เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

เรื่องเล่าการสร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้กับเด็ก

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาเด็ก

เมื่อครูมารศรีพบว่า นักเรียนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่สนใจเรียน ทำตัวผิดระเบียบ จนกลายเป็นปัญหาของโรงเรียน จึงอยากแก้ปัญหาให้ตรงจุด เพราะถ้าปล่อยให้เขาออกไปนอกโรงเรียนก็กลายเป็นปัญหาของสังคมอีกเพราะแท้จริงแล้วมีปัจจัยทางสังคมผลักดันอยู่เบื้องหลังมากมาย รู้สึกเข้าใจและเกิดแรงบันดาลใจอยากทำอะไรสักอย่าง เพื่อช่วยเหลือลูกศิษย์ให้สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองไปสู่อนาคตที่ดีได้ ดังคำกล่าวของครูมารศรีว่า “สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ เราต้องรักเขา ให้โอกาสเขา และต้องยอมรับในอัตลักษณ์หรือตัวตนของเขา บางครั้งอาจจะไม่ถูกใจ เช่น การแต่งกาย แต่อย่างน้อยเขาไม่หนีเรา มีปัญหาอะไรก็เห็นเราเป็นที่พึ่ง” ที่สำคัญ ครูมารศรีมีความเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถปรับเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้นได้ มีศักยภาพในการพัฒนาตัวเองทุกคน อยู่ที่ว่าเราจะนำศักยภาพเหล่านั้นออกมาจากตัวเด็กอย่างไร

ปัญหาเด็กหนีเรียนขาดระเบียบวินัยทักษะการเรียนต่ำ ก้าวร้าว ทะเลาะวิวาท การคบเพศตรงข้าม ปัญหายาเสพติด การลักขโมยของเพื่อนบ้าน ครอบครัวยากจนด้อยโอกาส เป็นปัญหาพฤติกรรมของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่ส่งผลกระทบต่ออนาคตของพวกเขาอย่างมาก เป็นต้นเหตุของการเรียนไม่จบและปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย พฤติกรรมดังกล่าว นักเรียนกลุ่มนี้จึงไม่ได้รับการยอมรับจากครูและเพื่อนในโรงเรียน มักถูกมองว่าเป็นเด็กเกเร ไม่ตั้งใจเรียนขาดความรับผิดชอบ ไม่น่าคบหา เป็นพวก “แกะดำ” ที่ชอบสร้างความเดือดร้อนให้กับโรงเรียน แต่จากการออกเยี่ยมบ้านนักเรียนและได้พบเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เด็กบางคนอยู่ในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยมีความพร้อมทุกอย่าง แต่บางคนกลับอยู่ในสภาพที่ขัดสนอย่างมาก ครอบครัวมีปัญหา เด็กขาดความรักความอบอุ่น ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร ครูมารศรีจึงเข้าใจ และอยากช่วยเหลือลูกศิษย์ให้สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองไปสู่อนาคตที่ดี มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นกว่าเดิม ปัญหาการหนีเรียนลดลง เข้ากับผู้อื่นได้ ไม่เกเร มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กตัญญู มีความใฝ่เรียนรู้และใฝ่ดี ไม่ทำผิดกฎระเบียบของโรงเรียน เช่น การแต่งกาย ทรงผม กล้าพูด กล้าแสดงออกมากขึ้น เป็นต้น

กระบวนการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาเด็ก

ครูมารศรีได้นำทุนครูสอนดีจาก สสค.มาดำเนินงานโครงการ “ห้องเรียนนอกเวลา พัฒนาทักษะชีวิต” ซึ่งมุ่งพัฒนานักเรียนระดับชั้น ม. 2-3 จำนวน 50-70 คน ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงด้านต่างๆ และเป็นกลุ่มที่ด้อยโอกาสจากเหตุปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ได้พัฒนาเป็นรูปแบบการสอนทักษะชีวิตที่เรียกว่า “SANOOK Model” ที่เชื่อว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้ต้องสอดคล้องเหมาะสมกับธรรมชาติสมวัยของผู้เรียน ขณะเดียวกันก็ต้องอยู่ในกรอบกติกาของสังคมและได้รับความร่วมมือจากครูทุกฝ่ายในโรงเรียนจึงจะประสบความสำเร็จ

SANOOK Modelมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่

S : Skill เป็นการฝึกทักษะ 3 ด้าน คือ ทักษะการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต เมื่อเกิดทักษะแล้วก็มอบหมายภาระงานให้รับผิดชอบ เพื่อนำทักษะความรู้ที่ได้มาลงมือปฏิบัติจริง

A : Atitude การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม คุณลักษณะที่พึงประสงค์ความมุ่งมั่นการประพฤติสิ่งดีงาม โดยสามารถสอดแทรกอยู่ในกิจกรรมต่างๆ ได้ตลอดเวลา

N : Network การสร้างเครือข่ายพัฒนาทักษะชีวิตนักเรียนโดยการมีส่วนร่วมของครู ผู้ปกครอง นักเรียนคนอื่นๆ ชุมชน องค์กรภายนอกโรงเรียนเพื่อช่วยกันส่งเสริม สนับสนุนให้เด็กเกิดการพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน

O : Organize การจัดระเบียบเพื่อสร้างกฎกติกาการอยู่ร่วมกันในสังคม เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง รู้จักควบคุมการแสดงออกอย่างเหมาะสมภายกฎกติกาของสังคมที่ตนเองเป็นสมาชิก

O : Observation การสังเกตและติดตามดูพัฒนาการด้านต่างๆเพื่อเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยง โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายครูในโรงเรียนและผู้ปกครองเป็นหลัก

K : Knowledge การให้ความรู้ผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ เน้นการส่งเสริม ให้เด็กรู้จักสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง

ครูมารศรีใช้เวลาช่วงหลังเลิกเรียนและวันหยุดปิดเทอมในการพาเด็กทำกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะช่วงเวลาดังกล่าวทำให้ครูสามารถติดตามผลงานของเด็กได้อย่างต่อเนื่อง เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมและสนับสนุนให้เขาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ได้แก่ การเข้าค่าย กิจกรรมจิตอาสา การฝึกอาชีพและทักษะต่างๆ ที่เด็กสนใจ เช่น การร้องเพลง การพูด การแสดง รวมถึงการสอนเสริมความรู้ในรายวิชาที่เป็นปัญหา โดยแต่ละกิจกรรมจะนำหลักการของ SANOOK Model มาสอดแทรกเป็นเนื้อเดียวกัน

กิจกรรมที่ทำ คือ กิจกรรมเข้าค่ายห้องเรียนนอกเวลาในช่วงปิดเทอม มีการมอบภาระงานให้เด็กทำกิจกรรมเพื่อสังคม ด้วยการจัดทำป้ายรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ เพื่อนำไปประกอบการจัดขบวนพาเหรดแสดงผลงานในการแข่งขันกรีฑาคณะของโรงเรียน ซึ่งเดิมกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นหน้าที่ของรุ่นพี่ ม.ปลาย แต่เมื่อเด็กได้รับความไว้วางใจจากครูให้มีส่วนร่วมในภารกิจสำคัญของโรงเรียนเช่นนี้ ทำให้พวกเขาเกิดความกระตือรือร้นและพยายามช่วยเหลือกันทำอย่างเต็มที่ แน่นอนว่ากว่าชิ้นงานจะสำเร็จออกมาได้ เด็กๆ ต้องรู้จักวางแผนใช้ความคิดสร้างสรรค์ และต้องรู้จักใช้ทักษะอีกหลายด้านในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เช่น ความรับผิดชอบ ความมีระเบียบวินัย ความกระตือรือร้น ความกล้าหาญ มีความคิดสร้างสรรค์ สุนทรียภาพทางอารมณ์ ความทุ่มเทเสียสละดังคำบอกเล่าของครูมารศรีที่ว่า “การทำพาเหรดต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ความทุ่มเทเสียสละในการเขียนป้ายผ้าที่ต้องใช้เวลาพอสมควร การได้มาทำงานร่วมกันไม่แบ่งว่าเป็นงานของเธองานของฉัน แต่ทำอย่างไรที่จะให้เสร็จทันเวลาที่ต้องไปเดินพาเหรดเขาได้เอาความรู้ด้านศิลปะมาใช้ ได้ฝึกแก้ปัญหาว่าถ้าลงสีไปแล้วเป็นแบบนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร ได้ใช้ความรู้ที่มีอยู่มาทำงานร่วมกัน”

กิจกรรมที่จัดขึ้นไม่ใช่กิจกรรมที่คิดค้นขึ้นมาใหม่โรงเรียนจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครคิดจะมอบหมายให้เด็กกลุ่มนี้ทำตัวเด็กเองก็ไม่คิดว่าจะได้รับ “โอกาส” นี้ เมื่อครู “ให้โอกาส” พวกเขาได้แสดงศักยภาพออกมาอย่างดี สามารถแปรเปลี่ยนพลังชีวิตของวัยรุ่นไปในทางที่สร้างสรรค์ได้ ซึ่งปกติโรงเรียนขนาดใหญ่ระดับจังหวัดจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเด็กกลุ่มนี้พวกเขามักถูกลืมและถูกตีตราว่าเป็นตัวปัญหา ทำให้หลายคนต้องเลิกเรียนกลางคันแต่กิจกรรมของโครงการนี้สามารถแก้ปัญหาความไม่พร้อมให้กับเด็ก ช่วยเสริมทักษะชีวิต ไม่ให้เกิดความท้อถอย มีกำลังใจเรียนต่อจนสำเร็จการศึกษาซึ่งเป้าหมายของครูที่ให้โอกาสนักเรียนกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงรับผิดชอบกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ นั้น เพราะอยากให้เขาได้ซึบซับ เรียนรู้การรณรงค์ รู้จักผิดชอบชั่วดี ของสิ่งต่างๆ รอบตัว เข้าใจและรู้เท่าทันปัญหาต่างๆ และมีภูมิคุ้มกันมากขึ้นจากการทำกิจกรรมรณรงค์

กิจกรรมที่เด็กนักเรียนกลุ่ม “ห้องเรียนนอกเวลา” ได้รับมอบหมายจากครูนั้น ถือว่าเป็นการให้โอกาสจากคณะครู เพื่อนๆ ในโรงเรียน ที่เดิมนั้นไว้ใจ มอบหมายให้เด็กกลุ่มเรียนดี ประพฤติดีรับผิดชอบจัดกิจกรรมเหล่านี้ เปลี่ยนไปมอบหมายให้เด็กกลุ่ม “ห้องเรียนนอกเวลา” รับผิดชอบกิจกรรมเหล่านี้แทน รวมถึงผู้ปกครองที่คอยสนับสนุนกิจกรรมของเด็ก (N:Network) ฝึกฝนให้เด็กตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง รู้จักควบคุมการแสดงออกอย่างเหมาะสม ภายใต้กฎกติกาของสังคมที่ตนเองเป็นสมาชิก (O:Organize) อีกทั้งยังสร้างทักษะการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต(S:Skill)ไปกับการลงมือทำในกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้รู้จักตนเองว่าถนัดหรือไม่ถนัดอะไร แล้วใช้ความถนัดนั้นกับงานที่ได้รับมอบหมาย และสามารถนำไปใช้เป็นวิชาชีพในอนาคตต่อไป ยกตัวอย่างเช่น อ้อย(นามสมมติ) บอกว่าชอบงานประดิษฐ์ งานฝีมือ วางแผนจะถักเชือกเป็นที่ใส่ขวดน้ำขายเพื่อหารายได้ช่วยครอบครัว หรือ ฟาง(นามสมมติ)ที่ชอบทำงานประดิษฐ์เหมือนกันเพราะทำให้ตัวเองนิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อสมาธิในการเรียน และมีความใฝ่ฝันมานานแล้วว่าอยากเป็นเชฟทำอาหาร และแนน(นามสมมติ) อยากเป็นตำรวจ เพราะได้ทำกิจกรรมค่ายอาสา เพราะรู้สึกว่าชอบช่วยเหลือคนอื่น (K:Knowledge) เป็นต้น การทำกิจกรรมทุกอย่างนั้นอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วครูอยากให้เขาได้ซึบซับ ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม รู้จักผิดชอบชั่วดี ของสิ่งต่างๆ รอบตัว มุ่งมั่นประพฤติสิ่งที่ดีงาม เข้าใจและรู้เท่าทันปัญหาต่างๆ และมีภูมิคุ้มกันมากขึ้นซึ่งสอดแทรกในกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ (A:Attitude)

คติประจำใจที่ครูมารศรีใช้เป็นหลักในการทำงานกับเด็กกลุ่มเป้าหมายด้วยความใจเย็น ใจดี มีกติกา กล่าวคือ ค่อยๆ พัฒนา ไม่ด่วนสรุป ยอมรับในตัวตนของเด็ก บางอย่างมองข้ามได้ก็ควรมองข้าม สร้างศรัทธาให้เด็กไว้ใจ ไม่หนีครู มีการติดตามเอาใจใส่ หากิจกรรมที่น่าสนใจให้เด็กทำ เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้มีจุดอ่อน ตรงที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ต้องมีการตั้งกฎกติกาหรือข้อตกลงในการทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ใช่ว่าจะปล่อยให้ทำทุกอย่างได้ตามใจเพราะการนำเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมเหล่านี้มาทำกิจกรรมพร้อมกันเป็นจำนวนมากก็อาจมีปัญหาอุปสรรคตามมาได้ เช่น จัดการหรือควบคุมยากเนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ไม่มีความรับผิดชอบ ขาดวินัย ไม่ตรงเวลา ไม่ค่อยมีสมาธิในการเรียนรู้ ครูจึงต้องมีความอดทนสูงต้องให้โอกาสเด็กในการพัฒนาตัวเอง และรู้จักรอคอยการเปลี่ยนแปลง

หลักการอีกอย่างที่นำมาใช้กับเด็ก คือ ต้องพยายามหาสาเหตุและวิธีแก้ปัญหา เช่น กิจกรรมสอนทักษะการเรียนรู้ ช่วงแรกเด็กจะไม่ชอบ หนีเรียน เพราะรู้สึกเบื่อ ก็ต้องพยายามปรับกระบวนการเรียนรู้ให้มีความหลากหลายเพื่อดึงดูดความสนใจหรือถ้าเรียนไม่รู้เรื่องก็ต้องหาครูหรือรุ่นพี่ที่มีเทคนิคการสอนมาช่วย(N:Network) ตลอดจนการนำระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนมาใช้กำกับ (O:Observation)เช่น การให้เด็กนำบันทึกการเข้าเรียนทุกคาบให้ครูผู้สอนลงชื่อ พร้อมระบุเวลาเข้าเรียนและพฤติกรรม จากนั้นให้เด็กนำมาส่งที่ครูมารศรีหรือครูที่ปรึกษาท่านอื่นเพื่อเป็นข้อมูลในการติดตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เป็นต้น ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้ต้องอาศัยการสนับสนุนจากฝ่ายบริหารและเครือข่ายครูในโรงเรียน เหนือสิ่งอื่นใดครูต้องแสดงให้เห็นว่ามีความรัก ความจริงใจที่อยากจะช่วยเหลือเด็กอย่างแท้จริง จนพวกเขาเกิดความไว้วางใจกล้าเข้ามาปรึกษาหรือขอคำแนะนำ ไม่ใช่เอาแต่วิ่งหนีเพราะกลัวความผิด เพราะฉะนั้นทัศนคติของครูที่มีต่อเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก

หลังจากที่นักเรียนกลุ่มดังกล่าวได้ร่วมกิจกรรมและบูรณาการหลักการของ SANOOK Model เข้าไปด้วยนั้น ทำให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีผลการเรียนที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนบางคนจากเดิมมีเกรดเฉลี่ย 2.5 เพิ่มขึ้นเป็น 3.5 หรือการทำกิจกรรมในโรงเรียน กล่าวคือ เด็กทุกคนมาจากห้องที่ต่างกัน มีกลุ่มหรือรุ่นพี่รุ่นน้องที่ไม่ถูกชะตากัน ครูเกรงว่าจะเกิดการทะเลาะวิวาทหรือไม่ได้รับความร่วมมือกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น คือ เมื่อเด็กกลุ่มนี้มีโอกาสได้เป็นผู้รับผิดชอบทำป้ายรณรงค์การสูบบุหรี่ เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือกันให้งานสำเร็จ มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท และเสียสละในการเขียนป้ายผ้าที่ต้องใช้เวลาพอสมควรสามัคคีกัน ไม่แบ่งแยกว่าเป็นงานของเธองานของฉัน แต่ทำอย่างไรที่จะให้เสร็จทันเวลา นอกจากนี้เขายังได้เอาความรู้ด้านศิลปะมาใช้ ได้ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอาสาที่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากนักเรียนกลุ่มนี้ คือ ทางโรงเรียนได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมฟังดนตรีบรรเลงที่มีผู้พิการทางสายตาเข้าร่วมฟังด้วย ทางผู้จัดและครูจึงขอความร่วมมือจากนักเรียนกลุ่มนี้ให้ดูแลผู้พิการทางสายตาจนกว่าจะจบการแสดง ซึ่งนักเรียนทุกคนสามารถทำได้เป็นอย่างดี เช่น พาผู้พิการไปเข้าห้องน้ำ เดินไปยังที่นั่ง

การที่ครูเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนกลุ่มพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าวได้มารับผิดชอบทำกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ในโรงเรียน เด็กจะเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและรู้จักศักยภาพของตนเองว่าเก่งหรือถนัดอะไร เช่น บางคนทราบว่าตนเองชอบศิลปะ งานประดิษฐ์ งานฝีมือ มีความคิดสร้างสรรค์ และวางแผนว่าจะถักเชือกเป็นที่ใส่ขวดน้ำขายเพื่อหารายได้ช่วยครอบครัว บางคนรู้ว่าตัวเองโตมาอยากเป็นตำรวจ จากการทำกิจกรรมออกค่ายอาสา เพราะรู้สึกว่าชอบช่วยเหลือผู้อื่น

“ไม่น่าเชื่อว่าเด็กอย่างพวกหนู ไม่เข้าเรียนนิสัยไม่ดีจะทำได้...

แม่มารศรีฝึกให้มีนิสัยรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา รู้จักหน้าที่

เรามีหน้าที่ของเราก็ต้องทำให้ดีที่สุด”

“หนูว่าตัวเองเข้ากับสังคมรุ่นพี่ได้มากขึ้น หนูเคยมีเรื่องกับรุ่นพี่

ตอนนี้รู้จักแล้วว่าจะปรับตัวเข้ากับรุ่นพี่อย่างไร

เห็นพี่เป็นพี่ ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี้จะไม่ยอม ไม่ชอบ

ตอนนี้ไม่มีความรู้สึกแบบนั้นแล้ว”

“ชอบกิจกรรมออกค่ายค่ะ เพราะเราสามารถเอาความรู้ไปบอกน้องได้

ให้รู้ในสิ่งที่ดี ไม่ดี ว่าเป็นอย่างไร...

ภาคภูมิใจมากค่ะ เพราะทำให้ตัวหนูเปลี่ยนไปเยอะ

เช่น จากไม่ชอบเข้าเรียนก็มาเข้าเรียนมากขึ้น มีความรับผิดชอบ

และกล้าแสดงออกมากขึ้นค่ะ”

“เมื่อก่อนหนูไม่ค่อยอยากพูดกับใคร เวลาคุยกับเด็กที่เล็กกว่าเขาจะชอบกวน

หนูก็จะด่าเขา แต่เดี๋ยวนี้หนูอยากเล่นกับเขาด้วย”

เหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนที่มาจากใจของนักเรียน แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังเข้าร่วมโครงการ “ห้องเรียนนอกเวลา พัฒนาทักษะชีวิต”

กรณี “น้องฟร้อง” ปัจจุบันกำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตอนที่เข้าร่วมกิจกรรมนั้นกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.2 เล่าให้ฟังว่า เกิดความเปลี่ยนแปลงกับตัวเองมาก เพราะแต่ก่อนเป็นเด็กเกเร ไม่สนใจการเรียน โดดเรียนไปนั่งเล่นโทรศัพท์กับกลุ่มเพื่อนบ่อย ไม่เคยคิดว่าอยากเรียนต่ออะไร เกรดเฉลี่ยประมาณ 2.5แต่พอเข้าร่วมโครงการห้องเรียนนอกเวลาฯ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ สอนทักษะชีวิต ทักษะทางอาชีพ ได้รู้จักตนเองมากขึ้น มีครูและรุ่นพี่มาสอนพิเศษในวิชาที่เราอยากเรียนเสริม มีตัวอย่างเรื่องเล่าความผิดพลาดจากรุ่นพี่สมัยที่เรียนชั้น ม.3 เพราะความไม่ตั้งใจเรียนในตอนนั้น จึงทำให้เขาไม่สามารถเรียนต่อตามสายวิชาที่ต้องการได้ น้องฟร้องฉุกคิดได้และไม่อยากเป็นแบบนั้น จึงมีความตั้งใจเรียนและร่วมกิจกรรมจนค้นพบตัวเองเจอว่าชอบเรียนภาษาอังกฤษมาก และตั้งใจสอบเข้าเรียนคณะมนุษย์ศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ที่ ม.เกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น หรือ ม.เชียงใหม่

จากการสังเกตพฤติกรรมเด็ก พบว่า ร้อยละ 80 ของเด็กกลุ่มเป้าหมายมีพัฒนาการดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียน เด็กตั้งใจเรียนมากขึ้น มีงานส่งครู ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นกว่าเดิม และปัญหาการหนีเรียนลดน้อยลงมากมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่สอดคล้องกับคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของโรงเรียน การทำผิดกฎระเบียบโรงเรียนน้อยลง เช่น ทรงผม การแต่งกาย ฯลฯ ทำให้ไม่ต้องวิ่งหนีครูฝ่ายปกครองเหมือนแต่ก่อน มีความตรงต่อเวลา กิริยามารยาทเรียบร้อยขึ้น กล้าพูดกล้าแสดงออก เด็กบางรายฉายแววความเป็นผู้นำออกมาจนครูและเพื่อนๆ ยอมรับ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหัวหน้าห้อง

สิ่งที่ครูได้เรียนรู้จากการสร้างการเรียนรู้

สิ่งที่ครูได้เรียนรู้ พบว่าเด็กทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ ถ้าได้รับโอกาสที่ดีหรือมีผู้แนะนำ ชักจูงที่เหมาะสม เด็กที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เกเร เมื่อได้รับโอกาสหรือมีพื้นที่แสดงศักยภาพที่ดีออกมา เด็กเหล่านั้นก็จะทราบว่าตนเองมีคุณค่าและภาคภูมิใจในตนเองแน่นอน การที่พลังชีวิตของพวกเขาตื่นตัวขึ้นมาได้เช่นนี้ คงไม่ใช่แค่การเรียนรู้อย่างสนุกสนานหรือท้าทายความสามารถเท่านั้น หากแต่ต้องอาศัยความเข้าใจด้วยการมองเด็กให้ทะลุถึงแก่นแท้ของปัญหา พร้อมกับการเปิด “พิ้นที่และโอกาส” รวมถึงการจัดกระบวนการพัฒนาที่มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กได้เผยศักยภาพแท้จริงออกมา อันจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากภายในได้