เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น/เรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาเด็ก

การไปเยี่ยมบ้านนักเรียน คือ หนึ่งในวิธีการที่ช่วยให้คุณครูมีโอกาสได้รู้จักตัวนักเรียน ครอบครัว และบริบทของชีวิตที่นักเรียนอาศัยอยู่และเติบโตมากขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันทั้งคุณครู นักเรียน และผู้ปกครอง โดยส่วนใหญ่แล้วเราอาจคิดว่าการไปเยี่ยมบ้านนักเรียน คือการเลือกเยี่ยมนักเรียนที่มีปัญหา อาจจะเป็นปัญหาทางพฤติกรรมในชั้นเรียน ปัญหาการทะเลาะวิวาท หรือแม้กระทั่งปัญหาทางเศรษฐกิจของครอบครัว ในครั้งนี้ผมตัดสินใจต่างจากนั้น ผมตัดสินใจไปเยี่ยมนักเรียนคนหนึ่งที่ผมเป็น(ผู้ช่วย)ครูประจำชั้น เป็นเด็กผู้ชายมีความตั้งใจเรียนผลการเรียนกลางๆค่อนไปทางอ่อน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราตัดสินใจไปเยี่ยมบ้านเด็กคนนี้เพราะความมีน้ำใจของเค้า

เด็กชายคนนี้ชื่อเล่นว่า “แสน” แม้เพื่อนๆของเขาจะเรียกว่า “แสง” เพราะเข้าใจชื่อของเขาผิด เขาก็ไม่เคยแก้ต่างหรือแก้ตัวอะไรบางทีชื่ออาจไม่ได้มีความสำคัญกับเขาขนาดนั้น สำหรับเพื่อนๆเค้าคงดูเป็นคนเงียบๆ สุภาพเรียบร้อย พูดไม่เก่ง ในตอนเช้าของทุกๆวันเขามาจะมาโรงเรียนกับน้องชายที่ชื่อ “เงิน” หลังจากส่งน้องชายเข้าโรงเรียนเสร็จ (อยู่โรงเรียนข้างๆกัน) เขาถึงจะเข้าโรงเรียน และในทุกๆเย็นหลังเลิกเรียนเค้าก็จะไปรับน้องชายของเขา หลังจบคาบเรียน เขามักจะเป็นคนที่เดินไปปิดสวิตซ์พัดลมและไฟในห้องเสมอๆ บางทีก็ยังมาถามคุณครูว่าให้ช่วยยกของไหม ภาพดังกล่าวเป็นภาพที่เห็นได้จนชินตาของคุณครูหลายๆท่าน

กระบวนการในการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาเด็ก

ผมตัดสินใจไปเยี่ยมบ้านของเขาในวันอังคารหนึ่งของเดือนมกรา บ้านของเขาอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนนัก สามารถนั่งรถสองแถวประจำทางเพื่อไปกลับบ้านทุกวันได้ “บ้าน” ของครอบครัวแสน อาจมีหน้าตาไม่เหมือนบ้านที่เราพบเห็นคุ้นชินทั่วไป แต่หมายถึงห้องเช่าเล็กๆซอมซ่อห้องหนึ่งในซอยใจกลางชุมชนอ่อนนุช เรายืนรออยู่หน้าบ้านไม่นาน คุณแม่ของแสนก็มาถึง หลังจากคุณแม่ได้ทักทายต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือนกันพอหอมปากหอมคอ บทสนทนาของเราก็เริ่มต้นขึ้น คุณแม่ของแสนเล่าว่าตนทำงานอยู่ในโรงงานผักปลอดสารใกล้ๆบ้าน เงินเดือนเทียบเท่าเงินเดือนขึ้นต่ำที่รัฐบาลกำหนดไว้ ไม่มากไม่น้อยไปกว่านั้น เงินเดือนเท่านี้คงพอเลี้ยงครอบครัวให้พออยู่พอกินได้ หากช่วยกันกับพ่อบ้าน เพียงแต่ตอนนี้ แม่เลี้ยงลูกอยู่เพียงคนเดียว

ครอบครัวแสนมีสมาชิก 3 คน คือ แสน น้องชาย(เงิน) และคุณแม่ พ่อของแสนเสียแล้ว ส่วนเงินเป็นน้องต่างพ่อ ซึ่งปัจจุบันพ่อของเงินก็ไม่ได้อยู่ด้วยกันกับคุณแม่แล้ว

แม่ของแสนเล่าให้ฟังในทุกๆวันแม่ต้องทำงานแต่เช้าจนถึงเย็น หกวันต่อสัปดาห์ จึงไม่สามารถไปส่งน้องเงินไปโรงเรียนได้ แสนจึงต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการไปรับส่งน้องชายทุกวัน ทั้งยังช่วยเหลืองานบ้านหลายอย่าง ซักผ้า รีดผ้า ล้างจาน เลี้ยงน้อง สอนหนังสือน้อง หรือหากมีเวลามากพอในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ แสนก็จะไปเก็บขยะในละแวกบ้านขายเพื่อแบ่งเบาภาระแม่เป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อของอุปโภคบริโภคต่างๆที่ต้องใช้ประจำวัน แม่ของแสนไม่ได้สอนให้ดูถูกการเก็บขยะขาย แต่ยังบอกกับลูกว่ามันคืออาชีพสุจริต ทุกปีช่วงปิดเทอมฤดูร้อน แสนจะบวชเพื่อศึกษาและครองตนในธรรมที่วัดแถวบ้าน ซึ่งเจ้าตัวก็ดูเหมือนจะมีความสุขและพอใจเสียด้วยที่ได้บวชให้แม่ในทุกๆปี ไม่ได้อิดออดหรือเห็นเป็นเรื่องทุกข์ที่ต้องผละจากความสุขทางโลกแต่อย่างใด ความเป็นลูกที่ดีของแสนไม่เพียงแค่ปรากฏกับแม่เขาเท่านั้น แต่ความจริงนี้ยังปรากฏแก่สายตาของคุณครูและคนรอบข้างด้วย

แม่แสนเล่าว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ลำบากมาก เพราะเลี้ยงดูลูกทั้งสองเพียงคนเดียว แม่ของแสนอาจไม่ได้มีการศึกษาที่สูง ไม่รู้หนังสือมากนัก ทำให้ไม่สามารถเลือกทำงานเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ให้กับลูกๆของเธอทั้งสองคนได้ เธอก็หวังว่าจะส่งลูกให้เรียนหนังสือให้ดีที่สุด เพื่อมีอนาคตที่ไปได้ไกลกว่าเธอ แม้ความเป็นจริงอาจจะไม่ง่ายนัก แต่คุณแม่ก็ยังต้องสู้เพื่อลูก เพราะทุกครั้งที่ทำงานเหนื่อยๆกลับบ้านมาก็จะพบหน้าลูกที่เป็นความภูมิใจทั้งสอง เป็นแรงผลักดันให้สู้ต่อไปได้

การคุยสนทนากันกว่าหนึ่งชั่วโมงทำให้เราเข้าใจเหตุผลที่แสนมีความแตกต่างจากคนอื่น(ในแง่ดี) นั่นคือการเลี้ยงดูของคุณแม่ แม่ของแสนเป็นคนมองโลกดีมาก เป็นทัศนคติสำคัญที่กล่อมเกลาให้แสนเติบโตมาในทางที่ดีได้ในขณะเดียวกับที่เพื่อนๆหลายคนในสภาพแวดล้อมเดียวกับเขาออกนอกลู่นอกทางของชีวิต

พื้นฐานครอบครัวคือสิ่งสำคัญสำหรับเด็กทุกคน สำคัญมากกว่าโรงเรียนด้วยซ้ำ

ก่อนลากลับ รอยยิ้มแห่งความปิติถูกแต้มบนริมฝีปากของคุณแม่ แววตาที่เปี่ยมด้วยความหวังประหนึ่งจะฝากฝังลูกของเธอบนหนทางของการศึกษาเพื่ออนาคตที่ดีกว่า แววตาเธอบอกความในใจ ไม่ใช่ด้วยคำพูด หากแต่รู้สึก

สิ่งที่ครูได้เรียนรู้

หลายๆครั้งที่ผู้เลือกการเดินแห่งความเป็นคุรุ ต้องฝ่าฟันอุปสรรคท่ามกลางภาระงานที่เข้าถาโถมไม่ว่างเว้นในทุกวัน ปัญหาการสอนที่เกิดขึ้นในห้องเรียน พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนของนักเรียน การต่อสู้กับระบบ ฯลฯ จนจิตวิญญาณและความตั้งใจของเราอาจถูกบั่นทอนลดหย่อนไปทีละเล็กทีละน้อย จนเราอาจหลงลืมอะไรบางอย่าง ลืมแรกรู้สึกที่ผลักดันให้เราเดินทางมาในงานสายนี้ การมาเยี่ยมบ้านนักเรียนครั้งนี้ ทำให้เราหวนคืนเพื่อตระหนักยินว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นสำคัญเพียงใด ความหวังของพ่อแม่ที่ฝากไว้กับการศึกษาเพื่อนำทาง“อนาคตตัวน้อยๆ” ของพวกเขาให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

เหล่านี้คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจ ให้ศรัทธาของเราไม่สูญสิ้น

บางทีการไปเยี่ยมบ้านนักเรียนอาจจะไม่ได้เป็นการช่วยนักเรียน...

แต่เป็นการกล่อมเกลาจิตใจของเราเองก็ได้

เช้าวันต่อมา.. เราไปโรงเรียนด้วยความหวังอีกครั้ง