เรื่องเล่าในโครงการประกวดเรื่องเล่า "บทเรียนความสำเร็จในการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อจัดการการเรียนรู้" ปีที่ 1 ปี พ.ศ. 2552 จัดโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล

การแก้ปัญหาด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อยังเล็กข้าพเจ้าถูกสอนให้ว่ายน้ำในทะเล ด้วยความที่ครอบครัวของเราเป็นชาวประมง พ่อจึงเห็นความสำคัญในเรื่องการว่ายน้ำมาก เพราะหากว่ายน้ำไม่เป็นแล้วพลัดตกน้ำลงไป คงเอาชีวิตรอดค่อนข้างลำบาก สำหรับการสอนว่ายน้ำของพ่อนั้น พ่อจะปักหลักไว้หลักหนึ่งแล้วบอกว่า “ถ้าว่ายน้ำไม่ไหวจะจมน้ำให้โผเกาะหลักไว้ แล้วลูกจะรอดชีวิต” ครานั้นเป็นครั้งแรกที่ชีวิตได้เรียนรู้ถึงการมี “หลักยึด”

ครั้นเมื่อเติบใหญ่ “พ่อของแผ่นดิน” ได้พระราชทานหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ปวงชนชาวไทยซึ่งรวมถึงข้าพเจ้าด้วย ทำให้ข้าพเจ้าถูกบ่มเพาะให้เป็นคนที่จะทำอะไรต้องมี “หลักยึด” ข้าพเจ้าจึงได้น้อมนำหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงในการทำงานรวมทั้งเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของตนเอง และครอบครัวตลอดมา

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

พระปฐมบรมราชโองการ ที่พระราชทานให้ปวงชนชาวไทยเมื่อปี 2493 ได้เป็นทั้งคำสอนและเครื่องเตือนสติการทำงานของข้าพเจ้า เพราะพระราชดำรัสองค์นี้ของพระองค์ท่าน ได้บอกให้ข้าพเจ้าทราบว่า “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” นั้นคือเป้าหมายของพระองค์ท่าน และวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายของพระองค์ท่านก็คือ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม”

ด้วยประโยคนี้ของพระองค์ท่าน ได้สอนให้ข้าพเจ้าทราบว่า เมื่อจะทำอะไรต้องมีเป้าหมาย และมีวิธีการที่จะไปสู่เป้าหมายนั้น ข้าพเจ้าจึงได้น้อมนำ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็น “หลักคิด” ในการวางแผนเพื่อนำ “วิธีการ” ไปสู่ “เป้าหมาย” ในการทำงานต่อไป

ข้าพเจ้ามีเรื่องราวมากมายที่อยากจะถ่ายทอดถึงการนำหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการทำงาน ซึ่งจะขอเล่าเพียง 1 เรื่อง ที่ข้าพเจ้าได้น้อมนำหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการแก้ปัญหาการบริหารงานของข้าพเจ้า

มีวันหนึ่งครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่ง มาบอกว่าจะพาเด็กไปดูงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ที่ไบเทค บางนา จะตอบอย่างไรที่ไม่ทำให้ครูเสียความรู้สึกในความตั้งใจที่จะทำงาน ข้าพเจ้าตั้งสติ และคิดหาคำตอบ ถ้าหากให้ไป เวลาที่มีอยู่ 2 สัปดาห์ จะเพียงพอหรือไม่สำหรับการเตรียมการทั้งหมด และการขอไปทัศนศึกษาในครั้งนี้ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ไม่ได้มีโครงการหรือแผนงานที่กำหนดไว้ในปฏิทินงานของโรงเรียน

ถ้าข้าพเจ้าตอบคำถามของครูตามหลักนิติศาสตร์ “พี่ไม่อนุญาตให้ไป เนื่องจากไม่ได้กำหนดไว้ในแผน” คณะครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์คงจะไม่พอใจข้าพเจ้าอย่างแน่นอน และคงจะแอบคิดต่อว่าข้าพเจ้าในใจ “ผู้อำนวยการทำไมช่างงี่เง่าขอพาเด็กไปทัศนศึกษาแค่นี้ก็ไม่ให้ไป” พร้อมกันนั้นก็จะนำความไปบอกนักเรียน “ผู้อำนวยการไม่อนุญาตให้พวกเราไปทัศนศึกษา”

ข้าพเจ้าจึงหาทางออกด้วยการให้เรื่องนี้เป็นการตัดสินใจร่วมกันบนฐานหลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเชิญครูทุกคนในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์มาประชุมร่วมกันกำหนดเป้าหมาย และวิธีการที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายร่วมกัน เริ่มจากการกำหนดเป้าหมายการพานักเรียนไปทัศนศึกษาว่า เราต้องการให้นักเรียน ม.ต้น ไปสืบค้นความรู้เรื่องภาวะโลกร้อน ส่วน ม.ปลาย โตแล้ว สืบค้นอย่างเดียวไม่พอ ต้องให้เขาวิเคราะห์ความรู้เชื่อมโยงกับวิชาที่เขาเรียนด้วย และให้เขาวิเคราะห์หลักการเศรษฐกิจพอเพียงที่โรงเรียนบ่มเพาะมาตลอด เชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียนรู้ แล้วนำผลการเรียนรู้ที่ได้ส่งให้ผู้ปกครองได้อ่าน เพื่อให้ผู้ปกครองได้ทราบว่าการที่เขาต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นคุ้มค่าหรือไม่ ให้เขาแสดงความคิดเห็นกลับมา เพื่อจะได้ดูว่าเป้าหมายที่วางไว้มันบรรลุไหม ส่วนเด็กที่ไม่ยอมส่งงานเราจะไม่ยอมให้เขาทัศนศึกษาอีกเลย

หลังจากนั้นจึงให้ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ร่วมกันวางแผนการดำเนินงานโดยใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบในการวิเคราะห์ตาม 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ

.หลักความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นได้แก่ พอประมาณกับ เวลา ประกอบด้วย ระยะเวลาเหมาะสมในการเตรียมงานและการวางแผน ซึ่งต้องไม่กระทบหรือเบียดเบียนงานอื่นจนเกิดความเสียหาย โดยครูผู้จัดกิจกรรมทัศนศึกษาจะต้องหาข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ที่มีในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ที่ไบเทค บางนา นำมาวางแผนและจัดทำใบงานให้กับนักเรียน ตลอดจนเวลาที่จะต้องประสานและติดต่อรถรับจ้างที่จะนำนักเรียนไปทัศนศึกษา รวมทั้งการติดต่อขอรถตำรวจทางหลวงช่วยนำขบวนนักเรียนที่ไปทัศนศึกษา นอกจากนี้ ช่วงเวลาการจัดกิจกรรมยังต้องมีความเหมาะสมกับความสนใจของนักเรียน ใช้เวลาให้ตรงตามกำหนดเวลา เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมอื่นๆ
พอประมาณข้อต่อมาคือ พอประมาณกับ ระดับความสามารถ ของผู้จัดกิจกรรมทัศนศึกษาและนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม ครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมต้องพิจารณาว่านักเรียนวัยนี้มีทักษะพื้นฐานเพียงใด จะต้องทบทวนหรือปูพื้นฐานเพิ่มเติมหรือไม่ นักเรียนจะสามารถเข้าใจและดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ที่ครูต้องการได้เพียงใด ทั้งยังต้องพอประมาณกับงบประมาณและวัสดุอุปกรณ์ กล่าวได้ว่างบประมาณและวัสดุมีส่วนสำคัญในการจัดกิจกรรมต่างๆ ดังนั้นผู้รับผิดชอบต้องพิจารณาว่าจำเป็นต้องใช้งบประมาณเท่าใด และต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ใดบ้าง ทั้งนี้อยู่บนพื้นฐานของความประหยัดและการก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

๒.หลักความมีเหตุผล หมายถึง มีเหตุผลในการตัดสินใจ เกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ ได้แก่ นักเรียนควรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตระหนักในปัญหาวิกฤตโลกร้อน อันเป็นเหตุผลสำคัญยิ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้ ตระหนัก และมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ด้านครูผู้จัดต้องการสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งจะทำให้นักเรียนเกิดทัศนคติที่ดีต่อวิชาวิทยาศาสตร์ และภายในงานมีแหล่งเรียนรู้มากมาย เป็นการประหยัดเวลาในการที่นักเรียนจะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม นอกจากนี้ยังช่วยในการฝึกนักเรียนค้นหาความรู้ด้วยตนเอง

๓.หลักการมีภูมิคุ้มในตัวที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล ได้แก่ คณะครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมมีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ มีการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ มีการจัดทำใบงานเตรียมการไว้ให้นักเรียน และมีการประชุมชี้แจงกฎเกณฑ์กติกาในการไปทัศนศึกษาครั้งนี้อย่างละเอียด ให้นักเรียนทุกคนได้รับทราบ เพื่อที่การดำเนินงานครั้งนี้จะได้บรรลุวัตถุประสงค์ จัดการขออนุญาตผู้ปกครองนักเรียนทุกคนในการที่จะพานักเรียนไปทัศนศึกษา และต้องได้รับคำตอบยืนยันการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร การสำรวจเส้นทางและติดต่อรถตำรวจทางหลวงในการนำขบวนนักเรียนเดินทางไปทัศนศึกษา จัดแบ่งครูรับผิดชอบดูแลเด็กในอัตราส่วน 1 : 20 ตามเกณฑ์ที่กระทรวงกำหนด และแต่งตั้งครูหัวหน้าคณะดูแลและควบคุมรถแต่ละคัน และคณะครูทุกท่านต้องมีกำหนดการ หรือปฏิทินเวลาเดียวกัน

ขณะที่อีก 2 เงื่อนไข คือ ๑.เงื่อนไขความรู้ หมายถึง ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบเพื่อประกอบการวางแผนได้แก่ ครูผู้จัดกิจกรรมทัศนศึกษาต้องมีความรู้ในกฎระเบียบของกระทรวงศึกษา เรื่อง การพานักเรียนไปทัศนศึกษานอกสถานที่ นักเรียนต้องมีความรู้พื้นฐานที่จะนำไปต่อยอดกับความรู้ใหม่ที่ครูต้องการให้นักเรียนได้รับในการไปทัศนศึกษานอกสถานที่ในครั้งนี้ ครูและนักเรียนต้องมีความรอบคอบระมัดระวังทั้งในการเดินทางและการหาความรู้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และนักเรียนจะต้องมีความรู้ในการสรุปรายงานและการวิเคราะห์ความรู้ที่ได้รับ
ส่วนเงื่อนไขที่ ๒.เงื่อนไขคุณธรรม หมายถึงสิ่งที่ต้องเสริมสร้างให้ติดเป็นนิสัยในการดำเนินการ ผู้รับผิดชอบกิจกรรมมีความขยัน อดทน ทั้งการวางแผนเตรียมงานและการดำเนินกิจกรรม มีการใช้สติปัญญาอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้งานออกมาเห็นผลสูงสุด การไปทัศนศึกษานอกสถานที่ ทุกคนต้องมีความรอบคอบระมัดระวัง และนักเรียนทุกคนต้องมีความรับผิดชอบ เพราะถ้านักเรียนไม่รับผิดชอบในงานที่ครูมอบหมาย งานครั้งนี้ก็จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ การไปทัศนศึกษาด้วยคนจำนวนมาก การตรงต่อเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทุกคนจะต้องมีวินัยและตรงต่อเวลาที่นัดหมาย นักเรียนจะต้องมีความอดทน/ความเพียรพยายามที่จะศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง สามัคคี ช่วยเหลือแบ่งปัน การไปทัศนศึกษาที่ไบเทค บางนาซึ่งมีบูธความรู้ทั้งหมด 14 บูธ นักเรียนคงแยกย้ายกันไปศึกษา ดังนั้น จึงเป็นการฝึกให้นักเรียนได้แบ่งปันความรู้ร่วมกัน และข้อสุดท้ายคือ ความซื่อสัตย์ โดยการไปศึกษาครั้งนี้ถ้านักเรียนไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต นักเรียนใช้วิธีการลอกงานจากเพื่อนมาส่งครูโดยไม่ศึกษาด้วยตนเอง การดำเนินการครั้งนี้ก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ดังนั้น ครูต้องเน้นย้ำในเรื่องความซื่อสัตย์ของนักเรียน
ภายหลังการประชุมวางแผนร่วมกันในการทำงาน ในวันรุ่งขึ้นครูคนเดิมกลับมาบอกว่าไม่ไปทัศนศึกษาแล้ว เพราะเมื่อนำกลับไปคิดวิเคราะห์เห็นว่าเวลาที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับจำนวนงานที่ต้องเตรียมการ จะเห็นได้ว่า ผลของการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิเคราะห์การวางแผนการไปทัศนศึกษาของครูกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ ทำให้คณะครูไม่ได้โกรธเคืองผู้อำนวยการ เพราะการไม่ไปทัศนศึกษาครั้งนี้ไม่ได้มาจากการตัดสินใจของผู้อำนวยการ แต่มาจากการตัดสินใจของคณะครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณะครูไม่เกิดความรู้สึกว่าผู้อำนวยการไม่สนับสนุนกิจกรรมที่พวกเขาคิดขึ้นมา และที่สำคัญ คือ คณะครูได้ข้อคิด และวิธีทำงานในครั้งต่อไปอีกด้วย
นี่แหละค่ะ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นหลักคิด เป็นหลักคิดที่ข้าพเจ้าได้เกาะยึดเวลาที่คับขันในการตัดสินใจ ข้าพเจ้าจึงสามารถกล่าวได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิดที่ช่วยให้การแก้ปัญหาการบริหารงานของข้าพเจ้าสำเร็จลงได้...อย่างงดงาม ///

อ้างอิง : หนังสือ “ประสบการณ์จริงบนเส้นทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” จัดทำโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล เว็บลิงก์ http://www.scbfoundation.com/publishing.php?proje...