โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี


โรงเรียน จุฬาภรณราชวิทยาลัยเพชรบุรีขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้ง องคาพยพ ด้วยการจัดอบรมครูทั้งโรงเรียน  การดำเนินงานมี 5 รูปแบบ เรียกว่า “ปัญจสาขา”  ที่เปรียบเหมือนแม่น้ำ 5 สาย ต้นน้ำหมายถึงวิสัยทัศน์ของโรงเรียน แม่น้ำป่าสักแทนเรื่องการบริหาร แม่น้ำปิงแทนเรื่องการเรียนการสอน แม่น้ำวังแทนแหล่งเรียนรู้ แม่น้ำยมแทนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และแม่น้ำน่านคือชีวิตหอพัก เน้นให้ครูและเด็กเข้าใจนิยามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงก่อน เมื่อครูและเด็กเข้าใจแล้ว จึงให้รู้จักวิเคราะห์ตามหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข 4 มิติ แต่ข้อสำคัญคือเมื่อวิเคราะห์แล้วต้องลงสู่การปฏิบัติด้วย  ผ่านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพราะเป็นกิจกรรมที่ฝึกให้เด็กได้ใช้ ได้คิด ซึ่งทุกปีการศึกษาโรงเรียนจุฬาภรณฯ จะมีการจัดค่ายเศรษฐกิจพอเพียงให้น้องใหม่ชั้น ม. 1 และ ม.4 ได้เรียนรู้ ผ่านกระบวนการพี่สอนน้อง โดยเด็ก ม.6 เป็นคนคิดวางแผนทั้งหมด ซึ่งแผนการจัดค่ายนี้ต้องนำหลักปรัชญาฯ มาใช้วางแผนด้วย การขับเคลื่อนหลักปรัชญาฯ ลงสู่ครูของจุฬาภรณฯ  มี 3 วิธีคือ 1. พูดบ่อยๆ พุดทุกครั้งที่ประชุม 2. จัดนิทรรศการแสดงผลงานของครู หากครูคนไหนไม่ทำงาน ก็จะไม่มีผลงานมานำเสนอ และ 3. ประกวดการสอนของครูทุกภาคเรียน  โดยให้ครูแต่ละกลุ่มสาระเลือกมาว่าใครสอนดีให้ส่งเข้าประกวด 

จุด เริ่มต้นความสนใจเรื่องการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของ โรงเรียนจุฬาภรณฯ เพชรบุรี เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งที่มีการปฏิรูปการศึกษา มีการแบ่งเป็นเขตพื้นที่การศึกษา และการปฏิรูปโครงสร้าง สมัยก่อนโรงเรียนแต่ละแห่งต่างคนต่างอยู่  จะทำงานก็ได้ ไม่ทำก็ได้  ช่วงนั้นทำงานไม่สนุก แต่โชคดีปี พ.ศ. 2547 สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดให้มีการประกวดเรียงความ เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง  เด็กนักเรียนของจุฬาภรณฯ ชนะการประกวดเรียงความเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ ดร.ปรียานุช  พิบูลสราวุธเล็งเห็นว่าโรงเรียนน่าจะมี “ต้นทุน” ที่ดี จึงตามมาดู พร้อมกับชักชวนเข้าร่วมโครงการฯ  เพื่อให้เป็นต้นแบบแก่โรงเรียนอื่นๆ

ตอน ที่ท่านชวนยอมรับว่าเราไม่รู้เลยว่าเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร แต่ด้วยความคิดว่าถ้าเราไม่ทำงาน สมองเราก็จะนิ่งอยู่อย่างนี้  แม้ตอนนั้นจะยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไร แต่เชื่อและมั่นใจว่าคนชักชวนเขาต้องรู้ว่าจะให้เราทำอะไร เพราะคิดว่าสิ่งที่ได้คือเราได้เรียนรู้  จึงรับทำงาน  และได้ไปอบรม  ก่อนอบรมเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเกษตร แต่เมื่อได้อบรมแล้วจึงรู้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็น “หลักคิด” เมื่อ รู้เช่นนี้แล้วก็รู้เลยว่าเราคนเดียวเคลื่อนไม่ได้ จะต้องมีคนช่วย  ต้องมีคนรับผิดชอบจึงแต่งตั้งหัวหน้าฝ่ายวิชาการ (อาจารย์ประทีบ เมืองงาม) เป็นหัวหน้าโครงการขับเคลื่อน  แล้วส่งอาจารย์ประทีปไปอบรม หลังอบรมเสร็จก็มานั่งคุยกันว่าเราทั้ง 2  คนเข้าใจตรงกันหรือไม่ เมื่อเข้าใจตรงกันแล้ว ก็คิดต่อว่าการ จะขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งโรงเรียนลำพังเราแค่ 2 คนคงทำไม่ได้ ถ้าครูทั้งโรงเรียนไม่เข้าใจ ตอนนั้นวิธีการของจุฬาภรณฯ คือจัดอบรมครูทั้งโรงเรียนพร้อมกัน มี ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธไปเป็นวิทยากรให้ ท่านรู้ว่าหลักปรัชญาฯ เป็น “หลักคิด” สิ่งที่ต้องใช้มากคือ “การวิเคราะห์”  ท่านก็ฝึกให้เราวิเคราะห์ 

หลังอบรมหนึ่งวัน สิ่งแรกที่เราทำคือ “ทดลอง” โดย คิดถึงโครงการของในหลวงว่าเวลาที่ท่านจะทำอะไร ท่านจะทดลองก่อน  เราทดลองนำโครงการที่ล้มเหลวมาวิเคราะห์ว่าที่ล้มเหลวเพราะอะไร ซึ่งการทดลองครั้งนั้นทำให้เราได้รู้ว่างานอะไรก็ตามทั้งที่สำเร็จและไม่ สำเร็จ ถ้าครูสามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปวิเคราะห์จะทำให้เราได้คำตอบ เรา พบว่างานที่ล้มเหลวคืองานที่ขาดหลักปรัชญา 3  ห่วง 2 เงื่อนไข  จึงเริ่มนำงานอื่นๆ ทุกงานมาวิเคราะห์ ยิ่งวิเคราะห์ก็ยิ่งมั่นใจมากขึ้น จึงเริ่มให้ครูวิเคราะห์งานทุกงานทั้งก่อนและหลังดำเนินงาน เมื่อ ครูเห็นเริ่มตัวอย่าง เราจึงทำโครงการขึ้นมาให้ครูเห็นตัวอย่างของการบูรณการของการเรียนการสอน โดยตอนแรกจัดในรูปของค่ายก่อน  ไม่ได้จัดในห้องเรียน  เพราะในห้องเรียนยังมองเห็นภาพไม่ชัด  แต่ค่ายจะเห็นชัด เพราะเป็นการเรียนปนเล่น  เราจึงใช้วิธีบูรณาการไปสู่การสอน ให้ความรู้เด็ก ให้เด็กนำไปใช้ในฐานการเรียนรู้  รวมถึงเริ่มให้เด็กในโรงเรียนเริ่มวิเคราะห์กิจกรรมก่อนดำเนินงานและหลังดำเนินงานเช่นกัน เช่น เรื่องการจัดค่ายต่างๆ เป็นต้น เมื่อเริ่มให้ครูและเด็กวิเคราะห์หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขได้แล้ว  ขั้นต่อไปคือการนำหลักปรัชญาฯ ลงไปในทุกภาคส่วน จากนั้นก็จัดทำเป็นวิสัยทัศน์ของโรงเรียน  โครงการทุกโครงการของโรงเรียนครูต้องวิเคราะห์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ ได้ ถือเป็นข้อกำหนดของโรงเรียน 

การ ขับเคลื่อนหลักปรัชญาฯ ของเราจะใช้วิธีพูดบ่อยๆ พุดทุกครั้งที่ประชุม ใช้งานตามงาน วิธีการที่จะดูว่าครูนำไปบูรณาการจริงหรือไม่  ก็ใช้วิธีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของครูแทนการให้ผู้อำนวยการเดินไปดู ให้ ครูไปหาเขตพื้นที่การศึกษา หาเจ้าภาพ หางบประมาณมา แล้วจัดอบรม ให้คนในเขตพื้นที่การศึกษาไปดู ให้ครูและเด็กเป็นวิทยากร ใช้สถานที่ในโรงเรียนจัดงาน ให้ครูทั้งเขตพื้นที่การศึกษามาอบรม แล้วให้ครูของเราเป็นผู้จัดนิทรรศการทุกกลุ่มสาระ “เป็นการจัดงานเพื่อตาม งาน” เพราะถ้าครูไม่ทำงาน ก็จะไม่มีผลงานมานำเสนอ

นอก จากนี้ยังมีการประกวดการสอนของครูทุกภาคเรียน  โดยให้ครูแต่ละกลุ่มสาระเลือกมาว่าครูคนไหนที่ใครสอนดีก็ส่งเข้าประกวด รางวัลก็ไม่มีอะไรมาก มีเพียงแค่เกียรติบัตรว่าใครจะได้เหรียญเงิน เหรียญทอง  พอครูเริ่มประกวดการเรียนการสอน เราจะเห็นแววของการเป็นวิทยากร เมื่อมีคณะมาดูงาน ตอนแรกเราก็ตื่นเต้น แต่หลังๆ ก็เริ่มง่ายขึ้น รู้สึกสนุกทั้งครูและเด็ก  เรามักบอกเด็กว่าการที่เรายิ่งเป็นผู้ให้ เรายิ่งได้ประโยชน์ เราพูดมากเท่าไร เราได้ความรู้มากเท่านั้น แม้แต่ตัวเด็กเองก็บอกว่าการเป็นวิทยากรเป็นเวทีให้เขาได้ฝึกพูดในที่ชุมชน   เพราะคนที่มาฟังมีทั้งชาวบ้าน ครู อาจารย์ นักศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก เราจึงบอกเด็กว่าขณะที่เราเป็นผู้เสียสละ เราต้องรับผิดชอบด้วย ไม่มีอะไรที่เราได้มาฟรีๆ เด็กต้องตามการเรียนให้ทันเพื่อน ซึ่งอาจทำให้เขาเสียเวลามากขึ้น  แต่เขาก็ได้มากขึ้น  นี่คือสิ่งที่เราสอนเด็ก และเด็กก็บอกว่าเขาได้ประโยชน์ เวลาเขาเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย สิ่งนี้ช่วยเขาได้จริงๆ และเขาก็กลับมาเล่าให้น้องๆ ฟัง

แต่ ใช่ว่าที่จุฬาภรณจะทำกิจกรรมแบบนี้ตลอดเวลา เพราะความที่เรามีนิสัยไม่ชอบทำอะไรซ้ำๆ ชอบอะไรที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ กิจกรรมที่ทำจึงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้ไม่เบื่อ แต่ว่าต้องทำอย่างต่อเนื่อง เช่น เราอาจจะไม่ใช้การประกวดการสอนทุกเทอม แต่เราอาจจะต้องมีกิจกรรมอะไรเพิ่ม ตอนนี้คิดอยากทำเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เราต้องคิดไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ต้องคิดทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

เนื่อง จากจากโรงเรียนจุฬาภรณแป็นโรงเรียนประจำ เด็กต้องอยู่หอพัก เราจึงขับเคลื่อนทั้งองคาพยพ โดยได้รูปแบบมา 5 เรื่อง เรียกว่า “ปัญจสาขา”  ที่ เปรียบเหมือนแม่น้ำ 5 สาย ต้นน้ำหมายถึงวิสัยทัศน์ของโรงเรียน แม่น้ำป่าสักแทนเรื่องการบริหาร แม่น้ำปิงแทนเรื่องการเรียนการสอน แม่น้ำวังแทนแหล่งเรียนรู้ แม่น้ำยมแทนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และแม่น้ำน่านคือชีวิตหอพัก
เคยมีผู้ถามว่าชื่อ “ปัญจสาขา” มี นัยยะมีความหมายหรือไม่  ตอนแรกที่ตั้งชื่อไม่ได้คิดถึงนัยยะหรือความหมายใดๆ คิดแค่ว่าพูดให้ที่ผู้มาเรียนรู้ดูงานเห็นภาพชัดว่า ทำไมถึงใช้ ปิง วัง ยม น่านไหลสู่เจ้าพระยา เราบอกว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงใช้กับคนทั้งประเทศ แล้วแม่น้ำเจ้าพระยาคือแม่น้ำสายหลักของประเทศ ตอนแรกคิดว่าเราทำ 5 เรื่องเพื่อให้ไหลไปสู่ตัวนักเรียน แต่เมื่อมีคนถามเรื่องนัยยะ เราก็ไปหาคำตอบ และพบว่ามีความหมายดีมากคือ  แม่น้ำป่าสักเดิมเป็นแม่น้ำที่มีปัญหาทั้งน้ำแล้งน้ำหลาก แต่ด้วยสายพระเนตรที่กว้างไกลของพระองค์ท่านจึงให้สร้างเขื่อนป่าสักชล สิทธิ์เป็นแก้มลิงเพื่อเก็บน้ำไว้ป้องกันน้ำท่วม แม่น้ำป่าสักจึงเหมาะในเรื่องการบริหาร เพราะเป็นการแก้ปัญหา

ส่วน แม่น้ำปิงกับแม่น้ำน่านคือแม่น้ำสำคัญที่ไหลรวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา เราก็มองว่าสิ่งสำคัญที่ตัวเด็กคือเรื่องของการเรียนรู้ เขาต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นแม่น้ำปิงพูดถึงเรื่องการเรียนรู้ การเรียนการสอน แม่น้ำวังเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ ที่ไหลมารวมกับแม่น้ำปิง เราบอกว่าในเรื่องการเรียนรู้ การเรียนการสอนมันไม่ได้เรียนอยู่ในห้องแคบๆ มันมีแหล่งเรียนรู้มาก เพราะฉะนั้นการเรียนรู้นี้ต้อง เสริมด้วยแหล่งเรียนรู้  ส่วนแม่น้ำยมมีแม่น้ำสายสั้นๆ ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำยมมีความหลากหลายทางชีวิต เราก็บอกว่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นกิจกรรมที่เติมเต็มศักยภาพเด็ก จึงต้องมีความหลากหลาย  ส่วนแม่น้ำน่านเป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุด ไหลมารวมกับแม่น้ำปิงเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา เราก็บอกว่าการดำเนินชีวิตด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต้องดำเนินทั้ง ชีวิต ซึ่งเป็นชีวิตที่ยาวนาน แต่ที่เรานำมาเปรียบเทียบกับชีวิตหอพัก เพราะเด็กที่นี่เป็นนักเรียนประจำ แต่หากโรงเรียนอื่นจะนำเรื่องนี้ไปใช้ แม่น้ำน่านก็คือการดำเนินชีวิตที่บ้านนั่นเอง

จุด อ่อนของโรงเรียนจุฬาภรณฯ เพชรบุรีคือ เรื่องชุมชน เพราะเราเป็นโรงเรียนประจำ เด็กที่มาเรียนไม่ใช่เด็กในพื้นที่ และด้วยความเป็นโรงเรียนประจำ การออกไปทำกิจกรรมข้างนอกตอนเย็นทุกวันจึงทำได้ยาก แต่ถามว่าเรามีส่วนไหมที่นำหลักปรัชญาฯ ไปใช้  สำหรับเด็กอาจจะได้ แต่สำหรับชุมชนเรายังไม่มั่นใจ เช่น เด็กทำโครงการในวิชาสังคม ครูบอกว่าต้องการให้เด็กมีจิตอาสา จึงให้โจทย์เด็กไปว่าปัจจุบันกำลังเกิดภาวะโลกร้อนขึ้นนักเรียนจะทำอย่างไร เด็กก็ทำโครงการชื่อว่า “ปลูกต้นไม้ฝากไว้กับชุมชน” โดยนำหลักปรัชญาฯ ไปวิเคราะห์ว่า ถ้าเขาไปปลูกต้นไม้เหมือนหน่วยงานราชการต่างๆ ไปปลูกแล้วทิ้งไว้ให้ธรรมชาติดูแล  ท้ายที่สุดต้นไม้ก็ตาย แต่วิธีการของเด็กๆ คือ เขาเข้าไปในชุมชน พูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าขอปลูกต้นไม้ 1 ต้นต่อบ้านหนึ่งหลัง เน้นไปที่ไม้ผล  โดยบอกเหตุผลว่าพวกเขาไม่มีเวลาออกไปในชุมชนเพื่อดูแลรดน้ำต้นไม้ เพราะเขาเป็นนักเรียนประจำ  ถ้าวันไหนเขาไปไม่ได้ คนที่จะมาช่วยดูแลคือเจ้าของบ้าน และต้นไม้เมื่อเติบโตผลิดอกออกผลก็ให้เป็นผลผลิตของเจ้าของบ้านไป  เหมือนเราได้สัมพันธ์กับชุมชนไปในตัว แต่ว่าชุมชนไม่ได้มาทำตามโรงเรียนเท่านั้น