การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนสัตยาไส

การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนสัตยาไส  

“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”
วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี 

 

โรงเรียนสัตยาไสจัดการเรียนการสอนที่เน้นในเรื่องจิตใจ คุณธรรม จริยธรรม และสมาธิ วิชาที่เรียนจะมีการสอดแทรกเรื่อง “คุณค่าความเป็นมนุษย์และคุณธรรม” เข้าไปตลอดเวลาจนเป็นวิถี เมื่อนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาขับเคลื่อนในโรงเรียนจึงทำได้ง่าย   เน้นให้เด็ก “คิดเป็น” ตั้งแต่เด็กๆ ครูทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกและส่งเสริมการเรียนรู้เท่านั้น มีผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นแบบอย่างที่ดี โดยใช้วิธี “ทำให้เห็น” แนวทางที่เน้นคือการพัฒนาจิต การพัฒนาความเป็นมนุษย์ เน้นหลักคิดให้เด็กวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ทำดีต่อตนเองหรือดีต่อผู้อื่นหรือไม่อย่างไร ทุกวิชาจะมีการสอดแทรกเรื่องคุณธรรมจริยธรรมและคุณค่าความเป็นมนุษย์อยู่เสมอ และครูมีบทบาทสำคัญในการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ เพราะถ้าครูเข้าใจและปฏิบัติจริง ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะถ่ายทอดให้เด็กเข้าใจ

โรงเรียนสัตยาไสเป็นโรงเรียนประจำ เปิดสอนตั้งแต่อนุบาล – ม.6   มีเด็ก 360 คน  เด็ก ป. 1 –  ม.6  จะอยู่ประจำที่โรงเรียน สองเดือนกลับบ้าน 1 ครั้ง แต่ชั้นอนุบาลให้ไปกลับ จุดสนใจของโรงเรียนสัตยาไสที่มาทำเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้เริ่มจากความสนใจใด เพราะโรงเรียนทำตามวิสัยทัศน์ของเรามาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว จนวันหนึ่งมีศึกษานิเทศมาที่โรงเรียนและบอกว่านี่แหล่ะคือเศรษฐกิจพอเพียง  ให้เราสมัครเข้ารับการประเมินเป็นสถานศึกษาพอเพียง  เราก็เลยสมัคร และได้รับการประเมิน  โดยที่ยังไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงดีพอ จนกระทั่งมูลนิธิสยามกัมมาจลเข้าไปเยี่ยมโรงเรียน  แล้วให้เรากรอกใบสมัคร เราก็สมัคร  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเราก็เริ่มเข้ามาเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และพอได้มาดูจริงๆ ก็พบว่าสิ่งที่ทำให้เราได้รับการชักชวนจากหลายฝ่ายคือเราใช้ฐานของ “จิตใจ” เข้ามาจับเรื่องการพัฒนาคนอยู่แล้ว  เราเน้นด้านจิตใจและคุณค่าความเป็นมนุษย์  เพราะถ้าเราจับตรงนี้มันแตะได้ทุกเรื่องเลย เวลาเราสอนเด็กๆ หรือครู เราจะมีเรื่อง “คุณธรรม” เป็นตัวหลักอยู่แล้ว  มีการให้เด็กคิดวิเคราะห์อยู่แล้วว่า แต่ละเรื่องที่เขาทำ ดีกับตัวเองไหม ดีกับผู้อื่นไหม อันนี้เป็นหลักคิดที่ทุกคนในโรงเรียนต้องคิด ก็เลยเห็นว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน เป็น “วิธีคิด” ที่นำมาใช้กับชีวิต  

แต่เมื่อเข้ามาสู่การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ปัญหาของเราคือ เราทำแบบนี้เป็นวิถีอยู่แล้ว แล้วเราจะทำอย่างไรให้ครูเห็นความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่เขาทำอยู่กับเศรษฐกิจพอเพียง คือตีกรอบอย่างไรให้ครูรู้ว่าสิ่งที่เขาทำเป็นเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไ ตอนนี้จึงพยายามพัฒนาคุณครู หากมีการอบรมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงก็ส่งมาอบรม จนปัจจุบันครู  90 เปอร์เซ็นต์ของโรงเรียนได้รับการอบรมแล้ว แต่ยังอยู่ในช่วงขับเคลื่อนต่อ และเพิ่งรู้ว่าโรงเรียนได้เป็นศูนย์การเรียนรู้  เพราะโรงเรียนพึ่งจะมาทำงานอย่างจริงจัง ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ต้องทำความเข้าใจกับคุณครู หลังจากครูกลับไปที่โรงเรียนก็มีการพูดคุยกันมากขึ้น เรื่องการจัดการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมให้กับเด็ก เริ่มเห็นความตั้งใจของครูมากขึ้น  นอกจากนี้โรงเรียนยังส่งเสริมให้มีการไปศึกษาดูงาน สิ่งที่โรงเรียนทำเป็นประจำคือเรื่องความเป็น “แบบอย่าง” ของคุณครู ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าคุณครูสามารถเป็นแบบอย่างในเรื่องนี้จริง หรือเข้าใจจริงๆ มันง่ายมากที่จะถ่ายทอดให้เด็กๆ เข้าใจ โดยที่อาจจะไม่ต้องใช้คำพูดเลยก็ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่พยายามให้คุณครูได้พัฒนาตรงจุดนี้

ในเรื่องการจัดสรรทรัพยากร สัตยาไสเป็นโรงเรียนสังกัดภายใต้มูลนิธิ งบประมาณส่วนใหญ่ได้มาจากเงินบริจาค ช่วงนี้เงินบริจาคลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ ฯลฯ เราเลยต้องคิดว่าเราจะบริหารจัดการอย่างไรให้โรงเรียนอยู่ได้ ก็เลยเกิดแนวคิดว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เพราะเราไม่ได้เก็บค่าเล่าเรียน มีเฉพาะค่าอาหาร แต่ทุกอย่างก็มีค่าใช้จ่าย ก็เลยคิดถึงเรื่องของการพึ่งพาตนเองขึ้นมา อะไรที่เราสามารถทำได้ เราก็ทำ เพราะเด็กที่นี่อยู่โรงเรียนประจำทุกวัน ตอนนี้เราปลูกข้าวเอง โดยไม่ต้องซื้อแล้ว  ปลูกผักเอง กักเก็บน้ำเอง ซักผ้าเอง ลดค่าใช้จ่ายได้บ้าง ทำให้เราสามรถพัฒนาตรงนี้ได้ ขณะเดียวกันเด็กก็ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาทำด้วย เด็กที่นี่ทุกคนต้องผ่านการทำนา และเมื่อทำไปหลายๆ ครั้งเราจะเห็นวิวัฒนาการหรือนวัตกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำนาเพิ่มมากขึ้น 

ส่วนการใช้โครงงานในการเรียนการสอนที่โรงเรียนมีเป็นปรกติอยู่แล้ว ในสัปดาห์หนึ่งจะมีชั่วโมงบูรณาการให้กับทุกกลุ่มสาระ เพราะเห็นว่าการเรียนการสอนแบบโครงงาน เด็กได้เรียนรู้จริงและทำจริง หากยิ่งบูรณาการเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปได้จะดียิ่งขึ้นสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  เรามีนักเรียนจบไปแล้ว  9 รุ่น พบว่าเด็กๆ สามารถเข้ามหาวิทยาลัยที่เขาอยากเรียนได้ และหลายมหาวิทยาลัยก็ให้โควต้าสำหรับเด็กสัตยาไส เพราะการที่เราเน้นที่ “ความดี” ทำให้หลายมหาวิทยาลัยสนใจและให้ทุนการศึกษาเรามาหลายปีแล้ว  ทั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยแม่โจ้  และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ ขอเพียงแต่เด็กมีเกรดถึงตามที่เขากำหนดก็สามารถเข้าเรียนได้ทันที  สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กๆ เห็นว่าสิ่งที่โรงเรียนสร้างขึ้นมาเป็นเรื่องดี   ตอนนี้สังคมยอมรับพวกเขาแล้ว และพวกเขามีโอกาสมากมายที่จะพัฒนา  เด็กของสัตยาไสจะเป็นคนที่ “คิดเป็น” ตั้งแต่เด็กๆ เพราะเราใส่ให้เขาตั้งแต่อนุบาล  ให้รู้จักตั้งคำถาม เขาอยากเรียนอะไรต้องเสนอเอง ตั้งคำถาม และหาคำตอบด้วยตัวเอง   ครูทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกและส่งเสริมการเรียนรู้เท่านั้น

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเหมือนหลักธรรมชั้นสูง ถ้าเปรียบก็เหมือนกับหลักธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ท่านทรงตรัสให้เรามานานถึงสองพันกว่าปีแล้ว แต่ก็ยังมีคนที่เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ทั้งนี้สังเกตว่าทุกท่านที่มาทำเรื่องนี้ ส่วนใหญ่มีพื้นฐานคือเป็นผู้ที่มีคุณธรรมจริงๆ เข้าใจเรื่องภายใน เลยคิดว่าการที่เราขับเคลื่อนฯ แล้วเราไปแตะที่จิตใจเขาก็จะเข้าใจง่ายขึ้นกว่าคนที่มาถึงก็ไป ไม่ได้เข้าใจลึกซึ้ง คิดว่าเรื่องนี้เป็นธรรมชั้นสูงที่ในหลวงท่านทรงสร้างให้เรา ถ้าใจไม่ถึงก็จะพัฒนายาก แต่ถ้าเราพัฒนาใจไปด้วย  ครูเองก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น และรู้บทบาทว่าจะต้องทำอะไรอย่างไร เด็กๆ ก็จะเข้าใจง่ายขึ้น สัตยาไสมีเคล็ดลับที่ใช้ในการสร้างเด็ก เรามีกฎของครู 2 ข้อ คือ 1.การเป็นแบบอย่างที่ดี 2.ย้อนกลับไปดูข้อหนึ่งใหม่ เพราะฉะนั้นคุณครูจะต้อง “ตรวจสอบ” ตัวเองตลอดเวลาว่า สิ่งที่พวกเขาทำ สิ่งที่พวกเขาเป็น เป็นสิ่งที่อยากให้เด็กเป็นหรือเปล่า เราบอกว่าอยากให้เด็กมีความสุข ถ้าครูยังไม่เป็น  ครูสอนไม่ได้ มันก็ได้แค่ปากต่อปาก แต่มันไม่ได้มาจากหัวใจ เหมือนที่บอกว่าบางครั้งคุณครูไม่ต้องพูดก็ได้ แต่ว่าการเป็นแบบอย่างคือคำสอนที่ดีที่สุดของเขา

อาจารย์อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ท่านเป็นแบบอย่างที่ดี  ท่านไม่เคยสอนว่าครูคนนี้ต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ ท่านไม่เคยมาบอกเราว่าคุณต้องทำอย่างนี้ๆ แม้ผู้อำนวยการท่านก็ไม่บอก แต่ท่าน “เป็น” ให้เราเห็น และเราก็รู้สึกว่าอยากจะเป็นเหมือนท่าน เราก็พัฒนาตัวเอง คุณครูก็เหมือนกัน คุณครูก็เห็นแบบอย่างจากรุ่นพี่หรืออาจารย์ เราไม่ต้องมานั่งบอกว่ามาสายทำไม คือเราใช้วิธีนี้ เพราะการที่เราจะสอนเด็กได้เราต้องเป็นแบบนั้น จะพอเพียงได้ครูก็ต้องคิดเป็นเหมือนกัน