ความสำเร็จที่เริ่มต้นด้วย "หาทางพ้นไปจากเหตุ โดยอาศัยปัญญาที่รู้เท่าทัน" ทำให้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเส้นทางสู่ความเจริญ

ความสำเร็จที่เริ่มต้นด้วย "หาทางพ้นไปจากเหตุ โดยอาศัยปัญญาที่รู้เท่าทัน" ทำให้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเส้นทางสู่ความเจริญ

ผอ. พูนเกียรติ ศรีปัญญา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสามัคคี เล่าถึงหลักคิดและหลักการออกแบบการเรียนการสอนว่า ได้นำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์เป็นแกน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549

จุดเด่นของสถานศึกษาแห่งนี้คือ มีนักเรียนชั้นประถมศึกษารวมทั้งสิ้น 60 คน ในขณะที่มีคณะกรรมการสถานศึกษาและคณะกรรมการที่ปรึกษามากถึง 53 คน ดังนั้นจึงทำให้มีกำลังมาขับเคลื่อนโรงเรียนได้อย่างเต็มที่

ก่อนหน้าที่จะนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักคิด สมาชิกของโรงเรียนบ้านสามัคคีและชาวบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงมีหนี้สินล้นพ้นตัว ต่อเมื่อมาพลิกวิธีคิดกันใหม่ให้โรงเรียนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ชีวิตของทุกคนก็เปลี่ยนไป นั่นเพราะคณะครูที่มีกันอยู่ 4 คน เอาความดีเข้าแลกกับความไว้วางใจ จนกระทั่งชาวบ้านศรัทธา อาสาเข้าช่วยเหลือทุกทางที่จะทำได้ ทั้งดายหญ้า ทำกับข้าว จนกระทั่งมานอนเฝ้าโรงเรียนให้

ปัจจุบันโรงเรียนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อโรงเรียนกลายเป็นโรงเรียนของชาวบ้าน ความเจริญยั่งยืนในวิถีปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึงเติบใหญ่

"บทเรียนความสำเร็จการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อจัดการการเรียนรู้"


โดย นายพูนเกียรติ ศรีปัญญา

ในระยะเวลา 4-5 ปีก่อน โรงเรียนบ้านสามัคคีประสบกับปัญหาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก เด็กนักเรียนเกียจคร้านในการเรียน ขาดความรับผิดชอบ ทำงานหนักไม่เป็น ไม่รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ชอบเล่นการพนัน และเริ่มหัดสูบบุหรี่และดื่มสุรา

คณะครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานได้วิเคราะห์หาสาเหตุแห่งปัญหาแล้วพบว่า มาจากสภาพทางครอบครัวและชุมชน เนื่องจากในสภาพปัจจุบัน ชุมชนกำลังจะล่มสลาย เพราะชาวบ้านทุกหลังคาเรือนมีหนี้สินล้นพ้นตัว คือหนี้กองทุนหมู่บ้าน หนี้เงินล้านที่ 1 และล้านที่ 2 หนี้ SML หนี้ธกส. หนี้นอกระบบ ซึ่งกู้มาแล้วแต่ไม่ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ส่วนมากจะหมดไปกับการพนัน ดื่มเหล้า ใช้เงินฟุ่มเฟือย บางคนต้องขายที่นาใช้หนี้ บางคนหนีหนี้ หลายคนอยากฆ่าตัวตาย หลังจากนั้น ในหมู่บ้านจะว่างเปล่าผู้คน เพราะต้องอพยพทิ้งถิ่นไปหางานทำในเมืองใหญ่ ปล่อยให้ลูกต้องอยู่กับตายายแทน แต่ไม่กี่ปีที่ทิ้งบ้านไป ก็ต้องกลับคืนถิ่น ด้วยสาเหตุโรงงานปิดกิจการ โดนกดค่าแรง เงินเดือนไม่พอใช้เพราะติดนิสัยฟุ้งเฟ้อ แต่เมื่อกลับมาอยู่บ้านก็ยิ่งเพิ่มปัญหาให้กับครอบครัวมากขึ้น เมื่อจนอยู่แล้วก็ยิ่งเพิ่มความจนขึ้นไปอีก

ในแต่ละวัน ลูกๆ จะเห็นพ่อแม่นั่งบ่น นั่งกินเหล้า เล่นการพนัน บางวันก็ทะเลาะกัน ครอบครัวเริ่มขาดความอบอุ่น พ่อแม่บางคู่ต้องหย่าร้าง นักเรียนมาโรงเรียนแบบคนสิ้นหวัง

ทางโรงเรียนทนดูต่อไปไม่ได้ จึงร่วมกันคิดหาหนทางช่วยเหลือ ทุกคนต่างยอมรับตรงกันว่า การเดินตามรอยเท้าพ่อหลวงเท่านั้น ที่จะสามารถกู้วิกฤตนี้กลับคืนมาได้ ดังนั้น จึงร่วมกันทำประชาคมหมู่บ้าน ที่ประชุมขอให้ทางโรงเรียนเป็นผู้นำในการพัฒนา

วันที่ 5 ธันวาคม 2549 จึงเกิดโครงการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริขึ้นในโรงเรียนบ้านสามัคคี โดยการสร้างศูนย์การเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียงจำนวน 8 ฐาน ได้แก่ การเลี้ยงหมู การเลี้ยงไก่ การเลี้ยงปลา การเพาะเห็ด การทำปุ๋ย การทำนาปลอดสารเคมี การทำข้าวกล้อง การปลูกผักปลอดสารพิษ โดยใช้ฐานต่างๆ เหล่านี้ให้นักเรียนได้ฝึกกิจกรรมโดยการปฏิบัติจริง และยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มาเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะและประสบการณ์ตรงด้วย

ในปัจจุบันนักเรียนมีความขยัน อดทน มีความรับผิดชอบ ตั้งใจเรียน เป็นคนดีที่มีคุณธรรม น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครูปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่างที่ดี พ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มทำตาม พากันลดละเลิกอบายมุข หันมาสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียน ให้กำลังใจครู และร่วมเป็นพลังในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกันทั้งหมู่บ้าน ชีวิตของทุกคนดีขึ้นตามลำดับ มองเห็นแสงสว่างแห่งความสุขอยู่ข้างหน้า ทุกคนยอมรับว่าสิ่งที่ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปได้ในครั้งนี้ เป็นเพราะพระบารมีขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้าล้นกระหม่อมของเขานั่นเอง ดังนั้น ถึงเขาจะทำงานหนัก เขาก็จะไม่ท้อ หรือแม้เขาจะท้อ แต่เขาจะไม่ถอย เพราะทุกคนได้ประกาศอุดมการณ์ร่วมกันว่า “จะบ่นทำไมกับงานหนัก ถ้ารักในหลวง”

ทางโรงเรียนได้ดำเนินการให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 60 คน ได้เรียนรู้ทั้งภาคความรู้ทางวิชาการและการฝึกปฏิบัติจริง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ด้วยอย่างทั่วถึง ซึ่งทางโรงเรียนได้ดำเนินการ ดังนี้

1. จัดทำแผนการสอนแบบบูรณาการ
2. จัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่น
3. มีการแบ่งกลุ่มนักเรียนรับผิดชอบ
4. มีครูรับผิดชอบร่วมกับนักเรียน
5. มีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นที่ปรึกษาทุกกิจกรรม
6. มีปราชญ์ชาวบ้านร่วมเป็นวิทยากรภายนอก
7. นักเรียนฝึกปฏิบัติจริงในแต่ละกิจกรรมตามกลุ่มสนใจ

โรงเรียนบ้านสามัคคี ได้ประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในรูปแบบการบูรณาการ โดยให้คณะครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อนำมาสอนนักเรียนให้เกิดองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ตรง นวัตกรรมดังกล่าว ได้แก่ “ศูนย์การเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง”

ในแต่ละฐานการเรียนรู้ จะมีคณะครูร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน เป็นผู้รับผิดชอบ ควบคุม กำกับดูแล ให้ความรู้ และอำนวยความสะดวก ให้กับนักเรียนและชาวบ้านสามัคคี ตลอดทั้งนักเรียน ครูกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ชาวบ้าน ผู้ปกครอง และบุคคลทั่วไป จากโรงเรียนและหมู่บ้านต่างๆ ที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศึกษาดูงานและอยู่ค่ายอบรมแบบครบวงจรอย่างต่อเนื่องตลอดปี เพราะโรงเรียนบ้านสามัคคีทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง สมดังปรัชญาของโรงเรียนที่ว่า “พอมี พอกิน พออยู่ พอเพียง”

จากการดำเนินโครงการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่โรงเรียนบ้านสามัคคีได้ปฏิบัติติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักเรียน ครู ชุมชน เกิดความตระหนักในการทำกิจกรรมนี้ด้วยความตั้งใจและเต็มใจอย่างสุดความสามารถ ทั้งนี้เพราะทุกฝ่ายต่างยอมรับในผลที่เกิดขึ้น โรงเรียนใกล้เคียงและชุมชนที่ใกล้ชิดต่างก็ชื่นชมในผลงาน นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ครูสามารถที่จะนำมาบูรณาการในการจัดกิจกรรมได้ทุกกลุ่มสาระแล้ว ยังเป็นการถ่ายทอดความรู้จากนักเรียนรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง หรือจากนักเรียนไปสู่ผู้ปกครองของตนเอง และจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสู่ชาวบ้านได้เป็นอย่างดียิ่ง เนื่องจากทางโรงเรียนบ้านสามัคคีมีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและคณะกรรมการที่ปรึกษามากถึง 53 คน ดังนั้น จึงทำให้มีแรงขับเคลื่อนและผลักดันได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพยิ่ง

 .............................................................