การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนกงไกรลาศวิทยา

การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนกงไกรลาศวิทยา
“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”
วันที่  27  พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี

 

โรงเรียนกงไกรลาศวิทยาขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้รูปแบบ “โครงการวิจัย”  นำปัญหามาเป็นโจทย์ แล้วให้เด็กวิเคราะห์โดยนำหลัก 3  ห่วง 2 เงื่อนไขมาใช้ เพื่อดูว่าเด็กมี “วิธีคิด” อย่างไร ผ่านกิจกรรมโครงงาน เน้นให้เด็ก “คิดเป็น” หลังทำกิจกรรมให้เด็กถอดบทเรียนทุกครั้ง การขับเคลื่อนทำผ่าน  3 ทีมคือทีมผู้อำนวยการ ทีมครูใหญ่ และทีมพัฒนาการเรียนรู้  โดยให้ครูหัวหน้าแต่ละกลุ่มสาระคอยขับเคลื่อนในการนำหลักปรัชญาฯไปใช้กับโรงเรียน   มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างทีมครูใหญ่กับทีมผู้บริหารทุกวันอังคาร  ส่วนวันพุธทีมหัวหน้าหมวดจะจัดประชุมวางแผนขับเคลื่อนงาน เพื่อ นำไปขยายผลกับครูผู้ปฏิบัติทุกวันจันทร์หลังเลิกเรียนวันละหนึ่งชั่วโมง เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

โรงเรียนกงไกรลาศวิทยาเป็นศูนย์การเรียนรู้ใหม่ เพื่อได้รับการประเมินเป็นศูนย์เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โรงเรียนแบ่งระบบบริหารจัดการแบบ  6 โรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่ คือมี 6 เสาธง ใช้ระบบการกระจายอำนาจ มีครูใหญ่ทุกระดับชั้น  ใช้วิธีการดูแลเด็กคือครูประจำชั้น1คนต่อเด็ก 25 คน ครูหนึ่งคนจะแบ่งเด็กให้ทำกิจกรรม ใช้วิธีการดูแลและฝึกคุณธรรมจริยธรรม และจิตอาสา  การจัดกิจกรรมมีการน้อมนำหลักปรัชญาฯ มาใช้ เช่น นำไปบูรณาการในฐานกิจกรรมช่วงเช้า หรือกิจกรรมในวันศุกร์  ที่มีการบูรณาการจากกลุ่มสาระต่างๆ แล้วนำมาสังเคราะห์ว่าตัวเองเจอปัญหาและอุปสรรคอะไรและเขียนออกมาในรูปของโครงงาน โรงเรียนจะ “ใช้วิธีการขับเคลื่อนในรูปของโครงการวิจัย” เช่น  การใช้โทรศัพท์หรือการใช้อินเทอร์เน็ตมากเกินไป เป็นต้น โดยดูว่าเด็กในความดูแลของครูแต่ละคนสนใจกิจกรรมอะไรที่คิดว่าตัวเองเกิดปัญหา โดยเริ่มจากปัญหาก่อน เมื่อเด็กเจอปัญหาในสิ่งที่ตัวเองสนใจแล้วนำมาวิเคราะห์สังเคราะห์ ทำเป็นโครงงานขึ้นมา จากนั้นน้อมนำหลักหลักปรัชญาฯ ไปวิเคราะห์ร่วมกันในการทำโครงงาน ให้เด็กวิเคราะห์ออกมาให้ได้ว่าในสิ่งที่เด็กทำมีวิธีการคิดอย่างไร มีความพอเพียงอย่างไร ซึ่งเราทำร่วมกับกระบวนการเรียนการสอน
 

ส่วนกิจกรรมหลักๆ ทุกกิจกรรมของโรงเรียนจะสอนให้เด็กได้คิด เช่น งานไหว้ครู เราจะบอกนักเรียนว่ากิจกรรมไหว้ครูมีความสำคัญอย่างไร ให้เด็กวิเคราะห์ การทำกิจกรรมของโรงเรียนทุกกิจกรรมเราจะทำเหมือนกันหมดทุกโรงเรียนเล็ก เช่น  กิจกรรมวันแม่อุ้มท้องเราจะให้เด็กอุ้มท้องจริงๆ โดยใช้กระเป๋าเป้ เรียกกิจกรรมนี้ว่า “กิจกรรมอุ้มไข่” ให้เด็กเอาไข่ใส่กระดาษแล้วใส่ไปในกระเป๋า เขาจะต้องเดินรักษาไข่ของเขาไม่ให้แตก โดยที่เราจะสอดแทรกคุณธรรมให้เขาว่า กว่าแม่จะคลอดเราออกมาใช้เวลาเก้าเดือน เขาอยู่หนึ่งวัน เขาจะรักษาไข่ได้อย่างไร”    โดยในช่วงท้ายของทุกกิจกรรมจะมีการถอดบทเรียน เพื่อนำมาวิเคราะห์หลักปรัชญาฯ ว่างานที่เด็กทำนั้นน้อมนำหลักปรัชญาไปใช้อย่างไร อาจจะไม่ถึงกับนำไปใช้ในชีวิตประจำวันที่เป็นบริบทต่อยอด แต่เราอยากฝึกให้เด็กได้เรียนรู้จากเรื่องที่เขาทำกิจกรรมทุกวันก่อน
 

 แต่ถ้าเป็นระดับชั้น ม.ปลาย การจัดการเรียนรู้จะมีครูใหญ่ระดับชั้น ม.ปลายนำไปต่อยอดกับชุมชนนำองค์ความรู้ของทุกกลุ่มสาระมาให้เด็กคิดในลักษณะของโครงงาน เช่น โครงงานวิทยาศาสตร์ โครงงานสังคม เรามองว่าการสอนแบบโครงงานสามารถสอนได้ทุกกลุ่มสาระ แม้ว่าการสอนแบบโครงงานจะไม่ยั่งยืน แต่ถ้าเราสอนให้เขา “คิดเป็น” ไม่ว่าเขาจะทำอะไร เขาก็สามารถทำได้  และสิ่งที่เอื้อให้โรงเรียนสามารถทำกิจกรรมได้หลายกิจกรรมคือ ระบบบริหารจัดการ ซึ่งท่านผู้บริหารคนเก่าท่านวางระบบไว้ค่อนข้างดีคือแบ่งเป็นโรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่ ให้ครูหนึ่งคนดูแลเด็ก 25 คน ทำให้เรามองเห็นและสังเคราะห์เด็กได้ง่าย พาเด็กทำกิจกรรมได้ทั่วถึง เด็กสามารถแสดงกิจกรรมหรือพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ออกมาให้เห็น เราจะสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้      

 

ส่วนโครงการต่างๆ จัดทำขึ้นในโรงเรียนจะมีการการบูรณาการทั้งหมด ทุกโรงเรียนเล็กจะมีโครงการเหมือนกัน แล้วแต่ความสามารถของเด็ก ส่วนเรื่องการนำสู่ชุมชน เรามีแหล่งเรียนรู้ที่เป็นฐานกิจกรรมค่อนข้างยั่งยืน คือมีหนึ่งฐานต่อหนึ่งโรงเรียนเล็ก จะมีแหล่งเรียนรู้ทั้งหมด 6 แหล่งด้วยกัน ซึ่งแหล่งเรียนรู้ตรงนี้อาจจะประกอบด้วย น้ำส้มควันไม้ ระบบพลังงานทดแทน หรือสวนเกษตร รอบๆ โรงเรียนจะทำนากันหมด เด็กๆ จะ มองเห็นวิถีชีวิตของการทำนา จะสังเกตได้ว่าวิธีคิดของเด็กจะมาจากบริบทในชีวิตประจำวันของเขาทั้งหมด
 

ส่วนการต่อยอดกับชุมชน โรงเรียนยังทำได้น้อย เนื่องด้วยความชัดเจนในเรื่องของการเข้าใจหลักการคิดหรือน้อมนำหลักปรัชญาฯ มาใช้โดยตัวครู  เราพยายามจัดเวทีให้ความรู้กับครูที่โรงเรียนโดยแบ่งทีมบริหาร 3 ทีม คือ ทีมผู้อำนวยการ ประกอบไปด้วยรองผู้อำนวยการ 3 ท่าน และผู้อำนวยการ  ทีมครูใหญ่คือหัวหน้าระดับชั้นต่างๆ  6 ท่าน ทีมงานพัฒนาการเรียนรู้ คือหัวหน้ากลุ่มสาระ ที่คอยขับเคลื่อนในการนำหลักปรัชญาฯ ไปใช้ในโรงเรียน โดยจัดเวทีให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทุกวันอังคาร ทีมหัวหน้าหรือทีมครูใหญ่จะประชุมกับทีมบริหารในวันพุธเป็นทีมหัวหน้าหมวดคือเมื่อประชุมหรือวางแผนขับเคลื่อนทั้ง 6 โรงเรียนแล้ว นำไปขยายผลกับครูผู้ปฏิบัติทุกวันจันทร์หลังเลิกเรียนวันละหนึ่งชั่วโมง หนึ่งเดือนจัดอย่างน้อย 3 ครั้งเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานให้เป็นทิศทางเดียวกัน
 

ปัญหาและอุปสรรคคือคณะครูยังไม่ค่อยเข้าใจความหมายของหลักปรัชญาฯ อย่างแท้จริง วิธีการสอนเน้นไปที่การถามเด็ก แต่ไม่ได้สอนให้เด็กคิด  เวลาเจอปัญหาหรือเหตุการณ์ เด็กกินข้าวเหลือ ครูก็ไม่ได้สอนหรือสอดแทรกหลักปรัชญาฯ เข้าไป หรือกิจกรรมวันแม่ ครูจะทำแต่เรื่องวันแม่ว่าพอเพียงอย่างไร มีภูมิคุ้มกันอย่างไรสอนแค่เรื่องนั้นๆ แต่ในวิถีชีวิตของเด็กนั้นเขาไม่ได้นำไปใช้  ในเรื่องเด็กเรื่องพฤติกรรมเด็ก สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นจุดเด่นคือไม่มีเด็กโดดเรียน เด็กจะเข้าฐานกิจกรรมตรงเวลา เด็กจะรู้จักคอยและให้เกียรติเพื่อน