การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนประชารัฐสามัคคี

การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนประชารัฐสามัคคี

“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”

วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี

­

โรงเรียนประชารัฐสามัคคี เริ่มขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยในขั้นแรก ผอ.ส่งเสริมให้ครูนำพระราชดำรัสของในหลวงมาปฏิบัติ เน้นให้ครูมีเป้าหมายร่วมกันที่ตัวเด็ก พร้อมกับใช้แรงจูงใจให้ครูทำงานเพื่อในหลวง ให้ครูคิดอยู่ในกรอบ จากนั้นค่อยๆ เปลี่ยนความคิดของครูให้เข้าใจตรงกันว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิด หลักปฏิบัติที่สามารถนำมาใช้ได้กับทุกเรื่อง ทั้งนี้ ผอ.ได้ให้แนวทางแก่ครูโดยให้นำคุณธรรม 8 ประการของกระทรวงศึกษาธิการมาเป็นตัวเดินเรื่อง เพื่อปลูกฝังให้เด็กมีคุณธรรม มีความรู้ มีเหตุมีผล และนำเอาสัปปุริสธรรม 7 มาเป็นที่ตั้งในการทำงาน นำครูไปอบรม ศึกษาดูงาน จนเมื่อครูมีความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้นแล้ว จึงหนุนให้ครูนำหลักปรัชญาฯ มาบูรณาการเข้าสู่แผนการเรียนการสอน โดยใช้แรงจูงใจที่ว่า หากใครสามารถจัดแผนการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ ผอ.จะให้ทุนคนละหนึ่งพันบาท พร้อมทั้งดำเนินการตรวจแผนการสอนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ครูค่อยๆ พัฒนาความรู้ความเข้าใจมากขึ้น

­

บริบทโรงเรียนประชารัฐสามัคคี เปิดสอนระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีข้าราชการครูประมาณ 45 คน นักเรียนประมาณ 900 คน เป็นโรงเรียนที่มีครูสูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ตั้งอยู่ในตัวอำเภอ ครูส่วนมากมีเส้นมีสาย เมื่อเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนประชารัฐสามัคคีในปี 2547 ช่วงแรกของการทำงานพบว่าคุณครูในโรงเรียนขาดความสามัคคี จึงมีความคิดว่าควรนำพระราชดำรัสของในหลวงมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อแก้ปัญหาการขาดความสามัคคี และสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของครูในโรงเรียนให้ได้เสียก่อน

­

ช่วงแรก ผอ. ใช้วิธีการกำหนดให้ครูแต่ละคนเลือกพระราชดำรัสของในหลวงมาปฏิบัติ ครูคนไหนชอบพระราชดำรัสตอนไหนก็ให้ทำให้ได้ตามนั้น เน้นว่าการทำงานนี้ทำเพื่อเด็ก และจูงใจให้ครูทำงานเพื่อในหลวง ส่งเสริมให้ให้ครูมีกรอบคิด อย่างไรก็ตาม เมื่อนำเรื่องนี้เข้าไปขับเคลื่อน ครูในโรงเรียนมีคำถามว่า “ผอ.เราจะทำได้หรือเรามีพื้นที่แค่ 10 ไร่เอง” จากคำถามนี้เองทำให้ ผอ. เล็งเห็นว่าแท้จริงแล้วครูยังขาดความเข้าใจ ยังคิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือเกษตรทฤษฎีใหม่ จึงค่อยๆ เปลี่ยนความคิดครูให้เข้าใจตรงกันว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็น “หลักคิด หลักปฏิบัติ” ที่สามารถนำมาใช้ได้กับทุกเรื่อง และให้แนวทางแก่ครูนำคุณธรรม 8 ประการของกระทรวงศึกษาธิการมาเป็นตัวเดินเรื่อง เพื่อปลูกฝังให้เด็กมีคุณธรรม มีความรู้ มีเหตุมีผล และนำเอาสัปปุริสธรรม 7 มาเป็นที่ตั้งในการทำงาน จากนั้นหาห้องเรียนตัวอย่างที่เห็นแววความเข้าใจเพื่อสร้างทีมขับเคลื่อน นอกจากนี้ยังมีโครงการบันทึกรายรับรายจ่าย การออม ให้ครูบันทึก จัดให้ครูเข้าร่วมอบรมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้พบปะกับโรงเรียนเครือข่าย เช่น โรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม ได้รับคำแนะนำจาก ผอ.ระวี ขุณิกากรณ์และทีมงานที่ไปเป็นวิทยากรว่า ต้องนำหลักปรัชญาฯ สู่แผนการเรียนการสอน ขั้นต่อไป ผอ.จึงเร่งส่งเสริมให้ครูนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบูรณาการเข้าสู่แผนการเรียนการสอน หากใครสามารถจัดแผนการเรียนรู้จากเศรษฐกิจพอเพียงที่ครอบคลุมตามระดับชั้น ผอ.จะให้ทุนสนับสนุนคนละหนึ่งพันบาท เป็นการสร้างแรงจูงใจ แม้ช่วงแรกครูหลายคนไม่พอใจ เพราะคิดว่าเป็นภาระ การทำแผนการเรียนรู้จะต้องไปรื้อแผนเดิมและทำใหม่ แต่ ผอ. ก็ช่วยให้คำปรึกษา สร้างกำลังใจ สร้างความตระหนัก ชี้ให้เห็นประโยชน์ รวมทั้งมีความมุ่งมั่น และมีพี่เลี้ยงดี มีที่ปรึกษาดีจึงทำให้การขับเคลื่อนนี้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น

­

การดำเนินงาน เริ่มสนับสนุนให้ครูรุ่นใหม่ทำก่อน เพราะครูสูงอายุจะเปลี่ยนความคิดยาก เขาจะไม่ทำ ผอ.จะแก้ปัญหานี้ด้วยการตรวจแผนการสอนควบคู่ไปด้วย เพื่อกระตุ้นให้ครูทุกคนทำ จากนั้นค่อยๆ กำหนดให้ครูทุกคนสอนแบบโครงงาน เมื่อทำเสร็จแล้วโรงเรียนจัดให้มีเวทีนำเสนองาน นำคณะกรรมการศึกษาลงมาดูผลงาน เพื่อสร้างกำลังใจและชื่นชมผลงานของครูและนักเรียน พร้อมๆ กับเน้นว่าทุกสิ่งที่ครูทำต้องตอบโจทย์ที่ตัวเด็ก เด็กได้อะไร เปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไร นั่นคือต้องดูทั้งวิถีชีวิตครูและเด็ก ผอ.ส่งเสริมต่อว่า ต่อไปนี้ครูต้องมีหน่วยการเรียนตัวอย่าง เพื่อให้คนอื่นเขาดู เพราะโรงเรียนประชารัฐสามัคคีเป็นศิษย์มีครู คือโรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม มาเป็นพี่เลี้ยง และเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงาน ช่วยพัฒนาครู พัฒนาเด็ก ไปพร้อมๆ กัน จากบริบทที่แตกต่างเพราะประชารัฐสามัคคีเป็นโรงเรียนเด็กเล็ก ได้หลักคิดว่าเด็กเล็กก็ต้องนำเสนอแบบภาษาเด็ก สอนวิธีตั้งคำถามจากน้อยไปหามากโดยไม่หวังคำตอบ หรือจากหารูปธรรมไปหานามธรรม กลับมาครูได้วิธีการตั้งคำถามที่เหมาะกับวัยเด็ก

­

ด้านชุมชน เด็กในโรงเรียนเป็นเด็กนอกพื้นที่ประมาณ 600-700 คน ทำให้การรวมตัวของผู้ปกครองทำได้ยาก เราเคยเชิญผู้ใหญ่บ้านมาประชุม ปรากฏว่าผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น อบต. ก็กลับไปต่อว่าโรงเรียนคู่ขนาน ว่าทำไมไม่ทำเหมือนโรงเรียนประชารัฐ ก็กลายเป็นการสร้างศัตรู ยกตนข่มท่าน ความหวังดีกลายเป็นสิ่งที่เลวร้าย ตรงนี้ยังเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข และสร้างความเข้าใจกับชุมชน

­

ผลที่เกิด จากการบริหารดังกล่าว ครูเริ่มเปลี่ยนความคิดว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องเกษตร แต่เป็นหลักคิด ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งการเรียนการสอน และการดำเนินชีวิต และมีความสามัคคีกันมากขึ้น ด้านนักเรียนมีความกล้าแสดงออก มีความเป็นผู้นำ รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล มีกิริยามารยาทดีขึ้น

­

­