การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม

การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม

“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”

วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี

­

การขับเคลื่อนในโรงเรียนหลักการครั้งแรกคือ “สร้างความตระหนัก” ให้ครูและนักเรียน มีครูแกนนำ 11 คน การบูรณาการหลักปรัชญาฯ เน้นไปที่การสอดแทรกโดยพิจารณาแต่ละรายวิชาของมาตรฐานตัวชี้วัด แล้วจัดกระบวนการ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามเนื้อหาสาระ โดยฝึกให้ครูวิเคราะห์หลักสูตร จัดทำหน่วยการเรียนรู้ จัดทำแผนการเรียนรู้ การขับเคลื่อนหลักปรัชญาฯ ดำเนินการผ่าน 3 ทีม คือ 1.ทีมนำ ได้แก่ งานบริหารซึ่งมีผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการเป็นผู้กำหนดนโยบาย หลักการ วิธีการ 2.ทีมทำงาน ได้แก่ ครูแกนนำ หรือกองเลขาที่จะไปรับวิธีการ องค์ความรู้ใหม่ๆ ไปขยายผลให้กับบุคลากรในโรงเรียนทั้งโรงเรียน และ 3. ทีมประสานได้แก่ ครูในกลุ่มสาระต่างๆ เป็นผู้ทำงานต่อไป พร้อมกับหนุนเสริมทั้ง 4 ด้าน คือการบริหารงานทั่วไป งบประมาณ วิชาการ และงานบุคคล มีการตั้งคณะกรรมการงานขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับ “กลยุทธ์” การสร้างทีมของโรงเรียนจะทำผ่านหลัก 5 ส. พอเพียง คือ สร้างความศรัทธา สร้างแกนนำสร้างครือข่าย สร้างโอกาส และสร้างผลงานเชิงประจักษ์ คือให้โอกาสครูได้แสดงผลงานเมื่อมีคนมาศึกษาดูงาน เพื่อให้ครูเกิดการพัฒนาต่อไป

­

โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคมขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2549 แต่ตอนนั้นยังไม่ค่อยเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเท่าไร อาจารย์สารภี สายหอม มีโอกาสเข้าไปดูที่เว็บไซต์เห็นการประกวดสื่อการจัดการเรียนการสอนเศรษฐกิจพอเพียง จึงทำสื่อบทเรียนเป็นการ์ตูนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงส่งเข้าประกวด ได้รับรางวัลและคณะผู้จัดประกวดสื่อ ก็พาครูกลุ่มนี้ไปศึกษาดูงานโครงการพระราชดำริ ต่อมาอาจารย์สารภีได้รับเชิญจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้ไปร่วมร่างหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา แล้วนำมาขยายผล มีครูสนใจร่วมด้วย 4 - 5 คน กลุ่มนี้เรียกว่าเป็น “กลุ่มก่อการดี” แต่ตอนหลังเรียกว่า “กลุ่มกองเลขา” พอจะประเมินสถานศึกษาพอเพียงก็มีคำสั่งแต่งตั้งชัดเจนเป็น “คณะกรรมการงานขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีอาจารย์สารภีเป็นหัวหน้า มีลูกทีม 4 – 5 คน

­

การขับเคลื่อนในโรงเรียน ใช้หลักการแรกคือ “สร้างความตระหนัก” ให้ครูในโรงเรียน โดยพยายามจัดประชุม เล่าเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้คณะครูอาจารย์ในโรงเรียนรู้ว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร ไม่ใช่เกษตรทฤษฏีใหม่ ไปเล่าให้ฟัง เอาตำราไปเผยแพร่ มีครูสนใจร่วมงาน 11 คน ครั้งแรกที่ตั้งเป็นคณะกรรมการงานขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตอนนั้นผมทำงานบริหารงานทั่วไป ผอ.แสน แหวนวงศ์ (ผู้อำนวยการโรงเรียนสมัยนั้น) เห็นว่าผมกับหัวหน้าทีมใกล้ชิดกัน จึงเอาโครงสร้างงานนี้มาไว้ที่งานบริหารทั่วไป เพื่อรองรับการประเมิน เราจึงจัดทำโครงสร้างการบริหารงานขึ้นมา มีการเชิญคณะกรรมการขับเคลื่อนงานมาพูดคุยกันว่ากองบริหารงานทั่วไปจะดูแลส่งเสริมเรื่องนี้อย่างไร พร้อมกับจัดทำเรื่ององค์กร ทำแผนผัง วิสัยทัศน์ พันธกิจ เราเลยดูแลเรื่องอาคารสถานที่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการประเมิน 4 ด้าน ด้านงบประมาณ ทุกโครงการของโรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคมต้องเขียนแผนให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าไม่สอดคล้องถือว่าโครงการนั้นต้องกลับไปเขียนใหม่ เขียนไม่ยาก เพราะคำว่า “สอดคล้อง” จะมีข้อจำกัดอยู่ว่า ความพอประมาณมีอะไรบ้าง เช่น พอประมาณเรื่องบุคลากร สถานที่ เป็นต้น หลักการเหตุผล ภูมิคุ้มกัน และไปสอดคล้องกับ 4 มิติอย่างไร ถ้าเขียนไม่ได้โครงการไม่ผ่าน ครูทั้ง 11 คนจะเป็นครูกลุ่มแกนนำที่คอยแนะนำเพื่อนครูอว่าเขียนโครงการอย่างไร จึงจะสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีอาจารย์สารภีเป็นหัวหน้าทีม

­

ส่วนงานด้านวิชาการจะเน้นเรื่องการจัดทำหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน เพราะตอนนั้นใช้หลักสูตรปี 44 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงยังยึดตามหลักสูตรที่ว่า ม.1 ต้องรู้จักครอบครัวของตนเอง ม. 2 รู้จักชุมชน ม. 3 รู้จักอำเภอ นั่นคือกรอบของหลักสูตรปี 44

­

การบูรณาการมีหลายรูปแบบ แบบที่ 1 คือบูรณาการแบบสอดแทรกในรายวิชา สอดแทรกในกลุ่มสาระ 2. บูรณาการแบบสหวิทยาการคือ 8 กลุ่มสาระ+ 1 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ครั้งแรกที่มีการบูรณาการจะเน้นไปที่การสอดแทรกโดยพิจารณา และจัดกระบวนการ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามมาตรฐานตัวชี้วัด ไม่ได้สอดแทรกในเนื้อหาสาระ ใช้ครูแกนนำทั้ง 11 คน เป็นตัวขยายผล การสอดแทรกในทุกกลุ่มสาระจะไปดูที่มาตรฐาน ตัวชี้วัด โดยต้องมีการวิเคราะห์มาตรฐานตัวชี้วัดก่อนซึ่งเป็นงานที่ฝ่ายวิชาการรับผิดชอบ แต่สำหรับผมจะเน้นหนักเรื่องของการสอดแทรก ไม่เน้นไปที่สหวิทยาการเหมือนโรงเรียนอื่นๆ แต่เน้นสอดแทรกแบบโครงงาน เวลาเขาประเมินผล ด้วยโครงงาน ไม่นำวิชาอื่นมาเกี่ยวข้อง เพื่อให้ครูเกิดความตระหนักและทำให้เป็นนี่ คือข้อเด่นของโรงเรียน ซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการประเมินของครูที่หลากหลาย แต่ส่วนมากจะออกมาเป็นโครงงานเป็นส่วนใหญ่ และการทำโครงงานไม่ได้หมายถึงเฉพาะวิชาใดวิชาหนึ่งเท่านั้น แต่หมายถึงวิชาอื่นๆ ด้วย เช่น โครงงานวิทยาศาสตร์ เด็กนักเรียนสามารถอ้างอิงได้ว่ามาตรฐานตัวชี้วัดที่เขาเรียนอยู่ให้ไปดูที่โครงงานวิทยาศาสตร์ที่เน้น How to

­

ฝ่ายวิชาการจะดูแลหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การทำแผนการสอน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และชมรมต่างๆ ซึ่งเป็นพวกทำโครงงาน ไม่ได้ทำในรายวิชา เช่น ชมรมต้นกล้าพอเพียง ชมรมบาสเก็ตบอล ก็ทำเป็นโครงงานนำเสนอ เด็กจะอ้างอิงถึงโครงงานต่างๆ ไม่ใช่การทำโครงงานเฉพาะรายวิชา เด็กต้องรู้ว่าในมาตรฐานตัวชี้วัดเวลาครูประเมินเขาจะโยงไปที่ไหน โดยเด็กสามารถนำเสนอครูได้ว่าให้ครูประเมินเขาจากโครงงานไหนอย่างไร และฝ่ายวิชาการจะดูแลแหล่งเรียนรู้ของกลุ่มสาระต่างๆ ส่วนฝ่ายบุคคลจะทำหน้าที่สนับสนุนเรื่องอาหารการกิน และการจัดอบรม

­

ฉะนั้นด้วยโครงสร้างการทำงานเช่นนี้ ไม่ว่าผู้อำนวยการจะย้ายหรือไม่ย้ายก็ไม่ได้มีผลต่อการขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจพอเพียงแต่อย่างใด ผู้อำนวยการคนใหม่ย้ายมาก็จะรู้ว่าควรทำอะไรใน 4 ด้านนี้

­

โครงสร้างการขับเคลื่อนงานนี้จัดทำโดย ผอ.แสน ผม และครูแกนนำทั้ง 11 คน ทำโครงสร้างเสร็จจนผ่านการประเมิน ผอ.แสนจึงย้ายไปอยู่โรงเรียนศีขรภูมิพิสัย เมื่อ ผอ.ชูเดช เข้ามา เห็นโครงสร้างที่มีอยู่ก็มาศึกษาต่อ คนที่ไปรับป้ายสถานศึกษาพอเพียงคือ ผอ.ชูเดช พอรับป้ายเสร็จโรงเรียนก็เริ่มสร้างเครือข่าย เรายอมรับว่าโรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคมไปเร็วกว่าที่อื่นๆ เพราะเราลงมือทำก่อนคนอื่น ประเมินสถานศึกษาพอเพียงสำโรงทาบวิทยาคมก็เป็นครั้งแรกของประเทศ ประเมินศูนย์การเรียนรู้สำโรงทาบวิทยาคมก็อยู่ในกลุ่มโรงเรียนแรกของประเทศ

­

วิธีการสร้างความตระหนักเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่โรงเรียนทำมี 2 รูปแบบคือ 1. ครู 2. นักเรียน สำหรับนักเรียนนั้นหลังจากที่มีการบรรยายในที่ประชุมให้ครูเข้าใจแล้ว ทางกองเลขาและทีมงานก็ทำเป็นโครงการประกวดการจัดบอร์ดหน้าห้องเรียน โดยไม่บอกองค์ความรู้เรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เด็กเลย ให้เด็กไปสืบค้นเอง และมาจัดบอร์ดเอง โดยให้งบประมาณไปห้องละ 500 บาท บอกว่าเป็นธีมเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้น เพราะตอนนั้นเด็กไม่รู้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร แต่เผอิญว่าสำโรงทาบวิทยาคมเป็นโรงเรียนในฝัน ระบบ ICT ค่อนข้างดี เด็กสามารถค้นหาจากอินเทอร์เน็ตได้หมด เด็กก็ตื่นเต้น เขาไปเอารากไทร กิ่งไม้ที่มีในท้องถิ่นมาจัดแข่งกันในระดับสายชั้น สนุกสนานกันมาก ผิดถูกเราไม่รู้ แต่เด็กได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ม.1 ก็ไปดูของเพื่อนบ้าง ดูของรุ่นพี่ ม. 3 - ม. 4 บ้าง เขาไปแลกเปลี่ยนกันเอง โดยเราไม่บอกว่าถูกหรือผิด เด็กก็นำเสนอ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขเต็มไปหมด แค่นั้นเองสำหรับเด็ก และทีมเลขาก็ติดสติ๊กเกอร์ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขทั้งโรงเรียน เพื่อให้เด็กได้อ่านได้เรียนรู้ แต่เรายังไม่บอก เพราะเราไม่มั่นใจว่าครูเรารู้หรือยังว่าเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร 3 ห่วง 2 เงื่อนไข 4 มิติเป็นอย่างไร

­

ส่วนการสร้างความตระหนักให้ครูก็แจกเอกสารแจกครูเช่นกัน นี่คือกลวิธีสร้างความตระหนักให้ครู ส่วนจะสร้างได้มากได้น้อยไม่รู้ จากนั้นเรานำหลักสูตรที่อาจารย์สารภีกับอาจารย์อีกท่านหนึ่งไปทำหลักสูตรและได้หลักสูตรต้นฉบับว่าช่วงชั้นที่1 คือ ป.1 – ป.3 จะสอนอะไร ม. 1 – ม. 4 สอนอะไร ซึ่งถ้าจำไม่ผิดคือ ม.1 รู้จักครอบครัวตนเอง ม.2 รู้จักชุมชนตัวเอง ม.3. รู้จักอำเภอตัวเอง ม.4 รู้จักจังหวัดตัวเอง คือกรอบงานจะเป็นอย่างนี้ แล้วพวกผมก็สอดแทรกเข้าไปโดยให้ครูมาวิเคราะห์และจัดทำหลักสูตรด้วย ซึ่งตอนนั้นยอมรับว่าครูของเรายังทำหลักสูตรไม่เก่ง เราจึงให้ครูวิเคราะห์หลักสูตร จัดทำหน่วยการเรียนรู้ จัดทำแผนการเรียนรู้ พอครูได้วิเคราะห์ครูก็ได้มีการทบทวนจนได้หลักสูตรโรงเรียน ได้แผนการเรียนการสอนซึ่งเป็นแผนแบบสอดแทรกสาระไม่ใช่แบบสหวิทยาการ พอครูเขียนแผนเสร็จ โรงเรียนมีนโยบายว่าครู 1 คนจะต้องมีแผนสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างน้อยหนึ่งหน่วย ไม่ว่าจะสอนกี่รายวิชาก็ตาม

­

หลักการบริหารของผมจะใช้สามเหลี่ยมอันนี้คือ 1.ทีมนำได้แก่ บริหารซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการเป็นผู้กำหนดนโยบาย หลักการวิธีการ 2.ทีมทำงาน ได้แก่ ครูแกนนำ หรือกองเลขาที่ผมเรียกว่า “กลุ่มก่อการดี” กลุ่มนี้จะไปรับวิธีการองค์ความรู้ใหม่ๆ มาประสานงาน ขยายผลให้กับบุคลากรในโรงเรียนทั้งโรงเรียน และ 3. ทีมประสาน ได้แก่ ครูในกลุ่มสาระต่างๆ เป็นผู้ทำงานต่อไป เราจะค้ำจุนด้วยสามส่วนนี้ พร้อมกับหนุนเสริมทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ด้านการบริหารงานทั่วไป งบประมาณ วิชาการ และบุคคล ไม่ใช่ด้านใดด้านหนึ่ง ผมไม่ได้ทำคนเดียว แต่เมื่อผมจะทำผมต้องนำเสนอในที่ประชุมของฝ่ายบริหารที่กำหนดการประชุมไว้ทุกวันจันทร์ ที่จะมีการพูดคุยกันทุกเรื่องไม่เฉพาะแต่เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้น และตอนนี้ก็ยังทำแบบนี้อยู่ ไม่เช่นนั้นทำงานไม่ได้ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน และการทำงานสอดคล้องกัน คือเถียงกันตั้งแต่วงประชุมให้เสร็จ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วแต่ละฝ่ายจึงจะไปพูดคุยกับแกนนำของตัวเอง เวลาแกนนำผมเสนอขึ้นมาผมก็จะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมผู้บริหารทุกวันจันทร์ ทุกงานจะต้องมีเจ้าภาพ โดยเฉพาะงานเศรษฐกิจพอเพียงที่เราตั้งเป็น “คณะกรรมการงานขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

­

สำหรับแกนนำจะมาจากไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้ากลุ่มสาระ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนในท้องถิ่น แต่เป็นคนที่อยากทำ ตอนนี้ครูแกนนำก็ยังมีอยู่ 11 คนเท่าเดิม แต่โรงเรียนมีนโยบายว่าครูทุกคนต้องเป็นวิทยากรได้ เพราะฉะนั้นแกนนำต้องไปขยายผลองค์ความรู้การวิเคราะห์มาตรฐานตัวชี้วัด จัดทำหน่วยการเรียนรู้ เขียนแผนการเรียนการสอนให้หัวหน้ากลุ่ม หัวหน้ากลุ่มไปขยายให้กับครูในกลุ่มสาระ ถ้าครูในกลุ่มสาระไม่เข้าใจก็ต้องกลับไปหาครูแกนนำใหม่ ครูแกนนำก็ต้องไปช่วยอธิบายทำความเข้าใจใหม่ เพื่อให้ครูในกลุ่มสาระเข้ามาเป็นวิทยากรผู้ช่วยที่มีครูแกนนำทั้ง 11 คนเป็นวิทยากรหลักในการฝึกอบรม หัวหน้ากลุ่มหรือตัวแทนกลุ่มที่ได้รับมอบหมายหรือได้รับการยอมรับในกลุ่มจะมาเป็นวิทยากรผู้ช่วย เพราะฉะนั้นทุกคนสามารถเป็นวิทยากรได้หมด และต้องมีแผนการเรียนการสอนนำเสนอประกอบการเป็นวิทยากรด้วย ไม่ใช่พูดปากเปล่า แต่เทคนิคของโรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม เวลาคนมาดูงานจะไม่ให้ดูแผนก่อน แต่ผู้มาเรียนรู้ดูงานจะต้องฟังวิทยากรหลัก ฝึกปฏิบัติเขียนแผนโดยมีวิทยากรผู้ช่วยคอยดูแล สุดท้ายวิทยากรผู้ช่วยจึงนำแผนของตัวเองมาให้ดูว่าแผนของเขาเป็นอย่างไร ไม่ใช่พูดแต่ปาก

­

การสร้างเครือข่าย : มี 2 ลักษณะ คือการดูงานและฝึกอบรม เมื่อมีผู้มาเรียนรู้ดูงานโรงเรียนจะถามก่อนว่าจะมาดูงานหรือฝึกอบรม ถ้าดูงานจะเน้นไปที่การสร้างความตระหนักให้ครู เพราะคนที่มาดูงานส่วนมากยังไม่ค่อยเข้าใจ ผู้บริหารและรองอาจจะรู้เรื่อง แต่ครูไม่รู้เรื่อง จึงต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง อธิบายกระบวนการ ซึ่งผมเรียกว่าการวิเคราะห์องค์กร จุดหลักของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ตรงนี้ การดูว่าผู้บริหารว่าเข้าใจไหม ครูเข้าใจไหม ดูที่วิสัยทัศน์ พันธกิจว่าเขามีหรือยัง ถ้ายังไม่มีแสดงว่า ยังไม่ตระหนัก พร้อมกับแนะนำวิธีการสร้างองค์กร หลังจากนั้นจึงไปดูกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่น โครงงานเด็ก เป็นต้น ที่ครูเก็บโครงงานดีๆ เอาไว้

­

แต่ถ้าฝึกอบรมเริ่มตั้งแต่กระบวนการทบทวนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มจากการทบทวนผ่านภาพ จากนั้นจึงไปสู่การบรรยายเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การวิเคราะห์มาตรฐานตัวชี้วัด การจัดทำหน่วยการเรียนรู้ การเขียนแผน การออกแบบการวัดผล ประเมินผล เป็นการสอดแทรกในรายวิชาในกลุ่มสาระ แต่ยังไม่เป็นสหวิทยาการ เวลาคนมาอบรมก็จะได้ดูแผนของแต่ละกลุ่มสาระด้วย

­

กิจการเสริมอีกอันที่ทำคือ “เรื่องเล่า” เพราะอาจารย์สารภีได้รับรางวัลเรื่องเล่ารุ่นแรก คุณครูวิไลวรรณได้รางวัลรุ่นที่สอง และมีเด็กนักเรียนได้รางวัลอีก 2 คน ฉะนั้นตอนนี้โรงเรียนจึงให้เด็กทุกคนเขียนเรื่องเล่าการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้อย่างไรในชีวิตประจำวัน เทอมละครั้งส่งประกวดในโรงเรียน โดยเบื้องต้นครูที่ปรึกษาจะอ่านกรองก่อน เสร็จแล้วคัด 3 – 4 คนต่อห้องส่งให้กองเลขาฯ ซึ่งแต่งตั้งให้คณะกรรมการส่วนมากเป็นครูภาษาไทยกับกองเลขาฯ อ่าน ระดับชั้นละ 120 คน เด็กเล็กเขียนประมาณ 1 หน้ากระดาษ ทำแบบนี้เพื่อให้เด็ก “คิดวิเคราะห์” ถอดบทเรียนตัวเองได้ว่าเขานำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในวิถีชีวิตอย่างไร ดูตัวอย่างจากมูลนิธิสยามกัมมาจลมาเป็นแบบ นี่คือแนวทางส่งเสริมให้เด็ก ถามว่าสอนแล้วเด็กรู้ไหม เราวัดไม่ได้ว่าเขาเอาไปใช้อย่างไร เพราะจุดประสงค์หลักคือเราต้องการสอนให้เขาเกิด “หลักคิด” แล้วนำไป “ปฏิบัติ” เพราะฉะนั้นจึงดูได้จากเรื่องเล่าว่าเขานำไปใช้จริงหรือไม่อย่างไร

­

นักเรียนสามารถเขียนเรื่องเล่าได้ จัดทำโครงงานและตอบคำถาม How to ได้ พี่สอนน้อง ส่วนผู้ปกครองใช้วิธีการผ่องถ่ายองค์ความรู้จากเด็กไปสู่ผู้ปกครอง เช่น อาจารย์สารภีทำหลักสูตรเรื่อง ดินจ๋าอย่าร้องไห้ เพราะพื้นฐานของสำโรงทาบวิทยาคมพอถึงหน้าแล้ง ชาวบ้านจะเผานา ทำให้ดินเสีย เด็กไม่รู้ ผู้ปกครองไม่รู้ พอทำหลักสูตรเสร็จให้เด็กเรียนเรื่องดินจ๋าอย่าร้องไห้ แล้วก็ให้เด็กไปเล่าให้ผู้ปกครองฟัง ส่วนชุมชนเราก็เข้าไปทำหมู่บ้านวัฒนธรรมชาวกุย วัฒนธรรมการรำแกลมอ ทำเป็นหลักสูตรโรงเรียน

­

ก่อนที่โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคมจะเป็นศูนย์การเรียนรู้นั้น โรงเรียนมีโรงเรียนเครือข่ายอยู่แล้ว 5 แห่งเป็นโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง

­

การที่โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคมไม่บูรณาการ 8 สหวิทยาการ เพราะว่าเรามีความเชื่อว่า หลักสูตรยังไม่นิ่ง เพราะเปลี่ยนจากหลักสูตรปี 44 มาเป็นปี 51 ครูเรายังแม่นเรื่องเนื้อหา ไม่เก่งเรื่องหลักสูตร ไม่แม่นเรื่องมาตรฐานและตัวบ่งชี้ พอครูยังไม่แม่นจะให้ครูกระโดดข้ามไปบูรณาการแบบสหวิทยาการ เกรงว่าจะไม่ถูก จึงเน้นบูรณาการแบบสอดแทรกกลุ่มสาระก่อน ซึ่งหลังจากนี้ไปโรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคมจะพัฒนาไปสู่การบูรณาการแบบสหวิทยาการ หลังจากครูมีความรู้ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรฐานตัวบ่งชี้ และการเขียนแผน ซึ่งจริงๆ แล้วการเรียนการสอนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ต้องการบอกแค่ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข แต่ดูที่กระบวนการจัดการเรียนการสอน เช่น มีวิธีสอนอย่างไร ไม่ได้สอนแบบแยกส่วนเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งบ่งชี้ไปที่ความมีเหตุมีผล ความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกันอย่างไร มีเงื่อนไขความรู้และคุณธรรมอย่างไร

­

โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคมใช้หลักการบริหารแบบ 5 ส. พอเพียง คือ สร้างความศรัทธา สร้างแกนนำสร้างครือข่าย สร้างโอกาส และสร้างผลงานเชิงประจักษ์ คือให้โอกาสครูได้แสดงผลงานเวลามีคนมาศึกษาดูงาน เพราะถ้าครูไม่เคยเอาแผนมาให้ใครดูเลย ครูก็ไม่พัฒนา และที่สำคัญคือเมื่อครูจะต้องนำเสนอก็ต้องมีการศึกษาค้นคว้าว่าจะเขียนแผนอย่างไร เพื่อให้คนอื่นดูในฐานะวิทยากรผู้ช่วย และนี่คือ “กลยุทธ์” การสร้างทีมของโรงเรียน

­

­