5 ปีของการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา

“ 5 ปีของการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ”


นายเรวัต มะสุวรรณ
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองไคร

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่

­

การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียน เริ่มจากศึกษาบริบทของโรงเรียนโดยรอบด้าน การประชุมปรึกษาหารือร่วมกันของครู คณะกรรมการโรงเรียนและแกนนำชุมชน ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแม่บทในการจัดทำกลยุทธ์ในการบริหารสถานศึกษา จนนำไปสู่นโยบาย และแผนปฏิบัติราชการประจำปี ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ ครูจัดทำแผนการจัดการเรียนการสอน และกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบอื่นๆ โดยการต่อยอดจากจากทุนเดิม คือกิจกรรมด้านการเกษตรที่โรงเรียนมีอยู่แล้ว จากนั้นพัฒนาสู่กิจกรรมอื่นๆให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

­

การขับเคลื่อนระยะแรกๆเน้นไปที่เปลี่ยนกรอบความคิดเดิมๆของครู เนื่องจากยังยึดติดกับเกษตรทฤษฎีใหม่ จึงจัดอบรมให้ความรู้แก่ครู โดยมีท่านบุญพฤกษ์ มะศิริ เป็นวิทยากรและเป็นที่ปรึกษาโครงการ จากนั้นมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในโรงเรียนบ่อยขึ้น มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยนำครูไปศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จหลายโรงเรียน เช่น ปี 2551 ไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนร่มเกล้าปางตอง จ.แม่ฮ่องสอน ปี 2552 ไปที่โรงเรียนบ้านนาประชาสัมพันธ์ จ.ชัยภูมิ , ปี 2553 ไปที่โรงเรียนห้อยยอดจังหวัดตรัง , ปี 2554 ไปที่โรงเรียนบ้านคูเมือง จ.อุบลราชธานี และโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ จ.จันทบุรี

­

ครูมีความรู้ความเข้าใจและเกิดทักษะมากยิ่งขึ้น สามารถออกแบบการเรียนรู้ได้หลากหลายยิ่งขึ้น มีครูแกนนำในโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น จากระยะต้นๆ มี 3 คน ระยะ 3 ปีต่อมา เพิ่มเป็น 8 คน(หัวหน้ากลุ่มสาระ) และปัจจุบัน เพิ่มเป็น 14 คน จากข้าราชการทั้งหมด 27 คน ที่นี่ครูย้ายเข้าออกบ่อยมากเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นครูที่มาจากต่างจังหวัด ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนหลักปรัชญาฯพอสมควร แต่ไม่ถือว่าเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่นัก เพราะสามารถพัฒนากันเองได้โดยให้ครูแกนนำหรือหัวหน้ากลุ่มสาระขยายผล อธิบายให้ความรู้ ชวนน้องทำงานแบบครูพี่เลี้ยง

­

โรงเรียนบ้านคลองไคร เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ปัจจุบันมีนักเรียน 502 คน ผมย้ายมาอยู่ที่นี่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 มาจากโรงเรียนเดิมที่อยู่ในโครงการจัดการเรียนการสอนและบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงรุ่นแรกๆอยู่แล้ว จึงมี “ ฐานทุน ”ด้านความรู้และประสบการณ์เป็นเบื้องต้น

­

ในอดีตโรงเรียนบ้านคลองไคร มีผลการจัดการศึกษาได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ผมดูจากการประเมินของ สมศ. ปี 2549 พบว่า มีมาตรฐานที่อยู่ใน ระดับปรับปรุงถึง 4 มาตรฐาน คือ มาตรฐานที่ 4,5,6 และ 9 ผมย้ายมาที่นี่ตามคำร้องขอจากชุมชนโดยที่ไม่ได้เขียนคำขอย้าย จึงจัดว่ามีชุมชนเป็น “ จุดแข็ง”ในการบริหารงานของผม การบริหารงานจึงเชิญกรรมการโรงเรียน แกนนำชุมชนและครู มาร่วมกันวางแผนดำเนินงานตั้งแต่ก่อนเปิดภาคเรียน ทุกปี

­

การทำงานผมจะเริ่มที่แผน นั่นคือการวางแผนร่วมกัน ร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ และนโยบายของโรงเรียนใหม่ สร้างความรู้ความเข้าใจและเปลี่ยนนิยามใหม่ แต่เอากิจกรรมเดิมๆที่โรงเรียนเคยทำแล้ว มาทำต่อ(ต่อยอด)แล้วสอดหลักปรัชญาฯเข้าไปเป็นแกนขับเคลื่อน จากนโยบายสู่การปฏิบัติ นั่นคือแผนปฏิบัติราชการประจำปี โดยกำหนดร่วมกันว่า ทุกโครงการหัวหน้าโครงการต้องวิเคราะห์ได้ว่า มีความสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร เช่น ความพอประมาณ ต้องตอบโจทย์ได้ว่า คุณจะทำโครงการนี้นานเท่าไหร่ ใช้คน ใช้เงิน ใช้ทรัพยากร ใช้เวลา เท่าไหร่ ความมีเหตุผลคุณต้องตอบโจทย์ได้ว่าทำไมถึงต้องทำโครงการนี้การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ต้องอธิบายได้ว่า ทำอย่างไรให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ จะลดความเสี่ยง หรือไม่เกิดความสูญเปล่าได้อย่างไรเงื่อนไขความรู้ ต้องตอบโจทย์ได้ว่า ต้องใช้ความรู้อะไรบ้าง จากไหน เพียงใด จึงจะทำโครงการนี้ได้และเงื่อนไขคุณธรรม คุณต้องอธิบายได้ว่าเมื่อทำโครงการนี้แล้ว เกิดคุณธรรมกับนักเรียนหรือผู้เกี่ยวข้อง ตรงไหน อย่างไรบ้าง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะต้องบันทึกการวิเคราะห์ควบคู่โครงการทุกโครงการหรือกิจกรรมก่อนที่จะได้รับการอนุมัติสนับสนุนด้านงบประมาณ

­

ด้านการพัฒนาบุคลากร ต้องเปลี่ยนกรอบความคิดเดิมๆที่ว่าคิดว่า เศรษฐกิจพอเพียงคือเกษตรทฤษฎีใหม่ มุ่งให้เข้าเข้าใจหลักปรัชญา ให้ถอด 3 ห่วง 2 เงื่อนไขออกมาให้ได้จาก การทำหรือไม่ทำสิ่งใดๆ โดยการอบรม สัมมนา ศึกษาดูงาน ในโรงเรียนต่างๆที่ประสบความสำเร็จที่ได้กล่าวมาตอนต้นแล้ว ในการไปดูแต่ละครั้งเราเอาของเราไปเล่าสู่แล้วเรียนรู้ของเขาเพิ่มมากขึ้นเราไปค้นหาสิ่งดีๆ ไปหาวิธีการหรือเทคนิคที่แปลกใหม่ของเขา เราจะไม่ไปมองแต่ความสำเร็จของเขาด้านเดียว เมื่อกลับมาโรงเรียนเราจะต้องสรุปผลการศึกษาดูงานพร้อมกับแนวทางการประยุกต์ใช้ในโรงเรียนของเราอย่างเหมาะสมตามบริบทของเรา

­

ปัญหาที่ประสบอยู่คือครูย้ายบ่อยมาก เนื่องจากจังหวัดกระบี่โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โรงเรียนบ้านคลองไคร เป็นครูที่มาจากต่างจังหวัดประมาณ 70 %แต่เราได้สร้างความต่อเนื่อง เดิมทีให้ครูแกนนำถ่ายทอดสู่ครูใหม่แบบครูพี่เลี้ยง ปีที่แล้ว(2554)ครูย้ายเข้ามาก(10 คน )ใช้แบบเดิมไม่ค่อยได้ผล เราจึงปรับวิธีคิดการเรียนรู้ใหม่ คิดวิธีใหม่คือให้ครูใหม่เรียนรู้จากครูแกนนำโดยถือว่าเป็นหน้าที่ของครูใหม่ที่จะต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรและสืบทอดเจตนารมณ์ขององค์กรร่วมกับครูทุกคน

­

ด้านการจัดการเรียนการสอน ในเบื้องต้นครูมีแผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบางกลุ่มสาระ ปัจจุบันได้ปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษาพุทธศักราช 2551(ฉบับปรับปรุง 2555)บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไว้ทุกกลุ่มสาระ มีห้องนิทรรศการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีแผนการจัดการเรียนรู้ตัวอย่าง มีตัวอย่างโครงงานหรือการออกแบบการเรียนรู้ค่อนข้างหลากหลาย ครูบรรจุใหม่หรือที่ย้ายเข้ามาใหม่ ที่เรียนรู้ช้า ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน สามารถศึกษาได้ ใช้เวลาประมาณ 1 ปี คาดว่าสามารถร่วมขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ดีขึ้น

­

แต่ก่อนในการประชุมแต่ละครั้ง(เดือนละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย) จะเน้นถึงเรื่องหลักปรัชญาฯ โดยแลกเปลี่ยนกันว่าครูแต่ละคนได้ทำงานของตนเอง หรือ ได้จัดกิจกรรมอย่างไรบ้าง เด็กเกิดอะไรบ้าง มีปัญหาอุปสรรคอย่างไรบ้าง ใครมีข้อเสนอแนะประการใดบ้าง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้กันเอง จากนั้นจึงค่อยประชุมวาระอื่นๆตามโอกาส

­

ผมต้องการพัฒนาต่อยอดทุกด้าน จึงใช้วิธีพบครูทุกคนตอนเที่ยงช่วงพักกลางวัน เพื่อพูดคุยเล่าสู่กันฟัง ปรากฏว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เพราะเวลามีจำกัดและครูบางคนต้องดูแลนักเรียนช่วงพักเที่ยงด้วย ปีนี้(2555) จึงตกลงกันว่าเราทำ AR(โฮร์มรูมครู แลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มย่อย สลับกลุ่มใหญ่ )เวลา 15.30 – 16.30 นาฬิกา

­

นอกจากบูรณาการในแผน/หน่วยการเรียนรู้หรือกิจกรรมในห้องเรียนแล้ว ยังมีกิจกรรมสนับสนุนอื่นๆ(ฐานเรียนรู้) เช่น สวนสมุนไพร , โครงการเกษตร , กิจกรรมรีไซเคิล , กิจกรรมสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุท้องถิ่น ,กิจกรรมการออม , กิจกรรมการพึ่งตนเอง ที่ค่อนข้างหลากหลาย โดยเรียนในฐานต่างๆชั่วโมงสุดท้ายของวันพุธ ชั่วโมงสุดท้าย หรือในช่วงเวลาอื่นที่เหมาะสมของแต่ละกิจกรรม มีวิทยากรเป็นนักเรียน(นักเรียนแกนนำ) มีครูเป็นพี่เลี้ยงแต่ละฐานเป็นเจ้าภาพหลัก

­

เมื่อมีหน่วยงาน/คณะต่างๆมาศึกษาดูงาน เราจะให้นักเรียนจะเป็นผู้นำเสนอภาพรวมของโรงเรียน และนำเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ตามแนวทางหลักปรัชญาฯ โรงเรียนฝึกทีมนำเสนอไว้หลายชุด ชุดละประมาณ 20 คน (ตั้งแต่ ป.4 – ม.3) เพื่อคอยปรับเปลี่ยนไม่ให้มีผลกระทบต่อนักเรียนมากนัก

­

ผลลัพธ์ที่เกิดและน่าภาคภูมิใจ

เราเริ่มขับเคลื่อนหลักปรัชญาฯ ตั้งแต่ ปี 2550 เมื่อทำงานครบ 3 ปี ได้เสนอ สมศ.เพื่อประเมินคุณภาพใหม่ในปี 2553 เนื่องจากครูทุกคนมีความเชื่อมั่นว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว เรามีนักเรียนที่มีคุณภาพดีขึ้นเป็นลำดับแล้ว และ ผลการประเมินจาก สมศ.ครั้งนั้น โรงเรียนผ่านการรับรองในระดับดี ถึง ดีมาก ทุกมาตรฐาน(จากที่เคยตกถึง4 มาตรฐาน ในปี 2549 )

­

นักเรียนส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงไปมาก จากอดีตเคยมีปัญหาทะเลาะวิวาทหรือปัญหาอื่นๆรายสัปดาห์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนมัธยม) แต่ระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ไม่ค่อยมีปัญหา นักเรียนมีจิตอาสา มีเหตุผล รู้จักพอประมาณต่อตนเอง มีคุณธรรม สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีได้อย่างน่าภาคภูมิใจ มองเห็นชัดว่านักเรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ มีความเชื่อมั่นต่อตนเอง กล้าแสดงออก มีภาวะผู้นำ นักเรียนภูมิใจที่ได้เป็นวิทยากรเมื่อมีแขกมาเยี่ยมโรงเรียน

­

นอกจากนี้มีผลงานอื่นๆ ของนักเรียน เช่น

การแข่งขันทักษะวิชาการประจำปี ปีการศึกษา 2554 นักเรียนมีผลงานมากมาย เช่น

ระดับจังหวัด ชนะเลิศได้เหรียญทองมากกว่า 20 รายการ เหรียญเงินและทองแดง 8 รายการ

ระดับภาคชนะเลิศเหรียญทอง 5 รายการ เหรียญเงิน 3 รายการ

ระดับประเทศได้เหรียญทอง คือ เล่านิทานภาษาอังกฤษ ระดับ มัธยมต้น และ เหรียญทองแดง ตอบปัญหาสุขศึกษาและพละศึกษา

ด้านกีฬา นักกีฬาของโรงเรียน (เปตอง) รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี

ระดับภาค ได้เหรียญทองแชมป์ภาคใต้ และ เเชมป์เขต 8 2 ปี ติดต่อกัน

ระดับประเทศ ได้เหรียญทองแดง (รายการกีฬานักเรียนนักศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 32 ที่เพชรบุรี มกราคมปี 2554 และครั้งที่ 33 จ.อุบลราชธานี มกราคม ปี 2555 )

นักเรียนได้รับเกียรติบัตรรางวัลพระราชทานชมเชย กระทรวงศึกษาธิการ ปี 2554

4. ผลการทดสอบระดับชาติ ONET ปี 2554 เฉลี่ย ผ่านเกณฑ์ระดับชาติ (ได้คะแนนเฉลี่ย 13.81)

­

ความเชื่อและความศรัทธาของผมเป็นจริง จากข้อมูลเบื้องต้น และผลงานที่ผ่านมา ผมและครูของเราคิดว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือทางเดินที่ดีที่สุดของเราเราเดินมาถูกทางแล้ว และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือเส้นทางแห่งการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง เราทุกคนภาคภูมิใจที่สุดที่ เราเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเมืองที่ได้น้อมนำ หลักคิด หลักปฏิบัติ อันทรงคุณค่าสูงยิ่ง จากพ่อของแผ่นดิน โดยฝังอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ ทุกคนให้สัญญาว่า จะมุ่งต่อยอดให้หลักปรัชญาฯเกิดความยั่งยืนสืบไป

­

ส่วนด้านชุมชนครูและชุมชนอยู่กันแบบเครือญาติ แบบพี่น้อง แม้ว่าเราจะนับถือศาสนาต่างกัน (โรงเรียนนี้มีนักเรียนนับถือศาสนาอิสลาม ประมาณ 92 % ศาสนาพุทธ ประมาณ 8 % ส่วนครูและบุคลากร นับถือศาสนาพุทธ ประมาณ 70 % ศาสนาอิสลาม 30 % ) เรามีความรักและเอื้ออาทรต่อกันในการประชุมคณะกรรมการ หรือประชุมผู้ปกครองทุกครั้ง จะพูดถึงหลักคิด หลักปฏิบัติ ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนส่งเอกสารประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่าเรายังเชื่อมโยงสู่วิถีชีวิตและเห็นการเปลี่ยนแปลงของชุมชนได้ค่อนข้างน้อย เพราะยังมีสิ่งยั่วยุและปัจจัยแทรกซ้อนอื่นที่ไม่เอื้อต่อการนำหลักปรัชญาฯสู่ชุมชนอยู่มาก ทุกคนไม่ท้อถอย ไม่หมดกำลังใจ เพราะหลักคิดของเราคือ หลัก“ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ”