เรื่องเล่าในโครงการประกวดเรื่องเล่าเศรษฐกิจพอเพียง ปีที่ 1

บทเรียนความสำเร็จในการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อจัดการเรียนรู้

         ตัวตนของดิฉันก่อนสู่บทเรียนความสำเร็จ ฉันชื่อ สารภี สายหอม (สกุลเดิม จันทร์ไทย) เป็นลูกคนที่ 3 จากพี่น้องทั้งหมด 5 คน พ่อเป็นครูประชาบาล ส่วนแม่เป็นแม่บ้านเต็มขั้นคือ อยู่บ้าน มีหน้าที่ดูแลบ้าน เลี้ยงลูก ทำอาหาร เลี้ยงเป็ด ไก่ หมู ปลูกผักสวนครัว เหมือนครอบครัวอื่นๆ นอกจากนี้ครอบครัวของดิฉันยังทำนาด้วยประมาณ 5 ไร่ โดยเช่านาชาวบ้านทำจะได้ไม่ต้องซื้อข้าวกิน พ่อจะตื่นแต่เช้าไปไถนา คราดไว้ พอที่แม่จะดำได้ พอแม่ทำงานบ้านเสร็จจะต้องไปดำนา (นาอยู่ใกล้บ้าน) เมื่อพ่อกลับมาจากโรงเรียนจะไปถอนกล้าไว้ พ่อและแม่จะเป็นแบบอย่างให้ลูกๆ ในความขยัน อดทน “ไม่หมิ่นเงินน้อย ไม่คอยวาสนา” แม้ภายหลังพ่อจะย้ายจากชนบทเข้ามาสอนโรงเรียนในตัวอำเภอ แม่และพ่อก็ดำเนินชีวิตเหมือนเดิม ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นพ่อและแม่ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย ประหยัด “ปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก” สอนลูกๆ ให้รู้จักดักปลา ตกเบ็ดในหน้าฝน พ่อทำเบ็ดเอง แม่ก็จะสานสวิง (สมัยนี้ต้องซื้อ) ถ้าได้ปลามามากแม่จะทำปลาร้า (สำหรับปลาตัวใหญ่) ปลาจ่อม (สำหรับปลาตัวเล็กๆ) ไว้กินหน้าแล้ง ด้านการเรียนก็ส่งเสริมเต็มที่ จนลูกมีอาชีพที่มั่นคง รับราชการทุกคน

     ฉันได้ซึมซับการดำเนินชีวิต นิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน ความขยัน อดทน ความประหยัด คิดหน้าคิดหลังก่อนใช้เงิน จากพ่อและแม่อย่างไม่รู้ตัว ความสำเร็จของชีวิตทั้งด้านการครองตน ครองคน และครองงาน เกิดจากเบ้าหลอมของพ่อและแม่ จากการได้รับการอบรมสั่งสอนของครู อาจารย์ โดยที่การดำเนินชีวิตบางช่วงสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขององค์ในหลวงที่ฉันรักและเทิดทูนไว้เหนือเกล้าอย่างไม่รู้ตัว เป็นแรงบันดาลใจอันดับแรกที่ฉันอยากจะเข้ามาศึกษาให้เข้าใจ อยากปฏิบัติตาม ซึ่งส่วนใหญ่ฉันเห็นแต่ชาวสวนชาวไร่นำแนวทางนี้ไปทำไร่ทำนาสวนผสมที่เขาเรียกกันว่า “เกษตรทฤษฎีใหม่” แล้วฉันเป็นครู ฉันจะนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตของฉันบ้างได้ไหม? สิ่งนี้ทำให้ฉันเข้ามาศึกษาค้นคว้าและพัฒนาตนเองเพื่อทำความเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแตกฉานทั้งจากอินเทอร์เน็ตและวารสารต่างๆ และจากการที่ทางโรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคมได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการในการบริหารจัดการในโรงเรียนทุกด้าน ฉันจึงได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าในการขับเคลื่อนฯ ภายในโรงเรียน ฉันจึงต้องเป็นแบบอย่างแก่ครูและนักเรียน นำความรู้ความเข้าใจที่ได้ศึกษามาจัดทำสื่อการเรียนรู้ที่สอดแทรกเศรษฐกิจพอเพียงลงไปในการสอนนักเรียน มีตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้ มีตัวอย่างสื่อ พาครูจัดทำหน่วยบูรณาการ จัดทำแหล่งเรียนรู้ ฯลฯ

             สำหรับการบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงกับการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ของฉันที่โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ รอบโรงเรียนเป็นท้องไร่ท้องนา ฤดูทำนาชาวบ้านจะใช้ยาฆ่าหญ้าตามวิธีสมัยใหม่ ไม่ใช่วิธีไถคราดปักดำ แต่ใช้วิธีหว่าน วัชพืชขึ้นเยอะมาก วิธีง่ายๆ เพื่อกำจัดก็คือการฉีดยา ซึ่งยาก็จะฟุ้งกระจายไปในอากาศ เมื่อขี่รถผ่าน ครูและนักเรียนก็จะได้กลิ่น นอกจากยาฆ่าหญ้าแล้วก็จะมีการใช้ปุ๋ยเคมีเยอะมาก พอเสร็จฤดูนาก็เผา กลิ่นเผาตอซังข้าวก็โชยเข้ามาถึงในโรงเรียน จากตรงนี้ที่เราสอนวิชาวิทยาศาสตร์ชั้น ม.2 จึงอยากให้นักเรียนตระหนักถึงปัญหาของชุมชนถึงผลที่มันจะตามมาจากตรงนี้ เราอยากพาเขาออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน

          ทั้งนี้ ปกติวิชาวิทยาศาสตร์จะเป็นวิชาที่เรียนในห้องเรียน มุ่งเน้นให้นักเรียนได้มีความรู้ไปเรียนต่อ พอฉันมาเห็นผลดีของเศรษฐกิจพอเพียง จึงคิดว่าจุดนี้สามารถเชื่อมโยงเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ไปกับวิถีชีวิตชุมชนและนักเรียนได้ โดยเป็นการดึงเอาเรื่องใกล้ตัว เรื่องปัจจุบันของเขามาผูกเนื้อหาที่สอนในห้องเรียน เพราะฉะนั้นการออกแบบการสอนจะใช้วิธีการสอนที่เรียนในห้องเรียนเพื่อให้ได้เนื้อหา และใช้กระบวนการกลุ่ม มีการทดลองเหมือนปกติ แต่พอจะดึงเนื้อหาออกไปนอกห้องเรียนก็จะใช้วิธีโยงเนื้อหาไปกับปัญหาของชุมชน เช่น การสอนเรื่องดิน เมื่อนักเรียนทราบกระบวนการเกิด ความแตกต่างของดินชั้นบน -ชั้นล่าง การอนุรักษ์ดินทำอย่างไร ซึ่งมีให้เรียน มีใบกิจกรรม และใบความรู้ต่างๆ อยู่แล้ว เราก็จะแบ่งให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่มเพื่อสำรวจคุณสมบัติดิน ทดสอบดิน ซึ่งจะเป็นการฝึกให้เขามีทักษะการช่วยเหลือกัน เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ เกิดการเกื้อกูลกันเป็นคุณธรรมที่เกิดขึ้นในกิจกรรมกลุ่ม มีการลงมือทำ ลงมือทดลอง

           พอเขาเรียนรู้เนื้อหาหลักในห้องเรียนตามปกติแล้ว เราก็ได้ทำสื่อเรื่อง “ดินจ๋าอย่าร้องไห้” ซึ่งเป็นสื่อการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ที่ฉันสอดแทรกแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไว้ เป็นผลงานชิ้นแรกของฉันที่ฉันภูมิใจ เพื่อเสริมให้เขาได้อ่าน มีตัวละครเป็นดินมาบอกว่าเขาต้องทุกข์ยากอย่างไร ต่อมาได้รับการช่วยเหลือจากน้ำ เมื่อฝนตกลงมา น้ำก็ชะล้างสิ่งสกปรกที่มนุษย์สร้างให้กับดินออกไป ดินเขาก็ฟื้นตัว ต้นไม้พืชพรรณต่างๆ ก็เติบโตเขียวชอุ่ม ตรงนี้ฉันอยากให้เด็กได้เรียนรู้ว่าหากเด็กไม่อนุรักษ์ดินในท้องถิ่นของเขา ต่อไปดินก็จะเกิดปัญหาอย่างนี้ จากนั้นให้เขาลงพื้นที่สำรวจ เก็บข้อมูลจากชาวบ้าน ได้ข้อมูลแล้วมีกล้องก็ถ่ายรูปมาให้ครูดูด้วย ในจุดนี้ฉันจะสอดแทรกเทคนิคการพูดคุย เทคนิคการสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับเขา เนื่องจากวัยรุ่นมักจะมีวิธีการพูดของเขา บางทีอาจพูดห้วนๆ ฉันก็ไปแนะนำเขาให้มีความเคารพคนเฒ่าคนแก่ ต้องพูดต้องคุยอย่างไร

          ขั้นตอนนี้ฉันได้ให้เขาทำแบบประเมินกับแบบสัมภาษณ์ชาวบ้านเองถึงพฤติกรรมการใช้ประโยชน์ของดินของคนในชุมชนรอบๆ หมู่บ้านและรอบอำเภอว่าเขาทำอย่างไรบ้าง จดมาให้หมดแล้วนำมาวิพากษ์อภิปรายกันในกลุ่มว่าพฤติกรรมอย่างไหนดีหรืออย่างไหนไม่ดี เช่น พฤติกรรมที่ไม่ดีเกี่ยวกับการขุดหน้าดิน เขาจะได้ทราบว่าการขุดหน้าดินทำอย่างไร และเมื่อไปสืบค้นภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้วเราจะมีวิธีแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร มีของดีของดั้งเดิมอยู่หรือไม่ และเราน่าจะสืบทอดไว้หรือไม่ เช่นการปลูกพืชหมุนเวียน การทำปุ๋ยคอก และการทำปุ๋ยชีวภาพมาใช้กันเอง เขาก็จะกลับมาพูดคุยกันในห้องเรียนว่าที่หมู่บ้านของเขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ มีหมอดินแนะนำอย่างไร อย่างการจุดไฟเผาเศษใบไม้ของแต่ละบ้าน จุดไฟเผากันเป็นหย่อมๆ บนลานบ้าน ก็ไปแนะนำเขาว่า ให้กองเศษใบไม้ใบหญ้าเอาไว้เป็นกองปุ๋ยหมัก เอาขี้วัวขี้ควายมาใส่ ซึ่งในที่สุดมันก็กลายสลายเป็นปุ๋ย เป็นฮิวมัสได้ ตรงจุดนี้จะทำให้เขาเห็นว่าของอย่างนี้มีอยู่ แต่ตอนนี้บางหมู่บ้านก็มี บางหมู่บ้านก็ไม่มีอีกแล้ว

          ถัดจากนั้นฉันจึงให้นักเรียนมาถอดความรู้ขั้นที่ 1 กระบวนการที่เขาออกไปสัมภาษณ์ ไปสำรวจภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำกลับมาอภิปรายกลุ่มอีกครั้ง เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงว่าสิ่งนั้นๆ มันเป็นการสอดคล้องกับ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร โดยให้ยกตัวอย่างภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ประทับใจว่าเมื่อถอดออกมาแล้วจะเป็น 3 ห่วง 2 เงื่อนไขอย่างไร ซึ่งตรงนี้ฉันจะไม่ได้โยงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้เขาแต่แรก ซึ่งจริงๆ แล้วที่โรงเรียนทำอยู่ ทั้งนี้เพราะเกรงว่าจะทำให้เขาพะวงกับเศรษฐกิจพอเพียงมากเกินไป แต่ฉันต้องการให้เขาเรียนรู้เองตามธรรมชาติ และจะคอยสังเกต ดูเขาเล่า ดูเขาลงชุมชน ดูเขาแบ่งงานต่างๆ กันอย่างไร จากนั้นแล้วก็ให้ความรู้เขาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ให้เขาได้อ่านสื่อการเรียนรู้เรื่องนี้ และตรวจสอบว่าเขาเข้าใจอย่างไรและแบบไหน โดยให้เขาทำมายด์แม็ปและยกตัวอย่างว่าเขาเข้าใจ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขหรือไม่อย่างไร ต่อมาจึงให้เขาย้อนกลับมาดูกระบวนการและงานของเขาเองตั้งแต่ในห้องเรียน การออกไปสำรวจนอกห้องเรียน และกลับมาในห้องเรียนอีกครั้ง เพื่อวิเคราะห์ว่าสอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ เขาใช้ความพอประมาณหรือยัง มีความพอประมาณ หรือจะแก้ปัญหาอุปสรรคอย่างไร สะท้อนออกมาเป็น 3 ห่วง 2 เงื่อนไขให้เขารายงานแลกเปลี่ยนกันหน้าชั้น

          ถัดจากนั้น ฉันยังทำอีกจุดหนึ่ง ให้นักเรียนถอดบทเรียนว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างการทำปุ๋ยหมัก การปลูกพืชหมุนเวียนซึ่งเขาบอกว่ามีผลดีเป็นเศรษฐกิจพอเพียง คราวนี้ลองมาคิดดูสิว่าการทำอย่างนั้นเป็นเศรษฐกิจพอเพียงจริงหรือไม่ อย่างไร เช่น ความพอประมาณของการทำปุ๋ยหมัก ภูมิคุ้มกัน เขามีเหตุผลอะไรถึงทำ ใช้ความรู้อะไร และระหว่างทำเขาเกิดคุณธรรมอะไรบ้าง จากตรงนั้นฉันพบว่านักเรียนเขาถอดได้ เขาสนุกกับการเรียน เขาได้ลงท้องถิ่น ผู้ปกครองๆ สะท้อนว่าดี อยากให้ครูทำบ่อยๆ และทำเรื่องอื่นด้วย

            อีกสิ่งที่พบคือเด็กนักเรียนคิดได้ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้เขาใช้ชีวิตอย่างมีสติ มีปัญญา และคิดดีทำดี เพราะเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิด เราทำอย่างไรให้เขาคิดได้ก่อน ให้เขาได้เปิดใจก่อน ตรงนี้ฉันไม่ได้คาดหวังว่าจะให้เขานำไปปฏิบัติทันทีทันใด เพราะเขาอาจไม่มีน้ำหนักพอจะไปบอกพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ทันทีทันใด แต่อย่างน้อยๆ ก็ทำให้นักเรียนได้มีหลักคิด สามารถวิเคราะห์ชี้แนะว่าอะไรดีหรือไม่ดี อะไรพอประมาณ ภูมิคุ้มกันที่จะเกิดกับเขาในอนาคตอยู่ตรงไหน เขามีเหตุผลอะไรที่ทำแบบนั้น และเขาได้ใช้คุณธรรมอะไร ตรงนี้สามารถเอื้อกับชุมชนซึ่งเขาจะเติบโตต่อไปในอนาคต

           ส่วนการสอนวิทยาศาสตร์อื่นๆ ของดิฉันก็พยายามดึงเรื่องใกล้ตัว อย่างเรื่องการย่อยอาหาร ซึ่งหลายคนมองว่าเชื่อมโยงเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ แต่จริงๆ สามารถเชื่อมโยงได้ อย่างปัจจุบันนักเรียนมีวิถีการกินแตกต่างไป เราต้องดึงนักเรียนให้กลับมาคิดว่าการกินที่ดี เหมาะสมกับสภาพครอบครัวและเกิดประโยชน์แก่เขาเองมากที่สุดจะต้องกินอย่างไร สิ่งที่เล่ามาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ฉันภาคภูมิใจ มีผลเชิงประจักษ์ ซึ่งทั้งหมดนี้ ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าหลักการจัดการสอนของฉันจึงเน้นหนักไปที่การกระตุ้นให้นักเรียนคิดก่อนและค่อยนำไปปฏิบัติ ซึ่งผลของมันทำให้นักเรียนของฉันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยมีทักษะการทำงานเป็นทีม กล้าแสดงออกและกล้าแสดงความคิดเห็น เรียนรู้ร่วมกันอย่างมีความสุข สามารถสืบค้นองค์ความรู้ได้เอง นอกจากนี้ยังรู้จักวิเคราะห์เชื่อมโยงเศรษฐกิจพอเพียงกับชีวิตประจำวันได้ ดังเช่นเรื่องการรับประทานอาหาร หากมีความพอเพียง เราก็สามารถเลือกรับประทานอาหารได้อย่างมีคุณค่า ย่อยง่าย และมีประโยชน์