บริหารเข้าใจหลักสูตรนักถักทอก็สนใจและยินดีให้ความร่วมมือ

“เขามีศักยภาพอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปเขาก็ทำของเขาได้ แต่เราต้องทำให้เขาเข้าใจว่า การเข้ามาร่วมโครงการไม่ได้เป็นการทำเพื่อโครงการนี้ แต่การเข้าร่วมพัฒนาตัวเองในโครงการเป็นการทำเพื่อชุมชน”

•อบต.กลาย อ.ท่าศาลา (นายกฯ กับ ปลัด เข้าใจและทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี)

“เป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหมดอายุไม่ถึง ๕๐ ปี ผู้บริหารเข้าใจกิจกรรม เข้าใจว่าพีดีเอชวนมาทำอะไร เชื่อใจกัน ที่ผ่านมามีบางหมู่บ้านที่ต่อต้านการทำงานของเชฟรอน ต้องใช้เวลาถึงสองปี เพื่อทำให้เขาเข้าใจโครงการและเข้าใจการทำงานร่วมกันเป็นทีม ชุมชนดีอยู่แล้วมาตรงนี้เหมือนเอากระบวนการเข้าไปใส่”

•อบต.สระแก้ว อ.ท่าศาลา

“อบต. ในพื้นที่เป็นเครือญาติกับตำบลกลาย สภาพเศรษฐกิจดีกว่า ต.กลาย ส่วนใหญ่ทำสวน ผู้บริหารท้องถิ่นเข้าใจโครงการ น่าจะเป็นตำบลที่ขับเคลื่อนโครงการได้ไม่น่าหนักใจ”

•อบต.อินคีรี 

“เป็นพื้นที่รับน้ำและมีพื้นที่นา ที่ผ่านมาสามารถทำงานร่วมกันได้ ไม่มีปัญหา”

•อบต.เขาคราม จ.กระบี่ (พื้นที่ศูนย์ฯ พีดีเอ)

“ดึงโครงการเข้ามาพัฒนาท้องถิ่นที่เราอยู่ด้วย ความสนิทกับคนในชุมชนมีพอสมควร เมื่อเข้าไปคุยรายละเอียดโครงการ ชุมชนจึงพร้อมรับและยินดีให้ความร่วมมือ”