เรื่องเล่าในโครงการประกวดเรื่องเล่า

อาจารย์อันเร ไชยเผือก
ครูฝ่ายงานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โรงเรียนลาซาลจันทบุรี (มารดาพิทักษ์) จ.จันทบุรี

­

ชุมนุมคนเอาถ่าน พลิกชีวิตเด็กกลุ่มเสี่ยง ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

­

­

­

แรงบันดาลใจที่มาทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง คือ คำว่า พ่อ ซึ่งหมายถึง ท่านที่หนึ่ง “ท่านนักบุญยอห์น บัปติสต์ เดอ ลาซาล” องค์อุปถัมภ์ของโรงเรียนที่สอนและนำให้ดูเป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะการให้การศึกษาเด็กและเยาวชนที่เด็กด้อยโอกาส ท่านที่สองคือ “พ่อหลวง” ที่ทรงทำทุกอย่างเพื่อชาวไทย และท่านที่สามคือพ่อที่โรงเรียนคือ “ภราดาประภาส ศรีเจริญ” (อดีตผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ริเริ่มการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน) ที่กระตุ้นและส่งเสริมสนับสนุนทุกอย่างเพื่อให้ครูและนักเรียนตอบสนองคุณแผ่นดิน และช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยง หากจะถามว่าทำไมจึงเกิดแรงบันดาลใจเหล่านี้ ก็เพราะเรามีแบบอย่างดีๆ มากมาย เกิดคำถามว่าทำไมเราไม่ทำสิ่งดีๆ เมื่อมีโอกาส โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาส ถ้าเราไม่ช่วย ไม่ลงมือทำ อนาคตของสังคมเรา ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ผมทำคือจัดกิจกรรมพัฒนาให้กับเด็กในรูปของชุมนุม ให้เวลา ให้ความใกล้ชิด ความเป็นกันเอง เพื่อให้เด็กเปิดใจ เมื่อนั้นเราก็จะสามารถช่วยเขาได้ตรงปัญหา

­

ที่โรงเรียนของเราได้เริ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงโดยเริ่มจากการพัฒนาศักยภาพของครูและนักเรียน พบว่าเราเริ่มไปถูกทางและไปได้สวย แต่อย่าลืมว่าทุกโรงเรียนจะมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่มีปัญหา เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง ที่โรงเรียนมีอยู่ 2-3 % จากนักเรียนทั้งหมด 1,500 คน คิดว่าปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขอย่างไร เพราะ เด็กกลุ่มเสี่ยง กลุ่มนี้จะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงเลย เรียกว่าเป็นเด็กกลุ่มที่ความรู้ไม่มี คุณธรรมไม่เคยปรากฏ ไม่เคารพความมีเหตุผล ติดลบความพอประมาณ และเผาผลาญภูมิคุ้มกันก็ว่าได้

­

­

­

เมื่อเห็นปัญหาแล้ว ผมจึงขออนุญาตจากท่านอธิการเพื่อผมจะดึงเด็กกลุ่มนี้เข้ามาทั้งกลุ่มและสอดแทรกเศรษฐกิจพอเพียงลงไปในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน บอกท่านว่าผมจะทำนะ ท่านก็บอกว่าดีเพราะมันจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยงกลุ่มนี้ เพราะที่โรงเรียนจะไม่มีนโยบายไล่เด็กออกไม่ว่าเด็กจะมีพฤติกรรมไม่ดีอย่างไร แต่ยึดมั่นว่าเราจะต้องช่วยและต้องช่วยเขาให้ถึงที่สุด ปีแรกผมจึงตั้ง “ชุมนุมคนเอาถ่าน” ขึ้น แล้วไปรวบรวมเด็กที่ไม่เอาถ่านเหล่านี้มารวมตัวกันในกิจกรรมที่เราเรียกว่า “เตาเผาถ่าน”

­

ที่ตั้งชื่ออย่างนี้เพราะว่าวันหนึ่งผมได้อ่านบทความพระธรรมเทศนาของพระพุทธิวงศมุนีเรื่องคนเอาถ่าน ความว่าคนเอาถ่านก็คือคนไม่เกียจคร้าน ไม่ผัดวันประกันพรุ่งว่าวันนี้เช้านัก สายนัก วันนี้เย็นนัก ร้อนนัก วันนี้ยังเหนื่อยอยู่ แล้วไม่ทำการงาน เป็นคนไม่เอาถ่าน คำว่า ไม่เอาถ่าน หมายความถึงกิริยาของคน เปรียบเทียบกับไม้บางชนิด บางพันธุ์ที่ไม่มีแก่นไม่มีสาร เป็นไม้เนื้ออ่อนยุ่ยเปลือกหนา หักง่าย ไม่แข็งแรง ใช้ประโยชน์อะไรไม่ค่อยได้ แม้แต่เอาไปทำฟืน หรือเผาถ่านก็ไม่ติดไฟ ไม่เป็นถ่าน มีแต่ขี้เถ้า เรียกว่า ไม้ไม่เอาถ่าน ท่านก็เอามาเปรียบเทียบกับคนไม่เอาถ่าน คือ เป็นคนไม่ขยันหมั่นเพียร เป็นคนดำรงชีวิตอยู่ด้วยความประมาท ไม่มีแก่นสาร เป็นคนไม่ทำชีวิตของตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนและแก่ผู้อื่น หรือเป็นคนไม่เอาประโยชน์จากชีวิตของตนมาแบ่งปันคนอื่น

­

ความคิดหนึ่งของผมที่แล่นขึ้นมาทันทีที่ได้อ่านบทความจึงเป็นแรงบันดาลใจว่า ผมจะพัฒนาเด็กๆ ที่ไม่ค่อยสนใจเรียน เด็กมีพฤติกรรมเสี่ยง จนบางครั้งเราเรียกว่าเด็กไม่เอาถ่านกลุ่มนี้โดยใช้กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้วยกระบวนการการเผาถ่าน และตั้งชื่อกลุ่มเด็กเหล่านี้ว่า “กลุ่มคนเอาถ่าน” มีสโลแกนที่ใช้กับกลุ่มคือ “ดึงเด็กกลุ่มเสี่ยง หลีกเลี่ยงยาเสพติด พัฒนาชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียง”

­

­

­

เมื่อรวบรวมเด็กกลุ่มเสี่ยงกลุ่มนี้ได้ ผมก็พาพวกเขาไปดูงานศูนย์สังคมพัฒนา เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว ชวนเขาเข้าค่ายสัมผัสชีวิตชนบท เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนาและภูมิปัญญาไทย ได้รับการตอบสนองดี ทุกคนยินดีเข้าร่วม ทั้งเพื่อนครูและนักเรียนได้มีโอกาสอยู่ด้วยกัน แล้วเด็กก็มาบอกผมว่าเขาอยากเรียนรู้เรื่องการเผาถ่าน ผมก็เอาด้วย ขออนุญาตท่านอธิการเปิดแคมป์กินนอนกับเด็กครั้งละ 1 คืน สำหรับเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่มีปัญหาทางครอบครัว ขาดคนให้กำลังใจและคำปรึกษา ทำให้กลายเป็นเด็กที่หนีเที่ยวตอนกลางคืน เป็นเด็กที่ติดเกม วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมงเล่นเกมวันละ 22 ชั่วโมง มันเป็นไปได้อย่างไร เป็นเด็กที่ไม่เรียน เวลาที่ครูสอน 8 ชั่วโมงมานั่งหลับ 6 ชั่วโมง มาเรียน 2 ชั่วโมงหรือไม่ก็ไม่เรียนเลย

­

พอจัดค่าย คืนแรกก็เจอฤทธิ์แล้ว มื้อเย็นวันแรกเด็กทำกับข้าวกินเอง พบว่าเด็กทำอะไรไม่เป็นเลย ปลาก็ดิบ ไข่ก็ไม่สุก ข้าวก็ไม่สุกบ้าง กำลังดีบ้าง และบางส่วนก็ไหม้ เป็นข้าวสามกษัตริย์ เราก็ยังทานกันได้ เด็กก็กินกันอย่างสนุกสนาน พอไปๆ มาๆ เด็กกินข้าวเหลือมาก ผมก็อบรมเด็ก นำ 36 แผนที่ชีวิตของพ่อหลวงมาใช้ทันที ข้อที่ 1 พ่อหลวงสอนไว้ให้ ขอบคุณข้าวทุกเมล็ด น้ำทุกหยด อาหารทุกจาน ด้วยความจริงใจ ผมเติมตรงนี้ให้เด็ก เด็กก็รับปากว่าจะแก้ไขในมื้อต่อไป

­

จากนั้นพอเด็กเข้านอน เราเข้าไปสำรวจภายในเต้นท์ที่เขานอนก็ได้เห็นว่า เขาไม่มีระเบียบวินัยอะไรสักอย่าง ถอดเสื้อผ้ารวมกันไว้เป็นกอง ส่วนกางเกงยีนส์ก็เรียกว่าถอดแล้วตั้งได้เลย วันรุ่งขึ้นผมจึงเรียกเด็กมาอบรม 36 แผนที่ชีวิตของพ่อกันอีกครั้ง คราวนี้เป็นแผนที่ชีวิตของพ่อข้อที่ 36 ว่าด้วยเรื่องของระเบียบวินัย คือ คุณสมบัติที่สำคัญของการดำรงชีวิต ถ้าทุกคนมีระเบียบวินัยในตนเอง ดังคำกล่าวที่ว่า “ระเบียบสร้างคน คนสร้างชาติ” แล้วถามพวกเขาว่าสิ่งเหล่านี้พวกเขาไม่มีเลยใช่ไหม เขาก็บอกใช่ ผมจึงค่อยๆ แนะนำเขา และขอให้ช่วยกันแบ่งปันกันถึงสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดีที่ได้รับจากกิจกรรมครั้งนี้ก็มีเด็ก 5 คนมาสารภาพว่าเมื่อคืนแอบสูบบุหรี่ ขอครูอย่าโกรธและไล่เขาออกจากกลุ่มเลย

­

เมื่อได้ข้อมูลจากกิจกรรมครั้งแรกว่ามีเด็กแอบสูบบุหรี่ ผมจึงจัดกิจกรรมเตาเผาถ่านครั้งที่ 2 ส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกับกิจกรรมครั้งแรกมาก ยกเว้นจุดที่เป็นกิจกรรมที่เตรียมมาเป็นพิเศษ คือ กิจกรรม “เผาถ่าน เผาเหล้า เผาบุหรี่” เป็นกิจกรรมที่เด็กๆ ไม่รู้มาก่อน ผมเริ่มต้นด้วยการชวนเด็กมาเล่าประสบการณ์และโทษภัยของยาเสพติดที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ อ่านแล้วก็นำมาวิเคราะห์แบ่งปันความคิดเห็นกัน และในตอนสุดท้ายเราก็มาสรุปร่วมกันว่ากลุ่มของเราจะเริ่มอย่างไรดี และจะช่วยเพื่อนในกลุ่มได้อย่างไร ผมเสริมเขาว่าไม่ใช่เรื่องของบุหรี่อย่างเดียว ปัญหาของวัยรุ่นมีมาก ปัญหาของเด็กติดเกม ปัญหาหนีเที่ยวตอนกลางคืน เมื่อเราเปิดใจกันพอสมควร ผมก็พาเด็กๆ ไปที่เตาเผาถ่านซึ่งไฟกำลังลุกโชติอยู่ ผมบอกเด็กว่า กว่าที่เราจะได้ถ่านที่ดีๆ มาต้องใช้เวลา ฟืนต้องยอมเผาไหม้ตนเอง เราต้องยอมเสียสละตนเองไปบางส่วนเพื่อทำให้ตัวเองเป็นคนดี บางครั้งไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อแม่ถึงบ่น ถึงห้ามเราออกเที่ยว แต่สักวันเราจะเข้าใจความรู้สึกของท่านเอง

­

­

­

จากนั้นผมจึงล้วงมือลงไปในย่ามและหยิบบุหรี่ของเด็กๆ ออกมา 5 มวนพร้อมทั้งขวดเหล้าที่มีเหล้าติดมาเล็กน้อย บอกกับเขาว่า ลูกที่รัก ถ้าลูกยังคิดที่กลับใจ อยากเป็นคนดีของสังคมในอนาคต อยากเป็นนักเรียนที่ดีของครูบาอาจารย์ อยากเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ก็ให้พยายามเลิกสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้ โยนสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้เข้ากองไฟ เพื่อให้ความร้อนช่วยเผาผลาญความชั่วร้ายให้หมดไป และขอให้ทุกคนตั้งใจ พยามยามทำดีให้มากที่สุด พยายามอดทน อดกลั้นต่อสิ่งยั่วยุหรือสิ่งที่จะทำให้เรากลับไปหาความไม่ดีอีก และให้ทุกคนอธิษฐานถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพนับถือ และวอนขอนักบุญยอห์น บัปติสต์ เดอ ลาซาล องค์อุปถัมถ์ของโรงเรียนช่วยปกป้อง คุ้มครองพวกเราให้พ้นจากความชั่วร้ายด้วย เสร็จแล้วเด็กๆ ก็โยนบุหรี่ เทเหล้า เข้ากองไฟ เป็นอันเสร็จสิ้นคำสัญญาที่จะลด ละ เลิก จากอบายมุขต่าง ๆ

­

ผมเชื่อว่าตอนนั้น เด็กทุกคนยังงงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เด็กถามว่า ครูคิดได้ยังไง ครูเลยถามว่า แล้วดีไหม ถ้าพวกเธอทำได้ เด็กบอกว่าดีครับ “แต่..”. ยังไม่ทันที่จะพูด ผมพูดว่า ไม่มีคำว่าแต่ ถ้าเราพยายาม ดังสุภาษิตที่ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น เธอดูตัวอย่างคนที่แพ้ไม่ใช่คนที่ล้มเหลวเสมอไปหรอกนะ ตัวอย่างเช่น อัลเบิร์ต ไอนสไตน์ ตอนเป็นเด็กเพิ่งจะมาพูดได้ตอนอายุ 4 ขวบ เพิ่งอ่านออกตอนอายุ 8 ขวบ และยังถูกไล่ออกจากโรงเรียน ถูกปฏิเสธจากโรงเรียนอาชีวะแห่งซูริค เคยถูกอาจารย์ระบุว่า สมองช้า ไม่ชอบสังคม และล่องลอยอยู่ในความฝันอันโง่เขลาของตัวเองตลอดเวลา แต่ท้ายที่สุดเขาได้เป็นบิดาแห่งปรมาณู และอีกตัวอย่างหนึ่งคือ ไมเคิล จอร์แดน นักบาสเก็ตบอลที่ทำเงินมากที่สุดในโลก ซึ่งสมัยเด็กเคยถูกคัดออกจากทีมของโรงเรียน

­

ผมให้กำลังใจเขาต่อไปว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นและไม่จบในวันนี้ แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่จะพยายามพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น โดยอาศัยกิจกรรม “ เผาถ่าน เผาเหล้า เผาบุหรี่ ” เป็นจุดเริ่มต้นและสอดแทรกปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปในทุกกิจกรรมไม่ว่าจะการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย การอนุรักษ์ธรรมชาติ และการใช้ไม้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด การเรียนรู้ถึงกระบวนการเผาถ่าน การเก็บน้ำส้มควันไม้ และผลิตภัณฑ์จากผลไม้จากภูมิปัญญาของชาวบ้าน ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตร่วมกัน รู้จักการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ไม่มั่วสุมตามร้านเกมและยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติด และโดยเฉพาะกับการสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องของคุณธรรมให้กับตัวนักเรียนเอง

­

จากวันนั้นจนถึงวันปิดภาคเรียน พวกเรามีการเผาถ่านและเก็บน้ำส้มควันไม้อีก 4 ครั้ง พบว่าเด็กๆ มีความรู้ความชำนาญในการเผาถ่านและเก็บน้ำส้มควันไม้มากขึ้น จนสามารถเป็นวิทยากรตามฐานการเรียนรู้ให้กับน้อง ๆ คณะครูที่ขอดูงานที่โรงเรียน รวมทั้งผู้ปกครอง ชุมชนที่สนใจ เด็กๆ เกิดความรู้สึกภูมิใจที่ตนเองเริ่มมีคุณค่า จากเด็กที่ไม่เอาถ่านกลับมาเป็น “ คนเอาถ่าน” พวกเขาทานข้าวได้หมดจาน รู้จักการประหยัดน้ำ ไฟ ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน หลายคนสมัครเข้าร่วมทำงานกับโรงเรียนเช่นในกลุ่ม TO BE NUMBER ONE ซึ่งเป็นกลุ่มรณรงค์และต่อต้านยาเสพติด

­

­

หลังจากสิ้นปีการศึกษา โรงเรียนได้มีการประเมินภาพรวมของเด็กกลุ่มนี้ ว่าการเรียนรู้จากกิจกรรมนี้ช่วยอะไรพวกเขาได้บ้าง พบว่าเด็กๆ ทั้งหมดได้เรียนรู้เรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงพร้อมทั้งมีการฝึกปฏิบัติภาคสนามไปพร้อมๆ กัน การทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งกิน นอน เล่น ทำให้พวกเขาเรียนรู้ถึงชีวิตจริงในสังคมด้วยความรักและความเอื้ออาทรต่อกัน พ่อแม่ภูมิและดีใจที่ลูกที่กำลังเรียนอยู่ชั้นม.6 ทั้ง 9 คนเรียนจบและเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ ส่วนอีก 6 คนที่เหลือกำลังจะจบชั้น ม.6 โดยเวลานี้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยดูแลกิจกรรมนี้ของโรงเรียนต่อไป

­

สิ่งที่สร้างความประทับใจให้กับผมอย่างมากก็คือ การที่พ่อแม่ของเด็กมาขอบคุณด้วยตนเองและบอกว่า เด็กๆ มีพฤติกรรมที่บ้านดีขึ้น เชื่อฟังและช่วยทำงานบ้าน พฤติกรรมเสี่ยงเรื่องสารเสพติด การสูบบุหรี่ เล่นเกม และเที่ยวกลางคืนลดน้อยลงอย่าเห็นได้ชัด เด็ก 2 คนเลิกสูบบุหรี่ได้ อีก 3 คนกำลังอยู่ระหว่างเลิกบุหรี่ เด็กที่ชอบเที่ยวกลางคืนลดการเที่ยว ไม่ออกไปซิ่งรถกับเพื่อนๆ ส่วนเด็กที่ติดเกมก็เห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น อาสาปลูกต้นไม้ในสวนสมุนไพร ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเด็กทุกคนยังยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แล้วมีภูมิคุ้มกันที่ดี มีคุณธรรม ทุกคนก็จะประสบความสุข ความเจริญในชีวิต และผมในฐานะครูของพวกเขาก็ขออวยพรพวกเขาให้ทุกคนมีแต่ความโชคดี.

­

­

­

อ้างอิง : หนังสือ “ประสบการณ์จริงบนเส้นทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” จัดทำโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้ที่นี่ ดาวน์โหลดหรืออ่าน

­