เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

เรื่องเล่าของครูผู้สร้างคุณลักษณะที่ดีสำหรับเด็ก

­

ความมุ่งมั่นตั้งใจหรือสถานการณ์ของจุดเริ่มต้น

ครูปนัดดา ปัญฏีกา หรือ “ครูแจง” มีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นครูตั้งแต่เด็ก เพราะได้แรงบันดาลใจจากครูที่เป็น Idol มาก ทำให้รู้สึกว่าอาชีพครูมีความสุข ครูแจงชอบที่จะถ่ายทอด ชอบที่จะสอนคนให้เป็นคนดีให้ได้ เมื่อเรียนจบครูแจงจึงสมัครเป็นครูที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย โรงเรียนที่ครูแจงเคยเรียนตั้งแต่ชั้นประถม

ครูแจงจะบอกกับนักเรียนเสมอว่า “ทุกวันนี้ครูไม่ได้สอนแค่ในหนังสือนะ ครูกำลังสอนวิชาชีวิตไปด้วย วิชาชีวิตต้องคู่กับวิชาการ”

ครูแจงเห็นว่าสถานการณ์ทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง และระบบทุนนิยมที่ถาโถมเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรที่จะเตรียมนักเรียนให้เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่สามารถพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่นับวันจะสลับซับซ้อนขึ้น ครูแจงเชื่อว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือ คำตอบ เพราะหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือแนวทางในการชี้นำชีวิต การจะอยู่บนพื้นฐานของสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เราจะต้องมีหลักคิดที่ดีในการใช้ชีวิต และด้วยความคิดว่าการฝึกให้เด็กคิดได้ คิดเป็น การเรียนรู้ที่เด็กจะ “เข้าถึง” ได้มากคือ กิจกรรมที่เด็กต้องลงมือทำ (Active Learning)

กระบวนการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาเด็ก

ครูแจงเล่าว่าโดยบุคลิกจะไม่ใช่คนดุ แต่จะเป็นคนที่แชร์ความรู้สึกกับนักเรียนเสมอ นั่นหมายความว่านอกจากที่เราจะเป็นครูแล้วจะต้องเป็นทั้งแม่ ทั้งเพื่อน ทั้งพี่ ทุกอย่างได้ในเวลาเดียวกัน ดังนั้น เด็กบางคนเวลาที่มีปัญหาก็จะคุยกับครูแจงได้ทุกเรื่อง หลักการสอนที่สำคัญของครูแจงคือ วิธีการสอนแบบกัลยาณมิตร เด็กจะเรียนรู้ได้ดีถ้าเกิดเขามีความสุขที่จะเรียน สิ่งที่ครูคาดหวังคือผลผลิตของครูต้องเจริญเติบโต การสอนก็เหมือนการปลูกต้นไม้ ต้องรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยนอกจากการสอนต้องให้ความรักเข้าไปด้วย

บางวันเจอปัญหาเด็กทะเลาะกับที่บ้านมา ถึงโรงเรียนร้องไห้ฟูมฟายไม่เอาอะไรแล้ว ตอนสอนครูก็สอนเต็มที่ก่อน แต่เมื่อสอนเสร็จก็ต้องเรียกเด็กมาคุยว่า “ที่หนูไม่เรียนนี้หนูมีปัญหาอะไร บอกครูได้ไหม แชร์กับครูหน่อยสิ” เด็กก็จะเล่าให้ฟัง ครูก็จะรู้ถึงปัญหา และชวนพูดคุยและใช้การตั้งคำถามเพื่อให้เด็กคิดและหาทางแก้ปัญหาต่อไป

ข้อดีของโรงเรียนอย่างหนึ่งก็คือว่าโรงเรียนมีระบบการเยี่ยมบ้าน ซึ่งครูประจำชั้นทุกคนต้องไป อย่างครูแจงก็จะไปทุกบ้าน นั่นทำให้เรารู้ว่าเด็กแต่ละคนมีพฤติกรรมแบบนี้เพราะอะไร ก็จะแก้ไขได้ตรงจุด และหากครูสังเกตให้ดี ครูก็จะรู้ว่าเด็กแต่ละคนมีศักยภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งครูสามารถดึงออกมา สนับสนุนให้เด็กได้มีโอกาสแสดงความสามารถนั้นออกมา และพัฒนาศักยภาพนั้นไปในแนวทางที่เหมาะสมได้

ปลูกฝังปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในกิจกรรมการเรียนรู้

ครูแจงเล่าว่าโรงเรียนดาราวิทยาลัยซึ่งเป็นบริบทของชุมชนเมือง เราตีความหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ที่การพัฒนาทักษะการคิด คือจะทำอย่างไรให้นักเรียนคิดได้ คือต้องคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ คิดอย่างมีเหตุผล คิดรอบคอบ มีวิจารณญาณ คิดสร้างสรรค์โดยรวมแล้วก็คือทักษะการคิดขั้นสูง (Higher Order Thinking Skills: HOTS) ซึ่งทักษะการคิดเหล่านี้จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิตของนักเรียนให้อยู่ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง การพัฒนาทักษะการคิดของนักเรียนนั้น นอกจากการตั้งคำถามของครูแล้ว การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนได้เผชิญสถานการณ์ เช่น การใช้บทบาทสมมติ สถานการณ์จำลอง การอภิปรายกลุ่ม รวมถึงการสร้างสรรค์ชิ้นงานต่างๆ จะช่วยให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะการคิดโดยอัตโนมัติ

การฝึกทักษะการคิดไม่ได้ฝึกกันได้โดยง่ายภายในช่วงระยะเวลาหนึ่งแต่เป็นการบ่มเพาะอย่างต่อเนื่อง ครูแจงจึงได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นฐานในการพัฒนากระบวนการคิดให้มีคุณภาพขึ้น เช่น การฝึกคิดตัดสินใจบนฐานความรู้ การคิดตัดสินใจบนพื้นฐานของคุณธรรม การคิดเชิงอนาคตที่เน้นการพัฒนาและป้องกันมากกว่าการแก้ไข การคิดอย่างรอบคอบมีเหตุผล

ครูแจงย้ำว่าการสอนเรื่องความพอเพียงเราไม่สามารถสอนแบบโดดๆ เน้นสาระความรู้ เช่น ความพอเพียงหมายถึงอะไร ความพอเพียงคือ ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข แต่การจัดการเรียนการสอนเรื่องความพอเพียงต้องบูรณาการไปเนื้อหาสาระอื่นๆ ผสมกลมกลืนไปกับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน วิถีชีวิตในโรงเรียน การพัฒนาทักษะการคิดจึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญเพราะเป็นทักษะแกนในการยึดเกาะค่านิยมสู่การสร้างอุปนิสัยพอเพียง และทักษะการคิดที่ผสมผสานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเตรียมนักเรียนสู่การเป็นพลโลกในอนาคต เพราะแนวโน้มสังคมโลกที่กำลังประสบปัญหาทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนทรัพยากร ทำให้สังคมโลกต้องการก้าวสู่การเป็นสังคมที่ยั่งยืน (Sustainability)

กระบวนการสอนเพื่อให้เด็กเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครูแจงให้เด็กเรียนรู้จากกระบวนการทำโครงงาน โดยให้โจทย์ยากๆ ซึ่งครูจะให้นักเรียนวางเป้าหมายหรือกำหนดวัตถุประสงค์ในการทำโครงงานเอง ครูแจงจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และพานักเรียนเรียนรู้และกระตุ้นให้นักเรียนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการทำงานด้วยการ “ตั้งคำถาม” เช่น ทำไมอยากเรียนรู้เรื่องนี้ นักเรียนมีความรู้เพียงพอที่จะทำแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่พอจะหาความรู้เพิ่มเติมได้จากที่ไหน นักเรียนแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างไร เป็นต้น รวมทั้งฝึกให้นักเรียนตั้งคำถามหรือประเด็นที่สนใจ แล้วช่วยกันหาคำตอบ ด้วยกระบวนการโครงงานหรือการสืบค้นหาความรู้ด้วยตนเอง

หลังจากทำโครงงานเสร็จหรือกิจกรรมการเรียนรู้ทุกครั้ง ครูจะให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน และสรุปความรู้ด้วยการ “ถอดบทเรียน” ว่านักเรียนได้เรียนรู้อะไรจากการทำโครงงาน และกระบวนการทำงานนั้นสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ อย่างไร ซึ่งคำถามถอดบทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนได้ย้อนทบทวนและสะท้อนการเรียนรู้ของตัวเอง เช่น นักเรียนทำกิจกรรมอะไร ทำไมจึงทำกิจกรรมนี้ ก่อนทำมีความรู้เพียงพอหรือไม่และมีวิธีหาความรู้เพิ่มเติมอย่างไร นักเรียนมีการวางแผนการทำกิจกรรมนี้ให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร ต้องใช้คุณธรรมอะไรบ้าง มีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร และนักเรียนจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร เป็นต้น จากคำตอบของนักเรียน ครูจะสามารถประเมินได้ว่านักเรียนได้เรียนรู้และใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการคิดและทำงานหรือไม่ อย่างไร และครูจะได้ให้ผลสะท้อนกลับกับนักเรียนอันจะนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนต่อไป

นอกจากการสอนในสาระวิชา ครูแจงใช้ชั่วโมงกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนสร้างนักเรียนแกนนำซึ่งมีหน้าที่สื่อสารถ่ายทอดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นนามธรรมให้ผู้อื่นเข้าใจ และนำไปปรับใช้กับชีวิต ผ่านกิจกรรมที่ต้องลงมือปฏิบัติ โดยเฉพาะกิจกรรมเรียนปนเล่น (Play & Learn) และใช้การถอดบทเรียนหลังทำกิจกรรม เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นการใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการลงมือทำ ทั้งนี้ นักเรียนแกนนำจะเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมต่างๆ โดยมีครูเป็นที่ปรึกษา เมื่อนักเรียนไปจัดกิจกรรมขยายผล ครูจะใช้การจัดการความรู้ ทั้ง BAR (Before Action Review) และ AAR (After Action Review) ให้นักเรียนได้เรียนรู้การทำงานของตนเอง

เพราะเชื่อว่า “การเรียนรู้ระหว่างการเดินทางของกระบวนการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ” ทำให้ครูแจงใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ เพราะครูจะเห็นการสะท้อนคิดของเด็กในทุกขั้นตอนของการทำงาน ทำให้การทำงานมีทิศทาง ทุกคนเห็นเป้าหมายการทำงานร่วมกัน รู้หน้าที่ของตนเอง เด็กสามารถสอบทานการทำงาน รู้ปัญหาและอุปสรรคการทำงาน และครูสามารถประเมินผลการเรียนรู้ของเด็กได้ว่าได้ผลหรือไม่ เพื่อนำมาพัฒนาการสอนในครั้งต่อๆ ไป

­

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก

เด็กจะซึมซับตัวอย่างจากครูโดยที่เด็กไม่รู้ตัว ทั้งบุคลิกภาพและวิธีการสอน การเปลี่ยนแปลงของเด็กจะเป็นลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป สามารถพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ

ผลสำเร็จที่ครูแจงประทับใจ คือ เด็กสามารถรู้จักตนเองและวางแผนการเรียนได้มากขึ้น เช่น การเลือกคณะที่เด็กเขาจะเรียนต่อในมหาวิทยาลัย เขาจะคิดก่อนว่าเขาถนัดด้านไหน แล้วเขาจะวางแผนต่ออย่างไร ระดับผลการเรียนเขาอ่อนแค่ไหน เขาต้องไป Make Up จากตรงไหนเพิ่ม เป็นการวางแผนการเรียนและการสอบต่อไป

จากการติดตามนักเรียน ครูแจงพบว่า การจัดการเรียนรู้นี้สามารถปลูกฝังนิสัยความใฝ่รู้ของเด็ก ทำให้เด็กเกิดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้มากขึ้น เกิดความรอบคอบในการทำงาน เด็กสามารถสื่อสารได้ พูดจากสิ่งที่เขาคิดและทำเอง และเด็กๆ สามารถนำไปปฏิบัติได้เอง เช่น ออกแบบกระบวนการสอนน้องในค่ายนักเรียนแกนนำพอเพียงของมูลนิธิยุวสถิรคุณ และได้นำกระบวนการ BAR และ AAR ไปใช้ในการทำกิจกรรม กับทั้งรุ่นน้องและครู ซึ่งได้รับคำชมเชยจากทีมงานว่าเด็กสามารถออกแบบกระบวนการทำงานได้เหมือนครู และเด็กหลายคนนำไปใช้ในการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย

นางสาวศุภรัสมิ์กระพันพงศ์สกุล (น้องจูน) อดีตนักเรียนโรงเรียนดาราวิทยาลัย

“หนูได้เรียนกับครูแจงครั้งแรกเมื่อตอนอยู่ชั้น ป.๕ ครูแจงเป็นครูสอนวิชาสังคมศึกษาที่ทำให้นักเรียนไม่ง่วง เพราะครูสอนสนุก ไม่น่าเบื่อ ครูแจงชอบเล่าเรื่องต่างๆ และแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ ให้ลูกศิษย์เสมอ ครูแจงเป็นคนน่ารัก อัธยาศัยดี เอฮา จึงทำให้ครูแจงเป็นที่รักของลูกศิษย์มากมาย หลายปีผ่านไป ตอนหนูอยู่ชั้น ม.๔ ครูแจงก็ได้ย้ายมาสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายพอดี ทำให้เราได้ใกล้กันอีกครั้ง ประกอบกับช่วงตอนหนูอยู่ ม.๔ เป็นช่วงที่ครูแจงชวนมาทำกิจกรรมขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงทำให้เราสนิทกันมากขึ้น

ตลอดระยะเวลาทำกิจกรรมขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น หลายครั้งที่เรารู้สึกเหนื่อยและท้อ ครูแจงก็จะคอยให้กำลังใจอยู่เสมอ โดยเฉพาะช่วงที่เราอยู่ชั้น ม.๖ เป็นช่วงที่เรียนหนัก และต้องอ่านหนังสือหนักเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย และขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่เราต้องจัดกิจกรรมการขับเคลื่อนหลายที่เช่นกัน แต่ก็มีครูแจงที่คอยให้กำลังใจทุกๆคน มีประโยคหนึ่งที่ครูแจงมักจะพูดและทำให้ทุกคนมีกำลังใจในการทำงานอีกครั้ง คือ “คนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน เราทำงานเพื่อพ่อหลวง ชีวิตดีทุกคนนะลูก สู้ๆ” และสิ่งที่เราได้เรียนรู้คือการรู้จักแบ่งเวลา ถ้าเราจัดสรรเวลาให้ดี การเรียนก็ไม่เสีย เราก็มีเวลาในการอ่านหนังสือ แถมยังมีเวลาทำกิจกรรมอีกด้วย กระบวนการคิดต่างๆเหล่านี้ก็อยู่บนพื้นฐานของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งสิ้น

ครูแจงเป็นคนที่ทุ่มเทให้กับงานที่ทำ และครูแจงก็สอนให้เรามีความรับผิดชอบและทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เต็มความสามารถ หลักการทำงานของครูแจงคือเน้นคน ครูแจงให้ใจคนร่วมงาน ครูแจงสอนหนูเสมอว่า “ถ้าคนมีใจในการทำงาน งานก็จะออกมาดี อย่างนักเรียนแกนนำในแต่ละรุ่น ครูไม่ได้มองหาคนที่เก่งเพื่อที่จะมาเป็นนักเรียนแกนนำ แต่ครูอยากได้คนที่มีใจให้กับงานที่ทำ สามารถเสียสละและเต็มที่กับงาน เพราะความสามารถด้านอื่นๆ เราฝึกกันได้” ตลอดการทำงานครูแจงจะคอยให้กำลังใจเด็กๆ เสมอ เราจะคุยปัญหากันตลอด ระหว่างการทำกิจกรรมการขับเคลื่อนฯ เราจะมีกระบวนการที่เรียกว่า BAR (Before Action Reflection) เพื่อประชุมวางแผนการทำงานก่อนเริ่มงาน และหลังการทำกิจกกรมต่างๆ เราก็ต้องมีการ AAR (After Action Reflection) เมื่อเสร็จกิจกรรมแล้ว เพื่อคุยกันถึงผลตอบรับ หรือปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน เพื่อที่จะปรับปรุงแก้ไข ในกิจกรรมต่อๆไป ในช่วงแรกๆ ครูแจงก็เป็นคนนำในการทำกระบวนการต่างๆเหล่านี้ แต่พอหลังจากที่นักเรียนแกนนำมีประสบการณ์มากขึ้น ครูแจงก็จะให้ดำเนินกระบวนการต่างๆกันเอง เพราะครูแจงอยากฝึกให้เราทำงานเป็น ฝึกภาวะผู้นำ ฝึกให้รู้จักแก้ไขสถานการณ์ต่างๆอย่างสมเหตุสมผล โดยครูจะคอยชี้แนะและดูแลอยู่ห่างๆ

สำหรับหนู ครูแจงเป็นมากกว่าครูที่ให้ความรู้แค่ในตำราเรียน ครูแจงเป็นครูที่ให้ทั้งโอกาส ให้ความรู้และประสบการณ์ดีๆที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน ครูแจงมักพูดเสมอว่า “ความเป็นครูไม่ได้เริ่มตอนแปดโมงเช้า” ทุกครั้งที่ทำงานกับครูแจง จะสัมผัสได้ถึงความรัก ความหวังดีและความห่วงใยที่ครูมีให้เสมอมา หนูขอขอบคุณครูแจงที่ทำให้หนูมีวันนี้ ที่ทำให้หนูได้รับโอกาสและประสบการณ์ที่มีค่ามากมาย

นางสาวฟ้าใสจินต๊ะรัตน์ (ฟ้าใส) อดีตนักเรียนโรงเรียนดาราวิทยาลัย

รูปแบบการสอนในสังคมไทยนั้นจะเน้นการปลูกฝังผ่านหนังสือ แบบฝึกหัด และการสอบ ซึ่งรูปแบบการสอนนั้น ทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ห่างไกล แต่เมื่อได้มีโอกาสทำกิจกรรมของแกนนำที่เน้นการปฏิบัติได้ลองนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการทำงานจึงทำให้รู้ว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เพียงอยู่ในเศษกระดาษ แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตได้

กิจกรรมที่รู้สึกประทับมากที่สุด คือ โครงการ “VRWO” (วี-อาร์-พอ) เป็นโครงการที่นักเรียนแกนนำร่วมกันคิดขึ้นเพื่อถ่ายทอดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับนักเรียนในโรงเรียนผ่านสื่อโทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อที่ทำให้เข้าถึงนักเรียนในสังคมเมืองได้มากกว่า น่าสนใจและดึงดูดกว่า โดยลักษณะของกิจกรรมจะตั้งหัวข้อเพื่อสัมภาษณ์ความคิดเห็นจากบุคลากรที่มีชื่อเสียงในโรงเรียนจำนวน ๑๐๐ คน อาทิหัวข้อในปีนี้ คือ “จะเลือกอะไรระหว่าง โทรศัพท์แพง 3G แรง แต่ไม่มีเงินเติมกับโทรศัพท์โลโซมีเงินเติมไม่จำกัด” จากนั้นบุคคลผู้ให้สัมภาษณ์นั้นจะต้องแสดงความคิดเห็นพร้อมอธิบายเหตุผลแต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ไม่ว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกอะไร เพราะเหตุใด ไม่มีผิดหรือถูก เพียงให้รู้ว่าความพอดีของตนเองคืออะไร แล้วสามารถตัดสินใจทำอะไรในความพอดีอย่างมีความสุข ก็เพียงพอ เนื่องจากคำว่า “พอเพียง” ไม่ใช่หมายถึง “ความประหยัด” แต่หมายถึง “ความพอดีในระดับที่เรามีความสุข”

“คำว่า ‘พอ’ ตีความได้หลายแบบ เพียงแต่ใส่คำว่า ‘เพียง’ เข้ามาทำให้จำกัดวงแคบของคำว่า “พอเพียง” คือ ความพอเพียงที่อยู่บนพื้นฐานของความสุขทำอย่างไรสิ่งที่เราต้องการจะทำอยู่บนพื้นฐานของความพอดี ”