เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1:ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีสำหรับเด็ก

“กลุ่ม “เด็กเสี่ยง” ของนักเรียนระดับมัธยมปลาย ทั้งเด็กหนีเรียน ติดเกม ยาเสพติด เป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่ออนาคตของเด็ก ซึ่งครูต้องให้ความสนใจช่วยเหลือเป็นพิเศษ ครูอันเรจึงคิดใช้กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ตั้งชุมนุม “คนเอาถ่าน” ใช้กิจกรรมค่ายเป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างครูและเด็ก และครูใช้กระบวนการคิดแบบไตร่ตรอง ตั้งคำถามเพื่อให้เด็กได้คิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ได้เรียนรู้บทเรียนจากรุ่นพี่ที่มาเล่าประสบการณ์การปรับเปลี่ยนตนเอง และตั้งปณิธาน “ลด ละ เลิก” อบายมุข กิจกรรมที่ตอกย้ำซ้ำทวนบ่อยๆ ทำให้เด็กได้คิด และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เห็นคุณค่าของตนเอง หันมาสนใจเรียน และพัฒนาคุณลักษณะเชิงบวกมากขึ้น”


ความมุ่งมั่นตั้งใจหรือสถานการณ์ของจุดเริ่มต้น

            สถานศึกษาทุกแห่งย่อมมีปัญหา“เด็กเสี่ยง” ซึ่งต้องให้ความสนใจในการช่วยเหลือเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด หนีเรียน ติดเกม เป็นต้น แต่ละโรงเรียนจะมีกิจกรรม มีวิธีคิด วิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันตามบริบทของตนเองเพื่อช่วยพัฒนาศิษย์เหล่านั้นให้ดีขึ้น ภายในรั้วโรงเรียนของข้าพเจ้าก็มีนักเรียนกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกัน คือ ติดเกม หนีเรียน เที่ยวตอนกลางคืน เพราะปัญหาทางครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ ขาดคนให้กำลังใจและคำปรึกษา

            ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นครูผู้สอนคนหนึ่งที่เห็นปัญหาของเด็กในวันนี้จึงพยายามที่จะคิดหาวิธีการต่าง ๆเพื่อช่วยเด็กเหล่านี้ให้ห่างไกลจากปัญหาเหล่านี้ให้ได้ ทั้งการหากิจกรรมต่าง ๆ ให้เด็กได้ทำร่วมกัน การพบเด็กเป็นรายบุคคลการเล่นกีฬากับเด็ก ล้วนเป็นวิธีการที่ดีและสามารถช่วยเด็กได้ในระดับหนึ่ง

­

กระบวนการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาเด็ก

             วันหนึ่งข้าพเจ้าได้อ่านบทความพระธรรมเทศนาของพระพุทธิวงศมุนีเรื่องคนเอาถ่านความว่าคนเอาถ่าน ก็คือคนไม่เกียจคร้าน ไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง ว่าวันนี้เช้านัก สายนัก วันนี้เย็นนัก ร้อนนัก วันนี้ยังเหนื่อยอยู่ แล้วไม่ทำการงาน บุคคลนี้ปกติรู้สึกนึกคิด และประพฤติมีจริยวัตรของตนเป็นอย่างนี้ เป็นคนไม่เอาถ่าน

            คำว่าไม่เอาถ่าน หมายความถึงกิริยาของคน เปรียบเทียบกับไม้บางชนิด บางพันธุ์ที่ไม่มีแก่นไม่มีสาร เป็นไม้เนื้ออ่อน ยุ่ย เปือกหนา หักง่าย ไม่แข็งแรง ใช้ประโยชน์อะไรไม่ค่อยได้ แม้แต่เอาไปทำฟืน หรือเผาถ่านก็ไม่ติดไฟ ไม่เป็นถ่าน มีแต่ขี้เถ้า เรียกว่า ไม้ไม่เอาถ่าน

            ท่านก็เอามาเปรียบเทียบกับคนไม่เอาถ่าน คือ เป็นคนไม่ขยันหมั่นเพียร นั่นเอง คนไม่ขยันหมั่นเพียร เป็นคนดำรงชีวิตอยู่ด้วยความประมาท เป็นคนมีชีวิต ไม่มีแก่นสาร เป็นคนไม่ทำชีวิตของตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนและแก่ผู้อื่น หรือเป็นคนไม่เอาประโยชน์จากชีวิตของตน มาแบ่งปันคนอื่น เรียกว่า คนไม่เอาถ่าน

            ประกอบกับเหตุการณ์ที่ข้าพเจ้าพานักเรียนกลุ่มหนึ่งไปสัมผัสชีวิตชนบทที่ศูนย์สังคมพัฒนาจังหวัดสระแก้วและได้เรียนรู้การเผาถ่านจากภูมิปัญญาชาวบ้านเรื่องการเผาถ่านและการทำน้ำส้มควันไม้ความคิดหนึ่งก็แล่นขึ้นมาทันทีเด็กๆ ที่ไม่ค่อยสนใจเรียนเด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงจนบางครั้งเราเรียกว่า “เด็กไม่เอาถ่าน”

            ข้าพเจ้าจึงคิดว่าจะพัฒนาเด็กเหล่านั้น โดยใช้กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ด้วยกระบวนการเผาถ่านเข้ามาช่วยและตั้งชื่อกลุ่มเด็กเหล่านี้ว่า “ กลุ่มคนเอาถ่าน” มีนักเรียนชั้นมัธยมปลายที่สมัครใจเข้าร่วมประมาณ ๒๐ คน ชุมนุมนี้มีจุดประสงค์คือ เพื่อให้นักเรียนรู้จักการใช้ชีวิตร่วมกันรู้จักการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ไม่ไปมั่วสุมตามร้านเกมและสิ่งเสพติดเพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องของคุณธรรมให้กับนักเรียน การได้เรียนรู้ถึงกระบวนการการเผาถ่าน การเก็บน้ำส้มควันไม้และผลิตภัณฑ์จากผลไม้จากภูมิปัญญาของชาวบ้าน และที่สำคัญ ทำให้ข้าพเจ้ารู้จักเด็กมากขึ้น เกิดความสนิทสนม และช่วยให้คำแนะนำในการดำเนินชีวิตแก่เด็กกลุ่มเสี่ยงได้

            ในช่วงแรกๆ เรามีการรวมกลุ่มกันตอนพักเที่ยงบ้างตอนเย็นหลังเลิกเรียนบ้างมีการพูดคุยกันทั้งส่วนตัวและเป็นกลุ่มบางวันพวกเราก็เล่นกีฬาด้วยกัน ปลูกสมุนไพรร่วมกันและหากิจกรรมร่วมกัน เมื่อพวกเราเริ่มคุ้นเคยกันดีในกลุ่มจะทำอะไรก็สนุกไม่เหนื่อย ไม่น่าเบื่อข้าพเจ้าได้ชวนกลุ่มนี้เข้าร่วมค่ายสัมผัสชีวิตชนบท เรียนรู้เรื่องวิถีชีวิตของชาวนาและภูมิปัญญาไทย ทุกคนยินดีเข้าร่วม ทั้งครูและนักเรียนได้มีโอกาสใช้เวลาอยู่ร่วมกันหุงอาหารทำกับข้าวร่วมกันปลูกผักไถนาดำนาร่วมกันกลางคืนเราก็มีเวลาคุยกันต่างแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตร่วมกัน จากประสบการณ์ชีวิตในช่วงนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนมีมากขึ้น ช่องว่างระหว่างครูและนักเรียนมีน้อยลงทำให้นักเรียนที่มีปัญหาเหล่านี้กล้าที่จะคุยกล้าที่จะปรึกษาปัญหาส่วนตัวปัญหาครอบครัวของตนเองให้กับเราฟังและที่สำคัญ ข้าพเจ้าจะใช้กระบวนการคิดแบบไตร่ตรอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ข้าพเจ้าจะตั้งคำถามชวนพูดคุย เพื่อให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ วินิจฉัยอย่างลึกซึ้งขึ้น ทำความเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหา และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตนเองและผู้อื่น ทำให้เด็กเกิดแง่คิดในหลากหลายแง่มุมมากขึ้นและหาทางแก้ไขปัญหาของตนเอง

            หลังจากเข้าค่ายพวกเรามีการประเมินค่ายพร้อมกัน ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าต้องมีการต่อยอดสิ่งที่ได้รับมา เราจึงมีการประชุมร่วมกันและเริ่มวางแผนร่วมกันโดยจัดกิจกรรมเผาถ่านซึ่งจัดลักษณะคล้ายการจัดค่ายค้างโรงเรียน ๑ คืน และรับเฉพาะเฉพาะนักเรียนชายเท่านั้น

            ก่อนถึงวันจัดกิจกรรม เด็กๆ จะรู้สึกตื่นเต้น มีการรวมกันเพื่อเตรียมสถานที่เตรียมสิ่งของตอนเย็นหลังเลิกเรียนมีเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงก่อนกลับบ้าน มารวมตัวกันอย่างพร้อมเพรียง เริ่มมีการแบ่งหน้าที่ต่าง ๆ ทันทีตามที่มีการประชุมก่อนหน้านี้เด็กๆ มาช่วยกันแต่งกิ่งไม้ในสวนตัดกิ่งไม้ที่ไม่ต้องการออกเพื่อนำมาจัดใส่เตา

            ทุกคนเริ่มทำหน้าที่ของตนอย่างสนุกสนานแผนกตัดกิ่งไม้เข้าเตาเผาถ่านแผนกย่ำดิน ปิดหน้าเตา แผนกนี้ค่อนข้างตัวใหญ่มาก ๆแผนกทำอาหารก็จัดเตรียมอาหาร มีการแบ่งปันสิ่งของที่ครอบครัวตนเองมี เช่น บ้านใครขายอะไรก็ขอพ่อแม่ ตนเองมา ไม่ว่าจะเป็นไข่ เนื้อ ผัก เป็นต้น แผนกจุดไฟหน้าเตา เฝ้าเตา ต้องช่วยกันทั้งหมดเพราะกระบวนการเผาต้องใช้เวลาในการเผา อาจถึง ๑๘ชั่วโมง โดยเฉพาะตอนกลางคืน ซึ่งเริ่มจุดไฟหน้าเตาตอน ๒๑.๐๐ น. มีการแบ่งกลุ่มเพื่อช่วยกันดูไฟหน้าเตาไม่ให้ดับ แผนกเก็บน้ำส้มไม้ ทุกคนต้องเรียนรู้เพิ่มเติม ต้องสังเกตควันเป็นเมื่อควันเปลี่ยนสี ต้องเรียนรู้การใช้เทอร์โมมิเตอร์ เพื่อใช้วัดอุณหภูมิปากปล่องไฟ แผนกทำผลิตภัณฑ์ถ่านผลไม้แผนกนี้ต้องใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการทำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากถ่าน แผนกปิดเตา – เปิดเตา ต้องมีความรับผิดชอบพอสมควรต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ ต้องรู้เวลาต้องได้จังหวะในการที่จะปิดเตามิฉะนั้นสิ่งที่ทำมาจะได้ผลน้อยเช่นได้ถ่านน้อยมีเถ้ามากเป็นต้น ระยะเวลาการเผาถ่านครั้งละ ๑๘ ชั่วโมง เป็นการฝึกความอดทน ระเบียบวินัย ของเด็กเหล่านี้ และในช่วงเวลาดังกล่าว ข้าพเจ้าจะได้คลุกคลีกับเด็ก เกิดความสนิทสนม ความเป็นกันเอง พูดกันแบบเปิดใจ ทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กมากขึ้น

            และในคืนเผาถ่านครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าจะให้รุ่นพี่ที่เคยมีปัญหาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง จนทำให้ประสบความสำเร็จในการเรียนและในชีวิต ได้มาเล่าเรื่องราวของตนเองให้น้องๆ ฟัง เพื่อเป็นบทเรียนให้เด็กรุ่นน้องเหล่านี้ได้ข้อคิด และข้าพเจ้าจะพาเด็กไปที่เตาเผาถ่าน พูดถึงคุณลักษณะของไฟ กว่าจะได้ถ่านที่ดีๆ มา ต้องใช้เวลา ฟืนต้องยอมเผาไหม้ตนเอง และบอกกับเด็กว่า“ถ้าลูกยังคิดกลับใจอยากเป็นคนดีของสังคมในอนาคตอยากเป็นนักเรียนที่ดีของครูบาอาจารย์ อยากเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ก็ให้พยายามเลิกสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้และขอให้ลูกทุกคนตั้งใจอธิษฐานถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพนับถือและวอนขอนักบุญยอห์นบัปติสต์ เดอ ลาซาลองค์อุปถัมถ์ของโรงเรียนช่วยปกป้องคุ้มครองพวกเราให้พ้นจากความชั่วร้ายด้วย” เด็กๆ ก็จะตั้งใจสัญญาที่จะลดละ เลิก จากอบายมุขต่าง ๆ

            นอกจากกิจกรรมค่ายเตาเผาถ่าน ที่จะจัดปีละประมาณ ๔ ครั้งแล้ว ข้าพเจ้ายังใช้กิจกรรมค่ายต่างๆ เช่น ค่ายศูนย์ฝึกอาชีพ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะอาชีพ ได้แก่ การผลิตสบู่ถ่าน เป็นต้น ค่ายของนักเรียนภาคตะวันออกเพื่อให้เด็กเรียนรู้ทักษะชีวิตร่วมกับชาวบ้าน เป็นต้น

­

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก

            หลังจากกิจกรรมค่ายเผาถ่าน ข้าพเจ้ามีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ทุกครั้งที่มีการเผาถ่านเด็กๆ พยายามทำสิ่งที่ตั้งใจและก็เริ่มทำได้ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กกลุ่มนี้สิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าภูมิใจมากก็คือเด็กกลุ่มนี้ที่จบ ม.๖ ทุกคนสามารถเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ทุกคน การขอบคุณจากพ่อ แม่ทั้งการโทรศัพท์และเขียนจดหมายมาขอบคุณ

เด็กๆ รู้สึกภูมิใจที่ตนเองเริ่มมีคุณค่า จากเด็กที่ไม่เอาถ่านกลับมาเป็น “คนเอาถ่าน”เห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น ทั้งหมดมีความตั้งใจจริงที่จะทำตัวให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองโรงเรียนครอบครัวชุมชนและประเทศชาติ

นายสุทิน รัตนาธรรม (น้องหมู) อดีตนักเรียนชุมนุม “คนเอาถ่าน”

            “การเข้าร่วมกิจกรรมชมรมเตาเผาถ่าน ได้ประโยชน์หลายเรื่องเลยครับ เมื่อก่อนผมชอบหนีเรียน เรียนไม่ค่อยได้ งานแทบไม่ได้ส่งครูเลยครับ และมีปัญหากับครอบครัว ไม่เข้าใจพ่อแม่ พ่อแม่สอนอะไรไม่ฟัง เพราะคิดว่าพ่อแม่รักพี่น้อง รักหลานที่เป็นลูกของพี่ชายคนโตมากกว่า พอมาเข้าชมรม มาเซอร์ก็สอนให้เราคิดว่าทำไมพ่อแม่เขาสอนอย่างนี้ เพราะเขาต้องการให้เราได้ดี และพอเข้ามาก็ได้เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่กันไปด้วย มีการไตร่ตรองในตัวเองว่าอะไรเป็นอะไร ช่วงแรกๆ ผมก็ยังปรับตัวไม่ได้ พอถึง ม. ๖ ผมก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สิ่งที่ทำให้ตัวเองเปลี่ยนเลยคือเรื่องของคุณธรรม และการมีภูมิคุ้มกัน

            การเปลี่ยนแปลงของตัวเอง คือ เรื่องที่พ่อแม่ดุว่าหรืออะไร เราก็เข้าใจที่เขาสอน ทำไมเขาพูดแบบนี้ ทำไมผมขอซื้อมอเตอร์ไซด์เขาไม่ให้ แต่หลานอยู่แค่ ป. ๓ ทำไมถึงซื้อโทรศัพท์ให้ ทำไมผมขอซื้ออะไรจากเขา เขาไม่เคยให้เลย มาเซอร์จะสอนให้เราอยู่กับตัวเองและคิดเอง ก็ทำให้คิดกับตัวเองได้ว่าที่แม่ยอมซื้อของให้หลานเพราะหลานเอาแต่ใจ ต้องยอมซื้อให้เพื่อตัดปัญหา แต่ผมโตแล้วอยากได้อะไร ผมสามารถเก็บตังค์ซื้อเองได้ หลังๆ ผมจะไม่ขอตังค์พ่อแม่ เพราะรู้แล้วว่าทำไมเขาไม่ซื้ออะไรให้เพราะเขาอยากให้เราประหยัด รู้จักอดออม อยากได้อะไรให้เก็บตังค์ซื้อเอง วันข้างหน้าจะได้ไม่ลำบาก

            ตอนขอซื้อมอเตอร์ไซด์พ่อแม่บอกว่าให้เก็บตังค์และจะช่วยออกครึ่งนึง พอเราเก็บได้ครึ่งนึงเขาก็บอกว่าให้เก็บไปเรื่อยๆ อีกหน่อย จนสุดท้ายผมก็เก็บตังค์จนซื้อมอเตอร์ไซด์ได้ทั้งคัน พ่อแม่ก็ยอมให้ซื้อ ตอนหลังเขาถึงมาอธิบายว่าจริงๆ แล้วพ่อแม่เขามีตังค์แต่เขาอยากให้เราเก็บตังค์ เหมือนพี่สาวที่เขาดูแลตัวเองในเรื่องการเรียนปริญญาโท อยากไปเที่ยวที่ไหนก็ไป

            ช่วงแรกๆ ที่ยังไม่เข้าใจ ผมก็จะหงุดหงิดทุกครั้งที่โดนว่ามา ก็จะประชดบ้าง แต่ผมจะไม่ทำให้เห็น จะไปทำเองข้างหลัง พอเราเข้าใจและปรับเปลี่ยนตัวเอง ก็จะได้ยินพ่อแม่พูดถึงเราให้คนอื่นฟัง ชมเราบ้าง คนที่เขาคุยด้วยก็มาบอกผมว่า เก่งนะ ทำไมถึงทำได้ ไม่เหมือนลูกเขาเลย วันๆ ไม่เคยอยู่บ้าน ไม่เคยทำอะไรแบบนี้เลย หรือบางทีผมก็แอบได้ยินบ้างเวลาเขาคุยโทรศัพท์ และตอนนี้ผมจะเป็นคนเดียวในบ้านที่ไม่ตามใจหลาน คือจะค่อยๆ สอน แล้วก็จะคุยกับแม่ และคุยกับแม่ของหลานว่าถ้าตามใจหลานอย่างนี้จะทำให้เขาเสียนะ ก็สัมผัสได้ว่าดีขึ้น แม่ของหลานก็ฟังเรา ไม่ตามใจหลานไปทุกอย่างเหมือนแต่ก่อน

            อีกเรื่องที่เปลี่ยนชัดคือเรื่องการเรียน ม. ๔ ม.๕ เกรดแย่มากเลย บางเทอมเกรดไม่ถึง ๒ จริงๆ ม. ๔ – ๕ มาเซอร์ก็กระตุ้นมาตลอด แต่ผมไม่สนใจ พอจบ ม.๕ เกรดเฉลี่ยผมแย่มาก ก็เครียดมาก ไปคุยกับมาเซอร์ว่าทำอย่างไรดี แล้วผมก็กลับมาทบทวนทำไมเราถึงไม่ทำให้ดีตั้งแต่แรก ผมก็มาเริ่มใหม่ ม.๖ เกรดก็ดีขึ้น พอประคองตัวไปได้ ตอนจบเกรดขึ้นมาเป็น ๒.๗ พยายามดึง GPA ขึ้น

            สำหรับเรื่องอารมณ์ เมื่อก่อนเป็นคนอารมณ์ร้อน เวลาไปสอนน้องก็จะสอนด้วยอารมณ์ มาเซอร์ก็จะบอกว่า คนที่เป็นผู้นำต้องไม่ใช้อารมณ์ และฟังเหตุผลของทั้งสองฝ่ายว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมมันถึงเกิดจะได้แก้ไขให้ตรงจุด ไม่อย่างนั้นปัญหาเดิมก็จะเกิดขึ้นอีก ต้องควบคุมอารมณ์และต้องมีความอดทน ระยะหลังน้องๆ ในชมรม เขาก็ให้ความร่วมมือกับเรามากขึ้น จากเมื่อก่อนเวลาให้น้องช่วยงานน้องจะมาไม่ตรงเวลาบ้างอะไรบ้าง หลังๆ น้องมาก่อนนัดเลย ผมก็รู้สึกดีใจครับว่ามีคนฟังเราด้วย มั่นใจตัวเองมากขึ้นเวลาทำอะไรทุกอย่างเลยครับ

            มาเซอร์อันเร ท่านเป็นเหมือนกับเป็นพ่อคนที่สองของผมเลยครับ คือเวลาผมมีปัญหาทุกอย่าง ผมจะเข้าไปคุยกับเขา ไม่กล้าเข้าไปคุยกับพ่อแม่เพราะท่านก็เครียดกับงานมากแล้ว ไม่อยากไปกวนเขา เวลาผมมีปัญหาเรื่องเพื่อน เรื่องที่บ้าน เรื่องการเรียน ก็เข้าไปคุย เขาก็แนะนำทุกอย่าง อย่างเรื่องการเรียนผมชอบขาดเรียน ก็แนะนำให้ขาดเรียนน้อยลง ถ้าทำไม่ได้ก็ค่อยๆ ทำ อาทิตย์นึงเคยหยุดสามวัน ก็มาหยุดสองวัน มาหยุดวันหนึ่ง จนสามารถที่จะไม่หยุดเลย ถ้าผมไม่ได้อาจารย์อันเร ผมไม่จบ ม.๖ แน่นอน

             มาเซอร์อันเร สอนวิชาสุขศึกษา พลศึกษา และนอกหลักสูตรคือสอนให้นักเรียนมีหลักการคิด หลักการไตร่ตรองตนเอง ผมอยู่กับอาจารย์มานานก็จะเข้าใจ เพื่อนคนไหนไม่เข้าใจ ผมก็จะไปคุยไปอธิบาย เวลาสอนอาจารย์จะทำตัวให้เข้ากับเด็ก ไม่ทำให้เครียด มีมุขมาเล่นบ้าง และจะมีกิจกรรมฝึกการคิดมาให้ทำ

            สำหรับตัวเอง นิสัยของผมเปลี่ยนอยู่จากคนเอาแต่ใจ อยากได้อะไรต้องเอาให้ได้ พอมาทำตรงนี้ก็จะรู้จัก พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี มาเซอร์พาผมไปทำกิจกรรมหลายๆ ที่ เช่น ที่พัทยาคือศูนย์ธารน้ำใส ก็จะเป็นเด็กเตาเผาถ่านที่ไปด้วยกัน กิจกรรมนี้ทำให้เราเห็นว่ายังมีคนที่มีโอกาสน้อยกว่าเราอยู่ในสังคมด้วย ไม่ใช่เราที่แย่หรือลำบากที่สุด”