เล่าให้ฟังถึงหลักบริหารโรงเรียนเมื่อแรกเริ่มตอนย้ายโรงเรียนมาใหม่ๆ



ผอ.ธีระวัธน์ สิงหบุตร เล่าให้ฟังถึงหลักบริหารโรงเรียนเมื่อแรกเริ่มตอนย้ายโรงเรียนมาใหม่ๆ ให้ฟังว่า ด้วยบริบทภูมิสังคมที่ตั้งของโรงเรียนชำฆ้อพิทยาคมเป็นที่ดอน ไม่สามารถทำการเกษตรหรือปลูกอะไรเพื่อเลี้ยงชีพได้ จึงทำให้ท่านไม่ได้คำนึงถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเลย แต่นั่นเป็นเพราะท่านเข้าใจถึงหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงผิดพลาดไป


“ก่อนที่จะมาอยู่ที่โรงเรียนชำฆ้อพิทยาคม ผมเป็นอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนการทำมาหากิน ทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาพอสมควร แต่เมื่อมาอยู่โรงเรียนชำฆ้อพิทยาคม แล้วไม่คิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเพราะว่า บริบท ภูมิสังคมมันไม่ได้ เพราะเราเข้าใจคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ผิดพลาด เราเข้าใจว่าทฤษฎีใหม่คือหลักปรัชญาฯ ว่าจะต้องแบ่งพื้นที่เป็นแหล่งน้ำ ทำนา ปลูกพืชไร่ พืชสวน หรือที่เรียกว่า 30 30 30 10 แต่พอมาอยู่โรงเรียนชำฆ้อพิทยาคม พื้นที่เป็นที่ดอน คืออยู่บนภูเขา ถ้าจะทำทฤษฎีใหม่ ผมคงต้องขุดที่สนามฟุตบอลโรงเรียนเพื่อทำนา แหล่งน้ำก็ต้องอาศัยแหล่งน้ำที่ตีนเขา แล้วปั๊มน้ำขึ้นมาใช้ ผมจึงเลิกคิดทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไป”


“แต่เมื่อได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มเติมจาก ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ หัวหน้าโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ฟังจากสิ่งที่อาจารย์ปรียานุชอบรมก็เริ่มเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลึกซึ้งขึ้น ทำให้เข้าใจว่า หลัก 3 ห่วง เป็นหลักคิด หลักปฏิบัติ โดยมี 2 เงื่อนไขเป็นตัวกำกับ แล้วผลลัพธ์ปลายทางนำไปสู่ความสมดุลใน 4 มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ไม่ใช่เรื่องของการปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ อย่างที่เคยเข้าใจ”



ผอ.ธีระวัธน์บอกว่า “สิ่งแรกที่ประทับใจเมื่อมาถึงโรงเรียนชำฆ้อพิทยาคม คือ ระเบียบวินัยของโรงเรียน เด็กนักเรียนมีสัมมาคารวะ แต่โจทย์ที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ ทำอย่างไรจะให้คนในชุมชนเกิดความศรัทธาต่อโรงเรียน นี่คือโจทย์ที่ต้องทำให้ชุมชนเห็นว่า โรงเรียนชำฆ้อพิทยาคมเป็นสถาบันสร้างคน การส่งลูกเข้าไปเรียนในโรงเรียนใหญ่ ซึ่งมีเด็กอยู่จำนวนมากนั้น ใช่ว่าลูกจะประสบความสำเร็จ เพราะการดูแลของครูอาจทำได้ไม่ทั่วถึง และเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติความเชื่อของผู้ปกครอง 

ผอ.ธีระวัธน์ จึงนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ออกแบบวิธีคิด บริหารจัดการโรงเรียน และแผนการเรียนการสอนใหม่ เพื่อทำให้โรงเรียนชำฆ้อพิทยาคมกลายเป็นแหล่งสร้างคน สร้างกระบวนการเรียนรู้ของเยาวชนและคนในชุมชนให้ได้ในอนาคต โดยเริ่มจากปัญหาพื้นฐาน 5 ข้อ คือ 1. พื้นที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียน 2.ค่านิยมการส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนใหญ่ๆ ประจำอำเภอ 3.การขาดแคลนครู 4.ผู้ปกครองไม่ได้คาดหวังด้านการศึกษาของลูก และ 5.ฐานะทางครอบครัว ที่ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มศักยภาพของผู้เรียน

 


ผอ.ธีระวัธน์ตั้งข้อสังเกตว่า “ปัจจุบันมักมีคนพูดถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมิติเศรษฐกิจ คือการทำมาหากิน การสร้างรายได้เพียงด้านเดียว แต่ไม่มีใครพูดถึงมิติสังคม สิ่งแวดล้อม หรือวัฒนธรรมเลย ทั้งที่เป้าหมายของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมุ่งไปที่การพัฒนาคนสู่สังคมที่มีความยั่งยืน”

ผอ.ธีระวัธน์ เห็นว่าหากต้องการพัฒนาคน ต้องใช้มิติทางสังคมพัฒนาครู พัฒนาเด็กให้อยู่อย่างมีความสุข ให้เขารู้จักตัวตนของตัวเอง รู้จักเข้าใจคนอื่น ผ่านกิจกรรมที่เน้นมิติทางสังคมมากกว่ามิติทางเศรษฐกิจ เพราะโดยส่วนตัวแล้ว ผอ.ไม่ได้คาดหวังให้เด็กทำมาหากินเป็น เพราะเด็กยังต้องเรียนหนังสืออยู่ แต่ความเก่งจะมาทีหลัง เนื่องจากนักเรียนโรงเรียนชำฆ้อพิทยาคม ส่วนใหญ่มีผลการเรียนอยู่ในระดับปานกลางถึงอ่อน ไม่มีนักเรียนเกรดเอ ฐานะทางครอบครัวพอมีพอกินไปจนถึงขาดแคลน ดังนั้น การจะพัฒนาโรงเรียนให้เป็นเลิศทางวิชาการ คงเป็นไปได้ยาก เพราะต้องใช้ทรัพยากรมาก เมื่อบริบทของโรงเรียนเป็นเช่นนี้ จึงต้องหันมาดูต้นทุนเดิมของโรงเรียน ซึ่งพบว่านักเรียนที่นี่มีต้นทุนสูงมากในเรื่องของความเป็นคนดี มีระเบียบวินัย มีสัมมาคารวะ ซึ่งมักไม่ค่อยพบในโรงเรียนใหญ่ๆ และเชื่อมั่นว่า เมื่อเป็นคนดีแล้ว คนดีจะรู้จักให้ และความเก่งจะตามมาภายหลัง ฉะนั้น เป้าหมายการสร้างคนให้เป็นคนเก่ง คือ การสร้างเด็กให้รู้จักตัวเองและเข้าใจผู้อื่นก่อน



“รู้จักตัวเอง” หมายถึง รู้ว่าตัวเองเป็นใคร มาจากไหน มีฐานะอย่างไร มีความเป็นอยู่ในครอบครัวอย่างไร มีความถนัดในด้านใด อ่อนด้อยด้านใด ถ้ารู้จักตัวเองแล้ว ต้องพอใจในสิ่งที่เป็น สิ่งที่มีในปัจจุบัน อย่าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น และวางตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเชื่อว่า “การศึกษา” จะสามารถเปลี่ยนแปลงสถานภาพลูกชาวสวน ชาวนา ลูกคนรับจ้าง ให้เป็นไปตามที่เด็กปรารถนาได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น ครู หมอ ทหาร หรือนักธุรกิจ


“เข้าใจผู้อื่น” การอยู่ร่วมกัน คือมิติทางสังคม ดังนั้น เด็กต้องรู้และเข้าใจถึงความแตกต่างของคน ตั้งแต่เชื้อชาติ รูปร่าง หน้าตา ฐานะ ความรู้ ความสามารถ สติปัญญา ความถนัด และนิสัย เมื่อเข้าใจตรงนี้แล้ว เราจะช่วยคนที่ด้อยกว่าอย่างไร แล้วจะใช้ความเข้าใจผู้อื่นมาเป็นพลังในการพัฒนาตัวเองได้อย่างไร



การจะเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างลึกซึ้งนั้น ต้องลงมือปฏิบัติจริงตามกระบวนการเรียนรู้ ที่ว่าด้วยหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ภูมิคุ้มกัน ความรู้ คุณธรรม และสมดุล 4 มิติ คือ สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ผอ.ธีระวัธน์ จึงได้จัดตั้งชุมนุม และฐานเรียนรู้ต่างๆ ขึ้นในโรงเรียน เป็นการสร้างการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านกิจกรรม ในลักษณะ “ทำก่อน สอนทีหลัง” โดยให้เด็กลองผิดลองถูก “ตัวอย่างเช่น การปลูกผักจากดินไม่ดี เมื่อเขาปลูกแล้ว ผักไม่เจริญเติบโต ครูจะถามเขาว่า “เป็นเพราะหนูไม่ดูแล ไม่รับผิดชอบหรือเปล่า” เมื่อเด็กตอบว่า “ไม่ใช่ แต่ดินมันสภาพแย่” ครูก็จะถามต่อว่า “แล้วทำไงดี“ เขาตอบว่า “ต้องเรียนรู้การพัฒนาดินก่อน” ผมจึงเชิญหมอดินมาสอนเรื่องการพัฒนาดิน พอเขาเข้าใจ ก็จะเริ่มกระบวนการทดลองใหม่ เป็นการเรียนรู้จากการลงมือทำ ถ้าครูบอกเขาทุกอย่างว่า “หนูจะปลูกผัก ต้องเตรียมดินอย่างนั้นๆ” ประสบการณ์จริงจะไม่เกิด แต่ถ้าเขาเจอปัญหา แล้วแก้ไขเองได้ แนวคิดในการแก้ปัญหานั้นก็จะอยู่กับเขาตลอดไป”



ผอ.ธีระวัธน์เชื่อว่าการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเช่นนี้ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้จากกระบวนการและขั้นตอนการทำงาน จนสามารถนำมาวิเคราะห์ขยายผลไปสู่การดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง โดยครูมีหน้าที่ให้คำแนะนำเท่านั้น เพราะเชื่อว่าการสอนวิธีนี้จะทำให้เด็กแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้อย่างเข้าถึงและเข้าใจมากกว่าท่องจำจากตัวอักษรหรือทำตามครูบอก และเพื่อให้นักเรียนสามารถจดจำได้อย่างแม่นยำ การทำกิจกรรมในชุมนุมต่างๆ ที่นักเรียนเป็นเจ้าของ โครงการจะต้องมีการสรุปผลการดำเนินงาน เพื่อรายงานกระบวนการ ขั้นตอน ปัญหาอุปสรรค แนวทางการแก้ไข และนำข้อมูลออกมาเล่าให้เพื่อนนักเรียนฟัง พร้อมจัดทำเอกสารสรุปส่งครู



“โครงงานที่เด็กๆ ทำขึ้น มันผ่านกระบวนการที่หลากหลายในโรงเรียนจนเด็กซึมซับถึงหลักคิดพอเพียงไปแล้ว ผมเพียงแต่อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนให้เขาทำตามอย่างที่เขาคิด คอยประคับประคอง ชี้แนะเขาบ้างบางครั้งคราว จนในวันนี้ที่เขาทำได้สำเร็จ นั่นเป็นเพราะวิธีคิดและการกระทำของเขาทั้งสิ้น”

 


ผอ.ธีระวัธน์ มีแนวคิดในการบริหารจัดการและพัฒนาโรงเรียน โดยมุ่งที่การ “พัฒนาคน” จากต้นทุนที่ดีของนักเรียน และเชื่อมโยงการมีส่วนร่วมจากชุมชน โดยสร้างการเรียนรู้แก่นักเรียนจากการลงมือปฏิบัติผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้นักเรียนเกิดวิธีคิด และแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง เพราะเชื่อมั่นว่า “ลงมือทำ มีค่ากว่าคำสอน”