เรื่องเล่าในโครงการประกวดเรื่องเล่า บทเรียนความสำเร็จในการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อจัดการการเรียนรู้ ปีที่ 1 ปี พ.ศ. 2552 จัดโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล

อยากบอกให้รู้...สู่โรงเรียนแบบอย่างเศรษฐกิจพอเพียง
แรงบันดาลใจที่ทำให้ผมมีความมุ่งมั่นขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เริ่มมาจากครอบครัวที่ต้องพึ่งพาตนเอง
ด้วยฐานะที่ยากจนทำให้เรามีวัคซีนที่เข้มแข็ง ทำให้มีความอดทน ตั้งแต่เด็กๆ
พ่อแม่จะเรียกลูกทุกคนมารับประทานอาหารพร้อมกันตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่า “เพราะอะไร”
แต่สิ่งที่เราได้รับคือ การแบ่งปันสิ่งที่ได้มาอย่างเหมาะสม และเที่ยงธรรม
ซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว โตขึ้นมามีการศึกษา มีงานการทำ เราเพิ่งถึงบางอ้อว่าพ่อสอนให้เราพอเพียงนั่นเอง
และเป็นสิ่งที่ฝังลึกในใจมาโดยตลอด

เมื่อผมได้มาเป็นผู้อำนวยการของโรงเรียนบ้านหนองบัวแดง ตำบลแม่ข้าวต้ม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เมื่อปี พ.ศ. 2549 โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนประมาณ 120 คน เป็นโรงเรียนที่ไม่มีชื่อเสียง ใครมาเป็นครูก็มีแต่ขอย้าย แต่ผมเห็นว่าจุดเด่นของโรงเรียน คือ มีพื้นที่กว้างขวางกว่า 40 ไร่ เมื่อเราเป็นผู้บริหารมาอยู่ใหม่ ก็คิดว่าทำอย่างไรจะพัฒนาโรงเรียนสู่แนวหน้า และคิดว่าทำอย่างไรถึงจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้คุ้มค่า โดยได้เริ่มดำเนินการโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาสถานศึกษาร่วมกับบุคลากรทุกภาคส่วน โดยอาศัย 4 หลัก เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการไปสู้เส้นชัย

หลักแรกได้แก่ หลักยึด เพื่อให้เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวในจิตใจ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยอาศัยพระราชดำรัสในพระองค์ท่านเป็นหลักยึดให้เกิดความมั่นคงในจิตใจ เมื่อเกิดหลักยึดดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วจึงค่อยๆ สร้างให้เกิด หลักมัด คือ มัดใจ เพื่อให้ครูเกิดการรวมพลังผสานสร้างความรู้ ความผูกพัน การอยู่ร่วมกัน การทำงานด้วยกันอย่างพี่น้อง โดยการสกัดเอาความรู้ต่างๆ มาเผยแพร่สร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ร่วมกันคิดว่า “โรงเรียนบ้านหนองบัวแดงจัดการศึกษาได้คุณภาพมาตรฐาน นักเรียนมีคุณธรรมจริยธรรม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อนุรักษ์ และส่งเสริมวัฒนธรรมไทย โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

จากนั้นก็อาศัย หลักปฏิบัติ คือ ทำให้ดู ชูให้เห็น เค้นให้ได้ ประกอบกับหลักสุดท้าย คือ หลักธรรม ทำด้วยใจใฝ่อาสา พัฒนาพื้นที่ให้มีศักยภาพ ผมมีหลักที่ว่า หลักธรรมคือหน้าที่ ทำดีคือน่าทำ ทุกคนทำในสิ่งที่ดี ทำแล้วต้องดี ดีแล้วต้องทำ ในกระบวนการเหล่านี้ ผมพยายามย้ำคิดย้ำทำให้ครูได้ปฏิบัติ ผลจึงเกิดขึ้นในกระบวนการว่าใน 4 หลักของเรานี้จะทำให้เกิดใจรักและจิตอาสา ทุกคนเริ่มเกิดการพัฒนาและเห็นคุณค่าของการประมาณตน

พวกเราน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้นักเรียนได้ปฏิบัติโดยครูทุกคนต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักพอประมาณ มีเหตุมีผล และภูมคุ้มกันที่ดี โดยอาศัยความรู้คู่คุณธรรม เลยมีเรื่องเล่าว่า คุณธรรมตัวนี้ถ้าเขียนเป็นคำจะได้ว่า คุณ-นะ-ทำ แปลตามตัวก็คือ ตัวเราต้องทำนั่นเอง เราทำงานกันเป็นทีม มีทั้งบู๊ และบุ๋น คำว่า บู๊ คือภาคสนาม บุ๋น คือ การทำงานด้านวิชาการ งานจึงไปได้ดี โดยเฉพาะครูผู้ชายซึ่งมีอยู่ 6 คน ต้องลุยในภาคสนามด้วยความอดทน เสียสละและมีความรับผิดชอบ ส่วนครูผู้หญิงของเรามีอยู่ 4 คน ต้องช่วยกันระดมสมอง กลั่นกรองความคิด ทุกคนร่วมมือ ร่วมใจ ช่วยกันสกัดเป็นองค์ความรู้

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนเริ่มขึ้นโดยถือฤกษ์ดีวันที่ 12 สิงหาคม 2549 โดยการจัดกิจกรรมโครงการไถ่คืนชีวิตโคกระบือในวันแม่แห่งชาติ ได้รับความสนใจจาก นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้นำท้องถิ่นเป็นอย่างดี ได้โค กระบือ มา 9 ตัว จากโครงการดังกล่าว เรามอบหมายให้นักเรียนดูแลรับผิดชอบซึ่งนักเรียนมีความกระตือรือร้น สนุกสนาน มีความสุขจากการได้ดูแลโค กระบือ จากตรงนั้นเราประชุมกันบ่อยขึ้นเพื่อให้รู้ว่ามีอุปสรรค ปัญหาอย่างไร และหาแนวทางแก้ไขอย่างไร

นักเรียนโรงเรียนบ้านหนองบัวแดง ได้ลงมือปฏิบัติจริงทุกกิจกรรม เพราะเราแบ่งเป็นกลุ่มสนใจรับผิดชอบตามที่ได้รับมอบหมาย วิถีชีวิต และลมหายใจเล็กๆ ของเด็กๆ ที่คลุกคลีอยู่กับธรรมชาติอันเขียวขจี ต้นไม้ สระน้ำ สัตว์เลี้ยงประเภทต่างๆ เช่น ไก่ หมู วัว ควาย กบ จิ้งหรีด ฯลฯ กับห้องเรียนธรรมชาติที่เด็กๆ ส่งเสียงเจื้อยแจ้ว ยื่นอาหารให้หมู ยื่นกล้วยให้วัวควาย สองมือน้อยๆ บรรจงปลูกพืชผักสวนครัว รดน้ำ พรวนดิน เติมปุ๋ยธรรมชาติ ขี้ไก่ ขี้วัว ดูความเจริญเติบโตของต้นไม้ และพืชผักที่ตนเองปลูกอย่างประคบประหงมด้วยความภาคภูมิใจอิ่มเอิบกับบรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียน เคียงคู่กับการสร้างแหล่งอาหารการกิน การอยู่ร่วมกัน การรู้จักประหยัด และการออม อย่างต่อเนื่อง

ผู้ที่มาเยี่ยมชมโรงเรียนหนองบัวแดง จะได้พบกับฐานการเรียนรู้ต่างๆ ที่นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติ และเกิดความรู้ทั้งทางตรง และทางอ้อม เช่น ฐานการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ฐานการทำน้ำยาเอนกประสงค์ ฐานการเลี้ยงสัตว์ต่างๆ เช่น การเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ เลี้ยงจิ้งหรีด ฐานการปลูกผัก เช่น การปลูกผักกางมุ้งปลอดสารพิษ การปลูกแก้วมังกร การปลูกเสาวรส การเพาะเห็ด ซึ่งผลที่ได้จากการทำกิจกรรมเหล่านี้ ส่งผลให้นักเรียนสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างจริงจังที่บ้านของนักเรียนได้ โดยการยืมเงินออมทรัพย์ของนักเรียนไปเป็นทุนในการฝึกอาชีพ และเป็นการหารายได้ระหว่างเรียนของนักเรียน ดังนั้นนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนทุกคนจะมีเงินออมไว้เป็นทุนการศึกษาก่อนอำลาสถาบัน

รูปธรรมในการน้อมหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวันของนักเรียนที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่ง คือ กิจกรรมรับประทานอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ของนักเรียน ที่โรงเรียนปลูกฝังให้นักเรียนมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีความพอประมาณ ภูมิคุ้มกัน มีเหตุผล โดยอาศัยความรู้และคุณธรรมเป็นหลัก นั่นคือ แม่ครัวเป็นผู้ประกอบอาหาร ลูกหลานเดินเท้าเข้าแถวมาเป็นระเบียบ ตักอาหารพอสำหรับการรับประทานเอง ทานเสร็จแล้วพากันไปล้างถ้วยจานคว่ำเก็บไว้เป็นระเบียบเรียบร้อย ตรงกับสำนวนที่ว่า พออยู่ พอมี พอกิน และพอประมาณ

ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนบ้านหนองบัวแดงอาจดูเหมือนจะเน้นหนักด้านทักษะการปฏิบัติการเกษตร แต่งานด้านวิชาการของเราก็ไม่เป็นสองรองใคร เราจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยการบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่กับการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนไกลกังวล จนได้รับการประเมินจากสำนึกงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นโรงเรียนดีเด่นประจำตำบล เห็นผลจากการประเมินของ สมศ.รับรองคุณภาพการจัดการศึกษา นอกจากนั้นในการประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง เรายังได้จัดทำหลักสูตรท้องถิ่นโดยการบูรณาการเข้ากับ 8 สาระการเรียนรู้ กับอีกหนึ่งกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อให้เกิดมรรคผลมากที่สุด

ภาพแห่งความสำเร็จที่ได้รับจากการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา จากการบริหารจัดการต้องยกให้กับ คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองนักเรียน และชุมชน ที่ให้ความร่วมมือกับคณะครูอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลที่สนับสนุนดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงของตำบลที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับนักเรียนจนบังเกิดผลทำให้วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนขยายผลจากเด็กนักเรียนไปสู่ผู้ใหญ่ในชุมชนเป็นเครือข่ายชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้าน ซึ่งชุมชนผู้ปกครองมีการปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การแบ่งปันผลผลิตที่มีให้กันและกัน โดยเป็นส่วนที่เหลือจากการบริโภคและการจำหน่ายอย่างลงตัว

จากปี 2549-2552 เป็นเวลา 3 ปีที่พวกเราได้ดำเนินการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาในสถานศึกษา มีคำถามมากมายที่ถามพวกเราว่า ทำไมมีคณะครูแค่ 10 คนถึงสามารถมีโครงการและจัดกิจกรรมต่างๆ ได้มากมายภายในโรงเรียน ถามว่าเหนื่อยไหม คำตอบของพวกเราทุกคนคือ ไม่ต้องถามว่าเหนื่อยหรือไม่เพราะพวกเราทุกคนทำด้วยใจ เสียสละ อุทิศเวลา ไม่ว่าจะเป็นวันเสาร์ หรืออาทิตย์ เราปลูกฝังให้เขารู้ เข้าใจ สามารถนำหลักความพอเพียงไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข เราก็คุ้มค่ากับความเหนื่อยยากที่เราลงทุน

ผลที่เกิดขึ้น ปีที่ผ่านมาเด็กเราได้รางวัลคุณธรรมระดับชาติ โรงเรียนได้รางวัลคุณธรรมระดับประเทศ แต่ที่เราทำเราไม่ได้คิดตรงนั้น แต่เราคิดว่าทำอย่างไร โรงเรียนของเรา สถาบัน และครอบครัว ซึ่งรวมไปถึงครู นักเรียน ชุมชนของเราจะยั่งยืนในสถานปัจจุบันการณ์นี้ต่อไปได้