หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการเรียนการสอน

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการเรียนการสอน
ครูประมวล  เพ็ชยะมาตร์  โรงเรียนบ้านหนองไผ่  อ.หนองบัว  จ.นครสวรรค์

 

  • ก้าวแรกของงชีวิตครู

จากใจที่เปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจและอุดมการณ์ของการเป็นครู แต่บุคคลที่มีความภาคภูมิใจมากกว่าเราน่าจะเป็นพ่อ แม่ ที่อุตส่าห์ส่งเสียจนสำเร็จการศึกษาและรับราชการได้ตามเจตนารมณ์ของท่าน ตุลาคม 2524 เดินทางเข้ารับตำแหน่ง ครู 1 ระดับ 1 โรงเรียนตาเนินราษฎร์วิทยาคาร อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ (ปัจจุบันคือ อ.เนินสง่า) เสื่อไม่มี ผ้าห่มผืนหมอนใบ เสื้อผ้า 2-3 ชุด ยัดใส่ถุงทะเลใบเดียว เป็นครั้งที่ 2 ของการเหยียบย่างแผ่นดินอิสาน (ครั้งแรกสอบ ครั้งที่สองบรรจุ) ครูประมวลสอนวิชาอะไรได้บ้าง ครูใหญ่ถาม สอนได้ทุกวิชาครับ ตอบได้อย่างมั่นใจ เออ..... งั้นก็ช่วยสอนวิชาเกษตรนะ หาครูสอนไม่ได้เลย เด็กๆ ไม่ได้เรียนอย่างจริงจรังมานานหลายปีแล้ว ก็ไม่ได้จบทางด้านเกษตรมาเลย คิดอยู่ในใจว่าแล้วเราจะสอนอย่างไรดี เอาละ..... อย่างเก่งก็หนีไม่พ้นการสอนให้ปลูกผัก เมื่อครั้งที่เราเป็นเด็กนักเรียนงานเกษตรคือ คุณครูสอนให้ปลูกผักสวนครัว นำความรู้เดิมมาใช้ไปพลางๆ ก่อน น้ำอาบก็แทบจะไม่มี โรงเรียนต้องขอน้ำจากทางอำเภอมาเก็บไว้ในแทงค์น้ำไว้ใช้ เพื่ออุปโภคบริโภคสำหรับครูและนักเรียน ภาคกลางต้นข้าวยังเขียวขจี ภาคอิสานไม่มีน้ำแม้แต่หยดเดียวในนาข้าว (เมื่อครั้งบรรจุใหม่) ต้องสอนให้นักเรียนเห็นคุณค่าของน้ำที่จะนำไปใช้ นักเรียนก็เรียนรู้และปฏิบัติตามได้ดีมาก หรือว่าจะเป็นเพราะภัยธรรมชาติบังคับ นักเรียนจึงเกิดตระหนักในเรื่องเหล่านี้ สั่งจอบมาหวังจะขุดแปลงผัก วันรุ่งขึ้นนักเรียนนำเสียมกันมาเพียบเลย รู้สึกงงๆ แล้วจอบล่ะ เรียกอะไร ต้องไปถามครูท้องที่ ได้เสียงเฮฮาเป็นที่สนุกสนานกันยกใหญ่ ครูต้องสั่งให้นำ จก มา จึงจะได้จอบขุดแปลงผัก จกคือจอบ จอบคือเสียม อ้าว...เราก็นึกเรียกอย่างภาคกลาง กว่าจะเข้าใจภาษาถิ่นก็ใช้เวลานานพอสมควร แต่สิ่งที่ภูมิใจมากๆ ก็คือการได้เห็นเด็กๆ เก็บผักในแปลงที่ตนเองปลูกนำไปให้ผู้ปกครองประกอบอาหารที่บ้านทุกวัน

 

  • หนีไม่พ้นการสอนวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ

เป็นครูอยู่ภาคอิสานนานพอสมควร ขอย้ายกลับภูมิลำเนาเดิม โรงเรียนที่รับย้ายคือ โรงเรียนบ้านคลองกำลัง อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ครูใหญ่(ตำแหน่งสมัยนั้น) ก็ยังให้สอนวิชาการงานพื้นฐานอาชีพเป็นหลัก พร้อมกับวิชาอื่นๆ 2-3 วิชา เนื่องจากบุคลากรไม่ครบตามเกณฑ์ การสอนงานอาชีพส่วนใหญ่ทุกดรงเรียนจะเน้นการปลูกผักตามที่ครูถนัด เพราะไม่มีครูที่จบการศึกษาทางด้านเกษตรมากนัก บางโรงเรียนโชคดีได้ครูเกษตร นักเรียนก็ได้เรียนรู้เรื่องการเกษตรด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ การสอนก็เป็นเพียงให้นักเรียนรู้จักรับผิดชอบ มีความขยัน ซื่อสัตย์ รู้จักประหยัดอดออม ปลูกผักไว้รับประทานเองไม่ต้องซื้อ ครูหวังว่านักเรียนคงได้รับความรู้และนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อถึงวัยอันควร

 

  • เกษตรธรรมชาติและเกษตรผสมผสาน

เปลี่ยนสถานที่ทำงานใหม่ก็ได้เพิ่มเติมความรู้ใหม่เมื่อครั้งที่มาอยู่ที่โรงเรียนเวฬุวัน อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ เริ่มได้ยินคำว่าเกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน หรือการทำไร่นาสวนผสม คำว่าเกษตรทฤษฎีใหม่ หรือ เกษตรพอเพียง ซึ่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้ไว้กับคนไทยนั้น ยังไม่เห็นมีหน่วยงานใดน้อมนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้ารับการอบรม เรื่องเกษตรธรรมชาติ เกี่ยวกับการทำปุ๋ย อบรมเกษตรผสมผสานและการทำไร่นาสวนผสม อบรมการเพาะพันธุ์ปลา การเพาะเห็ด การขยายพันธุ์พืช เมื่อจบการอบรมแล้ว นำมาปฏิบัติและใช้สอนนักเรียนจนเกิดความรู้ความสามารถ นักเรียนสามารถนำผลผลิตออกจำหน่ายได้ เน้นให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียนเพื่อแบ่งเบาภาระการเงินจากผู้ปกครอง สอนให้รู้จักประหยัด ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน เมื่อทบทวนดูอีกทีเราสอนวิชานี้บูรณาการเข้ากับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไม่รู้ตัว นักเรียนก็ได้ซึมซาบหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปด้วย

 

  • ก่อนจะก้าวสู่ความรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ในปี พ.ศ.2540 ข้าพเจ้าขอย้ายมาทำการสอนที่โรงเรียนบ้านหนองไผ่ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์จนถึงปัจจุบันและในปีเดียวกับทางโรงเรียนขอเปิดทำการสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา) หลักสูตรปี พ.ศ. 2521 (ฉบับปรับปรุงพ.ศ.2533) กำหนดให้การจัดการเรียนการสอนวิชาการงานพื้นฐานอาชีพด้วยนั้น เมื่อประชุมคณะครูที่ประชุมมีมติให้ข้าพเจ้าเป็นผู้สอนวิชานี้ เมื่อศึกษารายวิชาในหลักสูตรที่กำหนดให้ มีทั้งช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ฯลฯ ข้าพเจ้าไม่มีความรู้เรื่องนั้นๆ เลย ในแขนงงานเกษตรหลักสูตรกำหนดรายวิชาไว้อีกมาก ข้าพเจ้าวิเคราะห์ความรู้ความสามารถของตนเอง วิเคราะห์วัยและวุฒิภาวะของนักเรียนแล้วเห็นว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 สามารถเรียนรายวิชาเพาะกบได้ เมื่อเลื่อนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 สามารถเรียนรายวิชาเพาะเห็ดได้และเมื่อขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สามารถเรียนรายวิชาการผสมเทียมพันธุ์ได้ ซึ่งรายวิชาดังกล่าวเหมาะสมกับวัยและวุฒิภาวะของนักเรียน ข้าพเจ้าสามารถสอนได้โดยอาศัยความรู้จากประสบการณ์เดิม ก่อนเปิดภาคเรียนขอรับบริจาควัสดุอุปกรณ์พร้อมแรงงานสร้างบ่อกบได้ 2 บ่อ ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองเป็นอย่างดี โรงเรือนเพาะเห็ด บ่อเพาะปลาก็ปฏิบัติเช่นเดียวกันการจัดการเรียนการสอนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก สื่อต่างๆ เห็นความสำคัญ ทั้งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หนังสือพิมพ์รายวันเกือบทุกฉบับ สถานีโทรทัศน์เกือบทุกช่องถ่ายทำสารคดีเกษตรออกอากาศ ทำให้โรงเรียนบ้านหนองไผ่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป สิ่งใดที่ยังขาดนำเสนอผู้บริหารโรงเรียน ทำโครงการของบประมาณ เช่น กรมประมงได้งบประมาณขุดบ่อ เนื้อที่ 12 ไร่ จำนวน 1 บ่อ บ่อประมงโรงเรียนเนื้อที่ 2 ไร่จำนวน 1 บ่อ อาคารศูนย์ผลิตพันธุ์ปลาจำนวน 1 หลัง ขอความอนุเคราะห์จากองค์บริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ ขุดบ่ออนุบาลลูกปลา จำนวน 4 บ่อ งบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวสร้างบ่อเพิ่มเติม การจัดการเรียนการสอนจนประสบผลสำเร็จดังกล่าว เกษตรจังหวัดนครสวรรค์ได้มาจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรในโรงเรียนส่งเข้าประกวดผลทำให้โรงเรียนได้รับรางวัลกลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ รับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ในวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญและสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ส่งยุวเกษตรส่งเข้าประกวดส่งผลให้ผู้บริหารโรงเรียนรับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี นับเป็นเวลาสิบปีกว่า ทำการสอนงานอาชีพให้แก่นักเรียนได้รู้จักพึ่งตนเองโดยใช้ความรู้ ความซื่อสัตย์สุจริต ขยันอดทนต่องานอาชีพ สอนให้รู้จักพอประมาณ ใช้เหตุผลในการประกอบอาชีพ สอนให้รู้จักประหยัด อดออมจากการประกอบอาชีพ แต่ยังไม่เคยสอนให้นักเรียนรู้จักคำว่า เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร เมื่อประเทศเข้าสู่ยุควิกฤตเศรษฐกิจ หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเริ่มเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มน้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามที่ในหลวงทรงพระราชทานเพื่อเป็นหลักในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืน
 

ข้าพเจ้าจึงได้สอนให้นักเรียนได้เข้าใจเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจแบบพอเพียง เริ่มแรกทีเดียวยังเข้าใจว่า เศรษฐกิจพอเพียงคือการประกอบอาชีพทางการเกษตรเท่านั้น แต่พอได้ศึกษา ได้อ่านได้ยินได้ฟัง จึงทราบว่าเรายังเข้าใจผิดๆ แท้จริงแล้วคือการงานในทุกสาขาอาชีพนั่นเอง การสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องการเกษตร รู้วิธีการทำงาน นั่นคือ เงื่อนไขความรู้ สอนให้นักเรียนมีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพ ขยันอดทน นั่นคือเงื่อนไขคุณธรรม สอนให้นักเรียนประกอบอาชีพแต่พอเหมาะพอควรตามฐานะของตนเอง นั่นคือ ความพอประมาณ สอนให้นักเรียนดูแลเอาใจใส่ต่องานหาวิธีการปรับปรุงป้องกันมิให้เกิดความเสียหาย นั่นคือ ความมีเหตุผล และสอนให้นักเรียนรู้จักเก็บออมบางส่วนจากการขายผลผลิตที่หามาได้ นั่นคือภูมิคุ้มกัน เมื่อนักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ 3 ห่วงได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันและ 2 เงื่อนไข ได้แก่ เงื่อนไขความรู้ เงื่อนไขคุณธรรม เมื่อโตเป้นผู้ใหญ่ขึ้นคงจะมีความรู้ ความเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ลึกซึ้งอย่างแท้จริงเพื่อเป็นหลักยึดในการดำเนินชีวิต นำไปสู่ความสุขของครอบครัวอย่างยั่งยืนตลอดไป