ประกายความคิดในวันเริ่มต้น

ประกายความคิดในวันเริ่มต้น

“โรงเรียนมีนโยบายให้ทุกหมวดวิชาคิดดำเนินโครงการใหม่ๆ เพื่อให้เห็นถึงการพัฒนา..ฉันมองเห็นปัญหาที่ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ ของเด็กไทย นั่นคือปัญหาการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้อง อ่านหนังสือไม่ออกบ้าง พูดจาไม่ชัดบ้าง ใช้ถ้อยคำก็ไม่เหมาะสมโครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ฉันต้องการแก้ปัญหาการใช้ภาษาไทยของนักเรียนโรงเรียนศรีวิชัย ที่จริงฉันแอบคิดว่าอยากมีโอกาสได้แก้ปัญหาการใช้ภาษาไทยของเยาวชนไทยทุกคนด้วยซ้ำไป”

­

"มาลัยดอกรัก"

โดย นางมาลินี ทับทิมชัย

เรื่องเล่าของดิฉันมีชื่อว่า “มาลัยดอกรัก” เขียนขึ้นจากความรู้สึกประทับใจในวันไหว้ครูเมื่อครั้งที่ผ่านมา เพราะมีศิษย์เก่ากลับมาหาหลายคน พวกเขานำพวงมาลัยมากราบดิฉันและบอกว่าคิดถึงอาจารย์ กราบขอบพระคุณที่ปลูกฝังสั่งสอนให้เขามีวิชาความรู้ มีความสามารถพิเศษที่เขานำเอาไปใช้ในการเรียนและการดำเนินชีวิต บางคนบอกว่าถ้าไม่ได้อาจารย์เขาคงเขียนเรียงความในการสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ไม่ได้ สอบสัมภาษณ์ไม่ได้ ดิฉันมองพวงมาลัยที่เหี่ยวเฉาแล้วด้วยหัวใจที่สดชื่น ทำให้ต้องนึกย้อนไปในอดีต เมื่อปี 2548 ดิฉันได้เสนอโครงการ “คลินิกภาษา” ในที่ประชุมกลุ่มสาระวิชาภาษาไทย มีคนแย้งว่ามีที่อื่นเขาทำกันแล้ว ก็ “หมอภาษา” ไง

­

ดิฉันจึงถามกลับไปว่า เขาทำกันแล้ว แล้วโรงเรียนเราทำหรือยัง และทำไมไม่ทำ ความแปลกใหม่ไม่ใช่สิ่งดีเสมอไป ความคิดของเราอาจไปคล้ายกับของคนอื่น แต่ถ้าเกิดประโยชน์ต่อนักเรียน เราก็ควรทำ

­

แรงบันดาลใจมาจากการที่ดิฉันมองเห็นปัญหาในการใช้ภาษาไทยของเยาวชน ในฐานะเป็นครูภาษาไทยเหมือนเป็นเมืองหน้าด่านที่ต้องรับศึกก่อน เด็กไทยใช้ภาษาไทยผิดเพี้ยนไปมาก ดังนั้น โครงการคลินิกภาษาจึงเกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างแหล่งเรียนรู้ไว้แก้ปัญหาการใช้ภาษาไทยของนักเรียน เสมือนหมอที่มีคลินิกรับรักษาคนไข้ โครงการได้รับการอนุมัติได้รับงบประมาณดำเนินการ

­

แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้นักเรียนสนใจและเข้ามาให้เรารักษา ในปีแรกเราจะมีเฉพาะนักเรียนที่ครูผู้สอนภาษาไทยคัดกรองและส่งมาให้เราพัฒนา ซึ่งนักเรียนเหล่านี้ก็จะขาดความรับผิดชอบและเบื่อหน่ายต่อการเรียนอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดปัญหาในการติดตามมาก ในช่วงเวลานั้น โรงเรียนโดยท่านผู้อำนวยการได้มีนโยบายให้ครูจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงมีการให้ความรู้ในหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขแก่ครูและนักเรียน

­

ดิฉันรู้ซึ้งและศรัทธาในหลักปรัชญาอยู่แล้ว ประกอบกับความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเต็มใจทุ่มเทแรงกายแรงใจเป็นอย่างยิ่งที่จะนำหลักปรัชญามาปรับใช้ในกระบวนการดำเนินโครงการ เริ่มจากการให้เขารู้จักใช้เหตุผลในการตระหนักให้เกิดความรักและหวงแหนที่จะอนุรักษ์ภาษาไทย ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง จัดนักเรียนพูดรณรงค์เรื่องการใช้ภาษาไทยทางเสียงตามสาย พูดหน้าเสาธงในตอนเช้า ติดคำขวัญเชิญชวน ประกาศรับสมัคร “หมออาสา” จากนักเรียนชั้นม.ปลายที่มีความสามารถพิเศษ เช่น ลายมือสวย อ่านหนังสือคล่อง แต่งกลอนเก่ง มีทักษะการพูด มาฝึกฝนพัฒนาเพื่อให้เป็นเจ้าหน้าที่ในการให้บริการเป็นการปลูกฝังคุณธรรม การมีจิตอาสาใช้คุณธรรมนำความรู้ ปรากฏว่าโครงการเริ่มคึกคักมีนักเรียนเข้ามาฝึกฝนพัฒนาโดยไม่ต้องรอให้ครูบอก

­

คลินิกของเราจะเปิดบริการในช่วงพักกลางวันและหลังเลิกเรียน ดังนั้น ทั้งผู้ที่มารักษาและผู้ให้การรักษาต้องมีความเสียสละเวลาของตนเอง ดิฉันมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นักเรียนมีพื้นที่ในการแสดงออก มีภาวะผู้นำ และเห็นความสำคัญในการพัฒนาตนเองด้านการใช้ภาษาไทย ครูให้นักเรียนเป็นพิธีกรในกิจกรรมต่างๆ เป็นผู้ประกาศเสียงตามสาย ได้รับรางวัลจากการประกวดแข่งขันความสามารถในวิชาภาษาไทยกันมากมาย เมื่อสิ้นปีการศึกษามีการประเมินโครงการ ผลอยู่ในระดับดีมาก จึงเป็นโครงการต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

­

โครงการคลินิกภาษา ได้รับรางวัล Best Practice จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา นครปฐม เขต 1 พร้อมๆ กับที่โรงเรียนของเราได้รับการคัดเลือกเป็นสถานศึกษาพอเพียง 2550 นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวศรีวิชัยวิทยา

­

แต่นี่ไม่ใช่เป้าหมาย หากแต่เป้าหมายของเราคือ การได้พัฒนาดอกรักดอกน้อยๆของต้นรักต้นใหญ่ ให้เป็นคนที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วนทั้งร่ายกาย จิตใจ ความรู้และคุณธรรม สามารถน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่วิถีชีวิตได้ พวงมาลัยที่ดิฉันได้รับในปีนี้ไม่ใช่ปีแรก และต้องไม่ใช่ปีสุดท้ายแน่นอนค่ะ

­

ในปีการศึกษา 2549 ฉันจึงเขียนโครงการคลินิกภาษาเป็นโครงการต่อเนื่อง ดำเนินการอย่างปีที่ผ่านมา โดยมีการปรับปรุงพัฒนาแบบฝึกต่างๆ จัดหาหนังสือมาเป็นสื่อส่งเสริมการอ่าน โดยฉันคิดว่าโครงการจะดำเนินไปด้วยดี แต่แล้วปัญหาก็เกิดขึ้น ครูในหมวดวิชาภาษาไทยมีหน้าที่พิเศษที่ต้องรับผิดชอบกันมากมาย จากที่เคยมาแก้ปัญหาให้นักเรียนที่คลินิกภาษาบ้างก็ค่อย ๆ หายไป จากที่เคยคัดกรองส่งนักเรียนมาบ้างก็ค่อย ๆ หายไปเช่นกัน อาจารย์บางท่านก็บ่นว่าหนวกหู เพราะคลินิกอยู่ติดกับห้องพักครู มันเป็นโจทย์ที่ฉันต้องแก้ปัญหาให้ได้ แต่จะทำอย่างไรดี

­

ฉันเริ่มรู้สึกท้อ รู้สึกสับสนอยู่พักหนึ่ง แต่แล้วฉันก็มีกำลังใจขึ้นมาอีกครั้ง เพราะยังคงมีนักเรียนมาให้ฉันสอนและฝึกฝนอยู่เสมอ นอกจากนี้ เริ่มมีกลุ่มนักเรียนที่สนใจพัฒนาตัวเองเข้ามาขอฝึกการออกเสียงคำ ฝึกการพูด เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่เขาต้องทำกิจกรรมกับโรงเรียนและต้องใช้ความสามารถในการใช้ภาษาไทยเป็นหลัก เนื่องจากโรงเรียนโดยท่านผู้อำนวยการทิพวรรณ ยิ้มสวัสดิ์ ได้เปิดพื้นที่หรือให้โอกาสนักเรียนได้แสดงออก ได้ฝึกความเป็นผู้นำ ซึ่งนักเรียนเหล่านี้ทำให้ฉันเกิดความคิดในการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรขึ้นมาทันที เมื่อนักเรียนกลุ่มนี้ได้รับการพัฒนาให้อยู่ในระดับที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนด้วยกันได้ เขาจึงเป็น “หมออาสา” ของคลินิกภาษา

­

ในขณะช่วงเวลานั้นฉันได้รับทราบถึงแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เนื่องจากท่านผู้อำนวยการได้มีนโยบายให้ครูและนักเรียนได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต ฉันเริ่มคิดในใจที่จะศึกษาหลักการนี้อย่างละเอียด เนื่องจากมีหน้าที่ที่ต้องฝึกสอนนักเรียนพูดสุนทรพจน์ กล่าวเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน และต้องจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การเรียนการสอนด้วย ทำให้ทราบว่าแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทุกเรื่อง ไม่เพียงแต่การประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะหลักการสอนถึงความรู้จักพอประมาณ การมีเหตุมีผล การมีภูมิคุ้มกัน โดยอยู่บนพื้นฐานเงื่อนไขของความรู้และคุณธรรม และนี่คือทางออกของโครงการคลินิกภาษานั่นเอง

­

ในปีการศึกษา 2550 ฉันเสนอโครงการอีก ซึ่งก็ได้รับการอนุมัติ ฉันจึงเริ่มต้นปรับรูปแบบของการดำเนินโครงการในส่วนของขั้นตอนการดำเนินโครงการ คือ วางแผน นำปัญหาและอุปสรรคของปีที่ผ่านมามาปรับปรุงแก้ไข ขออนุญาตแต่งตั้งนักเรียนเป็นเจ้าหน้าที่ประจำคลินิกภาษา หรือ “หมออาสา” จัดเตรียมฝึกพัฒนาให้ “หมออาสา” มีความรู้ความสามารถเพียงพอแก่การแก้ปัญหาให้นักเรียนที่เข้ามาบำบัดรักษา โดยให้ยึดหลักความเมตตา มีจิตอาสาที่จะเสียสละเวลาในการฝึกฝนพัฒนาผู้อื่นอย่างจริงใจ ในขณะเดียวกันตนเองก็ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้มีความรู้ความสามารถยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย ซึ่งการจะมาปฏิบัติหน้าที่ต้องเป็นช่วงที่ว่างเว้นจากการเรียน ได้แก่ ช่วงพักกลางวันและตอนหลังเลิกเรียน เป็นการแบ่งเวลา และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยแบ่งแยกไปตามความถนัด เช่น คนไหนลายมือสวยก็ให้เป็นหมอรักษาโรค “ลายมือวิบัติ” คนไหนอ่านหนังสือคล่อง และออกเสียงถูกต้องก็เป็นหมอรักษาโรค “อ่านอัปยศ” คนที่มีความสามารถด้านการพูดก็ให้เป็นหมอรักษาโรค “พูดอ้ำอึ้ง” ได้ผลนะคะ พี่ๆ เขาสอนน้องๆ หรือเพื่อนแนะนำเพื่อน เป็นบรรยากาศที่เป็นกันเอง มีนักเรียนสนใจมาใช้บริการกันมากมาย

­

เมื่อมีการปฏิบัติงาน ก็จะมีการประชุมประเมินผลเป็นระยะๆ โดยหมออาสาจะมีข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนางานอยู่เสมอๆ เด็กๆ เสนอความคิดขึ้นมาว่าวัยของนักเรียนนั้นสนใจในเรื่องของการฟังเพลงหรือร้องเพลงกันมาก จึงคิดสื่อให้นักเรียนได้พัฒนาการอ่านจากการร้องเพลง ฉันทำบันทึกขอเครื่องคอมพิวเตอร์จากหมวดวิชาภาษาไทย 1 เครื่อง และลงโปรแกรมเพลงคาราโอเกะให้นักเรียนที่ชอบร้องเพลง ฝึกอ่านตัวหน้งสือ และฝึกออกเสียงคำจากการร้องเพลงคาราโอเกะ แต่มีข้อแม้ว่าต้องเป็นเพลงที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์ และฝึกภาษาได้เป็นอย่างดี เช่น เพลงของขวัญจากก้อนดิน เพลงต้นไม้ของพ่อ เพลงพระราชนิพนธ์ และที่นักเรียนจะชอบร้องมากคือเพลงลูกทุ่ง น่าดีใจจริงๆ

­

ต่อจากนั้น ฉันก็เกิดความคิดสร้างสื่อเพิ่มขึ้นอีกเพื่อให้หลากหลายและใช้เทคโนโลยีคือสร้างหนังสืออิเลคทรอนิกส์ หรือ E-book ให้นักเรียนได้ฝึกอ่าน เด็กๆ ตื่นเต้นกันใหญ่ โครงการคลินิกภาษาเป็นที่รู้จักของครูและนักเรียนมากขึ้น ผู้ที่เข้ารับการพัฒนาไม่เพียงแต่เป็นนักเรียนที่มีปัญหาเท่านั้น แต่ขยายวงกว้างไปยังนักเรียนที่สนใจจะพัฒนาตนเอง เช่น คณะกรรมการสภานักเรียน คณะกรรมการสโมสรอินเตอร์แรคท์ ซึ่งนักเรียนเหล่านี้จะต้องเป็นผู้นำและต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านการใช้ภาษาไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการพูด ฉันจึงเป็นผู้รับหน้าที่ฝึกฝนนักเรียนเป็นพิธีกรของโรงเรียน เช่น เป็นพิธีกรดำเนินกิจกรรมหน้าเสาธงในตอนเช้า ซึ่งเดิมครูจะผูกขาดความเก่งอยู่คนเดียว

­

ในปีการศึกษา 2551 ฉันยังคงเสนอโครงการคลิกนิกภาษาอย่างต่อเนื่อง เพราะจากการประเมินผลโครงการเป็นที่น่าพอใจ และเห็นสมควรปฏิบัติต่อไป เมื่อมีปัญหาก็จะนำมาปรับปรุงพัฒนาในปีต่อไป ส่วนหมออาสาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปบ้างบางคน เพราะจบการศึกษาไป แต่ก็จะมีรุ่นใหม่มาแทนที่

­

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นของการดำเนินคลินิกภาษา มาจากการที่ฉันรู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักการพอประมาณ มีการศึกษาหาความรู้ คิดค้นพัฒนา และมีคุณธรรมในการปฏิบัติงานอย่างแท้จริง ซึ่งหลักการนี้ได้ถ่ายทอดไปยังนักเรียนของฉันด้วย

..............................................................