เรื่องเล่าในโครงการประกวดเรื่องเล่า

ถอดบทเรียน: เรื่องเล่าในโครงการประกวดเรื่องเล่า
"บทเรียนความสำเร็จในการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อจัดการการเรียนรู้" ปีที่ 1
ปี พ.ศ. 2552 จัดโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล

อาจารย์วาริน รอดบำเรอ
ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โรงเรียนศรีวิชัยวิทยา จ.นครปฐม

ซึ้งในคำว่า “ครู”

แรงบันดาลใจที่ทำให้มีการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ห้องเรียน สำหรับตนเองแล้ว ไม่เคยคิดว่าการเป็นครูจะต้องมีการปรับเปลี่ยนการสอนอะไรต่อมิอะไรมากมาย ตอนแรกชีวิตการสอนไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้เลยจริงๆ แต่เนื่องจากลูกชายเมื่อเรียนจบ ป. 6 แล้วไม่มีที่เรียนเพราะสอบเข้าเรียนที่ไหนก็ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ตัวเราเองซึ่งเป็นแม่ก็เป็นครู รู้สึกอับอายมาก จะไปพูดขอกับ ผอ.โรงเรียนที่เราสอนอยู่ ก็เกินเวลาที่จะสามารถติดต่อได้แล้ว อายเพื่อน อายทุกอย่าง ไม่รู้ว่าทำไมลูกจึงเป็นอย่างนี้ เราก็ให้เขาเรียนในโรงเรียนที่ดี เสียสตางค์ให้ลูกเรียนพิเศษตอนเย็นกับคุณครูที่โรงเรียนทุกวัน แต่ทำไมถึงสอบเข้าเรียนต่อชั้น ม. 1 ไม่ได้ จึงลองนำแบบทดสอบวิชาคณิตศาสตร์ให้ลูกลองทำดู จึงรู้ว่า แม้แต่การคูณ การหาร การ ห.ร.ม. และ ค.ร.น. ลูกก็ยังทำไม่ได้ เราคงละเลยจุดนี้ไปนิดหนึ่ง เราสอนลูกคนอื่นได้ แต่เราไม่ได้สอนลูกเราเลย

นับจากนั้น ดิฉันจึงคิดว่าเราจะต้องสอนลูกเราเอง และ ตั้งปณิธานให้กับตนเองว่า เราจะเป็นครูที่ดี เป็นผู้ให้จะตั้งใจสอนนักเรียนให้ดีที่สุด อันนี้เป็นสัญญาใจกับตัวเอง ณ วันนั้นที่ลูกเราสอบเข้าเรียนไม่ได้ เราฝากความหวังไว้กับครู แต่ลูกเราสอบเข้าไม่ได้ เป็นแรงบันดาลใจให้เปิดใจว่าทำอย่างไรที่เราจะสอนเด็กให้เขารู้เรื่อง และทำอย่างไรให้ผู้ปกครองไว้วางใจครูคนนี้ว่าฝากลูกเขามาเรียนแล้วสามารถวางใจปล่อยไว้กับเราได้ ว่าลูกเขาจะต้องมีความรู้แน่ ๆ ณ จุดตรงนี้ จึงหันมาศึกษากระบวนการจัดการเรียนรู้ และหาวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับนักเรียนตลอดมา ประกอบกับมีการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาจึงได้ศึกษาในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง จนเกิดการเรียนรู้ เข้าใจ เข้าถึง และรู้ว่าจะนำไปเชื่อมโยงอย่างไรให้เกิดผล

ทุกวันนี้ ดิฉันจะรู้สึกรักในหลวงมากๆ ท่านทรงเหน็ดเหนื่อยเพื่อประชาชนชาวไทยมานานแล้ว มันเป็นความรู้สึกที่ยากจะพรรณนา รู้แต่ว่าเรารักท่านมากๆ และได้บอกกับตัวเองว่า ขอเพียงทำเพื่อพ่อหลวงเท่านี้ เราก็หายเหนื่อยแล้ว สิ่งที่พร่ำบอกตนเองตลอดเวลาคือ เราต้อง “คิดให้เป็น เชื่อมโยงให้ได้ สานต่อเพื่อนครู มุ่งสู่ผู้เรียน สรรค์สร้างชุมชน เป็นสังคมแห่งความพอเพียง”



การบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงกับการสอนวิชาคณิตศาสตร์

ดิฉันได้แลกเปลี่ยนกันในกลุ่มเพื่อนครู มีการซักถามกันว่าเวลาสอนเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่ผู้เรียน เราจะสอนอย่างไร บ้างก็บอกสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงก่อน สัปดาห์ต่อไปจึงสอนมิติเรื่องสังคม แต่ที่จริงแล้วในการสอนผู้เรียนในแต่ละคาบ หรือในแต่ละกิจกรรม ควรจะให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาครบทั้ง 4 ด้านอย่างสมดุลดังที่ ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ (ธรรมปิยา) ได้กล่าวไว้ว่า ในการเรียนการสอนนักเรียนทั้งหลายทั้งปวง ถ้าจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ ควรทำให้เขาเรียนรู้อย่างสมดุลทั้ง 4 ด้าน ในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ศาสนาและวัฒนธรรม เราก็มาคิดตรงนี้ว่าจะมีวิธีการอย่างไรจะสอนเด็กให้เขาได้ในจุดนี้ การที่เราจะปลูกฝังให้ผู้เรียนได้ความรู้ ได้คิดอย่างลุ่มลึก ก็คือการฝังสมอง ซึ่งสมอง คือความคิด แล้วจะทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนเขาคิดได้อย่างเรา ทำอย่างไรให้เด็กเขาคิดได้อย่างผู้บริหาร คิดได้อย่างนักคิดเก่งๆ เมื่อเราเกิดความคิดแล้วสมองก็จะสั่งไปถึงการกระทำ

ต้องขออนุญาตยกตัวอย่างนิดหนึ่งเพราะตัวเองจะชำนาญเฉพาะการสอนคณิตศาสตร์ ซึ่งคณิตศาสตร์มี หลายๆ คนบอกว่าบูรณาการได้ยากมาก แต่เมื่อฟังอาจารย์วารินกลับไปอาจจะได้แนวคิดว่าการบูรณาการกับคณิตศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยาก จริงๆ แล้วก่อนสอน คุณครูอาจจะตั้งโจทย์ให้นักเรียนได้พูดหรือเขียนก็ได้ว่าเขามีความดีความงามหรือความภาคภูมิใจอะไรบ้าง และเก็บมาเป็นข้อมูลสำคัญ เราจะได้ทราบว่าผู้เรียนแต่ละคนเป็นอย่างไร คุณครูก็ใช้สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวของผู้เรียน ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือสิ่งที่ภาคภูมิใจของนักเรียน มาสร้างเป็นใบความรู้ บูรณาการเนื้อหาสาระและเชื่อมโยงไปสู่ความพอเพียงลงไปให้เขาได้เรียนรู้

กระบวนการ KM (Knowledge Management : การจัดการความรู้) มีประโยชน์จริง ๆ อยากให้คุณครูได้นำไปใช้ ในชั่วโมงคณิตศาสตร์เมื่อเข้าสอนจะให้นักเรียนออกมาเล่าถึงความภาคภูมิใจของตนเองช่วงปิดเทอม ว่าได้ทำความดีอะไรมาบ้าง แล้วก็สุ่มให้นักเรียนเลขที่ 1 ออกมาเล่า นักเรียนบอกว่าเขาไม่มีโอกาสที่จะไปเที่ยวตรงนั้น ไม่มีโอกาสไปสร้างความภาคภูมิใจที่นั่นที่นี่ เพราะเขาไม่มีพ่อแม่ แต่เขามีความภาคภูมิใจที่ได้ทำดี เขาบอกว่าการทำความดีของเขาคือการปฏิบัติธรรมซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่ปลายปี 2549 จนบัดนี้ยังปฏิบัติธรรมอยู่ ครูก็ถามว่าแล้วครูจะรู้ได้อย่างไรว่าเธอปฏิบัติธรรมจริง เขาบอกว่าพรุ่งนี้จะนำหลักฐานมาให้ดู แล้วเขาก็นำสมุดเล่มนั้นมาให้ดูจริงๆ เขาปฏิบัติธรรมทุกวันที่เขามีโอกาสแล้วเขาก็บันทึกทุกวัน เล่มหนึ่งหมดไปแล้วเล่มสองก็มา

สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความคิดขึ้นว่าทำไมนะผู้บริหารจึงไม่นำสิ่งที่เด็กทำดีแบบนี้มาเป็นแบบอย่าง ทุกวันนี้ ที่หน้าเสาธงตอนเช้าก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติ จะมีแต่ประกาศชื่อนักเรียนที่ไปสอบแข่งขัน ชนะเลิศการประกวดต่าง ๆ แต่ทำไมเราไม่เปิดโอกาสให้เด็กที่ทำความดีได้มาเผยแพร่ตรงนี้บ้าง เลยนำบันทึกของนักเรียน ไปเรียนเสนอท่านผู้บริหาร “ทิพวรรณ ยิ้มสวัสดิ์” ท่านฟังอย่างสงบ ดูเอกสารบันทึกความดี จำชื่อเด็กไว้พอวันรุ่งขึ้นเป็นวันอังคาร ท่านก็เรียกชื่อนายกิตติพงษ์ ห้วยหงษ์ทอง นักเรียนชั้น ม.5/2 ให้ขึ้นมาหน้าเสาธง แล้วให้กิตติพงษ์ นำพี่ ๆ เพื่อน ๆและน้องๆ ให้นั่งสมาธิ เขาให้นักเรียนทั้งโรงเรียนนั่งสมาธิได้อย่างสงบ ทุกคนเงียบและสงบนิ่งฟังกิตติพงษ์กล่าวสิ่งที่ดีงามต่าง ๆ

เมื่อเด็กคนนี้ได้รับโอกาสได้แสดงความดี พฤติกรรมของเขาก็เปลี่ยนแปลงไป จากปรกติ กิตติพงษ์เป็นเด็กที่เรียนอ่อน เวลาเรียนเขาจะอยู่หลังห้อง จะทรุดตัวไม่ค่อยจะมองอาจารย์ที่สอน เทอมที่แล้วเขาได้เกรด 1 ในวิชาคณิตศาสตร์ พอตอนนี้ เราได้ค้นพบเขา ให้เขาได้มีโอกาสแสดงออก ปัจจุบันนี้ กิตติพงษ์เปลี่ยนพฤติกรรมการเรียน จากที่เขาอยู่หลังห้องและก้มหน้าไม่ยอมสบตาครูเลย แต่ตอนนี้ขณะเรียนเขาจะชะเง้อยื่นคอมองอาจารย์ที่สอนอย่างตั้งใจ บางครั้งก็เปลี่ยนมานั่งข้างหน้า และมีการซักถามขณะเรียนมากขึ้น จึงขออนุญาตเรียนเพิ่มเติมตรงนี้นิดหนึ่งว่า ทุกคนมีความดี คุณครูต้องเค้นความดีที่มีอยู่ในตัวตนของผู้เรียนออกมาให้ได้

ต่อมาถามต่อไปว่าแล้วอาจารย์วารินนำความดีตรงนี้ไปใช้ไหมคะ ใช้คะ กลับไปเขียนใบงานเลย ใบงาน “แบบบันทึกการทำความดีด้วยการถือศีล 5” โดยให้นักเรียนบันทึกแต่ละวันเขาทำผิดศีลข้อไหนบ้าง และสาเหตุที่ต้องทำผิดศีลเพราะอะไร เมื่อบันทึกได้ครบ 1 เดือน ก็ให้ทุกคน นำแบบบันทึกความดี มาเป็นสื่อในการเรียนรู้เรื่องความถี่สะสม โดยนำแบบบันทึกนั้นเป็นการสะสมบุญบารมี วันไหนที่นักเรียนไม่ทำผิดเลยศีลใน 5 ข้อ ครูจะให้ 10 คะแนน ถ้าผิดข้อหนึ่งก็เหลือ 8 เรามาดูกันว่าเราสะสมบารมีกันได้กี่คะแนน นักเรียนเขาก็ได้เรียนเรื่องความถี่สะสมโดยไม่รู้ตัว หลังจากนั้นเราก็มาสะท้อนพูดคุยกัน ถึงเรื่องการทำความดี

ตัวอย่างใบงานเรื่อง ความถี่สะสมของความดีและกราฟในรายวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องสถิติและข้อมูล อีกตัวอย่างหนึ่งของการบูรณาการ เราอาจนำข้อมูลใกล้ตัว อาจเป็นข่าวหรือเหตุการณ์ที่เป็นที่สนใจของนักเรียนในขณะนั้นก็ได้ เช่นเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ผับนำมาสอนเรื่องฐานนิยมและแทรกข้อคิดให้กับนักเรียน

ส่วนเรื่องการส่งเสริมการออม ดิฉันได้ให้นักเรียนทำบัญชีรายรับรายจ่ายทุกวันแล้วให้นักเรียนทุกคนหาว่าในแต่ละเดือนมีเงินออมเหลือเก็บเดือนละเท่าไร และเฉลี่ยแล้วนักเรียนจะมีเงินเหลือเป็นเงินออมวันละกี่บาท เป็นการสอนเรื่องค่าเฉลี่ยเลขคณิต ทีนี้ถ้าคุณครูสอนอยู่แค่นี้มันก็จบแค่นั้น หากเพียงเปิดประเด็นนิดเดียวคุณครูถามนักเรียนว่า เงินออมที่เก็บในแต่ละวัน (บางคนเก็บได้วันละ 8 บาท 2 บาท 3 บาท) เราก็ถามให้เขาคิดว่า แล้วเก็บเงินออมเพียงวันละแค่นี้จะไปซื้ออะไรได้ เราจะต้องเก็บนานเท่าไหร่จึงจะพอ จึงปลูกฝังการออมใหม่

ในเรื่องการออมนี้เด็กเขาไม่เข้าใจ เขาคิดว่าการออมคือการใช้ ๆๆ เงินเหลือเท่าไหร่ถึงออม แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ การปลูกฝังการออมของเด็ก ต้องให้เขารู้จักคิด วางแผนการใช้เงิน อยากออมเท่าไหร่ เก็บเงินส่วนนั้นไว้ก่อน แล้วจึงนำเงินอีกส่วนไปใช้เท่าที่จำเป็น ตรงนี้ถ้าคุณครูต้องเชื่อมโยงความพอเพียงไว้บ้าง ไม่ว่าจะสอนเรื่องอะไรก็ตาม นี่คือกระบวนการที่เราจะแทรกเข้าไปว่าสอนอย่างไรเพื่อจะทำให้เด็กเขาได้คิด การให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว เรียนรู้จากประสบการณ์ เรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น จากบทเรียนการ์ตูน หรือโครงงาน ก็ตาม

ทั้งนี้ เมื่อมีการจัดการเรียนการสอนนำแนวคิดพอเพียงสอดแทรกลงไปในการสอนวิชาคณิตศาสตร์แล้ว เราก็มาตั้งคำถามอีกว่าแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราสอนประสบผลสำเร็จ นักเรียนรู้ เข้าใจ และใช้ชีวิตอย่างพอเพียงจริง ดิฉันจึงจัดให้มีกิจกรรม “สื่อสัมพันธ์คณิตพิชิตเศรษฐกิจพอเพียง” ขึ้นโดยให้เด็กนักเรียนเป็นคนวางแผนจัดการทั้งหมด มีการสุ่มตัวอย่างประชากรผู้ปกครองเพื่อเชิญมาร่วมกิจกรรมซึ่งเราได้ขออนุญาตจากทางโรงเรียนให้ใช้ช่วงบ่ายวันศุกร์ทำกิจกรรม ขณะเดียวกันนักเรียนก็ทำแบบสำรวจ จัดทำทะเบียนประวัติ และสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้ปกครองที่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ชวนพ่อแม่เล่นเกม ร้องเพลง เต้นรำร่วมกัน และแบ่งปันประสบการณ์การใช้ชีวิตอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ จากนั้นจึงทำกิจกรรมให้พ่อแม่ได้รับชมโดยสอดแทรกเศรษฐกิจพอเพียงไป เช่น ให้นักเรียนที่ทำหน้าที่พิธีกรได้แสดงบทบาทสมมติพูดคุยถึงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงใกล้ตัว อย่างเรื่องจับจ่ายซื้อของกินของใช้อย่างมีสติและพอเพียง ไม่ซื้อโดยดูแต่ราคาและส่วนลด แต่ดูคุณภาพและความจำเป็นในการใช้งาน

นอกจากนั้น ก่อนปิดท้ายกิจกรรมยังจัดให้นักเรียนได้แสดงความรักกับพ่อแม่ ให้พวกเขานั่งกราบลงบนตักผู้ปกครอง มีการโอบกอดและหอมแก้ม ซึ่งนักเรียนบางคนได้กลับมาสะท้อนว่า เขาไม่เคยถูกผู้ปกครองโอบกอด ไม่เคยเห็นผู้ปกครองมีความสุขเหมือนวันนี้ และไม่เคยเห็นผู้ปกครองรำวงด้วยกัน มันเป็นความรู้สึกแปลกๆ ที่พ่อแม่มากอดมาหอมแก้ม แต่มันเป็นความรู้สึกแปลกๆ ที่มีความอบอุ่นใจลึกๆ ที่เขาจะไม่ลืมมันเลย ส่วนพ่อแม่ซึ่งทีแรกเกี่ยงกันไม่อยากมาโรงเรียนก็สะท้อนบ้างว่าเขาได้รับความรู้อะไรหลายๆ อย่างและได้รับความเบิกบานใจ ไม่อยากกลับ และอยากจะมาร่วมกิจกรรมอีก ดิฉันจึงคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ประสบผลสำเร็จในการที่เราจะพัฒนาผู้เรียนในเรื่องการเรียนรู้วิชาการและการบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งดิฉันพบว่าสิ่งที่เราสอนไปได้เข้าถึงตัวเด็กและโยงไปถึงผู้ปกครองได้จริงๆ

ทั้งหมดนี้ ดิฉันเชื่อว่า คุณครูสามารถบูรณาการเชื่อมโยงเพื่อให้ผู้เรียนได้มีหลักคิดและได้เรียนรู้อย่างสมดุลครบถ้วนทั้ง 4 ด้านโดยไม่ยากนัก ถ้าคุณครูคิดว่าคุณครูเป็นครูที่พอเพียงแล้ว