การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนแม่พริกวิทยา

การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนแม่พริกวิทยา

“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ด้านการศึกษา”

วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี

­

การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนแม่พริกวิทยาขับเคลื่อนผ่านครูแกนนำที่สมัครใจ ไม่มีการบังคับ แต่เน้นไปที่ครูในพื้นที่เพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพราะผู้บริหารและครูโยกย้ายบ่อย การนำหลักปรัชญาฯ มาบูรณาการสู่การเรียนการสอนจะเน้นใช้ “ความรู้ท้องถิ่น” โดยบูรณาการเป็นระดับสายชั้น จัดหลักสูตรเรียนรู้ดูงาน 1 วัน ช่วงเช้าปูพื้นฐานความรู้เรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ช่วงบ่ายเน้นไปที่การทำแผน เมื่อดูงานเสร็จทุกคนจะต้องได้แผนกลับไป 1 แผน

­

โรงเรียนแม่พริกวิทยาเป็นโรงเรียนชายแดน ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูย้ายบ่อย ผู้อำนวยการคนก่อน เข้ามารับตำแหน่งพร้อมกับโรงเรียนได้รับการประเมินให้เป็นสถานศึกษาพอเพียง ผู้อำนวยการรู้ว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็น “หลักคิด” จึงส่งครูมาอบรมโดยไม่มีการเจาะจง ให้ครูทุกคนมีสิทธิ์เลือกมีสิทธ์มาทำงานด้านนี้ร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน ส่วนครูที่ย้ายมาใหม่โรงเรียนจะจัดให้มีการปฐมนิเทศก่อน โดยมีครูแกนนำเป็นวิทยากร

­

โรงเรียนแม่พริกวิทยามีการบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการนำความรู้ในท้องถิ่นมาใช้ เช่น ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นใช้สัตว์มาบูรณาการกับทุกกลุ่มสาระ อาทิ ม.1 เรื่องมดแดง ม.2 เรื่องอึ่ง และ ม. 3 เรื่องแย้ ส่วนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายใช้พืชพื้นถิ่นเข้ามาบูรณาการ อาทิ ม.4 เรื่องผักหวาน ม. 5 เรื่องดอกก้าน และ ม.6 เรื่องเห็ดโคน เป็นต้น ซึ่งการคัดเลือกพืชหรือสัตว์นั้น ครูทั้งโรงเรียนจะใช้วิธีประชุมร่วมกันเพื่อดูว่าพืชหรือสัตว์ชนิดไหนเหมาะกับเด็กในช่วงวัยไหน จึงมาสรุปลงตัวที่พืชและสัตว์ข้างต้น

­

การขับเคลื่อนงาน : ด้วยความที่โรงเรียนแม่พริกเป็นโรงเรียนชายแดน ครูจึงมีการโยกย้ายบ่อย โรงเรียนจึงมอบให้ครูในพื้นที่เป็นแกนนำขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้การขับเคลื่อนงานเกิดความต่อเนื่องยั่งยืน แม้ว่างบางครั้งครูแกนนำจะมีไม่ครบทุกแผน แต่ทุกคนสามารถเขียนแผนและออกแบบการเรียนรู้ได้ โดยรายละเอียดความเป็นมาของโรงเรียนจะจัดทำเป็นเอกสารแจก เพื่อให้ผู้เรียนรู้ไม่ต้องพะวง และมีเวลาเรียนรู้เรื่องการเขียนแผนอย่างเต็มที่ เพราะเชื่อว่าถ้าไม่มีแผนครูจะทำอะไรไม่ได้เลย การออกแบบการเรียนรู้ก็ไม่สามารถทำได้ ถ้าเขียนแผนไม่ได้ก็สอน และขับเคลื่อนไม่ได้

­

การขยายผล : โรงเรียนแม่พริกออกแบบกระบวนการเรียนรู้ไว้ว่า ผู้ที่มาเรียนรู้ดูงานที่นี่ต้องดูให้ครบ 1 วัน โดยช่วงเช้าเป็นการปูพื้นฐานความรู้เรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนช่วงบ่ายเน้นไปที่การทำแผน ฝึกให้ผู้เรียนรู้ดูงานทำแผนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เมื่อดูงานเสร็จทุกคนจะต้องได้แผนกลับไป 1 แผน ในปีที่ผ่านมาพบว่ามีโรงเรียนมาศึกษาดูงานมากถึง 60 โรง

­

นอกจากนี้ในโรงเรียนยังจัดสรรพื้นที่จำนวน 3 ไร่ เป็นอุทยานการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงครบทั้ง 8 กลุ่มสาระ และ 1 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน บูรณาการอยู่ในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ เพื่อให้เป็นสถานที่พัฒนาผู้เรียนและศึกษาดูงาน โดยภายในศูนย์ผู้อำนวยการจะมอบหมายให้แต่ละกลุ่มสาระเขียนแผนนำเสนอขึ้นมาเอง โดยไม่มีการปิดกั้นทางความคิดของครูแต่อย่างใด ผู้อำนวยการจะให้โครงสร้างไว้เท่านั้น

­

ด้านวิทยากรหากมีผู้เรียนรู้ดูงานเป็นกลุ่ม โรงเรียนจะจัดครูแกนนำที่สามารถเป็นวิทยากรไว้รองรับ แต่หากเป็นกลุ่มเด็กนักเรียนก็จะจัดทีมวิทยากรนักเรียนแทน เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

­

ผลที่เกิดขึ้น : เด็กรู้จักหลักคิด นิยามสามห่วงสองเงื่อนไข โดยครูให้เด็กถอดบทเรียนเพื่อทำความเข้าใจ

­

ความคาดหวัง : ต้องทำให้ศูนย์การเรียนรู้นี้เกิดความยั่งยืน ไม่ว่าผู้บริหารหรือครูคนใดย้ายไป การขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจพอเพียงต้องอยู่ต่อไปให้ได้ ต้องหาตัวตายตัวแทน ต้องหาคนที่มีใจให้อาสาเข้ามาทำงาน ซึ่งคนที่มีใจดูได้จากเวลามีคนมาศึกษาดูงาน เขาจะอาสาเข้ามาช่วยงานอยู่เสมอ แต่เราต้องเติมเต็มให้คนเหล่านี้ด้วยการให้เขาได้เข้ามาอบรม ประชุมสัมมนาบ่อยๆ เพื่อเสริมให้เขาเข้มแข็งยิ่งขึ้น

­