ประกายความคิดในวันเริ่มต้น

                                

ประกายความคิดในวันเริ่มต้น


      ครูปานทิพย์มาอยู่ที่โรงเรียนลาซาลจันทบุรี(มารดาพิทักษ์) เป็นเวลา 13 ปีแล้ว โดยรับผิดชอบส่วนงานห้องสมุด ทำหน้าที่ครูบรรณารักษ์ แม้ไม่ได้จบเอกบรรณารักษ์โดยตรง แต่ด้วยนิสัยรักการอ่านอยู่เป็นทุนเดิม ทำให้ครูมีความสุขกับการทำหน้าที่บรรณารักษ์มาตลอดระยะเวลาสิบกว่าปี

 
      จากประสบการณ์ที่ได้คลุกคลีอยู่กับเด็กเล็ก บวกกับลักษณะนิสัยช่างสังเกต มีความละเอียดอ่อน และชอบงานประดิษฐ์ ทำให้ครูนำต้นทุนเหล่านี้มาจัดการงานห้องสมุดได้อย่างมีชีวิตชีวา โดยจะคอยสังเกตทั้งจากครูและนักเรียนที่มาใช้บริการยืมหนังสือในห้องสมุดว่าชอบหนังสือประเภทไหน ช่วงชั้นแต่ละวัยใช้หนังสืออะไรบ้าง แล้วจึงจดบันทึกไว้เป็นข้อมูล ศึกษาหาหนังสือใหม่ๆ จากแคตตาล็อกของสำนักพิมพ์ต่างๆ อยู่เสมอ

      วันหนึ่งครูปานทิพย์ได้อ่านบทความนำเสนองานวิจัยพบว่า ปัจจุบันเด็กไทยมีอัตราการอ่านหนังสือวันละไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าตกใจ และในฐานะที่คลุกคลีกับหนังสือและห้องสมุดซึ่งเป็นศูนย์กลางของการอ่านโดยตรง น่าจะหาวิธีแก้ปัญหา เพื่อสร้างอุปนิสัยหรือพัฒนาทักษะด้านการอ่านให้แก่นักเรียนมากขึ้น โจทย์ดังกล่าวทำให้ครูนำมาขบคิดอยู่เสมอ

 
      ในปี 2549 ท่านอธิการประภาส ศรีเจริญ ได้นำเสนอหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่คณะครู เพื่อนำไปเป็นหลักคิด หลักปฏิบัติทั้งในหน้าที่การงานและชีวิตประจำวัน ทั้งยังให้ความสำคัญในการนำมาขับเคลื่อนงานเพื่อพัฒนาโรงเรียน ตลอดจนคุณภาพของเด็กนักเรียนให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น หลายครั้งที่อธิการหยิบยกตัวอย่างการทรงงานของในหลวง มาสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียน และชักชวนให้ทุกคนหันมา“ทำความดีเพื่อพ่อ” ทำให้ครูปานทิพย์เริ่มหันมาสนใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจังมากขึ้น


       ขณะที่ฝ่ายงานอื่นๆ เริ่มขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครูปานทิพย์ก็เริ่มนำหลักปรัชญาฯ มาใช้กับงานห้องสมุดที่ตนรับผิดชอบเช่นกัน

     “เริ่มแรกยังไม่ค่อยเข้าใจว่างานในห้องสมุดเกี่ยวข้องอย่างไรกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แม้จะยังสงสัยอยู่ แต่เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ทั้งจากการอบรม การอ่าน และคำปรึกษาจากอธิการ จนเข้าใจว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่เรื่องประหยัด ไม่ใช่เรื่องเกษตร ทั้งที่ในตอนแรกข้าใจว่าเป็นเรื่องนี้อย่างเดียว จนกระทั่โรงเรียนได้มีการจัดอบรมเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งท่านอธิการเป็นคนริเริ่ม เพื่อให้ครูทุกคนนำมาปรับใช้ในการทำงานและชีวิตประจำวัน โดยกำหนดว่าครูต้องรู้ต้องเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี หากนักเรียนถามต้องตอบได้ จากนั้นมาประยุกต์ในแต่ละสาขาวิชา เราก็มาคิดกิจกรรมของเราด้วย”

แนวทางในการปฏิบัติ


       หลักสำคัญในการทำงานบรรณารักษ์ต้องคำนึงถึงผู้อ่านเป็นสำคัญ ครูต้องคำนึงว่าเด็กนักเรียนในแต่ละวัยควรอ่านหนังสือประเภทใด ฉะนั้นงานหลักของครูคือต้องเลือกและจัดหาหนังสือ รวมถึงส่งเสริมให้นักเรียนเลือกอ่านหนังสือที่มีประโยชน์และเหมาะสมกับวัย ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล รู้จักแยกแยะเรื่องราวที่อ่านได้ และส่งเสริมให้เด็กรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เห็นคุณค่าของเวลา

      การบริหารจัดการห้องสมุด ไม่ได้จบลงเพียงการจัดหาหนังสือมาให้นักเรียนอ่านเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือการรักษาหนังสือให้อยู่นานที่สุดเพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสอ่านด้วย ซึ่งเรื่องหนังสือหาย หนังสือชำรุด เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย ครูปานทิพย์เล่าว่าทุกเดือนจะมีหนังสือที่ต้องซ่อมแซมเสมอ

 
     “เราก็มีทั้งระบบป้องกันและแก้ไข คือ หนังสือเล่มไหนเป็นแบบติดกาวหลุด ขาดง่าย ก็จะเย็บไว้ก่อนกันหลุด ส่วนการซ่อมนั้นยากหน่อย เพราะต้องใช้การตอกแล้วร้อยเชือก แต่สมัยนี้ง่ายขึ้นมากเนื่องจากหนังสือที่พิมพ์ออกมามีขนาดเล็กๆ บางๆ เวลาซ่อมเพียงแต่ใช้แม็กเย็บก็ใช้ได้แล้ว”


       อย่างไรก็ดี ครูปานทิพย์บอกว่า การใช้สองวิธีนี้ล้วนมีค่าใช้จ่ายและเสียเวลามาก ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้การแก้ปัญหาเกิดความยั่งยืน คือ การปลูกฝังให้นักเรียนรักและเห็นคุณค่าของหนังสือ

 
      “เราต้องปลูกฝังให้นักเรียนถนอมหนังสือให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากพี่สู่น้อง ใครที่ทำหนังสือชำรุดครูจะไม่ได้ดุด่าว่ากล่าวหากแต่ใช้วิธีบอกกล่าวและชี้ให้เห็นว่าคนที่รออ่านหนังสือต่อจากเรายังมีอยู่มากมาย หากเราไม่รักษา คนอื่นๆ ก็ไม่มีโอกาสที่จะอ่านงานเขียนดีๆ ดังนั้น เราต้องคิดไว้เสมอว่าหนังสือทุกเล่มเป็นของส่วนรวม แต่ต้องรักษาเหมือนของส่วนตน จากนั้นครูจะให้นักเรียนซ่อมหนังสือเล่มนั้นๆ ด้วยตัวเอง หรือหากเป็นการชำรุดโดยที่ไม่ได้ตั้งใจก็ต้องบอกเจ้าหน้าที่ทันที เพื่อที่จะแก้ไขซ่อมแซมได้ทัน เพราะส่วนใหญ่ถ้าหลุดแล้วบางหน้าจะหายไปเลย”

 
      นอกจากปลูกฝังให้นักเรียนรักษาและซ่อมแซมหนังสือแล้ว ครูยังจัดกิจกรรมสอนทำที่คั่นหนังสือในช่วงพักกลางวันอีกด้วย ทั้งนี้เพราะมีหนังสือที่นำส่งคืนจำนวนมากที่เสียหายเพราะการพับหนังสือ โดยครูจะให้นักเรียนนำกระดาษ และวัสดุเหลือใช้มาสอนและฝึกให้นักเรียนตกแต่งที่คั่นหนังสือให้สวยงาม เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กใช้ที่คั่นหนังสือกันมากขึ้น 

ใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ ช่วยหันหลักคิด


       ขณะที่โรงเรียนคิดฐานการเรียนรู้ และกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมา ครูปานทิพย์ได้ศึกษาวิธีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในงานห้องสมุด โดยเริ่มคิดกระบวนการหากิจกรรมที่จะสามารถดึงเด็กเข้ามาในห้องสมุดก่อน จากเดิมที่เคยคิดว่าห้องสมุดน่าจะเป็นสถานที่เงียบสงบ เพื่อให้นักเรียนอ่านหนังสืออย่างมีสมาธิ แต่ครูกลับมองว่า หากเด็กอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้แลกเปลี่ยนความคิด ไม่ได้ถูกกระตุ้นให้เกิดจินตนาการ อาจทำให้การอ่านไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ จึงจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อใช้เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น การแสดงออก เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้เช่นกัน 

ชุมนุมบรรณารักษ์น้อย


      ชุมนุมบรรณารักษ์น้อยเป็นการรวมตัวของนักเรียนที่รักการอ่านและเข้ามาช่วยครูดูแลห้องสมุดของโรงเรียน นอกจากเด็กๆ จะฝึกหน้าที่การเป็นบรรณารักษ์แล้ว ยังมีการสร้างสรรค์กิจกรรมอีกมากมาย เช่น กิจกรรมเล่านิทานพี่สอนน้อง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องและสร้างทัศนคติที่ดีต่อห้องสมุดและการอ่าน ครูปานทิพย์เล่าว่า กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่ครูได้ไปศึกษาดูงานในที่ต่างๆ พบว่าการใช้กิจกรรมการเล่านิทาน ไม่ใช่เล่าให้ฟังอย่างเดียว แต่จะจัดให้มีการอบรม การประกวด และสรุปเนื้อหามาตั้งคำถามกับผู้ฟัง เมื่อครูนำแนวคิดนี้มาเสนอพูดคุยกับเด็กๆ ในชุมนุมบรรณารักษ์น้อย เด็กๆ ก็อยากทำบ้าง จึงมาช่วยกันคิดว่าในกลุ่มของตัวเองจะสามารถประยุกต์วิธีการต่างๆ เหล่านี้มาจัดกิจกรรมได้อย่างไร

     หลังจากที่เด็กๆ ได้คิดรูปแบบ วิธีการแล้ว สรุปได้ว่าจะจัดให้มีกิจกรรมทุกวันศุกร์ เพื่อเตรียมตัวฝึกซ้อมในวันจันทร์-พฤหัสบดี ทั้งนี้แต่ละสัปดาห์นักเรียนจะเตรียมนิทานไว้เล่าสองเรื่อง เนื้อหาจะเน้นการสอนคุณธรรมง่ายๆ ที่เหมาะกับน้องๆ ชั้นอนุบาลและเด็กเล็ก ซึ่งอาจแฝงไว้ด้วยคติสอนใจที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เช่น การช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานบ้าน ความมีน้ำใจต่อเพื่อนๆ ความกตัญญูรู้คุณ รวมถึงการสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทานข้าวหมดจาน การรู้จักใช้สิ่งของ ถนอมรักษาของใช้ เป็นต้น โดยเรื่องราวมาจากหนังสือในห้องสมุด อินเทอร์เน็ต หรือจากที่นักเรียนคิดกันเองเมื่อนักเรียนรุ่นพี่เล่านิทานจบจะมีการพูดคุยกับน้องๆ ในลักษณะใกล้ชิดเป็นธรรมชาติ เช่น น้องชอบตัวละครไหนมากที่สุด เพราะอะไร ทำให้ได้รู้จินตนาการเด็กของแต่ละคนว่าไม่เหมือนกัน หากมีคติเตือนใจก็จะสอนน้องๆ ไปด้วย

      สิ่งที่พี่ๆ ได้เรียนรู้คือ การรู้จักวางแผนก่อนเล่านิทาน รู้จักความพอประมาณในการใช้เวลาในการเล่า หรือการมีเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกเรื่องนั้นๆ มาเล่าให้น้องๆ ฟัง ส่วนเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันจะเลือกเรื่องที่สอดแทรกคุณธรรมที่สอนทั้งตนเองและผู้อื่นได้ การรู้จักแบ่งงานกันทำ บางครั้งอาจต้องดัดแปลงเนื้อหาให้เด็กเล็กเข้าใจได้ สรุปให้ได้เนื้อหาแบบกระทัดรัด ไม่ยากจนเกินไปที่น้องจะคิดตามได้ เป็นต้น

กิจกรรมหนังสือเล่มเล็ก


      กิจกรรมหนังสือเล่มเล็ก เกิดจากแนวคิดของครูปานทิพย์ ที่ต้องการให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการเขียน “เริ่มแรกครูคุยกับเด็กในชุมนุมว่า เราน่าจะนำความรู้ที่ได้จากการอ่านมาเผยแพร่ให้น้องๆ จึงคิดโครงการหนังสือเล่มเล็กขึ้นโดยเชื่อมโยงกับชมรม และชุมนุมอื่นๆ ที่ฝึกให้นักเรียนทำกันอยู่แล้ว อาทิ ชุมนุมห้องสมุด ชมรมโลกสวยด้วยมือเรา ชุมนุมรักการอ่าน นำหนังสือมาวางในมุมห้องสมุด”

      การทำหนังสือเล่มเล็ก เป็นการฝึกทักษะการเขียน การสะกดคำ การเรียบเรียงประโยค การจับใจความสำคัญ ซึ่งครูปานทิพย์มองว่าจะช่วยเพิ่มกระบวนการคิดที่เป็นระบบ และเชื่อมโยงความคิดได้อย่างดี นอกจากนั้นยังมีประโยชน์ในแง่การพกพา การนำมาบันทึกเกร็ดความรู้ บันทึกช่วยจำของนักเรียนด้วย และยังได้สอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการส่งเสริมให้นักเรียนฝึกคิด และบันทึกเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน การนำวัสดุเหลือใช้นำกลับมาสร้างประโยชน์ การเห็นคุณค่าของกระดาษ และการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการบันทึกความสัมพันธ์รุ่นพี่รุ่นน้อง

     “ผลที่ได้คือ เด็กๆ มีการตอบรับดีมาก มาถามว่าหนังสือทำอย่างไร ซึ่งครูให้รุ่นพี่ที่ทำเป็นกันแล้วมาช่วยสอนน้องๆ รวมกันเป็นกลุ่ม และขยายสู่ห้องเรียน ตลอดจนคุณครูสอนศิลปะและการงาน ซึ่งอย่างน้อยจะให้นักเรียนทำขึ้นมาคนละ 1 เล่ม สำหรับเด็กช่วงชั้นที่ 1 จะให้เด็กทำกระดาษหน้าเดียว โดยเลือกเรื่องที่เด็กๆ สนใจมากที่สุดก่อน ส่วนเด็กโตขึ้นมาหน่อยอาจทำแบบป๊อบ-อัพ เด็กๆ ต่างช่วยกันหาอุปกรณ์วัสดุเหลือใช้ โดยที่เราไม่ต้องซื้อ กิจกรรมนี้ครูจะเน้นเรื่องความพอประมาณ โดยเฉพาะการหาเศษวัสดุมาใช้ ไม่จำเป็นต้องหากระดาษสวยๆ เอาเศษกระดาษมาประยุกต์ใช้ก็ได้ เปรียบเทียบให้เด็กฟังว่า บางครั้งเราอ่านหนังสือที่หน้าปกสวย แต่เนื้อหาไม่เหมาะสมก็ไม่มีประโยชน์อะไร หลังๆ เด็กจะรู้เลยว่าเวลา เจอกระดาษ วัสดุอะไรก็จะเอามาให้ครูเก็บไว้ที่ห้องสมุด”


      ครูปานทิพย์ กล่าวว่า ด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่มีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม การฝึกคิดวิเคราะห์ การลงมือทำ มีส่วนช่วยปรับเปลี่ยนอุปนิสัยเด็กได้อย่างมาก โดยเฉพาะเด็กเกเรที่ไม่ค่อยสนใจเข้าห้องสมุด ที่มักเข้ามากวนหรือป่วนเพื่อนๆ ก็เกิดความสนใจร่วมทำกิจกรรม บางคนเริ่มหยิบจับหนังสือมาอ่าน บางคนมีเศษกระดาษห่อของขวัญ ก็นำมาบริจาคให้ห้องสมุด เพราะเด็กได้เรียนรู้ว่ากระดาษวัสดุแบบไหนที่จะใช้ทำสมุดเล่มเล็กได้ นอกจากเด็กๆ จะรู้จักคุณค่าของการอ่าน ยังได้รู้จักใช้ของเหลือใช้ให้เป็นประโยชน์อีกด้วย


      กิจกรรมที่ทำขึ้นเหล่านี้ส่งผลให้บรรยากาศในห้องสมุดเปลี่ยนแปลงไป เด็กเริ่มเข้าห้องสมุดมากขึ้น เด็กเริ่มอ่านหนังสือ เด็กเริ่มมาถามหาหนังสือเล่มใหม่ๆ มีวงพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าเพื่อนๆ กำลังอ่านเรื่องอะไร คนที่อ่านเรื่องเกี่ยวกับสัตว์จะมีการถามไถ่เพื่อนๆ ว่าที่บ้านแต่ละคนมีเลี้ยงสัตว์อะไรบ้าง เกิดความสนุกสนานความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ทำให้ห้องสมุดกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจ และมีชีวิตชีวาขึ้นมาก