“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา” วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี

การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนห้วยยอด

 

“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา” วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี


โรงเรียนห้วยยอดขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่าน “ห้วยยอดโมเดล” เพื่อให้ครู นักเรียนมีหลักคิด และนำไปใช้ในทิศทางเดียวกัน  โดยเริ่มจากทำความเข้าใจครูก่อน เมื่อครูเข้าใจแล้วจึงลงสู่ตัวเด็ก นำเด็กถอดบทเรียน แม้กระทั่งการออกข้อสอบจะต้องมีเศรษฐกิจพอเพียงกำกับ  มีโครงการจิตอาสา เปิดเวทีผู้ปกครอง ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ และอิสลาม เปิดเวทีครูและเด็ก เพื่อถอดบทเรียนภาพนักเรียนในฝันที่ต้องการ นำผลการถอดบทเรียนจากทุกเวทีมาบูรณาการเข้าด้วยกัน สรุปเป็น “คอนเซ็ปต์” ได้ว่า ทุกคนอยากได้เด็กที่เก่ง ดี และมีความสุข  โรงเรียนจึงดำเนินกิจกรรมเพื่อให้สอดรับกับแนวคิดดังกล่าว กระทั่งวันนี้โรงเรียนไม่มีนักเรียนอันธพาล  โดยมี “เทคนิค” คือใช้ “เพลง” เป็นสื่อในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


โรงเรียนห้วยยอดเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ  มีการแข่งขันสูงมาก เป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล มีนักเรียน 2,881 คน เริ่มน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการเรียนการสอนตั้งแต่  พ.ศ. 2547  แต่เริ่มทำจริงๆ เมื่อปี 2548 ผู้จุดประกายแนวคิดคือ ผอ.กัญพิมา เชื่อมชิต มาให้ความรู้ ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่ค่อยรู้เรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากนัก แต่เมื่อได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจารย์กัญพิมาจึงเริ่มเข้าใจมากขึ้น  และเริ่มขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนปี พ.ศ. 2550  จึงได้รับการประเมินเป็นสถานศึกษาพอเพียง


ก่อนนำหลักปรัชญาฯ มาขับเคลื่อนในโรงเรียนนั้น โรงเรียนห้วยยอดมีปัญหาเหมือนกับโรงเรียนอื่นๆ ทั่วไป วิธีแก้ไขคือแก้ไขไปตามสถานการณ์ ทั้งแบบมีหลักเกณฑ์และไม่มีหลักเกณฑ์  แต่เมื่อนำหลักปรัชญาฯ มาขับเคลื่อน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น โรงเรียนจะนำหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขมาใช้วิเคราะห์ว่าปัญหานั้นอยู่ฝ่ายไหนรับผิดชอบ เช่น ฝ่ายวิชาการ บริหาร งบประมาณ หรือฝ่ายบุคคลทั่วไป แล้วเราจะแก้ปัญหานั้นด้วยวิธีการใด แก้แล้วได้ผลอย่างไร และสร้างความพึงพอใจให้ใครบ้าง



โรงเรียนห้วยยอดแบ่งฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาโรงเรียนออกเป็น 3 ส่วน  คือ 1. โรงเรียนห้วยยอดเป็นตัวแปร Y 2.ปัจจัยนำเข้าอะไรบ้างที่เชื่อมโยง เป็นตัวแปร X คือครู นักเรียน  บุคลากรทางการศึกษา ภารโรง  และ 3. ผู้มีส่วนได้เสียมีใครบ้างคือ ผู้ปกครอง นายก อบต. ผู้นำท้องถิ่น วัด มัสยิด  เป็นตัวแปรแทรกซ้อน ซึ่งเป็นชุดความรู้ชุดที่ 1  ที่โรงเรียนนำมาใช้  ตัวแปร Y คือสิ่งที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษา เช่น มาตรา 6  ที่เด็กต้องดี เก่ง มีความสุข มีร่างกายสมบูรณ์ มีจิตสาธารณะ เพราะฉะนั้นหากใครจัดการศึกษาผิดเพี้ยนไปจากนี้ ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นเราจึงพยายามเตรียมหลักสูตร และวิชาการ ฯลฯ เพื่อเข้าไปสู่ พ.ร.บ. ตัวอย่างเช่น ในมาตรา 6 เรามีความเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้ ถ้าใช้วิธีการและกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม ถ้าจะให้ครูวางแผนการสอนเป็น ครูจะต้องมีองค์ความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงดังต่อไปนี้ สอนวิชาอะไรต้องมีเหตุผล เหตุผลดีต้องดูที่จุดหมาย หลักการ จุดประสงค์ ตัวชี้วัด สมรรถนะ รวมทั้งตัวอย่างข้อสอบซึ่งเป็นตัวบ่งชี้เวลาเด็กสอบตก สอบได้  รู้อย่างไร รู้พอประมาณกับวิชาที่ตัวเองสอน รู้แล้วมีภูมิคุ้มกันที่ชัดเจน รู้แล้วนำเด็กถอดบทเรียนได้ ถ้าเขาเรียนสำเร็จก็ให้รู้ว่าทำไมจึงสำเร็จ ทำไมจึงล้มเหลว มีเวทีนักเรียนให้ถอดบทเรียน


ส่วนครู นักเรียน บุคลากรในโรงเรียนจะทำอะไรให้สำเร็จได้ต้องมีองค์ความรู้ในวิชาหรือเทคนิคการจัดการเรียนรู้ ที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมและเชื่อมโยงไปสู่ระดับชั้น โรงเรียนจึงต้องจัดบรรยากาศ สิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้คือ ไม่มีนักเรียนเกเร มีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้มีคุณธรรม ประสบความสำเร็จ มีสุขภาพดี 


นอกจากนี้ที่โรงเรียนห้วยยอดยังมีการเปิดเวทีผู้ปกครอง ให้ผู้ปกครองถอดบทเรียนว่านักเรียนที่เขาอยากได้ ควรทำอย่างไร เปิดเวทีผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และผู้นำประชาชน เปิดเวทีนักเรียน และเวทีครู แล้วบูรณาการทุกเวทีเข้าด้วยกัน นำผลที่ได้มาสรุปเป็น “คอนเซ็ปต์” ว่า ทุกคนอยากได้เด็กที่เก่ง ดี และมีความสุข  ซึ่งระหว่างทางที่เราทำกระบวนการ เราได้ “ข้อมูล” ที่สามารถนำไปเป็นองค์ความรู้ในการบริหารจัดการโรงเรียน จนในที่สุดโรงเรียนห้วยยอดได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทาน  รางวัลคุณธรรมดีเด่น ฯลฯ   ถือเป็นรางวัลที่ได้มาจากการพัฒนาโรงเรียน ผมอยากเน้นย้ำว่า  อย่ารอให้ข้าวสุกแล้วค่อยเกี่ยว และอย่ารอแต่รวงข้าวอย่างเดียว  แต่ระหว่างทางทุกคนต้องรู้จักเก็บเกี่ยวข้อมูลและองค์ความรู้ด้วย


กิจกรรมทุกกิจกรรมของห้วยยอดจะมีธงตั้งไว้ซึ่งก็คือหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข 4 มิติ  ซึ่งระหว่างทางจะเกิดกิจกรรมดีๆ มากมาย พร้อมกับใช้หลักธรรมที่ว่า ทำการสิ่งได้ ได้ผลสิ่งนั้น ตัวอย่างเช่น  เรื่องประชาคมอาเซียน  เราต้องย้อนมาดูคำถามว่าเราอยู่ตรงไหนของอาเซียน  เรามีประชากรเท่าไร มีทรัพยากรสิ้นเปลืองอะไรบ้าง ประเทศอาเซียน 10 ประเทศมีอะไรบ้าง เราจะเอาอะไรไปสู้กับเขา แต่ละประเทศมีวัฒนธรรมอย่างไร  ถ้ารวมเป็นอาเซียนแล้วเราได้เปรียบหรือเสียเปรียบ  ให้ครูคิดในประเด็นเหล่านี้ แล้วมาวิเคราะห์ว่าจะโยงเข้าสู่แผนการเรียนการสอนของแต่ละกุล่มสาระได้อย่างไร หากคิดได้เช่นนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากมายมาซื้อธงอาเซียน  ซื้อตุ๊กตาอาเซียนหลายหมื่นบาท 


นักเรียนห้วยยอดไม่เก่ง แต่นักเรียนที่จบชั้น ม. 6 ทุกคน 100 เปอร์เซ็นต์ มีค่าเฉลี่ย GPA อยู่ที่ 3.29  นักเรียนสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้100 เปอร์เซ็นต์  เด็กนักเรียนห้วยยอดแต่งกายเรียบร้อยที่สุดในจังหวัดตรัง ปัจจุบันโรงเรียนมี “ห้วยยอดโมเดล” เพื่อให้ครูและนักเรียนมีหลักคิดและนำไปใช้ในทิศทางเดียวกัน  โดยเริ่มจากทำความเข้าใจครูก่อน เมื่อครูเข้าใจแล้วจึงลงสู่ตัวเด็ก นำเด็กถอดบทเรียน แม้กระทั่งการออกข้อสอบจะต้องมีเศรษฐกิจพอเพียงกำกับ  มีโครงการจิตอาสา มีการเปิดเวทีผู้ปกครองให้ถอดบทเรียนภาพนักเรียนในฝันที่ต้องการ  แล้วบูรณาการ เวทีครู เวทีเด็ก เวทีผู้ปกครอง และเวทีชุมชนเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดภาพ เด็ก ดี มีความสุข มีจิตสาธาระ มีสุขภาพที่แข็งแรงกระทั่งวันนี้โรงเรียนไม่มีนักเรียนอันธพาล


สำหรับเทคนิคที่ใช้ในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือ ใช้เพลงและวรรณกรรมเป็นสื่อ เพราะในเพลงมีนิยาย การสอนวัยรุ่นไม่มีอะไรดีเท่าเพลง  เพราะจะจับใจวัยรุ่นได้มาก ไม่เพียงเฉพาะเพลงเก่าๆ แต่เพลงสมัยปัจจุบัน หรือละครที่ทันสมัยเราก็นำมาใช้ด้วย โดยพยายามสอดแทรกให้เด็กเห็นถึงหลักปรัชญาฯ 3 ห่วง 2 เมื่อไข และ 4 มิติทุกครั้ง และที่สำคัญเรามีความเชื่อว่าไม่มีใครสมบูรณ์ และไม่มีใครแย่เสมอไป   แต่ทุกคนสามารถพัฒนาได้หากได้รับการชี้แนะในทางที่ถูกต้อง