เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้เด็ก

การเรียนรู้ทำความเข้าใจอะไรซักอย่าง ทุกอย่างนั้นขึ้นอยู่กับทัศนคติ เช่นว่าเราชอบอะไร เราก็อยากจะเรียนรู้ทำความเข้าใจกับสิ่งนั้น เหมือนกับการที่นักเรียนบางคนชอบนักร้องเกาหลีมากเสียจนบางทีแทบจะไม่ต้องบีบบังคับหรือมีอะไรเข้ามาช่วย นักเรียนก็สามารถทำความรู้จักนักร้องกลุ่มนั้นได้ บางคนก็ถึงขั้นว่าฝึกฝนเรียนภาษาเกาหลีด้วยตนเอง เพื่อที่จะเข้าใจ รู้จัก หรือเข้าถึงนักร้องกลุ่มนั้นได้มากขึ้นอีกด้วย

ในทางกลับกันหากเราเริ่มที่จะไม่ชอบอะไร “อคติ” ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เข้ามาบดบังทุกอย่าง ปิดหู ปิดตา ปิดใจเรา ทำให้เราไม่อยากรับรู้ถึงสิ่งใดๆนั้นเลย ทั้งๆที่สิ่งๆนั้นบางทีอาจจะเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นสิ่งที่ง่ายต่อการเข้าใจ แม้กระทั่งว่าสิ่งนั้นอาจมีประโยชน์ต่อเราเองก็ตาม เช่น การเรียนภาษาอังกฤษ เมื่อไหร่ก็ตามที่คำว่าไม่ชอบเริ่มที่จะปรากฏขึ้นมาเมื่อใด “อคติ” ก็ดูเหมือนจะค่อยๆโผล่ออกมาจากมุมมืดในใจ ค่อยๆคืบคลานมาบดบัง ความตั้งใจที่จะเรียนรู้ทำความเข้าใจภาอังกฤษ โดยที่เด็กๆไม่มีทางรู้ตัว

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น/เรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาเด็ก

ความเชื่อของผู้เขียนทีว่าทัศนคติมีผลต่อการเรียนรู้ มีจุดเริ่มต้นขึ้นง่ายๆ จากนักเรียนชายคนหนึ่งในห้อง ที่แรกเริ่มเดิมทีนักเรียนคนนี้ไม่ชอบเรียนวิชาภาษาอังกฤษเอาเสียเลย สังเกตได้จากการที่เขาไม่ค่อยฟัง ไม่ค่อยจด ไม่ค่อยทำงาน ไม่ค่อยร่วมกิจกรรมในห้อง นับได้ว่านักเรียนคนนี้เป็นนักเรียนที่โดดเด่นในสายตาของผู้เขียนมากว่า เขาต้องไม่ชอบวิชาภาษาอังกฤษของผู้เขียนแน่ๆ จึงตัดสินใจหาโอกาสคุยกับเด็กลองดูกันซักตั้ง เพื่อที่จะเข้าใจว่าทำไมเด็กคนนี้ถึงไม่ค่อยตั้งใจเรียนวิชาเราเลย ในขณะที่เพื่อนๆในห้องแบบฝึกหัดตามที่ได้รับมอบหมาย ผู้เขียนจึงสบโอกาสเข้าไปคุยว่าทำไมนักเรียนถึงไม่ค่อยตั้งใจพยายามเรียนภาษาอังกฤษไปกับครู ถามว่า ไม่ชอบครูหรือ? ก็เปล่า ง่วงนอนหรือ? ก็เปล่า งั้นก็ไม่ชอบวิชานี้หรือ? ใช่! (แสดงว่าครูแกะรอยมาถูกทางแล้ว) ส่วนสาเหตุง่ายๆ ที่เด็กบอก ก็คือ เพราะมันไม่เข้าใจ ภาษาอะไรก็ไม่รู้ ครูพูดไปก็ฟังไม่รู้เรื่อง แต่พอครั้นเหลือบไปเห็นใบงานบนโต๊ะเด็ก ก็เห็นว่าเด็กเองก็มีทักษะการเขียนภาษาอังกฤษที่อ่อนมากเช่นกัน เลยสรุปได้เลยว่า ภาษาอังกฤษ คงเป็นได้แค่ภาษาต่างดาวสำหรับเขาจริงๆ

กระบวนการในการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาเด็ก

ณ คาบหนึ่งที่เริ่มเรียนเรื่อง พื้นฐานง่ายๆอย่าง สรรพนาม คาบนั้นนับเป็นคาบที่ผู้เขียนเห็นความเชื่อมโยงระหว่าง ความเข้าใจ ทัศนคติและแรงจูงใจในการเรียน ก็คือตอนที่ผู้เขียนอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างคำสรรพนามแต่ละประเภท ผู้เขียนอธิบายก็แล้ว ยกตัวอย่างก็แล้ว อธิบายแล้วอธิบายอีก เปลี่ยนวิธีอธิบายไปเรื่อยๆ ยกตัวอย่างแล้วยกตัวอย่างอีก เปลี่ยนตัวอย่างไปเรื่อยๆ เรียนได้ว่า เหนื่อยกันทั้งผู้เรียนและผู้สอน แต่กลายเป็นว่าสุดท้ายในคาบนั้น นักเรียนทุกคนต่างสนใจ ต่างเอาใจช่วยครูกันว่า เมื่อไหร่ที่ครูจะสามารถอธิบายจนพวกเขาเข้าใจได้ รวมถึงนักเรียนที่แสนจะโดดเด่นคนนั้น ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าสุดท้าย กลายเป็นว่าเขาเป็นคนแรกๆที่มองเห็นความเชื่อมโยงของสรรพนามแต่ละประเภทได้ ทั้งยังสามารถอธิบายให้เพื่อนเข้าใจด้วยภาษาของนักเรียนด้วยกันเองได้อีกด้วย

ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก

เมื่อเห็นนักเรียนทำได้ นักเรียนอิน ติดลมกับการเรียน ครูก็เหลือแต่เพียงแค่คอยทำหน้าที่เป่าลม คอยเป็นลมส่งให้นักเรียนติดลมกันต่อไป ทำให้สุดท้ายในคาบนี้กลายเป็นคาบที่นักเรียนได้อธิบาย อภิปราย ถกเถียงกันอย่างสนุกสนาน ภายใต้การแอบแก้ไขจุดผิดพลาดเล็กๆน้อยๆโดยครูอยู่เรื่อยไป และยิ่งไปกว่านั้น นอกเหนือจากความเข้าใจและสนุกสนานไปกับเนื้อหาแล้วนั้น การได้แอบเห็นเด็กชายที่แสนจะโดดเด่นของผู้เขียน แอบเอาสมุดขึ้นมาจดบันทึกเนื้อหาเพิ่มเติมจากบนกระดานโดยที่ครูไม่ได้สั่ง ถือเป็นสิ่งยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลงที่น่ายินดี ทั้งยังแสดงถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นทั้งในเชิงทัศนคติและการปฏิบัติ ตั้งแต่เริ่มมีความเข้าใจ ภาคภูมิใจที่เข้าใจและสามารถอธิบายให้เพื่อนเข้าใจได้ ส่งผลต่อไปยังให้อยากที่จะเรียนรู้ต่อยอดความรู้ต่อเนื่องออกไปอีก

ด้วยตัวนักเรียนเอง นักเรียนเองคงไม่รู้ตัวว่าเมื่อพวกเขาเริ่มเข้าใจในเนื้อหา ความภาคภูมิใจเล็กๆเหล่านี้ได้กลายมาเป็นแรงผลักดัน จูงใจให้พวกเขาอยากเรียน ให้เรียนด้วยความท้าทายในสิ่งที่พวกเขาได้รู้และได้นำความรู้ที่พวกเขารู้มาปรับใช้ นั่นเป็นเพราะทุกคนล้วนมีแรงกระตุ้นในตนเอง ดังจากการที่ผู้เขียนสังเกตได้จากนักเรียนว่า เมื่อใดก็ตามที่นักเรียนเข้าใจ นักเรียนมักมีการตอบย้อนกลับมาที่ครูเสมอๆว่า “แค่นี้เองอ่ะนะครู?” หรือ “ยากกว่านี้มีอีกมั้ยครู?” นั่นได้แสดงว่านักเรียนรู้สึกสนุกไปกับการเรียนและสนุกที่จะได้ท้าทาย แต่นักเรียนเองก็คงไม่รู้หรอก ว่า นักเรียนเองก็เป็นแรงบันดาลใจที่ดี ที่คอยกระตุ้นสร้างความท้าทายใหม่ให้กับครูเช่นกัน ที่จะออกแบบการเรียนรู้ แบบฝึกหัด หรือการวัดผลที่ท้าทายให้ได้ดีมากยิ่งขึ้น นับได้ว่าเป็นความท้าทายที่ต่างข้องเกี่ยวกับทุกคนไปเสียสิ้น

พูดได้ว่าต่างคน ก็มองจากต่างมุม ซึ่งจากมุมมองของผู้เขียนที่เขียนถึงเรื่องในตอนนี้ว่า หากมีคนถามขึ้นว่า ครูเปรียบเสมือนอะไร ผู้เขียนก็คงตอบโดยสรุปจากความรู้สึกได้ว่า ครู เปรียบเสมือน กระเพาะอาหาร ที่มีหน้าที่ย่อย ย่อยมวลความรู้ในระดับที่เหมาะสมที่ผู้เรียนจะสามารถซึมซับได้ เพราะถ้าไม่ย่อย หรือให้มากไป ใหญ่ไป ผู้เรียนก็ไม่สามารถซึมซับได้ เรียนไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ อาจทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อย ร่างกายต่อต้านขึ้นมาเสียก็ได้ แต่ถ้าย่อยไม่ดี ย่อยมากเกินไป หรือย่อยเล็กไปนั้น ผู้เรียนก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติม เป็นโรคขาดสารอาหารเข้าไปอีก ครูจึงเป็นกระเพาะอาหารที่สำคัญ ที่จะช่วยย่อยให้สารอาหารแก่ร่างกาย ให้ความรู้แก่นักเรียน เพื่อที่นักเรียนจะได้มีความรู้ความเข้าใจ ที่เหมาะระดับ สมกับวัย มีรากฐานทางการศึกษาที่ถูกต้องเหมาะสม รอที่จะต่อยอดการศึกษาในอนาคตต่อไป

สิ่งที่ครูได้เรียนรู้

ร้อยทั้งร้อยเชื่อได้เลยว่าครูอยากให้เด็กทุกคนเข้าใจ และก็อีกร้อยทั้งร้อยก็เชื่อได้เลยว่าครูไม่เคยเบื่อที่จะอธิบายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยวิธีการต่างๆนาๆจนกว่าเด็กๆจะเข้าใจ สิ่งเหล่านี้นั้นถือเป็นความท้าทายของทั้งเด็กและครู ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ที่พยายามจะเข้าใจและพยายามจะทำให้เข้าใจ

จะสอนยังไงให้เด็กเข้าใจ สิ่งแรกที่ครูทุกคนอาจจะต้องทำนั้นคือ การฆ่าหรือทำลาย “อคติ” ให้ตายหรือให้บาดเจ็บให้ได้มากที่สุดเสียก่อน เพื่อที่เด็กๆจะได้เปิดใจให้กับการเรียนรู้อีกครั้งหนึ่ง

โดยส่วนตัว ผู้เขียนมักรู้สึกท้าทายอยู่เสมอๆที่จะได้ฆ่า “อคติ” แห่งความไม่เข้าใจ เพราะผู้เขียนเชื่อว่า ความไม่เข้าใจเป็นต้นตอบ่อกำเนิดของอคติ ความไม่ชอบใจ ในหลายๆอย่าง ทั้งต่อวิชา ต่อเนื้อหา หรือแม้แต่กระทั่งต่อตัวผู้สอนเอง เพราะนักเรียนหลายๆคนเมื่อถูกถามถึงวิชาที่ไม่ชอบว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมถึงไม่ชอบ นักเรียนมักจะตอบว่า ก็เพราะมันทำไม่ได้ มันไม่เข้าใจ มันไม่รู้เรื่อง เรียนไปก็งง ทำงานก็ไม่เป็น พอทำไม่ได้ก็ไม่มีงานส่ง พอไม่ส่งก็ถูกครูว่า แล้วพอครูว่าเข้าก็เลยยิ่งพาลไปไม่ชอบวิชานี้เข้าไปอีก พอไม่ชอบหนักเข้า หนักเข้า ก็กลายเป็นเกลียด เกลียดแบบที่หาสาเหตุไม่ได้กันไปเลยก็มี เกลียดกันมากเสียจนลืมเลือนกันไปว่าสาเหตุที่แท้จริง ก็เพราะแค่มัน“ไม่เข้าใจ” แต่นี่ก็เลยกลายเป็นว่า แค่ความไม่เข้าใจตัวเดียวก็ทำให้เด็กๆสามารถพาลเกลียดทุกอย่างไปเสียหมด

การทำลายอคติ และสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่นับเป็นเรื่องที่มีความท้าทายต่อครูผู้สอนเสียมากกว่า แต่เชื่อได้เลยเถอะว่า มันคุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้มเลยจริงๆ แม้เราอาจจะทำได้บ้างเพียงน้อยนิด แต่มันก็คุ้มค่ามากมายที่จะได้เห็นสีหน้าแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เด็กเริ่มเข้าใจและเริ่มเปิดใจต่อการเรียนรู้นั้น แม้จะแค่ครู่เดียว หรือมีบ้างเพียงน้อยนิด มันก็ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ดังวลีสุภาษิตคมๆที่ว่า เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง และขอแค่เพียงอย่าท้อ เพราะดังคำกล่าวในกาลต่อมาที่ว่า น้ำเซาะหินทุกวัน หินมันยังกร่อน ครูเองก็คงอาจต้องหมั่นเซาะเจ้าอคติตัวนี้ จนกว่ามันจะหายไปไกลลับตา หรือหายไปตลอดกาล

ความเข้าใจสร้างขึ้นง่ายๆด้วยความเพียร ของทั้งครูผู้สอนที่เพียรพยายามที่จะอธิบาย และทั้งผู้เรียนที่เพียรพยายามที่จะทำความเข้าใจอย่างไม่ย่อท้อ แต่หากว่าสิ่งนั้นๆที่พยายามจะอธิบายหรือทำความเข้าใจ มันช่างใหญ่และยากเกินที่จะอธิบายหรือทำความเข้าใจได้ มันก็ไม่ผิดเช่นกันที่เราจะแตกย่อยสิ่งๆนั้น เป็นการช่วยย่อยเนื้อหาให้กับผู้เรียนเสียก่อน เพื่อที่ผู้เรียนจะได้เข้าใจและมีฐานที่แน่นก่อนจะค่อยๆสร้างต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ ให้ได้เป็นมวลความรู้ตามที่ครูตั้งไว้