เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะที่ดีให้เด็ก

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น/เรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาเด็ก

ปีแรกของการเป็นครูนั้นล้วนแล้วแต่มีสิ่งที่ท้าทายอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการสอนให้เด็กที่ไม่ได้มีแรงจูงใจในการเรียน เด็กที่ไม่เห็นว่าศักยภาพของตัวเขาที่มีอยู่จะสามารถทำอะไรได้หรือ เด็กที่พ่อแม่ทอดทิ้งไปไม่เคยได้รับความรักความอบอุ่นให้เด็กเหล่านี้หันหน้ากลับมามองปัจจุบันของสิ่งที่พวกเขามีและภาพในการเรียนรู้ที่จะนำพาพวกเขาอยากเป็นไปตามความฝัน แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยของการทำหน้าที่ ครู

วันแรกที่ก้าวขาเข้าไปทำงาน บรรยากาศที่สัมผัสได้ตอกย้ำความเชื่อเดิมของส้มว่า เด็กคือความงดงามที่ไม่ได้ประดิษฐ์แม้ว่าโรงเรียนแห่งนี้จะเป็นโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งเด็กส่วนใหญ่จะมีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างยากจน และมากกว่าครึ่งเด็กเหล่านี้ครอบครัวแตกแยกซึ่งจากสภาพแวดล้อมในแต่ละครอบครัวที่ตกอยู่ในภาวะขัดสน เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า มีผลกระทบโดยตรงต่อตัวเด็กและการเรียนรู้ของเด็กด้วย แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการเป็นครูของส้มเลย เพราะส้มยังเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า เด็กเหล่านี้ถ้าได้รับโอกาสและการสนับสนุน เขาจะเติบโตได้อย่างงดงามตามแบบของเขา

ในวันหนึ่งส้มได้พบกับเด็กหญิงคนหนึ่งการพบเจอของเราในครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่อาจเรียกเหตุการณ์ของการพบเจอได้ว่าเป็น ครั้งแรกที่เห็นพฤติกรรมของเด็กหญิงที่แสดงออกมาในลักษณะที่รุนแรง และก้าวร้าว นั่นคือ เด็กหญิงคนผมเปีย ผิวคล้ำ อยู่ในภาวะอารมณ์โกรธ กำลังจะถูกครูฝ่ายปกครองทำโทษ สาเหตุเนื่องมาจาก เธอทะเลาะตบตีกับเพื่อน ทั้งยังปฏิเสธการถูกทำโทษจากครู จากบรรยากาศนั้นส้มรู้สึกได้ว่าเด็กคนนี้ในสายตาของสังคมที่มองเขา คือ ปฏิเสธ สำหรับส้มแล้วการที่เด็กคนหนึ่งถูกสังคมปฏิเสธนั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดาทั่วไป แต่เป็นการลดคุณค่าของมนุษย์ลงในสถานที่ที่เรียกว่า สถานศึกษา


กระบวนการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาเด็ก

ครูส้มเฝ้ามองพฤติกรรมของเด็กคนนี้อยู่อย่างใกล้ชิดทั้งยังหาข้อมูลของตัวเด็กเพื่อที่จะได้รู้จักตัวตนของเด็กคนนี้มากขึ้นในฐานะของครูคนหนึ่งที่ตั้งใจอยากจะช่วยเหลือ จากการสังเกตพบว่า เด็กหญิงจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวกับเพื่อน ทั้งทางวาจา และทางร่างกาย เธอจะมีความอดทนอดกลั้นน้อย ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตัวเองค่อนข้างต่ำ อยู่ในห้องเรียนมักจะชวนเพื่อนคุยและชวนเพื่อนเล่น และสิ่งที่ตามมาหากเพื่อนปฏิเสธเธอ คือ การทำร้ายร่างกายเพื่อน หากครูฝ่ายปกครองทำโทษเธอจะมีปฏิกิริยาปกป้องตัวเองเกิดขึ้น ไม่น่าเชื่อเลยว่าเด็กหญิงตัวเล็กๆคนหนึ่ง วัย 13 ปี จะมีการแสดงออกด้วยการต่อต้านสังคมได้มากเพียงนี้

ครูส้มเฝ้ามองเด็กหญิงอยู่ระยะหนึ่ง วันนั้นเอง ในห้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ครูส้มเห็นคือ แววตาของเธอที่ผิดปกติไป เพราะปกติเธอจะมีสายตาที่แข็งกร้าว ไม่ว่าทั้งต่อครูหรือเพื่อน จนครูหลายท่านบ่นว่า ไม่รู้จะจัดการกับเด็กคนนี้อย่างไร สายตาคู่นั้นที่ส้มมองไปจากหน้าห้องขณะสอน พบว่า เป็นแววตาที่เศร้าหมอง อ่อนล้า และเป็นประตูที่เปิดให้ครูส้มเห็นถึงความอ่อนโยนในตัวเด็ก จากเหตุการณ์นี้ นี่คือการสื่อสารกันทางความรู้สึกครั้งแรกของส้มกับนักเรียนคนนี้ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ครูส้มเข้าไปคุย และพูดจากับเธอด้วยความรักและพลังใจที่ครูส้มส่งให้กับเธอ ผ่านทางคำพูดและการสัมผัส และการแสดงออกของเธอที่เคยปฏิเสธความอ่อนแอด้วยการสร้างกำแพงปิดกั้นสังคม กลับกลายเป็นสายตาที่มองมาที่ครูส้มด้วยคำพูดที่ขอบคุณและคำถามที่เกิดขึ้นในใจของเด็กคนนี้ว่า ความรู้สึกที่ครูส้มมีต่อเขาในวันนี้ เรียกว่าอะไร

จากการจุดเริ่มต้นในวันนั้น ทำให้ครูส้มเริ่มไม่หยุดยั้งที่จะหาข้อมูลของเด็กคนนี้ ทั้งจากนักเรียนคนอื่น จากครูทุกท่าน จากพี่ชายของเธอ และส้มได้รู้จักเด็กคนนี้เพิ่มขึ้นในทุกๆวัน และบุคคลที่เป็นข้อมูลสำคัญ คือ ป้า ของเธอ ครูส้มได้มีโอกาสคุยกับป้าของเธอ และทำให้ครูส้มเห็นถึงการเดินทางของชีวิตเธอที่เต็มไปด้วยขวากหนามของความเจ็บปวดในทุกๆย่างก้าว ป้าของเธอให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่แม่เธอคลอดมา แม่ปฏิเสธที่จะรับเธอขณะที่เธอยังไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะเห็นหน้าแม่ และพ่อได้ไปมีครอบครัวใหม่ ไม่สามารถที่จะรับผิดชอบได้ และบางทีพ่อก็ตีเธอโดยไม่มีสาเหตุ เธอมีพี่น้อง 3 คน มีพี่ชายและน้องสาว โดยเธอเป็นลูกคนกลาง ป้าคือคนเดียวที่เลี้ยงดูเธอมาพร้อมกับพี่และน้องของเธอ ป้ามีอาชีพรับจ้างทั่วไป ต้องทำงานหนักเพื่อนำมาใช้จ่ายในครอบครัว และบางครั้งเธอเองก็ต้องไปช่วยรับจ้างพับกล่องกระดาษขายช่วยป้าของเธอ และที่เป็นสิ่งที่สำคัญของการพูดคุยกันในวันนั้น คือ ป้า ของเธอบอกกับครูส้มว่า ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว ถ้าดื้อขนาดนี้ เรียนไม่จบ ก็ คงไม่มีเงินจะส่งเรียนต่อแล้ว ลำบากมากเหลือเกิน คุณครูช่วยดูแลด้วยนะ ป้าไม่ไหวแล้ว นั่นคือ สิ่งที่ทำให้ครูส้มเห็นเด็กหญิงคนนี้ในมิติที่ลึกซึ้ง มากกว่าคนรอบข้างที่คอยบอกว่า “ครูอย่าไปยุ่งกับมันเลย เสียเวลาเปล่าๆ มันคงดีไปกว่านี้ไม่ได้แล้วล่ะ”

ครูส้มเริ่มให้โอกาสกับเด็กหญิงคนนี้ โดยสิ่งแรกที่ส้มให้กับเธอ คือ โอกาสที่เธอจะได้รับความรักโดยไม่มีเงื่อนไข ครูส้มเริ่มด้วยการใช้คำพูดที่มีเหตุผลกับเธอ และสอนเธอด้วยการเปรียบเทียบและการวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น โดยชี้ให้เธอเห็นตามลำดับว่า ผลที่เกิดขึ้นนี้มาจากสาเหตุใด และชวนให้เธอคิดไปยังวิธีการป้องกันปัญหาโดยให้เธอไปลองปฏิบัติด้วยว่า วิธีการที่เธอคิดใช้ได้หรือไม่ กระบวนการเหล่านี้ ใช้ในการปรับทัศนคติของเธอได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่าการสอนแบบนี้สำหรับเด็กที่ไม่เคยมีใครสอนด้วยเหตุผล และไม่มีแม้แต่คนที่จะรับฟังเสียงจากเธอ และครูส้มพยายามฟังเธอในทุกๆวัน โดยเธอจะมีเรื่องมาเล่าในทุกๆวัน เช่นว่า เมื่อวานเธอไปมีเรื่องตบตีมา เพราะเธอไปช่วยเพื่อนที่ถูกรังแก แต่เธอกลับโดนทำโทษว่าไปตบเพื่อน ครูส้มพยายามชี้ให้เธอเห็นว่า ทุกๆผลที่เกิดขึ้นมีเหตุที่สัมพันธ์กัน และสิ่งหนึ่งที่เธอควบคุมได้ คือ ตัวเธอเอง ครูส้มบอกกับเด็กไปว่า “หนูสามารถจะเปลี่ยนความไม่เข้าใจที่คนอื่นไม่เข้าใจหนูได้ที่ตัวหนู” เด็กหญิงมองหน้าส้มสักพัก เธอยิ้ม แล้วบอกว่า เมื่อไหร่ล่ะคะที่จะมีใครฟังหนูบ้าง ครูส้มบอกกับเด็กไปว่า “ถ้าหนูเริ่มฟังคนอื่น นั่นแหละ คือวันที่คนอื่นก็จะฟังหนูเช่นกัน ก่อนที่หนูจะลงมือทำร้ายร่างกายใคร หนูลองฟังเหตุผลของคนอื่นดูสิ” จากคำตอบของครูส้มในวันนั้น ครูส้มเชื่อว่าเด็กรับรู้ได้ถึงสิ่งที่ครูส้มต้องการจะสื่อสารกับเธอ และครูส้มจะคุยกับเธอเป็นประจำกว่า 1 เทอม เธอมักจะมีเรื่องราวที่ไม่ค่อยจะมีใครฟัง มาเล่าให้ครูส้มฟังเสมอ และสิ่งที่ครูส้มเฝ้ามองเธอซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกๆวัน คือ แววตาของเธอ ที่เล่าเรื่อง เธอเริ่มมีแววตาของเด็กหญิงที่เปล่งประกายของความสุขที่ได้เล่าให้ครูส้มฟัง ซึ่งนี่เป็นด้านหนึ่งที่ทำให้ส้มมั่นใจว่า เธอยังสามารถที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปได้มากกว่านี้

ช่วงก่อนสอบปลายภาคส้มได้เลือกนักเรียนที่มีแนวโน้มว่าจะสอบไม่ผ่าน มาทำการเรียนเพิ่มเติมหลังเลิกเรียนทุกวัน หนึ่งในนั้นคือเด็กหญิงคนนี้ที่ต้องเข้ามาเรียนเพิ่ม เนื่องจากเธอยังน่าเป็นห่วงในเรื่องของการเรียน ในทุกๆวันที่ใช้ความพยายามฝึกเธอให้เข้ากับเพื่อนกลุ่มเล็กๆให้ได้ก่อน โดยเป็นกลุ่มที่เรียนด้วยกันตอนเย็น และให้ช่วยเหลือกันในการเรียน ผลจากการทำแบบนี้ พบว่า นอกจากเด็กจะได้ความรู้เพิ่มเติมแล้ว เด็กยังมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนๆ โดยครูส้มค่อยๆเพิ่มความมั่นใจของเธอที่เธอกำลังจะเลี่ยนแปลงตัวเองผ่านสังคมเล็กๆหลังเลิกเรียนนี้ การทำแบบนี้ถือว่าเป็นการสอนการปรับตัวให้เธอไปในตัวกับการเข้าสังคม หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่ห้องเรียนปกติกับเพื่อนๆ ทั้งห้อง ปรากฏว่าเธอตั้งใจเรียนมากกว่าเดิมและมีความสุขกับการเรียนมากขึ้นสิ่งที่พิเศษไปมากกว่านั้นคือ จากเด็กที่ก่อกวนในชั้นเรียน เปลี่ยนแปลงไปเป็นคนที่คอยบอกให้เพื่อนๆ ฟังครู และเธอเองก็ตั้งใจเรียนมากขึ้นกว่าเดิมมาก จะเห็นได้จากแต่ก่อนไม่เคยส่งงานท้ายชั่วโมงเธอกลับเป็นคนแรกๆที่อยากจะทำงาน มาส่งครูตอนท้ายชั่วโมง เมื่อเพื่อนบางคนที่ตามไม่ทันเธอยังมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปคือ คอยแนะนำและให้คำปรึกษาเพื่อนๆ นี่คือสิ่งหนึ่งที่เธอรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองเมื่อวันสอบปลายภาคเรียนที่1 มาถึงผลที่เกิดขึ้นคือ เธอสอบผ่านแม้ว่าคะแนนจะไม่ได้ดีมากนัก แต่อย่างน้อยการที่ได้ทำให้เธอได้ค้นพบว่า เธอมีศักยภาพมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองและคนรอบข้างเธอก็จะรู้สึกดีกับเธอด้วยนั่นคือจุดเริ่มต้นของความสุขของเด็กหญิงคนนี้

ในวันนั้นเองเด็กหญิงก็มีเรื่องราวมาเล่าให้ฟังอยู่เป็นประจำทุกวัน เราคุยกันปกติแต่เรื่องที่เธอเลือกมาเล่าในวันนี้เป็นคำถามที่ค้างคาใจเธอมาตลอดเวลา คำถามนั้น คือ “ทำไมหนูไม่มีแม่เหมือนคนอื่น” เธอเล่าเหตุการณ์และความรู้สึกลึกๆ ของเธอเท่าที่เด็กคนหนึ่งจะจำเหตุการณ์ได้ เมื่อเธอเล่าจบ เธอบอกครูส้มว่า หนูไม่มีใคร ไม่มีใครรักหนูเลย ทันใดนั้นส้มบอกกับเธอไปว่า “เธอยังมีครู ครูยังอยู่ตรงนี้เสมอ” เธอเข้ามากอดครูส้มและบอกว่า “วันนี้เป็นวันที่หนูดีใจที่สุดที่มีแม่” หลังจากวันนั้น ในทุกๆวันเธอจะมาทักทายก่อนขึ้นชั้นเรียน และตอนเย็นๆในทุกๆวันก็จะมาเล่าเรื่องต่างๆให้ฟัง พร้อมกับทำกิจกรรมนอกโรงเรียนบ้าง ไปส่งเธอที่บ้านบ้าง และเธอบอกกับครูส้มว่า “ขอบคุณแม่มากที่ทำให้ทุกๆวันของหนูมีความหมาย หนูรู้สึกว่าหนูมีตัวตน”


ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก

ตลอดช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา กับทุกก้าวย่างที่เธอเติบโต ในฐานะครูที่เฝ้ามอง เห็นถึงความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดกับเธอตั้งแต่แรก ครูส้มได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องช่วยให้เด็กคนนี้มีทัศนคติที่ดีต่อตนเองและต่อผู้อื่น รวมทั้งมีพฤติกรรมที่เหมาะสม และที่สำคัญยิ่ง คือ เรื่องของอารมณ์ การควบคุมตนเอง การยับยั้งชั่งใจ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงกับตัวเด็กหญิงคนนี้ ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า ความรักของครู ความรักที่ไม่มีข้อจำกัด และการสอนให้เธอเรียนรู้ตัวเอง และสังคมผ่านเหตุการณ์จริงในชีวิตที่เกิดขึ้น โดยเธอจะมีส่วนในการแสดงความเห็นและหาข้อสรุปร่วมกันว่าเหตุคืออะไร และผลคืออะไร ควรจะแก้ปัญหาอย่างไรที่เรียกว่าเหมาะสม จากนั้นเธอจะได้วิธีการในการปฏิบัติเมื่อเกิดสถานการณ์ต่างๆ แล้วสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้ คือ ได้รู้ว่า เธอสามารถที่จะกำหนดชะตาชีวิตของเธอได้เองจากตัวเธอ จากความคิด และการกระทำของเธอ เอง

กระบวนการเรียนรู้แบบนี้ คือการที่เด็กได้เรียนรู้ระดับความคิดของตนเอง โดยครูเป็นผู้เสริมสร้างความมั่นใจ กำลังใจและช่วยแนะนำ ทั้งนี้จะต้องมีความสม่ำเสมอของการดูแลเด็ก และสิ่งสำคัญอย่างมากที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น คือ ความรักและความไว้วางใจระหว่างครูและศิษย์ ซึ่งในทุกๆการพูดคุยกับเด็กจะต้องประเมิน 3 ด้าน คือ ความคิด พฤติกรรมและอารมณ์ ทั้งนี้ผู้ที่เป็นครูเองจะต้องรายงานย้อนกลับในส่วนที่จะเป็นการบ้าน แบบฝึกหัด ในครั้งต่อไปกับเด็กด้วย และจะต้องสังเกตพัฒนาการอย่างสม่ำเสมอ การสอนที่เริ่มจากทัศนคติจะมีผลที่ค่อนข้างถาวร เพราะทัศนคติเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของเด็กได้ รวมทั้งอารมณ์จะเป็นผลที่ตามมาด้วยเช่นกันจากมุมมองของเด็กต่อเหตุการณ์นั้นๆ (ส้มได้ใช้แนวทางในการปรับความคิดและพฤติกรรมของเด็กหญิงโดยอิงหลักการบำบัดบางส่วนตามแนวจิตวิทยา แบบ CBT : Cognitive Behavior Therapy)

ในวันนี้เองส้มได้มีโอกาสเห็นเด็กคนนี้ก้าวข้ามผ่านความโหดร้ายและประสบการณ์ที่เจ็บปวดในตัวเธอมาได้ ส้มได้มีโอกาสพาเด็กคนนี้ขึ้นพูดในเวทีสาธารณะที่ทำให้เธอได้แสดงและถ่ายทอดความเป็นตัวเธอ โดยภาพที่ปรากฏวันนั้นยิ่งตอกย้ำความเชื่อของส้มที่ว่า เด็กทุกคนสามารถพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ หากได้รับการยอมรับและสนับสนุน ให้โอกาสของผู้ใหญ่ในสังคม สิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กคนหนึ่งไปตลอดชีวิตเด็กหญิงคนนี้เปลี่ยนจากคนที่ไม่สนใจใคร ทำตามใจตนเองจากคนที่สร้างกำแพงที่สูงใหญ่ด้วยความก้าวร้าวภายนอกเพื่อปิดบังความอ่อนแอในจิตใจ กลายมาเป็นเด็กหญิงที่มีความเข้มแข็งทางจิตใจ และสามารถแก้ไขปัญหาและควบคุมอารมณ์ พฤติกรรมของเธอได้อย่างเหมาะสมขึ้นตามลำดับอย่างเห็นได้ชัด จากเด็กที่ขาดความอบอุ่นทางใจ ไร้ที่พึ่ง ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง กลายมาเป็นคนที่เห็นว่าเธอทำได้ด้วยตัวเธอเองและมีครูที่เธอเรียกว่า แม่ คอยอยู่ข้างๆเสมอ และเธอยังสามารถแบ่งปันความอบอุ่นที่ได้รับมาส่งต่อให้กับคนรอบข้างได้ นั่นคือนอกจากที่เห็นคุณค่าของตัวเองแล้วเธอยังเห็นคุณค่าของคนรอบข้างเช่นกัน ครูฝ่ายปกครองท่านเดิมกล่าวว่าเธอเริ่มมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น และพฤติกรรมการทำร้ายร่างกายเพื่อนเมื่อไม่พอใจนั้นไม่มีอีกเลย วันหนึ่งเธอบอกกับส้มว่า “แม่ วันนี้มีเพื่อนมาท้าตบหนู แต่หนูไม่ทำ หนูบอกเขาว่าเรามาคุยกันดีๆ ดีกว่า เราตบกันแบบนั้นมันไม่มีประโยชน์อะไร แล้วเพื่อนเขาก็งงๆ หนูนะแม่ “ จากคำบอกเล่าของเด็กหญิงที่เล่าให้คนที่เธอเรียกว่าแม่ ได้ฟัง ในวันนั้นสู่วันนี้ทำให้ส้มรู้สึกประทับใจในการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของเธอ ทั้งทางความคิด พฤติกรรมและอารมณ์ และเชื่อว่าวันนี้เด็กหญิงมีเกราะป้องกันทางจิตใจที่แข็งแกร่งมากพอ ที่จะทำให้เธอมีความสุขได้กับชีวิตของเธอ ในยุคของเด็กในศตวรรษที่ 21


สิ่งที่ครูได้เรียนรู้จากการสร้างการเรียนรู้

สำหรับครูส้ม คนธรรมดาคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสมาทำหน้าที่ในบทบาทของครู ตลอดช่วงเวลาที่ปฏิบัติงาน ทำให้ได้เรียนรู้หลายอย่าง ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ได้รับ คือ การได้เข้าใจความรู้สึกของผู้ให้อย่างไม่หวังสิ่งตอบแทน ให้โดยไม่รู้ว่าสิ้นสุดคือตรงไหน การมีความสุขใจจากการได้ให้ความรักและให้โอกาสกับเด็กๆ นั้นเป็นสิ่งที่ประมาณค่าไม่ได้อาชีพครูไม่ใช่อาชีพที่ลงทุนไปแล้วจะได้คืนทุนหรือได้กำไรมหาศาลกลับมาเป็นรูปเงินทอง แต่สูงสุดของความสุขของครูอย่างส้มคือ การได้เห็นเด็กคนหนึ่งเติบโตเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพ มีศักยภาพ ความเข้มแข็งทางกายและใจ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขในสังคม และมีความพร้อมที่จะก้าวต่อไปในแบบที่เขาอยากจะเป็น นั่นคือ สักวันหนึ่งเด็กๆเหล่านี้เขาจะสามารถกำหนดชีวิตในอนาคตของพวกเขาได้ โดยไม่มีข้อจำกัดต่างๆมาหยุดยั้งความฝันของเขา เพราะคุณลักษณะที่เขาได้ถูกปลูกฝังไว้นั่นเองจะทำให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเขาและให้คุณค่ากับคนอื่นๆได้และส้มเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กๆเหล่านี้ที่เคยได้รับโอกาสมานั้น เมื่อเติบโตขึ้นเขาจะให้โอกาสกับผู้อื่นอีกต่อไป และวันนั้นเองสังคมของเราจะเป็นสังคมคุณภาพเพราะเราต่างร่วมกันสร้างคนที่มีคุณภาพ