การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์

การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์

“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”

วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี

­

การบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่การเรียนการสอนของโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์มี 2 รูปแบบคือ บูรณาการเฉพาะรายวิชาและบูรณาการรวมทั้ง 8 กลุ่มสาระ ก่อนการจัดกิจกรรมบูรณาการแต่ละกลุ่มสาระจะจัดประชุมเพื่อออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน โดยนำเสนอในสัปดาห์วิชาการ และตลาดนัดความรู้ที่ให้นักเรียนแต่ละสายชั้นจัดบูทนำเสนอผลงานของตัวเอง ให้เพื่อนๆ ได้เรียนรู้และวิเคราะห์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปพร้อมกัน

­

โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ให้ครูแต่ละคนทำแผนการเรียนการสอนกับการบูรณาการเฉพาะรายวิชาของตัวเองอย่างน้อยเทอมละ 1 แผน และมีแผนบรูณาการรวมกันในสายชั้นทั้ง 8 กลุ่มสาระด้วย สำหรับแผนรายวิชาของตัวเอง ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ตอนแรกนั้นคิดว่าจะเกี่ยวข้องกับการออมเงินหรือเปล่า แต่ก็ไม่ใช่ เมื่อได้ลองทำแผนเกี่ยวกับเรื่องสวนสมุนไพรในฝัน เพราะโรงเรียนมีสวนสมุนไพรและมีฐานกิจกรรม โดยแบ่งให้นักเรียนแต่ละชั้นรับผิดชอบ เช่น ม.1 รับผิดชอบเรื่องสวนสมุนไพรซึ่งพื้นที่มีจำกัดมาก ให้เด็กคิดวางแผนที่จะทำสวนสมุนไพรว่า จะปลูกอะไรในสวนสมุนไพร ซึ่งจะเกี่ยวกับวิชาการสร้างโดยการใช้วงเวียน หลังจากนั้นให้เด็กพิจารณาว่าเรามีพื้นที่จำกัด เด็กทำอย่างไรจึงจะเนรมิตสวนของตัวเองขึ้นมาโดยใช้พื้นที่จำกัด และสามารถมีสมุนไพรที่ตัวเองคิดว่าอยากจะปลูกลงไป เด็กจะได้เรื่องความพอประมาณที่จะสร้างในขนาดพื้นที่จำกัด ปลูกอะไร แค่ไหน ทำไมถึงปลูก ถามว่าทำไมถึงเลือกที่จะปลูกพืชชนิดนี้ ซึ่งเด็กจะมีเหตุผลในการที่จะเลือกปลูกเพราะมันสำคัญ มีสรรพคุณอย่างไร เช่น บางคนบอกว่า คุณย่าป่วยเป็นโรคหวัดเป็นประจำ เขาจึงเลือกที่จะปลูกพืชผักชนิดที่สามารถรักษาแก้หวัดได้ เช่น ฟ้าทลายโจร เขาวางแผนผังของเขาว่าตรงนี้จะปลูกฟ้าทลายโจร เพื่อประโยชน์อะไร เห็นได้ว่าเด็กได้ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีเหตุผลในการเลือกปลูก รวมถึงเรื่องภูมิคุ้มกัน เพราะช่วงนั้นโรคไข้หวัดนกระบาด เขาจะเลือกปลูกฟ้าทลายโจร ซึ่งการทำงานครั้งนี้ให้จัดทำเป็นกลุ่ม นักเรียนก็จะได้ในเรื่องมิติทางด้านสังคมและเรื่องสิ่งแวดล้อม แล้วให้เด็กวิเคราะห์หลักปรัชญา 3 ห่วง 2 เงื่อนไข รวมถึง 4 มิติทุกครั้งว่า เขามีความพอประมาณตรงไหน มีเหตุผลตรงไหน ส่วนไหนที่เป็นภูมิคุ้มกัน จากที่คิดว่าวิชาคณิตศาสตร์คงทำได้แค่เก็บเงิน ออมเงินเท่านั้น แต่นี่เป็นเรื่องของการสร้างรูปเรขาคณิต ให้เด็กได้ใช้ความรู้และสามารถที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ อันนี้เป็นตัวอย่างของแผนรายวิชา ซึ่งแต่ละวิชาต้องทำส่ง ครูแต่ละท่านจะมีกระบวนของตัวเอง บางคนจะแทรกไปในการจัดกิจกรรม บางคนไปสรุปรวมข้างหลัง

­

ส่วนแผนบรูณาการหลักปรัชญาฯ ที่ทำร่วมกันทั้ง 8 กลุ่มสาระ ซึ่งเป็นนโยบายของโรงเรียน ทำในช่วงวันวิชาการ โดยก่อนที่จะลงไปจัด ผู้บริหารจะให้ทุกคนทั้ง 8 กลุ่มสาระได้ประชุมวางแผนร่วมกันว่าทำไมถึงเลือกเรื่องนี้ เช่น ม.1 ดูแลสวนสมุนไพร นำเรื่องนี้เป็นตัวตั้งไว้ก่อน แล้วจะทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องสมุนไพร ปีก่อนทำยาดมสมุนไพร ปีนี้ทำยำสมุนไพร และเมื่อได้เรื่อง 1 เรื่องแล้ว เช่น ยาดมสมุนไพร ทุกคนจะต้องไปดูมาตรฐานตัวชี้วัดเพื่อไม่ให้หลุดกรอบ และใช้ประเมินผลนักเรียน มีคะแนนให้เด็กด้วย ไม่ใช่แค่สอนไปเรื่อยๆ เมื่อดูมาตรฐานตัวชี้วัดแล้วนำมาวิเคราะห์ เช่น คณิตศาสตร์เรียนเรื่องอัตราส่วน วิทยาศาสตร์เรียนเรื่องส่วนประกอบของสุมนไพร สุขศึกษาได้เกี่ยวกับเรื่องประโยชน์ การทำยา ภาษาไทยเป็นเรื่องการแต่งกลอน ภาอังกฤษดูคำศัพท์ ศิลปะเรื่องการวาดภาพ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ เมื่อได้ครบทุกสาระ โรงเรียนจะจัดเป็นสัปดาห์วิชาการเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ทั้ง 8 สาระ เด็กจะได้เนื้อหาวิชาความรู้และสามารถถอดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ หลังจากนั้นทุกสายชั้นจะจัดตลาดนัดความรู้ ม.1 จัดบูทยาดมสมุนไพร ม.2 ผ้าพันคอ ซึ่งมีทั้งหมด 10 ทีม จะเวียนกันไปตามบูทต่างๆ ทุกคน จะได้ความรู้ที่หลากหลายขึ้น และได้วิเคราะห์หลักปรัชญาฯ ของแต่ละทีมชั้นด้วย

­

เด็กเล็กที่ยังไม่เข้าใจกระบวนการ จะให้พี่พาน้องไปเรียนรู้ขั้นตอนต่างๆ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นเด็กเก่าที่เราทำมาตั้งแต่ปี 52 - 53 เขาก็จะถามเลยว่า ถอดบทเรียนหรือไม่ เขาจะวิเคราะห์ได้ว่าที่เขาทำเป็นหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขอย่างไร เช่น เวลาไปทัศนศึกษาเขาก็ต้องดูว่า การแต่งกายพอประมาณอย่างไร เหตุผลที่ใส่ชุดนี้ จำเป็นต้องเอาอะไรไปบ้าง ถ้าเป็นเด็กเล็กประเด็นที่เขาดึงมาวิเคราะห์มีแค่ประเด็น 2 ประเด็น แต่ถ้าเป็นเด็กโตจะวิเคราะห์ได้เยอะ

­

ที่โรงเรียนจะจัดตลาดนัดทุกเดือน โดยให้เด็กไปคิดว่าจะทำอะไร ขายอะไร เขาก็ชินและกลับไปที่บ้านให้ผู้ปกครองสอน จะมีบางส่วนที่เขามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เราได้โอกาสที่ว่า ผู้บริหารเป็นนักบวช แต่เราไม่ได้บังคับว่าทุกคนจะต้องเป็นคาทอลิก แต่ทุกวันพฤหัสบดีเราจะมีกิจกรรมที่เสริมให้กับเด็ก เป็นกิจกรรมเรียนรู้หลักธรรม เด็กที่เป็นคาทอลิกเข้าโบสถ์ซึ่งอยู่หน้าโรงเรียน ส่วนเด็กพุทธจะไปวัดที่อยู่หลังโรงเรียน เฉพาะฉะนั้นการหล่อหลอมนิสัย ซึ่งถ่ายทอดผ่านคุณครูสู่เด็ก ถือว่าเด็กของเราก็มีคุณภาพ ซึ่งได้ทั้งจากการเรียนการสอน สภาพแวดล้อม และตัวอย่างดีๆ ในในโรงเรียนด้วย นอกจากนี้เรายังกำหนดไว้ว่าเดือนธันวาคมจะต้องมีสัปดาห์วิชาการ ที่ทุกระดับชั้นต้องเรียนรู้ ซึ่งจะมีแผนบูรณาการเป็นสายชั้นอยู่แล้ว หลังจากนั้นจะจัดตลาดนัด

­

มีอยู่ปีหนึ่งครูชั้น ม.2 ไม่รู้ว่าจะสอนอะไรดี เพราะทำมาหลายอย่างแล้ว แต่มีเด็กคนหนึ่งบอกว่าเห็นเพื่อนถักผ้าพันคอ น่าสนใจและน่าจะทำ ครูจึงไปถามเด็กห้องอื่น ซึ่งเด็กห้องอื่นเห็นด้วยว่าน่าทำ และสาเหตุที่ครูเห็นด้วยเพราะเด็ก ม.2 จะไม่ค่อยนิ่ง ไม่มีสมาธิ การถักผ้าพันคอจะทำให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น และได้ผล หลังจากนั้นครูให้คำนวณว่าการถักผ้าพันคอมีค่าใช้จ่ายเท่าไร ให้เด็กไปคิดปรากฏกว่า เมื่อเด็กไปคิดแล้ว ต้องใช้ไหม และเฟรมราคา 150 บาท เขาก็ไม่ซื้อ แต่เขาซื้อขันใบละ 7 บาท แล้วเอามาตัดโดยใช้หลักทางคณิตศาสตร์ การวัด การตัด เข้าไปช่วย เขาจะลงทุนแค่ไหม ส่วนไม้ถักปกติคู่ละ 70 บาท แต่เขาไปเอาตะเกียบมาเหลาแล้วใช้ถักแทน ซึ่งเด็กผู้ชายถักได้คนละ 3 - 4 ผืน กลายเป็นว่าเมื่อปีที่แล้วโรงเรียนถักผ้าพันคอกันทั้งโรงเรียน เมื่อมีคนเข้าไปดูงานที่โรงเรียน มีกิจกรรมนี้เป็นฐานหนึ่งให้เห็นว่าโรงเรียนใช้กระบวนการนี้ในการสอนเด็ก เป็นวิธีการหนึ่งที่เราเลือกว่าจะนำเรื่องไหนมาสอนเด็กให้มีนิสัยพอเพียง เพราะจุดประสงค์ของหลักปรัชญาฯ คือการสร้างหลักคิด คิดอย่างไรจึงจะพอเพียงกับการทำงานของตัวเอง

­

ถ้าถามว่าการจัดกิจกรรมจะทำให้เด็กเสียเวลาเรียนหรือไม่ คิดว่าไม่เสีย เพราะครูนำเรื่องเรียนมาใส่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำเรื่องอะไรก็ตาม ครูต้องหันมามองมาตรฐานตัวชี้วัดของเนื้อหา โรงเรียนมีฐานการเรียนรู้เยอะ เช่น ห้องพิพิธภัณฑ์ ห้องสื่อ จะให้ฐานการเรียนรู้เหล่านั้นมีชีวิต ถ้าฐานอยู่เฉยๆ จะมีคนกี่คนที่เดินเข้าไปดู ดูแล้วก็จบ แต่ถ้าครูเอาฐานการเรียนรู้มาตั้ง แล้วนำมาบูรณาการทั้ง 8 กลุ่มสาระ เช่น ห้องพิพิธภัณฑ์ก็มาดูว่าจะเอาเรื่องไหน ทั้งอุปกรณ์เครื่องจักรสาน เพราะฉะนั้นฐานของโรงเรียนจะมีชีวิต เด็กจะได้ศึกษาเรียนรู้จริงๆ ไม่เช่นนั้นฐานของโรงเรียนก็ไม่เกิดประโยชน์ ถ้าเรามีไม่มากแต่เราลงลึกในเรื่องนั้นเด็กจะได้จริง ปีนี้โรงเรียนจัดฐานน้อยลง เพราะมีแผนจะขยายโรงเรียน เนื่องจากชั้นอนุบาลไม่พอเรียน ต้องใช้พื้นที่ฐานเลี้ยงหมูหลุม กบคอนโด ปลูกผัก ไปสร้างอาคารเรียนแทน