ประกายความคิดในวันเริ่มต้น


 "ฉันเชื่อว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ใครปฏิบัติ คนนั้นก็ได้รับผล เรียกว่า "ใครทำ ใครได้" ฉันชอบที่จะลอง และเมื่อลองแล้วก็พบความเป็นจริง เรียกว่า "ไม่ลองไม่รู้" ฉันเกิดแรงท้าทายจากเพื่อนรอบตัว จากกระแสสังคมที่ยังไม่เชื่อผลของการปฏิบัติตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฉันจึงเป็นหนูตะเภาด้วยตนเองเพื่อช่วยขยายผลและพัฒนาความคิดของคนรอบข้าง ซึ่งมีแต่ความคิด แต่ไม่ยอมคิดจะปฏิบัติ ฉันอยากจะนำความสำเร็จจากการปฏิบัติไปสู่นักเรียนที่เป็นศิษย์ของฉัน ให้เขาได้มีชีวิตที่มั่นคง แข็งแรง และสมดุล"


"นี่แหละคือครูอย่างฉัน"


โดย นางกุณฑีรา บุญเลี้ยง


บทบาทหน้าที่ของครู ครูคือผู้ชี้แนะแนวทาง เสริมความรู้ จัดประสบการณ์การเรียนรู้ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกฝน ใช้ความรู้อย่างถูกต้องเหมาะสม แสวงหารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียนและประการสำคัญคือ รักษาชาติ


ครูสอนภาษาไทยมีหน้าที่จัดการเรียนรู้ภาษาไทย ให้นักเรียนรู้จักรากเหง้าของตนเอง รู้จักที่มา รู้จักความเป็นชาติ เห็นคุณค่าของภาษาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ เอกลักษณ์ของชาติ ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องทั้งการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน การศึกษาวรรณคดี วรรณกรรม


จากสภาพปัญหาที่พบ เด็กๆ เยาวชนตลอดจนผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อย ไม่รู้คุณค่า ไม่มีความซาบซึ้ง ไม่มีความภาคภูมิใจ ใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง ซึ่งครูผู้สอนภาษาไทยมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด แต่ดูเหมือนการปฏิบัติยังไม่เต็มที่ ฉันเป็นครูคนหนึ่งที่ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอน ต้องปลุกจิตสำนึกของคนไทย เยาวชนไทย ให้เกิดความซาบซึ้งและภาคภูมิใจในความเป็นชาติ โดยใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง ปฏิบัติตามพระราชดำรัส พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยประเทศชาติ ห่วงใยความเป็นชาติ โดยทรงห่วงใยการใช้ภาษาไทยของคนไทย


การแสดงความรัก ความจงรักภักดีแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยการเปล่งเสียง ด้วยการเขียนบอก มิได้เป็นความรักที่แท้จริง เรียกว่า "ดีแต่พูด" การปฏิบัติตามแนวพระราชดำริ พระราชประสงค์ตามที่ทรงทดลอง ทรงสาธิต ทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่าง จึงจะได้ชื่อว่า "รักพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงต้องการให้ประชาชนพ้นวิกฤต พ้นความทุกข์ยาก จึงพระราชทานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นแนวปฏิบัติ


ฉันวางแผนกำหนดแนวทางการสอน ด้วยการศึกษาทฤษฎีวิธีสอนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแล้วประยุกต์ จัดรูปแบบกระบวนการสอนเพื่อให้นักเรียนเกิดความซาบซึ้ง ภาคภูมิใจ โดยจัดกิจกรรมระเบิดภายในของนักเรียน สะท้อนความรู้สึกความสะเทือนใจ รู้จักวิเคราะห์แจกแจง สามารถสรุปหลักการแนวคิด ทดลองตรวจสอบและพัฒนาให้กว้างไกล ตัวอย่างเช่น การจัดการส่งเสริมให้รักการอ่าน นักเรียนสามารถอ่านได้ครั้งละหลายๆ หน้า หลายๆ เล่ม วิเคราะห์คุณค่าประโยชน์และสรุปประเด็นได้ตามกำหนดเวลา "ไม่คิดว่าจะอ่านได้ขนาดนี้ และรู้เรื่องขนาดนี้ แต่ก็ทำได้" เป็นคำพูดที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลง


นักเรียนสามารถเขียนเล่าเรื่อง เขียนเรียงความ เขียนนิทานได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีขนาดความยาวกว่าเดิม 3-5 หน้าต่อครั้ง ใช้ภาษาได้อย่างสละสลวยเป็นเพราะเกิดความซาบซึ้ง เข้าใจการสื่อสารถ่ายทอด "ไม่รู้ว่าเขียนไปได้อย่างไร แปลกใจตัวเองเหมือนกัน" คำกล่าวของนักเรียนเหล่านี้เป็นผลลัพธ์ที่ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนความคิด พัฒนาความสามารถสูงขึ้น


เมื่อนักเรียนได้วิเคราะห์พระราชดำรัสของพระบรมราโชวาท แล้วนำไปแต่งการ์ตูนนิทาน "ทำไมพระเจ้าอยู่หัวทรงคิดได้ลึกซึ้งขนาดนี้" นักเรียนเริ่มเข้าใจ แยกแยะเลือกนำไปปฏิบัติ


การเปลี่ยนแปลงการใช้ภาษา ความสามารถ ทักษะการแสดงความเห็น มีเหตุผล เป็นผลลัพธ์แห่งความสำเร็จที่เกิดจากวิเคราะห์แยกแยะ เชื่อมโยง การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปจัดการเรียนรู้


กระบวนการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


ฉันรู้สึกเสมอว่าคนที่จะเป็นครูที่ดีก็ต้องรู้ให้มาก ต้องรอบรู้ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะคน สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เมื่อรู้หรือรอบรู้ ความมั่นใจก็จะเกิดขึ้น การถ่ายทอด อบรมสั่งสอน แนะนำให้คำปรึกษาแก่นักเรียนก็จะบังเกิดผล นักเรียนก็มีความเชื่อมั่น มีศรัทธาในตัวครู จะเห็นว่าครูเด็กๆ หรือครูใหม่ๆ ครูฝึกสอน หรือนักศึกษาฝึกประสบการณ์เด็กๆ นักเรียนจะไม่ค่อยเชื่อมั่น เหตุผลนี้ก็น่าจะเป็นไปได้ ความรอบรู้ รู้จริง รู้แจ้ง จะทำให้เกิดศรัทธา ซึ่งเป็นด่านแรกของการเป็นศิษย์เป็นครู คนเราเมื่อเกิดศรัทธาแล้ว อะไรๆ ก็ดูง่ายไปหมด เรียกว่าใจให้แล้ว ฉันได้รับความศรัทธาจากลูกศิษย์แทบทุกรุ่น เพราะฉันสร้างศรัทธา สร้างฉันทะให้ตัวเองก่อนเสมอ

เด็กวัยรุ่นชอบร้องรำทำเพลง ฉันก็เคยนำเพลงมาเป็นสื่อให้เด็กได้ร้องเล่น เต้น รำ เขียนคิดวิเคราะห์ก็สนุกเท่านั้นเอง บางครั้งฉันก็พบเพชรที่ออกแรงเจียระไนอีกเล็กน้อยก็จะมีแสงแวววับ มีคุณค่า

สื่อหรือเครื่องมือช่วยสอนของฉันหาง่าย จัดทำไม่ค่อยเสียเงินเสียทองเท่าไรนัก ไม่ซับซ้อน เพราะฉันคิดว่าสื่อที่ดี คือ ตัวช่วยที่ดีให้เด็กรู้เร็ว เข้าใจง่าย จำได้นาน ประหยัด มีประโยชน์และประยุกต์ได้อย่างหลากหลาย

ฉันชอบเล่าเรื่องสั้น เรื่องจริง ข่าว สถานการณ์ หรือนิทานให้เด็กฟัง เพื่อเชื่อมโยงความรู้ ความคิดต่างๆ ตามแต่จุดประสงค์ที่ฉันต้องการให้เป็นไป นิทานก็เช่นเดียวกับสื่อที่ยกตัวอย่างมาแล้ว เด็กๆ ชอบฟังนิทานเพราะเพลิน ได้คิด จำได้เร็ว นิทานเรื่อง "หมาออกลูกกี่ตัว" ฉันจะใช้บ่อยในกรณีที่เด็กๆ ทำงานไม่รอบคอบ ทำงานขอไปที เหมือนกับคนรับใช้ที่ไม่รอบคอบเห็นสุนัขคลอดลูก ก็รีบรายงานเจ้านาย แต่เมื่อเจ้านายซักถามก็ตอบไม่ได้ต้องวิ่งไปดูทีละครั้งๆ ซึ่งผิดกับคนที่มีความรอบคอบ เห็นแล้วสังเกต จดจำสามารถรายงานครั้งเดียวได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งทำให้ผู้รับรายงานพึงพอใจ เด็กๆ จะชอบฟังมาก และจะจำจนขึ้นใจ เกิดความระมัดระวังมากขึ้น

การสอนทุกครั้งฉันไม่เคยละเลยเรื่องของการสร้างบทเรียนให้มีชีวิต และสอนทักษะชีวิตควบคู่กันไปทุกครั้ง มิใช่สอนแต่เนื้อหาวิชาการ เด็กๆ จะได้ลงมือปฏิบัติ ถ้าเป็นการฝึกทักษะก็จะต้องลงมือปฏิบัติจริงทุกครั้งไป ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การฟัง การพูด การเขียน การวิเคราะห์ การสื่อสารทุกรูปแบบ

เนื้อหาบทเรียนที่สร้างเป็นหน่วยการเรียนรู้ ฉันจะนำมาจากปัญหาในโรงเรียน ปัญหาของสังคม ประเทศชาติ เช่น หน่วยการเรียนรู้ "ใต้ร่มพระบารมีปกเกล้า" ความต้องการของฉันคือให้เด็กรู้ตัวตนของตนเองว่าเป็นนักเรียนอยู่ในโรงเรียนของพระองค์ท่าน โรงเรียนนี้มีที่มาอย่างไร หรือหน่วยการเรียนรู้ "ออมไม่มีอด จดไม่มีจน" ฉันต้องการให้เห็นความสำคัญของการวางแผนชีวิตอย่างรอบคอบ หรือหน่วยการเรียนรู้ "โรงเรียนสวยด้วยมือเรา" ที่ฉันต้องการให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นต้น

นอกจากเทคนิคดังกล่าวแล้ว ฉันใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ฉันได้รวบรวมและสังเคราะห์จากพระราชดำรัส และหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กระบวนการจัดการเรียนรู้นี้ ได้แก่

1. การระเบิดภายในใช้ศรัทธา

2. ศึกษาความรู้คู่คุณธรรม

3. นำสู่การปฏิบัติอย่างถูกต้อง รอบคอบ ระมัดระวัง ป้องกันความเสี่ยง

4. ตรวจสอบอย่างรอบคอบและพัฒนาให้ก้าวไกล

สิ่งที่ฉันให้ความสำคัญมากพอๆ กับเนื้อหากระบวนการสอน คือคุณธรรม ฉันรู้ตัวฉันว่า ฉันมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ในการอบรมสั่งสอนนักเรียน ฉันซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของฉัน ความรู้ใดๆ ฉันมิเคยปิดบัง ฉันประสิทธิ์ประสาทให้ลูกศิษย์ด้วยความเต็มใจ

ไม่ว่าจะเป็นความขยัน อดทน ซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ มุ่งมั่นในการทำงาน การคิด การทำงานอย่างมีระเบียบ มีเหตุ มีผล พอควรแก่ตนเอง ฉันสอดแทรกตลอดเวลา เรียกว่าให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตก็ว่าได้ ลูกศิษย์ของฉันหลายคนพัฒนาได้ไว แต่อีกจำนวนมากค่อยๆ มีพัฒนาการและมีวิถีชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนความรู้ ทักษะในการใช้ภาษาไทยสื่อสาร ความตระหนักถึงคุณค่ามรดกทางวรรณคดี วรรณกรรม เด็กๆ มีความรู้ มีพัฒนาการตามความสามารถของแต่ละคน

ความสำเร็จในความเป็นครูของฉัน ฉันคิดว่าสืบเนื่องมาจาก ฉันรักครู ฉันชอบอาชีพครู ฉันอยากเป็นครูดีในดวงใจของลูกศิษย์ ฉันมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง ฉันวางแผนและทำงาน อย่างมีความพอประมาณ มีเหตุ มีผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเอง มีความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง และมีคุณธรรมกำกับตลอดเวลา ที่ฉันเป็นครู..." นี้แหละคือครูอย่างฉัน"