ประกายความคิดในวันเริ่มต้น


ดิฉันมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ คัมภีร์ของชีวิตที่เปี่ยมสุข มั่นคง ยั่งยืน แต่จะทำอย่างไรที่จะให้ “เสาเข็ม” นี้หยั่งลึกผนึกแนบแน่นในจิตสำนึก เลือดเนื้อของลูกศิษย์ รู้จริงๆ ปฏิบัติจริงๆ ตระหนักเห็นจริงๆ และเปลี่ยนพฤติกรรมสู่วิถีชีวิตได้จริงๆ...

ลูกศิษย์ของดิฉันอยู่ในวัยรุ่นหนุ่มสาวระดับ ปวช. และปวส. ประมาณ 3,000 คนในสถานศึกษา พวกเขาส่วนมากมาจากต่างอำเภอ ต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับถึงวันละ 2-3 ชั่วโมง และบางส่วนมาอยู่หอพัก อาชีพของพ่อแม่คือ เกษตรกรรม รับจ้าง ค้าขาย และรับราชการเป็นบางส่วน

สถานศึกษาคือแสนยานุภาพที่เกรียงไกรที่สุดในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่วิถีพลเมือง

ดิฉันถามตัวเองว่า “อะไรคือสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีที่สุด มีความรักที่จะทำ ทำแล้วมีความสุข และผู้คนที่เกี่ยวข้องก็มีความสุข สอนแล้วลูกศิษย์มีความสุข และสิ่งนั้นเปรียบเสมือนภูมิคุ้มกันของชีวิต ดำรงตนอย่างคงมั่นท่ามกลางกระแสที่มากระทบ”

ดิฉันจึงตัดสินใจใช้กระบวนการฟังอย่างลึกซึ้ง สุนทรียสนทนา และเรื่องเล่าเร้าจินตนาการเป็นเครื่องมือ "การฟังอย่างลึกซึ้ง-สุนทรียสนทนา เครื่องมือการเรียนรู้สู่จิตวิญญาณของความพอเพียง" โดย นางสิริมา เจริญศรี

ฐานคิด

เมื่อแสงสว่างถูกจุดขึ้น ความมืดก็หายไป

ความมืด คือวงจรแห่ง “ทุกข์” จากจิตใจที่ไม่พอเพียง หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ “แสงสว่าง” ที่ขับไล่ความมืด แสงสว่างจะถูกจุดขึ้นได้อย่างไร อะไรคือไม้ขีดไฟก้านนั้น ด้วยความเชื่อมั่นว่าเมื่อบุคคลใดเกิดสภาวะ “สว่างวาบ” บุคคลนั้นจะเปลี่ยนพฤติกรรม ไม้ขีดไฟจุดความสว่างวาบที่ดิฉันค้นพบ คือการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) สู่สุนทรียสนทนา (Deep Listening - Dialogue) และเชื่อมร้อยด้วยเรื่องเล่า - เร้าพลัง (Story-telling)

แรงบันดาลใจและการค้นพบ

จากการศึกษาค้นคว้าโดยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา 4 เรื่องต่อเนื่องกัน คือ

1. การสังเคราะห์หลักศาสนธรรม เพื่อสร้างนวัตกรรมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมสำหรับเยาวชน

2. การพัฒนานวัตกรรมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมสำหรับเยาวชนด้วยกระบวนการสนทนาอย่างมีสติ-สมาธิ (Dialogue)

3. การพัฒนาสังคมคุณธรรมความดีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยกระบวนการจัดการความรู้ กรณีศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี

4. การพัฒนาสื่อการเรียนรู้วิถีชีวิตพอเพียงจากวิถีชุมชน

จากการค้นพบทำให้เกิดความเชื่อมั่นและสานต่อ ด้วยเหตุผลเชิงคุณค่าใหม่ ดังนี้

การฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นกระบวนการพัฒนาภายในตนเอง ให้ประจักษ์แจ้ง ปลุกสภาวะการตื่นและการวางใจโดยแยบคาย สุนทรียสนทนา เป็นการสนทนาอย่างมีสติ-สมาธิ เป็นปากประตูแห่งการสร้างสรรค์ เข้าใจตนเอง และเข้าถึงหลักแห่งสัมพันธภาพ เรื่องเล่า-เร้าพลัง เป็นเครื่องมือสืบต่อพลังความดีงาม เป็นการเชื่อมโลกนามธรรมที่อยู่ไกลตัว กับโลกทางวิชาการ ให้กลายเป็นสิ่งที่มีชีวิตชีวา สะท้อนคุณค่าและความหมายได้อย่างลึกซึ้งแนบเนียน

กิจกรรมและกระบวนการในการพัฒนาผู้เรียน

1. ใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนรายวิชาภาษาไทย วิถีชีวิตพอเพียง และบูรณาการรายวิชาอื่นๆ

2. จัดทำเป็นชุดฝึกอบรมสุนทรียสนทนาจากการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening - Dialogue) และเรื่องเล่า-เร้าพลัง (Story-telling) ให้แก่ครูและแกนนำนักเรียนนักศึกษาในระดับสถานศึกษาและระดับจังหวัด

ภาพความสำเร็จ 3 ภาพจากการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

บุคลิกภาพแห่งความพอเพียง สัมพันธภาพแห่งความสุข และคุณภาพแห่งวิถีการดำเนินชีวิต หากเปรียบเป็นบทเพลง เครื่องมือการเรียนรู้คือ ท่วงทำนอง เนื้อร้องคือ หลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผู้ขับร้องคือ ครูและผู้เรียน โดยการนำของวาทยากรที่เปี่ยมไปด้วยศาสตร์และศิลป์ เพื่อสร้างบทเพลงแห่งความสุข บทเพลงที่ต้องขับขานประสานเสียงทั้งแผ่นดิน

เมื่อปี พ.ศ. 2548 ดิฉันได้รับเชิญจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ไปฝึกอบรมที่โรงเรียนผู้นำคานาอาน (โรงเรียนชาวนาคานาอาน) ประเทศเกาหลี ที่นี่ได้จุดประกายให้ดิฉันเห็นว่า เด็กเกาหลีโตขึ้นมาพร้อมกับบรรทัดฐานทางคุณธรรม จริยธรรม “ทำงานหนัก ซื่อสัตย์ กตัญญู ปรนนิบัติรับใช้” แล้วลูกหลานไทยล่ะ...ดิฉันตั้งคำถามกับตัวเอง

เมื่อกลับมาเมืองไทย ดิฉันกับเพื่อนพยายามค้นหา “เครื่องมือ” อะไรสักอย่างหนึ่งที่จะ “ตอกลิ่ม” จิตทางศาสนาลงสู่ใจเยาวชน ในที่สุดเราก็ได้เครื่องมือ คือ “กระบวนการสนทนาอย่างมีสติ-สมาธิ (Dialogue)” หลังจากนั้นเราก็ทำวิจัยต่อยอดในหัวข้อ “การพัฒนานวัตกรรมการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมสำหรับเยาวชนด้วยกระบวนการสนทนาอย่างมีสติ-สมาธิ (Dialogue)”

กระบวนการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep-Listening) และเรื่องเล่า-เร้าพลัง (Story-telling) เป็นเครื่องมือการเรียนรู้เพื่อสร้างคุณลักษณะและอุปนิสัยความละเอียดอ่อนอย่างลึกซึ้ง ส่วนสุนทรียสนทนาหรือการสนทนาอย่างมีสติ-สมาธิ (Dialogue) เป็นเครื่องมือการเรียนรู้เพื่อสร้างคุณลักษณะและอุปนิสัยการตั้งคำถาม ตรวจสอบ พิจารณา ใคร่ครวญ

ดิฉันทดลองใช้เครื่องมือนี้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 กับนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี โรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชน กลุ่มประชาสังคม นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี คณะกรรมการสโมสรนิสิต คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา รวมถึงแกนนำท้องถิ่น และข้าราชการสำนักพัฒนาสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทั่วประเทศ การทดลองอย่างหลากหลายดังกล่าว ทำให้เกิดความมั่นใจว่า เราได้เครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้ “แบบผนึกแนบแน่นเข้าไปในเนื้อในตน” และเป็นกระบวนการเรียนรู้จากภายในตน (Inside-out) และประพิมพ์ประพายในการเกิดความตระหนักเห็น (Insight)

จากเรื่องเล่า เร้าจินตนาการ สู่การสานเสวนา

เรื่องเล่าได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ดิฉัน แรงบันดาลใจแรกคือ ทำไมเรื่องที่พบ จึงมีแต่เรื่องของต่างชาติ คือ ญี่ปุ่น เกาหลี ดิฉันจะต้องสร้างเรื่องจากท้องถิ่นให้ได้...จึงเป็นที่มาของการออกแบบเวทีสานเสวนา “ชานบ้านลานเมือง” ใน “เมืองพอเพียงเพื่อพ่อหลวง” นิทรรศการที่มีชีวิตครั้งยิ่งใหญ่ของวิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรีในงานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว ปี พ.ศ. 2551 เพื่อเป็นเวทีเล่าเรื่องดีๆ วิถีพอเพียงของบุคคล ภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น และองค์กรต่างๆ จากเครือข่ายที่เราได้สานสัมพันธ์กันไว้ในงานวิจัยประชาคมและร่วมสร้างวิสัยทัศน์กาญจนบุรี ชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ งานสื่อสาธารณะ วิทยุกระจายเสียง และอื่นๆ ในท้องถิ่น

ความปิติ ตื่นเต้นและซาบซึ้ง บังเกิดขึ้นตลอด 12 คืน 12 ประเด็นของการสานเสวนา ท่ามกลางสายตาของผู้คนนับพัน ดิฉันนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าล้นกระหม่อม นั่งมองพระบรมฉายาลักษณ์ในอิริยาบถต่างๆ สายพระเนตร หยาดพระเสโท และนึกถึงเรื่องราวของพี่น้องเครือข่ายต่างๆ ที่ต่างเล่าว่า “เศรษฐกิจพอเพียงเป็นดาวเหนือนำทาง” เรื่องเล่าจากการสานเสวนาที่ดิฉันได้ออกแบบ มีดังนี้ 1) กาญจนบุรี...ทางรอดแห่งสยาม 2) ตลาดเก่าเล่าเรื่องเมืองกาญจน์ 3) ขุมทรัพย์ล้ำค่า ภูมิปัญญาภูมิสังคม 4) จากทุ่งรวงทองสู่ลูกทุ่งไทย 5) ตามรอยพ่อด้วยพอเพียง 6) พระเสโทหลั่งไหลเพื่อใครกัน เราและท่านจะนิ่งดูอยู่ได้ฤา 7) ป่าชุมชนกับคนรักป่า จากความพอเพียงสู่สมดุลของธรรมชาติถวายพ่อหลวงพระราชินี 8) เย็นศิระเพราะพระบริบาล เดินตามรอยพ่อ ถักทอฝันแม่ 9) สถานศึกษาพอเพียงกับวิสัยทัศน์ประเทศไทย 10) จากศูนย์เรียนรู้...สู่คนสู้ชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียง 11) ทางออกของสังคมไทยหัวใจ คือ ความพอเพียง 12) สื่อสีขาวกับเส้นทางที่ทอดยาวของสังคมไทย

ทำอย่างไรจะนำ “จิตวิญญาณแห่งความพอเพียง” เหล่านี้ป้อนกลับสู่สถานศึกษา...เป็นโจทย์ต่อสำหรับดิฉัน...

จากการสานเสวนา สู่การค้นหาครูภูมิปัญญาท้องถิ่น

แรงบันดาลใจที่จะนำเรื่องราวดีๆ ที่มีวิถีพอเพียงจากวิถีชีวิตจริงของชุมชนเข้าสู่สถานศึกษา เพื่อให้ลูกศิษย์ตระหนัก ภาคภูมิใจ เกิดสำนึกรักท้องถิ่น คืนสู่อ้อมอกของพ่อแม่และชุมชน จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยและพัฒนา “การพัฒนาสื่อการเรียนรู้วิถีพอเพียงจากวิถีชุมชน” ในปี 2552

งานวิจัยชิ้นนี้จึงเริ่มขึ้นเพื่อนำเสนอเรื่องราวชีวิตจริง (Real-life) จากครูภูมิปัญญาท้องถิ่น 5 เรื่อง ในรูปแบบ “สื่อภาพยนตร์สารคดี” เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความซึมทราบและตระหนักเห็นวิถีและแปลงสู่การปฏิบัติในการดำเนินชีวิตอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น คือ

1) เรื่อง “สาวน้อยจิตอาสา” นำเสนอเรื่องราวของบุคคลพอเพียง ปราณี บุญทอง ลูกหลานชาวขมุ บ้านบนเขาแก่งเรียง

2) เรื่อง “บ้านไร่ลุงอิ่ม” นำเสนอเรื่องราวของครอบครัวพอเพียง ลุงอิ่ม-ป้าไต บ้านพุองกะ ไทรโยค

3) เรื่อง “เกษตรประณีต วิถีธรรมชาติ ” นำเสนอเรื่องราวของศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านและเครือข่ายชุมชนพอเพียง คุณทิวาพร ศรีวรกุล ปราชญ์ชาวบ้านและเครืองข่ายกสิกรรมธรรมชาติ

4) เรื่อง “จากป่าสู่ใจชน” นำเสนอเรื่องราวของตำบลพอเพียงของชาวห้วยสะพาน วังรัก นากระจันทร์ ตำบลหนองโรง

5) เรื่อง “ไม่มีของเสียที่คำแสด” นำเสนอเรื่องราวขององค์กรธุรกิจพอเพียง ของคำแสดรีสอร์ท กาญจนบุรี โครงการจัดทำ หลักสูตรท้องถิ่น “วิถีชุมชน วิถีพอเพียง” โดยใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชนเป็นห้องเรียนนี้ ทำให้ดิฉันได้ข้อสังเกตที่สำคัญเกี่ยวกับภาวะผู้นำที่โดดเด่นของลูกศิษย์บางคน ลูกศิษย์เหล่านี้มาจากพื้นที่แหล่งเรียนรู้วิถีชุมชน วิถีพอเพียง และผ่านกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนมาแล้ว ดิฉันคิดว่านี่คือ “คุณค่าใหม่”

"การหยั่งฐานคิดหลักปรัชญาของพ่อหลวงสู่ชีวิตจิตวิญญาณ ต้องใช้ชีวิตจริงเป็นฐานเรียนรู้”